Quarantine Report ภาพหลักฐานจากห้วงเวลาเหนือจริง ของโรคระบาดและการกักตัว
ภาพถ่ายสีสันหลุดโลกที่ปรากฏตรงหน้า หาใช่ภาพจาก AI หรือหนังไซไฟเรื่องไหน แต่คือภาพถ่ายของ เกริกบุรินทร์ เกิ้งบุรี ศิลปินภาพถ่ายจากเชียงใหม่ ผู้มองเห็นความเซอร์เรียลในสังคมไทย ในช่วงเวลาแห่งโรคระบาดที่ผ่านมา เขาจึงเก็บบรรยากาศความโกลาหลที่ยากจะแยกชัดว่าอะไรจริง หรือไม่จริง เหล่านั้น จนกลายมาเป็นภาพถ่ายชุด ‘Quarantine Report’ ที่จัดแสดงถึงอาทิตย์หน้า ณ Kathmandu Photo Gallery แกลเลอรีภาพถ่ายแห่งย่านสีลม
ภาพถ่ายโทนสีฉูดฉาดที่นำเสนอกิจกรรมของผู้คนในท่วงท่าประหลาด พาเราออกจากโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผลงานเหล่านี้มาจากการเลือกเก็บประสบการณ์ในช่วงเวลาการกักตัวของศิลปิน ผู้ใช้เวลาแต่ละวันนั่งอยู่หน้าทีวี เฝ้ามองภาพที่ปรากฏบนจอสี่เหลี่ยม จนทำให้เขาสนใจในประสบการณ์การรับรู้ที่เกิดจากการรับชมภาพตรงหน้า ความงุนงง ความบิดเบี้ยว และความแปลกประหลาด ที่ทำให้ข่าวสารจากทางการ ละครอภินิหาร และข่าวการสูญเสียของผู้คน หลั่งไหลทับถมปนกัน จนไม่แน่ใจนักว่าอันไหนจริง หรือไม่จริง
เบื้องหลังสีสันสดใสของงานนี้ จึงแฝงไว้ด้วยความขมขื่น เมื่อลองนึกดูเล่น ๆ ว่าโลกที่เรารู้จักทุกวันนี้ ก็เป็นโลกที่เราเห็นจากหน้าจอเป็นหลัก ไม่ว่าตั้งแต่ข่าวสารที่นำเสนอด้วยท่าทีจริงจัง ไปจนถึงรายการบันเทิงที่สร้างสรรค์ได้เกินจินตนาการ ชุดภาพถ่ายที่เป็นดังบทบันทึกหน้าสังคมไทยในช่วงเวลาแสนเซอร์เรียลนี้ จึงเป็นเล่นกับการ ‘ไหล’ ทั้งในแง่ของการเรียงภาพท่านผู้นั้นสลับกับเธอคนนี้ ชี้กันไปชี้กันมาทั่วห้องนิทรรศการ และมีจอกลางห้องที่จำลองการไหลของภาพเหล่านี้ในกล่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เป็นเหมือนภาพจำลองโลกทั้งใบของคนกักตัว
บางที สิ่งที่เราเชื่อว่าจริง อาจไม่เป็นเช่นนั้น แต่ที่ทำให้ขนลุกขึ้นไปอีก คือการมองภาพเหนือจริงเหล่านี้ แล้วกลับฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ภาพตรงหน้าดันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ และเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าความจริงดูไม่เหมือนความจริง และความไม่จริงกลับดูจริงอย่างเหลือเชื่อ เราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป?
📍นิทรรศการภาพถ่าย The Quarantine Report โดย เกริกบุรินทร์ เกิ้งบุรี เข้าชมฟรีถึง ถึง 24 มิถุนายน นี้ ที่ Kathmandu Photo Gallery