ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข
อารมณ์ผสมความเนิร์ดของนักวิจัยมลพิษ
ทรัพย์มณี
ที่กลายเป็นฉากเซอร์เรียลแฝงนัยโลกปัจจุบัน

ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข อารมณ์ผสมความเนิร์ดของนักวิจัยมลพิษ ทรัพย์มณี ที่กลายเป็นฉากเซอร์เรียลแฝงนัยโลกปัจจุบัน

'ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข' อารมณ์ผสมความเนิร์ดของนักวิจัยมลพิษ ทรัพย์มณี ที่กลายเป็นฉากเซอร์เรียลแฝงนัยโลกปัจจุบัน

สมัยเรียนเราจะมีเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ได้ไงก็ไม่รู้ ที่จะคอยอธิบายคำยาก ๆ หรือปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนในหนังสือให้เราได้ หรือเพื่อนอีกคนหนึ่งที่อารมณ์อ่อนไหว เห็นภาพอะไรก็รู้สึกสะเทือนใจ จนบางทีต้องหยิบสีระบายออกมา ‘ตุ่ย - ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข’ เป็นเพื่อนทั้งสองคนนั้นของเรารวมกัน คือศิลปินที่จับความสนใจเรื่องมลพิษมาศึกษาลงลึก แล้วสื่อสารออกมาผ่านสีสันที่เต็มไปด้วยความรู้สึก ในนิทรรศการ ‘Man-Made Apocalypse’ ที่จัดแสดงอยู่ที่ BAB Cafe ในโครงการ The PARQ (Tag page The PARQ)

เราเดินผ่านสวนสีเขียวบนชั้นสามของโครงการเข้าไปในห้องนิทรรศการ ที่ ‘แขวน’ ภาพอยู่ทั่วห้อง เพื่อไปพบเธอและ ‘เกณฑ์ เมธาจารุนนท์’ คิวเรเตอร์ของนิทรรศการนี้ เพื่อคุยเกี่ยวกับการทำงานในโปรเจกต์เปลี่ยนสภาพอากาศเป็นงานศิลป์ รวมไปถึงการเตรียมงานเพื่อ ‘เสิร์ฟ’ ประสบการณ์ศิลปะให้กับผู้ชม ที่ไม่เพียงจะได้รับชมผลงานศิลปะทางสายตา แต่ยังได้ลงมือและรู้สึกถึงงานศิลปะร่วมกับศิลปิน ในรูปแบบของคอร์สค็อกเทล เวิร์กชอปศิลปะบำบัด และ Exhibition Tour ที่ศิลปินและคิวเรเตอร์จะมานำชมนิทรรศการ พร้อมชวนไปขุดลึกถึงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของอากาศ แนวคิดเบื้องหลังการติดตั้งงานที่ลอยแปลกตา และเรื่อง (ไม่) ลับใน The PARQ โครงการมิกซ์ยูสแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการการันตีด้านการออกแบบ และพัฒนาตามมาตรฐานโลก LEED และ WELL

ไม่ว่าทิวทัศน์สภาพแวดล้อมที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาจะทำให้ผู้ชมอย่างเรา ๆ รู้สึกประทับใจความสวยซึ้งของอนุภาคเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ หรือชวนให้เราประหวั่นขวัญแขวนกับความเปลี่ยนไปของสภาวะรอบตัว ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ศิลปินอย่างทรัพย์มณียินดีเปิดพื้นที่ให้เราได้รู้สึกและตีความกันเต็มที่ แต่ก่อนที่จะไปชมนิทรรศการพร้อมดื่มด่ำกับความหมายทางศิลปะในกิจกรรมและเวิร์กชอปต่าง ๆ เราขอชวนทุกคนมานั่งหายใจให้เต็มปอด และฟังศิลปินเล่ากระบวนการทดลอง จนถึงการค้นพบ ในงานศิลปะของเธอด้วยกัน

เสียงเตือนและศิลปะแห่งเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม

ศิลปะเป็นความหลงใหลของ ตุ่ย - ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข มาตั้งแต่เด็ก แต่อาชีพศิลปินกลับเป็นสิ่งที่ไกลจากเส้นทางชีวิตของเธอพอสมควรในตอนแรก เมื่อเธอเลือกลงลึกในศาสตร์ของสถาปัตยกรรม และทำงานเป็นนักวิจัย ที่อธิบายข้อมูลยาก ๆ ได้น่าสนุก

“เหมือนทั่วไป พ่อแม่มักมีความเชื่อว่า ถ้าเรียนศิลปะจะไส้แห้ง ก็เลยบอกเราว่า เป็นสถาปนิกดีกว่า ประกอบกับที่ตอนนั้นเราชอบวาดรูป แต่ก็ชอบวิชาฟิสิกส์ด้วย ก็เลยไปด้วยกันได้

“ตอนเรียนสถาปัตย์เราก็ชอบ เพราะมันรวมกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ มันมีเหตุผลที่ทำให้เกิดงานแบบนั้นนั้น ก็เลยรู้สึกสนุกดี แล้วก็อินกับมัน ส่วนตอนทำงานจะเน้นรีเสิร์ชมากกว่า เพราะงานของเราจะเป็นคล้าย ๆ กับนักวิจัยเรื่องเทคโนโลยีการก่อสร้าง (Building Technology) ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การออกแบบให้สุขภาพดี”

“ตอนทำงานก็ได้สเก็ตช์รูปนิดหน่อย ไม่ได้จริงจัง จนเหมือนมาค้นพบว่า นี่เป็นสิ่งที่เราชอบ อยากทำ ก็เลยทดลองไปเรื่อย ๆ พอได้มีโอกาสส่งพอร์ตไปให้แกลเลอรีดู ก็เป็นครั้งแรกที่จุดประกายว่า อยากจริงจังกับการวาดรูปมากกว่านี้ ก็เลยเริ่มจัดนิทรรศการทุกปี แต่ระหว่างนั้นก็เป็นสถาปนิกไปด้วย เราเอาข้อมูลจากฝั่งงานสถาปนิกมาช่วยทำงานศิลปะ ส่วนหนึ่งมันก็เหมือนช่วยกัน พอมันถึงจุด ก็เลยลาออกมาทำงานศิลปะเต็มตัว”

ท่ามกลางโปรแกรมคำนวณที่ซับซ้อนในหน้าจอของสถาปนิก ความสนใจด้านศิลปะของเธอก็ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง จากภาพจำลองที่ในแง่หนึ่งก็ส่งคำเตือนจากสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ไม่ทันเห็น แต่อีกแง่หนึ่งคือรูปทรงที่ดูสวยงามด้วย

“หน้าที่ของเราตอนเป็นนักวิจัย คือการทดสอบคุณภาพของการออกแบบด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาทดลอง ใช้พวกโปรแกรมจำลอง (Simulation) ในคอมพิวเตอร์ แล้วมันมีโปรแกรมหนึ่งชื่อ CFD ใช้คำนวณกลศาสตร์ของไหล จำลองการระบายอากาศในอาคาร เวลามันคำนวณเสร็จแล้วแสดงผลออกมาก็ดูสวยดี มันมีแสดงความเคลื่อนไหว ทำให้เห็นว่าอากาศก็มีความเร็วด้วย แล้วก็มีสีบอกความเร็วสูง-ต่ำ อุณหภูมิสูง-ต่ำ หรือเรื่องความดัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถมองเห็นได้ ได้แค่รู้สึก แค่รู้ว่ามันมีอยู่ เป็นจุดประกายเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเรื่องมลพิษ”

ศิลปะแห่งการสะเทือนใจคน ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

อิทธิพลของการเรียนดีไซน์อาจอยู่ในตัวเธอมากกว่าที่คิด เพราะจากความสนใจเล็ก ๆ เธอลงลึกกับประเด็นด้านมลพิษกับมนุษย์ต่อ ด้วยการทำงานศิลปะ ที่ถึงเธอจะยืนยัน ว่า “ความรู้สึก” เป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ในภาพ แต่ก็ให้เวลากับกระบวนการรีเสิร์ชมากเหมือนกัน

“งานที่ทำตอนนั้นเราจะไปเน้นเรื่องมลพิษภายในอาคาร ดูว่าอากาศระบายดีไหม มีเชื้อโรคเชื้อราอะไรไหม แต่มันก็จะมีเรื่องของมลพิษภายนอกอาคาร (Outdoor Pollution) ที่เรารู้น้อยมากในตอนนั้น”

“ก่อนหน้านั้นเราทำงานศิลปะโดยมีแรงบันดาลใจจากธรรมชาติอยู่แล้ว แต่จะพูดถึงความงามของธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้พูดถึงปัญหาอะไร ซึ่งจริง ๆ มันมีอยู่ แต่เรามองมันเป็นสุนทรียภาพ (Aesthetics) แบบหนึ่งในธรรมชาติ แล้วพอมาช่วงใกล้โควิดปี 2020 เราก็นึกถึงว่า เรื่องมลพิษมันน่าจะทำออกมาเป็นศิลปะดู ตอนนั้นก็มีการพูดถึงประเด็นมลภาวะทางอากาศในเชิงสุขภาพ งานชุดนั้นจะเป็น Semi-abstract พูดถึงเซลล์ในร่างกาย บวกกับความเคลื่อนไหวของอากาศ งานนั้นเราซูมเข้าไปดูมลพิษภายในร่างกายของเรา

“ส่วนงานนี้จะเป็นเรื่องข้างนอก แล้วบอกว่าสาเหตุของการเกิดปัญหาเป็นอย่างไร เราทำงานศิลปะ เราก็ศึกษาไปด้วยว่ามันเพราะอะไร มันมีเหตุผลอะไรที่ลึกกว่านั้น ทำไมเกษตรกรต้องเผา เรื่องรายได้ที่เขามีไม่เพียงพอจะจ้างคนที่มีเครื่องจักรมาฝังกลบ เทคโนโลยีไปไม่ถึง การเผาสมัยก่อนก็อาจเป็นภูมิปัญญาที่ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายในตอนนั้น แต่ตอนนี้ความต้องการมนุษย์เยอะขึ้น เลยมีการผลิตเยอะขึ้น การผลิตแบบอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การเผามันเลยอลังการมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน จากการเผาเพื่ออยู่รอด เพื่อการเกษตรในครัวเรือน แต่ตอนนั้นมันอุตสาหกรรม เรารู้สึกเหมือนเข้าไปดูปัญหาที่เกิดขึ้น ที่มีเรื่องซับซ้อนขึ้น เรื่องการกำหนดมาตรฐาน PM2.5 ทำไมเราไม่กำหนดให้มันเท่าองการอนามัยโลก ระหว่างทำงานศิลปะก็ได้ค้นหาเรื่องพวกนี้ไปด้วย”

งานที่ออกมาเลยเป็นจุดที่ลงตัว ระหว่างข้อมูลที่ลึกซึ้ง เหมือนนั่งฟังเนิร์ดคนหนึ่งเล่าความสนใจที่เจาะลึกด้านมลพิษ จนเราได้รับรู้อะไรใหม่ ๆ และได้ประสบการณ์ทางอารมณ์ ของมนุษย์คนหนึ่งที่เจอความยิ่งใหญ่ของปรากฏการณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง และพยายามต่อสู้ด้วยตัวเอง

“จุดมุ่งหมายในการทำงานศิลปะของเราก็คือ แค่อยากบอกว่าประเด็นเรื่องสภาวะแวดล้อมก็ถูกนำเสนอออกมาในเชิงศิลปะได้ กระบวนการรีเสิร์ชและการสำรวจ (explore) ก็คือส่วนหนึ่งของศิลปะ ศิลปะเป็นเครื่องมือที่นำพาเราไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง

“เราใช้ความรู้สึกบวกเข้าไปกับงาน อย่างเรื่องไฟ ทำไมต้องใส่สีแดง? คือพี่ไปเห็นไฟไหม้ป่าที่อินโดนิเซีย แล้วเห็นว่า ทั้งบรรยากาศเป็นสีแดงหมดเลย มันให้ความรู้สึกเหมือนโลกกำลังจะแตก เลยอยากใส่สีตรงนั้นเข้าไป เราจะใช้ความรู้สึกแปลผลออกมา ไม่ได้ใส่งานวิจัยเข้าไปเต็ม ๆ ขนาดนั้น เพราะมันจะกลายเป็นไดอะแกรมไป เราอยากทำหน้าที่ศิลปินที่พูดถึงความรู้สึกด้วย ให้คนรู้สึกว่ามันใกล้ความจริงแล้ว โลกกำลังแย่แล้ว

“ถ้าจะมาดูภาพสวย ๆ ก็ได้ แต่ยิ่งมองเข้าไปลึก ตั้งใจมองรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจจะตีความจากประสบการณ์ได้ อยากให้งานสื่อสารกับคน ให้ดูแล้วคิดว่ามันคืออะไร ให้เขาตีความ เข้าใจจากความรู้สึกและประสบการณ์ของเขา”

นิทรรศการ ‘Man-Made Apocalypse’

โครงสร้างที่เราไม่เคยเห็น ของโลกที่เรากำลังดำรงอยู่

“ชุดนี้ทำอยู่ปีนึง ตอนแรกก็ลังเลว่าจะทำเรื่องอะไร แต่เราอยากพูดเรื่องมลภาวะอากาศ กระบวนการทำงานของพี่จะเริ่มจากคีย์เวิร์ดเรื่องนึงที่อยากทำ แล้วค่อยทำรีเสิร์ช ลองทำงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาก่อน แล้วค่อยทำต่อไปเรื่อย ๆ จะเห็นว่าเราทำอะไรอยู่” ทรัพย์มณีเล่าถึงงานชุด ‘Man-Made Apocalypse’ ที่กำลังแสดงอยู่ตอนนี้ที่ BAB Cafe ในโครงการ The PARQ

งานนี้เธอตั้งใจเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์ โดยขยับจากภาพแนว Semi-abstract ที่คุ้นเคย มาเป็นภาพกึ่งเซอร์เรียล ที่มีกลุ่มควันเป็นตัวเอก คู่กับสัญลักษณ์ของรูปทรงเรขาคณิต

“จริง ๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติ แต่มันเป็นเรื่องของมนุษย์ด้วย ระบบบริโภคนิยม ระบบการปกครอง มันสอดคล้องกัน เรื่องการออกกฎหมาย คือเราไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ด้วยการเลิกใช้โน่นนี่เท่านั้น แต่จริง ๆ มันเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างที่ต้องทำให้ทุกคนเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหาไปด้วยกัน ไม่ใช่แก้คนเดียว ว่าจะอยู่ด้วยกันในสภาวะแบบนี้อย่างไร

“สิ่งที่เราหวังจากนิทรรศการนี้ ไม่ใช่ว่าให้คนดูเดินออกไปแล้วรักษ์โลกมากขึ้น แต่อยากให้เข้าใจว่าระบบเป็นอย่างไร เรากำลังอยู่ในสถานการณ์แบบไหน แล้วเขาจะนำความเข้าใจนี้จะไปต่อยอดเองก็ได้

“งานชุดนี้จะมีสัญลักษณ์เรขาคณิตด้วย เรารู้สึกว่ามนุษย์ชอบตัดทอน ก็เลยใส่รูปทรงเข้าไปด้วยในภาพ พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ ว่าปัญหาคุณภาพอากาศ สภาพแวดล้อมก็เกิดจากพวกเราที่เป็นโฮโมซาเปียนประมาณนั้น”

ความน่าสนใจของสัญลักษณ์เหล่านี้ นอกจากจะเปิดให้แต่ละคนตีความได้ตามประสบการณ์แล้ว ยังเก็บดีเทลความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมมาถ่ายทอดได้เห็นภาพอีกด้วย

“อาจจะเรียกเป็นขอบเขตก็ได้ เราสื่อในงานแต่ละชิ้นว่ามลภาวะนี้มันไหลออกนอกเขตแดน ไหลไปประเทศข้าง ๆ ขอบเขตของประเทศมันไม่สามารถกั้นมลพิษได้ เพราะเราก็หายใจด้วยอากาศเดียวกันที่เคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ เราพยายามทำทุกวิถีทางไม่ให้มันออกนอกเขต เราพยายามควบคุม มนุษย์พยายามควบคุมทุกอย่าง แต่เรื่องอากาศมันไม่สามารถคุมได้”

“เราตั้งคำถามว่าทำไมควันสีไม่เหมือนกัน สุดท้ายก็เข้าใจว่าสารตั้งต้นมันต่างกัน การเผาพวกหญ้าจากการเกษตรก็อาจจะเป็นสีขาว แล้วถ้าเผาไหม้พวกฟอสซิลพวกน้ำมันก็จะเป็นสีดำ ๆ หรือถ้าบางอย่างมีสารพิษ เช่นพวกที่มีระเบิดจะเป็นสารพิษสีน้ำตาลแดง ๆ อย่างเหลือง ๆ ก็มาจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์”

ขยายพรมแดนของศิลปะ กับสุนทรียะในบทสนทนา การเยียวยา และคอร์สเครื่องดื่ม

นอกจากภาพสวย ๆ แล้ว งานนี้ก็ดีไซน์กิจกรรมเตรียมไว้ขยายประสบการณ์อีกถึงสาม อย่าง ทั้ง Exhibition Tour กับศิลปินและคิวเรเตอร์ คอร์สค็อกแทลที่ได้แรงบันดาลใจจากคอนเซปต์ของนิทรรศการ และเวิร์กชอปศิลปะบำบัดจากนักจิตวิทยาการบำบัดมืออาชีพ

เกณฑ์ เมธาจารุนนท์ คิวเรเตอร์ของนิทรรศการ Man-Made Apocalypse เล่าที่มาของกิจกรรมทั้งสามว่า “ผมเชื่อว่าไม่มีใครไม่ชอบงานศิลปะ คนที่บอกไม่ชอบคือเขายังไม่เจองานศิลปะที่เขาชอบเท่านั้น เหมือนกับที่เราฟังดนตรีแล้วต้องมีเพลงที่เราเปิดใจชอบ อันนี้ก็จะเป็นการจับคอนเซปต์ของศิลปินในนิทรรศการนี้ มาเป็นกิจกรรมเพื่อชวนคนส่วนมากที่อาจจะไม่อินกับศิลปะมาก ให้เป็นก้าวแรกในการเปิดใจ กับสิ่งที่เขารู้สึกสบายอย่างการกินค็อกเทล แต่มาถึงแล้วก็ได้ประสบการณ์ศิลปะเลย”

“สำหรับคอร์สค็อกเทลจะประกอบด้วยสามดริงก์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานชุดนี้ ดื่มไล่กันไป เริ่มแรกจะคลีนเลย สะอาดมาก ใช้วัสดุจากธรรมชาติสดชื่น ๆ แต่พามาเครื่องดื่มที่สองจะเริ่มมีสิ่งเจือปนเข้ามา แล้วความหนาของบอดี้จะเพิ่มขึ้นมาหน่อย จนมาเครื่องดื่มสุดท้าย จะมีรสชาติและกลิ่นของธรรมชาติ แต่ผ่านการคั่ว การเผาไหม้ มีกาแฟ โฮจิฉะ แล้วบอดี้ก็หนักขึ้น” จัดขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน 2566 เวลา 17.00-22.00 น.

“ด้านสุนทรียศาสตร์ค็อกเทลจะทำหน้าที่ของมัน คือดื่มอร่อย แต่ด้านศิลปะ คอนเซปต์ของมันก็จะเป็นการเดินทางด้านความใสบริสุทธิ์ เป็นประสบการณ์การเสพศิลปะอีกแบบหนึ่ง”

“อีกหนึ่งการต่อยอดก็คือ Exhibition Tour เป็นประสบการณ์ที่อยากจะให้คนเข้ามาดูงานศิลปะไปพร้อม ๆ กับศิลปินกับคิวเรเตอร์ เพื่อให้เกิดบทสนทนาเหมือนที่เรามีอยู่ตอนนี้ ประสบการณ์ของคนก็จะเปลี่ยนไป อาจจะลึกซึ้งขึ้น อาจจะได้คำถาม ได้ความเป็นตัวเองมากขึ้นในการตีความของเขา ที่มากไปกว่ากว่าการเดินดูงานเฉย ๆ ในวันที่ 17 มิถุนายน 2566 เวลา 17.00-22.00 น.

“ส่วน Expressive Art Therapy Workshop คือการใช้ศิลปะในการเป็นสื่อเพื่อเข้าใจตัวเอง ในการจิตนาการ วิเคราะห์ตัวเองแล้วมาดูว่าต่อไปนี้หนทางของเราจะเป็นอย่างไร อนาคตในอุดมคติของเราเป็นอย่างไร มีการวาดภาพระบายสี”

ซึ่งเวิร์กชอปศิลปะบำบัดจะนำโดยนักจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัดมืออาชีพ คุณอรญา หิมกร ซึ่งใครที่ไม่มีทักษะศิลปะเลยก็เข้าร่วมได้ เพราะงานนี้ การวาดภาพเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อเข้าใจตัวเอง จัดขึ้น 2 รอบ รอบภาษาไทย : วันที่ 10 มิ.ย. 2566 เวลา 13.00 น. - 15.00 น. และ รอบภาษาอังกฤษ : วันที่ 24 มิ.ย. 2566 🕒 13.00 น. - 15.00 น.

อีกชั้นของการตีความศิลปะ ในการจัดแสดงที่ The PARQ

“งานเราแสดงเกี่ยวกับเรื่องอากาศด้วย การห้อยรูปลอย ๆ มันก็เลยเข้ากับคอนเซปต์นี้ เหมือนคนมาปะทะ มาเจอมลพิษที่กีดขวางเราอยู่ คือต้องมีสตินิดนึง จะได้เดินไม่ชน” คิวเรเตอร์แห่งนิทรรศการแปลกตานี้ตอบเราทันทีที่เราทักเรื่องการติดตั้งภาพในนิทรรศการ ที่เป็นงานห้อยลอยตัว เดินดูได้โดยรอบ และดูแปลกตากว่าการแขวนไว้กับผนังอย่างที่คุ้นเคย ในพื้นที่ของ BAB Cafe ที่มองเห็นวิวกรุงเทพฯ โดยรอบ ซึ่งเป็นผลมาจากดีไซน์ของ The PARQ ที่เน้นเรื่องแสงธรรมชาติ ที่ให้ความสว่างแต่ไม่รู้สึกร้อน

“จุดเด่นของพื้นที่นี้คือเราสามารถมองเห็นพาโนรามาวิวของรูฟทอปได้ เราก็ไม่ควรติดตั้งรูปไปบล็อกตรงนั้น แล้วเขาก็เห็นศักยภาพของโครงสร้างหลังคาห้องนี้ ดูน่าจะห้อยลงมาได้ เพราะถ้าวางบล็อกก็จะทำให้พื้นที่อึดอัด และเสียวิวพาโนรามาด้วย เลยติดตั้งแบบมัน ๆ ไปเลย”

“มีลูกเล่นอีกอย่างด้วยคือการจัดแสดงแบบกึ่งอินโฟกราฟิก กึ่งอินเทอร์แอคทิฟ ที่เจาะลึกเข้าไปในงานด้านเทคนิคว่า ในอากาศมีอะไรบ้าง แล้วมันเกิดจากอะไร มันส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร แล้วก็มีข้อมูลให้มองออกไปเห็นอากาศข้างนอกด้วย”

ซึ่งความพิเศษของสถานที่จัดแสดงอย่าง The PARQ ที่ลงตัวพอดีกับคอนเซปต์งานของงานนี้ คือมาตรฐานการควบคุมอากาศเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ดังคำอธิบายของทางคิวเรเตอร์ “งานของพี่ตุ่ยเกี่ยวกับความงามของธรรมชาติมาตลอด มันก็ดูเพอร์เฟกต์มากเลยที่เรามาอยู่ใน The PARQ แล้วมาอยู่ในชั้นที่เป็นห้องกระจก มีต้นไม้ เห็นอากาศข้างนอก ตรงกับธีมที่นี่ แล้วมารู้ว่ามีการใช้เทคโนโลยี มีแอปบอกค่าฝุ่นอะไรให้ด้วยก็เป็นเรื่องที่ดี พอมาอยู่คู่กันก็ทำให้มีอะไรมากขึ้น”

คำอธิบายของคิวเรเตอร์จึงทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวงานที่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อม และสถานที่จัดแสดงงานอย่าง The PARQ ซึ่งเป็นอาคารที่ถูกออกแบบโดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ การันตีด้วยการรับรองจากมาตรฐานโลก LEED และ WELL ซึ่งประเมินโดยบุคลากรของ WELL โดยตรง เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ใช้อาคารจะ “อยู่ดี” ครบทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านคุณภาพอากาศ ที่มีแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลอากาศบริเวณตึกอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นค่าความชื้น ค่าฝุ่น PM2.5 และ PM10 ซึ่งทั้งหมดถูกจัดการด้วยระบบกรองและควบคุมอากาศภายในอาคารที่มีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัยจากเชื้อต่าง ๆ ในอากาศ ทำให้นิทรรศการแห่งควันเผาไหม้นี้มีความหมายเพิ่มขึ้นอีกชั้น

ส่วนงานศิลปะในนี้เอง ที่จริงก็ส่งพลังฮีลใจกลับสู่ผู้ใช้อาคารด้วย ในฐานะส่วนหนึ่งของการยกระดับด้านสุขภาวะทางจิตใจตามมาตรฐาน WELL ซึ่ง The PARQ เอง ก็มี ‘เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น’ งานศิลปะสาธารณะที่คัดเลือกและสั่งทำเป็นพิเศษ สำหรับคนเมือง ที่ตามหาความรู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น และสร้างสรรค์ ด้วยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ที่ขอมาอยู่ร่วมกันกับชีวิตเรา

📍นิทรรศการ ‘Man-Made Apocalypse’ โดยศิลปิน ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข แสดงที่ BAB Cafe, ชั้น 3 Q Garden, The PARQ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิ.ย. 2566 . ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ Exhibition Tour ที่ https://www.twelveart.co/mma

สำรองที่นั่ง และ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเวิร์คช็อปศิลปะบำบัด ‘Paint Your Path, Claim Your Future’ ที่ https://twelveart.co/paint

สำรองที่นั่ง และ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคอร์สค็อกเทล 'Impure' Conceptual Drink by Messengerservice Bar ที่ https://twelveart.co/impure