ส่องผลงานของ เคนจิ คาวาคามิ นักประดิษฐ์ Chindōgu ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ศิลปะแห่งความไร้ประโยชน์’
ถ้าเราจะพูดถึงสิ่งประดิษฐ์กันขึ้นมาสักชิ้น ก็คงจะนึกถึงสิ่งของที่มีประโยชน์ มีนวัตกรรมล้ำยุค หรืออะไรก็ตามที่ช่วยให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น อย่างหลอดไฟของโทมัส เอดิสัน ที่ทำให้เรามีไฟสว่างใช้กันอย่างทั่วถึง รถยนต์ของคาร์ล เบนซ์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางอันแสนสะดวกสบาย หรือแม้กระทั่ง AI เองก็ยังเป็นสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกที่จะทำให้เราเข้าถึงข้อมูลและสร้างข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าใครกำลังคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ทั้งหมดต้องมีแต่เรื่องยิ่งใหญ่เท่านั้นอยู่ล่ะก็ การได้รู้จักกับ ‘ชินโดกุ (Chindōgu)’ อาจจะเปิดโลกใหม่ให้กับคุณเลยก็เป็นได้
เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ‘เคนจิ คาวาคามิ’ บรรณาธิการประจำนิตยสารช็อปปิ้งของเหล่าแม่บ้านญี่ปุ่นยุค 80 ได้คิดค้นคำว่า ‘ชินโดกุ’ ขึ้นมา สำหรับใช้เรียกงานดีไซน์แปลก ๆ ที่เขามักจะออกแบบลงนิตยสาร เพื่อเป็นไอเดียให้เหล่าแม่บ้านได้ลองทำตามกันดู ซึ่งเจ้าความแปลกที่ว่านี้ ก็มีตั้งแต่ร่มรองน้ำฝน ตะเกียบติดพัดลม หมวกเป่าผมแบบอัตโนเท้า แว่นตาติดกรวยช่วยให้หยอดตาง่าย ไปจนถึงที่ครอบหน้าช่วยให้กินราเม็งง่ายขึ้น และอีกสารพัดอย่าง เรียกว่าของแต่ละชิ้นที่พูดชื่อขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะดูมีประโยชน์ แต่วิธีใช้งานมันดันยากเกินกว่าจะเรียกว่ามีประโยชน์ได้
ประเด็นสุดฮาก็คือ ต่อให้มันจะใช้ยากขนาดนี้ แถมมีดีไซน์สุดปั่น แต่ก็ยังได้รับความนิยมจากแฟน ๆ นิตยสารอย่างล้นหลาม จนพากันเรียกร้องให้คาวาคามิออกแบบไอเดียมาเรื่อย ๆ อย่าหยุด และที่สำคัญถึงมันจะดูไม่ได้ความแถมใช้งานลำบาก แต่กลับมีกฏเหล็กในการสร้างถึง 10 ข้อ คือ
- ชินโดกุต้องไร้ประโยชน์ใช้งานไม่ได้
- ชินโดกุต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ออกแบบมาใช้ในชีวิตประจำวัน
- ชินโดกุต้องสร้างได้จริงให้คนจับต้องได้ (แต่ใช้ไม่ได้)
- ชินโดกุต้องเข้าใจง่ายแบบเห็นปุ๊ปรู้ทันทีว่ามีไว้ใช้ทำอะไร
- ชินโดกุเป็นของที่ห้ามทำขาย
- การเอาความฮาเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่หัวใจหลักของการสร้างชินโดกุ แต่ต้องออกแบบโดยคิดถึงประโยชน์การใช้งานจริง ๆ (ส่วนความฮามันเป็นผลพลอยได้)
- ห้ามเอาชินโดกุไปใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ
- ชินโดกุต้องไม่เป็นของผิดกฏหมายหรือศีลธรรม
- ชินโดกุไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ เพราะชินโดกุคือสิ่งของที่ทุกคนมีโอกาสใช้ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม
- ชินโดกุไร้อคติ เป็นตัวแทนของเสรีภาพในการคิดและการกระทำ
ด้วยเหตุนี้ ชินโดกุเลยเป็นตัวแทนของศิลปะแห่งความไร้ประโยชน์ เพราะถึงมันจะไม่สามารถใช้งานได้จริง แต่ก็เป็นตัวแทนของไอเดีย และความพยายามที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าคนสร้างจะสร้างเหมือนไม่อยากให้เราใช้ก็เถอะ ดังนั้นวันนี้ GroundControl เลยอยากชวนทุกคนไปส่องชินโดกุสุดจี๊ดจากมันสมองของคาวาคามิ ว่าใช้ยากสมคำล่าลือหรือเปล่า