ทำความรู้จัก ‘ศรีเทพ’ เมืองโบราณ 4 ยุคประวัติศาสตร์ และมรดกโลกแห่งล่าสุดของไทยในรอบ 31 ปี!
ถือว่าเป็นหนึ่งในข่าวดีที่สุดของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เมื่อทางยูเนสโก (UNESCO) ได้ออกมาประกาศขึ้นทะเบียนให้ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ จ.เพชรบูรณ์ กลายเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ หลังจากครั้งล่าสุดคือเมื่อ 31 ปีที่แล้ว ที่ประกาศให้ 'แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง' ได้ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2535
ส่งผลให้ตอนนี้ ประเทศไทยของเรามีมรดกโลกทั้งหมด 7 แห่งแล้ว ประกอบไปด้วยมรดกโลกทางธรรมชาติสามแห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง, ผืนป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่, กลุ่มป่าแก่งกระจาน และมรดกโลกทางวัฒนธรรมสี่แห่ง ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร, นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และล่าสุด อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ซึ่งเหตุผลที่ใคร ๆ ต่างก็อยากดันให้สถานที่สำคัญในประเทศของตัวเองกลายเป็นมรดกโลก นอกเหนือจากเรื่องของความภาคภูมิใจ และประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวแล้ว ข้อดีของการได้เป็นมรดกโลก ก็คือเรื่องของการอนุรักษ์ที่จะเข้มข้นมากขึ้น จริงจังมากขึ้น มีหน่วยงานและงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ จนมั่นใจได้ว่า สถานที่แห่งนี้จะถูกหวงแหนเป็นอย่างดี และภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม และความรู้ทั้งหมดจะไม่สูญหายไป
เพื่อแสดงความยินดีที่ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ ขึ้นเป็นมรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย และทำให้ประเทศไทยของเรามีแหล่งท่องเที่ยวล้ำค่าและเป็นที่รู้จักมากขึ้น วันนี้ GroundControl เลยขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสถานที่แห่งนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดถึงสำคัญจนได้รับการยอมรับให้ขึ้นเป็นมรดกโลก
📌 ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ แหล่งรวมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนับ 2,000 ปี
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า พื้นที่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั้น เป็นเมืองที่มีพัฒนาการของมนุษย์ถึงสี่ยุคสมัยด้วยกัน เริ่มต้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน สืบต่อมาจนถึงสมัยทวารวดี สมัยเขมรโบราณ จนค่อย ๆ สลายลงและกลายเป็นเมืองร้างในช่วงหลังพ.ศ.1800 ซึ่งถ้านับรวม ๆ แล้ว สถานที่แห่งนี้ก็มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยาวนานถึง 800 ปี เลยทีเดียว (พุทธศตวรรษที่ 8 - 18)
ชุมชนแห่งแรกในพื้นที่นี้ ก่อตั้งขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่รู้จักการทำการเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงมีภูมิปัญญาเรื่องการทอผ้าด้วย ซึ่งชุมชนนั้นก็ค่อย ๆ เติบโต และพัฒนาจนกลายเป็นสังคมเมืองที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามมาด้วยความเชื่อทางศาสนาที่ทำให้เกิดการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เพื่อรับใช้ความเชื่อเหล่านั้น
และด้วยความที่พื้นที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีการอยู่อาศัยร่วมกันมาหลายยุคหลายสมัย ส่งผลให้ไม่ได้มีความเชื่อเดียวเท่านั้นที่ครอบคลุมพื้นที่แห่งนี้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่แบ่งย่อยเป็นการนับถือพระสุริยะ, การนับถือพระวิษณุ และการนับถือพระศิวะ และศาสนาพุทธนิกายเถรวาทกับมหายาน ที่ส่งผลต่อการสร้างงานศิลปะมากมายหลากหลายชิ้นและแห่งภายในพื้นที่แห่งนี้
หากเราเดินเข้ามาภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ก็จะพบว่าภายในมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน คือส่วนของ ‘เมืองนอก’ และ ‘เมืองใน’ โดย ‘เมืองใน’ จะมีกำแพงเมืองล้อมรอบอยู่ทั่วทุกแห่ง มีคูเมือง ประตูเมือง ที่แสดงให้เห็นถึงขอบเขตอารยธรรมของสถานที่แห่งนี้เมื่อครั้งอดีต ที่สะท้อนให้เห็นถึงอารยธรรมของทวารวดี ที่มีการวางผังเมืองแบบนี้เช่นกัน
อีกทั้งยังมีโบราณสถานที่กำลังขุดค้นกันอยู่กว่า 40 แห่ง ส่วนกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญมากและตั้งเป็นประธานอยู่ในพื้นที่ส่วนใน ก็คือ เขาคลังใน เป็นกลุ่มโบราณสถานสมัยทวารวดี อายุราว 1,500 ปี และเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มโบราณสถานกลางเมือง
พระปรางค์สององค์ เรียกว่าเป็น ‘พระปรางค์องค์พี่’ กับ ‘พระปรางค์องค์น้อง’ ที่มีรูปแบบศิลปะแบบลพบุรี (เขมร) สังเกตได้จากส่วนของทับหลังและเสาประดับกรอบประตู ที่มีรูปแบบตรงกับศิลปะขอมสมัยบาปวนและนครวัด หรือราว ๆ พุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งตรงกับช่วงที่ศิลปะขอมแผ่ขยายเข้ามาถึงพื้นที่ในประเทศไทย
ยังมีปรางค์ศรีเทพอีกที่หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยตั้งอยู่ในแนวแกนเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง สร้างตามแบบศิลปะแบบลพบุรี (เขมร) สังเกตได้จากส่วนทับหลังเช่นเดียวกัน เดิมที่สันนิษฐานกันว่าพระปรางค์องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นเพื่อใช้งานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย แต่พบร่องรอยการซ่อมแซมและรูปแบบที่เปลี่ยนไปรับใช้ศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ในส่วนของ ‘เมืองนอก’ จะอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองใน มีประตูเมือง สระน้ำ และโบราณสถานมากมายกระจัดกระจายอยู่กว่า 54 แห่ง นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เรียกว่านอกเมือง หรือส่วนที่อยู่นอกขอบเขตของเมืองศรีเทพ แต่ก็มีโบราณสถานอยู่เยอะมากเช่นกัน รวม ๆ แล้ว กว่า 50 แห่ง
นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเมืองโบราณที่มีความสำคัญอย่างมากอยู่อีก 2 แห่ง คือ โบราณสถานเขาคลังนอก มีรูปแบบศิลปะอย่างทวารวดี สร้างจากหินศิลาแลง มีลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยมที่มีเดีย์องค์เล็ก ๆ ล้อมรอบ สื่อถึงการเป็นศูนย์กลางจักรวาล และเขาถมอรัตน์ ซึ่งเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มีภาพสลักพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์สมัยทวารวดีอยู่ภายในถ้ำบริเวณยอดเขาแห่งนี้
นอกเหนือจากตัวผังเมือง สถานที่ และสถาปัตยกรรมแล้ว ประติมากรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ก็ยังแสดงให้เห็นลักษณะและฝีมือของ ‘สกุลช่างศรีเทพ’ ด้วย ซึ่งเป็นสกุลช่างที่นิยมสร้างรูปเคารพของสุริยเทพและเทวรูปต่าง ๆ ในศาสนาพรามหม์ จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นความเชื่อของผู้คนบนพื้นที่แห่งนี้
จากตัวอย่างโบราณสถานบางส่วน รวมถึงรูปแบบของผังเมือง ทุกคนน่าจะมองเห็นแล้วว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ คือแหล่งรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของประเทศไทยไว้ถึงสี่สมัย และมีโบราณสถานอีกมากมายรวมกันเกือบร้อยแห่ง ทั้งที่กำลังขุดค้นและยังไม่ได้ขุดค้น พื้นที่แห่งนี้จึงเปรียบเสมือนขุมทรัพย์และมรดกชิ้นสำคัญของมนุษยชาติที่ต้องรักษาเอาไว้ เพื่อการศึกษาและส่งต่อข้อมูลสู่รุ่นหลัง
อ้างอิง ThaiPbs
เครดิจภาพประกอบจาก Virtual Historical Park