สนทนากับ ‘ครูปาน’ สมนึก คลังนอก ถึงนิทรรศการเดี่ยวในไทยครั้งแรกของเขา 'Cocoon: Lost and Found'

สนทนากับ ‘ครูปาน’ สมนึก คลังนอก ถึงนิทรรศการเดี่ยวในไทยครั้งแรกของเขา 'Cocoon: Lost and Found'

‘ครูปาน’ สมนึก คลังนอก – ศิลปินสบาย ๆ กับความสดใสของวัยเด็ก ที่เขาไม่อยากให้เราลืม

ใครจะไปเชื่อว่าห้องสีชมพูสด ที่มีคาแรกเตอร์ตาใสเต็มผนังนี้ ไม่ใช่ห้องของเด็กซนตัวเล็ก ๆ แต่เป็นห้องของศิลปินกางเกงส้มคนนี้ เจ้าของงานศิลปะที่อยู่คลังสะสมของคนดังมากมายอย่าง ‘ครูปาน’ สมนึก คลังนอก . ‘Cocoon: Lost and Found’ นิทรรศเดี่ยวครั้งแรกในไทยของเขา รวมผลงานศิลปะประติมากรรมเจ้า Cocoon เต็กสาวจากต่างดาว และภาพวาดโคคูนในสีสันต่าง ๆ แต่ศิลปะของครูปานจริง ๆ แล้ว อาจอยู่ในวิถีชีวิตและมุมมองต่อโลก ที่ทำให้อดคิดไม่ได้ว่านี่แหละ คือศิลปินที่เล่าเรื่องราวแห่งความสุขอย่างแท้จริง

จากชีวิตในคันนามาสู่อาร์ตแฟร์ทั่วโลก จากกิ่งไม้ที่ขีดพื้นดินสู่ลวดลายบนประติมากรรมไม้น่าสะสม อะไรที่หล่อหลอมเด็กคนนึงให้เติบโตแต่ไม่ทิ้งความสดใสไว้ได้ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา จนวันนี้เราขอชวนครูปานมานั่งคุยด้วยสักครั้ง เพื่อหาคำตอบว่าสายตาแห่งวัยเยาว์ของเขานี่เป็นยังไงกัน ทำไมถึงใช้ชีวิตได้มีความสุขได้ขนาดนี้

ว่าแล้วก็นั่งลงบนโซฟา (ที่ครูปานยกมาจากบ้าน) แล้วมาฟังเรื่องราวเคล้าเสียงหัวเราะของเขา ที่กลับทำให้ได้ยินเสียงชวนคุยจากเด็กน้อยในตัวเราแทน

เด็ก ๆ ที่สดใส เหมือนในอดีตของเราทุกคน

“โคคูนคือมันแปลว่าเด็กดักแด้นะ” ครูปานเล่าที่มาของคาแรกเตอร์สาวตาใสในนิทรรศการ ‘Cocoon: Lost and Found’ “มันก็เกี่ยวกับความเป็นเด็ก ครูปานชอบ ครูปานก็ช่วยแม่เลี้ยงไหมด้วยนะ ชื่อโคคูนมันก็มาจากตัวไหมที่มันอยู่ในฝักนั่นแหละ”

เด็ก ๆ มีความสำคัญต่อครูปานขนาดไหน แค่ก้าวเข้าไปในห้องนิทรรศการก็สัมผัสได้แล้ว ในวิดีโอที่ครูปานเล่นกับเจ้าโคคูนของเขา และบนกำแพงแสดงภาพโคคูนขาวดำที่ครูปานตั้งใจให้เอาไประบายสีต่อได้

“แรกเริ่มเดิมทีคือวาดรูปลูกศิษย์ที่มาเรียนวาดรูป เป็นเด็กเขาใส่เสื้อฮูดมา โรงเรียนเราหนาว เห็นเขาใส่มาแล้วน่ารักมาก เป็นฟอร์มแบบเด็กหัวโต ๆ อ้วน ๆ แล้วมันหน้าชมพู ๆ เราก็เลยจับเข้ามาวาดแบบให้น่ารักขึ้น ใส่สีเข้าไป”

“เราว่าเด็กทุกคนน่ะมันมีความน่ารัก มีความสดใส เราชอบเล่นกับเด็กมาก เขาจะมีอะไรไม่รู้ที่พูดออกมาแล้วมันตลกอะ เราเลยมีความสุขที่จะอยู่กับเขา”

อาจเป็นความช่างฝัน ผสมกันกับการมองโลกในแง่ดี หรือที่จริงแล้วจะต้องอธิบายไปทำไมกัน เมื่อเราทุกคนก็เคยมองโลกแบบเด็ก ๆ เล่นแบบเด็ก ๆ ใช้ชีวิตแบบเด็ก ๆ กันมาแล้วทั้งนั้น บางที สิ่งที่ต้องคิดอาจคือว่า จะทำยังไงให้ความเป็นเด็กเหล่านั้นไม่หล่นหายไปกับการเติบโต หรือถ้าหายไปแล้ว จะมาเจอมันใหม่ได้ยังไง

สงบเพื่อสำรวจตัวตนกับ ‘ปั๊บ โปเตโต้’

“เราว่าบางคนก็ทำความสุขหายไปนะ ไม่ก็ลืมความสุขไปเลย ลองอยู่กับเด็กนาน ๆ สิ เราจะรู้เลยว่ามันก็ไม่ได้ทุกข์อะไรเยอะแยะเลยนี่หว่าชีวิต เราก็เคยเป็นเด็กมาแล้ว เราแค่อยากเล่นเกม ดูทีวี แต่พอโตมาเราต้องทำงานต้องมีนู่นนี่นั่น มันก็เลยลืมไปว่าความสุขมันเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้แล้ว มีปัจจัยหลายอย่างนะทำให้เราลืมความสุข” ครูปานพูดถึงความสุข ชวนให้เราคิดว่าสุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องไม่ยากเลย

งานของครูปานนั้นเป็นมากกว่าภาพวาด เพราะแต่ละภาพมีคำอธิบายสั้น ๆ ซึ่งล้วนมีแง่มุมชวนคิด ให้เป็นศิลปะแห่งการใช้ชีวิต ซึ่งเราในฐานะผู้ชมไม่แปลกใจเลยว่าครูปานจะมีช่วงชีวิตที่ผูกพันกับธรรมะ

“เหลือเชื่อนะว่างานเรามันสะท้อนตัวตนออกมา เราเคยไปอเมริกาแล้วมีเพื่อนฝรั่งเขาได้หนังสือไป เป็นหนังสือนิทานเล็ก ๆ น้อย ๆ มีเรื่องของแต่ละคน เขาอ่าน ๆ ไป วันนึงเราเจอเขา เขาบอกว่ามันเป็นธรรมะมากเลยนะสิ่งที่เราเขียน เหมือนคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ เฮ้ย มันจะเป็นไปได้ยังไงเราไม่ได้แต่งเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเลย ไม่เกี่ยวกับธรรมะอะไรทั้งสิ้น แต่เขาก็ยืนยันอย่างนั้น”

คอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนในแต่ละภาพของครูปานก็คงมาจากความเข้าใจในวิถีชีวิตตัวเองของเขาเอง

“พอมานึกทีหลังมันก็คงด้วยความที่เราบวชมาตั้งแต่อายุ 13 - 24 มันคงซึมเข้าไปในตัวเรา อยู่เป็นวิธีคิด วิธีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเรา สมมุติโดนคนไม่ชอบหรือมีใครมาต่อว่า บางคนอาจจะต่อยไปเลย บางคนก็เศร้าหลบไป บางคนก็ด่าไปตรงนั้นเลย มันไม่เหมือนกันเลย แต่การบวชมันทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้”

ภายในความใสซื่อของเด็ก ๆ นิทรรศการนี้เลยแฝงความสงบนิ่งให้ได้สะท้อนเหมือนตอนนั่งสมาธิ ซึ่งสอดคล้องกับไฮไลต์เด็ดหนึ่งของงานนี้คือเสียงดนตรี Handpan ที่บรรเลงโดยปั๊บ โปเตโต้ เติมเต็มบรรยากาศของห้องกระจก ที่เปิดให้เราได้เข้าไปมอบดอกไม้ให้ตัวเอง

ควาย ครอบครัว และร่องรอยจากหยดสี

ภาพวาดและประติมากรรมไม่น้อยในงานมาจากประสบการณ์วัยเด็กในชนบทของครูปาน สำหรับเขาเองนั่นอาจไม่ต่างจากภาพความทรงจำที่สัมผัสทุกอย่างชัดเจน แต่สำหรับเรา การเดินงานนี้ก็กระตุ้นให้เราสงสัย ว่ามีสัมผัสอะไรไหมที่เราหลงลืมไปแล้ว

“มันมีเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นตอนเด็ก แต่เราจำได้ว่าเคยทำแบบนั้น คือขี่ควายตอนเย็น ๆ แดดประมาณห้าโมง กำลังร่ม ฟ้ายังไม่ได้ส้มมาก แสงเริ่มหมด เราไปขี่ควายในคันนา ลงน้ำไปประมาณครึ่งแข้งควาย แล้วมันก็มุดน้ำลงไปกินหญ้า สีหญ้ามันก็เขียวอ่อน เรามองจากหลังมันก็ดูน่าอร่อยมากเลยนะ”

หนึ่งในภาพน่าประทับใจของงานนี้คือที่ครูปานวาดพี่น้องของเขา โดยใช้เทคนิคที่ใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยใช้มาก่อน เพราะสำหรับศิลปินแล้ว อะไรจะดีไปกว่าการได้ทำงานตามที่ตัวเองต้องการกัน

“งานนี้เราลองขูดสีหยดลงไปแล้วก็ลาก ใช้ไม้กระดานหรือไม้บรรทัด กิ่งไม้ อะไรก็ได้ มันจะเกิด Texture ที่ไม่เหมือนกัน เป็นสีที่เราควบคุมไม่ได้ มันเกิดขึ้นเอง มันสนุกนะ มันฟรี”

“ชอบที่มันควบคุมไม่ได้แล้วมันไม่เพอร์เฟค บางทีความเพอร์เฟคก็อึดอัดไป”

อย่ากลัวที่จะกลิ้ง

“รูปที่ทำงานคือต้องตั้งใจโฟกัส แต่มีรูปที่ทำแบบเบรคคือสบาย ๆ” ปรัชญาการทำงานของครูปาน ก็เหมือนปรัชญาการใช้ชีวิตของเขา “มันไม่มีความตึงเครียดแม้แต่นิดเดียวนะ”

ครูปาน ‘เล่นสนุก’ กับการวาดภาพตลอด เช่นด้วยการทดลองผสมสีหรือการเลือกวัสดุต่าง ๆ มาปาดสีเพื่อสร้าง Texture แต่เคล็ดลับที่เขาทำทุกครั้ง คือการเก็บดวงตาไว้วาดหลังสุด

“เพราะว่าดวงตาเป็นสิ่งที่บอกทุกอย่างในรูป มันคือความน่ารักที่สุด วาดตาเสร็จปุ๊บจะไม่อยากวาดอะไรอย่างอื่นเลย มันเหมือนกินลูกชิ้นในก๋วยเตี๋ยวกินเส้นหมดแล้วเก็บลูกชิ้นไว้กินทีหลัง เพราะว่าดวงตาเป็นสิ่งที่บอกอารมณ์ของรูปจะสุขจะเศร้าอยู่ที่ดวงตา”

นอกจากภาพวาดที่ดูน่ารักแล้ว นิทรรศการนี้ยังออกแบบมาให้ถูกใจเด็ก ๆ จริง ๆ มีห้องหนึ่งที่ครูปานปูพรมนุ่ม ๆ ไว้รอบหุ่นเจ้าโคคูน ซึ่งก็ได้ไอเดียมาจากพรมที่บ้าน ซึ่งเด็ก ๆ ชอบไปนอนเกลือกกลิ้ง

นิทรรศการ Cocoon: Lost and Found เปิดให้เข้าชมฟรีถึงวันที่ 23 เมษายน 2566 ที่ RCB Galleria 1 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก