มนต์รักนักพากย์ : ในยุคเบิร์นเอาท์ งานที่เรารักจะยังเป็นทั้งชีวิตของเราได้อยู่ไหม?
นักพากย์หนังดูจะเป็นอาชีพที่ไม่มี Work-life Balance เอาเสียเลย พวกเขาอยู่กินกับหนัง ฝ่าดงระเบิดกับหนัง และคิดถึงแต่หนังตั้งแต่เช้ายันค่ำ ใน ‘มนต์รักนักพากย์’ ภาพยนตร์ใหม่ของอีกหนึ่งผู้กำกับนิวเวฟไทย อุ๋ย - นนทรีย์ นิมิบุตร ที่เหมือนจะ “โหยหา” ยุคทองของหนังไทย แต่ดูจะพาเราไป “ถามหา” สังคมใหม่ ที่คนไม่แปลกแยกและหมดสิ้นชีวิตไปจากงานมากกว่า
ภาพยนตร์คือเวทย์มนต์ ว่ากันว่าในยุคแรกที่มันถือกำเนิด ผู้ชมในโรงต่างก็หวาดกลัวว่ารถไฟในจอจะพุ่งมาชนพวกเขา ในช่วง 1970 ของไทยท่ามกลางไฟสงครามเย็น มานิตย์, เก่า, ลุงหมาน และ เรืองแข ทีมพากย์หนังกลางแปลงที่อาศัยรถเก่า ๆ พัง ๆ ของบริษัทเดินทางเร่ฉายทั่วประเทศ ก็แสดงเวทย์มนต์แบบเดียวกัน แล้วทำให้ทหารหนุ่มกลางดงคอมมิวนิสต์ควักปืนขึ้นมายิงเปรี้ยง และทำให้หนุ่มสาวพลอดรักกันกลางเขา แม้ฟ้าจะเทฝนจนทั้งคู่เปียกไปหมด
แต่นี่คือเรื่องราวอีกด้านของ “ผู้ใช้เวทย์มนต์” ที่ถูกสะกดเสียเองจนชีวิตกลายเป็นเนื้อเดียวกับภาพยนตร์ ในโลกโพสต์โมเดิร์น เราคิดว่าความหมายของหนังเกิดจากการตีความของผู้ชมกับบริบทและร่องรอยต่าง ๆ ที่ฝ่ายคนทำทิ้งไว้ให้ในหนัง ในโลกของหนังเร่ คนพากย์หนังเป็นผู้สร้างความหมายร่วม ที่มีอำนาจขนาดเปลี่ยนฉากบู๊เครียด ๆ ให้เป็นมุกตลกได้ ด้วยการดัดเสียงและใส่บทพูดเข้าไป นักพากย์เป็นตำแหน่งเดียวที่สวมหมวกสองใบ คือผู้ชมที่ลุ่มหลงในเรื่องราว และผู้ผลิตความหมาย ที่บางครั้งเส้นแบ่งก็เบลอ จนประโยคที่พากย์ในงาน พาลทำให้คนข้าง ๆ รักหรือโกรธ เพราะเข้าใจว่านั่นคือคำพูดของเขา ไม่ใช่ของตัวละคร
สำหรับเรา เรื่องราวทั้งหมดในมนต์รักนักพากย์ถูกปูมาเพื่อเป็นเหตุผลรองรับเหตุการณ์สะเทือนขวัญระดับชาติครั้งหนึ่ง นั่นคือการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา พระเอกตลอดกาลของไทย ซึ่งอุทิศฉากสุดท้ายของชีวิตจริง ๆ กับงานที่ตัวเองรัก คือการแสดงภาพยนตร์ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่ามิตรเป็นคนบ้างานขนาดนั้นหรอ? เราอยากลองมองอีกแบบ ว่านี่แสดงให้เห็นถึงคน ที่ชีวิตกับงานเป็นเนื้อเดียวกันจนทุ่มเทเพื่อได้เพื่อความสมจริง เช่นเดียวกับที่คนอื่น ๆ ในเรื่องทุ่มเทได้เพื่องานที่รัก
ไม่มีมิตรก็ไม่มีอินทรีแดง แต่ถ้าไม่มีมานิตย์และนักพากย์คนอื่น ๆ ก็อาจไม่มีอินทรีแดงเช่นเดียวกัน มิตร (ในเรื่อง) เข้าใจเรื่องนี้ และกล่าวขอบคุณกับสามหนุ่มแห่งรถหนังเร่ในช่วงกลางเรื่อง ความสัมพันธ์ของมิตรกับพวกเขา ชวนให้เราย้อนดูความสัมพันธ์ของเรากับ “เพื่อนร่วมงาน” คนอื่น ๆ
มนต์รักนักพากย์อาจยังไม่ใช่โลกในอุดมคติขนาดนั้น แต่มันใกล้สภาพความฝันมากกว่าโลกตอนนี้แน่ ๆ พวกเขามองเห็นใบหน้าของเพื่อนร่วมงาน ผู้ใช้ชีวิตอยู่บนสายพานการผลิตเดียวกัน ได้พูดคุยกัน และแชร์ความรักในผลงานของพวกเขาด้วยกัน ในโลกของพวกเขา เพื่อนร่วมงานมีชีวิต ไม่ใช่เครื่องจักรอะไรก็ไม่รู้ที่ส่งวัตถุดิบมาให้เรา ในโลกเดียวกันนั้น ผลงานก็เป็นของพวกเขาทั้งหมดร่วมกัน ทุกแรงที่เขาทุ่มลงไป ทำให้เกิดดอกผลที่อยู่ตรงหน้า
ที่จริงเรื่องนี้ยังมีคนที่เราไม่เห็นหน้าอยู่เหมือนกัน คือเจ้าของบริษัทหนังเร่ตัวจริงที่อยู่เหนือเหล่านักพากย์ไปอีกหลายชั้น คนที่ออกกฎเกณฑ์คำสั่งทื่อ ๆ ให้ทั้งสามปฏิบัติตาม โดยไม่เข้าใจเลยว่ามันจะนำมาสู่การล่มสลายของธุรกิจของเขาเอง ซึ่งอีกแง่คือการล่มสลายของสิ่งที่รักเหล่านักพากย์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายแปลกแยกจากภาพยนตร์ และใครกันที่ “มีชีวิต” เพื่อทุ่มสุดตัวเพื่อรักษาสิ่งที่เขารัก แม้จะต้องหักกับต้นสังกัดที่ก็แค่ทำธุรกิจ
บางที นี่อาจเป็นคำตอบสำหรับปัญหาเบิร์นเอาท์ที่เราหลายคนเจอในโลกปัจจุบัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ไกลตัวเลยด้วยซ้ำ เราเชื่อว่าเด็กฟิล์มต้องจำความรู้สึกในวันถ่ายหนังธีสิสของตัวเองได้ว่าอยากทุ่มแรงกับมันแค่ไหน เราเชื่อว่าคอนเทนต์ไรเตอร์ต้องจำได้ว่าการรัวนิ้วปั่นรายงานที่มั่นใจว่าดีมากตอนเป็นนักศึกษามันรู้สึกดีแค่ไหน และเราหวังว่ามันยังไม่สายเกินไป ที่ทุกคนจะได้ทำงานที่ไม่พรากชีวิต อย่างการเขียนคอนเทนต์ยาว ๆ สู้กับอัลกอริทึมนาน ๆ ทีก็พอ
ภาพยนตร์ ‘มนต์รักนักพากย์’ กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร นำแสดงโดย เวียร์-ศุกลวัฒน์, หนูนา-หนึ่งธิดา และ เก้า-จิรายุ ชมได้ 11 ตุลาคม นี้ ที่ Netflix