เฟิร์น-สิรินดา ฉัตรชัยชูเกียรติ ห้องเรียนศิลปะเด็กในฝันของ (ผู้ใหญ่) ทุกคน
ใคร ๆ ก็บอกว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้และพัฒนาในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ การใช้ภาษา หรือแม้แต่ทักษะทางสังคม แต่สุดท้ายแล้ว การส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่ดีจริง ๆ มันมีหน้าตาเป็นแบบไหนกันนะ?
‘เฟิร์น-สิรินดา ฉัตรชัยชูเกียรติ’ แห่ง sirinsirin.studio คือครูศิลปะฟรีแลนซ์รุ่นใหม่ที่คลุกคลีกับเด็กเล็กมามากมาย ทั้งในห้องเรียนศิลปะของโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนอินเตอร์ ไปจนถึงในการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปศิลปะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ
ห้องเรียนของเฟิร์น-สิรินดาไม่ได้มีแต่ความสนุกสนานให้เด็ก ๆ ได้เอ็นจอยไปกับการทำงานศิลปะเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยความรักและความเอาใจใส่ที่คำนึงถึงศักยภาพและพัฒนาการของทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่ดีให้แก่เด็ก ๆ แล้ว อุปกรณ์และสื่อการสอนแต่ละชิ้นของเธอก็ยังน่ารักซะจนผู้ใหญ่อย่างเราถึงกับอิจฉา อยากย้อนเวลากลับไปมีชั้นเรียนวิชาศิลปะที่น่าสนใจแบบนี้บ้าง
ความน่าสนใจในการสอนศิลปะช่วงปฐมวัย
แม้ชั้นเรียนศิลปะจะมีอยู่ในทุกระดับการศึกษา ทั้งอนุบาล ประถม มัธยม ไปจนถึงคณะศิลปะในระดับมหาวิทยาลัย แต่สำหรับเฟิร์น-สิรินดา นอกจากความรักในศิลปะและเด็กแล้ว เสน่ห์ของการทำงานร่วมกับเด็กเล็กจนเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเลือกทำอาชีพเป็นครูสอนศิลปะเด็ก คือการได้พูดคุยและรับฟังมุมมองที่บริสุทธิ์ของเหล่าเจ้าตัวจิ๋วด้วย
เฟิร์น-สิรินดา: “เราชอบฟังเด็กเล็กเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเขา ถือเป็นพลังในการชุบชูใจของเราเลย เพราะการมองโลกของเด็กในวัยนี้มันไม่เหมือนกับเราแล้ว เวลาฟังแล้วเหมือนกับเราได้ใส่แว่นตาส่วนตัว มองผ่านเลนส์ที่มีแค่เด็กวัยนั้นจะคิดได้ ซึ่งเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ตัวเรามองข้ามหรือกลับไปมีมุมมองแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว นอกจากนั้น เรามองว่า วิธีการทำงานศิลปะของเด็กวัยนี้ยังมีความบริสุทธิ์อยู่ เขาอยากวาดอะไรก็วาด ชอบอะไรก็แสดงออกมาตรง ๆ ผลงานของเขาจึงมีความไร้เดียงสา ไม่ซับซ้อนแบบผู้ใหญ่”
ไม่ใช่แค่การวาดให้สวย แต่ยังเป็นการสื่อสารกับตัวเองด้วย
ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเรียนเป็นลำดับต้น ๆ เฟิร์น-สิรินดามองว่าวิชาศิลปะเป็นเหมือนช่วงเวลาที่เด็ก ๆ จะได้ผ่อนคลายจากการเรียนวิชาการในโรงเรียน ศิลปะเป็นเหมือนพื้นที่เล็ก ๆ ที่ทุกคนสามารถแสดงออกทางความคิด ความชอบ และความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งแต่ละคนก็จะมีมุมมองต่อสิ่งนั้นแตกต่างกันตามประสบการณ์ของเเต่ละคน ดังนั้น ความสำคัญของการเรียนศิลปะไม่ได้อยู่แค่ในด้านการสร้างทักษะเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการไปถึงเป้าหมายในเเบบเฉพาะของตัวเอง ได้สังเกตตัวเองว่าเรามีวิธีสื่อสารกับตัวเองทั้งจากภายใน และถ่ายทอดความคิดออกมาสู่ภายนอกอย่างไรบ้าง
เฟิร์น-สิรินดา: “ในหน้ากระดาษของเขามันเป็นได้หลายอย่าง อาจเป็นพื้นที่ที่ช่วยเเทนคำพูดในใจที่ไม่อยากพูดออกมา หรือบันทึกอารมณ์ความรู้สึก ณ ขณะนั้นของเด็ก ๆ เเต่ละคน หรือเรื่องราวที่เขาชอบเเละกำลังอินมาก ๆ อย่างเราเคยทำกิจกรรมให้เด็ก ๆ วาดลากเส้นตามความรู้สึก แล้วค่อยเติมเรื่องราวลงไปในเส้นเหล่านั้น เราพบว่า วิธีการเล่าเรื่องราวของเด็ก ๆ เเต่ละคนเเตกต่างกันออกไป บางคนเรื่องราวเต็มไปด้วยพลังความสุข มีสายรุ้ง บ้านกระต่าย ไอศครีม แต่บางเรื่องราวของบางคนกลับดูวุ่นวาย ซับซ้อนเเละจบเเบบเศร้า ๆ ก็มี
เรามองว่า แต่ละคนมีวิธีเล่าเรื่องและใช้ศิลปะมาจัดการกับความรู้สึกตัวเองต่างกัน บางครั้ง เขาอาจจะเข้าใจความหมายในรูปอยู่คนเดียวก็ได้ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เขาได้รู้จักสื่อสารกับตัวเอง ได้รู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกอะไรอยู่ในชั่วขณะนั้น ทั้งเวลาที่ได้รู้สึกภูมิใจ เเละมั่นใจกับสิ่งที่ตัวเองทำหรือแม้แต่เวลาเขาทำงานศิลปะแล้วในครั้งนั้นไม่ชอบงานตัวเอง เขาจะมีวิธีแก้ปัญหาหรือจัดการกับความผิดหวังนี้ยังไง ซึ่งเราว่าสิ่งเหล่านี้มันสำคัญมากในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในโลกยุคปัจจุบัน ”
กิจกรรมศิลปะในรูปแบบพิเศษใส่ไข่
ในการสอนทุก ๆ ครั้ง เฟิร์น-สิรินดาจะใช้ผลงานภาพประกอบของตัวเองเป็นสื่อกลางในการสอนเด็ก ๆ เช่น ในบทเรียน หรือการตกเเต่งห้องเรียนเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ โดยเธอจะจัดกิจกรรมศิลปะในหลายรูปแบบ ทั้งด้านทักษะทางศิลปะ การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และวิธีการเล่าเรื่อง หรือให้เด็ก ๆ ได้ลองเป็น Storyteller ตัวจิ๋วนั่นเอง แต่ก็ต้องคำนึงถึงในวิธีการวางเเผนการสอนที่ต้องสอดคล้องไปกับเป้าหมายของผู้ปกครองเเละสถาบันหรือโรงเรียนด้วย ทำให้คุณครูอาจต้องหาวิธีสร้างกิจกรรมการสอนที่เหมาะสมสำหรับเเต่ละที่ เเต่เน้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ด้วยความสนุกที่สุดอยู่ดี
โดยสิ่งหนึ่งที่เธอยึดมั่นเสมอเวลาคิดกิจกรรมศิลปะมาสอนในที่ต่าง ๆ ทั้งกับเด็กเล็กและเด็กโต ก็คือสิ่งที่เธอเรียกว่า ‘สูตรพิเศษใส่ไข่’ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก ๆ 3 อย่าง
เฟิร์น-สิรินดา: “อย่างแรกเลยคือความสนุกสนาน (Playfulness) เราต้องทำให้ห้องเรียนของเราไม่น่าเบื่อ มีการเเทรกเกมระหว่างทำกิจกรรมที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสนุกและมีส่วนร่วมไปพร้อม ๆ กับเรา เช่น การทอยลูกเต๋าเลือกส่วนประกอบของคาเเรคเตอร์จากตารางที่เค้าวาดส่วนประกอบขึ้นเอง การสร้างตัวการ์ตูนตัวใหม่ตัวเดียวในโลกจากการวาดส่วนประกอบในตัวเเบ่งกันกับเพื่อน นอกจากนั้น เรายังชอบคอยตามเทรนด์ฮิตของเด็กจิ๋วในตอนนี้ด้วยว่าเขากำลังอินอะไรกัน ทั้งการ์ตูน หนัง เพลง ฯลฯ ถ้าเราเพิ่มความสนุกตรงนี้เข้าไป ก็จะทำให้เขายิ่งอินกับการทำงานศิลปะมากขึ้น”
เฟิร์น-สิรินดา: “อย่างที่สองคือการสนับสนุนความเฉพาะตัวของแต่ละคน (Personalised) สำหรับธีมหรือหัวข้อในการทำกิจกรมศิลปะเเต่ละครั้ง เราจะเลือกหยิบเอาสิ่งที่เด็กในช่วงวัยนั้น ๆ เข้าใจหรือมีประสบการณ์กับสิ่งนี้อยู่เเล้วบางส่วน มาเติมเรื่องราว หรือตั้งคำถามให้เขารู้สึกสนุก สงสัย และตื่นเต้น ซึ่งคำถามมักเป็นคำถามปลายเปิด ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะตอบสนองหรือใช้วิธีของตัวเองในการตอบโจทย์นี้แตกต่างกัน ถือเป็นการสนับสนุนความเฉพาะตัวของแต่ละคนและช่วยให้เขาค้นพบตัวตนด้วย พอเด็กสามารถใส่ความสนใจของตัวเองเข้าไปได้ เขาก็จะมีสมาธิกับงานมากขึ้น และชื่นใจกับผลงานของตัวเอง เช่น ให้เขาสร้างพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง เป็นสถานที่เก็บสิ่งที่ตัวเองชอบ ก็คือมาหมดทั้งพิพิธภัณฑ์จระเข้ ขนมหวาน ยานพาหนะ ผัก หรือทำป้ายชื่อ เปลี่ยนชื่อตัวเองจากตัวอักษรให้เป็นภาพประกอบ พอเป็นเรื่องราวของเขาเอง เด็กก็จะตั้งใจมาก ๆ ตาเป็นประกายเลย”
เฟิร์น-สิรินดา: “และข้อสุดท้ายคือ การเตรียมอุปกรณ์ศิลปะหลาย ๆ แบบ (Mixed Art Materials) เราจะไม่ค่อยตั้งโจทย์การทำงานศิลปะด้วยเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เราจะให้เขาเรียนรู้การผสมผสานในการใช้สื่อหลาย ๆ แบบ ทั้งพู่กัน ตัวปั๊มฟองน้ำ บับเบิล กระดาษ ต้นไม้ใบหญ้า หรือแม้แต่ดินและผัก เด็กแต่ละคนสามารถเลือกอุปกรณ์ได้เองตามความชอบหรือความถนัดที่ถนัดเข้ากับเขา ได้ไปลองเรียนรู้เองว่าเเต่ละอันให้ความรู้สึกเเบบไหนตอนทำ ผสานทั้งกล้ามเนื้อมือ ตา การรับรู้ ประสาทสัมผัสเข้าด้วยกัน เเล้วเฝ้าสังเกตเองว่าผลมันออกมาเป็นยังไง ซึ่งทุกอย่างสามารถนำไปต่อยอดได้ แต่ละคนก็จะมีวิธีตีความโจทย์และใช้อุปกรณ์ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ธีมในคาบนั้น ๆ”
เปลี่ยนบ้านให้เป็นชั้นเรียนศิลปะ
ลำพังการสอนศิลปะเด็กธรรมดาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว แต่ในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 แบบในปัจจุบันด้วยแล้ว การสอนคงยิ่งซับซ้อนมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะการจะทำให้เหล่าเจ้าตัวจิ๋วทั้งหลายมีสมาธิจากการเรียนออนไลน์ในบ้านคงไม่ใช่เรื่องหมู ๆ
เฟิร์น-สิรินดา: “พอเด็ก ๆ ต้องเรียนออนไลน์ ตัวเราเองก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและรูปแบบการเรียนการสอนของเราไปด้วย นอกจากเราจะได้ลองรับบทเป็น YouTuber ทำคลิปเป็นสื่อการสอนรูปแบบใหม่แล้ว เรายังลองคิดกิจกรรมการเรียนที่บ้านที่ผนวกกับการเล่นเข้าไปด้วยให้เด็ก ๆ รู้สึกสนุกเเม้อยู่บ้าน เช่น กิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ รับบทเป็นนักสืบค้นหาสิ่งของในบ้านมาทำงานศิลปะ ให้เขาหาของในบ้านที่มีรูปทรงวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม มาสร้างตัวการ์ตูนในแบบตัวเอง หรือจะเป็นการทำ Self-Portrait โดยการใช้สิ่งของจากทั้งในสวน ในครัว และในบ้าน ซึ่งหลัก ๆ แล้วคือเราต้องการให้เขาได้ฝึกใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ รอบตัว มาสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะมากกว่า เเล้วก็ได้วิ่งเล่นด้วยตอนหาของ ผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องรับภาระออกไปหาซื้ออุปกรณ์ข้างนอกจนต้องเสี่ยงโควิดด้วย”
ไม่ตัดสิน แต่สนับสนุนให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง
ไม่ว่าแต่ละคนจะมีมุมมองต่อเรื่องนี้ยังไง แต่สำหรับเธอแล้ว การสอนศิลปะเด็กที่ดีต้องเริ่มต้นมาจากการตอบคำถามตัวเองก่อนว่า เราสอนศิลปะเพื่ออะไร? เราถนัดการทำงานศิลปะแบบไหน? และสุดท้ายคือ เด็ก ผู้ปกครองเเละสถาบันที่เราไปสอนมีเป้าหมายต่อวิชาศิลปะแบบไหน? ถ้าตอบคำถาม 3 ข้อนี้ได้ก็จะทำให้เราเห็นเป้าหมายในการสอนชัดขึ้น วางเเผนการสอนได้เหมาะสมและสามารถหาวิธีสร้างสมดุลย์ระหว่างเป้าหมายของตัวเราเเละที่ ๆ เราไปสอนให้สอดคล้องกัน
เฟิร์น-สิรินดา: “เราว่า การสอนศิลปะเด็กที่ดีคือการทำให้ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ทำให้เขาสนุกและสบายใจกับสิ่งที่ทำ โดยที่ครูไม่ควรเอาตัวเองไปเป็นเกณฑ์ตัดสินเขา เราต้องคำนึงว่าเด็กแต่ละคนต่างกัน ทุกคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน และเน้นสร้างกิจกรรมปลายเปิดที่จะทำให้เขาไม่รู้สึกแปลกแยก ครูควรเป็นผู้ให้กำลังใจว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันมีความเป็นไปได้ในหลายทาง เเละทุกคนมีข้อดีในเเบบของตัวเอง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้กับเด็ก เพราะศิลปะควรจะทำให้เขามั่นใจในคุณค่าและความสำคัญของตัวเองมากกว่าจะเป็นความกดดัน ซึ่งอีกจุดก็คือถ้าครูสังเกตเห็นความสนใจและสามารถจดจำรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของนักเรียนได้ เขาก็จะยิ่งเปิดใจกับเราด้วย ดังนั้น เวลาคิดโจทย์ เราก็จะสามารถสนับสนุนเขาได้ถูกจุดด้วย”
เฟิร์น-สิรินดา: “อีกหนึ่งสิ่งที่เราคิดว่าควรระวังมาก ๆ ในการสอนศิลปะเด็กคือการเดินเข้าไปชี้ว่างานของเพื่อนคนนี้สวยจัง ของคนนี้เก่งมากเลย เพราะมันจะทำให้เด็กทั้งห้องหันมาดูที่งานของเพื่อนคนนั้นด้วยความสงสัยว่างานแบบที่สวยคือแบบไหน แล้วเขาก็จะเข้าใจว่าถ้าทำแบบนี้ครูจะชอบ มันจะกลายเป็นตัวกำหนดคุณค่าของงานศิลปะและลดทอนตัวตนของเด็กคนใดคนหนึ่งโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือแม้แต่การส่งงานในชั้นเรียน เราก็ไม่ควรเปรียบเทียบว่าทำไมเพื่อนทำเสร็จแล้วแต่เรายังไม่เสร็จ ครูต้องหาวิธีพูดที่ไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันผิดหรือมันมีรูปแบบกฎเกณฑ์วิธีเดียวที่จะจบงานได้ เราต้องพยายามทำให้เขาได้ใช้วิธีของตัวเองในการแก้ปัญหา”
ห้องเรียนศิลปะสำหรับเด็กทุกคน
แม้เราจะแอบอิจฉาเด็ก ๆ ในชั้นเรียนของคุณครูเฟิร์น-สิรินดาอยู่ไม่น้อยที่มีโอกาสได้เข้าถึงการเรียนศิลปะที่แสนสร้างสรรค์ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีเด็กอีกมากในประเทศนี้ที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาที่ดีแบบนี้
เฟิร์น-สิรินดา: “เราต้องเริ่มต้นแก้ปัญหากันตั้งแต่คำถามที่ว่า การศึกษาคืออะไร? เราอยากเห็นเด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เหมือนกันทั่วประเทศ จากที่เราได้พูดคุยกับหลายคน ตอนนี้เด็กในบางโรงเรียนในต่างจังหวัดไม่ได้มีโอกาสในการเรียนวิชาศิลปะอย่างเต็มที่เพราะมีงบประมาณไม่เพียงพอหรือจำนวนเด็กในการเรียนต่อหนึ่งคาบก็มากเกินไปที่จะจัดกิจกรรมศิลปะได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมันน่าเศร้ามาก ๆ นอกจากนั้นเรายังอยากเปลี่ยนระบบการเรียนในโรงเรียนให้มีวิชาเลือกให้เด็กเลือกได้ตามความถนัดมากขึ้น ให้มีวิชาเลือกพวกนี้สัก 1 - 2 วันต่อสัปดาห์เหมือนในต่างประเทศก็ได้
เราจำได้ว่าในหนังเรื่อง Soul เจ้าตัวจิ๋วจะมีแผงหน้าอกที่เป็นช่อง ๆ ซึ่งต้องมีครบก่อนถึงจะได้ไปยังโลกมนุษย์ แต่มันมักจะมีช่องหนึ่งที่หายไป ซึ่งนั่นคือช่องประกายในชีวิต โดยทุกคนสามารถไปหาช่องนี้ได้จาก ‘ห้องโถงทุกสรรพสิ่ง’ ในห้องนั้นจะมีแรงบันดาลใจจากทั่วโลกให้ทุกคนได้เข้าไปดูและลองสัมผัสประสบการณ์โดยตรงจากในห้องนั้นได้ พอเราได้ดูหนังเรื่องนี้ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราสามารถสร้างพื้นที่ในโรงเรียนให้เด็ก ๆ ได้รู้จักมุมมองหรือแรงบันดาลใจจากที่อื่นด้วย ได้รู้จักโลกในหลาย ๆ เเง่มุมก็น่าจะดี ให้เขาได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างจะได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรือว่าถนัดอะไร เเละเติบโตไปจนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักเเละใช้ศักยภาพตามความถนัดของตัวเองได้อย่างเต็มที่”
เพราะการสื่อสารคือกุญแจสำคัญ
แค่การศึกษาในห้องเรียนอย่างเดียวคงยังไม่พอ ผู้ปกครองก็ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่บ้านด้วย ถึงแม้เวลาที่ได้เจอลูกจะมีเพียงแค่ช่วงเวลาหลังเลิกงานก็ตาม
เฟิร์น-สิรินดา: “ยิ่งพอลูกเข้าโรงเรียนแล้ว ความสัมพันธ์ของเด็กและผู้ปกครองก็จะยิ่งสนิทกันน้อยลง ทางเดียวเลยก็คือการพูดคุยกับเขาเยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม และต้องพยายามฟังอย่างเข้าใจด้วย เราว่าการสื่อสารมันสำคัญมากจริง ๆ นอกจากนั้น ผู้ปกครองยังไม่ควรสื่อสารด้วยอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่ให้ใช้การถาม ใช้เหตุผลในการพูดคุยกับเขา เปิดใจเรียนรู้ และเข้าใจนิสัยลูกจริง ๆ ถ้าเปิดใจตัวเราเอง เขาก็จะเปิดใจกับเรามากขึ้นเหมือนกัน”