Édouard Manet ศิลปินผู้เปิด ‘เปลือย’ ความ ‘โป๊’ และพาโลกศิลปะเคลื่อนสู่ยุคสมัยใหม่

Édouard Manet ศิลปินผู้เปิด ‘เปลือย’ ความ ‘โป๊’ และพาโลกศิลปะเคลื่อนสู่ยุคสมัยใหม่

Édouard Manet ศิลปินผู้เปิด ‘เปลือย’ ความ ‘โป๊’ และพาโลกศิลปะเคลื่อนสู่ยุคสมัยใหม่

‘อ๋อ พวกเขาอยากให้ฉันวาดรูปนู้ดใช่มั้ย? ได้ ฉันจะวาดให้ ...ฉันจะวาดมันออกมาในสภาพวาดล้อมที่แสนธรรมดาแบบนี้แหละ แบบผู้หญิงเหล่านั้นไง (หมายถึงผู้หญิงที่กำลังอาบน้ำในแม่น้ำ)’ - Édouard Manet

Édouard Manet และที่มาของภาพ Déjeuner sur l'herbe

ตลอดชีวิตการเป็นศิลปินกว่าสองทศวรรษศิลปินเจ้าลัทธิประทับใจที่ชื่อว่า เอดัวร์ มาแนต์ (Édouard Manet) ไม่มีช่วงไหนที่เขาว่างเว้นจากการตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ จนอาจเรียกได้ว่า วัฏจักรชีวิตการทำงานของมาแนต์คือการสร้างผลงาน โดนด่า ทำใหม่ โดนด่า แล้วก็วนซ้ำอยู่เช่นนั้นไปจนกระทั่งเขาสิ้นชีวิต

แต่การเป็นศิลปินอื้อฉาวแห่งยุคที่กระตุกต่อมศีลธรรมและทำลายขนบธรรมเนียมทางศิลปะนี่เองที่ทำให้ผลงานของมาแนต์มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการทางศิลปะให้ก้าวเข้าสู่ยุคของ ‘ศิลปะสมัยใหม่’ (Modern Art) ที่จะพลิกโฉมหน้าศิลปะตะวันตกไปตลอดกาล ผลงานเกือบทั้งชีวิตของมาแนต์มีสาระสำคัญที่ทำให้ผู้ชมต้องปรับโลกทัศน์ในการรับชมศิลปะใหม่ ศิลปะของมาแนต์หาใช่แค่ ‘ถ่ายทอดอะไร’ แต่เป็นการให้ความสำคัญกับการ ‘ถ่ายทอดสิ่งสิ่งนั้นออกมาอย่างไร’

เหตุใดภาพนู้ดของมาแนต์จึงได้สั่นสะเทือนสังคมได้ระดับนั้น? ทั้งที่แต่ไหนแต่ไรมา ภาพหญิงเปลือยก็ปรากฏอยู่ในกระแสธารศิลปะมาตลอด และทั้งที่ฝีแปรงและเทคนิคของมาแนต์ก็สะท้อนบอิทธิพลที่ได้รับมาจากมาสเตอร์ของศิลปะคลาสสิกยุคก่อน ๆ ซึ่งตัวมาแนต์เองก็เคยกล่าวว่า เขาไม่เคยคิดจะสร้างเทคนิคศิลปะแบบใหม่ขึ้นมา แต่เหตุใดกัน ภาพหญิงเปลือยของเขาจึงได้กระตุกต่อมศีลธรรมและทำให้ชาวปาริเซียงในยุคนั้นต้องเบือนหน้าหนีด้วยความอุจาดตา?

The Art of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้ GroundControl จะขอพาทุกคนกลับไปย้อนรอยดูผลงานของ Édouard Manet ศิลปินผู้เป็นดังสะพานเชื่อมศิลปะของโลกเก่าและโลกใหม่เข้าด้วยกัน ผ่านการย้อนดูผลงานชิ้นสำคัญของมาแนต์ที่ ‘เปลือย’ แก่นของศิลปะเพื่อ ‘เปิด’ แง่มุมใหม่ในการชมศิลปะไปตลอดกาล

Old Master Fanboy

เอดัวร์ มาแนต์ (Édouard Manet) เกิดในครอบครัวชาวปาริเซียงมีฐานะ ในบ้านที่มีพ่อเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม ส่วนแม่ของเขาก็เป็นลูกอุปถัมภ์ของตระกูลขุนนางจากสวีเดน ด้วยความที่เกิดมาในครอบครัวชนชั้นสูง มาแนต์จึงถูกคาดหวังให้เติบโตขึ้นมาแล้วเข้าทำงานในสายอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคม โดยเฉพาะพ่อของเขาที่คาดหวังว่าเขาจะเดินตามรอยตัวเองด้วยการเป็นทนายหรือไม่ก็ทำงานในแวดวงกฎหมาย

แต่สุดท้ายแล้วมาแนต์ก็กระทำการขัดใจพ่อด้วยการสมัครเป็นทหารเรือ แต่ก็สอบไม่ผ่าน ซึ่งในช่วงที่พลาดฝันนี้เอง ลุงของเขาก็ได้แนะนำให้มาแนต์ไปเข้าเรียนในชั้นเรียนวาดภาพ และที่นั่นเองที่เขาได้พบกับ Antonin Proust ศิลปินฝรั่งเศสที่ในกาลต่อมาจะได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศิลปะของฝรั่งเศส และกลายเป็นเพื่อนสนิทผู้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจทางศิลปะของมาแนต์

ระหว่างปี 1850 - 1856 มาแนต์เริ่มศึกษาศิลปะอย่างจริงจังด้วยการเข้าเรียนในสถาบันสอนศิลปะของ Thomas Couture ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้ชำนาญในงานจิตรกรรม Large-scale ที่ใช้เทคนิคศิลปะแบบยุคคลาสสิก ซึ่งด้วยอิทธิพลที่ได้รับจากอาจารย์นี้เองที่ทำให้มาแนต์ได้ฝึกเทคนิคศิลปะคลาสสิก โดยเฉพาะการฝึกลอกแบบจากผลงานของบรรดามาสเตอร์ทั้งหลายที่จัดแสดงอยู่ใน Louvre ทั้งของ Frans Hals, Francisco de Goya หรือ Diego Velazquez ซึ่งมาแนต์ก็จริงจังกับการฝึกฝีมือด้วยการลองเลียนแบบภาพวาดศิลปินดังมาก จนถึงขนาดที่ในปี 1857 มาแนต์ได้ไปพบกับ Eugène Delacroix เพื่อขอคัดลอกภาพ Dante and Virgil in Hell ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Musee du Luxembourg

ที่จริงแล้วเบื้องหลังความตั้งใจในการฝึกวาดภาพด้วยการลอกแบบจากผลงานของศิลปินดังเหล่านี้ ก็เพราะมาแนต์ตั้งใจที่จะศึกษาและแยกองค์ประกอบที่อยู่ในงานคลาสสิก เพื่อดูว่าแต่ละองค์ประกอบทำงานกับผู้ชมอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแสง สี หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดเงาในงานศิลปะ โดยมาแนต์มุ่งมั่นที่จะสกัดให้ได้ว่า องค์ประกอบเหล่านี้ทำงานกับผู้ชมอย่างไรในแวบแรกที่ตาเห็น

ออกนอกกรอบ

ในตอนที่มาแนต์เริ่มวาดภาพในช่วง 1950s แวดวงศิลปะในยุคนั้นยังไม่คุ้นเคยกับงานศิลปะที่นำเสนอภาพชีวิตประจำวันและฉากเมืองของกรุงปารีสที่เห็นอยู่ในทุกวี่ทุกวัน ในยุคนั้น ศิลปินที่จะได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จในอนาคตจึงมุ่งมั่นวาดแต่ภาพที่นำเสนอเรื่องราวคลาสสิกในปกรณัมหรือภาพจากตำนาน ด้วยความหวังว่าจะได้จัดแสดงผลงานของตัวเองที่นิทรรศการ French Academy หรือที่เรียกว่า Salon ซึ่งเป็นเวทีการจัดแสดงผลงานที่คัดสรรเฉพาะผลงานของศิลปินที่ได้รับการยอมรับและเข้าเกณฑ์มาตรฐานสุนทรียะขั้นสูงของคณะกรรมการ

แต่มาตรฐานและชนชั้นทางศิลปะเหล่านั้นก็ถูกทำลายลงด้วยการมาถึงของศิลปินที่ชื่อว่ามาแนต์

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น มาแนต์และกลุ่มเพื่อนของเขาอย่าง Edgar Degas และ Henri Fantin-Latour ล้วนเป็นศิลปินที่เดินตามสุนทรียะและเทคนิคของเหล่า Old Master ยุคก่อน ๆ และก็ชื่นชอบในฝีแปรงและสไตล์คลาสสิกแบบนี้จริง ๆ ซึ่งด้วยความที่มาแนต์ศึกษาผลงานศิลปะชั้นสูงมามากมาย ทำให้เขามีเพื่อนอยู่ใน French Academy ซึ่งทำให้เขามีโอกาสสูงมากที่จะได้จัดแสดงผลงานในนิทรรศการอันทรงเกียรติแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม มาเนต์และผองเพื่อนเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการถ่ายทอดประเด็นทางศิลปะ พวกเขารู้สึกจับใจกับภาพทิวทัศน์และสีสันของเมืองปารีส เห็นความงดงามในกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยากจะวาดภาพในหัวข้อตามขนบอย่างเดียว

และแม้ว่าจะสนใจเทคนิคศิลปะชั้นสูงตามขนบ แต่มาแนต์และเพื่อนก็อยากทดลองเทคนิคอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น แทนที่เขาจะผสมสีที่อยากได้ในจานสีให้เสร็จก่อนแล้วค่อยป้ายลงไปบนผ้าใบ เขากลับนำสีสองสีมาวางคู่กันในงานแบบตรง ๆ แล้วค่อยให้ตาของคนดูผสานสีนั้นเอง ซึ่งเทคนิคการทำแบบนี้ก็ทำให้นักวิจารณ์ศิลปะในยุคนั้นเหยียดหยัน และมองว่างานของมาแนต์คืองาน ‘ที่ยังไม่เสร็จ’ แต่กล้าที่จะเอามาจัดแสดง

หนักกว่าการใช้เทคนิคใหม่ สิ่งที่ทำให้มาแนต์ ‘โดนจวกยับ’ มากกว่านั้นก็คือการที่เขาถ่ายทอดภาพที่คนเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ของถนนในกรุงปารีสที่ทำให้คนงงว่า ‘วาดมาทำไม’ ไม่ว่าจะเป็นภาพของขอทาน คนร้องเพลงบนถนน คนงานก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งภาพสุภาพสตรีชั้นสูงนั่งจิบชาที่คาเฟ่ข้างทาง ซึ่งมาแนต์ได้รับอิทธิพลในการวาดภาพชีวิตประจำวันเหล่านี้มาจากนวัตกรรมการถ่ายภาพที่ ‘กำลังมา’ ในช่วงนั้น โดยผู้ชมจะเห็นได้ว่ามาแนต์นำเสนอภาพวาดของเขาในมุมมองของภาพถ่าย ทั้งการที่จู่ ๆ ก็มีคนเดินผ่านเข้ามาในซีน หรือการนำเสนอภาพแบบไม่เต็มตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการนำเสนอภาพในรูปแบบของภาพถ่ายทั้งสิ้น

ตัวอย่างของการนำเสนอภาพในมุมมองใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายของมาแนต์เห็นได้ชัดในผลงานที่ชื่อว่า A Bar at the Folies-Bergère (1882) ที่ตรงมุมซ้ายของภาพปรากฏขาของนักแสดงผาดโผน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะไม่มีวันได้เห็นในงานศิลปะชั้นสูง

ความฉาวแห่ง Salon

ในปี 1859 มาแนต์ได้ส่งผลงานชื่อ Absinthe Drinker เพื่อเข้ารับการพิจารณาให้จัดแสดงที่ Salon แม้ว่างานชิ้นนี้จะอ้างอิงมาจากผลงานของ Delacroix แต่ในครั้งนั้นเขาก็ได้รับคำปฏิเสธ จนกระทั่งในปีถัดมานั่นเองที่งานของเขาได้รับการจัดแสดงในนิทรรศการอันทรงเกียรติแห่งนี้ในที่สุด ซึ่งผลงานที่เขาส่งเข้าประกวดในครั้งนั้นอย่าง Artist's Parents (1860, ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Musee d'Orsay) และ Le Guitariste (1860, ปัจจุบันอยู่ที่ Metropolitan Museum of Art แห่งนิวยอร์ก) ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี และได้รับรางวัล "honorable mention" ด้วย

แต่แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จจากการได้จัดแสดงในนิทรรศการแห่งปีอย่าง Salon มาแนต์ก็ยังรู้สึกว่ามีสิ่งอื่นที่เขาอยากจะวาดนอกเหนือไปจากการวาดภาพจากปกรณัมตามที่กระบวนทัศน์ศิลปะชั้นสูงในสมัยนั้นนิยมกัน

ความต้องการลึก ๆ ในใจของมาแนต์ก็ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนคนสำคัญในชีวิตที่เขาได้รู้จักในอีกสองปีถัดมา นั่นก็คือ Charles Baudelaire กวีที่กลายมาเป็นเพื่อนและผู้สนับสนุนให้มาแนต์ยึดมั่นในแนวทางของตนเอง โดยตัว Baudelaire เองก็เป็นกวีที่มุ่งแหวกขนบงานเขียน และสนใจในการสะท้อนภาพความจริงแห่งยุคสมัย หรือชีวิตของคนในปัจจุบันมากกว่าที่จะนำเสนอเรื่องเล่าวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษหรือเทพในปกรณัม ซึ่ง Baudelaire ก็มองว่าสิ่งที่มาแนต์ต้องการจะทำในงานศิลปะนั้นก็เหมือนกับที่เขาตั้งใจจะทำกับงานวรรณกรรม ...พวกเขาต่างเห็นตรงกันว่า ภาพชีวิตของคนในยุคปัจจุบันก็ยิ่งใหญ่พอที่จะถูกบันทึกไว้ในภาพวาดหรืองานเขียน

การโคจรมาพบกันของสองศิลปินต่างแขนงนี้ปรากฏผลลัพธ์ออกมาเป็นภาพ Concert in the Tuileries Gardens (1860-1) ซึ่งนอกจากจะกลายเป็นผลงานที่สะท้อนความขบถต่อขนบของมาแนต์ในแง่ของเทคนิคการบิดฟอร์มในภาพให้ดูบิดเบี้ยวไม่สมจริงแล้ว (Disortion) นี่ยังเป็นภาพที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ที่เปิดศักราชของศิลปะสมัยใหม่ ด้วยการฉายภาพของทิวทัศน์คนเมืองแสนธรรมดาที่หาใช่เทพธิดาหรือวีรบุรุษในตำนานกรีก ซึ่งในภาพนั้นมาแนต์ก็ได้แอบวาดตัวเองและเพื่อนคนสนิทของเขาลงไปด้วย หนึ่งในเพื่อนที่ปรากฏในภาพนี้ก็คือ Baudelaire นั่นเอง

ไม่ว่านักวิจารณ์ศิลปะและคนในแวดวงศิลปะจะ ‘จวกยับ’ ผลงานที่นำเสนอภาพคนเมืองของมาแนต์แค่ไหน แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า ‘ความฉาว’ ที่ยิ่งกว่านั้นกำลังจะมาเยือนพื้นที่ศิลปะอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาในไม่ช้า การมาถึงของภาพ Luncheon on the Grass (1862) ของมาแนต์ที่จัดแสดงที่ ‘นิทรรศการศิลปะตกรอบ’ (Salon des Refusés) ซึ่งเป็นนิทรรศการที่รวมผลงานที่ถูกปฏิเสธจาก Salon อันศักดิ์สิทธิ์ และจัดขึ้นโดยเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจกับการปิดกั้นตัวเองอยู่ในกรอบของขนบศิลปะดั้งเดิมอันเต็มไปด้วยชนชั้นและกรอบเกณฑ์ ซึ่งนิทรรศการศิลปะตกรอบนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจาก Napoleon III ที่ได้เห็นผลงานที่ถูกปฏิเสธจาก Salon และประกาศว่า ประชาชนควรมีสิทธิ์ตัดสินใจเองว่าจะเลือกดูผลงานศิลปะชิ้นไหน

ในแต่ละวันมีผู้เข้าชมนิทรรศการ Salon des Refusés ถึงวันละพันคน และหนึ่งในภาพที่ทำให้เกิดประเด็นดราม่าและกระตุ้นต่อมศีลธรรมของสาธารณชนก็คือภาพ Luncheon on the Grass นี่เอง โดยความฉาวใน Luncheon on the Grass ที่ทำให้ชาวปาริเซียงยุคนั้นต้องเมินหน้าหนีด้วยความอับอาย ก็คือการนำเสนอภาพของหญิงสาวในสภาพร่างเปลือยเปล่าที่ถูกล้อมรอบด้วยสุภาพบุรุษในชุดเครื่องแต่งกายเต็มยศ ยิ่งไปกว่านั้น หญิงสาวในภาพยังหันมาสบตากับผู้ชมอย่างไม่อับอายในสภาพอันโป๊เปลือยของตัวเอง จนทำให้ผู้ชมเองนั่นแหละที่ต้องเป็นฝ่ายเบือนหน้าหนี

ความแซ่บอีกประการหนึ่งของภาพปิคนิกบนผืนหญ้าแห่งนี้ก็คือการที่มาแนต์อ้างอิงองค์ประกอบในภาพมาจากภาพ The Pastoral Concert (1509) ของมาสเตอร์คนสำคัญแห่งยุคเรเนซองค์อย่าง Titian ซึ่งการอ้างอิงภาพศิลปะชั้นสูงนี้ก็ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับความตั้งใจของมาแนต์ที่จะนำเสนอภาพ Sex Worker ในงานศิลปะ

เมื่อได้เปิดก็อกแล้ว ก็เหมือนความสร้างสรรค์และความมุ่งหมายที่จะทลายกรอบศิลปะดั้งเดิมของมาแนต์จะพรั่งพรูและไม่หยุดลงง่าย ๆ ต่อจากภาพ Luncheon on the Grass แล้ว มาแนต์ก็ทำการเขย่าต่อมศีลธรรมของคนปารีสอีกครั้งด้วยภาพ Olympia (1863) ที่คราวนี้อ้างอิงจากผลงานภาพนู้ด Nude Maja (1797) ของมาสเตอร์อย่าง Goya และ Venus of Urbino (1538) ของ Titian ซึ่งความฉาวของภาพนี้ก็ถึงกับที่นักวิจารณ์ศิลปะในยุคนั้นต้องออกมาเตือนว่า ภาพนี้ไม่เหมาะกับผู้หญิงท้องเพราะดูแล้วอาจจะทำให้ตกใจจนแท้งเลยก็ได้! (ว่าซั่น)

ความโป๊ของ Olympia ที่เกินจะรับได้ของคนในยุคนั้นก็มาจากการที่มาแนต์นำเสนอภาพของเทพธิดา Olympia ในรูปแบบของหญิงสาวปุถุชนคนธรรมดาที่แก้ผ้าเปลือยเปล่า แล้วหันมาสบตากับผู้ชมอย่างไม่กลัวเกรง (อีกแล้ว) นอกจากนี้องค์ประกอบและรายละเอียดในภาพยังทำให้เทพธิดาในภาพก้ำกึ้งระหว่างจะเป็นเทพหรือโสเภณี ทั้งรองเท้าดูหรูหราแฟนซีที่เธอสวม เครื่องประดับราคาแพงที่อยู่บนตัว รวมไปถึงช่อดอกไม้หรูหรา ที่ชวนให้ผู้ชมตีความว่า สิ่งของเหล่านี้น่าจะเป็นของขวัญที่เธอได้รับจากบรรดาลูกค้าที่รักใคร่และหลงใหลในตัวเธอ

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เป็นประเด็นมากที่สุดก็คือการที่มาแนต์นำเสนอภาพของหญิงรับใช้ผิวดำในภาพ ซึ่งในช่วงที่มาแนต์วาดภาพนี้ ฝรั่งเศสเพิ่งยกเลิกทาสได้เพียง 15 ปีเท่านั้น อคติทางเชื้อชาติจึงยังครุกรุ่นอยู่ในบรรยากาศของสังคมฝรั่งเศส และคนฝรั่งเศสก็ยังไม่คุ้นเคยกับการนำเสนอภาพของคนผิวดำในงานศิลปะชั้นสูงอย่างงานจิตรกรรม

ไอดอลของ Impressionists

ในช่วงก่อนที่มาแนต์จะสั่นสะเทือนสังคมด้วยภาพนู้ดทั้งสอง ศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ในยุคนั้นอย่าง Claude Monet, Pierre-Auguste Renoir, Camille Pissarro, Alfred Sisley และ Paul Cézanne ก็เริ่มเบื่อกับการถูกจำกัดขอบเขตในการทำงานศิลปะด้วยขนบดั้งเดิม ซึ่งการมาถึงของ Luncheon on the Grass และ Oympia ก็มาปลดล็อกจิตรกรหนุ่มเหล่านี้ และก่อความหวังในใจของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ว่า นี่คือสัญญาณการมาถึงของศิลปะยุคใหม่ที่พวกเขาเฝ้ารอ

ด้วยความชื่นชมในตัว Manet ศิลปินรุ่นใหม่เหล่านี้จึงได้ตั้งให้รุ่นพี่อย่าง Manet เป็นต้นแบบของกลุ่ม Impressionists ทั้งในแง่วิธีคิดและเทคนิคศิลปะแบบใหม่ โดยศิลปินรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ชื่นชมในการใช้สีและการนำเสนอผลกระทบของแสงในภาพของ Manet มาก ๆ หนึ่งในศิลปินที่ยึดให้ Manet เป็นต้นแบบและผู้ส่งอิทธิพลในงานศิลปะของตัวเองมากที่สุดก็คือ Monet นั่นเอง

แม้ว่าจะได้รับการยกย่องจากกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่หัวขบถเหล่านี้เป็นอย่างมาก แต่ในช่วงแรก มาแนต์ก็ยังไม่ค่อยเข้าไปคลุกคลีกับศิลปินกลุ่มนี้เท่าไหร่นัก เพราะเขายังอยากที่จัดแสดงผลงานใน Salon อยู่ อย่างไรก็ตาม หลังปี 1872 เป็นต้นมา มาแนต์ก็เริ่มสนิทกับ Monet และ Renoir มากขึ้น ซึ่งศิลปินรุ่นน้องเหล่านี้ก็คือผู้ที่ชักชวนให้มาแนต์ออกไปวาดภาพข้างนอกสตูดิโอ (En plein air) โดยหลักฐานมิตรภาพของศิลปินต่างรุ่นก็ปรากฏในภาพ Monet Working in His Boat (1874) ที่เขาวาด Monet ขณะวาดภาพอยู่ในสตูดิโอลอยน้ำของเขา

การคลุกคลีกับศิลปินรุ่นใหม่และการออกไปหาแรงบันดาลใจนอกสตูดิโอก็ส่งผลให้มาเนต์เริ่มทำงานกับชุดสีที่สว่างขึ้น โดยในช่วงนี้มาแนต์ก็ได้สร้างผลงานที่ใช้สีสันสดใสและสว่างขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The Railway (1873), On the River (1874), Argenteuil (1874) และ The Monet Family in the Garden (1874).

แต่แม้ว่าจะใกล้ชิดกับกลุ่ม Impresionnists มากเพียงใด แต่เมื่อทั้งกลุ่มได้จัดงานแสดงผลงานอย่างเป็นทางการในปี 1874 มาแนต์ก็กลับถอนตัวจากการจัดแสดง และปล่อยให้ Monet ได้ฉายแสงและกลายมาเป็นผู้นำของกลุ่มศิลปิน Impressionist ในกาลต่อมา

ในช่วงท้ายของชีวิต มาแนต์เริ่มป่วยและได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในบ้านของเขาที่เมือง Rueil และวาดแต่ภาพหุ่นนิ่งของดอกไม้และวิวทิวทัศน์สวนเท่านั้น มาแนต์เสียชีวิตด้วยโรคซิฟิลิสในวัย 51 ปี ซึ่งเขาติดมาในช่วงอายุ 40 ร่างของเขาถูกฝังที่ Cimetiere de Passy ในกรุงปารีส แต่มรดกจากการเชื่อมศิลปะยุคเก่ากับยุคใหม่ที่เขาริเริ่มไว้นั้นก็ได้รับการยกย่องไปตลอดกาล

อ้างอิง : Édouard Manet, Edouard Manet, Édouard Manet Is Considered the Father of Modernism. Here Are His Most Famous Works., Manet: The Difference Between Nude and Naked,

Neret, Gilles (2003). Manet. Taschen. ISBN 3-8228-1949-2. Richardson, John (1992). Manet. Phaidon Colour Library. ISBN 0-7148-2755-X.