‘The Map’ เมื่อแผนที่ไม่มีสัญลักษณ์ แต่กลับนำทางให้เห็นชัดขึ้นกว่าเดิม
แผนที่สำหรับนักท่องเที่ยว ก็อาจจะต้องมีชื่อของสถานที่สำคัญหรือสัญลักษณ์บอกเส้นทาง ช่วยพาเราไปที่ต่าง ๆ แต่ถ้าภาพของ “แผนที่” ในนิทรรศการนี้ มีแต่ชิ้นส่วนกระดาษตัดแปะที่มีก้อนสีหนากระจายเปรอะไปทั่ว มันจะพาเราเดินทางไปที่ไหนกัน?
ผลงานบนกระดาษ ที่มีตั้งแต่ลวดลายนามธรรมไปจนถึงรูปเงาของเจ้าหมาสนูปปี้ในนิทรรศการนี้ เป็นผลงานของศิลปินที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง อย่าง “อาจารย์เกศ” หรือ เกศ ชวนะลิขิกร อดีตรองศาสตราจารย์จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้มีผลงานอยู่ในคลังสะสมนานาชาติหลายแห่ง ซึ่งมักจะทำงานจิตรกรรมภาพวาดแบบนามธรรมบนเฟรมผ้าใบ ถ่ายทอดอารมณ์หรือ “ภาวะ” ภายในจิตใจออกมาเป็นภาพของสี มากกว่าจะเป็นภาพของสิ่งใด การรวบรวมผลงานบนกระดาษของเขามาโชว์ครั้งนี้ จึงเป็นมิติใหม่ที่ช่วยให้เห็นร่องรอยความคิด ที่บางทีก็ซับซ้อนซ่อนหลายชั้น แต่บางทีก็เรียบง่าย เบาสบายกับสายตา
ความขี้เล่นเล็ก ๆ ของศิลปินที่สอดแทรกอยู่แทบจะทุกภาพ ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความ เล่นกับเรื่องจริงจัง และจริงจังกับเรื่องเล่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพใบหน้าบุคคลที่ประกอบขึ้นจากกระดาษที่ตัดเป็นรูปทรงเรียบง่ายชวนให้นึกถึงผลงานของชาวโมเดิร์น อย่างอ็องรี มาติสผู้ตัดกระดาษสีเป็นรูปทรง แต่พอมองใกล้ ๆ จะเห็นว่าปลายจมูกในบางภาพก็แอบติด “เส้นขน” เล็ก ๆ ไว้ ให้พอคัน ๆ และยิ่งดูดี ๆ จะเห็นว่าอาจารย์เกศทำคอลลาจหรือทำงาน “ติด” เศษกระดาษเหล่านี้ โดยใช้เครื่องเย็บกระดาษแบบเดียวกับที่เราใช้ในออฟฟิศเลย (แถมยังแอบยิงลวดเย็บเป็นหน้าคนยิ้มอีกด้วย)
‘ให้แสง ชวนะลิขิกร’ ลูกสาวของศิลปิน เป็นผู้เรียบเรียงและ “เล่า” ถึงผลงานของเขาที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2533 จนถึง 2564 ในงานนี้ ทำให้แง่หนึ่ง นิทรรศการนี้จึงเป็นเสมือนการย้อนดูเส้นทางความคิดและประสบการณ์ของศิลปินที่หลายคนยอมรับนับถือ อีกแง่หนึ่ง งานนี้ก็เป็นการทบทวนประสบการณ์ของลูกสาวคนหนึ่งกับพ่อที่เป็นศิลปินของตัวเอง และยิ่งไปกว่านั้น ผลงานเหล่านี้ก็คงเป็นกระจกสะท้อนความคิด ความเชื่อ หรือความในใจต่าง ๆ ในตัวคนดูอย่างเรา ให้มีสีสันรูปทรงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเช่นเดียวกับภาพวาดนามธรรมของเขา งานระบาย ปะ ติด เหล่านี้ก็เปิดช่องว่างให้เราได้ใช้ความรู้สึกของเราไปกับสีและรูปทรงของมันอย่างเต็มที่
และถ้าชิ้นส่วนแผ่นกระดาษที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งตกหล่นได้ง่าย ๆ (จากโลกศิลปะทั่วไปที่มักเน้นจิตรกรรมบนผ้าใบ) นี่ก็อาจเป็นสัญญาณให้เราเอง ต้องลองไปเก็บ “เศษกระดาษ” ของตัวเองบ้างแล้ว เพราะบางทีสิ่งที่เราทำหล่นไว้ไม่ทันมองในห้อง ก็อาจมีความหมาย ไม่ต่างกับแผนที่ให้ย้อนดูเส้นทางภายในของเรา และช่วยนำทางให้ไปต่อได้ไม่หลงอีกด้วย
นิทรรศการ The Map: A Survey of Works on Paper โดย เกศ ชวนะลิขิกร จัดแสดงที่ Art4C Art Centre ตั้งแต่วันนี้ – 19 มีนาคม 2567