‘FREE-FORM’ โชว์ดนตรี-ศิลปะ “ไร้รูปแบบ” ที่ตั้งคำถามว่าอีกฟากของกำแพงแห่งแบบแผนศิลปะนั่น มีอะไรอยู่กันแน่นะ?
ชายหนุ่มก้าวเข้าสู่เวทีและยืนนิ่งอยู่สักพักตรงหน้าไมค์ ก่อนจะเปล่งเสียงดนตรีออกมา… เป็นลมหายใจ กลายเป็นเสียงหลบสูง แล้วก็กลายเป็นเสียงสำรอกในลำคอ นั่นคือโชว์แรกจาก ‘FREE-FORM’ การแสดงที่ House of Tri ซึ่งผสมผสานภูมิทัศน์แห่งเสียง (Soundscape), ดนตรีไทย “เดิม”, ดนตรีอิเลคทรอนิก, และการเต้นร่วมสมัย ตามแนวคิดของงานที่ชูเรื่องอิสระ ออกนอกกรอบ กำแพงเดิม ๆ ทั้งในแง่โปรแกรมการแสดงที่รวมศิลปะหลายแขนงเข้าด้วยกันแบบไม่แบ่งแยก และในแง่ของแต่ละโชว์เอง ที่บอกปัดรูปแบบเดิม ๆ ที่เคยเป็นมา
ศิลปินชื่อแหวกแนวสุดเท่ ‘} } } } { { { {’ คือเจ้าของการ “ขับร้องเดี่ยว” โชว์แรกของค่ำคืน หลังจากพวกเขาต้อนรับเราด้วยการบรรเลงเดี่ยวเชลโลจากด้านนอกห้องแสดง เขาทำให้เราดูว่าเส้นเสียงในลำคอของคนทำอะไรได้มากแค่ไหน มากไปกว่าการขับร้องทำนองหลัก ซึ่งพอบวกกับความก้องของเสียงในห้องก็ทำให้เรานึกไปถึงภาพการขับร้องเพื่อศาสนาตามขนบดนตรีตะวันตก ดนตรีของเขาปฏิเสธทฤษฎีการขับร้องกระแสหลักแน่ ๆ แต่ว่าก็ยังยึดโยงกับความทรงจำของการดัดเสียงตัวเองเล่นเป็นเสียงนั้นเสียงนี้ที่เราว่าเด็ก ๆ ทุกคนก็น่าจะเคยทำกันมาบ้าง
เช่นเดียวกับวง ‘ตีเป่า’ ที่ก้าวเท้าออกจากโลกดนตรีไทย(เดิม) ที่ผสมวงนั่งเล่นเรียบร้อย ออกมาเป็นวงดูโอ้ที่ทดลองวิธีเล่นไม่คุ้นตากับเครื่องดนตรีที่แสนจะดั้งเดิมได้สนุกสนาน เป็นฆ้องวงกับขลุ่ยที่ผลัดกันประสานบ้างผลัดกันนำบ้าง และบางทีก็เป็นเสียงโอบอุ้มบรรยากาศของห้องไว้เท่านั้น ซึ่งถึงตรงนี้เราก็มีคำถามหนึ่งอยู่ในใจแล้ว ว่าการ FREE จาก FORM หรือการเป็นอิสระจากแบบแผนเนี่ยมันควรออกมาแค่ไหน มีระดับในการปฏิเสธอย่างไร และทำไมถึงจะต้องปฏิเสธกันด้วย เพราะอย่างน้อยเราก็ยังเห็นดูโอ้คู่นี้วางเท้าข้างหนึ่งไว้ในบ้านหลังเดิม ที่เรียกว่าเครื่องดนตรีไทย
ครึ่งหลังของโชว์คือการแสดงของดนตรีอิเลคทรอนิกของ PLENTY!! ที่แน่นอนว่าก็ก้าวข้ามโครงสร้างของ “เพลง” แบบเดิม ๆ โดยไม่มีทำนองหลักหรือ “ท่อนฮุค” ให้ร้องตามและโดดตามได้ เหมือนกับดนตรีเต้นรำอิเลคทรอนิกอื่น ๆ และท้ายที่สุดคือเพอร์ฟอร์แมนซ์ของ Pakhamon Hemachandra ที่เริ่มด้วยการคลานสี่ขาเข้าห้อง สั่นกระดิ่งที่คอ ก่อนจะค่อย ๆ ยืนหลังตรง และยืดอวัยวะทั่วตัวไปพร้อม ๆ กับบทเพลงที่นักดนตรีทั้งหมดของค่ำคืนนี้มาบรรเลงร่วมกัน
ตั้งแต่ดาดา (Dada) เรื่อยมาถึงฟลักซัส (Fluxus) และยังไม่นับกบฎอีกจำนวนมากแห่งโลกศิลปะ — ศิลปินจำนวนมากค้นพบว่าไอเดียของพวกเขา ประสบการณ์ของพวกเขา หรือแนวคิดความเชื่อของพวกเขา ไม่สามารถถูกถ่ายทอดออกมาผ่านรูปแบบเดิม ๆ ที่ทำกันมาได้อีกต่อไปแล้ว จึงต้องมีรูปแบบ (form) ใหม่ ๆ มาเป็นผืนหน้ากระดาษที่สามารถบันทึก “บทกวีแห่งเสียง” หรืออย่าง “เสียงโลกขยับตัว” ออกมาได้ ข้างนอกกำแพงแห่งขนบทางศิลปะนั้นมีอะไรบางอย่างที่น่าหลงไหลและดึงดูดเราออกไปเหลือเกิน แต่มันไม่ใช่แรงกระตุ้นชนิดเดียวที่เร้าให้เราออกเดินทางไป ซึ่งเราคิดว่าเป็นแรงที่สำคัญไม่แพ้กัน และอาจจะอธิบายได้มากกว่าด้วยซ้ำว่าทำไมคนเราถึงอยากแหกกฎ
คืออารมณ์ขบถแบบเดียวกับที่ทำให้นักเรียนแหกกฎไปซื้อขนมกินเองข้างโรงเรียน อารมณ์รำคาญการควบคุมแบบเดียวกับที่ทำให้เราออกไปชุมนุมประท้วงและตะโกนด่าตำรวจในฐานะตัวแทนของอำนาจ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ทำให้เกิดคำถามเหมือนกัน ว่าถ้าแหกกฎได้ แล้วยังไงต่อ? (หรือในภาษาฝ่ายซ้ายคือ หลังปฏิวัติแล้ว สังคมใหม่จะหน้าตาเป็นยังไง?) ซึ่งเราก็สงสัยว่า ถ้าไม่มีรูปแบบเดิมแล้ว เราจะนำเสนอเนื้อหาไอเดียอะไร?
โชว์ที่มีใจความหลักเป็นการออกนอกกรอบนี้ทำให้เราตื่นเต้น เหมือนไปเดินงานแสดงสินค้าวัสดุก่อสร้าง แล้วพบดีไซน์แสนประหลาดที่ทำให้ทึ่งว่าไม้ก็งอได้อย่างนี้ด้วยหรอหรือเหล็กก็นิ่มขนาดนี้ได้ด้วยหรอ และทำให้เราจินตนาการต่อว่าถ้านักออกแบบสักคนเอามันไปสร้างบ้านก็คงน่าใช้งานมากเลย เช่นเดียวกับเมื่อฟังเสียงที่ผสมผสานกันขึ้นมาได้ประหลาด ซึ่งทำให้เราจินตนาการต่อว่านอกจากเรื่องที่ว่าพวกเขากำลังออกนอกกรอบกันอยู่นี่ พวกเขากำลังเล่าเรื่องอะไรกันอยู่นะ? เหมือนเวลาที่เราฟังฝรั่งเล่นกีตาร์สำเนียงไทย ซึ่งทำให้เราสงสัยว่านอกจากเรื่องสำเนียงไทยนอกกรอบตะวันตกเนี่ย เขาเล่าเรื่องอะไรกันอยู่นะ? เพราะดนตรีไทยเองก็มีเรื่องเล่าที่หลากหลายใช้ได้เลย
‘FREE-FORM’ เป็นโชว์ที่กระตุ้นเราให้อยากออกนอกกรอบมาก ๆ เพราะมันทำให้เราเห็นว่าหลังกำแพงนั่นยังมีความเป็นไปได้อีกเยอะแยะเลย และยิ่งทำให้เราสนใจแล้วว่างานครั้งต่อ ๆ ไป พวกเขาจะใช้พื้นที่นอกกรอบตรงนั้น มาเสนอไอเดียหรือเรื่องราวอะไรใหม่ ๆ ให้กับเราอีก