4 เครื่องมือ ‘จับคอร์รัปชัน’ โดยคนรุ่นใหม่ ที่ใครคิดจะโกง ขอเตือนให้ระวัง!

4 เครื่องมือ ‘จับคอร์รัปชัน’ โดยคนรุ่นใหม่ ที่ใครคิดจะโกง ขอเตือนให้ระวัง!

4 เครื่องมือ ‘จับคอร์รัปชัน’ โดยคนรุ่นใหม่ ที่ใครคิดจะโกง ขอเตือนให้ระวัง!

ลองจินตนาการดูเล่น ๆ ว่าถ้าเปาบุ้นจิ้น มีตัวตนอยู่จริง และอยู่ในประเทศไทย ประชาชนอย่างเราก็คงอุ่นใจนอนหลับฝันดีว่าภาษีของเรานั้นถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า หรือต่อให้มีการฉ้อราชวังหลวง ทุจริตมุบมิบใต้โต๊ะท่านเปาก็คงจะออกคำสั่งให้ จั่นเจาไปจับคนโกงมาสำเร็จโทษด้วยเครื่องประหารหัวสุนัขได้อย่างทันท่วงที

แต่เพราะในชีวิตจริงเราไม่มีท่านเปาไว้คอยสอดส่องการทุจริต อีกทั้งจะหวังพึ่งหน่วยงานรัฐให้ช่วยตรวจสอบก็อาจจะเป็นการหวังมากเกินไป แต่ถ้านั่นจะทำให้เราหมดหวัง.. คุณคิดผิดซะแล้ว ! เพราะคนรุ่นใหม่ขอไม่ทนต่อการทุจริต ผุดอาวุธจับโกงใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็น Crowdsourcing, Real-Time Data Tracking หรือ Interactive Design ย่อยข้อมูลให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น กลายเป็นส่วนผสมของความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีที่ทำเอาคนคิดจะทุจริตต้องมีหนาวกันบ้างอย่างแน่นอน

เราเชื่อว่า ด้วยความหลากหลายของเครื่องมือจับโกงที่ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมจับพิรุธในทุก ๆ ส่วน ก่อนจะเกิดการทุจริตระดับชาติให้เจ็บแปลบหัวใจกันถ้วนหน้า GroundControl จึงขอยก 4 ตัวอย่างเครื่องมือจับโกงเด็ด ๆ จากพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่มาให้ทุกคนได้ลองส่องและเลือกติดอาวุธกัน!

แต่ถ้าใครคิดว่าตัวเองยังกำหมัดไม่พอ เอนเนอจี้ยังไม่ได้ สามารถกลับไปย้อนดู Self-Quarantour EP. Virชั่วTour เปิดวิชาคอร์รัปชัน 101 กันได้ที่รายการ ดูจบแล้วรับรองว่า พลังแค้นต้องมา พลังสร้างสรรค์ต้องมี!

หากไฟลุก อยากต่อกรกับแก๊งโกงกันซักตั้ง ACTkathon: Anti-Corruption VIRTUAL HACKATHON 2021 พร้อมระดมทีมสร้างสรรค์ เพื่อพลิกแพลงเทคโนโลยีให้เป็นเครื่องมือสอดส่องการทุจริต ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้แล้ววันนี้ ! bit.ly/2TgBVtW

ACT AI

ระบบ search engine จับความผิดปกติทุกการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ

ACT AI คือเครื่องมือที่รวบรวมข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเอาไว้ในแห่งเดียว บอกข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ใช้ในโครงการ หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทที่ชนะการประมูล เอกสารสัญญา และเอกสารสำคัญทั้งหมด ฯลฯ

นอกจากนี้ ACT AI ยังแสดงตารางเปรียบเทียบวิธีการและรูปแบบการเสนอราคาของแต่ละบริษัทที่ร่วมประมูล และสามารถค้นหาให้ ‘ลึก’ ลงไปกว่าเดิมได้ว่า บริษัทที่ชนะการประมูลโครงการนี้เซ็นสัญญากับหน่วยงานรัฐไปแล้วกี่โครงการ รับงานหน่วยงานไหนบ่อยที่สุด มีเจ้าของหรือกรรมการบริษัทเป็นใครบ้าง โดยความเจ๋งของเจ้า ACT AI อีกอย่างหนึ่งก็คือการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในการตรวจจับความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ถ้าโครงการไหนน่าสงสัย ก็จะแสดงเครื่องหมายเตือนให้ประชาชนช่วยกันจับตาดู

📍 ทดลองเล่นดูเพลิน ๆ ถ้าอยากรู้ว่าในประเทศของเรามีเสากินรีกี่ต้น รวมแล้วซัดไปกี่พันล้าน สามารถลองเสิร์ชด้วยการพิมพ์ "เสาไฟประติมากรรมกินรี" กันได้ที่ actai.co ได้เลย!

ELECT

สื่อข้อมูลการเมืองและการเลือกตั้งไทย

เครื่องมือชิ้นต่อมาเป็นสิ่งที่คนติดตามข่าวการเมืองน่าจะคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือ ELECT ที่บูมสุด ๆ ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 28 ของไทยเมื่อเดือนมีนาคมปี 2562 โดยโครงการ ELECT เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี 2561 ด้วยความตั้งใจของคณะผู้จัดทำที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งให้ประชาชนได้ติดตามอย่างเข้าใจง่าย บรรดาสื่อและบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการจัดการข้อมูล รวมถึงภาคประชาสังคม จึงได้จับมือกันเพื่อร่วมกันทดลองนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านการเมืองแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะการใช้ Data Visualization, Interactive Content, Gamification ฯลฯ มาย่อยข้อมูลที่มีมากมายมหาศาล จนทำให้ผู้อ่านเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

ผลจากความพยายามของ ELECT ก็ทำให้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปดูผลการนับคะแนนเลือกตั้งทั่วประเทศได้แบบเรียลไทม์และเข้าใจง่าย และแม้ว่าการเลือกตั้งจะจบลงไป แต่ ELECT ก็ยังคงเกาะติดข่าวการทำงานของคณะรัฐบาล และนำเสนอข้อมูลในการประชุมรัฐสภาแต่ละครั้งออกมาเป็นวิชวลที่ทำให้ประชาชนสามารถประเมินและวิเคราะห์การทำงานของรัฐบาลได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

📍 อยากรู้ข่าวสารหรือข้อมูลอะไรแบบเข้าใจง่ายไม่ต้องพึ่งยาดม กดเข้าไปเสพกันได้ที่ elect.in.th เลย!

INTEGRITY PACT

ผู้สังเกตการณ์อิสระ ป้องกันการคอร์รัปชัน

เครื่องมือจับโกงชิ้นต่อมา เป็นสิ่งที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้ว่ามีอยู่ แต่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทุจริตแบบมหาศาล นั่นก็คือ ข้อตกลงคุณธรรม หรือ Integrity Pact ที่เกิดจากการที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระ (เข้าไปเป็นหูเป็นตาให้ประชาชนน่ะแหละ) ในการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ของภาครัฐนั่นเอง!

โดย ข้อตกลงคุณธรรม นั้นมีที่มาจากแนวคิดของต่างประเทศ ที่พัฒนาโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) โดยกติกาของข้อตกลงนี้ก็ไม่ใช่แค่มาทำพิธีลงนามเกี่ยวก้อยสัญญาว่าฉันจะไม่โกงนะจ๊ะ แต่หมายถึงการตกลงเปิดช่องทางให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเข้าไปนั่งในการประชุมสำคัญต่าง ๆ และตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้วย โดยเฉพาะการประชุมร่างขอบเขตงานและเงื่อนไขการประมูล ที่เราเรียกกันว่า ทีโออาร์ (Term of Reference: TOR) หรือ การประชุมวางสเปก นั่นแหละ ซึ่งปัจจุบันคณะผู้สังเกตการณ์อิสระประกอบด้วยสมาชิก 243 คน ที่ล้วนได้รับการคัดเลือกมาจากสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ทั้ง บัญชี วิศวะ สถาปัตย์ ฯลฯ จึงทำให้ผู้ตรวจสอบเหล่านี้มีความชำนาญในเรื่องเกี่ยวกับโครงการที่ตัวเองเข้าไปจับตามอง

มีตัวเลขออกมาว่า ผลประโยชน์ในภาพรวมที่ประเทศไทยได้รับจากการมีข้อตกลงคุณธรรมเป็นเวลา 7 ปี (ตั้งแต่ปี 2558 - 2564) ทั้งจากการที่ผู้สังเกตการณ์สามารถป้องกันการล็อกสเปก และจากการตรวจสอบที่มาของราคากลางนั้น คิดเป็นงบประมาณที่ลดลงรวมกันกว่า 103,736 ล้านบาท จากการลงนามจัดจ้างแล้ว 70 โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เฉลี่ยสามารถประหยัดเงินชาติไปได้ 26 เปอร์เซ็นของวงเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างแต่ละโครงการเลยทีเดียว!

📍 อยากรู้จักคณะทำงานเพื่อข้อตกลงคุณธรรมเพิ่มขึ้น กดเข้าไปทำความรู้จักได้ที่ anticorruption.in.th

ACTKATHON

พลิกเกมโกงให้อยู่หมัด สร้างไอเดียรัฐเปิดเผย

เครื่องมือจับโกงชิ้นสุดท้ายที่เราอยากชวนให้จับตามองกันให้ดี ๆ ก็คือ ACTkathon: Anti-Corruption VIRTUAL HACKATHON 2021 พลิกเกมโกงให้อยู่หมัด สร้างไอเดียรัฐเปิดเผย ซึ่งจะเรียกว่าเป็นเครื่องมือจับโกงก็อาจจะไม่ถูกนัก แต่ถ้าเรียกว่าเป็น Hub สำหรับผลิตเครื่องมือจับโกง น่าจะถูกต้องมากกว่า

โดย ACTkathon คือกิจกรรมที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดขึ้นเพื่อรวมเหล่าคนมีของมาปล่อยของ เอาพลังความสร้างสรรค์มาพลิกแพลงให้เป็นเครื่องมือสอดส่องการทุจริต โดยมีฐานความเชื่อว่า ถ้าเราทำให้ทุกอย่างโปร่งใส การทุจริตใด ๆ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้! เพราะฉะนั้นในกิจกรรม Virtual Hackathon ที่จะจัดในรูปแบบออนไลน์นี้ เขาจึงขอระดมทีมเหล่าคนรุ่นใหม่มาช่วยกันสุมหัวร่วมกับเหล่าเมนเทอร์ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ ช่วยกันตีโจทย์ว่า “ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการเพิ่มความโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล?”

ถ้าใครคิดว่าตัวเองมีของและทนไม่ไหวแล้วกับเสาไฟ..เอ๊ย! การทุจริตต่าง ๆ ก็สามารถกดเข้าไปสมัครเพื่อเป็นหนึ่งในทีมคนรุ่นใหม่ใช้พลัง Data ต้านโกงกันได้ที่ bit.ly/35nvh83 สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันนี้ - 5 กรกฎาคม 2564 โดยกิจกรรมจะเกิดขึ้นในวันที่ 7-8 สิงหาคม 2564 นี้