‘หลานม่า’ เป็นหนังที่เริ่มจากปมเรียบง่ายว่าด้วย “เวลา” ของหลาน และ “เงิน” ของอาม่า ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ก็มาบรรจบ เมื่อดีมานด์และซัพพลายตรงกัน หลานก็ต้องการเงินของอาม่า ส่วนอาม่าก็ (อาจจะ) ต้องการเวลาของหลาน

‘หลานม่า’ เป็นหนังที่เริ่มจากปมเรียบง่ายว่าด้วย “เวลา” ของหลาน และ “เงิน” ของอาม่า ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ก็มาบรรจบ เมื่อดีมานด์และซัพพลายตรงกัน หลานก็ต้องการเงินของอาม่า ส่วนอาม่าก็ (อาจจะ) ต้องการเวลาของหลาน

กลิ่นคนแก่ เสียงคำรามรถไฟ และความชื้นในดวงตา เรื่องราวของ ‘หลานม่า’ ที่ทำให้รู้ว่าเวลามีความหมายอย่างไร

พอโรงหนังเปิดไฟ เราก็หันไปมองผู้ชมรอบ ๆ ที่นั่งอยู่ในโรง ‘หลานม่า’ รอบเดียวกับเรา เพื่อจะพบว่า พวกเขากำลังเช็ดน้ำตากันเป็นแถบ ก่อนที่จะกลับมาพบอีกครั้งว่าเราเองก็แอบขอบตารื้นอยู่เหมือนกัน…

‘หลานม่า’ เป็นหนังที่เริ่มจากปมเรียบง่ายว่าด้วย “เวลา” ของหลาน และ “เงิน” ของอาม่า ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ก็มาบรรจบ เมื่อดีมานด์และซัพพลายตรงกัน หลานก็ต้องการเงินของอาม่า ส่วนอาม่าก็ (อาจจะ) ต้องการเวลาของหลาน

หนังเริ่มต้นขึ้นในวันเชงเม้งที่ อาม่า (แต๋ว — อุษา เสมคำ) ล้มลงจนต้องเข้าโรงพยาบาล ก่อนจะพบว่าอาม่าเป็นมะเร็งอยู่ ในขณะที่ตัวละครของ เอ็ม (บิวกิ้น — พุฒิพงศ์) ถูกแนะนำให้ผู้ชมรู้จักผ่านบุคลิกคลาสสิกในละครคุณธรรม นั่นก็คือการเป็นวัยรุ่นติดมือถือผู้ไม่เคยสนใจไยดีอาม่าผู้อยู่เพียงลำพัง

แต่นั่นล่ะคือจุดเริ่มต้นเส้นทางการเรียนรู้ของเอ็มผู้มุ่งมั่นจะไปดูแลอาม่า เพราะมองเป็น “งานสบายรายได้ดี” ก่อนที่จะได้เรียนรู้ในภายหลังว่าอะไรมีค่ามากกว่าเงิน ซึ่งแม้จะฟังเหมือนละครคุณธรรมอยู่ดี แต่นี่ก็เป็นหนึ่งในหนังที่จะมาทำให้เราวางมือถือลงได้จริง ๆ เพราะมันระดมศิลปะแห่งภาพยนตร์มาพยายามตีความคำง่าย ๆ แต่ล่องลอยนามธรรมสุด ๆ อย่าง ‘เวลา’ และแสดงให้เห็นว่า เราจะหยิบสิ่งที่จับต้องไม่ได้นี้มาทำให้ ‘จับต้องได้’ ได้อย่างไร

เราเป็นลูกหลานคนจีนที่ไม่รู้ภาษาจีนมาก่อนเหมือนกับเอ็ม ทุกครั้งที่ ’ม่าพูดอะไรเราต้องคอยอ่านซับภาษาอังกฤษ ซึ่งก็แปลบ้างไม่แปลบ้างจนทำให้หงุดหงิด (ตัวเอง) แต่ก็เหมือนกับที่หลายคนบอกไว้ ว่าเราจะรู้ว่าเราเข้าใจภาษาได้จริง ๆ ก็ตอนที่เราคิดเป็นภาษานั้นเลย โดยที่ไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อนแล้วค่อยแปล (หรือแปลเป็นภาษาไทยก่อน) เพราะหลาย ๆ ครั้งคำคำหนึ่งก็บรรจุความหมายที่ผู้ใช้ภาษานั้น “รู้กันเอง” ทำให้เราแปลยังไงก็แปลไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นั่นยิ่งทำให้เราเข้าใจความงามของภาษาที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาผ่านเวลาที่คนสองคนหยอกล้อ หัวเราะ หรือด่ากันไปมา จนท้ายเรื่องเราเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งของคำคำหนึ่งได้โดยไม่ต้องแปล

เช่นเดียวกับ “กลิ่นคนแก่” ที่เอ็มสัมผัสได้ทันทีเมื่อตอนต้นเรื่อง ซึ่งต้องใช้เวลาเท่านั้น มันถึงจางหายไปจากการรับรู้ของเอ็ม และก็เช่นเดียวกันกับเสียงรถไฟที่คำรามลั่นยังไงก็คงไม่แสบหูถ้าเราอยู่กับมันทุกวัน จนกระทั่งมันกลายเป็นสัญญาณที่สื่อไปถึงความหมายและความทรงจำ ของคนสองคนที่มีร่วมกัน

พอหนังจบ โรงเปิดไฟ เราสังเกตใบหน้าน้ำตารื้นของทุก ๆ คนที่ตกอยู่ในมนต์ของเวลาในโรงภาพยนตร์นี้ร่วมกับเรา เพียงเพื่อจะพบว่าเราก็คงซึมแบบเดียวกับทุกคนไม่ต่างกัน เพราะเมื่อเดินออกจากโรงกลับไปสู่สังคมที่เงินซื้อเวลาไม่ได้แต่เวลาซื้อเงินได้แห่งนี้ ภาพทั้งหมดในหนังก็คงยังหลอกหลอนตามมาตั้งคำถาม ว่าสวัสดิการผู้สูงอายุที่ดีกว่านี้จะเป็นไปได้ไหม คนทำงานจะมีเวลาไปอยู่กับครอบครัวกี่โมง โลกที่เด็ก ๆ จะได้เติบโตตามความฝันและครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันยังเป็นไปได้อยู่ไหม หรือความเปลี่ยนแปลงเดียวที่เราหวังได้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเองเท่านั้นอย่างที่ใคร ๆ ก็พร่ำสอนกัน?

‘หลานม่า’ ภาพยนตร์โดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ เข้าฉาย 4 เมษายนนี้ ในโรงภาพยนตร์