‘That girl is another me’ ธีสิสที่ว่าด้วยฝาแฝด ตัวตน กับสังคมที่ไม่หลากหลายเท่าที่คิด
ใคร ๆ ก็มักจะพูดว่าคนที่เป็น ‘ฝาแฝด’ กัน จะสามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างน่าประหลาด บางคนก็ถึงขั้นบอกว่าสามารถส่งโทรจิตหากันได้ แต่ไม่ว่าเรื่องนั้นจะจริงหรือไม่ การมีฝาแฝดก็ยังพิเศษใส่ไข่กว่าคนอื่นอยู่ดี เพราะไม่ว่าจะเจอกับปัญหาอะไรมา พวกเขาก็ยังรับรู้ได้ว่ายังมีอีกคนอยู่ข้าง ‘กันและกัน’เสมอ
เหมือนกับที่ ‘ฟองเบียร์ -ปริญญา รามนาถ์’ บัณฑิตจากคณะวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาการออกแบบ เอกแฟชั่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปัจจุบันได้เริ่มต้นทำงานเป็นผู้ช่วยสไตลิสต์ ได้ร้อยเรียงเรื่องราวของการมีฝาแฝดเอาไว้ในธีสิสเรื่อง ‘That girl is another me’ เพื่อเล่ามหากาพย์การดิ้นรนสู้ชีวิตของคนมีฝาแฝด ผู้มีเอกลักษณ์ทางเพศที่ต่างออกไป ผ่านการออกแบบเครื่องแต่งกายสีสันสุดแซ่บให้เราได้ชมกัน
ฟองเบียร์เริ่มต้นอธิบายให้เราฟัง ด้วยการเล่าถึงจุดเริ่มต้นของธีสิสเรื่องนี้แบบง่าย ๆ ว่า “ตอนเราเริ่มคิดหัวข้อธีสิส เราตั้งใจว่าอยากจะเล่าเรื่องราวที่สะท้อนสังคม ก็เลยหยิบประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เรามองเห็นมาเสนอเป็นหัวข้อกับอาจารย์ แต่สุดท้ายก็โดนปัดตกไปเยอะเพราะข้อมูลไม่แน่นพอ บวกกับเราเองไม่ได้อินกับเรื่องที่เสนอไปขนาดนั้น ก็เลยต้องพับโครงการ”
เรียกว่าเป็นไปตามสเต็ปของเด็กปี 4 กับหัวข้อธีสิสเจ้าปัญหา ที่เราต้องโดนอาจารย์ปฏิเสธกันอยู่บ้างสักครั้งสองครั้งให้พอได้รันทดใจ แต่ความท้าทายจริง ๆ คือหลังจากนี้ต่างหาก เพราะต่อให้เราโดนปัดตกแค่ไหน ก็ต้องพยายามหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเองให้เจออยู่ดี ซึ่งหลังจากที่ได้กลับไปคิดทบทวนอยู่สักพัก เธอก็หาคำตอบของตัวเองเจอ
“พอเรามานั่งคิดทบทวนกับตัวเองจริง ๆ ว่ามีเรื่องไหนบ้างที่เรารู้จริง หรือมีเรื่องใกล้ตัวแบบไหนที่น่าสนใจมากพอที่จะทำให้เราอยู่กับมันไปได้ตลอด และเอามาทำเป็นธีสิสได้ ก็พบว่ามีเรื่องราวของตัวเราเองนี่แหละ เพราะเรามีฝาแฝดและเป็นเพศทางเลือกเหมือนกันทั้งคู่ เลยคิดว่าเรื่องราวนี้น่าสนใจเลยหยิบมาขายอาจารย์ ซึ่งเขาก็สนใจมากและอยากดูต่อว่าจะออกมาเป็นยังไง เลยได้ไปต่อกับคอนเซปต์นี้”
หลังจากหาหัวข้อที่ตัวเองชอบเจอและได้ไฟเขียวจากอาจารย์ ธีสิส ‘That girl is another me’ ก็ได้ฤกษ์เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เธอเริ่มต้นจากการเขียนไดอารี่บันทึกข้อมูลของตนเองในแต่ละช่วงเวลา เหตุการณ์ ความรู้สึก ภาพถ่ายในช่วงเวลานั้น จากนั้นก็เขียนบรรยายออกมาให้ได้เยอะที่สุด ก่อนจะหาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนข้อมูลของตัวเอง แต่พอหาข้อมูลไปได้สักพัก เธอก็พบว่าอุปสรรคต่าง ๆ ที่พวกเธอต้องประสบมาทั้งชีวิต นั้นมีคำอธิบายอยู่
“ระหว่างทำธีสิส เราไม่ได้เขียนไดอารี่เพื่อสำรวจตัวเองอย่างเดียว แต่ยังหาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อซัพพอร์ตข้อมูลของเราด้วย ซึ่งเราก็ได้ศึกษาเรื่องปิตาธิปไตย ที่มีผลกับความคิดของคน หรือเรื่องราวด้านอื่น ๆ อย่างจิตวิทยาเด็ก สภาพแวดล้อม และสังคม จากนั้นเราก็ไปสัมภาษณ์แฝด เพื่อสำรวจเหตุการณ์หรือความรู้สึกในช่วงเวลานั้น ๆ ว่าเขารู้สึกเหมือนกันหรือต่างกันกับเราหรือเปล่า ถ้าต่างแล้วต่างอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำมาเล่าในผลงาน ก่อนจะสรุปข้อมูลทั้งหมดให้ออกมาเป็นคอนเซปที่จะเล่า”
“หลังจากกระบวนการหาข้อมูลผ่านไป เราก็เริ่มสเก็ตช์ภาพและพัฒนารูปแบบไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมันจะดี ระหว่างนี้เราจะต้องทดลองเทคนิคต่าง ๆ พร้อมกับการหาวัสดุไปพร้อมกันด้วย ซึ่งถ้าผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ก็จะสามารถนำไปทำเป็นชุดจริง ๆ ได้แล้ว ดังนั้นพอเราตัดสินใจเลือกวัสดุ เทคนิค และลวดลายต่าง ๆ ได้แบบมั่นใจแล้ว ก็เริ่มตัดเย็บ ตกแต่ง และเพิ่มลดตามความเหมาะสมต่อเลย”
พอเล่ากระบวนการครบแล้ว ฟองเบียร์ก็เริ่มแชร์ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทำธีสิสให้เราฟังอย่างสนุกสนานว่า “ไอ้เจ้าปัญหามันก็จะมาเกิดตอนทำจริงนี่แหละ รวมถึงพวกเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย เช่น พอเราสั่งซื้อวัสดุต่าง ๆ ไป ก็มีปัญหาจากการขนส่งล่าช้า เราก็เลยทำงานช้าไปด้วย”
“หรือพอเราตัดเย็บและปักลวดลายต่าง ๆ ไปแล้ว แต่พอเอามาใส่จริงกลับไปเกี่ยวนู่นโดนนี่จนต้องมาปักใหม่เองเรื่อย ๆ เพราะเราทำมือเองทั้งหมด แถมยังต้องอิงกับสเก็ตช์ที่ทำไว้ด้วยก็เลยต้องนั่งปักใหม่ตลอด แต่หลังจากเห็นงานที่เราตั้งใจพัฒนามาตลอดได้ออกมาเป็นชุดที่ใส่ได้จริง ๆ เราก็ปริ่มใจเหมือนกันนะ”
ฟองเบียร์ยังพูดติดตลกอีกว่า “แต่พอย้อนกลับไปก็งงอยู่เหมือนกันนะว่าเราทำไปได้ยังไง สะใจตัวเองที่ทำออกมาได้ นี่เราก็ตัวแม่อยู่เหมือนกันนะ ไม่ใช่แค่ขอบคุณตัวเองแต่ต้องขอบคุณแรงซัพพอร์ตจากครอบครัวด้วย ที่ยอมให้เงินมาทำ ฮ่าฮ่าฮ่า”
“และเราอยากขอบคุณอาจารย์ด้วยที่คอยเป็นที่ปรึกษา ตบตีให้ผลงานออกมาได้สำเร็จ อีกส่วนก็คือ เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคน ทั้งสนิทและไม่สนิท ที่มีส่วนช่วยในขั้นตอนต่าง ๆ หรือส่วนไหน ๆ ก็ตามที่ทำให้งานสำเร็จไปได้ด้วยดีเลย ขอบคุณจริง ๆ”
หลังจากเล่ากระบวนการทำงานและอุปสรรคต่าง ๆ จบ เธอก็สรุปภาพรวมของธีสิสให้เราฟังอีกครั้งว่า “ถ้าจะให้สรุปภาพรวมทั้งหมดจริง ๆ ก็คงต้องบอกว่าธีสิสของเราเป็นการเล่าเรื่องราวของฝาแฝดที่ใคร ๆ ต่างก็มองว่าพิเศษ แต่สวรรค์กลับให้อีกสิ่งมาเหมือนกัน นั่นก็คืออัตลักษณ์ทางเพศที่ต่างออกไป ซึ่งไม่ว่าจะครอบครัว หรือสังคมต่างก็ไม่ยอมรับสิ่งนี้ เราทั้งสองคนต่างผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาด้วยกัน จะทุกข์หรือสุขก็มีกันเสมอ เราเลยเล่าด้านที่มีความสุขออกมา ให้ทุกคนได้เห็นการใช้ความสุขมาเป็นแรงขับเคลื่อนในการก้าวผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในแต่ละช่วงวัยมาได้”
ฟองเบียร์หยุดไปครู่หนึ่งก่อนจะพูดต่อ “ซึ่งความสุขและความรู้สึกที่ว่านั้น เราได้ถ่ายทอดออกมาเป็นชุดต่าง ๆ ในผลงาน ‘เธอคนนั้นคือฉันอีกคน’ หรือ ‘That girl is another me’ แล้ว
ยิ่งได้ฟังที่ฟองเบียร์เล่าแบบนี้ เราก็ยิ่งมองเห็นเลยว่า ในสังคมที่เราคิดว่าเริ่มมีความหลากหลายครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว แต่ความจริงยังคงมีอีกหลายจุดที่สีสันเหล่านั้นยังคงแต่งแต้มไปไม่ถึงใจของใครอีกหลายคน
ฟองเบียร์ได้ทิ้งท้ายไว้กับเราว่า “เราเคยคิดว่า ถ้าวันนี้เราทั้งคู่ต่างเกิดมาเพียงคนเดียวและเจอเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตแบบที่เจออยู่ในตอนนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะยังสู้ไหวได้ถึงขนาดไหน แต่โชคดีที่ตอนนี้พวกเรายังมีกันและกันอยู่ อย่างน้อยก็ไม่ต้องสู้เพียงคนเดียว ยังไงหันมาก็เจอกัน”
สามารถตามไปดูการออกแบบเสื้อผ้าที่กลั่นมาจากตัวตนของ ฟองเบียร์ -ปริญญา รามนาถ์ กันได้ที่: https://www.instagram.com/very.be.fong/