เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส (Félix González-Torres) เป็นศิลปินที่มักถูกรวมไว้ในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย ศิลปะมินิมัล ไปจนถึงศิลปะเชิงความคิด (Conceptual Art) ผู้ซึ่งผลงานของเขาเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” มาก ๆ แต่ก็เป็นเรื่องสาธารณะมาก ๆ เหมือนกัน หลายคนอาจจะเคยเสียน้ำตาให้กับผลงานของเขามาแล้วตั้งแต่ Untitled (Portrait of Ross in L.A.) ที่เขาเชื่อมโยงความตายของคนรักที่กำลังเดินทางมาถึงช้า ๆ เข้ากับประสบการณ์ของเราทุกคน ผ่านกองลูกอมน้ำหนักเท่าตัวคนรักก่อนเสียชีวิต ซึ่งผู้ชมสามารถหยิบกลับบ้านไปทีละเม็ดได้ หรือ Untitled (Perfect Lovers) ที่เขาใช้เพียงนาฬิกาสองเรือนวางคู่กัน ชวนให้คิดถึงคู่รักที่แม้จะตั้งเวลาให้ตรงกันอย่างไร เวลาของทั้งสองก็อาจคลาดกันได้สักวัน

เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส (Félix González-Torres) เป็นศิลปินที่มักถูกรวมไว้ในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย ศิลปะมินิมัล ไปจนถึงศิลปะเชิงความคิด (Conceptual Art) ผู้ซึ่งผลงานของเขาเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” มาก ๆ แต่ก็เป็นเรื่องสาธารณะมาก ๆ เหมือนกัน หลายคนอาจจะเคยเสียน้ำตาให้กับผลงานของเขามาแล้วตั้งแต่ Untitled (Portrait of Ross in L.A.) ที่เขาเชื่อมโยงความตายของคนรักที่กำลังเดินทางมาถึงช้า ๆ เข้ากับประสบการณ์ของเราทุกคน ผ่านกองลูกอมน้ำหนักเท่าตัวคนรักก่อนเสียชีวิต ซึ่งผู้ชมสามารถหยิบกลับบ้านไปทีละเม็ดได้ หรือ Untitled (Perfect Lovers) ที่เขาใช้เพียงนาฬิกาสองเรือนวางคู่กัน ชวนให้คิดถึงคู่รักที่แม้จะตั้งเวลาให้ตรงกันอย่างไร เวลาของทั้งสองก็อาจคลาดกันได้สักวัน

Félix González-Torres ศิลปินร่วมสมัย? ศิลปินมินิมัล? ศิลปินคอนเซปชวล? หรือศิลปินเกย์?

ศิลปินคนหนึ่งเป็นเกย์อย่างเปิดเผย ตั้งแต่ตอนที่การเป็นเกย์มาคู่กับการรับคำรุมประณามเรื่องโรคเอดส์ ศิลปินคนเดียวกันนี้เคยถูกศิลปินอีกคนหยิบผลงานจากที่จัดแสดงไปทิ้งถังขยะ ศิลปินที่เป็นเควียร์ เป็นชาวคิวบา และเป็นเอดส์ แต่เราแทบจะไม่เห็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายอะไรที่บ่งบอกอัตลักษณ์เหล่านั้นในงานของเขาเลย อย่างผลงานที่เรียกได้ว่าดังที่สุดของเขา ก็ยังเป็นเพียงกองลูกกวาดที่วางอยู่มุมห้องเท่านั้น

เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส (Félix González-Torres) เป็นศิลปินที่มักถูกรวมไว้ในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย ศิลปะมินิมัล ไปจนถึงศิลปะเชิงความคิด (Conceptual Art) ผู้ซึ่งผลงานของเขาเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” มาก ๆ แต่ก็เป็นเรื่องสาธารณะมาก ๆ เหมือนกัน หลายคนอาจจะเคยเสียน้ำตาให้กับผลงานของเขามาแล้วตั้งแต่ Untitled (Portrait of Ross in L.A.) ที่เขาเชื่อมโยงความตายของคนรักที่กำลังเดินทางมาถึงช้า ๆ เข้ากับประสบการณ์ของเราทุกคน ผ่านกองลูกอมน้ำหนักเท่าตัวคนรักก่อนเสียชีวิต ซึ่งผู้ชมสามารถหยิบกลับบ้านไปทีละเม็ดได้ หรือ Untitled (Perfect Lovers) ที่เขาใช้เพียงนาฬิกาสองเรือนวางคู่กัน ชวนให้คิดถึงคู่รักที่แม้จะตั้งเวลาให้ตรงกันอย่างไร เวลาของทั้งสองก็อาจคลาดกันได้สักวัน

เนื่องในเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายในปีนี้ เราอยากชวนมาย้อนดูแนวคิดและผลงานตลอดชีวิตของเขา ว่ากว่าจะมาเป็นสุนทรียศาสตร์แห่งความเรียบง่ายที่แฝงไว้ด้วยเรื่องราวชีวิตแสนหนักหนา เขาผ่านอะไรมาบ้าง และรากความคิดอย่างไร ใน The Art of Being An Artist: เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส (Félix González-Torres) ศิลปินมินิมัล ศิลปินคอนเซปชวล หรือศิลปินเกย์?

เด็กโฟโต้นักทฤษฎี

ท่ามกลางไฟปฏิวัติที่ปะทุมาก่อนหน้าเกือบสิบปี เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส (Félix González-Torres) เกิดขึ้นในประเทศคิวบา ก่อนจะถูกส่งตัวไปใช้ชีวิตวัยรุ่นที่สเปนในปี 1971 และย้ายที่อยู่อีกครั้งในปีเดียวกันไปยังปวยร์โตรีโก ที่ซึ่งเขาเริ่มเรียนรู้การทำงานศิลปะ ก่อนจะลงเอยที่มหานครนิวยอร์กในที่สุดเมื่อปี 1979 เพื่อศึกษาต่อที่ Pratt Institute

ปี 1983 เขาเรียนจบปริญญาตรีสาขาภาพถ่าย ก่อนที่จะได้รับปริญญาโทสาขาเดียวกันในอีกสี่ปีต่อมา โดยเขาเข้าร่วมกับกลุ่มศิลปินและสเปซศิลปะแนวคอนเซปชวล ‘Group Material’ ที่ทำงานวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ทุนนิยม บริโภคนิยม รวมไปถึงแนวคิดเรื่องศิลปะและสถาบันทางศิลปะ ร่วมกับสมาชิกอย่าง เจนนี โฮลเซอร์ และ บาร์บารา ครูเกอร์

พร้อม ๆ กัน เขายังใกล้ชิดอยู่กับแวดวงวิชาการ โดยเป็นผู้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กจนถึงปี 1989 ซึ่งถึงจะดูเป็นคนละเรื่องกับผลงานต่าง ๆ ของเขาที่เราคุ้นเคยกันมาก แต่ประสบการณ์ช่วงนี้ของเขาก็คงเป็นหน่ออ่อนหนึ่ง ที่ส่งผลต่อวิธีทำงานของเขาในอนาคต เหมือนที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Tim Rollins เกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างทฤษฎีกับปฏิบัติการทางศิลปะของเขาไว้ว่า

ถ้าผมไม่ได้อ่านวอลเตอร์ เบนยามิน, ฟานง, อัลธูแซร์, บาร์ธส์, ฟูโกต์, บอร์เฆส, มาทแลร์ และคนอื่น ๆ บางทีผมอาจจะสร้างงานบางชิ้นขึ้นมาเป็นอย่างที่มันเป็นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ งานเขียนหรือแนวคิดของพวกเขาบางอย่างให้เสรีภาพในการมองกับผม แนวคิดพวกนี้พาผมไปสู่ที่แห่งความรื่นรมย์ผ่านความรู้ และความเข้าใจว่าความเป็นจริงมันถูกประกอบสร้างขึ้นอย่างไร เข้าใจการก่อตัวขึ้นของตัวตนในวัฒนธรรม การวางกับดักของภาษา และรอยแตกต่าง ๆ ในโครงเรื่องหลัก

Untitled (Madrid 1971) เป็นผลงานตั้งแต่ปี 1988 ที่เขาสำรวจประเด็นเรื่องตัวตน การย้ายถิ่น ไปจนถึงการเดินทาง ในแบบภาพถ่ายของเด็กชายและอนุสาวรีย์จากมุมต่ำ ที่แตกกระจายออกจากกันในแบบตัวต่อจิ๊กซอว์ ด้วยเทคนิกแบบนี้ เขาได้เชื่อมโยงความทรงจำส่วนตัวเข้ากับประวัติศาสตร์ของสังคม และก็ด้วยเทคนิกนี้เองที่เขาเรียกร้อง “คนดู” ให้เข้ามามีส่วนร่วมมากว่าดู แต่ช่วยประกอบภาพถ่ายของเขาขึ้นมาด้วย และช่วยตั้งชื่อให้ผลงานชิ้นนี้เอง

ผมว่าถ้าให้ผมเริ่มลิสต์คนที่ส่งอิทธิผลกับผมใหม่ ผมอยากเริ่มที่เบรคชท์ ผมคิดว่านี่สำคัญมาก เพราะในฐานะศิลปินฮิสปานิก (ที่มาจากวัฒนธรรมพูดภาษาสเปน) พวกเราจะถูกคาดหวังให้ทำตัวบ้า ๆ มีสีสันสดใส โคตรจะสดใส เราถูกคาดหวังให้ ‘รู้สึก’ แทนที่จะคิด [แต่] เบรคชท์บอกว่าการเว้นระยะห่างเพื่อปล่อยเวลาให้ผู้ชมหรือสาธารณชนสะท้อนย้อนคิด

สุนทรียศาสตร์เกย์

ผมไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการเป็นเกย์

ย้อนไปเมื่อปี 1983 นักศึกษาหนุ่ม รอส เลย์ค็อก (Ross Laycock) บอกรูมเมตของเขาว่าเขาเพิ่งเจอชายหนุ่มแสนดีคนหนึ่งที่บอยบาร์ เกย์บาร์แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ชายหนุ่มคนนั้นคือเฟลิกซ์ พวกเขาตกหลุมรักกันและกัน และพัฒนาความสัมพันธ์อันลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งรอสตรวจพบว่าเขาเป็นโรคเอดส์ในปี 1988

“[ผมแค่ทำงานเกี่ยวกับ] การตกหลุมรักกับชายคนหนึ่ง” เฟลิกซ์ตอบในบทสัมภาษณ์ของเขากับรอส เบลกเนอร์

‘Untitled’ (Perfect Lovers) (1987-1990) เป็นหนึ่งในผลงานจากช่วงเวลาของเขากับรอสที่โด่งดังที่สุด ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่านาฬิกาบ้าน ๆ สองเรือนที่หน้าตาเหมือนกัน แขวนอยู่ชิดติดกัน และตั้งเวลาให้ตรงกันในตอนติดตั้งผลงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ นาฬิกาทั้งสองก็จะค่อย ๆ เดินไม่ตรงกันไปเอง ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

มันเป็นหนึ่งในงานที่ดูยากที่สุดของเขา ไม่ใช่เพราะมันเข้าใจยาก แต่เพราะมวลอารมณ์ที่อัดแน่นอยู่เต็มไปหมดเมื่อเราเอาตัวเองเข้าไปปะทะกับงานนี้ต่างหาก

มันเล่าเรื่องสิ่ง ‘สากล’ อย่างเวลา ที่ค่อย ๆ ผ่านไปช้า ๆ พร้อมกับทุกคน แต่คนแต่ละคนหรือแม้แต่วัตถุแต่ละอย่าง ก็อาจจะไม่ได้รับรู้และมีประสบการณ์กับเวลาในแบบที่เดียวกัน แม้จะอยู่ดำรงอยู่เคียงข้างด้วยกันก็ตาม อาจเป็นแรงโน้มถ่วง อาจเป็นแบตเตอรี่ข้างในนาฬิกา อาจเป็นกลไกภายใน ที่ทำให้ ‘สิ่ง’ ทั้งสองรับรู้เวลาได้ต่างกัน หรืออาจจะเป็นโรคเอดส์ ที่ทำให้นาฬิกาของคนคนหนึ่งหยุดเดินลง ไม่สามารถรับรู้เวลาได้อีกต่อไป ในขณะที่อีกคนยังคงเดินทางต่อไปกับเวลาที่ก็ยังคงไม่หยุด

การนำวัสดุที่พบได้ทั่วไปมาใช้ทำงานไม่ใช่เรื่องใหม่ ดูชองป์นำโถฉี่มาเป็นศิลปะตั้งหลายสิบปีก่อนหน้าเขาแล้ว แต่ผลงานของเขาผลักนิยามของศิลปะที่เป็นแค่แนวความคิดให้ยิ่งล้ำขึ้นไปอีก เพราะมันไม่ได้เป็นวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่งโดยเฉพาะเลย แต่มันอาจจะเป็นนาฬิกาเรือนไหนก็ได้ สร้างขึ้นเมื่อไรก็ได้ แค่เพียงนำมาติดตั้งไว้ด้วยกัน มันก็เป็น ‘Untitled’ (Perfect Lovers) แล้ว นั่นอาจจะเว้นช่องว่างระหว่างอัตลักษณ์ของศิลปินกับผลงานศิลปะของเขาไว้มากมาย ทำให้มันเป็นเรื่องของภววิทยาหรือการรับรู้โลกของแต่ละคน แทนที่จะเป็นการเมืองอัตลักษณ์แบบชูธงสัญลักษณ์อะไร แต่นั่นก็อาจเป็นสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อถึง ในตอนที่เขาบอกว่า การตกหลุมรักกับผู้ชาย “ไม่ใช่อารมณ์อ่อนไหวอะไรเลย มันเป็นเรื่องการเมืองมาก ๆ เพราะคุณกำลังย้อนเกล็ดอะไรก็ตามที่คุณสมควรทำอยู่ คุณไม่ควรจะตกหลุมรักผู้ชายอีกคน มีเซ็กส์กับผู้ชายอีกคน”

สุนทรียศาสตร์ที่เขาใช้เล่าเรื่องความปรารถนาแบบเกย์ เป็นแบบที่จะถูกบรรจุไว้ในประวัติศาสตร์ของศิลปะเชิงความคิด ศิลปะมินิมอล ไปจนถึงศิลปะที่มุ่งวิพากษ์สถาบัน (ศิลปะ) (Institutional Critique) ได้อย่างไม่ผิดแปลกอะไร ในแง่หนึ่งเราจะไม่เห็น “สุนทรียศาสตร์แบบเกย์” จากเฟลิกซ์เลย ทั้งในเชิงสัญลักษณ์หรือสไตล์อะไรที่จะบ่งบอกความเป็นเกย์ได้ชัดเจน แต่เขาได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ได้น่าคิดมาก ๆ ว่า

สิ่งที่ผมอยากทำบางทีกับงานบางชิ้นที่เกี่ยวกับความปรารถนาต่อเพศเดียวกันคือการทำให้มันถูกครอบคลุม (inclusive) มากยิ่งขึ้น ทุก ๆ ครั้งที่พวกเขา [ผู้ชม] เห็นนาฬิกาหรือกองกระดาษหรือผ้าม่าน ผมอยากให้เขาคิดถึงมันซ้ำอีกครั้ง

นาฬิกาชีวิตของรอสหยุดเดินลงในปี 191 — เฟลิกซ์ทำงานศิลปะเพื่อสาธารณชนของเขาต่อไป สาธารณชนที่เขาหมายถึงแค่รอสนั่นแหละ

ผมไม่เคยหยุดรักรอส เพียงแค่เขาเสียชีวิต ไม่ได้หมายความว่าผมจะหยุดรักเขา

เรื่องบนเตียงบนถนน

ผู้คนอาจจะซื้อบิลบอร์ดพวกนี้ไปก็ได้ แต่พวกเขาก็ต้องเอามันไปไว้ในที่สาธารณะ พวกเขาต้องเช่าพื้นที่สาธารณะ

ถ้า "Untitled" (Perfect Lovers) คืองานที่เขาพาเราไปสัมผัสความโหดร้ายของเวลาที่เดินผ่านไปช้า ๆ งานชุดกองกระดาษ (Paper Stack) ของเขาก็คือการบีบเราให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับความโหดร้ายนั้นโดยตรง

ในงานชุดนี้ เขาจะกำหนดขนาดและความสูงของกองกระดาษขึ้นมา และมันจะค่อย ๆ ลดขนาดลงเรื่อย ๆ ทีละแผ่น ทีละแผ่น เหตุผลไม่ใช่เพราะเวลาผ่านไป แต่เพราะผู้ชมสามารถหยิบกระดาษแต่ละใบกลับไปด้วยได้ต่างหาก แม้ในท้ายที่สุด มันจะถูกเติมให้เต็มใหม่ทุกครั้งที่ขนาดมันลดลงไปก็ตาม

เฟลิกซ์ไม่ได้ต้องการแค่ให้เรารู้จักความรู้สึกแบบที่เขารู้เท่านั้น เขาต้องการให้เราคิดกับมันและรับรู้ถึงบทบาทของตัวเราเองด้วย เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่องการละครของเบรคชท์ นักคิดที่เขาอ้างถึงบ่อยครั้งในบทสัมภาษณ์ ซึ่งเรียกร้องผู้ชม “ออกแรง” มีส่วนร่วม (คิด) และร่วมรับรู้บทบาทของตัวเองในฐานะคนดูด้วย ในแง่หนึ่ง ผลงาน “ประติมากรรม” ของเขาจึงเป็นเหมือนพร๊อบประกอบการแสดง ให้เราไปใช้ “เล่น” บทของตนในฉากต่างหาก ซึ่งแน่นอน ว่านี่เป็นการเข้าไปปะทะอย่างรุนแรงกับกฎเกณฑ์ของโลกศิลปะตอนนั้น (หรือจริง ๆ แล้วก็ตอนนี้ด้วย)

มันเรียกว่าจลาจลได้เลยตอนที่ผมโชว์งานนี้ในพิพิธภัณฑ์ เพราะว่าคนเราไม่ควรจะแตะงานศิลปะอะ อย่าเพิ่งพูดถึงว่าจะเอาศิลปะกลับบ้านได้เลย ตอนงาน Whitney Biennial ปี 1991 คนจะชอบไปถามพนักงานพิพิธภัณฑ์ว่า จริง ๆ หรอ พวกเขาหยิบเอาแผ่นกระดาษจากงานกองกระดาษของผมไปได้จริง ๆ หรอ ซึ่งพนักงานก็ให้ความร่วมมือนะ แต่ผมเคยโชว์งานครั้งหนึ่งใน New York gallery แล้วศิลปินจาก East Village คนหนึ่งเกิดฉุนอะไรกับงานนั้นมากเลย เธอรับไม่ได้อะ ผมเห็นเธอหยิบกระดาษไป 20 - 25 แผ่นจากกองนั้น แล้วก็โยนลงถังขยะ แล้วนั่นแม่งโคตรทำให้ผมโมโหเลย

ความตายของรอสอาจจะมีแค่รอสเองที่สัมผัสมันโดยตรง และความสัมพันธ์ระหว่างเฟลิกซ์กับรอสก็อาจมีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่เข้าใจ แต่เฟลิกซ์ยืนยัน ผ่านผลงานเหล่านี้ ว่าชีวิตของพวกเขาไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะพวกเราทุกคนมีส่วนรู้เห็นกันทั้งนั้นกับวัฒนธรรมและค่านิยมต่าง ๆ ที่ไปส่งผลต่อชีวิตของเกย์ รวมไปถึงเรื่องสำคัญ ๆ อย่างนโยบายและกฎหมายด้วย ในผลงานชุดบิลบอร์ดของเขา เฟลิกซ์ใช้สื่อสาธารณะอย่างป้ายประกาศขนาดใหญ่ ประกาศเรื่องบนเตียงให้ทุกคนเป็นประจักษ์พยานร่วมกัน มันเป็นป้ายที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าภาพเตียงคู่สำหรับสองคน ที่มีรอยยับย่น แสดงให้เห็นถึงการหายไป ของคนสองคนบนเตียง

มันเป็นสไตล์แบบที่เราคุ้นตาจากเจนนี โฮลเซอร์และบาร์บารา ครูเกอร์ เพื่อนจากกลุ่ม ‘Group Material’ ของเขา ที่ผูกความเป็นศิลปะไว้กับความเป็นสาธารณะ — ถ้ามันมีใครซื้องานชิ้นนี้ไป แล้วไปติดตั้งนั่งดูคนเดียวในห้อง มันก็ไม่ใช่งานชิ้นนี้แล้ว เพราะนิยามของงานชิ้นนี้คือการเผยแพร่อยู่ในที่สาธารณะ

เช่นเดียวกับงานชุดลูกกวาดของเขา ที่ไม่มีใครสามารถเอาไปติดตั้งนั่งดูคนเดียวได้ ในงาน “Untitled” (Portrait of Ross in L.A.) ที่ดังสุด ๆ และชวนซึมสุด ๆ ของเขา เขาสร้าง “ภาพเหมือน” ของรอสขึ้น จากลูกกวาดหลากสี ที่วางกองไว้มุมห้อง น้ำหนักรวมกันเท่ากับน้ำหนักของรอสก่อนเสียชีวิต ใครจะหยิบเอาลูกกวาดไปก็ได้ มันจะลดน้ำหนักลงเสมอ แต่ก็จะกลับมาเติมเต็มเสมอเช่นเดียวกัน

เฟลิกซ์เสียชีวิตในปี 1996 ด้วยอายุ 38 ปี แต่ผลงานของเขายังคงใช้ชีวิตต่อไปเรื่อย ๆ ในปี 2007 เขาเป็นศิลปินอเมริกันคนที่สองที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนสหรัฐอเมริกาไปแสดงงานที่เวนิสเบียนนาเล่หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว และยังคงทำให้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ ว่าสังคมการเมืองส่งผลต่อเรื่องส่วนตัวของเราและทุก ๆ คนอย่างไร

อ้างอิง https://www.felixgonzalez-torresfoundation.org/exhibitions/felix-gonzalez-torres-and-joseph-kosuth https://bombmagazine.org/articles/1995/04/01/felix-gonzalez-torres/ https://flash---art.com/article/felix-gonzalez-torres/ https://www.artnews.com/feature/who-was-felix-gonzalez-torres-why-was-he-important-1234592006/ https://visualaids.org/blog/carl-george-fgt-ross-laycock https://scholarworks.sjsu.edu/etd_theses/5116/ https://www.felixgonzalez-torresfoundation.org/attachment/en/5b844b306aa72cea5f8b4567/DownloadableItem/639385f3fa829db6a90469fb https://bombmagazine.org/articles/1995/04/01/felix-gonzalez-torres/ https://visualaids.org/blog/carl-george-fgt-ross-laycock