'นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล' ศิลปินข้ามวัฒนธรรม กับความอบอุ่นของบ้าน และศิลปะ ‘Low Art’ ในร้าน Shake Shack
เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าอะไร? พรหมลิขิต? โชคชะตา? หรือความบังเอิญ? ที่ทำให้ครั้งหนึ่ง ณ สวนสาธารณะกลางกรุงนิวยอร์ก ศิลปินไทยเชื้อสายอินเดีย ได้โคจรมาพบกับรถเข็นขายฮอตด็อก ธรรมดา ๆ แล้วได้ร่วมกันพางานศิลปะออกจากแกลเลอรี มาตั้งไว้กลางพื้นที่สาธารณะ ให้ประชาชนชาวนิวยอร์กทุกชนชั้นได้ชื่นชม
‘นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล’ คือศิลปินคนนั้น ส่วนเพื่อนเก่าเจ้าของรถเข็นฮอตด็อก ในวันนั้น ก็คือ ‘Shake Shack’ ร้านเบอร์เกอร์อเมริกันสไตล์ไฟน์ แคชชวล ที่เติบโตกลายเป็นแบรนด์เบอร์เกอร์ชื่อดัง และได้เดินทางไปเสิร์ฟเบอร์เกอร์ให้คนกินแล้วในร้าน Shake Shack กว่า 500 แห่งทั่วโลก
และเมื่อ 20 กว่าปีผ่านไป สิ่งที่อาจเป็นพรหมลิขิต โชคชะตา ก็ได้พาทั้งสองกลับมาเจอกันอีกครั้ง เพื่อร่วมออกเดินทาง พาศิลปะมาไว้บนพื้นที่สาธารณะ ณ อีกฟากฝั่งของโลก นั่นก็คือกรุงเทพฯ บ้านเรา
เมื่อได้โอกาสโคจรกลับมาเจอกันที่กรุงเทพฯ นาวินและ Shake Shack จึงร่วมมือกันสำรวจประวัติศาสตร์ชุมชนไทย นำความทรงจำส่วนตัวของทั้งผู้สร้างและผู้คนแห่งย่านราชดำริ มาถ่ายทอดไว้บน Hoarding และ งานศิลปะสำหรับตกแต่งในร้าน (Mural) ของ Shake Shack เซนทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นสาขาแรกของประเทศไทย
การกลับมาพบกันของศิลปินไทยและแบรนด์เบอร์เกอร์แห่งกรุงนิวยอร์ก โดยมีกรุงเทพฯ เป็นจุดนัดพบ จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ไปฟังจากคำบอกเล่าของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ร่วมกันได้เลย
ประวัติศาสตร์ ตัวตน ชุมชน และศิลปิน
สำหรับคนที่ติดตามศิลปะร่วมสมัยในไทย ชื่อของ ‘นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล’ มักมาพร้อมกับภาพจำผลงานศิลปะที่ชวนผู้คนมามีปฏิสัมพันธ์ร่วม ไม่ว่าจะเป็นศิลปะป็อปอาร์ตสไตล์การ์ตูนและโปสเตอร์หนัง หรืองานศิลปะที่เล่นกับพื้นที่สาธารณะนอกแกลเลอรีซึ่งเขาทำมาต่อเนื่องหลายสิบปี ทำให้เขามีชื่อเสียงในฐานะศิลปินผู้สำรวจสายสัมพันธ์ระหว่าง ‘ผู้ชม’ ‘พื้นที่’ และ ‘ศิลปะ’ จนทำให้เขาคว้ารางวัลศิลปาธรในปี 2553 ก่อนไปตะลุยเวทีศิลปะระดับโลกอย่างเวนิสเบียนนาเล่ในปี 2011 และล่าสุดกับการเป็นหนึ่งในศิลปินที่เตรียมเข้าร่วมมหกรรมศิลปะนานาชาติร่วมสมัยที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยอย่าง Thailand Biennale, Chiang Rai 2023
ชื่อของนาวินกับปฏิบัติการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ความทรงจำ และผู้คน จึงไม่เคยแยกออกจากกัน และยังเป็นแรงผลักดันให้เขาเริ่มต้นออกไปตามหาความหมายของคำว่า ‘พื้นที่ศิลปะ’ ณ อีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก
“ผมเติบโตมาจากเมืองเชียงใหม่ พูดง่าย ๆ คือไม่ได้เป็นเมืองที่มีหอศิลป์ สมัยที่เราเรียนจบก็ไม่มีอะไร เราก็ทำงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะมาตลอด ก็ไม่ได้คิดว่าจะแสดงงานนิวยอร์ก พอ 20 ปีผ่านมา เราก็ยังสนใจศิลปะกับคนสาธารณะ แต่ก็อาจจะสนใจมากขึ้นในมุมบางมุม เช่น พอเราอายุมากขึ้น เราก็สนใจการศึกษา แล้วก็สนใจประวัติศาสตร์ เพราะคิดว่าศิลปะมันอาจจะทำหน้าที่คนละอย่างกับการบันทึกประวัติศาสตร์ อย่างประวัติศาสตร์ของชาวอินเดียหรือไทยมันก็ไม่มีใครทำหนังสือ” . การสืบค้นประวัติศาสตร์ก่อร่างเป็น ‘สไตล์’ ส่วนตัวที่นาวินนิยามว่า เป็นศิลปะแบบ ‘บ้าน ๆ’ ที่เล่นกับสิ่งที่อยู่ตรงข้ามความขึงขังและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑ์ หนึ่งในนั้นคือการทำเพนติ้งสไตล์โปสเตอร์หนัง ที่ถูกนำมาใช้ในงานที่ทำร่วมกับ Shake Shack ในครั้งนี้ด้วย
“สิ่งที่ทำให้ผมสนใจโปสเตอร์ ก็เพราะมันเป็นเหมือนศิลปะที่ไม่มีแล้ว ยุครุ่งเรืองของมันจบลงในช่วง 90s เราจึงอยากเอากลับมาให้คนได้เห็นอีกที แต่จะเล่าเรื่องใหม่ ๆ และใช้ศิลปะมาสร้างเรื่องอื่น ตัวละครอื่น เชื่อมกับเมืองอื่น งานชิ้นนี้จึงมีทั้งองค์ประกอบในแง่ของจินตนาการ รวมไปถึงความสนุกด้วย เพราะหนังที่เราเล่าในงานโปสเตอร์ชิ้นนี้ไม่มีจริง แต่ในแง่หนึ่ง มันก็เป็นเรื่องจริงของชีวิตจริง มีทั้งเรื่องชีวิตจริง เรื่องจินตนาการ การ์ตูน และเมืองต่าง ๆ ที่เราเคยเดินทางไป ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในโปสเตอร์ ผมคิดว่าการทำโปสเตอร์หนังมีวิธีการเล่าที่น่าสนใจในตัวมันเอง และมันก็หายไปจากโลกปัจจุบันแล้ว
“มันเริ่มมาจากช่วงนิวยอร์กพอดี ประมาณปี 1997 - 98 ผมเริ่มทำงานนานาชาติ ผมสนใจเรื่องศิลปะกับพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว ย้อนกลับไปตอนเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัย เราเคยถูกสอนว่า งานศิลปะคืองานที่ต้องอยู่ในพิพิธภัณฑ์ พอเป็นศิลปะที่อยู่ข้างถนน เขาจะมองว่ามันเป็น ‘Low Art’ พวกงานคราฟต์ หรืองานช่างในไนต์บาซา เขาก็ไม่มองว่าเป็นงานศิลปะ แต่ผมกลับสนใจว่า เราจะเอาศิลปะแบบพื้นบ้านหรือศิลปะท้องถิ่นที่เป็นภาษาถิ่นของเรา ไปอยู่ในโลกศิลปะร่วมสมัยได้อย่างไร
“ผมเองก็เติบโตมากับหนังอินเดีย หนังอินเดียก็เป็นโปสเตอร์แบบนี้ล่ะ ซึ่งตอนเป็นเด็กก็เกลียดเหมือนกัน ไอ้ภาพแบบนี้ (หัวเราะ) ข้างบ้านเป็นโรงหนัง ก็คุ้นเคยกับไอ้โปสเตอร์แบบนี้มาตลอด จนตอนหลังก็เริ่มชอบและสนใจ เราอาจไม่ได้สนใจในแง่ที่มันเป็นโปสเตอร์หนัง แต่ชอบงานสไตล์นี้ ศิลปะแบบนี้ ฝีมือการวาดแบบนี้ ก็เลยทำให้อยากรู้จักคนเขียนโปสเตอร์หนังแบบนี้”
ผู้คน(หลายเชื้อชาติ)แห่งมหานครนิวยอร์ก และแท็กซี่ไทยขายฮอตด็อก
นิวยอร์กคือหม้อใบใหญ่ที่รวมผู้คนจากหลายเชื้อชาติหลายวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน เป็นพื้นที่ให้แต่ละคนส่งรสชาติของตัวเองออกมาคลุกเคล้ากันเป็นเมนูเด็ด ซึ่ง ‘ความหลากหลาย’ ก็คือสิ่งที่นาวินได้ไปสัมผัสในช่วงที่เขาใช้ชีวิตและทำงานใน ‘Metling Pot’ ใบนี้ กระทั่งนำมาสู่งานชิ้นแรกของนาวินกับ Shake Shack
ย้อนกลับไปในปี 2000 ขณะที่นาวินกำลังนั่งทานอาหารอยู่ในร้าน Tabla ติดกับสวนเมดิสัน สแควร์พาร์ก เชฟชาวอินเดียแห่งร้าน Floyd Cardoz ก็ได้เข้ามาชวนคุยและทำความรู้จักกับเขา ก่อนจะทำหน้าที่เป็นสะพานพานาวินไปเชื่อมกับเจ้าของร้านอาหารอย่าง แดนนี มายเยอร์ (Danny Myer) ซึ่งในเวลาต่อมา เขาจะกลายมาเป็นผู้ก่อตั้ง Shake Shack หนึ่งในแบรนด์ร้านอาหารอเมริกันที่คนรู้จักมากที่สุดในโลก
และในตอนนั้นเองที่สายสัมพันธ์ของโลกศิลปะและโลกแห่งอาหารได้ก่อตัวขึ้น
“ แดนนี มีโปรเจกต์ที่เขาอยากสร้างกิจกรรมในสวน ผมเลยเป็นหนึ่งในศิลปินสามคนแรกที่เขาเชิญไป” นาวินเล่าย้อนถึงที่มาของมิตรภาพระหว่างคนทำงานศิลปะสองแขนงที่โคจรมาเจอกัน “ผมทำโปรเจกต์เป็นเรื่องรถแท็กซี่ ใช้รถแท็กซี่เป็นแกลเลอรีเคลื่อนที่ (Mobile Gallery) มีที่ให้คนนั่งเล่นเป็นศาลาไทย แต่เป็นลักษณะรถแท็กซี่ มีการ์ตูนให้อ่าน ชื่อว่า I Love Taxi เป็นแบบการ์ตูนเล่มละบาทของไทย เล่าเรื่องของคนขับแท็กซี่หลายเชื้อชาติที่เราเคยได้เจอ ซึ่งผมสนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของคนพลัดถิ่น เพราะเราเองก็เป็นคนสัญชาติอื่นในนิวยอร์ก และนิวยอร์กเป็นเมืองที่มีคนหลากหลายชาติมารวมตัวกัน
“โจทย์ในตอนนั้นเลยมีสองอย่าง คือเรื่องของรถแท็กซี่ และเรื่องของสวนสาธารณะแห่งนี้ พอคุยกันแล้ว ผมก็ถามเขาว่า ทำรถเข็นขายฮอตด็อก ให้เป็นรถเข็นขายสตรีทฟู้ดแบบที่ไทยได้ไหม? เพราะว่าจริง ๆ ตอนนั้นที่นิวยอร์กก็มีรถเข็นคล้าย ๆ แบบนี้อยู่แล้ว เป็นรถเข็นขายพวกอาหารแขก แต่ว่าเราอยากทำอาหารไทย ก็เลยเอารถฮอทดอกมาทำเป็นโมไบล์ ขายฮอทดอกแค่อันละเหรียญเดียว เพราะว่าตอนนั้นเขาก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องการกำไร แค่ต้องการให้คนมาดูงานศิลปะ แล้วก็แถมการ์ตูนด้วย คนก็มานั่งเล่นในสวน แล้วก็อ่านการ์ตูน มีกิจกรรมให้คนเขียนเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับแท็กซี่”
สายสัมพันธ์ฟ้าลิขิตของศิลปินรักครอบครัวกับแบรนด์เบอร์เกอร์ที่สร้างชุมชนเมือง
กว่ายี่สิบปีผ่านไปนาวินสะสมชื่อเสียงบนเส้นทางศิลปินขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่รู้เลยว่าเขาได้อยู่ในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของแบรนด์เบอร์เกอร์อเมริกันแบรนด์นี้ไปแล้ว
“ผมไปดูในวิกิพีเดีย ก็ยังมีชื่อเราอยู่ เราก็ยังแบบตกใจ” นาวินเล่าย้อนถึงตอนที่ได้รู้ว่าชื่อของเขายังคงถูกบันทึกไว้ให้เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ ก่อนที่โชคชะตาจะพาทั้งคู่ให้ได้มาเจอกันอีกครั้งในโปรเจกต์การเปิดตัวสาขาแรกของ Shake Shack ในประเทศไทย
“รถเข็นขายฮอตด็อก เขาเนี่ยน่าจะมีคนติดใจมากิน แล้วซัมเมอร์ปีถัดไป เขาก็เอามาขายอีก คนก็เยอะขึ้น ๆ จนสามปีผ่านไป มันก็กลายเป็นแบรนด์ของเขาไป เรื่องพวกนี้ผมไม่รู้เลย เพิ่งมารู้เมื่อปีที่แล้ว คุณแรนดีก็ยังหัวเราะอยู่
“เราไม่ใช่คนทำงานศิลปะให้ร้านอาหาร เราก็ไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร เขาก็อยากให้เราทำอะไรที่สัมพันธ์กับเมืองไทย สิ่งที่เราจะทำก็คือเล่าประวัติความเป็นมาของ Shake Shack ด้วย พอเราได้ศึกษาแล้ว เราพบว่ามันไม่ใช่แค่ทำร้านอาหาร เขามีเรื่องคอมมูนิตี้ด้วย ก็เลยลองทำ จริง ๆ ภาพวาดนี้มีหนังสือด้วย จะเป็นหนังสือการ์ตูนออกมาด้วยเป็นประวัติของ Shake Shack”
ด้วยความหลงใหลในงานคราฟต์หรือศิลปะที่อยู่นอกพิพิธภัณฑ์ บวกกับการศึกษาประวัติศาสตร์ของสถานที่และผู้คน ซึ่งรวมกันเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นล้อมรอบแบรนด์ Shake Shack นาวินจึงตัดสินใจใช้ภาพยนตร์สั้นและหนังสือการ์ตูนเป็นอีกเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้น
“แล้วก็มีภาพยนตร์สั้นที่สัมภาษณ์คน มีออกมาบ้างแล้ว คือจริง ๆ ก็อยากให้คนได้รู้ที่มาที่ไป เราก็ทำให้เห็นถึงเรื่องของ Shake Shack ที่เขาสนใจ เรื่องที่จะแอ็คชั่นกับคนและคอมมูนิตี้ในเมืองต่าง ๆ เป็นเรื่องการเดินทางไปเจอเรื่องราวต่าง ๆ แล้วในเรื่องที่ผมเขียนในการ์ตูน มันจะเป็นการเล่าย้อนความหลัง ผ่านจดหมายฉบับหนึ่งถึง Taximan ตอนที่ Taximan มาเยือนโลก มาเจอคนขับแท็กซี่ในเมืองต่าง ๆ แล้ว 22 ปีผ่านไป ชีวิตเราเป็นยังไง ชีวิตเขาเป็นยังไง เกิดอะไรขึ้นบ้าง Shake Shack เกิดขึ้นได้ยังไง ทั้งหมดอยู่ในการ์ตูนเรื่องนี้
เรื่องราวการเดินทาง มิตรภาพ ผู้คน และความทรงจำต่อพื้นที่ จึงเป็นสิ่งที่ถูกนำเสนออยู่ทั่วโปรเจกต์โปสเตอร์หนังเล่าเรื่องความทรงจำที่นาวินมีต่อ Shake Shack สอดแทรกด้วยเรื่องราวย่อยน่ารัก ๆ ที่นาวินชี้ชวนอยากให้เราเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ หนึ่งในนั้นคือภาพใบหน้าของลูกสาวของเขา ที่ได้กิน Shake Shack ครั้งแรกที่ญี่ปุ่น ซึ่งนาวินบันทึกไว้ในภาพนี้เหมือนกับเป็นไดอารี
“สิ่งที่พาให้ผมได้ไปทำรถเข็นคันนั้นคือโชคชะตา ส่วน Shake Shack ที่ต่อมาได้ไปเปิดสาขาเป็นร้อย ๆ แห่งทั่วโลก นั่นคือเรื่องราวการเดินทางของเขา เป็นความสามารถของเขา” นาวินเกริ่นถึงสองเส้นเรื่องที่แยกทางกัน ก่อนกลับมาบรรจบกันบนผลงานเพนติ้งโฮดดิงในครั้งนี้ “ในส่วนของเรา เราก็มีเรื่องราวการเดินทางของเรา ทั้งเรื่องครอบครัว การทำงานศิลปะ และการทำงานเกี่ยวกับชุมชน ในโปรเจกต์นี้ ผมก็เลยเอาเรื่องราวนั้นมาเล่าขนานกัน ในภาพก็เลยจะมีทั้งตัวละครอย่าง Taximan กับรถเข็นที่เป็นต้นกำเนิดเรื่องราว ซึ่ง เรานำมาทำเป็นตัวละครที่อาศัยอยู่ในเมืองจินตนาการ เมืองแฮมเบอร์เกอร์ เมืองชุมชนแท็กซี่ เมืองโลก และเล่าถึงเมืองไทยที่เราเดินทางมาถึง เราตั้งใจทำให้มันออกมาเป็นคอมิกหน่อย”
โดยผลงานการ์ตูน Shake Shack ที่นาวินทำคู่กับผลงานภาพวาดสไตล์โปสเตอร์ในครั้งนี้ ยังมีแผนว่าจะปล่อยออกมาเรื่อย ๆ เพราะเรื่องราวของ Shake Shack ผู้คน และความทรงจำนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้แค่เกิดขึ้นแล้วจบไป
“เราไม่ได้ทำโฆษณาให้ร้าน เราทำเรื่องชีวิตผู้คน คนที่อยู่เบื้องหลังด้วย หรือแม้แต่คนที่จากไป”
‘บ้าน’ ที่ไม่ได้อยู่ในพาสปอร์ต กับตัวตนที่ค้นพบมาจากคนอื่น
“ความหมายของบ้านคือครอบครัวเป็นความสุข เราเห็นการที่ลูกเราเติบโตมา” พอรู้เรื่องวัฒนธรรมที่หลากหลายที่วิ่งวนอยู่ในตัวเขา เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเขาจะนิยามคำว่า ‘บ้าน’ อย่างไร เพราะสำหรับคนเชื้อสายอินเดียที่ใช้ชีวิตมาแล้วทั้งเชียงใหม่ นิวยอร์ก และในประเทศญี่ปุ่น ‘บ้าน’ ของคงมีอะไรลึกซึ้งน่าฟังแน่ ๆ
“ผมเขียนในหนังสือของ Shake Shack ด้วยว่าลูกผมอายุเท่ากับแบรนด์นี้ การได้เห็นลูกเราเติบโตมาในช่วงเวลาเดียวกันกับแบรนด์ก็เป็นความรู้สึกพิเศษแบบหนึ่ง ลูกเราก็เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนี้เขาก็ไปสู่อนาคตของเขาแล้ว ตอนนี้ถ้าถามว่า บ้านในมุมมองของผมเป็นอย่างไร ผมจึงมองว่า บ้านคือชุมชนไหนก็ได้ ถ้าให้เจาะจงไปกว่านั้น สำหรับผม ไม่ว่าจะไปทำงานศิลปะที่ไหน ผมก็มองว่าที่นั้นเป็นบ้านได้
“ความหมายของบ้านไม่ใช่แค่อาคารหรือทะเบียนบ้าน บ้านของคุณไม่ได้หมายความว่า คุณจดทะเบียนว่าคุณอยู่เมืองนี้ จังหวัดนี้ ไม่ใช่แค่ที่อยู่ที่ปรากฏในพาสปอร์ต ผมถือว่าผมเป็นคนไทย แต่ว่าเราอยู่ที่ไหนก็ได้”
แน่นอนว่าเรื่องตัวตนเรื่องวัฒนธรรมเหล่านี้ย่อมส่งผลมาสู่งานของเขา ซึ่งนาวินอธิบายถึงถึงความสำคัญของการกลับไปสำรวจความหมายของคำว่าบ้านว่าของตัวเองว่า “การกลับไปดู Cultural Root ของเรา มันทำให้เราเห็นจุดเชื่อมโยง ผมกลับไปดูอินเดียอาทิตย์ที่แล้ว ไปดูอาชันตา เราก็เห็นรูทที่มันมาถึงไทย ที่มันไปถึงยุโรป ในฐานะศิลปิน ผมมองว่าการสืบค้นรากเป็นเรื่องที่สนุก แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ คุณอาจจะไม่ได้สนใจแล้วในความเป็น Nation Hood หรือว่าเป็นชาติไหน แต่อาจไปมองว่ามันเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ (Identity) แทน”
แม้กระทั่งที่ที่ไปถึง ก็มีความสำคัญไม่แพ้ที่ที่จากมา ซึ่งการไปจากบ้านนั้น กลับทำให้เราเห็น ‘บ้าน’ หรือรากในตัวเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“พอเราเจอคนอื่น เจอ Reflection ของเรา ในที่ที่ไม่ใช่บ้านเรา เราจะเห็นตัวเรา ซึ่งผมเห็นครั้งแรกตอนไปอยู่ญี่ปุ่น ไปแรก ๆ 30-40 ปีก่อน ไปอาศัยอยู่ในโครงการบ้านเคหะที่มีแต่ชาวญี่ปุ่น แล้วเราเป็นต่างชาติคนเดียวที่เดินไปเดินมา เขาก็มองเราเป็นตัวตลก มองเราเป็นคนแปลก คือเราพูดภาษาเขาไม่ได้ แล้วเราก็ทำงานแนวศิลปะ ผมก็ไปเก็บขยะมาทำงานศิลปะ เขาก็มองว่าไอ้นี่เป็นคนบ้า คุยไปคุยมาจนถึงจุดหนึ่ง ผมก็ทำงานศิลปะ แล้วก็มีเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นอาจารย์สอนศิลปะอยู่ที่หมู่บ้านเดียวกัน เขาก็เลยช่วยแนะนำให้เราไปจัดกิจกรรมเวิร์กชอปให้เด็กในโรงเรียนในการเคหะ เป็นโรงเรียนประถม คุยไปคุยมาจนตอนนี้ หลังจากนั้นสองปี งานศิลปะผมเต็มในหมู่บ้าน มีคนแก่มาร่วมด้วย
“การที่เรารู้จักตัวเราเอง เพราะเราเห็นอะไรแปลก ๆ ที่เราไม่เคยเห็น ผมคิดว่า เรื่องศิลปะกับคัลเจอร์มันเป็นเรื่องเดียวกัน ศิลปะร่วมสมัยกับวัฒนธรรมไม่อาจแยกขาดจากกัน มันเหมือนสองด้านไปคู่กัน”
ขวัญกับเรียมกับตุ๊กตุ๊กกับเซ็นทรัลเวิลด์ในอีกร้อยปีข้างหน้า
ได้ส่วนผสมจากตัวตนของนาวิน รวมกับชุมชน Shake Shack มาแล้วยังไม่พอ อีกองค์ประกอบที่ถูกนำมาเติมใส่งานนี้ให้สมบูรณ์ก็คือ ประวัติศาสตร์ของชุมชนกรุงเทพฯ
และสำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวของสถานที่ตั้งชุมชน Shake Shack แห่งแรกของประเทศไทยนี้ นาวินก็หยิบเอาเสน่ห์ของ ‘ขวัญกับเรียม’ ตำนานรักที่อยู่คู่คลองแสนแสบ มาจับคู่กับตุ๊กตุ๊ก รถแท็กซี่โดยสารฉบับกรุงเทพฯ ที่ทุกคนรู้จักกันดี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อย้ำความสำคัญของศิลปะ ที่จะเป็นหลักฐานบันทึกภาพ สำหรับคนอีกร้อยปีข้างหน้าในการทำความเข้าใจเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น ณ พื้นที่แห่งนี้
“หน้าที่ของศิลปินคือการบันทึกภาพ” นาวินตอบเมื่อเราลองให้จินตนาการว่า คนในอีกร้อยปีข้างหน้า จะเห็นอะไรในบทบันทึกที่อยู่บนโฮดดิงของ Shake Shack ชิ้นนี้ “ย้อนกลับไปในสมัยก่อน ผนังถ้ำก็มีหน้าที่เป็นภาพวาด ทุกวันนี้ภาพถ่ายฟิล์มก็ไม่มีแล้ว สมมติอีก 50 ปีข้างหน้า 100 ปีข้างหน้า มนุษย์ในอนาคตก็อาจจะไม่ถ่ายภาพด้วยกล้องกันอีกต่อไปแล้ว ผมก็เลยคิดว่า ถ้าศิลปะยังคงอยู่ มันก็ทำหน้าที่ตรงนี้ หวังว่ามันจะทำให้คนได้เห็น เหมือนการที่เราได้ไปค้นหาประวัติศาสตร์ผ่านภาพถ่ายหรือภาพวาด
“ตอนที่คุยกับ Shake Shack เพื่อทำโปรเจกต์นี้ ผมก็เสนอไปว่า ผมสนใจพื้นที่ตรงนี้ เพราะว่าสี่แยกประเทศไทยมีประวัติศาสตร์เยอะแยะ ผมทำการวิจัย ให้น้องช่วยเก็บข้อมูลเรื่องเล่าที่สี่แยกราชประสงค์ รวมไปถึงศูนย์การค้าในอดีตอย่างไทยไดมารู ที่นี่คือจุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางสังคมที่สำคัญของกรุงเทพฯ
“เราไปเจอเรื่องราวของทุ่งบางกะปิ แล้วเจอเรื่องราวของขวัญเรียม เราค้นพบว่า ก่อนจะมีคลองแสนแสบ ที่ตรงนี้เรียกว่าทุ่งบางกะปิ เพราะว่ามันเป็นปลายเมือง ย้อนกลับไปสมัย 60 ปีที่แล้ว ตรงนี้คือวังสระปทุม และยังมีวังอีกแห่งหนึ่ง พื้นที่เมืองมันจบที่สวนลุม ก่อนจะกลายมาเป็นสีลมไปจนถึงท่าน้ำเจ้าพระยา ตรงนี้เคยเป็นบ้านนอก เป็นทุ่งนามาก่อน มันจึงถูกเรียกว่าทุ่งบางกะปิ จากตรงนี้ คนจะนั่งเรือไปบางกะปิ ไปหัวหมาก ด้วยคลองที่ขุดเชื่อมไปถึงหัวหมาก ซึ่งขุดโดยใช้แรงงานคน สิ่งที่ผมเห็นคือประวัติศาสตร์เป็นร้อย ๆปี ก่อนหน้านี้ผมเคยศึกษาและทำงานอีกหลาย ๆ งานที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พื้นที่เมือง เลยคุยกับ Shake Shack ว่าอยากพัฒนางานที่เล่าเรื่องพื้นที่ต่อ”
นอกจากการบันทึกประวัติศาสตร์ของพื้นที่สี่แยกราชประสงค์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นาวินยังคงเลือกที่จะบันทึกไว้ในผลงานชิ้นนี้ก็คือ ‘แท็กซี่’ หนึ่งในซับเจกต์ที่อยู่กับนาวินมาตั้งแต่วันแรก ๆ และพาเขาไปโลดแล่นในโลกศิลปะมานานกว่าสามทศวรรษ .“หลายเมืองไม่มีแท็กซี่ที่มิเตอร์อีกแล้ว มีอูเบอร์แทน ผมเลยมองว่าแท็กซี่มิเตอร์เป็นอะไรที่คลาสสิกมาก แม้กระทั่งเมืองใหญ่อย่างบอมเบย์หรือเดลี ก็แทบไม่มีแท็กซี่กดมิเตอร์แล้ว เราเลยตั้งใจใส่ภาพแท็กซี่มิเตอร์ของกรุงเทพฯ ลงไป รวมถึงตุ๊กตุ๊ก ที่ไม่แน่ว่าในอนาคตอีกร้อยปีข้างหน้า ก็อาจจะไม่มีแล้ว
“ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นงานที่พูดถึงทั้งช่วงเวลาปัจจุบัน และช่วงเวลาร้อยปีในอดีต ส่วนอีกร้อยปีในอนาคตจะเป็นยังไง เดี๋ยวเรามาดูกันอีกทีหนึ่ง” นาวินทิ้งท้าย