นอนไบนารี่ มัลติเวิร์ส และอนัตตา ‘อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล’ กับการจ้องกลับ ผ่านจักรวาลที่มากมายของ ‘บังลี’

นอนไบนารี่ มัลติเวิร์ส และอนัตตา ‘อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล’ กับการจ้องกลับ ผ่านจักรวาลที่มากมายของ ‘บังลี’

นอนไบนารี่ มัลติเวิร์ส และอนัตตา ‘อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล’ กับการจ้องกลับ ผ่านจักรวาลที่มากมายของ ‘บังลี’

เมื่อปี 2016 ‘อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล’ ศิลปินชาวปัตตานี ขอยืมตัว ‘บังลี’ เพื่อนของเขา มาเป็นร่างทรงของตัวศิลปินเอง ในชุดภาพวาดที่แสดงร่างของชายรักชายชาวมุสลิมแห่งด้ามขวาน ซึ่งทำหน้าที่ตั้งคำถามเรื่องตัวตนของคน และข้อจำกัดของตัวตนภายใต้อุดมการณ์ต่าง ๆ ของสังคม

ปี 2023 บังลีกลับมาอีกครั้ง แต่มากกว่าการเป็นร่างทรงสะท้อนคำถามและการใคร่ครวญของศิลปินที่มีต่อสังคม บังลีกลับมาปรากฏตัวในเวอร์ชั่นที่แตกต่าง ภายใต้ร่ม ‘จักรวาลแห่งศิลปะ’ ด้วยลายเส้นและสไตล์ที่อนุวัฒน์หยิบยืมมาจากศิลปินดังในหน้าต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อพาบังลีไปตะลุยสำรวจจักรวาลต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นจักรวาลแห่งศาสนา จักรวาลแห่งเพศ และจักรวาลแห่งตัวตน ในแบบที่ลึกซึ้งและเปี่ยมความหมายมากขึ้น . จากเดิมที่เขาทิ้งร่างเพื่อไปหาความหมายของการไร้ตัวตนแบบ “อนัตตา” ในทางพุทธ มาตอนนี้ที่ทุกคนคุยกันเรื่องพหุจักรวาลหรือมัลติเวิร์ส คอนเซ็ปต์นี้ก็เหมือนชิ้นส่วนที่มาเติมเต็มความคิดของอนุวัฒน์ ผู้มองว่า มัลติเวิร์สก็เหมือนความไร้ตัวตน และความไร้ตัวตนก็เหมือน ‘non-binary’ ที่ไม่ยอมขังตัวตนไว้แค่ในกล่องความเป็นชายหรือหญิง . “Non-binary ก็คือ non-self ก็คืออนัตตา สุดท้ายมันก็เรื่องเดียวกันทั้งเรื่องเพศ วิถีทางศาสนา และสังคมการเมือง” เราอยากเสริมท้ายประโยคเขาด้วยว่าศิลปะของเขาก็เช่นกัน เพราะในนิทรรศการ ‘BangLee’s Multiverse’ เราจะได้เห็นจักรวาลที่มากมายของสไตล์ศิลปะในประวัติศาสตร์ ซึ่งดูจะขัดกับโลกแห่งเอกลักษณ์ในทุกวันนี้ ที่เอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นสิ่งที่วงการศิลปะตามหาจากศิลปิน . ถ้าพหุจักรวาลของบังลีเริ่มจากความเป็นมุสลิม เป็นคนใต้ และเป็นชายรักชาย จักรวาลที่เปลี่ยนร่างไปในนิทรรศการนี้ก็คือคำถามกลับ ว่าบังลีกลายเป็นอะไรไปแล้ว? สังคมเราเป็นอะไรไปแล้ว? และเราเป็นอะไรไปแล้ว? ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ที่ศิลปิน อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ได้มานั่งคุยกับเรา ถึงห้วงเวลาที่เขาตกตะกอนความคิด และการแยกร่างทำงานศิลปะในประเทศ “ศูนย์กลางนิยม”

เราอยากเป็นใครในจักรวาลที่ไม่น่าอยู่?

จุดเริ่มต้นของ ‘บังลี’ มาจากความสนใจเรื่องความไร้ตัวตน แต่จุดเริ่มต้นของ ‘BangLee’s Multiverse’ มาจากประกายความคิดจากหนังเรื่องดัง ที่ทำให้จักรวาลเดิมที่เขาเคยเห็นเปลี่ยนไป

“ก่อนหน้านี้เรายังไม่มีความคิดเรื่องมัลติเวิร์สหรือพหุจักรวาลอะไร แต่สนใจเรื่องพุทธศาสนา เรื่องอนัตตา ความไม่มีตัวตน เลยใช้เรื่องบังลีและศิลปะของคนอื่นมาทำงาน แต่จุดที่ทำให้สนใจคือหนังเรื่อง ‘Everything Everywhere All at Once’ ดูแล้วรู้สึกขมขื่นมาก ในชีวิตคนหนึ่งจะต้องมีมัลติเวิร์สขนาดนั้น เพื่อจะทำอะไรบางอย่าง เรารู้สึกว่าเราก็เป็นคนหนึ่งที่พยายามมีหลายเวิร์ส เพื่อสู้ชีวิต หรือนึกถึงบังลี หรือเพื่อนคนอื่น ๆ ก็เป็นอย่างนั้น ยิ่งในประเทศนี้ ต้องมีหลายร่าง แยกไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะโครงสร้างมันไม่เอื้อให้ทำอะไรที่มันอยู่ได้” . “ผมคิดเรื่องทำไมมนุษย์ถึงอินกับเรื่องมัลติเวิร์ส ทำไมใคร ๆ ก็พูดถึงและอยากค้นหา ก็ย้อนกลับไปที่ต้นเหตุที่เราต้องการค้นหาจักรวาลใหม่ ๆ เพราะจักรวาลที่เราอยู่มันไม่น่าอยู่พอแล้วใช่ไหม เราถึงได้ค้นหาจักรวาลอื่น เพราะตัวเราเองที่ไม่เคยคิดใส่ใจความเป็นมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไหม”

“ในคำสอนเรื่องไตรลักษณ์ มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มนุษย์อยู่กับความไม่แน่นอนตลอดเวลา และอยู่กับความไม่มีตัวตน ไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ถึงต่อให้เราไปอยู่ในจักรวาลใหม่ สำหรับผมเราก็ยังไม่พ้นหลักศาสนาข้อนี้ คือเรายังมีความทุกขัง อนิจจัง อนัตตาเหมือนเดิม”

วิญญาณประวัติศาสตร์ที่จ้องกลับมาผ่านร่างทรง

จุดเด่นของ ‘BangLee’s Multiverse’ คือความเข้าใจในประวัติศาสตร์ศิลปะแต่ละยุค แต่ละสไตล์ ก่อนจะพาบังลีเปลี่ยนหน้าตาไปยืนโพสท่าโชว์ แต่การหยิบเอกลักษณ์ของศิลปินระดับตำนานคนอื่นมาวาดอย่างนี้ ก็พาให้เราสงสัยว่าแล้วที่จริง สไตล์ของอนุวัฒน์คืออะไร ตามความคิดของเจ้าตัว?

“เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เราก็ศึกษาจากศิลปะ นึกถึงยุคอียิปต์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ศิลปะหรือวัตถุทางศิลปะก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนประวัติศาสตร์ สะท้อนเรื่องราวขณะนั้น แต่ที่นี้ประวัติศาสตร์ขณะนั้นด็สะท้อนกลับมาที่ปัจจุบันหรืออนาคตได้อีก ว่าเราเป็นอยู่ยังไง ยังเหมือนเดิมไหม ก้าวพ้นอะไรมาไหม แล้วมันปรากฏเกือบจะเหมือนเดิมด้วยซ้ำไป มนุษย์ยังกรีดร้องเหมือน Edvard Munch ยังมีความรุนแรงโหดร้ายความตายแบบ Francis Bacon ซึ่งมันย้อนมาให้คิดหมดเลย”

“บังลีเป็นเหมือนร่างทรงของผมและคนอื่น ๆ บางวันที่ไปเจอข่าวคนตาย คนทำร้ายร่างกาย ข่าวสงคราม มันก็นึกถึง Francis Bacon เป็นอัตโนมัติ หรือเดินออกไปเจอแดดแล้วรู้สึกฟีลกู้ด ก็ชวนให้นึกถึง Renoir ได้เลย สิ่งนี้เราคิดว่าคือการประทับร่างทรง คือการที่เราสามารถนึกถึงศิลปินต่าง ๆ ได้โดยผ่านประสบการณ์จากโลกปัจจุบัน”

“ถามว่าสไตล์ของ Andy Warhol คืออะไร สีหรอ รูปแบบหรอ แนวคิดหรอ สุดท้ายแล้วถ้าคุณทำศิลปะเป็นหนึ่งอันเดียวกับชีวิตที่อยู่ สไตล์ก็คือชีวิตของคุณ ก็เลยคิดว่าแบบนี้ยังเป็นอนุวัฒน์ ยังเป็นบังลีอยู่ ไม่จำเป็นต้องบอกว่าสีแบบนี้ของผมนะ เทคนิคแบบนี้คือสไตล์ผม คนอื่นทำไม่ได้เดี๋ยวซ้ำผม ผมเชื่อว่าวิธีการต่าง ๆ ที่เราซึมซับมาก็คือชีวิต คือสิ่งที่เราอยู่และเป็น ดังนั้นไม่ว่าจะคิดอะไรทำอะไร ถ้าเราทำให้ศิลปะเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต ผมคิดว่าสไตล์หรือความเป็นตัวตนมันอยู่ในนั้นอยู่แล้ว”

“บางคนใช้เวลาค้นหาสไตล์นานมากจนลืมว่ามันอยู่กับตัวเอง ไม่ใช่สิ่งอื่น ไม่ได้อยู่ที่สี ที่รูปทรงรูปแบบอะไรก็ตาม มันอยู่ที่ว่าถ้าเราเป็นคนแบบนี้ ยังไงมันก็จะออกมาเป็นแบบนี้แหละ”

“การทำงานศิลปะเหมือนเป็นสองแง่ บางอย่างมาจากภายนอก บางอย่างก็ภายใน อย่างเรื่องบังลีจะเป็นเรื่องภายใน ซึ่งก็สะท้อนว่าสิ่งที่เกิดภายนอกมันกระทบอะไรกับภายใน มันมีประเด็นกับการที่เขาเป็นมุสลิม เหมือนเป็นสิ่งที่ผิดบาปจากศาสนา แต่ภายในเขาจะรู้สึกยังไง อยู่กับมันยังไง กับสิ่งที่เกิดกับตัวเขา ก็เลยเป็นงานที่หลากหลายทั้งเรื่องภายนอกภายใน”

เป็นใครก็ได้ เป็นอะไรก็ได้

เมื่อประกอบชิ้นส่วนของมัลติเวิร์ส เข้ากับชิ้นส่วนความคิดเกี่ยวกับอนัตตา ผลลัพธ์ที่ได้คือการปลดปล่อยตัวตน ไปหาความไร้ตัวตน ซึ่งในแง่หนึ่งก็ล้อไปกับประเด็นร้อนแรงแห่งยุค อย่างการหลุดกรอบเพศ ไม่ชาย ไม่หญิง แต่เป็นอะไรก็ได้ ที่เรียกว่า ‘non-binary’

“ในความเป็นร่างทรงก็มีความ non-binary ในทางเพศ หมายถึงเป็นอะไรก็ได้ เป็นใครก็ได้ ดังนั้นความไม่มีตัวตนก็เหมือนกัน คือ มันไม่มี มันเป็นใครก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ คนดูก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถไปสิงอยู่ในบังลีได้เช่นเดียวกัน มันเป็นกระจกสะท้อนกลับมาหาคนดูอีกทีว่าเราเป็นอย่างนี้ไหม”

“Non-binary ก็คือ non-self ก็คืออนัตตา สุดท้ายมันก็เรื่องเดียวกันทั้งเรื่องเพศ วิถีทางศาสนา และสังคมการเมือง ก็เลยค่อนข้างสนุกว่าเป็นอะไรก็ได้ สุดท้ายแล้วก็เป็นคำถามกับความเป็นบังลีอยู่ดี ว่าสุดท้ายจะยังเป็นบังลีอยู่ไหม เป็นมุสลิมอยู่ไหม แบบไหน เป็นคนใต้แบบไหน หรือสังคมที่บังลีอยู่ยังเป็นเหมือนเดิมไหม เปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไรหลังบังลีแปลงร่างไปเป็นสิ่งอื่น เลยยังสะท้อนความเป็นท้องถิ่นของบังลีได้อยู่”

“ในงานชุดนี้ที่ผมทำ ถ้าสังเกตดี ๆ บังลีอยู่ในท่าเดียวกันหมด เป็นท่าโพสแบบ 45 องศา ทาบทับกับสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) แบบพอดี เพราะอยากให้ตั้งคำถามถึงความสมบูรณ์กับความเป็นอุดมคติของมนุษย์ เมื่อถูกเอาร่างกายมาจับวาง”

ร่างแยกของคนทำงานศิลปะนอกพื้นที่ส่วนกลาง

ไม่ใช่แค่บังลี ตัวอนุวัฒน์เองบอกว่าเขาเองก็มีพหุจักรวาลของตัวเองเหมือนกัน แต่เราไม่แน่ใจนักว่าเป็นเรื่องน่าสนุกไหม เพราะจักรวาลของเขาสร้างขึ้นจากความลำบาก ของคนทำงานศิลปินในไทย

“ผมมีทั้ง 3 งานตอนนี้ เป็นทั้งอาจารย์ ศิลปิน และภัณฑารักษ์ ซึ่งการเป็นภัณฑารักษ์ของผมก็เกิดจากปัญหาของศิลปิน ว่าศิลปินชายขอบไม่ถูกหยิบขึ้นไป ผมเลยเป็นภัณฑารักษ์แล้วหยิบศิลปินที่เรารู้ดีว่าเขามีอะไรน่าสนใจไปแสดงเอง ไปแสดงทั้งที่เชียงใหม่ ขอนแก่น แล้วก็กรุงเทพฯ พยายามกระขายอำนาจทางศิลปะ เพราะทุกอย่างไปยึดติดอยู่ที่ศูนย์กลาง”

“อาชีพศิลปินในโครงสร้างสังคมแบบนี้มันไม่สามารถเป็นอาชีพอยู่ได้ ที่ผมทำงานศิลปะก็ต้องแยกร่างไปทำงานอย่างอื่นอีกหลายมัลติเวิร์สด้วยเพื่อเอามาทำศิลปะ”

นิทรรศการ ‘BangLee’s Multiverse’ โดย อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล แสดงที่ VS Gallery ใน N22 ซ.นราธิวาส 22 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2566