กวีเจ๊ก ศิลปินติดอ่าง โมเดิร์นนิสต์ที่คนไทยลืม — ตามหาตัวตนของ ‘จ่าง แซ่ตั้ง‘ ผ่านปากคำของลูกหลาน ผู้พางานของพ่อและปู่ไปจัดแสดงที่ปารีส
หากเราจะบอกว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านทา ศิลปินไทยคนหนึ่งได้รับเชิญให้ไปจัดนิทรรศการเดี่ยวที่พิพิธภัณฑ์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Centre Pompidou แห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ชื่อที่ผุดขึ้นมาในการคาดเดาของคุณจะเป็นใครได้บ้าง?
หากเราเฉลยว่าชื่อของศิลปินคนนั้นคือ ‘จ่าง แซ่ตั้ง’ เชื่อว่าจะต้องมีเครื่องหมายคำถามโผล่ขึ้นมาในห้วงความคิดของใครหลายคนแน่ ๆ ซึ่งความสงสัยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะการจะทำความรู้จักหรือการให้นิยามสถานะความเป็นศิลปินของศิลปินผู้ล่วงลับคนนี้ ยังคงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษากันต่อไป ที่แม้แต่ลูกชายและหลานปู่ของเขาก็ยังใช้เวลาทั้งชีวิตในการศึกษาผลงานของพ่อและปู่ของตนเอง
“ตกลงพ่อเราเป็นอะไรกันแน่วะ” ลูกชายของเขาเอ่ยขึ้นมากับเราในตอนหนึ่ง
ซึ่งเมื่อเราได้ฟังสิ่งที่เขาเล่าแล้ว ก็คงไม่แปลกใจกับคำถามนั้นเท่าไร เพราะในยุคที่วงการศิลปะไทยสถาปนาความเป็นสมัยใหม่ขึ้น ’ศิลปินนอกกระแส‘ คนนี้คือสิ่งแปลกปลอมที่ถูกกำจัดออก คือสิ่งที่รัฐเพ่งเล็ง และสิ่งที่สังคมไม่ (ทำความ) เข้าใจ จนได้สถานะลืมไม่ได้จำไม่ลงมาในที่สุด
“หนังสือ (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) ก็เขียนถึงเขากันแหละ แต่เขียนอย่างไรและอยู่ตรงไหนในคำอธิบาย?” นวภู แซ่ตั้ง หรือ ’ภูเขา’ หลานของศิลปินและกวี ‘จ่าง แซ่ตั้ง’ คนนั้น สรุปสิ่งที่เขาค้นพบตลอดการศึกษาปู่ของเขาในทางวิชาการให้เราฟัง เขาเกิดไม่ทันพอจะนั่งพูดคุยทำความเข้าใจกับปู่ แต่ถึงจะทันก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้เขาเข้าใจปู่มากนักอยู่ดี เพราะ ทิพย์ แซ่ตั้ง ลูกชายของจ่าง และพ่อของภูเขาเอง ก็ยังยอมรับว่าก่อนจะค้นคว้าจริงจัง เขาก็ไม่ได้รู้จักพ่อสักเท่าไรเลย แต่นั่นคือแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ศิลปะไทยให้เดินหน้าต่อ เผชิญหน้ากับพรมแดนความคิดที่ขีดเส้นกั้นจ่างออกไปเป็นสิ่งแปลกปลอมของศิลปะไทยสมัยใหม่ และก้าวข้ามสถาบันเดิม ๆ ที่กำหนดทิศทางศิลปะไทย
จ่าง แซ่ตั้ง คือศิลปินที่เรียกได้ว่าดังสุด ๆ คนหนึ่งของไทยและของโลก สำหรับคนไทยเขาอาจเป็นศิลปินชาวจีนจากครอบครัวที่ยากจน แต่ดันไม่ยอมขายรูปที่วาดเลยตลอดชีวิต เป็นกวี จิตรกร นักปราชญ์ นักแปล ผู้ใช้ชีวิตแบบไม่ตรงกับมาตรฐานสังคมตั้งแต่ก่อนฮิปปี้จะโตและเด็กอินดี้ก็ยังไม่เกิด
แต่นอกเหนือจากตัวตนที่ผู้คนสนใจแล้ว สำหรับนักประวัติศาสตร์ศิลปะและพิพิธภัณฑ์ไม่น้อยจากทั่วโลก จ่างคือหลักไมล์ของศิลปะสมัยใหม่ ที่พัฒนาขึ้นอย่างโดดเด่นพร้อมกับศิลปะสมัยใหม่ทั่วโลก ในขณะที่ศิลปินตะวันตกหัวก้าวหน้าอย่างกลุ่ม Dada สร้าง Concrete poetry หรือบทกวีที่จัดวางคำเป็นภาพ จ่างก็ทำ ‘บทกวีรูปธรรม’ ในแบบของเขา ในขณะที่ แจ็กสัน พอลล็อก สาดสีลงผืนผ้าใบจนกลายเป็นการแสดงออกของตัวตนแบบ Abstract Expressionism จ่างก็ใช้ร่างกายของตัวเองเป็นเสมือนแปรงปาดสีลงผ้าใบ ด้วยปรัชญาเบื้องหลังที่ต่างจากเหล่าโมเดิรนนิสต์แห่งโลกตะวันตกโดยสิ้นเชิง
แต่ในขณะที่โลกตะวันตกทำความเข้าใจศิลปินหัวก้าวหน้าเหล่านั้นและจัดวางที่ทางลงในประวัติศาสตร์ศิลปะไปบ้างแล้ว ดูเหมือนว่าผลงานของจ่างจะยังส่งเสียงแผ่วเบา ท่ามกลางงานศิลปะสายอื่นที่ถูกขนานนามเป็น ‘ศิลปะไทยสมัยใหม่’
เรื่องราวของพวกเขาทำให้เราเชื่อว่างานเขียนทางประวัติศาสตร์ศิลปะก็มีบทบาทที่สำคัญต่อวงการไม่แพ้ตัวศิลปินเลย ส่วนเรื่องราวของจ่างเอง ก็เป็นพลังใจที่งดงามสำหรับศิลปินนอกกระแส ที่อาจไม่ได้เข้าไปเติบโตในระบบการศึกษาศิลปะแบบเดิม ๆ ไม่ได้ทำงานตามที่กระแสหลักว่ากันว่าดี แต่ก็พิสูจน์ตัวเองผ่านกาลเวลา (และการศึกษาของคนรุ่นหลัง) ในที่สุด
GroundControl นัดเจอกับทิพย์และภูเขา ลูกชายและหลานปู่ของจ่าง แซ่ตั้ง ในบ่ายวันหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง ที่กำลังสร้าง หลังได้ยินความสำเร็จในการนำงานไปแสดงที่ Centre Pompidou ขณะนี้ แต่บทสนทนากับพวกเขาพาเราให้สงสัยถึงศิลปะไทยและประวัติศาสตร์ไทยที่กำลังสร้างอยู่ขณะนี้เหมือนกัน ว่ากำลังไปทางไหน และไปอย่างไรกันแน่…
“ตกลงพ่อเราเป็นอะไรกันแน่วะ”
‘เดี๋ยวโตขึ้นก็รู้เอง’ คำพูดของคุณพ่อที่เราได้ยินเสมอเวลาเห็นเขาทำอะไรแปลก ๆ แล้วเกิดสงสัย หลายเรื่องโตขึ้นมาก็พอเข้าใจ แต่หลายเรื่องต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อหาและสร้างความหมายของมันเอง สำหรับลูกและหลานของจ่าง แซ่ตั้ง ชีวิต ผลงาน และแนวคิดของศิลปินในบ้านคนนี้ คือเรื่องที่ตอนเด็กก็สงสัย แต่เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ก็ดูเหมือนกระบวนการหาคำตอบจะไม่จบสักที “สมัยก่อนจะมีรูปหนึ่งที่ปู่วาดติดไว้ เป็นผี ผมก็สงสัย อะไรกันวะ ทำไมบ้านถึงมีแต่ของแบบนี้” ภูเขาเล่า “ผมไม่รู้เลยว่ามันคืออะไรแต่ว่ากลัวมาก ของพวกนี้ แต่ก็อยู่กับมันตลอด”
“ตอนเราเล็ก ๆ ก็ไม่ได้รับคำอธิบาย” (คุณพ่อ) เล่า “ลูกร้านทองยังไม่เปิดร้านทองตั้งหลายคน บ้านเราก็ไม่มีกฎข้อบังคับอะไร แต่พ่อทำแล้วลูกก็ซึมซับและรู้สึกด้วยเหมือนกัน ว่าเรื่องราวของพ่อเราน่าสนใจ พอสนใจแล้วถึงเข้าไปตรวจสอบว่าตกลงพ่อเราเป็นอะไรกันแน่วะ แต่เราไม่มีความรู้ ก็คิดไปสารพัดว่าเขาเป็นนักค้นคว้านักวิทยาศาสตร์อะไรอย่างนี้หรือเปล่าวะ หรือศิลปินนักเขียนรูป” คำตอบที่ทำให้เราสัมผัสได้ทันทีว่านี่จะต้องเป็นบทสัมภาษณ์ที่(เนื้อหา)หนักหน่วงแน่ ๆ เพราะถ้าสังคมไม่รู้ ลูกหลานก็ไม่รู้ว่าจ่างคือใคร แล้วใครจะรู้?
“เขามีทั้งคนรักและคนเกลียดนะในยุคสมัย” ถึงเขาจะไม่รู้ว่าพ่อทำอะไรอยู่กันแน่ แต่ก็พอสัมผัสได้ถึงความดังแบบแปลก ๆ ของเขา “คนเกลียดก็จะว่าบทกวีเขาเป็นกวีเจ๊ก กวีติดอ่าง เจ๊กหัดเขียนหนังสือไทย ภาพวาดก็เหมือนกัน ผมถูกครูกับเพื่อนล้อว่าพ่อเอ็งวาดรูปเหมือนเอาขี้เลนละเลงฝาบ้าน จนเราต้องเอาตารางสีไปให้พ่อดูว่าแดงบวกเหลืองกลายเป็นส้มนะ น้ำเงินบวกเหลืองกลายเป็นเขียว” เขาย้อนประสบการณ์
แต่นอกจากจะโดนตั้งคำถามแรง ๆ จากสังคมรอบตัวแล้ว อีกสิ่งที่การันตีความดังแบบแปลก ๆ ของเขาก็คงเป็นการจับตาดูจากภาครัฐ เหมือนที่ภูเขาเล่า “คือช่วงใกล้ ๆ พ.ศ. 2510 ที่เราเรียกกันว่ายุคแสวงหา ก็จะมีนักศึกษา นักเคลื่อนไหว คนจำนวนมากที่ค้นหาสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยสอนหรือจากอำนาจรัฐ ก็จะมีคนเข้า ๆ ออก ๆ มาหาปู่เยอะแยะไปหมด ฝากตัวเป็นลูกศิษย์บ้าง มากินมานอนอยู่บ้านบ้าง นั่งถกเถียงทางการเมืองกัน เตรียมตัวเคลื่อนไหวทางการเมือง ถามว่าอย่างนี้แปลกไหม มันก็คงจะเรียกว่าปกติไม่ได้ (หัวเราะ)
“ให้นึกภาพคนที่อยู่ในสวนลึก ๆ วันดีคืนดีก็มีคนประหลาด ๆ มาหาทุกวัน ภาพคงเหมือนกับสำนักทรงสมัยนี้น่ะ ไปขอหวยอะไรอย่างนั้น แต่คนเหล่านี้คือปัญญาชนหนุ่มสาวที่ไปแสวงหาความรู้ บางทีก็แค่ไปนั่งฟังเพลง แกะเพลงกัน สมัยนั้นข้อมูลพวกเหมา (เจ๋อตง) หรือคาร์ล มาร์กซ์ มันมีให้ศึกษาน้อย แต่พ่อมีสิ่งพิมพ์พวกนี้เยอะมาก เพราะได้มาจากจีน” ทิพย์เล่า ก่อนจะพาเราไปสำรวจห้องเก็บเอกสาร เพื่อหยิบหนังสือ ‘อา Q’ ที่จ่างแปลและถูกประกาศให้เป็นหนังสือต้องห้ามช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลามาให้ดู
‘ศาลาคนเศร้า’ ที่ขังจ่างไว้ไม่ให้ ‘โมเดิร์น’
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน จ่าง แซ่ตั้ง เป็นชื่อที่คนรักศิลปะคงพอคุ้นหูอยู่บ้าง แต่ถ้าถามว่าเขาคือใคร คำตอบที่ได้อาจไม่แน่ชัดนัก “ปู่ไม่เคยเป็นศิลปินแห่งชาติ บทกวีของเขาเคยเข้าชิงรางวัลซีไรต์ แต่ก็ไม่ได้รางวัล หลังเขาตายไปแล้วก็มีคนให้เหตุผลว่า เพราะไม่รู้ว่าจ่างเขียนกลอนแปดเป็นหรือไม่” ภูเขาเล่า
“จะเห็นว่ามันมีคำถามเยอะแยะไปหมด ผมคิดว่ายุคนั้นทุกคนพยายามที่จะเข้าใจโมเดิร์นอาร์ต ซึ่งจ่างก็พยายามค้นหากระบวนการบางอย่างของเขา เขารู้นะว่าศิลปะสมัยใหม่แบบรัฐคืออะไร แต่เขาตั้งมั่นจะทำอย่างนี้ ชื่อของเขาก็เลยถูกวางไว้คนละด้านกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก
“หนังสือก็เขียนถึงเขากันแหละ แต่เขียนอย่างไร อยู่ตรงไหนในคำอธิบาย” ภูเขาตั้งคำถาม “บทสนทนาเกี่ยวกับศิลปะในประเทศเรามักจะเชียร์กันเองเยอะ แล้วก็ชอบแต่เรื่องดราม่าการเป็นศิลปิน เรื่องศาลาคนเศร้า เรื่องความยากลำบากของการเป็นศิลปิน อยู่กันอดอยากนะ มีลูกเจ็ดคน แล้วก็อวดกันว่าที่งานดี เพราะมีความลำบากเป็นตัวผลักดัน ซึ่งการที่ศิลปะแบบจ่างจะดำรงอยู่ได้มันต้องอยู่บนฐานขององค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะ การศึกษาจากตัวงาน ที่ไม่ใช่เรื่องเล่าแบบศาลาคนเศร้า”
ภูเขาเสริมถึงความตั้งใจในการผลักดันงานของผู้เป็นปู่ให้ไปสู่ความรับรู้ในวงกว้างต่อว่า “เราจะเห็นศิลปินจำนวนมากในไทยที่ไม่ได้ถูกเขียนถึงแล้วก็หายไป เหลือเป็นเรื่องเล่าในนิทาน เป้าหมายของเราคือการต้องการนำงานไปสู่โลกภายนอก ไปสู่พิพิธภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งมันจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีองค์ความรู้ การเขียนถึง และการจัดการที่เป็นระบบ
“บ้านเราชื่นชมมองงานแอ็บสแตร็กกันแค่ทักษะฝีมือสวยงาม แต่ผมคิดว่าชิ้นงานมันเป็นเครื่องมือในการเสนอกระบวนการทางการคิดของศิลปิน ว่าพรมแดนนามธรรมของเขามันคืออะไร พูดถึงเรื่องอะไรกันแน่” ทิพย์เสริม “วันนี้มันชัดแล้วว่าสิ่งที่เขาทำคือการวาดภาพด้วยร่างกาย มันคืออีกก้าวของการทำงานศิลปะในไทยที่ใช้ร่างกายวาดภาพ
“ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ยังมีคนเขียนไม่เยอะ และส่วนใหญ่มักจะเขียนคล้าย ๆ กัน คือถูกวางรากฐานมาจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยสำนักศิลปากร แล้วคนกลุ่มอื่นที่ทำงานศิลปะในแบบที่แตกต่างออกไปล่ะ เขาอยู่ตรงไหน” ภูเขาเล่าสิ่งที่เขาพบระหว่างการทำความรู้จักปู่ของเขาผ่านวิธีการแบบวิชาการ “นักวิชาการอย่างเดวิด เทห์ อธิบายว่าโครงการของศิลปะสมัยใหม่แบบอาจารย์ศิลป์ คือการสร้างชาติ มีนัยยะของความเป็นไทย ความเป็นชาติ แต่สิ่งที่จ่างทำมันไม่ใช่ ทำให้ตำแหน่งแห่งที่ของจ่างถูกผลักออกไปอยู่ที่ชายขอบของความเป็นสมัยใหม่แบบรัฐ สมัยนั้นถ้าไปดูข้อเขียนของอาจารย์ศิลป์เขาด่าแอ็บสแตร็กนะ จะชอบงานที่เป็นเรียลลิสม์หรืออะคาเดมิกแบบตะวันตกมากกว่า รวมทั้งการรื้อฟื้นประเพณีกลับมาสู่สมัยใหม่ อย่างการกลับคืนสู่ความเป็นพุทธ สู่ศิลปะสุโขทัยอะไรเต็มไปหมด”
การศึกษาของภูเขาอาจไม่ได้ไปเปลี่ยนข้อเท็จจริงอะไรที่เราได้ยินกันมาอยู่แล้วเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของจ่าง แต่คำอธิบายนี้ ทำให้มุมมองที่เรามีต่อสถานะศิลปินอินดี้ติสต์แตกของจ่างเปลี่ยนไป และก็เช่นเดียวกันกับประวัติศาสตร์ลืมไม่ได้จำไม่ลงอื่น ๆ การพูดคุยกันเรื่องสถานะของจ่างว่าจะเขียนถึงอย่างไร ก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสถาบันที่ยังมีบทบาทอยู่ในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เขียนประวัติศาสตร์ให้เป็นนิทรรศการ ทำนิทรรศการให้เป็นประวัติศาสตร์
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขามีความสัมพันธ์กับศิลปะสมัยใหม่ ด้วยบริบททางสังคมและเวลาที่อยู่ในยุคกำลังตั้งไข่ของศิลปะสมัยใหม่ไทย” ทิพย์เล่า “โลกาภิวัฒน์ทำให้ฝรั่งหันมาสนใจความรู้จากไทย แล้วความรู้พวกนั้นมันเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจปัจจุบันและอนาคตด้วย ซึ่งก็คงเป็นสาเหตุที่ Centre Pompidou สนใจเรา
“เราต้องการบันทึกเรื่องของจ่างอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่ออกไปแสดงแล้วก็ขายรูป เราอยากมีบทสนทนากับโลกศิลปะสากล คือต้องบอกก่อนว่านิทรรศการที่ Centre Pompidou นี้มันเพิ่งเริ่มคิดเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว มันดูจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำทุกอย่างในเวลาแค่สิบเดือน แต่มันเป็นไปได้เพราะมันมีงานเขียนทางวิชาการและองค์ความรู้ที่ถูกเขียนถึงอยู่บ้าง” ทั้งสองเล่าเบื้องหลังการจัดนิทรรศการที่ ‘งานเขียน’ มีบทบาทมากกว่าที่คิด
“เวลาเขาจัดนิทรรศการกันจะไม่ใช่แค่เอารูปมาโชว์ แต่จะเป็นการทำรีเสิร์ชในแบบเดียวกับการทำงานวิชาการ แล้วดูว่าจะนำเสนอประเด็นอะไร ซึ่งนิทรรศการแต่ละครั้งก็จะมีประเด็นที่แตกต่างกัน สิ่งที่เราทำก็คือการเก็บสิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย จดหมาย บัตรเชิญ หนังสือ หรือเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องไว้ให้ภัณฑารักษ์มาทำงานได้ง่าย” ภูเขาอธิบาย
“อีกสิ่งที่ทำให้ต่างชาติสนใจจ่างคือสถานะความเป็นทั้งจิตรกรและกวีที่พยายามจะเสนอความคิดทางปรัชญาของตัวเอง ทั้งการตีความปรัชญาโบราณของจีน หรือการให้ความหมาย มุมมอง อุดมคติใหม่ ๆ ของเขา อย่างการเขียนภาพเหมือนตัวเอง มันคือการสะท้อนสภาวะของเขาเอง ก็เลยมีหลากหลายอารมณ์มาก ๆ เวลาเขาสอนลูกศิษย์ ลูกศิษย์จะชอบบอกว่าไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีซับเจกต์ในการทำงาน แต่จ่างจะบอกว่า ภาพเหมือนของตัวเองก็คือการแสดงให้เห็นว่ามันมีซับเจกต์แล้วนะ แค่การถ่ายทอดตัวเองก็มีสภาวะที่สามารถเอาออกมานำเสนอให้คนดูเห็นได้เต็มไปหมด” เขายกตัวอย่าง
“ศิลปะของจ่างเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาและตรวจสอบตัวเอง โดยอาศัยบริบทสังคมรอบตัวทั้งหมด อย่างบทกวีในชุด ‘ภาพพจน์ที่ผ่านมา’ ก็เกี่ยวกับการเมืองและสังคม รัฐอาจจะกลัวเขาเพราะเขามองอะไรได้แตกต่างจากสิ่งที่รัฐเข้าใจ เห็นสิ่งที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาศิลปะ เช่น คำว่า ’เผด็จการ’ อาจจะหมายถึงการบังคับไม่ให้เราทำอะไรที่รัฐไม่อยากให้เราทำ แต่จ่างจะอธิบายออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ว่าการรู้เท่าที่คนอื่นต้องการให้รู้ นั่นก็คือเผด็จการเหมือนกัน มันเป็นการเติมความคิดความรู้สึกให้มันมากขึ้น
“งานนามธรรมของจ่างคือการพยายามทำความเข้าใจรากฐานทางวัฒนธรรมของเขาซึ่งเชื่อมโยงกลับไปหาการเขียนพู่กันจีน แต่ไม่ใช่ มันอ่านไม่ได้ เป็นแค่การเคลื่อนไหวของมือ แค่โมทีฟของอารมณ์ ของจีนมันเชื่อมโยงกับเรื่องจิตวิญญาณ การฝึกฝนตัวเอง จ่างก็นำมาใช้เป็นเรื่องการทำสมาธิ การฝึกจิต จนมาถึงงานแอ็บสแตร็ก เขาก็ต้องตั้งสติกวนสีให้เข้าสู่ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งเรียกว่าเอกัคคตา ก่อนจะสร้างงานนามธรรมได้ มันเลยไม่ใช่แค่เรื่องของคอมโพสิชันหรือรูปลักษณ์ภายนอก แต่มันโยงไปถึงปรัชญา จิตวิญญาณเบื้องหลัง เชื่อมกับอะไรได้เยอะ”
บทสนทนาของเราที่เก้าอี้รับแขกของพวกเขาจบลงตรงนั้น ก่อนที่พวกเขาจะลุกขึ้นหยิบรูปภาพต่าง ๆ ที่แอบซ้อนทับกันอยู่มาให้เราดู และพาเราเดินไปคลังเอกสารที่ยังรอใครมาหยิบไปใช้เขียนประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทย ฉบับที่เปิดกว้างให้ศิลปะในลักษณะที่หลากหลายได้มีที่ทางด้วย
“จริง ๆ ก็มีการเขียนกันอยู่แล้วทั้งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือที่เป็นนักวิชาการอิสระ ซึ่งถ้าเขาเป็นคิวเรเตอร์ด้วยก็คงค้นหาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับวงการศิลปะที่เป็นความรู้มานำเสนอ ไม่ใช่แค่ขายของ” พวกเขาบอก