สำรวจ ‘ปกรณัมกรีก’ ที่ซ่อนอยู่ในซีรีส์ Succession มหากาพย์และนาฏกรรมแห่งโลกทุนนิยม
ถ้าเราลองมองลงไปให้ลึกก็จะพบว่า ภายใต้คำศัพท์การเงินที่ชาวบ้านหนึ่งอย่างเราฟังแล้วได้แต่ทำหน้าเครื่องหมายปริศนา และเรื่องราวการห้ำหั่นในโลกแห่งทุนที่มีสนามรบเป็นห้องประชุมและกระดานหุ้น ซีรีส์ลูกรักของค่าย HBO อย่าง Succession นั้นก็คือเรื่องราวมหากาพย์ดราม่าในครอบครัว ที่มีแก่นเรื่องว่าด้วยการทรยศหักหลัง การช่วงชิงอำนาจ และศึกแห่งสายเลือดระหว่างพ่อกับลูก และพี่กับน้อง
ซึ่งหากครอบครัวนี้เป็นครอบครัวตาสีตาสาทั่วไป Succession ก็คงจะเป็นเพียงซีรีส์ดราม่าสำรวจปมครอบครัวธรรมดา ๆ แต่เมื่อครอบครัวที่ว่านี้คือ ‘ตระกูลรอย’ ผู้ครอบครองสื่อและธุรกิจเกือบทุกอย่างที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของอเมริกา ถึงขนาดที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ และเลือกคนที่จะมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีได้! Succession ที่พาเราไปสำรวจเรื่องราวในครอบครัวที่เป็นดังราชวงศ์ในเงาของอเมริกา จึงมีองค์ประกอบของความเป็น ‘บทละครโศกนาฏกรรมยุคใหม่’ (tregedy) หรือบทละครชั้นสูงที่เล่าชีวิตและจุดจบสะเทือนใจของผู้ยิ่งใหญ่ เช่น กษัตริย์ หรือเทพ ดังเช่นงานเขียน Oedipus Rex โดยโสเครตีส หรือ Macbeth โดย วิลเลียม เชคสเปียร์ส
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ Succession อันมีแก่นสำคัญของเรื่องเป็นเรื่องราวการสืบทอดตำแหน่งผู้ครอบครองอำนาจสูงสุดแห่งโลกทุนนิยม ที่เปรียบดังพระเจ้าผู้สามารถชี้ความเป็นไปในโลกยุคใหม่ จึงมีการอ้างอิงและหยิบยืมเรื่องราวมาจากปกรณัมเทพกรีก เพื่อสื่อถึงการเป็นเรื่องเล่าโศกนาฏกรรมแห่งราชวงศ์โลกสมัยใหม่ . มีเรื่อง ‘เทพ ๆ ‘ ใดบ้างที่ซ่อนอยู่ในมหากาพย์ตระกูลรอย ผู้เป็นดังเทพโอลิมปัสแห่งยอดเขาทุนนิยม ไปสำรวจร่วมกันได้เลย
Oedipus เรื่องราวของลูกผู้สังหารพ่อ
นายกับเคนดัลคิดจะฆ่าพ่อตัวเองเหรอ? ดูเป็นโศกนาฏกรรมกรีกไปหน่อยนะ
ใน Succession เราจะได้ยินตัวละครพูดถึง ‘ปมเอดิปัส’ (Oedipus Complex) อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะกับตัวละคร เคนดัล ลูกชายคนโต (รองจาก คอนเนอร์ ที่เป็นลูกคนละแม่กับสามพี่น้อง) ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับพ่ออย่าง โลแกน ซึ่งปมดังกล่าวดูจะเป็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างโลแกนกับเคนดัลในสายตาของตัวละคนอื่น ๆ เช่น เรยา คู่รักของโลแกน ก็เคยเรียกเคนดัลว่า ‘เอดิปัส รอย’ หรือแม้กระทั่งเคนดัลเองก็เคยใช้คำนี้เรียกตัวเองด้วยท่าทีขันขื่น
ปมเอดิปัสที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูกชายอย่างโลแกนกับเคนดัลนั้น เป็นชื่อเรียกแนวคิดทางจิตวิเคราะห์ที่โด่งดังที่สุดของบิดาแห่งศาสตร์จิตวิเคราะห์ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ซึ่งได้อธิบายถึงอิทธิพลของผู้เป็นพ่อที่มีต่อกระบวนการก่อร่างสร้างตัวตนของลูกชาย อันเป็นความสัมพันธ์ที่ปะปนกันทั้งความเคารพรัก และความเกลียดชัง
ฟรอยด์ได้หยิบยกเรื่องราวของฮีโรในตำนานกรีกอย่าง เอดิปัส (Oedipus) มาช่วยอธิบายแนวคิดเรื่องสายสัมพันธ์ทั้งรักและเกลียดระหว่างพ่อกับลูกชาย เอดิปัสคือชื่อของเจ้าชายแห่งเมืองธีบส์ที่ถูกบิดาสั่งให้ฆ่าตั้งแต่แรกเกิด เพราะหวั่นเกรงในคำทำนายที่ว่าลูกชายจะโตขึ้นมาฆ่าพ่อ ยึดบัลลังก์ แล้วเอาราชินีหรือแม่แท้ ๆ ของตัวเองมาเป็นเมีย ซึ่งแม้ว่าพยายามจะขัดขืนชะตากรรมดังกล่าว สุดท้ายแล้วเอดิปัสก็เติบโตเป็นชายหนุ่ม และกลับมาสังหารกษัตริย์แห่งเมืองธีบส์ แล้วได้ราชินีเป็นภรรยา โดยที่เอดิปัสหาได้ล่วงรู้ว่า กษัตริย์ที่เขาลงมือสังหารคือพ่อแท้ ๆ ของตน ส่วนภรรยาที่เขายึดครองมา ก็คือแม่ผู้ให้กำเนิดเขานั่นเอง . เรื่องราวของเอดิปัสไม่เพียงอธิบายตัวละครเคนดัลผู้ทั้งเคารพและก็อยากจะยึดครองบัลลังก์อันยิ่งใหญ่ของพ่อในโลกของธุรกิจ แต่ยังช่วยอธิบายและขับเน้นปมปัญหาของตัวละครผู้เป็นพ่ออย่างโลแกน ที่ก็ทั้งรักและหวั่นเกรงว่าลูก ๆ จะช่วงชิงอำนาจไปจากตน ในวันที่ตนโรยราขาลงจนอาจไม่สามารถครองตำแหน่งประมุขของครอบครัวได้อีกต่อไป
Logan/Cronus พ่อผู้ ‘กลืนกิน’ ลูก
เรื่องของพ่อผู้กลัวการช่วงชิงอำนาจจากผู้เป็นลูกยังปรากฏในปกรณัมกรีกเรื่องสำคัญ ผ่านเรื่องราวการช่วงชิงบัลลังก์เทพระหว่างพ่อลูกปฐมเทพอย่าง อูรานอส (Uranus) และโครนัส (Cronus) ตำนานเล่าถึงอูรานอสผู้ครองท้องฟ้า ได้สมสู่กับ ไกอา (Gaia) พระแม่ธรณี (บางตำนานระบุว่าอูรานอสเป็นลูกของไกอาด้วย) ทั้งคู่ได้ให้กำเนิดหมู่เทพไททัน โดยหนึ่งในนั้นคือ โครนัส ผู้เกลียดชังพ่อของเขาที่สุด เพราะโครนัสได้กักขังลูก ๆ ของตัวเองไว้ในหุบเขามืด ไม่ให้ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน กระทั่งไกอาได้แอบมอบเคียวให้แก่ลูกผู้กล้าหาญพอที่จะโค่นล้มบิดา ซึ่งก็มีเพียงโครนัสที่อาสารับทำภารกิจนี้ เมื่ออูรานอสมาหาไกอาเพื่อร่วมหลับนอนอีกครั้ง โครนัสก็ได้ใช้เคียวนั้นตัดองคชาติของอูรานอส และขึ้นครองบัลลังก์เทพแทนผู้เป็นพ่อ
ในการลอบโค่นพ่อครั้งนั้น อูรานอสได้กล่าวคำสาปแช่งแก่โครนัสว่า ขอให้ลูกทรยศจงประสบชะตากรรมเดียวกัน ด้วยความกลัวคำแช่งของพ่อ ทุกครั้งที่ เรอา (Rhea) เทพีผู้เป็นภรรยา (และพี่สาว) ของโครนัสให้กำเนิดบุตร โครนัสก็จะกลืนบุตรลงท้อง จนเมื่อเรอาให้กำเนิดบุตรคนสุดท้องอย่าง ซุส นางได้นำหินห่อผ้าและส่งให้โครนัส และนำซุสไปซ่อนไว้
กระทั่งเมื่อซุสเติบโตขึ้น จึงได้กลับมาชำระความกับโครนัส และปลดปล่อยพี่น้องทั้งหมดที่ถูกโครนัสกลืนกินไปก่อนหน้านี้ แล้วเทพและเทพีทั้งหมดก็กลายเป็นปฐมกษัตริย์แห่งยอดเขาโอลิมปัสนั่นเอง
ภาพของเหล่าพ่อผู้เป็นราชาของเหล่าเทพในปกรณัมกรีก จึงซ้อนทับกับตัวละครโลแกน ผู้ยึดติดกับอำนาจบัลลังก์ราชาแห่งโลกธุรกิจสื่อ (นามสกุล Roy ก็ยังมาจากคำว่า ‘Royal’ หรือราชวงศ์) และหวั่นเกรงที่จะส่งต่อบัลลังก์นั้นให้กับลูก ๆ จนทำให้เขาทำได้แม้กระทั่งการตลบหลัง ปั่นหัว หรือฆ่าลูกแท้ ๆ ของตัวเอง (ในทางธุรกิจ) ในขณะที่ตัวละครลูก ๆ อย่างเคนดัล โรมัน และชิฟอน ที่ร่วมมือกันพยายามโค่นบัลลังก์ของพ่อในตอนท้ายซีซัน 3 ก็สะท้อนภาพลูก ๆ ของโครนัส (และยูเรนัส) ที่พยายามล้มล้างอำนาจของผู้เป็นพ่อเช่นกัน
Kendall/Prometheus โทษทัณฑ์ของผู้หวังดีต่อมนุษยชาติ
ไม่ว่าคนดูและตัวละครอื่น ๆ ใน Succession จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ตัวละครผู้อมทุกข์อย่าง เคนดัล เชื่อจริง ๆ ว่า การที่เขาพยายามโค่นล้มพ่อตัวเอง มาจากความปรารถนาดีที่จะสร้างโลกใหม่ โลกที่ปราศจากอำนาจเก่าของพ่อผู้เป็นตัวแทนของฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมเต็มขั้น และเป็นโลกที่ดีกว่าเดิมสำหรับคนรุ่นใหม่
ยิ่งไปกว่านั้น ในตอนหนึ่งของซีซันที่ 4 เคนดัลยังได้ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นก็คือการเสนอขายบริการ Living+ ที่พ่วงมากับโปรแกรมยืดอายุด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนขนาดน้องสาวอย่างชิฟก็ยังพูดติดตลกว่า สิ่งที่เคนดัลกำลังทำอยู่คือการสัญญาว่าจะมอบ ‘ชีวิตอมตะ’ ให้กับลูกค้า
ความพยายามของเคนดัลในการคานอำนาจกับพ่อผู้เป็นดังพระเจ้าของโลกทุนนิยม เพื่อนำ ‘โลกที่ดีกว่า’ (ตามความเชื่อของเคนดัล) และ ‘ชีวิตนิรันดร์’ มาสู่โลกใหม่ ไม่ต่างอะไรกับภารกิจนำความศิวิไลซ์มาสู่เผ่าพันธุ์มนุษย์ของ โพรมีธีอุส เทพผู้สร้างมนุษย์ในตำนานกรีก ที่ซึ่งสุดท้ายแล้ว การหาญกล้าลูบคมซุสผู้เป็นราชันย์เหนือเหล่าเทพทั้งปวง และการพยายามแย่งอำนาจในการให้กำเนิดชีวิตและสิ่งใหม่ อันเป็นอำนาจสูงสุดของเทพเจ้า ก็นำมาซึ่งการลงทัณฑ์ที่ทำให้โพรมีธีอุสต้องทุกข์ทรมานชั่วนิรันดร์
ตามตำนานกรีก โพรมีธีอุส (ภาษากรีกแปลว่า การคิดไตร่ตรองล่วงหน้า) คือเทพผู้ให้กำเนิดมนุษยชาติ ด้วยการปั้นมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหนียว และทำให้ก้อนดินเหนียวนั้นมีชีวิตขึ้นมา หากแต่มนุษย์ก็ต้องพบพานกับความยากลำบาก เพราะต้องคอยหาเครื่องสังเวยมาทำการเซ่นสรวงให้เหล่าเทพเจ้าบนยอดเขาโอลิมปัส กระทั่งโพรมีธีอุสไม่สามารถทนเห็นเทพเจ้ากอบโกยเครื่องบรรณาการจากมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ได้อีกต่อไป เขาจึงตัดสินใจวางกลลวงเหล่าเทพ ด้วยการแบ่งเครื่องสังเวยออกเป็นสองกอง กองหนึ่งคือตับไตเครื่องในของวัวที่ถูกคลุมไว้ด้วยกองเนื้อน่ากิน ในขณะที่อีกกองหนึ่งเมื่อมองจากภายนอก จะเห็นเป็นกองกระดูกกินไม่ได้กองสุม แต่ด้านในกลับซ่อนเนื้อสดอวบฉ่ำเอาไว้
เมื่อซุสเสด็จลงมารับเครื่องเซ่นสรวง ก็ตกหลุมพรางเลือกกองที่ดูจากภายนอกแล้วเป็นเนื้อชุ่มฉ่ำ แต่ข้างใต้เป็นเครื่องในที่กินไม่ได้ เมื่อซุสรู้ว่าตนถูกลูบคม จึงได้ทำการลงโทษมนุษย์ ด้วยการริบเอา ‘ไฟ’ มาจากมนุษย์ ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในความมืดและความหนาวเหน็บ โพรมีธีอุสไม่อาจทนเห็นมนุษย์ได้รับความทุกข์ทรมาน เขาจึงได้ทำการขโมยไฟจากซุสเพื่อนำแสงสว่างและความอบอุ่นกลับคืนสู่มนุษยชาติ
ซุสพิโรธหนัก จึงได้ลงโทษโพรมีธีอุส ด้วยการตรึงเขาไว้กับก้อนหิน โดยที่ทุกวันจะมีนกอินทรีย์บินมาจิกกินตับของเขาอยู่ร่ำไป และทุกวันตับของเขาก็จะงอกขึ้นมาใหม่ ทำให้โพรมีธีอุสต้องทนทุกข์ทรมานอยู่เกือบชั่วนิรันดร์ ก่อนที่เฮราคลีสจะมาช่วยปลดปล่อยเขาในกาลต่อมา
ชะตากรรมของเคนดัลหาได้ต่างจากโพรมีธีอุส ผลจากความพยายามโค่นอำนาจของโลแกนด้วยการล็อบบี้คณะกรรมการให้โหวตโลแกนออกจากตำแหน่งแต่กลับล้มเหลว ทำให้เคนดัลถูกพ่อลงโทษด้วยการไล่ออกจากบริษัท โทษทัณฑ์ของการลูบคมพระเจ้าอย่างโลแกนยิ่งเห็นได้ชัด เมื่อเคนดัลเข้าไปมีส่วนพัวพันในอุบัติเหตุที่นำมาสู่การตายของเด็กเสิร์ฟคนหนึ่ง จนเปิดช่องให้โลแกนใช้อุบัติเหตุดังกล่าวมาแบล็กเมลให้เคนดัลต้องกลับมาอยู่ภายใต้โอวาทของพ่อ ซ้ำร้าย ความรู้สึกผิดจากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังเกาะกินจิตใจ จนทำให้ตัวตนของเคนดัลแหลกสลาย และถึงกับคิดฆ่าตัวตาย
ด้วยเหตุนี้ โทษทัณฑ์ที่เคนดัลได้รับจากการพยายามเทียบตนเสมอพระเจ้าหรือผู้เป็นพ่อ จึงสะท้อนเค้าลางตำนานการลงทัณฑ์ชั่วนิรันดร์ของโพรมีธีอุส ผู้พยายามช่วยมนุษยชาติด้วยการคานอำนาจกับราชันย์แห่งเทพ
Shiv/Athena เทพีแห่งปัญญา และลูกสาวของ ‘พ่อ’
ในภาษาไอริช ชื่อ ‘ชิฟวอน’ หรือ ‘Siobhan’ มีความหมายว่า ‘God is gracious’ หรือ ‘พระเจ้าทรงกรุณา’ และยังมีความหมายว่า ‘God’s Gift’ หรือ ‘ของขวัญจากพระเจ้า’ ด้วย ซึ่งหากมองว่า ใน Succession ตัวละครพ่ออย่างโลแกนมีลักษณะคล้ายกับพระเจ้าหรือเทพเจ้าผู้ทรงอำนาจ และเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ความหมายในชื่อของชิฟวอนก็ดูเหมือนจะช่วยขับเน้นปมของตัวละครลูกสาวคนเดียวแห่งตระกูลรอยคนนี้ นั่นก็คือปมเรื่อง ‘ลูกสาวของพ่อ’
ในตอนหนึ่งของซีซัน 3 เมื่อ แคโรไลน์ แม่ผู้ให้กำเนิดสามพี่น้องตระกูลรอย กำลังจะแต่งงานใหม่ แคโรไลน์และชิฟวอนก็มีโอกาสเปิดใจพูดคุยกัน โดยแคโรไลน์ได้พูดเปิดอกกับลูกสาวที่เธอทั้งรักทั้งชังว่า หนึ่งในสาเหตุอันเป็นที่มาของความไม่ลงรอยในสายสัมพันธ์แม่กับลูกสาว ก็คือการที่เธอรู้สึกว่า ชิฟวอนเป็นลูกสาวของพ่อมากกว่าเป็นลูกสาวของแม่ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ชิฟวอนดูจะเข้าข้างพ่อมากกว่าแม่เสมอ ยังไม่รวมนิสัยของชิฟวอนที่มีความทะเยอทะยานและยโสโอหังถอดแบบโลแกนผู้เป็นพ่อมาไม่มีผิด
บุคลิกความไม่ยอมใคร บวกกับความฉลาดเป็นกรด และการเป็นลูกสาวที่อยู่ฝั่งพ่อมากกว่าแม่ของชิฟวอน ทำให้ชิฟวอนเป็นตัวละครที่มีความคล้ายคลึงกับหนึ่งในเทพีกรีกคนสำคัญอย่าง อะธีนา เทพีแห่งปัญญาและสงคราม ผู้ปฏิเสธบทบาทความเป็นหญิง ทั้งการเป็นแม่และเป็นเมีย แต่ขอจับหอกสวมชุดเกราะ มุ่งสู่สนามรบแทน
นอกจากบุคลิกและอุปนิสัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตัวละครชิฟวอนมีความคล้ายคลึงกับเทพีอะธีนา ก็คือความเป็นลูกสาวของพ่อ และเป็นลูกชังของแม่ โดยต้นกำเนิดของเทพีอะธีนานั้นแตกต่างจากเทพองค์อื่น ๆ ตรงที่เธอถือกำเนิดโดยการโผล่ออกมาหน้าผากของซุส หาได้กำเนิดมาจากครรภ์มารดาเหมือนเทพและมนุษย์ทั่วไป ซึ่งการเป็นลูกสาวของพ่อที่พ่อให้กำเนิดมาเอง บวกกับความฉลาดและความกล้าหาญเหมือนชาย ก็ทำให้อะธีนากลายเป็นหนึ่งในลูกคนโปรดของซุส
ด้วยความที่อะธีนาถือกำเนิดเกิดขึ้นมาโดยไม่ต้องพึ่งครรภ์มารดา ทำให้เทพีเฮราผู้เป็นชายของซุส และเป็นเทพีแห่งการให้กำเนิด ไม่ชอบใจในตัวอะธีนาเป็นอย่างมาก เพราะอะธีนาคือหลักฐานว่าซุสสามารถทำในสิ่งที่เคยมีแค่เธอเท่านั้นที่ทำได้ นั่นก็คือการให้กำเนิดนั่นเอง
ความแตกต่างกันระหว่างชิฟวอนกับเทพีอะธีนาอาจอยู่ตรงที่ชิฟวอนแต่งงานมีคู่ครอง ในขณะที่อะธีนาถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากความสัมพันธ์ผัวเมียระหว่างชิฟวอนกับสามีอย่าง ทอม แล้ว ก็จะเห็นว่าในความสัมพันธ์นี้ ชิฟวอนดูจะรับบทเป็นช้างเท้าหน้าและเป็นผู้นำมากกว่าทอม ทั้งในแง่ของหน้าที่การงาน และเรื่องบนเตียงที่ชิฟวอนดูจะโลดโผนและชอบเป็นผู้นำมากกว่า (ยังไม่นับเรื่องที่ชิฟวอนไม่สบายใจในความสัมพันธ์ผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งที่จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณว่าเธอไม่ได้อยากแต่งงานตั้งแต่แรก)
ยิ่งไปกว่านั้น ในฉากปะทะอารมณ์ระหว่างชิฟวอนกับทอมในซีซัน 4 ชิฟวอนยังบอกทอมออกไปตรง ๆ ว่า เขาไม่คู่ควรกับเธอ เพราะเธอดีกว่าและอยู่สูงกว่าทอม ซึ่งตรงนี้ก็แอบสะท้อนนัยถึงความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ ที่ชิฟวอน (และคนตระกูลรอย) ดูเป็นดังเทพเจ้า ในขณะที่ทอม (และเกร็ก) เป็นเหมือนมนุษย์ธรรมดา ๆ ที่หลุดเข้ามาอยู่ในสงครามความขัดแย้งระหว่างเทพเจ้า
Conner/Hephaestus ลูกนอกสายตา
ในบรรดาลูก ๆ ตระกูลรอยทั้งหมด พี่ชายคนโตต่างแม่อย่าง คอร์นเนอร์ คือลูกชายที่เหมือนพ่อน้อยที่สุด ในแง่ที่ว่าเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารอาณาจักรธุรกิจของตระกูล และไม่มีหัวฝักใฝ่ในทางธุรกิจ ไม่เพียงเท่านั้น เขาดูจะมีความผูกพันกับ ‘แม่’ มากกว่าพ่ออย่างโลแกน รอย ซึ่งเรื่องราวและปมของคอร์นเนอร์ก็ทำให้คาแรกเตอร์ของเขามีความคล้ายกับ เฮเฟสตัส เทพแห่งงานศิลปะและการช่าง ผู้มีปมสำคัญคือการเป็นลูกที่พ่ออย่างซุสไม่ชอบหน้า เพราะเข้าข้างแม่อย่างเฮรามากกว่า จนทำให้เขาเป็นเทพโอลิมปัสเพียงองค์เดียวที่ไม่ได้ประจำบัลลังก์อยู่บนยอดเขาโอลิมปัส
ใน Succession แม้ว่าคนดูจะไม่เคยเห็นตัวละครแม่ของคอนเนอร์ แต่จากการบอกใบ้เป็นนัย ๆ ในหลายฉาก คนดูก็สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่า แม่ของคอนเนอร์ถูกโลแกนจับเข้าโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็กลายเป็นบาดแผลในใจคอนเนอร์อย่างมาก
ในฉากงานแต่งบนเรือของคอนเนอร์ น้อง ๆ ต่างแม่ของคอนเนอร์ได้เล่าให้เจ้าสาวของคอนเนอร์ฟังว่า หลังจากที่แม่ของคอนเนอร์ไปอยู่โรงพยาบาลจิตเวชแล้ว คอนเนอร์ในวัยเด็กก็เอาแต่ร้องไห้หาแม่ จนพี่เลี้ยงต้องเอาเค้กมาให้คอนเนอร์กิน และคอนเนอร์ก็กินเค้กนั้นเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวติดต่อกันเป็นอาทิตย์ ทำให้เมื่อโตขึ้น เมื่อคอนเนอร์มีอาการเครียดจนสติหลุด เขาจะกินเค้กไม่หยุดแบบใครก็ห้ามไม่ได้
และแม้ว่าคอร์นเนอร์ดูจะเป็นลูกเพียงคนเดียวที่มีท่าทีประนีประนอมกับโลแกนผู้พ่อ แต่คอร์นเนอร์ก็ดูจะเป็นอีกตัวละครหนึ่งที่กลัวว่าพ่อจะทอดทิ้ง ดังที่ในฉากหนึ่ง คอร์นเนอร์พูดว่า ตอนเด็ก ๆ เขาไม่ได้เห็นหน้าพ่อเลยเป็นเวลาสามปีเต็ม ๆ ซึ่งบอกเป็นนัยว่า คอร์นเนอร์ถูกพ่อทอดทิ้งหลังจากที่แม่ของเขาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชแล้ว
ความเป็นลูกที่พ่อหมางเมินของคอร์นเนอร์ซ้อนทับกับเรื่องราวของเทพเฮเฟสตัส ตำนานกรีกบางเวอร์ชันระบุว่า เฮเฟสตัสเป็นลูกที่เกิดจากเฮราเพียงลำพัง กล่าวคือเฮราตั้งท้องเฮเฟสตัสเองโดยไม่ต้องพึ่งซุส ทำให้นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ซุสไม่ชอบเฮเฟสตัส
ในบางเวอร์ชันยังเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้เฮเฟสตัสถูกขับออกจากภูเขาโอลิมปัส เมื่อซุสและเฮราเกิดการปะทะกัน เฮเฟสตัสได้เข้าไปช่วยแม่จากพ่อ จนทำให้ซุสโกรธและจับเฮเฟสตัสโยนลงมาจากยอดเขาโอลิมปัส (บางเวอร์ชันระบุว่าเฮราเป็นคนโยนลงมา เพราะหน้าตาอันอัปลักษณ์ของเฮเฟสตัส) เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เฮเฟสตัสขาพิการ และทำให้เขาประจำถิ่นฐานอยู่ ณ ภูเขาเลมนอส ทำหน้าที่ประดิษฐ์เกราะและของวิเศษให้พี่น้อง และยังเป็นผู้ประดิษฐ์สายฟ้าของซุส
Roman/Romulus กษัตริย์ผู้ฆ่าพี่น้องตัวเอง
“พวกนั้นอาจคิดว่าตัวเองเป็นไวกิง แต่พวกเราน่ะลูกหมาป่า แถมมีภูมิจากเชื้อร้ายที่ชื่อว่าโลแกน รอย มาแล้ว” คำพูดปลุกใจของ เจอร์รี ที่เอ่ยขึ้นก่อนที่ทีมบริษัทรอยจะไปเผชิญหน้ากับทีมโกโจ บริษัทเทคโนโลยีสื่อสัญชาติสวีเดนที่มุ่งมั่นจะเทคโอเวอร์รอยคอมปาร์นี ทำให้เราไม่อาจห้ามใจไม่ให้เชื่อมเรื่องราวปกรณัมกรีก เข้ากับหนึ่งในตัวละครที่คนดูเอ็นดูที่สุดอย่าง โรมัน หรือ ‘โรมูลัส’ ไปได้
และตัวละครในตำนานกรีกที่ดูเหมือนจะมีความเชื่อมโยงกับลูกชายคนที่สามของตระกูลรอย ก็คือฮีโรกรีกชื่อเดียวกันอย่าง โรมูลัส ผู้เป็นที่รู้จักจากเรื่องราวการถูกเลี้ยงขึ้นมาด้วยหมาป่า และในภายหลังได้กลายเป็นผู้ก่อตั้งกรุงโรมนั่นเอง
ใน Succession มีเพียงผู้เป็นพ่ออย่างโลแกนเท่านั้นที่เรียกโรมันด้วยชื่อเล่นว่า โรมูลัส ซึ่งชื่อเล่นที่พ่อเรียกนี้ก็อาจแอบแฝงเจตนาเรื่องเกมอำนาจที่โลแกนคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เพราะในตำนานของโรมูลัส เขาได้ลงมือสังหารพี่ชาย (หรือน้องชาย) ฝาแฝดของตน เพื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรแห่งใหม่
ตำนานการก่อตั้งกรุงโรมมีจุดเริ่มต้นที่เมืองอัลบาลองกา เมืองแห่งนี้มีกษัตริย์ชื่อว่า นูมิเตอร์ ผู้มีธิดาชื่อว่า เจ้าหญิงเรอา ซิลเวียร์ ในภายหลัง กษัตริย์นูมิเตอร์ถูกน้องชาย อมูเลียส ปล้นบัลลังก์ และได้จับตัวเจ้าหญิงเรอาไปขังไว้ ระหว่างที่ถูกคุมขัง เจ้าหญิงเรอากลับตั้งครรภ์ขึ้นมา โดยเธออ้างว่า มาร์ส เทพเจ้าแห่งสงคราม ได้มาหาเธอในที่คุมขัง เมื่อเจ้าหญิงเรอาคลอดลูกออกมาเป็นฝาแฝดชาย เธอก็ตั้งชื่อแฝดทั้งสองว่า โรมูลัส กับ เรมัส ก่อนที่อมูเลียสจะสั่งให้คนนำฝาแฝดไปโยนทิ้งลงแม่น้ำไทเบอร์
แต่ด้วยความที่ระดับน้ำในแม่น้ำไทเบอร์ขึ้นสูง ทาสที่ได้รับคำสั่งให้นำฝาแฝดไปโยนทิ้งลงน้ำ จึงตัดสินใจวางคู่แฝดไว้ที่เนินเขาพาเลทิเน ระหว่างนั้นเองที่หมาป่าเพศเมียปรากฏตัวขึ้น และกกเลี้ยงฟูมฟักสองพี่น้องฝาแฝด กระทั่งคนเลี้ยงและภรรยามาพบเด็กทั้งสอง จึงได้นำมาเลี้ยงเป็นลูกของตน
เมื่อพี่น้องฝาแฝดโรมูลัสและเรมัสโตเป็นหนุ่ม ก็ได้กลับมาสังหารอมูเลียส และคืนบัลลังก์ให้กับตา จากนั้นฝาแฝดจึงได้เดินทางกลับมาที่เนินเขาพาเลทิเนที่พวกตนเคยถูกทิ้งไว้ให้หมาป่าเลี้ยง และตัดสินใจว่าจะสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่นี่ แต่สุดท้ายแล้วโรมูลัสกลับสังหารแฝดเรมัส แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงโรมเพียงลำพัง
นอกจากชื่อที่พ่อเรียกที่อาจเป็นการบอกใบ้ตอนจบของซีรีส์ ชื่อโรมันหรือโรมูลัสยังสะท้อนอุปนิสัยของตัวละครสุดเสเพลอย่างโรมันด้วย โดยตำนานกรีกได้บันทึกไว้ถึงอุปนิสัยของคนเมืองโรม ที่ทั้งป่าเถื่อน มุทะลุ ชอบสงคราม (รวมถึงมีชื่อเสียในด้านการข่มเหงผู้หญิง ซึ่งก็เป็นอุปนิสัยของตัวละครโรมันเช่นกัน) โดยส่วนหนึ่งอาจสืบมาจากผู้ก่อตั้งเมืองอย่างโรมูลัสที่ได้ดื่มนมหมาป่าตั้งแต่ยังเด็ก และอีกส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่เมืองตั้งใหม่แห่งนี้ได้เปิดรับคนทุกเหล่าเข้ามาเป็นชาวเมือง
หนึ่งในเหตุการณ์สุดฉาวโฉ่ที่ถูกบันทึกไว้ในตำนานเมืองโรม ก็คือ ‘การข่มขืนสตรีชาวซาบีน’ (The Rape of the Sabine Women) ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อตั้งกรุงโรมได้ไม่นาน ด้วยความที่ประชากรชาวโรมันมีจำนวนเพศชายมากกว่าเพศหญิง โรมูลัสจึงเกรงว่าอีกไม่นานประชากรชาวโรมันจะสูญสิ้น เขาจึงได้ส่งประกาศไปยังเมืองละแวกใกล้เคียง เพื่อขอให้มีการแต่งงานระหว่างชาวชาวโรมันกับหญิงสาวของเมืองเหล่านั้น เมื่อถูกปฏิเสธ โรมูลัสจึงออกอุบายแสร้งจัดงานเลี้ยง และเชิญชาวเมืองในละแวกใกล้เคียง รวมถึงเมืองซาบีน มาร่วมเฉลิมฉลอง เมื่อชาวซาบีนมาถึงเมืองโรม โรมูลัสก็สั่งให้ชาวเมืองเพศชายของตนลักพาหญิงสาวจากเมืองซาบีนมาเป็นภรรยาของตนเสีย (มีการวิเคราะห์กันว่า คำว่า ‘Rape’ ในภาษากรีกโบราณ อาจไม่ได้หมายถึงการข่มขืน แต่น่าจะเป็นการลักพาตัวมากกว่า)
เมื่อชายชาวเมืองซาบีนยกพลมาชิงลูกสาวและน้องสาวของตนคืน หญิงเมืองซาบีนที่ได้กลายเป็นภรรยาของชายชาวโรมันไปแล้วก็ได้ออกมาห้ามทัพไว้ สุดท้ายแล้วศึกในครั้งนั้นก็ยุติ และโรมูลัสก็ได้ร่วมกับกษัตริย์เมืองซาบีนอย่าง ทาติอุส ในการสร้างอาณาจักรแห่งใหม่ร่วมกัน ซึ่งการปกครองเมืองร่วมกันระหว่างกษัตริย์สององค์นี้ ก็ยังสะท้อนภาพของเคนดัลและโรมัน ที่พยายามสร้างอาณาจักรธุรกิจใหม่ในแบบของตัวเอง หลังการจากไปของโลแกน
Tom/Paris มนุษย์ผู้เลือกความรัก
ในสนามการห้ำหั่นกันระหว่างมหาเทพตระกูลรอย ผู้ชมยังได้เห็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ธรรมดา ที่มีเหตุให้เข้ามาพัวพันในสงครามแย่งชิงอำนาจของวงเทพ ซึ่งตัวละครนั้นก็คือ ทอม สามีนิสัยเด๋อด๋าแต่รักจริงของชิฟวอนนั่นเอง
ชะตากรรมของมนุษย์ที่หลุดเข้ามาอยู่กลางวงช่วงชิงอำนาจของเหล่าเทพ ทำให้นึกถึงเรื่องราวมหาสงครามของมนุษย์ที่มีปมสาเหตุมาจากความขัดแย้งของเหล่าเทพอย่าง สงครามกรุงทรอย ที่มีต้นเหตุมาจากการที่สามเทพีแห่งโอลิมปัสแข่งกันว่าใครเป็นเทพที่งดงามที่สุด โดยเทพที่แข่งกันในตอนนั้นก็คือเฮรา อะธีนา และอะโฟรไดที
ในการหาข้อยุตินั้น ทั้งสามได้มาหา เจ้าชายปารีส แห่งกรุงทรอย เพื่อให้เป็นผู้ตัดสิน โดยเทพีทั้งสามต่างเสนอสิ่งตอบแทนเพื่อหลอกล่อให้ปารีสเลือกตน เทพีเฮราได้เสนอจะมอบทวีปยุโรปและเอเชียให้ปารีสปกครอง ในขณะที่เทพีอะธีนาสัญญาว่าจะทำให้ปารีสเป็นนักรบที่เยี่ยมยุทธที่สุดในสนามรบ และไม่มีใครสามารถเอาชนะเขาได้
แต่สุดท้ายปารีสกลับเลือกเทพีอะโฟรไดที ผู้เสนอจะมอบผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกให้แก่ปารีส ซึ่งผู้หญิงคนนั้นก็คือ เฮเลนแห่งสปาร์ตา ซึ่งได้แต่งงานกับกษัตริย์แห่งสปาร์ตาไปแล้ว และนั่นก็นำมาสู่มหาสงครามกรุงทรอย ที่ทั้งเทพและมนุษย์ต่างมาเข้าร่วมสงคราม เพียงเพราะความรักที่ปารีสทีต่อเฮเลน
เรื่องราว ‘การตัดสินของปารีส’ หรือ ‘Judgment of Paris’ มักถูกนำมาอ้างอิงในฐานะเรื่องราวที่สะท้อนอำนาจของความรักที่อยู่เหนือทุกสิ่ง จนทำให้มนุษย์มองข้ามทุกอย่าง (ในกรณีของปารีสคือการเมินเฉยต่ออำนาจและความเก่งกาจที่เทพีอีกสองนางสัญญาว่าจะมอบให้) และถึงกับก่อให้เกิดสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในตำนานกรีกด้วย
เรื่องราวของทอมที่หลุดเข้ามาอยู่ในวงขัดแย้งของเหล่าเทพ อาจไม่ได้เหมือนกับเรื่องราวของปารีสเสียทีเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่ทอมและปารีสมีร่วมกัน ก็คือการสยบยอมให้อำนาจแห่งความรัก จนนำมาซึ่งหายนะแก่ตน ในกรณีของทอม เขาเฝ้าหยิบยื่นความรักให้ชิฟวอนนับครั้งไม่ถ้วน โดยไม่เฉลียวใจว่าความรักของเธอและเขาไม่เท่ากัน และความรักนั้นสักย้อนกลับมาเล่นงานเขาเสมอ (จนทำให้เขาทั้งเคยเกือบเข้าคุก และหวิดถูกไล่ออก) จนนำมาซึ่งฉากปะทะคารมระหว่างทอมกับชิฟวอนในปาร์ตีคืนก่อนเลือกตั้ง ที่เขาตระหนักได้ว่า ความรักได้ทำให้เขาแหลกสลายไปเสียแล้ว