Barbie ในโลกสีชมพูที่เราจะเป็นอะไรก็ได้ แล้วเราควรเป็นอะไรดีล่ะแม่?
ถ้าคุณอยากเห็นโลกสีชมพูหลากหลายเฉด เคน บาร์บี้ และของเล่นทุกชิ้นที่บริษัท Mattel เคยจับใส่กล่องออกขาย การตีตั๋วเข้าโรงแล้วกินป็อปคอร์นเพลิน ๆ ระหว่างดูหนังเรื่อง ‘Barbie’ สักหนึ่งชั่วโมง 54 นาที จะต้องทำให้คุณรู้สึกระรื่นใจ และครื้นเครงไปกับบรรยากาศของหนังอันแสนสุขตามแบบฉบับของหนังที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี
ทว่าหากใครกำลังหวังที่จะเห็นแค่ความสดใสและเสียงหัวเราะ เราคงได้แต่กระซิบเตือนเอาไว้ก่อนว่า โปรดระวังการจิกกัดสุดแสบทรวงเอาไว้ให้ดี เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหนก็ไม่อาจหนีพ้น แม้กระทั่งตัวผู้กำกับและทีมงานเองก็ตาม
เรื่องราวของบาร์บี้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ว่าด้วยชีวิตอันแสนสุขของเหล่าของเล่นพิมพ์นิยม (ผสมกับของแปลกนิด ๆ) ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในบาร์บี้แลนด์ โลกแห่งอุดมคติที่ทุกอย่างดำเนินไปตามจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำแบบไม่มีน้ำ การดื่มน้ำแบบไม่ได้ดื่ม ไปจนถึงการลอยตัวลงมาจากบ้านได้แบบชิล ๆ แต่ทุกอย่างก็พลิกผันไป เมื่อมีบาร์บี้ตัวหนึ่งเกิดรู้สึกถึงความตายขึ้นมา และทันใดนั้นโลกแห่งความจริงก็พุ่งเข้าชนเธอจัง ๆ จากที่เคยมีหน้าตางดงามตามพิมพ์นิยม ก็เริ่มมีเซลลูไลต์ และกลายเป็น ‘มนุษย์’ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอต้องเดินทางออกจากโลกแห่งความฝันสีชมพู สู่โลกแห่งความเป็นจริงที่แค่เกิดเป็น ‘ผู้หญิง’ ก็เหนื่อยจะตาย (ha) อยู่แล้ว
ฟังดูแล้วเหมือนเราจะได้เห็นหนังผจญภัยและฝ่าฟันอุปสรรคที่ดีเรื่องหนึ่ง แต่ผู้กำกับอย่าง เกรต้า เกอร์วิก กลับไม่ได้เล่าออกมาตามท่ามาตรฐานขนาดนั้น เพราะสิ่งที่เราจะได้เห็นไม่ใช่การกอบกู้โลกจากคนชั่วร้าย หรืออะไรคล้าย ๆ กัน ทว่าเป็นการตื่นรู้ของเหล่าสตรีนิยมและปิตาธิปไตยที่ปะทะกันแบบรัว ๆ ผ่านฉากและบทสนทนาสุดจี้เส้น แต่จิกกัดเราจนแสบตัวไปหมดทั้งชายจริงและหญิงแท้
อย่างไรก็ตาม การตื่นรู้เหล่านั้นก็ให้ทั้งผลดีและผลร้ายต่อตัวละครในเรื่อง และหนึ่งในคาแรกเตอร์ที่รับผลนี้ไปเต็ม ๆ ก็คือเหล่าเคนทั้งหลาย ผู้พยายามอย่างยิ่งที่จะทวงบัลลังก์จากบาร์บี้ และก้าวเข้าสู่วงการชายแท้แบบงู ๆ ปลา ๆ แน่นอนว่าแต่เดิมพวกเขาก็มีความชายแท้ในตัวอยู่บ้าง แต่เมื่อเคนเกิดตื่นรู้ถึงการมีอยู่ของโลกแห่งปิตาธิปไตยจนอยากเอาอย่างขึ้นมา ก็ทำให้เราได้เห็นการพยายามเป็นของแท้ยิ่งกว่าเดิม รวมถึงได้เห็นมุมมองของคนที่ถูกลืมด้วย
เนื่องจากในจักรวาลนี้ เคนนั้นไม่ใช่คนสำคัญแต่อย่างใด แถมยังเป็นตุ๊กตาที่ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมายมาตั้งแต่แรก พวกเราทุกคนต่างรู้จักเขาในฐานะชายหนุ่มผมบลอนด์ริมหาด ผู้เป็นแฟนและว่าที่แฟนของบาร์บี้เท่านั้น กลับกันเราทุกคนต่างรู้จักกับบาร์บี้ในหลายแบบ ทั้งบาร์บี้ที่เป็นหมอ บาร์บี้ที่เป็นนักบินอวกาศ ไปจนถึงบาร์บี้ที่เป็นประธานาธิบดี แต่เคนกลับไม่มีตัวตนเลย ซึ่งความตลกร้ายก็คือ เกอร์วิกได้ใช้ผู้ชายอย่างเคนมาเป็นภาพแทนของผู้หญิงในโลกความจริง บาร์บี้แลนด์ก็เลยเป็นขั้วตรงข้ามของโลกความจริงที่บาร์บี้และเคนสลับบทบาทกันไปโดยปริยาย
อุปสรรคและการผจญภัยทั้งหมดทั้งมวลนี้ ยังนำพามาสู่ปัญหา ‘Existential Crisis’ หรือการสงสัยถึงการมีอยู่ของชีวิต เราเป็นใคร และเราควรทำอะไรชีวิตถึงจะมีความหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวของเคน รวมถึงตัวบาร์บี้เองด้วยที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตดี โดยในระหว่างดูเราก็รู้สึกคิดตามอย่างหนักเหมือนกัน เพราะนับตั้งแต่บาร์บี้ถือกำเนิดในฐานะตุ๊กตา เธอมักพร่ำบอกให้เด็กทุกคนบนโลกรู้ว่า เราสามารถเป็นอะไรก็ได้ แต่แท้จริงแล้ว เราควรเป็นอะไรกันแน่?
และความพิเศษของเรื่องบาร์บี้ ก็คือโทนการเล่าที่บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เนื่องจากทุกปัญหาที่ปรากฏในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสตรีนิยม ปิตาธิปไตย และ Existential Crisis ล้วนถูกเล่าออกมาผ่านองค์ประกอบที่สมกับเป็นหนังเกี่ยวกับของเล่น เพราะมีความเป็นการ์ตูนสูง แฟนตาซีจ๋า และไร้ความสมจริงสมจังให้เราจับผิด ปัญหาทั้งหมดจึงถูกลดเสียงการเล่าลงด้วยความฮา แต่มันก็ยังเป็นหมัดที่หนักพอที่จะทำให้คนดูเข้าใจและตระหนักรู้ถึงปัญหาเหล่านั้นได้มากขึ้น ซึ่งหลังจากดูจบแล้ว หลาย ๆ คนคงเข้าใจเจ้าสิ่งที่เรียกว่าสตรีนิยมกับปิตาธิปไตยกันอย่างถึงแก่นแน่นอน
ถ้าใครอยากดูหนังที่น่ารักน่าหยิก ปนมุกตลกตื่นรู้ที่ทั่วถึงทุกฝ่าย ก็สามารถตามมาดูภาพยนตร์เรื่อง ‘Barbie’ กันได้ในทุกโรงภาพยนตร์