“ถ้าเกิดมาแล้วเดินไม่ได้เจ็ดก้าว ก็อย่ามาห้าวกับข้า” คำพูดนี้ตัวละครศากยมุนีไม่ได้พูด แต่เป็นคำที่เหล่าสาวกแฟนคลับพากันซูฮกขึ้นมาเอง เมื่อได้เห็นลุคสุดเท่และคาริสม่าอันร้อนแรงดูน่านับถือของตัวละคร “ศากยมุนี” หรือ “พระพุทธเจ้า” หนึ่งในตัวแทนฝั่งเทพเจ้าจากอนิเมะเรื่อง Record of Ragnarok อนิเมะที่ว่าด้วยการต่อสู้แบบตัวต่อตัวระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า เพื่อตัดสินชะตาเผ่าพันธุ์มนุษย์

“ถ้าเกิดมาแล้วเดินไม่ได้เจ็ดก้าว ก็อย่ามาห้าวกับข้า” คำพูดนี้ตัวละครศากยมุนีไม่ได้พูด แต่เป็นคำที่เหล่าสาวกแฟนคลับพากันซูฮกขึ้นมาเอง เมื่อได้เห็นลุคสุดเท่และคาริสม่าอันร้อนแรงดูน่านับถือของตัวละคร “ศากยมุนี” หรือ “พระพุทธเจ้า” หนึ่งในตัวแทนฝั่งเทพเจ้าจากอนิเมะเรื่อง Record of Ragnarok อนิเมะที่ว่าด้วยการต่อสู้แบบตัวต่อตัวระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า เพื่อตัดสินชะตาเผ่าพันธุ์มนุษย์

ถอดรหัสหาสัญญะทางพระพุทธศาสนาจากตัวละคร ‘ศากยมุนี’ ศาสดาตัวตึงแห่ง Record of Ragnarok

ถ้าเกิดมาแล้วเดินไม่ได้เจ็ดก้าว ก็อย่ามาห้าวกับข้า

คำพูดนี้ตัวละครศากยมุนีไม่ได้พูด แต่เป็นคำที่เหล่าสาวกแฟนคลับพากันซูฮกขึ้นมาเอง เมื่อได้เห็นลุคสุดเท่และคาริสม่าอันร้อนแรงดูน่านับถือของตัวละคร “ศากยมุนี” หรือ “พระพุทธเจ้า” หนึ่งในตัวแทนฝั่งเทพเจ้าจากอนิเมะเรื่อง Record of Ragnarok อนิเมะที่ว่าด้วยการต่อสู้แบบตัวต่อตัวระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า เพื่อตัดสินชะตาเผ่าพันธุ์มนุษย์

สำหรับคนที่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดเหล่าเทพเจ้าต้องมาสู้กับมนุษย์ด้วย เราก็ขอเท้าความถึงเนื้อเรื่องคร่าว ๆ ของ Record of Ragnarok ให้ฟังก่อนว่า อนิเมะเรื่องนี้ได้เล่าถึงเรื่องการประชุมของเหล่าเทพเจ้าทั้งหมดบนโลกมนุษย์ (แบบไม่จำกัดจักรวาล) เพื่อหารือกันเรื่องการทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้สูญพันธุ์ แต่ในขณะที่ผลการประชุมกำลังจะสรุปให้มนุษย์ต้องถูกทำลาย ‘บรุนฮิลด์’ หัวหน้าวัลคีรีก็ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อต่อรองให้มนุษย์มีโอกาสรอด ด้วยการเปิดศึกแร็กนาร็อก หรือการดวลแบบหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ ฝ่ายละ 13 คน ถ้าฝ่ายเทพเจ้าชนะมนุษย์จะถูกทำลาย แต่ถ้ามนุษย์ชนะจะสามารถมีชีวิตรอดต่อไปได้

โดยตัวละคร ‘ศากยมุนี’ หรือ ‘บุดด้า’ ของพวกเรา ก็เป็นหนึ่งในมือวางระดับพระกาฬจากฝั่งเทพเจ้า ที่หมายมั่นว่าจะต้องคว้าชัยมาให้ฝั่งเทพเจ้าได้แน่ ทว่าทุกอย่างกลับพลิกผัน เมื่อศากยมุนีกลับประกาศบนเวทีว่า นับจากนี้เขาจะสู้เพื่อฝ่ายมนุษย์!

ทันทีที่ประกาศจบ นอกจากจะทำให้ตัวละครทั้งเรื่องอึ้ง! ทึ่ง! ว้าก! กันออกมาแล้ว ก็ยังทำให้คนดูอย่างเรา ๆ กรี๊ดกร๊าดกับความหล่อเท่ของศากยะซัง ศาสดาคนดีคนเดิม เพิ่มเติมคือมาในร่างใหม่ เป็นชายหนุ่มร่างกายกำยำ ผมยาวสลวย เขี้ยวคม และสวมเสื้อกล้ามสีน้ำเงินลายกระต่าย ที่ชวนให้นึกสงสัยขึ้นมาว่า เหตุใดนักวาดและนักเขียนถึงออกแบบตัวละครชนิดที่เรียกว่าพลิกคาแรกเตอร์ศาสดาผู้สงบเสงี่ยม ให้กลายมาเป็นตัวละครสุดแกร่งแบบนี้? และทั้ง ๆ ที่หน้าตาของพระพุทธเจ้าเปลี่ยนไปขนาดนี้แล้ว ทำไมเรายังรู้สึกคุ้นเคยกันอยู่?

นอกจากนี้เรายังนึกสงสัยอีกว่า ทำไมตัวละคร ‘ศากยมุนี’ ถึงถูกนับรวมให้เป็นพวกเดียวกับเทพเจ้าตั้งแต่แรก? ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์หรอกหรือ? แล้วทำไมในตอนท้ายเขาถึงตัดสินใจเลือกช่วยฝั่งมนุษย์อย่างโจ่งแจ้งด้วย?

ประจวบเหมาะกับวันที่ 6 มีนาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันมาฆบูชาพอดี GroundControl เลยขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนไปร่วมหาคำตอบของคำถามเหล่านี้กัน ด้วยการค้นหาอีสเตอร์เอ้กทางพระพุทธศาสนา และสำรวจตัวละคร ‘ศากยมุนี’ ที่ถูกนำมาตีความใหม่ ในสื่อร่วมสมัยอย่างอนิเมะเรื่อง Record of Ragnarok ว่ามีการนำสัญญะและแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเรื่องใดมาประกอบสร้างเป็นตัวละครตัวนี้บ้าง และสัญญะเหล่านั้นสื่อถึงอะไร

ทำไมพระพุทธเจ้าใน Record of Ragnarok ถึงขึ้นชื่อว่าเป็นเทพเจ้าและเลือกช่วยเหลือมนุษย์?

ก่อนจะเข้าใจการออกแบบตัวละคร ‘ศากยมุนี’ กับสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในเนื้อเรื่อง เราควรตอบคำถามก่อนว่า ทำไมตัวละคร ‘ศากยมุนี’ ถึงถูกนับรวมให้เป็นพวกเดียวกับเทพเจ้าตั้งแต่แรก? ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์หรอกหรือ? แล้วทำไมในตอนท้ายเขาถึงตัดสินใจเลือกช่วยฝั่งมนุษย์อย่างโจ่งแจ้งด้วย?

ในฐานะที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เรามักรับรู้หรือถูกสั่งสอนกันมาตลอดว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแบบอเทวนิยม หรือศาสนาที่ไม่นับถือเทพพระเจ้าใด ๆ และยึดถือเพียงพระธรรมวินัยคำสอนจากพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัดเท่านั้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการบรรลุนิพพานให้เร็วที่สุด ดังนั้นพระพุทธเจ้าในมุมมองของชาวพุทธนิกายเถรวาท ย่อมเป็นมนุษย์ผู้บรรลุสู่นิพพาน และไม่มีเรื่องราวหลังการนิพพานปรากฏขึ้นอีก ไม่ใช่เทพเจ้าที่ยังปรากฏตัวขึ้นได้ ทำให้เราอาจสงสัยกันขึ้นมาว่า แล้วทำไมใน Record Of Ragnarok ถึงมีการตีความให้พระพุทธเจ้าเป็นเทพเจ้าได้?

ความจริงแล้วศาสนาพุทธนั้นมีอยู่หลากหลายนิกาย ได้แก่ เถรวาท มหายาน และตันตระ ซึ่งแต่ละนิกายก็จะมีคอนเซปต์ความเชื่อแตกต่างกันอยู่หลายส่วน กล่าวคือในขณะที่เถรวาทยึดถือในพระธรรมวินัย และนับถือเพียงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันอย่าง “พระศรีศากยมุนี” เท่านั้น แต่นิกายมหายานจะมองว่าพระพุทธเจ้านั้นมีมากมายกว่าเม็ดทรายในมหาสมุทร จึงนับถือพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ได้หลายพระองค์ โดยสามารถแบ่งออกเป็นสามลำดับชั้น คือ พระอาทิพุทธ พระพุทธเจ้าที่นับถือกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกของจักรวาล เป็นต้นกำเนิดของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เป็นผู้บรรลุขั้นสูงสุด ไร้รูปกาย และสถิตอยู่ในอรูปภูมิ มักมีการแทนพระพุทธเจ้าในระดับชั้นนี้ด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น สถูป เป็นต้น

ลำดับต่อมาคือ พระธยานิพุทธ เป็นพระพุทธเจ้าที่เกิดมาจากการตั้งสมาธิของพระอาทิพุทธ มีรูปกายทิพย์ เป็นอมตะ และอยู่ในรูปภูมิ และลำดับชั้นสุดท้ายคือ พระมานุษิพุทธ เป็นพระพุทธเจ้าที่กำเนิดมาจากพระธยานิพุทธ มีกายเนื้อ สามารถเกิด แก่ เจ็บ และตายได้ และลงมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเป็นการช่วยเหลือสัตว์โลกให้บรรลุนิพพานไปด้วยกันให้มากที่สุด เหมือนกับชื่อนิกาย ‘มหายาน’ ที่หมายถึง ‘เรือลำใหญ่’ นั่นเอง

ส่วนนิกายตันตระจะนับถือพระอาทิพุทธ พระธยานิพุทธ และเพิ่มเทพดุร้ายเข้ามา มีความเชื่อในเรื่องพิธีกรรมและเวทมนตร์คาถาอันลึกลับ ค่อนไปทางศาสนาฮินดู มากกว่าพระพุทธศาสนา

จากข้อมูลเหล่านี้ ถ้าเราจับคู่คาแรกเตอร์ศากยมุนีในเรื่อง Record of Ragnarok ที่ถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็นเทพเจ้า เข้ากับแนวคิดของนิกายต่าง ๆ ในศาสนาพุทธ ก็เหมือนจะใกล้เคียงกับนิกายมหายาน และนิกายตันตระมากที่สุด เพราะทั้งสองนิกายนี้ มีมุมมองเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหลากหลายกว่า และมีอภินิหารดุจเทพเจ้าทั่วไปมากกว่านิกายเถรวาท ที่มีเป้าหมายเพื่อการนิพพานเท่านั้น แต่ถ้าเราจะฟันธงกันจริง ๆ ผู้เขียนเชื่อว่าคาแรกเตอร์ศากยมุนีในเรื่องนี้น่าจะมาจากแนวคิดของนิกายมหายานมากกว่า

เนื่องจากผู้แต่งเรื่องนี้คือ ชินยะ อุเมมูระ (Shinya Umemura) กับ ทากูมิ ฟูกูอิ (Takumi Fukui) เป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นดินแดนที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานเบ่งบานอยู่ และท่ามกลางชื่อเรียกอันหลากหลายของพระพุทธเจ้า ผู้แต่งได้เลือกใช้ชื่อ “ชากะ (Shaka)” หรือ “ศากยมุนี” มาจาก ‘The Sage of The Shakyas’ หมายถึง ‘นักปราชญ์แห่งตระกูลศากยะ’ ชื่อเรียกของพระพุทธเจ้า ที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออก ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6-7 ซึ่งเป็นช่วงที่ดินแดนเหล่านี้ เริ่มรับแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเข้ามา

นอกจากนี้เจตจำนงของนิกายมหายาน ยังเป็นการบรรลุ เพื่อกลับมาช่วยเหลือมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายให้หลุดพ้นมากที่สุด และจะไม่บรรลุสู่นิพพานตราบใดที่ยังเหลือสัตว์โลกที่เป็นทุกข์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ ‘ศากยมุนี’ ยังคงปรากฏอยู่ได้ เพราะนิกายมหายานไม่ได้มีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว ที่นิพพานแล้วหลุดพ้นไปจากสารบบ เหลือไว้เพียงคำสอนให้ยึดถือแบบเถรวาท แต่ยังมีพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในรูปอื่น คอยปกป้องในหลาย ๆ ด้านและคอยช่วยเหลือมนุษย์ทุกคนไปจนกว่าจะไปสู่นิพพานด้วยกันทั้งหมด

ดังนั้นเหตุผลที่ในอนิเมะเรื่อง Record of Ragnarok ตัวละคร ‘ศากยมุนี’ ถูกจัดให้เป็นเทพเจ้าที่มีอารมณ์ความรู้สึกได้เมื่อถูกยั่วยุ สามารถเจ็บและตายได้เมื่อโดนทำร้าย อีกทั้งยังมุ่งมั่นในการช่วยเหลือฝ่ายมนุษย์ ก็เพราะผู้แต่งได้สร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมาในมุมมองของนิกายมหายาน ให้เป็นพระพุทธเจ้าแบบมานุษิพุทธนั่นเอง

มหาบุรุษลักษณะและลักษณะมงคล ที่ปรากฏในตัวละคร ‘ศากยมุนี’

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเคยเห็นพระพักตร์หรือตัวจริงของพระพุทธเจ้ามาก่อน แต่ทำไมเราถึงมีภาพจำเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเหมือน ๆ กัน แถมพระพุทธรูปต่าง ๆ ก็ยังมีหน้าตาและรูปลักษณ์คล้าย ๆ กันอีก? คำตอบก็คือ เพราะการสร้างรูปสมมติต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า ได้อิงลักษณะมาจากมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ รวมถึงมีการใส่สัญลักษณ์มงคลต่าง ๆ ที่มองกันว่างาม และสามารถสื่อถึงพระพุทธเจ้าได้ ซึ่งในเรื่อง Record of Ragnarok ที่เป็นสื่อสมัยใหม่ ก็ยังมีการนำลักษณะเหล่านี้มาใช้ในการประกอบสร้างคาแรกเตอร์พระพุทธเจ้าขึ้นมาเช่นกัน

มหาบุรุษลักษณะแรกที่สังเกตได้ชัดเจนเลย ก็คืออุณาโลมสีขาวระหว่างคิ้ว เชื่อกันว่าลักษณะเช่นนี้ถือเป็นลักษณะมงคล ที่เกิดจากการสั่งสมบุญบารมีในชาติก่อน และจะเกิดขึ้นเฉพาะกับมนุษย์ที่ไม่กล่าวคำเท็จ และเชื่อถือได้

มหาบุรุษลักษณะแบบต่อมา คือ พระเขี้ยวแก้ว 2 ซี่ บริเวณฟันบน ซึ่งตามตำรามหาบุรุษลักษณะ 32 ประการบอกว่าเป็นเขี้ยวงามบริสุทธิ์ 4 ซี่ และเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญ เป็นคนเที่ยงตรง ไม่คดโกง แม้ว่าในเรื่องนี้จะไม่ได้แสดงพระเขี้ยวแก้วครบทุกซี่ตามตำรา แต่ก็ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้แต่งได้หยิบยกขึ้นมาออกแบบคาแรกเตอร์ศากยมุนี ที่ทำให้คนจำได้อย่างชัดเจน

นอกจากมหาบุรุษลักษณะสองแบบแล้ว ผู้แต่งยังดึงอีกสองภาพจำของพระพุทธเจ้ามาออกแบบตัวละครด้วย อย่างแรกคือหูที่หนาและยาว ลักษณะนี้ไม่ได้รวมอยู่ในมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ แต่ปรากฏอยู่ในอนุพยัญชนะ 80 ประการที่พูดถึงรายละเอียดปลีกย่อยของมหาบุรุษลักษณะ มีการสันนิษฐานกันว่า ลักษณะนี้มาจากคนวรรณะกษัตริย์ ซึ่งเป็นวรรณะเดิมของพระพุทธเจ้า ที่ร่ำรวยเงินทอง และมีทรัพย์สมบัติมากมาย จึงสามารถสวมตุ้มหูหนัก ๆ ได้ ดังนั้นแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะออกผนวชและถอดเครื่องประดับทั้งหมดออก ติ่งหูที่ยานไปแล้วก็ไม่ได้กลับคืนมารูปเดิม และยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงวรรณะกษัตริย์ผู้ร่ำรวยอยู่ จึงมีการใส่ลักษณะนี้ลงไปในพุทธรูปและรูปสมมติของพระพุทธเจ้าจนเราชินตา รวมถึงในตัวละครศากยมุนีในเรื่องนี้ด้วย

ลักษณะต่อมาคือส่วนของมวยผม ผู้แต่งและนักวาดอาจปรับรูปแบบมาจากอุษณีษะหรือมวยผมกลางศีรษะที่เรามักเห็นได้ในพระพุทธรูป ลักษณะเช่นนี้พบอยู่ในคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะเวอร์ชั่นภาษาสันสกฤตข้อแรกว่า ‘อุษฺณีษ”’ แปลตรงตัวว่าผ้าโพกหัว เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นกษัตริย์ในอินเดียสมัยโบราณ ลักษณะข้อนี้จึงอาจมีนัยสื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่

หรือนักวาดอาจได้แรงบันดาลใจมาจากทรงผมที่เราเรียกกันว่า ‘ชฎามกุฎ’ คือทรงผมที่ไม่ใช่ทรงผม โดยเนื้อแท้แล้วคือผมของนักบวชที่เคร่งการบำเพ็ญเพียรยาวนานโดยไม่สนใจว่าผมจะยาวหรือพันกันไปมากแค่ไหน จึงแค่มวยผมไว้แค่พอใช้ได้ สำหรับทรงผมทรงนี้อาจไม่คุ้นตาสำหรับคนไทยซึ่งนับถือนิกายเถรวาท รวมถึงพระพุทธรูปในไทยเอง ก็ไม่ได้ออกแบบให้พระพุทธเจ้าทำทรงนี้ แต่สำหรับนิกายมหายานแล้ว ทรงผมนี้ถือเป็นทรงผมที่แสดงถึงสถานะนักบวชของพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ รวมไปถึงในศาสนาฮินดูเองก็ใช้ทรงผมนี้กับพระศิวะและพระพรหมเช่นกัน

จะเห็นได้เลยว่าการสร้างคาแรกเตอร์พระพุทธเจ้าในมุมมองแบบร่วมสมัย ก็ยังจำเป็นต้องเหลือร่องรอยของมหาบุรุษลักษณะและเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมเอาไว้อยู่ เพื่อที่คนดูจะสามารถจดจำตัวละครนี้ได้ อีกทั้งมหาบุรุษลักษณะที่หลงเหลือไว้ในตัวละครศากยมุนี ก็ยังเชื่อมโยงกับลักษณะนิสัยของตัวละคร ที่เป็นคนพูดคำไหนคำนั้น น่าเชื่อถือ พูดจริงทำจริง และเถรตรงด้วย เรียกว่าทุกลักษณะที่หยิบยกขึ้นมา ผู้แต่งและนักวาดอาจไม่ได้หยิบขึ้นมาเพื่อให้คนดูจำได้เพียงอย่างเดียว แต่เพื่อแสดงตัวตนของตัวละครนี้ด้วย

ธรรมจักร ดอกบัว และ ประภามณฑล สัญลักษณ์แห่งธรรมกับการตรัสรู้ที่อยู่คู่กับตัวละคร ‘ศากยมุนี’

นอกเหนือจากรูปลักษณ์และร่างกายของตัวละครศากยมุนี ยังมีสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่เป็นอีสเตอร์เอ้กของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏร่วมกับตัวละครศากยมุนีในเรื่องด้วย และแต่ละครั้งที่ปรากฏก็ยังช่วยเน้นย้ำการกระทำของตัวละคร และซ่อนความหมายแฝงเอาไว้ด้วย

สัญลักษณ์แรกที่ขอเอ่ยถึง คือ ‘ธรรมจักร’ ที่ปรากฏในดวงตาของศากยมุนีในตอนที่ 10 ช่วง 25.06 นาที หากสังเกตจะเห็นเลยว่า ตลอดทั้งเรื่อง เราจะไม่เห็นสัญลักษณ์นี้ปรากฏขึ้นมาในแววตาของศากยมุนีเลย จนกระทั่งตอนที่เขากล่าวว่าจะเป็นตัวแทนฝ่ายมนุษย์ และเปิดศึกกับฝ่ายเทพเจ้าแบบเต็มตัว ซึ่งการกระทำนี้สอดคล้องกับความหมายของธรรมจักร อันมีที่มาจาก 'ล้อรถศึก' ที่ไม่ว่าจะเคลื่อนไปยังที่ใด ก็สามารถกำราบข้าศึกได้อย่างราบคาบ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงบารมีของพระมหาจักรพรรดิ และเมื่อนำสัญลักษณ์นี้มาผูกโยงเข้ากับธรรมะ ธรรมจักรก็เปรียบเสมือน ‘จักรแห่งธรรม’ ที่ไม่ว่าจะเผยแผ่ไปที่ใด ก็จะทำให้ผู้คนบรรลุธรรมตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ธรรมะที่พระพุทธเจ้าเทศนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้จึงมีชื่อว่า ‘ธัมมจักกัปปวัตนสูตร’ หมายถึง ‘พระสูตรแห่งการหมุนธรรมจักร’ พระพุทธเจ้าจึงกลายเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทางธรรมไปโดยปริยาย ดังนั้นการปรากฏของสัญลักษณ์ธรรมจักรในนัยน์ตาของตัวละครศากยมุนีในฉากนี้ จึงช่วยเน้นย้ำถึงความเก่งกาจและความเป็นจักรพรรดิทางธรรมของตัวละครศากยมุนี พร้อมเป็นการประกาศศึกว่า ณ บัดนี้กรงล้อแห่งธรรมจะเคลื่อนที่แล้ว เพื่อบดขยี้ให้ฝ่ายเทพเจ้าได้หลุดพ้นออกจากความคิดที่จะทำลายมนุษย์ และเขาจะเป็นผู้ช่วยเหลือมนุษย์เอง เรียกว่าสมกับเป็นศาสดาตัวตึงประจำเรื่องที่พร้อมชนกับทุกคนจริง ๆ

สัญลักษณ์ต่อมาคือดอกบัว ดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ตอนประสูติ และยังมีความหมายถึงการตรัสรู้หรือการรู้แจ้งอีกด้วย โดยดอกบัวที่ปรากฏในเรื่อง Record of Ragnarok จะปรากฏขึ้นมาในหลาย ๆ โอกาส ไม่ว่าจะเป็นจังหวะเปิดตัวพระพุทธเจ้า หรือจังหวะที่พระพุทธเจ้าเข้าใจอะไรบางอย่าง ดอกบัวก็จะปรากฏขึ้นมาเช่นกัน

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ขอพูดถึงคือ ‘ประภามณฑล’ หรือ ‘Halo’ ที่เป็นวงกลมแสงสว่างด้านหลัง ความจริงแล้วสัญลักษณ์นี้ไม่ใช่สัญลักษณ์จำเพาะที่ปรากฏขึ้นเฉพาะกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ที่มักใช้กันทั่วไป เพื่อเสริมให้คนเห็นถึงความทรงพลังและศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าทั้งหลาย ที่เลียนแบบมาจากแสงอาทิตย์ แสงสว่างที่ร้อนแรงและทรงพลังที่สุด โดยสัญลักษณ์นี้เริ่มใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณอย่างเทพอะพอลโล่ หรือในคริสต์ศาสนาก็มีการใส่สัญลักษณ์นี้ให้กับเหล่าเทวดา พระแม่มารี หรือพระเยซู และอีกมากมาย การใช้สัญลักษณ์นี้กับศากยมุนีในเรื่อง จึงเป็นเครื่องหมายที่สะท้อนให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ และทรงพลังของตัวละครศากยมุนีไปในตัว

เบื้องหลังเสื้อลายกระต่ายของศากยมุนี

ถึงแม้ว่าตัวละครศากยมุนีจะมีสัญลักษณ์หลายอย่าง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากมหาบุรุษลักษณะ หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม เพื่อสร้างตัวละครขึ้นมา แต่ผู้แต่งและนักวาดกลับไม่ได้ออกแบบเสื้อผ้าของศากยมุนีให้สวมจีวร หรือเสื้อคลุมแบบนักบวช แต่ให้สวมเสื้อกล้ามสีน้ำเงินลายกระต่ายสุดเฟี้ยว พร้อมตัวอักษรที่เขียนว่า ‘USACHAN’ หรือ ‘อุสะจัง’ ที่แปลว่า ‘กระต่าย’ แทน

ความจริงแล้วเจ้ากระต่ายตัวนี้คงไม่ได้ถูกวาดขึ้นมาเพราะศากยมุนีชอบกระต่าย (หรืออาจจะชอบกันนะ) แต่ในฐานะที่เรากำลังถอดรหัสและตีความหาอีสเตอร์เอ้กกัน พอเห็นว่ากระต่ายตัวนี้ไปสอดคล้องกับชาดกเรื่อง ‘สสปัณฑิตชาดก’ ก็สันนิษฐานว่าน่าจะต้องมีความเกี่ยวข้องกันเป็นแน่ เพราะชาดกเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของกระต่ายผู้เสียสละตน โดยมีเนื้อเรื่องที่พูดถึงสัตว์ป่า 4 ชนิด ผู้เคร่งครัดเรื่องการรักษาศีล วันหนึ่งพวกเขาตั้งใจจะทำทานด้วยการมอบอาหารให้กับผู้ที่มาขออาหารจากตน ซึ่งสัตว์ทั้งสามตัวก็ได้เตรียมอาหารไว้สำหรับผู้มาเยือนอย่างพร้อมเพรียง ยกเว้นแต่กระต่ายที่ตั้งใจจะให้เนื้อของตัวเอง เพื่อเป็นอาหารแก่ผู้ที่มาขออาหาร

และเมื่อมีคนมาขออาหารจากกระต่าย กระต่ายก็ทำตามเจตนารมณ์โดยการกระโดดเข้ากองไฟ เพื่อให้ตัวเองกลายเป็นอาหารแก่ผู้มาเยือน แต่แท้จริงแล้วผู้ที่มาเยือนคนนั้นคือท้าวสักกะ ผู้มาทดสอบคุณธรรมของกระต่ายเฉย ๆ กระต่ายจึงไม่เป็นอันตรายใด ๆ และเขาก็ได้จารึกคุณงามความดีของการเสียสละตนเองของกระต่ายเอาไว้ ด้วยการเขียนรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์ ดังที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

จากเนื้อเรื่องทุกคนอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วทำไมต้องเชื่อมโยงตัวละครศากยมุนีเข้ากับชาดกเรื่องนี้ด้วย? หากทุกคนสังเกตจะพบว่าชาดกตอนนี้สอดคล้องกับการกระทำของตัวละครศากยมุนีเป็นอย่างมาก เพราะการเลือกต่อสู้กับฝ่ายมนุษย์ ย่อมยากลำบากกว่าฝั่งเทพเจ้า อีกทั้งการต่อสู้นี้เทพเจ้าทุกคนสามารถดับสูญหรือตายได้จริง ไม่เว้นแม้แต่ตัวศากยมุนีเอง ดังนั้นการกระทำของศากยมุนีจึงเป็นการเสียสละตนเองอย่างเต็มกำลัง เหมือนกับเจ้ากระต่าย ด้วยเหตุนี้กระต่ายและเรื่องราวในชาดก จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เน้นย้ำให้เห็นถึงพันธกิจ จุดมุ่งหมาย และลักษณะนิสัยของศากยมุนี ที่ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะแตกต่างไปจากศาสดาในแบบที่เราเคยรู้จักขนาดไหน แต่ก็ยังคงทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ดังเดิม

อ้างอิงจากหนังสือ

เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. พิมพ์ครั้งที 2. นนทบุรี: หสม.สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส.

อ้างอิงจากเว็บไซต์

https://www.mcu.ac.th/article/detail/14344 http://www.dhammathai.org/nithanchadok/dbview.php?No=1 https://www.silverskyimports.com/pages/the-8-auspicious-symbols-of-buddha.html https://www.onmarkproductions.com/html/shaka.shtml https://www.sarakadee.com/2018/02/12/hooyan/