หลากจังหวะชีวิตของ NOTEP (นท พนายางกูร) บนเส้นทางดนตรี พิธีกรรมที่ทำให้รู้จักความตาย และอัลบั้มใหม่ที่ชวนปลาวาฬ นก อึ่งอ่าง หมา มาสร้างเสียงด้วยกัน
ถ้าคุณหลงรักเสียงดนตรี แล้ววันหนึ่งพบว่าตัวเองทำสำเร็จแล้ว ได้เป็นนักร้องดัง ได้ทำเพลงที่ใคร ๆ ก็ว่าเพราะ แต่คุณเองดัน “กลัว” เสียงนั้นของตัวเอง เพราะเสียงนั้นดันไม่ใช่เสียงของคุณ คุณจะทำอย่างไร?
นั่นคือประสบการณ์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาของ NOTEP (No-Tep) หรือ นท พนายางกูร ผู้ที่ในวันหนึ่งกลับพบว่าความหลงใหลในดนตรีของตัวเองกลับกลายเป็นสิ่งที่เธออธิบายว่ามีลักษณะไม่ต่างจาก “สินค้า” อันนำมาสู่จุดเริ่มต้นในการเดินทางไปหานักเยียวยาด้วยเสียงที่เนปาล, ไปเข้าพิธีกรรมจากอเมริกาใต้ที่ทำให้รู้จักความตาย, และไปเรียนรู้การอนุรักษ์ที่เกาะเต่า เพื่อที่จะพบว่าทุกสิ่งบนโลกล้วนสัมพันธ์กัน ไม่ต่างกับรูปร่างของเซลเล็ก ๆ ของสิ่งมีชีวิต ที่เหมือนกับรูปร่างอันใหญ่ยักษ์ของจักรวาล ซึ่งเธอนำมาเล่าในรูปแบบของดนตรีและโชว์ Immersive Audio and visual experience สำหรับอัลบั้มใหม่ของเธอที่มีชื่อว่า ‘Metamorphogenesis’
“นทว่ามันเป็นเหมือนการเกิดใหม่ เพราะไม่ได้ปล่อยเพลงในชื่อตัวเองมาเกือบสิบปีแล้ว หายไปนานมาก เลยจะปล่อยเพลงแรกก่อน ซึ่งเป็นเพลงที่ถ้าฟังผ่าน ๆ จะเหมือนเพลงอกหักทั่วไป แต่ว่าเราเขียนถึงตัวเอง ถึงความรู้สึกไม่มั่นใจ (insecurity) ของตัวเอง เพราะว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราไม่สามารถทำเพลงได้ในตอนนั้น มันมาจากความรู้สึกไม่มั่นใจของตัวเอง แต่พอเราเข้าใจมัน ให้เวลากับมัน แล้วก็ผ่านมาได้ มันก็เหมือนเป็นการเกิดใหม่” เธอเล่า
ก่อนจะไป “เกิดใหม่” กับอัลบั้ม Metamorphogenesis ของเธอที่จะปล่อยในวันที่ 22 มีนาคมนี้ กับนิทรรศการที่จะจัดขึ้นที่ The Jim Thompson Art Center เราอยากชวนทุกคนมาสำรวจชีวิตที่ผ่านมาของเธอกัน ตั้งแต่การเข้าสู่โลกดนตรีที่ไม่ได้มีแต่ความสวยงาม, การเดินทางเพื่อบำบัดเยียวยา, และการทำงานเพื่อแบ่งปันเส้นทางบำบัดเยียวยาของเธอ ในบทสัมภาษณ์พิเศษนี้
ชีวิตของนักร้องที่กลัวเสียงของตัวเอง
“พอเข้าไปในวงการมันเหมือนหลาย ๆ อย่างมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้” นทยอมรับ
ย้อนกลับไปในความเดิมตอนที่แล้ว ทุกคนรู้จักนทจากการเป็นผู้เข้าประกวดรายการเรียลลิตี้โชว์แห่งยุคอย่าง เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว ในปีที่ 7 โดยเป็นที่จดจำตั้งแต่รอบออดิชั่นเพื่อเข้าร่วมรายการ จากสไตล์การร้องเพลงและการดีดอูคูเลเล่ ก่อนจะคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศมาได้ และได้ออกผลงานเพลงมาแล้วมากมายกับค่ายใหญ่ ได้ร้องเพลง ได้เสียงชื่นชมมากมาย แต่เธอกลับทำตัวตนของตัวเองหายไป
“การร้องเพลงมันใช้เส้นเสียงซึ่งเป็นความจำของกล้ามเนื้อ (muscle memory) เวลาที่ร้องแบบหนึ่งไปนาน ๆ เสียงเราก็จะกลายเป็นแบบนั้น ซึ่งตอนนั้นเราต้องฝึกร้องแบบหนึ่ง ทำให้เสียงของเราที่มันเป็นเราจริง ๆ มันหายไป เราก็เหมือนกลัวเสียงตัวเองไปเลย ไม่กล้าร้องเพลงไปเลยนานมาก ๆ”
ชีวิต ที่เป็นแค่คลื่นสั่นสะเทือนเหมือนกับทุกสิ่งในจักรวาล
“เมื่อก่อนเราจะโฟกัสแค่อยากได้เงิน อยากดัง มีโน่นนี่นั่น ซึ่งมันเป็นคุณค่าที่ทำให้เราไม่มีวันมีความสุขเลย” เธอสรุปบทเรียนจากช่วงชีวิตที่ผ่านมา ก่อนจะเส้นทางจะหักเหไปในทางที่เราคาดไม่ถึง
“เรามาโฟกัสใหม่ว่าอยากมีเวลากับครอบครัว อยากมีเวลาที่ดีกับคนรอบข้าง และมีเวลาที่ดีกับตัวเอง พอเริ่มจากตรงนั้นก็เลยโอเค งั้นเราลองกลับมาทำอะไรที่เราเคยทิ้งไปอย่างศิลปะแล้วกัน” และศิลปะที่เธอหมายถึง ก็มีเสียงเป็นส่วนประกอบ แต่ไม่เหมือนกับเพลงที่เธอเคยร้องอย่างสิ้นเชิง เพราะแนวคิดมุมมองภายในของเธอเปลี่ยนไปก่อนแล้ว และแน่นอนว่าผู้ชมของเธอก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
“เราอยากฮีลตัวเอง ก็เลยไปเรียนรู้เรื่องพลังงานมากมาย จนกระทั่งมาเจอ Sound Healing (การบำบัดเยียวยาด้วยเสียง) ตอนนั้นไปเรียนที่เนปาลเลย กับครอบครัวที่เขาค่อนข้างจริงจังกับเรื่องนี้ ทำกันมารุ่นสู่รุ่น แล้วพอเราเข้ามาทำตรงนี้เรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่ามีความสุขจัง ได้ฮีลตัวเอง แล้วเวลาที่เราทำกับคนอื่นเราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของเขา
“เวลาเล่นคอนเสิร์ต เสียงตอบรับที่ได้กลับมาคือ ชอบจังเลย มีความสุขจังเลย เพราะจัง แต่เวลาที่เราทำการบำบัดเยียวยาด้วยเสียงมันมากกว่านั้น จำได้ว่ามีบางคอมเมนต์บอกว่า เขาเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่พอมาได้มาร่วมในประสบการณ์นี้ มันทำให้เขาพบความสงบอะไรที่ไม่เคยเจอมาก่อน แล้วเรารู้สึกเชื่อมโยงด้วยได้ เพราะเราก็เคยอยู่ใกล้ๆจุดนั้น เคยซึมเศร้า เบิร์นเอาท์ มาก่อน เลยรู้ว่ามันดาร์กแค่ไหน แล้วการมาเจอความสงบมันเป็นสิ่งที่ล้ำค่าแค่ไหน ก็เลยทำไปเรื่อย ๆ”
โลกปัจจุบันอาจทำให้เราคิดว่าหน้าจอคอมหรือมือถือก็ช่วยให้เข้าใจมุมมองแนวคิดใหม่ ๆ ได้มากมายแล้ว แต่สำหรับนท วิธีที่เธอทำเป็นประจำคือการออกไปเรียนรู้และสัมผัสจากประสบการณ์ตรงในสถานที่ต่าง ๆ เราจึงเห็นได้เลยว่ามุมองชีวิตที่น่าสนใจของเธอจะมากับเรื่องราวที่น่าสนใจที่เธอเจอมาเสมอ
“พอถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าพร้อมแล้วที่จะทำอะไรมากกว่านี้ ใหญ่กว่านี้ ก็เลยเริ่มทำเรื่องสิ่งแวดล้อม จุดเริ่มต้นที่มาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยจริง ๆ เพราะว่านทไปทำพิธีอายาวัสกา (Ayahuasca) คือสรุปประสบการณ์ง่าย ๆ เลย มันเหมือนทำให้สมองเรารู้สึกว่าเราตายไปแล้ว ตอนนั้นที่ทำคือรู้สึกเหมือนตายจริง ๆ แล้วเหมือนเราเข้าใจเลยว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นแค่ดวงจิต
“ทุกคนก็เป็นดวงจิตหมดเลย ทุกอย่างเป็นเหมือนคลื่นสั่นสะเทือน (vibration) หมดเลย เราไม่จำเป็นต้องไปเก็บทุกอย่างมาซีเรียส เพราะจริง ๆ แล้วชีวิตมันคือแค่นี้ เราก็แค่นี้ แล้วก็รู้สึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ที่เรานั่งอยู่ หรือต้นไม้ข้างนอก ท้องฟ้า มันทำให้เรารู้สึกไปถึงอณูแบบเซลล์ของเราเลย ก็เลยเข้าใจว่าเป้าหมายของการที่เราเกิดมาในชีวิตนี้ มันไม่ใช่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ดารา นักร้องเฉย ๆ หรอก เราต้องใช้สิ่งตรงนี้ที่เราโชคดีได้มา สร้างให้มันมีประโยชน์ขึ้น เลยทำให้เรามาสนใจเรื่องของสุขภาวะทางจิต(mental health) การเจริญสติ (mindfulness) กับความยั่งยืน (sustainability) ก็ไปเรียนเรื่องการอนุรักษ์ทะเลที่เกาะเต่าแล้วก็ตกหลุมรักมาก ทุกคนก็จริงใจน่ารัก เป็นช่วงที่โคตรฮีลเลยเหมือนกัน”
ชีวิตที่อยากแบ่งปันให้คนฟัง
และเมื่อถึงเวลา เธอเองก็อยากจะพาทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตแบบเดียวกับเธอเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ในรูปแบบเดียวกับเธอ
“นทเชื่อเรื่องความสมดุลย์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเกิดว่าเรามัวแต่จะไปเอามือเปื้อนดินเท้าเหยียบน้ำตลอด เราก็จะเข้าไม่ถึงกลุ่มคนที่เขาไม่อินเรื่องนี้เลย การที่เราจะเข้าถึงกลุ่มคนที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องการเรื่องนี้ที่สุด เราก็ต้องทำในสิ่งที่เขาเสพ ใช้สื่อที่เขาเสพ ใช้สิ่งที่เขาชอบ ซึ่งประเด็นคือเราต้องชอบเรื่องนั้นด้วยไง” เธออธิบาย
“เรื่องที่นทพูดถึงไม่ว่าจะเป็นสุขภาพจิต การเจริญสติ (mindfulness) หรือกระทั่งเรื่องสิ่งแวดล้อม มันเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนไม่อยากจะพูดถึงหรอก มันน่าเบื่อ มันเป็นเรื่องไกลตัว ‘เดี๋ยวค่อยคิดแล้วกันนะ’ ‘ขอโฟกัสตรงนี้ก่อน อย่างน้อยหาตังค์ให้มีเงินใช้’ แต่เรารู้สึกว่าเรื่องนี้มันสำคัญมาก แล้วถ้าเกิดว่าเขาสามารถคิดได้ มันจะทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีมาก มันจะสงบขึ้น มันจะลื่นไหลเลยรู้สึกว่าเราอยากที่จะตั้งเป้าหมายการทำงานทุกอย่างในชีวิตของเรา ต่อจากนี้เราอยากจะใช้สื่อศิลปะสื่อดนตรีสื่อสิ่งสร้างสรรค์ที่มันสนุก ๆ เพื่อเชื่อมต่อผู้ชมของเรากับตัวเขาเอง แล้วก็เชื่อมต่อเขากับธรรมชาติ
“ด้านดนตรี ภาพ หรือ Performance Movement เองก็จะเชื่อมโยงกันหมดเลย ทุกอย่างมันคือการเชื่อมโยงกัน รูปทรงของเซลต่าง ๆ มันคือรูปทรงที่เราเห็นในจักรวาลเหมือนกัน ลายมือของเราก็อยู่ในใบไม้ในต้นไม้ มันหน้าตาเหมือนกันเลย พอเข้าใจสิ่งนี้ได้เราก็สามารถปล่อยวางได้แล้วรู้สึกว่าทุกอย่างมันเบา
“เรารู้สึกว่าในยุคสมัยนี้ โซเชียลมีเดีย เทคโนโลยี ชีวิตอันรวดเร็ว หรือความคาดหวังของคนที่เราจะต้องถูกตัดสินคุณค่าด้วยตัวเลขต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยอดคนฟอลฯ ยอดรายได้ หรืออะไรต่าง ๆ มันไม่จริง แล้วมันน่าเศร้าที่หลาย ๆ คนเหมือนหลงทาง เราเห็นคนรอบข้างเราก็รู้สึกว่าเราเจอแล้ว เราอยากจะแชร์สิ่งที่เราเจอมา เผื่ออาจจะทำให้เขามีความสุขขึ้น”
ชีวิตแห่งการร้อยเรียงอยู่ในเสียงดนตรี
‘Metamorphogenesis’ คือชื่ออัลบั้มล่าสุดของเธอที่กำลังจะปล่อยให้ได้ฟังกัน และคำเรียกที่หมายถึงกระบวนการ “กลาย” ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสะท้อนมาจากมุมมองที่เธอได้จากการเดินทางทั้งหมดที่ผ่านมา
“Metamorphogenesis มันก็คือการกลายร่างนั่นแหละง่าย ๆ แต่นทสนใจในคำคำนี้เพราะมันโคตรลึกซึ้งเลย มันเริ่มตั้งแต่การแบ่งเซลไปจนถึงการก่อร่าง เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างตรงกับเรา เพราะการที่เรามาถึงจุดนี้ได้มันก็ค่อนข้างผ่านขั้นตอนเหมือนที่เล่าให้ฟัง เหมือนเป็นการย้อนกลับไปดูว่าจุดไหนในชีวิตเราบ้างที่ทำให้เราหล่อหลอมมาถึงทุกวันนี้ มาดูว่าสิ่งนี้มันดีอย่างนี้กับเรา ไม่ดีอย่างนี้กับเรา พอได้ทำอย่างนี้มันก็ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น แล้วก็รู้ว่าในอนาคตเราจะตัดสินใจอย่างไรมากขึ้น สมมุติถ้าต้องเลือกอะไรในชีวิตเราเราก็เลือกได้ทันที รู้ได้เลยว่าอะไรเอาไม่เอา” เธออธิบาย
“พอกลับมาทำครั้งนี้เราก็กล้าที่จะร้องเสียงของเรา เพราะเราไม่กลัวแล้ว เรารู้หมดแล้วว่าเสียงที่เราจะใช้เป็นอย่างไรบ้าง เพราะเรารู้จักตัวเองมาก ๆ อัลบั้มมันเลยจะเป็นเสียงที่เกี่ยวข้องกับการเจริญสติ การมีสมาธิ
“เทคนิคที่ใช้ในอัลบั้มนี้หลัก ๆ จะเป็นการ Sampling คือการอัดเสียงนู่นนี่นั่นแล้วเอามาทำเพลงต่อ ไปหาเสียงพระที่เขาเทศน์เรื่องการเจริญสติมาเป็น Introduction อย่างเพลงที่สองก็เป็น Guided Breathing เป็นการไกด์ให้ทุกคนหายใจในแนวทางใหม่ ๆ ที่มันร่วมสมัยมากขึ้น ไม่เหมือนกับเวลาไปเข้าคลาสโยคะหรือคลาสอื่น ๆ เราก็ทำให้มันทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้มากขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีเสียงเวลาที่เราไปดำน้ำหรือไปทริปต่าง ๆ แล้วไปอัดมา เช่น เสียงปลาวาฬหลังค่อม เราก็เอามาดัดแปลงใหม่ หรือเวลาเดินทางไปเที่ยวที่โบสถ์ ก็อัดเสียงในโทรศัพท์เลยเพื่อเอามาทำเพลงต่อ กระทั่งเสียงหมาที่บ้าน เสียงป่าที่บ้าน ทะเลที่เกาะเต่า เสียงนก อึ่งอ่าง หมาแมว เสียงแม่ น้องชาย คุณยาย นทเอาเสียงเหล่านี้มาทำเพลงหมดเลย อัลบั้มนี้มันเลยเป็นเหมือนการอุทิศให้สิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ด้วย”
และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่มาเป็นพลังให้เธอนั้น ก็จะถูกร้อยเรียงกันตามคอนเซปต์ของธาตุทั้งสี่ คือดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจสิ่งรอบตัวเปลี่ยนไปด้วย
“ด้วยความที่ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างช่วยให้เรามีทุกวันนี้ได้ เราใช้เวลากับธรรมชาติ อยู่ในสวนกับหมา หรือไปทริปต่าง ๆ ไปดำน้ำ ในที่ที่ห่างไกลจากผู้คน มันหล่อหลอมให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็ทำให้เราสื่อสารสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาได้ เลยรู้สึกว่าอยากจะเอาทั้งหมดทั้งมวลไอเดียออกมาแบ่งเป็นสี่ส่วน คือดิน น้ำ ลม ไฟ ใช้ธาตุต่าง ๆ ช่วยเล่าเรื่องให้มันลื่นไหลขึ้น
“ก็จะเริ่มจากธาตุน้ำที่มีความทรงภูมิ เหมือนเป็นการต้อนรับก่อน ไปสู่ดิน คือรากฐาน แล้วก็เป็นไฟ ให้มันร้อนแรงสนุกสนาน แล้วก็กลับมาที่ลม ที่มันพัดพา ด้วยความที่เราศึกษาเรื่องพลังงาน มันก็ค่อนข้างจะเกี่ยวกับดินน้ำลมไฟตลอด เหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่เขาสอนให้เราเชื่อมต่อกับธาตุต่าง ๆ ในตัวของเรา ในสิ่งรอบข้าง
“อัลบั้มจะนี้มีหลายแนวดนตรีมาก มันเริ่มตั้งแต่แอมเบียนท์ ไปอิเล็กทรอนิกส์ป็อบ ไปถึงแดนซ์ เพราะเรารู้สึกว่าการจะเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งหมด มันไม่สามารถเป็นแค่ดนตรีแนวเดียวได้ เราอยากทำเป็นเส้นทางและประสบการณ์จริง ๆ”
ซึ่งสำหรับอัลบั้ม Metamorphogenesis นี้ เธอก็ได้จัดโชว์ Immersive Spatial Audio and Visual performance รวมทั้งนิทรรศการพิเศษ โดยได้เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้าน Immersive Art แสง สี เสียง เทคโนโลยีมาร่วมด้วย ทั้ง Cyrus James Khan ศิลปินวิชวล, Saturate designs, Yer Art, อันฟอร์แมต สตูดิโอ (UNformat Studio) และ Adamson Spatial sound system จาก Sonos Libra เพื่อพาทุกคนก้าวเข้าสู่ประสบการณ์การเกิดใหม่ร่วมกับเธอ
“เราอยากให้คนดูได้มีความรู้สึกบางอย่างที่เขาไม่เคยรู้สึกมาก่อน ตัวงานก็จะค่อนข้าง immersive ไม่ใช่แค่ภาพกับเสียง แต่เป็นประสบการณ์ ด้วยเซ็ตอัพตอนนี้ระบบเสียงก็เป็น 360 องศาเลย ด้านภาพก็จะมีสามจอ ไม่อยากให้เป็นโชว์ที่รูปสวยเสียงเพราะอย่างเดียว อยากให้เป็นประสบการณ์ (experience)
“นทเชื่อว่าศิลปะ ดนตรี หรือสิ่งอื่นที่มันสนุกจะสามารถสื่อสารกับคนได้ในระดับจิตใต้สำนึก ไม่ใช่แค่ในระดับที่รู้ตัวกันอยู่” เธอกล่าวปิดท้าย
ใครอ่านแล้วสนใจอยากไปสัมผัสประสบการณ์กับอัลบั้มนี้เหมือนที่นทเจอมา ก็ไปที่นิทรรศการ Metamorphogenesis ได้ในวันที่ 22 - 24 มีนาคมนี้ ที่ The Jim Thompson Art Center