Hunger
บทวิพากษ์ทุนนิยมที่แสดงนำโดยเมนูอาหาร

Hunger บทวิพากษ์ทุนนิยมที่แสดงนำโดยเมนูอาหาร

'Hunger' บทวิพากษ์ทุนนิยมที่แสดงนำโดยเมนูอาหาร

ช้อนที่ตักซอสแดงเหนียวข้นกระแทกจานขาวเสียงแหลมแทงหูดังกระสุน จนเกิดรอยเปื้อนกระจาย ก่อนจะเสิร์ฟก้อนเนื้อแดงตามคอนเซ็ปต์กินเลือดกินเนื้อในงานเลี้ยงบ้าน ‘ป๋าเปรม’ ศักดิ์ คือฉากแรก ๆ ของหนัง ‘Hunger’ ที่แสดงพลังของอาหาร ในฐานะหนึ่งในนักแสดงหลัก ซึ่งสวมบทบาทตามคอนเซปต์ของเชฟ เล่าเรื่องให้คนดู คนกิน และคนทำด้วยกันฟัง

คงจะพูดไม่ได้ว่า เรื่องนี้ถ่ายอาหารออกมาน่ากินสุด ๆ แบบชวนน้ำลายไหลย้อย แต่คงเหมาะกว่าถ้าจะบอกว่าศิลปะแห่งการทำอาหารผ่านกล้องในเรื่องนี้ เป็นศิลปะที่เผยทั้งความตะกละตะกลาม ความคลั่ง ความหดหู่ รวมทั้งความสุขความสัมพันธ์ของมนุษย์ ผ่านเส้นทางการไต่เต้าสู่ยอดปีระมิดแห่งวงการอาหาร ของ ‘ออย’ (ออกแบบ - ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ทายาทร้านราดหน้า-ผัดซีอิ๊วกินง่าย ผู้ “หิว” ชีวิตที่ดีกว่า เหนือกว่า แตกต่างกว่า ผ่านการเข้าร่วม ‘Hunger’ ทีมไพรเวทเชฟขวัญใจไฮโซ ซึ่งมีท่านผู้นำหน้าดุใจโหดเป็น ‘เชฟพอล’ (ปีเตอร์ - นพชัย ชัยนาม)

จากร้านร้อน ๆ ข้างถนน เชฟพอลชี้ทางสนองต่อมหิวอยากเป็นคนพิเศษของออย ให้ยิ่งหิวเข้าไปอีก จนทำให้คนดูอย่างเราได้ตามออยเข้าไปสำรวจโลกแห่งความหิวโหยที่ทั้งสั่นสะเทือนความเชื่อ และตะกละตะกลามอย่างน่าใจหาย ในขณะที่ออยวิ่งเข้าออกสลับระหว่างฉากสตรีทฟู้ดของคนที่กินเพื่ออยู่ กับฉากปาร์ตี้ของวัยรุ่นคริปโตที่กินอาหารแพง ๆ อำนาจของทุนนิยมก็ถูกชำแหละขึ้นเรื่อย ๆ จนเห็นถึงโครงกระดูกที่โยงโศกนาฏกรรมทั้งหมดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการหาวัตถุดิบที่ดีที่สุดจากคนทำงาน การดีไซน์คอนเซ็ปต์อาหาร การควบคุมมีดควบคุมไฟที่เดือดอย่างกับหนังแอ็คชั่น การคุมระเบียบและสวัสดิการคนครัว ไปจนถึงดีไซน์ของการปรุงโชว์และวิธีการกิน ที่เปลือยหลายโฉมหน้าของความหิวให้ออกมา ตั้งแต่การดื่มด่ำความปรารถนาไปจนถึงความละโมบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความหิวจะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคนได้ขนาดไหนเมื่ออยู่ใต้โครงสร้างของการแข่งขันเพื่อเงิน

แต่ที่หนักมือที่สุดคงเป็นการบดขยี้รสชาติของความรักในเมนูอาหาร และประสบการณ์การกินที่ชุบชูใจ ให้สัมผัสของมนุษย์ต่อมนุษย์ที่ปลายลิ้น ด้วยท่วงท่าห้ำหั่นกันในเกมธุรกิจ การตลาด และการเมือง จากการแข่งกันพัฒนาฝีมืออาหาร เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ของคนทำ-คนกิน ไปถึงจุดที่แข่งอะไรกันแล้วก็ไม่รู้เพื่อมูลค่า ที่ไม่ได้เกี่ยวกับคุณค่าด้านใด ๆ ของอาหารเลย

ไม่แปลกใจเลยว่านี่คือผลงานที่เกิดจากการแท็กทีมกันระหว่างคนเขียนบทอย่าง ‘คงเดช จาตุรันต์รัศมี’ ที่เพิ่งฝากผลงานเป็นหนังสืบค้นตัวตนซ่อนนัยยะทางการเมืองอย่าง ‘Faces of Anne’ และผู้กำกับ ‘สิทธิศิริ มงคลศิริ’ ที่สำรวจมิติของความแปลกแยกใน ‘แสงกระสือ’ ได้อย่างกลมกล่อม

ไม่ว่าจริตของลิ้นคุณจะถูกกับสายไฟน์ไดนิงหรือเจ๊โอวต้มยำหม้อไฟ แต่เราเชื่อว่า ‘Hunger คนหิว เกมกระหาย’ จะกระตุ้นต่อมรับรสรับเรื่องของคุณได้อย่างแน่นอน เตรียมรับได้ที่ Netflix วันที่ 8 เมษายนนี้