The MET เตรียมจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ เพื่อส่งคืนงานศิลปะที่ถูกขโมยมา กลับสู่ประเทศต้นทาง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินข่าวการทวงคืน ‘ผลงานศิลปะ’ และ ‘วัตถุโบราณ’ ต่าง ๆ จากเหล่าพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ทั่วโลกอยู่เป็นประจำ หนึ่งในนั้นคือ ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) โดยหลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นเวลานาน ในที่สุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา The MET ก็ได้ตัดสินใจแก้ปัญหานี้ ด้วยการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะหลายสาขา เพื่อค้นหางานที่ถูกขโมยมา ก่อนจะเตรียมส่งคืนให้กับประเทศต้นทางผู้เป็นเจ้าของ
The MET คือพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ ที่มีผลงานรวมกันกว่า 1.5 ล้านชิ้น ซึ่งผลงานที่มักถูกตั้งคำถามว่าขโมยมาและมีที่มาอันไม่โปร่งใส มักจะเป็นผลงานที่ได้รับมาในช่วงก่อนปี 1970 - 1990 เนื่องจากในช่วงเวลานั้นได้เกิดสนธิสัญญาเกี่ยวกับการปราบปรามการค้าวัตถุโบราณผิดกฎหมายจาก ยูเนสโก (Unesco) ขึ้นมา ส่งผลให้หลังจากปี 1970 พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ จะไม่สามารถรับวัตถุโบราณที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนได้ และการรับมาแต่ละครั้งจะต้องมีการบันทึกที่มาของวัตถุต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อระบุว่าเป็นวัตถุที่ได้รับมาก่อนปี 1970 หรือถ้าได้มาหลังจากปี 1970 ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันว่าได้รับมาอย่างถูกกฎหมายด้วย
แม็กซ์ ฮอลเลน (Max Hollein) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ได้กล่าวไว้ในแถลงการว่า “ในฐานะที่ The MET คือตัวแทนชั้นนำของโลกศิลปะ เราจึงต้องตรวจสอบคอลเลกชั่นต่าง ๆ ในเชิงรุกมากขึ้น” เขากล่าวต่อว่า “และเพื่อพัฒนาการทำงานในส่วนนี้ The MET จึงได้ขยายขอบเขตการทำงานวิจัยในพิพิธภัณฑ์ ด้วยการตรวจสอบงานศิลปะที่ได้รับมาจากพ่อค้างานศิลปะที่อยู่ภายใต้การสอบสวนให้กว้างขวางขึ้น เร่งรัดมากขึ้น และกระชับมากขึ้น”
ด้วยเหตุนี้หลังจากเหล่าผู้บริหารได้หารือกันมาเป็นอย่างดีแล้ว ทาง The MET ก็ได้ตัดสินใจว่าจ้างนักวิจัย, ภัณฑารักษ์, นักอนุรักษ์ และตำแหน่งอื่น ๆ อีกมากมาย รวม ๆ แล้วมีจำนวนมากถึง 18 คน จากนั้นพวกเขาก็ได้จัดตั้งให้เป็นคณะกรรมการสำหรับดูแลเรื่องการพิจารณากฎหมายและนโยบายสาธารณะ และแนวทางการปฏิบัติเพื่อรวบรวมวัตถุโบราณที่ผิดกฎหมาย
ซึ่งแนวทางใหม่ในการจัดการปัญหาของ The MET ในครั้งนี้ ก็ได้สอดคล้องกับท่าทีของพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับปัญหาการถูกทวงคืนสิ่งของที่ถูกขโมยไป ยกตัวอย่างเช่น ที่ British Museum เอง ก็กำลังดำเนินการเจรจากับรัฐบาลกรีก ในหัวข้อการเรียกคืนหินอ่อนจากวิหารพาร์เธนอนอยู่เหมือนกัน ส่วนที่ Vatican Museum ก็ได้ออกมาประกาศว่า พวกเขาจะส่งมอบชิ้นส่วนของวิหารพาร์เธนอนคืนให้กับโบสถ์กรีกออร์โทดอกซ์ (Greek Orthodox Church) รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ในเยอรมันและสหรัฐอเมริกา ก็ได้ทำการส่งคืนประติมากรรมทองสัมฤทธิ์เบนิน (Benin Bronzes) ให้กับประเทศไนจีเรียแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า The MET และ พิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลกจะเริ่มทำการหาแนวทางเพื่อส่งคืนสิ่งของที่ถูกขโมยมาแล้ว แต่ยังมีนักวิจารณ์และนักวิชาการอีกหลายคนที่อยากให้พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทำมากกว่าการตรวจสอบว่าวัตถุชิ้นไหนถูกขโมยมา เพราะพวกเขามองว่า บรรดาพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญกับสังคมมากขึ้น และควรตระหนักได้ว่า แม้วัตถุชิ้นนั้น ๆ จะได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้ารู้ว่าได้มาจากการแสวงหาผลประโยชน์จากความอ่อนแอของสังคม อันเกิดจากปัญหาความยากจน การล่าอาณานิคม สงคราม และความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม พวกเขาก็ควรทำการส่งคืนวัตถุโบราณเหล่านั้นให้ประเทศต้นกำเนิดเช่นกัน
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจาก The MET ตรวจสอบเรียบร้อยแล้วว่า วัตถุโบราณชิ้นไหนถูกขโมยมา และทำการส่งคืนสู่ประเทศต้นทางสำเร็จ พวกเขาจะเริ่มส่งคืนวัตถุชิ้นอื่น ๆ ที่ได้รับมาโดยเหตุผลอื่น ดังที่นักวิจารณ์และนักวิชาการหลายคนกำลังเรียกร้องต่อไปหรือไม่
อ้างอิง https://www.businesstimes.com.sg/.../after-seizures-met...