‘Houses of Tove Jansson’ นิทรรศการของ Tove Jansson ศิลปิน LGBTQ+ ผู้ให้กำเนิด Moomin จัดแสดงที่ปารีส ถึง 29 ต.ค.นี้
ใครเป็นแฟนคลับเจ้ามูมินกันบ้าง? เพราะตอนนี้ที่ปารีสเขากำลังมีนิทรรศการ ‘Houses of Tove Jansson’ ที่รวบรวมผลงานตลอด 70 ของ ‘ตูเว ยานซอน (Tove Jansson)’ ศิลปินชาวฟินแลนด์ หรือที่รู้จักกันในฐานะ ‘คุณแม่มูมิน’ มาจัดแสดงอยู่ แถมยังเพิ่มความพิเศษด้วยการนำผลงานของศิลปินร่วมสมัยคนอื่น ๆ ที่เข้าใจในคอนเซปต์ของความเป็นยานซอนและมูมินมาแสดงร่วมกันด้วย
เมื่อเราพูดถึงยานซอน นอกจากเราจะมองเธอในฐานะของศิลปิน นักเขียน นักธุรกิจ และผู้สร้างมูมินแล้ว เรายังมองเธอในฐานะของการเป็นศิลปินหัวก้าวหน้า รักอิสระ และ LGBTQ+ คนหนึ่ง ผู้สร้างสรรค์ผลงานออกมาเพื่อจรรโลงใจผู้อ่านผ่านประสบการณ์ของเธอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผจญภัย มิตรภาพและการทำให้เราเห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข จากการยอมรับคนที่แตกต่างไปจากตัวเอง
ภายในนิทรรศการนี้ เราจะได้เสพผลงานหลากหลายสไตล์ของเธอกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่สมัยที่เธอกำลังอินในงานแบบนามธรรม ก่อนจะค่อยพัฒนาไปเรื่อย ๆ ในสไตล์อื่น ๆ อย่างภาพหุ่นนิ่ง ภาพวิวทิวทัศน์ รวมถึงผลงานลับก้นกรุที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนด้วย อีกทั้งทางคิวเรเตอร์ยังมีการนำพาเราไปทำความรู้จักกับสถานที่ต่าง ๆ ที่สำคัญต่อตัวยานซอน ไม่ว่าจะเป็น The atelier, Paris, Klovharun, the Moominhouse และ Le Club du Sauna ไนต์คลับสุดพิเศษที่ยานซอนเคยตกแต่งให้ในช่วงโอลิมปิกปี 1952
ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เรามองเห็นว่า นอกจากการเป็นนักเขียนผู้สร้างคาแรกเตอร์ในตำนานอย่างมูมินแล้ว ในฐานะศิลปินเองก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังเห็นเจ้ามูมินคอยโผล่มาอยู่เรื่อย ๆ เพราะตลอดชีวิตของเจนสันก็มีมูมินผูกพันมาโดยตลอด
ในส่วนของศิลปินร่วมสมัยคนอื่น ๆ ที่เข้ามามีบทสนทนาร่วมกับผลงานของเจนสัน ก็ประกอบไปด้วย คาร์ลอตต้า ไบญี่-บอร์ก (Carlotta Bailly-Borg), แอนน์ บูร์ส (Anne Bourse), วิทยา กัสตัลดอน (Vidya Gastaldon), เอล์มกรีน & แดร็กเซ็ต (Elmgreen & Dragset), ไอด้า เอกลาด (Ida Ekblad), เอ็มมา โคห์ลมันน์ (Emma Kohlmann) และ เซริธ วิน อีแวนส์ (Cerith Wyn Evans)
สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกแต่ละคนมาจัดแสดงร่วมกัน จะวัดจากความเข้าใจและการแสดงออกของผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่รักอิสระและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์แบบยานซอน ที่เชื่อมโยงระหว่างตัวตนของศิลปินกับผลงานที่มีอยู่แล้ว
ยกตัวอย่างเช่น ผลงานของ ‘Carlotta Bailly-Borg’ ศิลปินชาวฝรั่งเศส ที่นิยมสร้างผลงานไร้เพศขึ้นมา คล้ายกับตัวมูมิน อีกทั้งผลงานของเธอยังมีความก้ำกึ่งระหว่างความเป็นนามธรรมและการมีรูปร่างที่แน่ชัด ที่สะท้อนให้เห็นความเหนือจริงในผลงานของเธออยู่ตลอด โดยเธอก็ได้ทำงานจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ให้กับมูลนิธิ Pernod Ricard ในปารีส ซึ่งก็เชื่อมโยงกับตัวยานซอน ที่เคยทำงานจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ขึ้นมาเหมือนกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ส่วนใครที่เป็นสายสะสม ในนิทรรศการนี้เขาก็ได้มีการออกคอลเลคชั่นใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ และได้แรงบันดาลใจในการสร้างมาจากชีวิตของยานซอนและผลงานทั้งหมดของเธอ โดยจะมีจำหน่ายแค่ในนิทรรศการนี้เท่านั้น
ถ้าช่วงนี้ใครอยู่ปารีสพอดี และอยากจะไปตามรอยชีวิตของศฺลปินที่รักกับคาแรกเตอร์ที่ชอบ ก็สามารถไปชมนิทรรศการ ‘Houses of Tove Jansson’ กันได้ ตั้งแต่วันนี้ - 29 ตุลาคม 2566 โดยหากใครไปช่วงนี้ก็จะตรงกับ Paris Fashion Week และ Paris+ พอดี
อ้างอิง Tove Jansson