เบื้องหลังการทำคอนเสิร์ต Billkin & PP Krit Double Trouble โดย เบล - สุพล และ พล หุยประเสริฐ
ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แฟน ๆ ของ ‘บิวกิ้น – พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล’ และ ‘พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร’ น่าจะยังจดจำความสนุกสนาน และคงความรู้สึกเต็มอิ่มกับทุกโมเมนต์ประทับใจ ที่สองคู่ซี้ ‘บิวกิ้น - พีพี’ ได้ยกขบวนความป่วน สร้างเมืองขึ้นมากลางศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ และนอกเหนือจากโชว์ที่ประทับใจใครหลาย ๆ คนแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเรื่องของ ‘เวที’ ที่ทุกคนต่างพากันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “คนออกแบบเวทีเขารักคนดูจริง ๆ” เพราะไม่ว่าคุณจะนั่งอยู่โซนไหน ก็มั่นใจได้เลยว่าคุณจะเอ็นจอยกับโชว์ตรงหน้าได้แบบเต็มตาแน่นอน
ซึ่งหลังจากคอนเสิร์ตจบลงได้ไม่นาน GroundControl ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Show Director คู่ซี้ ผู้รับหน้าที่ออกแบบเวทีและโชว์ทั้งหมดใน Billkin & PP Krit Double Trouble Concert อย่าง ‘เบล - สุพล พัวศิริรักษ์’ Partner และผู้บริหาร Billkin Entertainment และ PP Krit Entertainment และ ‘พล หุยประเสริฐ’ นักออกแบบเวทีรุ่นเก๋าของเมืองไทย ที่ร่วมมือกันพลิกพื้นที่ว่างบนศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ให้กลายเป็นอัฒจรรย์และเวทีคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ ที่รองรับคนดูจำนวนเกือบสองหมื่นคนได้ในคราวเดียว จนเรียกได้ว่าเป็นเวทีคอนเสิร์ตสเกลใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อน
นอกจากเราจะได้สนทนาถึงดีเทลของโชว์ครั้งนี้ ที่เรียกได้ว่าจัดเต็ม ทั้งแสง สี เสียง เราก็ยังสัมผัสได้ถึงบรรยากาศในการทำงานร่วมกันของ Show Director ที่บอกได้คำเดียวเลยว่า นอกจากบนเวทีที่มีบิวกิ้น-พีพีที่ Double Trouble แล้ว เบล-พล ก็ Double Trouble แบบสุด ๆ ไม่แพ้กัน
พี่เบลกับพี่พลมาเริ่มทำงานด้วยกันตอนไหน
เบล: ย้อนกลับไปครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกับพี่พล คือเมื่อปี 2022 เป็นปีที่เราจัดงานเป็นครั้งแรกของบริษัทเรา คือ GOLDEN HOUR' BILLKIN THE FIRST FAN MEETING โดยครั้งนั้นเป็น Fan meeting ที่ค่อนไปในความเป็นคอนเสิร์ตสูง เหมือนกับเป็นแฟนคอนมากกว่า หลังจากก็ได้ร่วมงานกันต่อมาเรื่อย ๆ ทั้ง ‘LIT & GLITTER PP KRIT THE FIRST FAN MEETING ที่เป็น Fan meeting ของพีพี, Billkin Tempo Concert, และ Billkin Tempo Tour ในหลาย ๆ เมือง ซึ่งพอได้ทำงานกันมาเรื่อย ๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่าต้องเป็นพี่พลคนเดียวเท่านั้นแหละที่จะเข้าใจความต้องการของเรา และพามันไปสู่จุดที่เราต้องการได้
พล: ครับ ก็ทำตั้งแต่งานนั้นแหละครับ จนมาถึงงานนี้ก็ยังทำด้วยกัน
จากคอนเซปต์ ‘Double Trouble’ สู่การออกแบบโชว์ และเวทีที่สะท้อนความเป็น ‘Double Trouble’
เบล: พอรู้แล้วว่าเราจะจัดคอนเสิร์ตคู่ของบิวกิ้นและพีพี เราก็รู้สึกว่าคอนเสิร์ตนี้ต้องเป็นคอนเสิร์ตที่มีความาไรตี้ และมีความสนุก มีความเป็นตัวตนของทั้งสองคน
หลังจากนั้นเราเลยมามองหาธีมกัน และหลังจากที่เราคิดกันมาหลายธีมมาก สุดท้ายมาจบที่ชื่อนี้ที่พีพีเป็นเสนอขึ้นมา ซึ่งมันคือมวลของบรรยากาศเวลาที่สองคนนี้อยู่ด้วยกัน ที่เค้าจะเป็นคนชอบแกล้ง แกล้งกันเองบ้าง รวมหัวกันไปแกล้งคนอื่นบ้าง แซวคนโน้นที คนนี้ที ซึ่งสองคนนี้เวลาอยู่กับใครหรือเวลาที่ทำงานด้วยกันจะมีเสียงหัวเราะ และทำให้บรรยากาศรอบ ๆ มีแต่ความเฮฮาอยู่ตลอด มันมาจากที่เค้ามีความแสบ มีความป่วนด้วยกันในตัวทั้งคู่อยู่แล้ว ก็เลยคิดขึ้นมาว่า แค่คนเดียวก็ปั่นป่วนแล้ว พอสองคนมารวมตัวกันมันก็คือ Double Trouble นี่แหละ ตรงตามคอนเซปต์นี้เลย
พล: พอตกลงได้ชื่อ Double Trouble แล้ว ก็มาคิดต่อว่าจะดีไซน์คอนเสิร์ตครั้งนี้ยังไง และสิ่งที่ท้าทายที่สุด Trouble ที่สุดสำหรับพี่คือ คาแรคเตอร์ของพื้นที่ ขนาดเวที และจำนวนที่นั่งของผู้ชมที่จะมาดูคอนเสิร์ตของเราครั้งนี้ โดยเราเลือกสถานที่ที่มีขนาดเหมาะกับงานนี้มากที่สุดคือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ และ Trouble แรกของพี่ก็คือขนาดความใหญ่ของพื้นที่นี่แหละ
จากสเกลพื้นที่ บวกกับคอนเซปต์ความป่วนก็เลยคิดว่า ‘งั้นมันต้องเป็นเมืองแล้วแหละ’ เลยตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า ‘จะสร้างเมืองขึ้นมาแล้วให้สองคนนี้ไปป่วนในเมืองต่าง ๆ’ ทางฝั่งเบลเขาก็ห่วงคนดู เราเลยคิดกันต่อว่าเราต้องสร้างฉากล้ำเข้าไปในส่วนที่เป็นที่นั่งของคนดู เพื่อให้รู้สึกเหมือนเป็นหลังคา และมีจอข้าง ๆ ล้อมที่นั่งไว้ มีแคทวอล์ค เพื่อเซอร์วิสคนดูทุกคน
เบล: เราพยามจะหาอะไรที่มันแตกต่าง และโยนไอเดียใหม่ ๆ กันกับพี่พลอยู่ตลอด คอนเสิร์ตครั้งนี้ก็มีไอเดียกันว่าถ้าผสมฉากกับจอให้เป็นเลเยอร์อยู่ด้านหลัง แล้วล้อมคนดูเอาไว้ ก็น่าจะเป็นโครงสร้างที่ทำให้เกิดเอฟเฟคที่น่าสนุก เป็นโครงสร้างที่น่าจะทำให้เกิดอะไรใหม่ ๆ ได้
ในส่วนของซีนแรกที่เริ่มเปิดโชว์ ทางพี่พลเค้าก็มีไอเดียที่จะสร้างเมืองไว้อยู่แล้ว เลยคิดกันต่อว่า Double Trouble นี่มันก็จะต้องเป็นกลุ่มคนที่ก่อความวุ่นวาย สร้างความปั่นป่วนกันในเมือง ในโชว์ก็จะมี Movement การวิ่งไปโผล่ตามจุดนั้นจุดนี้ของเวที มีระเบิด มีเสียงเอฟเฟกต์ และบิวกิ้นกับพีพีก็โหนสลิงแล้วทะลุกำแพงออกมาเป็นซีนเปิดตัว
โชว์จะเริ่มเพลงแรกคือเพลง ‘ยอม’ ที่เป็นซิงเกิ้ลล่าสุดของทั้งคู่ โดยฉากจะเป็นเมืองแรก ต่อจากนั้นเพลงที่สอง ‘รู้งี้เป็นแฟนกันตั้งนานแล้ว’ การดีไซน์เมืองก็จะเปลี่ยนไปตามมู้ดของเพลง พี่พลก็จะอัพลิฟต์ฉากจากเพลงแรกขึ้นไป คือมีลิฟท์ยกขึ้น-ลง ให้เหมือนกับสองคนนี้ขึ้นไปร้องเพลงกันต่อบนดาดฟ้าของเมือง
พล: 4 เพลงแรกเรามีฉากเมืองที่เซ็ทไว้อยู่แล้ว แล้วเราไม่อยากให้มันเป็นแค่เมืองนิ่ง ๆ อยากให้มีความเปลี่ยนแปลงไปตามเพลง พอถึงเพลงที่สาม ‘รถไฟบนฟ้า’ ก็จะมีรถไฟมาจากชานชลาด้านหลัง แล้วลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าของเมือง เราก็จะพาคนดูขึ้นรถไฟไปสู่โลกที่มีความแฟนตาซีหน่อย เป็นเมืองกลับหัว เป็นการเล่าเรื่องผ่านแสงโดยไม่ใช้กราฟฟิกในการเล่าเรื่อง เราให้เขาเดินผ่านอุโมงค์ไฟในเมืองแห่งแสง ซึ่งตอนที่สองนี้เราจะพาไปที่อื่นนอกจากโลกแรกที่เราอยู่ พอจบจากตรงนั้นเราก็เอาฉากมาหมุนเปลี่ยนต่อไป
4 เพลงแรกผ่านไป โชว์จะดำเนินต่อด้วยพาร์ทละคร และหลังจากละครจบจะเคลียร์ฉากจนโล่ง เพื่อเตรียมเข้าสู่พาร์ท Solo ต่อด้วยพาร์ท T-POP ที่จะนำเอาความป๊อปของกราฟฟิกมาเล่าเรื่องเป็นหลัก มีตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ขนาด xx เมตรโผล่ออกมาทักทายคนดู ดีไซน์ทุกอย่างจะมีความป๊อป สดใส หลังจากนั้นจะกลับเข้าสู่ความเป็นเมืองอีกครั้ง เพื่อที่จะเล่าความตัวตนของบิวกิ้นและพีพี
ตอนจบทุกอย่างจะกลับมาเป็นคอนเซ็ปต์ที่เป็นตัวของเขาเอง จะพาผู้ชมกลับเข้าเมืองอีกไปจนถึงจนคอนเสิร์ต ซึ่งถ้าถามว่ากราฟิกมันดูแบกหรือเปล่า จริง ๆ แล้วไม่แบก เพราะเรามีเซ็ตฉาก และวิธีการเรียงสคริปต์ของพี่เบลกับพี่ทำด้วยกัน ซึ่งเป็นกระดูกหลักของโชว์ นี่คือวิธีคิดของเรา
เบื้องหลังโชว์เดี่ยวสุดทรงพลังกับการก้าวไปอีกขั้นของสองศิลปิน
เบล: โชว์เดี่ยวของพีพีและบิวกิ้นมันถูกออกแบบมาจากตัวตนในพาร์ทที่เป็นศิลปินเดี่ยวของพวกเขาทั้งคู่ โดยเริ่มต้นจากการดูว่าพวกเขาเหมาะกับอะไรและอยากทำอะไร ซึ่งเป็น next step ในฐานะศิลปินที่ท้าทายและน่าสนใจ สำหรับบิวกิ้น มันคือเรื่องของการเต้นและความชอบในไมเคิล แจ็คสันที่เขามีมานาน บิวกิ้นอยากทำโชว์ที่ทำให้คนดูได้เห็นถึงพัฒนาการในการเต้นที่มากขึ้น อันนี้คือจุดตั้งต้นโชว์เดี่ยวของเขา
พล: โชว์ของบิวกิ้นจะออกแบบมาให้เป็นโชว์ที่เท่ เรียบง่าย มีกราฟิกที่ชัดเจน ดังนั้นไดนามิกของกราฟิกก็จะง่าย เพราะมันถูกวางแผนและแบ่งไว้อย่างชัดเจนในแต่ละพาร์ทว่าจะต้องประมาณไหน การจัดวางกราฟิกในโชว์ของบิวกิ้นจะเน้นการใช้จอเป็นหลัก จากนั้นเราก็เอาภาพและแดนเซอร์ที่เต้นเท่ ๆ มาเสริมให้บิวกิ้นดูเท่ขึ้น ส่วนในเพลง 'รักนะเว้ย' ที่โชว์คู่กับมิลลิ ก็จะมีการทะเลาะกันผ่านกราฟิก พร้อมกับใช้พร็อพ อย่างลำโพงที่นำมาเล่นกับกราฟิกอีกที และหลังจากจบโชว์ของบิวกิ้น ก็จะต่อด้วยโชว์ของพีพี ซึ่งจะมีความอาว็องการ์ดหน่อย ๆ และเพิ่มความเซ็กซี่เข้าไปในโชว์
เบล: พีพีเขาอยากทำโชว์ที่เน้นการ Perform มากขึ้น มีความเป็นโชว์มากขึ้น โดยใช้ความเซ็กซี่ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา ซึ่งเมื่อทำออกมาแล้วรู้สึกว่าลงตัวและสร้างความว้าวให้คนดูได้ โดยโชว์ของพีพีจะเริ่มจากเพลง ‘I ไม่ O’ ที่เปิดตัวออกมาแบบเท่ ๆ ต่อด้วยเพลง 'Water' ที่เรียกเสียงฮือฮาจากคนดู ทั้งการเต้น เอฟเฟกต์ต่าง ๆ การโหนห่วง และมี transition show ที่ยังเป็น story ที่ต่อเนื่องกันเหมือนเป็นโลกใต้น้ำเพื่อเชื่อมไปเปิดตัวพี่มาช่า
พล: เบลเขาทำค่ายเพลง และมีหน้าที่หลักในการพัฒนาศิลปินอย่างน้องทั้งสองคน ส่วนพี่มีหน้าที่ทำคอนเสิร์ตที่ช่วยพัฒนาให้ศิลปินเติบโตขึ้น การทำงานกับเบลเราค่อนข้างเห็นตรงกันว่า ถ้าสามารถพัฒนาตรงนี้ได้ ก็จะทำไปเรื่อย ๆ ดังนั้นทุกคอนเสิร์ตที่เราจัดจึงเป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญสำหรับน้อง ๆ เหมือนเป็นหลักสูตรโรงเรียนที่พวกเขาต้องผ่านไปให้ได้ ดังนั้น 'Double Trouble' ก็ถือเป็นหลักสูตรใหญ่ ที่น้องต้องก้าวขึ้นไปอยู่ในจุดที่เรามองว่าเหมาะกับพวกเขา เราไม่ได้บังคับ แต่เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่เขาทำได้ดีและชอบจริง ๆ วิธีการออกแบบโชว์จึงเกิดจากสิ่งเหล่านี้
เบล: ส่วนเรามองว่าบิวกิ้นกำลังเริ่มสนุกกับการเต้น และเราเห็นพัฒนาการของเขามาตลอด โจทย์คอนเสิร์ตจึงเหมือนห้องสอบ เราอยากให้กิ้นได้เต้นอย่างหล่อ ๆ และเพิ่มมุมมองนี้ให้เขา ซึ่งกิ้นก็ซ้อมหนักมากเพื่อโชว์นี้ ส่วนพีพี เราเห็นว่าเขาไม่ใช่สายเต้นแข็งแรง แต่สิ่งที่เราต้องการให้เขาไปถึงคือการทำโชว์ที่ยิ่งใหญ่ ดูอลังการ ค่อย ๆ ไปในทิศทางนี้ เพื่อให้เขาเป็นคนที่ทำโชว์ออกมาดี และในคอนเสิร์ตนี้พีพีก็ใส่เต็มทุกโชว์ เขาทุ่มเทมาก ๆ กับสิ่งนี้ ซึ่งพี่ก็ดีใจที่เห็นน้องเขาก้าวไปอีกขั้น โชว์เดี่ยวของน้องแต่ละคนก็ถูกออกแบบมาให้พาพวกเขาไปถึงจุดที่เราอยากเห็น ทั้งกิ้นและพีพีก็ยังมีโอกาสพัฒนาต่อได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะกิ้นที่ยังสามารถพัฒนาการแสดงของเขาได้มากขึ้นอีกในการทำโชว์ต่อ ๆ ไป
การสร้างอัฒจันทร์ขึ้นมาใหม่บนพื้นที่ว่าง กับคำชมที่ใคร ๆ ก็บอกว่า “คนออกแบบเวทีรักคนดู”
เบล: ด้วยขนาดของงาน พี่พลกับผมคุยกันว่า เมื่อมีคนเยอะขนาดนั้น และพื้นที่เป็นพื้นราบ พี่พลเลยต้องออกแบบที่นั่งที่มีสเต็ปและอัฒจันทร์ขึ้นไป เพื่อให้ผู้ชมทุกคนรู้สึกใกล้ชิดกับโชว์ ไม่ว่าจะนั่งอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้สึกว่าโดนตัดขาดจากบรรยากาศ การออกแบบนี้เลยมีผลต่อดีไซน์ทั้งหมด ดังนั้น พี่พลเลยต้องสร้างคอนเสิร์ตฮอลล์ใหม่ทั้งหมดเลย ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับเขามาก แต่พี่พลก็พิสูจน์แล้วว่าสามารถออกแบบมาให้คนดูได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดอย่างที่ตั้งใจ
พล: คือเราทำเหมือนสร้างเมืองเลยนะครับ อย่างที่บอกไป มันเลยเป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะทั้งพีพีและบิวกิ้นก็ห่วงเรื่องผู้ชมมาก เรียกง่าย ๆ ว่าผมกลัวโดนด่าว่าที่นั่งบังกันหรือจุคนได้น้อย เราเลยวนอยู่กับการแก้ไขดีไซน์ตรงนี้นานมาก เพื่อให้ทุกคนได้เห็นวิวที่ดีที่สุด ซึ่งเบลเองก็กล้าลงทุนเพื่อสิ่งนี้มากจริง ๆ เพราะการสร้างเมืองไม่ได้สร้างแค่เวที แต่สร้างทั้งหมดเลย ซึ่งพอได้เห็นคอมเมนต์จากคนดูว่าการออกแบบนี้ทำให้รู้สึกว่าเรารักผู้ชม ผมรู้สึกชื่นใจนะ แม้จะกลัวโดนด่า เพราะงานนี้เต็มไปด้วยความกดดัน เป็นสเกลใหม่ในอุตสาหกรรมที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนด้วย
การร่วมมือกับทีมเต้น HARLEM SHAKE TEAM และการสร้างทรานซิชันคอนเสิร์ตแนวใหม่สไตล์ Performance Art
พล: จริงๆ แล้วต้องให้เครดิตเบลนะครับ ถ้าเราดูคอนเสิร์ตเกาหลี เรามักจะเห็น VTR เป็นภาพสวย ๆ ตัดมาเพื่อถ่วงเวลา ตอนที่ศิลปินเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่เบลบอกว่าเขาเบื่อแล้ว เขาอยากทำอะไรที่มันว้าวและดึงดูดคนดูระหว่างเปลี่ยนชุด แทนที่จะมานั่งดู VTR ธรรมดา ๆ ก็เลยเกิดโชว์นี้ขึ้น โดยร่วมมือกับทีมเต้น HARLEM SHAKE TEAM ซึ่งเป็นตัวเชื่อมโชว์ไปเปิดตัวพี่มาช่า
นอกจากโชว์เต้นก็จะมีเรื่องแสง จริง ๆ อันนี้ไม่ใช่โจทย์ที่ยากเท่าไรครับ พอรู้ว่าโชว์จะลงไปเล่นเรื่อง 'น้ำ' ก็ง่ายแล้ว อย่างเช่น มีการลอยขึ้นมาจากใต้น้ำ มีคนเล่นเป็นปะการัง เราก็จะจัดแสงให้เข้ากับฉาก เหมือนเราอยู่ใต้น้ำจริง ๆ สำหรับเลเซอร์ก็จะใช้ในซีนนี้แหละครับ ผมเคยเห็นงานอาร์ตที่ใช้เลเซอร์ใต้น้ำแล้วมันเหมือนเราอยู่ใต้น้ำ ก็เลยนำเลเซอร์มาใส่ในซีนนี้ เราใช้แสงสีฟ้าพร้อมกับเปิดสโมคเยอะ ๆ เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าอยู่ใต้น้ำ ไม่ใช่แค่แสดงอยู่บนเวที เพราะฉากถูกดีไซน์ให้เหมือนเราเข้ามาในโลกใต้น้ำ ทุกคนในฮอลล์เหมือนกำลังว่ายน้ำจากเวทีเล็กไปยังเวทีหลัก ซึ่งตรงนี้ต้องให้เครดิตช่างภาพด้วยครับ
เบล: จริง ๆ พอรู้ว่าผู้ชมพูดถึงโชว์นี้ ซึ่งเป็นโชว์ทรานซิชั่น ผมก็ดีใจมากนะ ที่คนเห็นและรับรู้ถึงสิ่งที่เราตั้งใจทำ อย่างที่พี่พลบอก เราพยายามหาความสนุกใหม่ ๆ ให้กับทั้งตัวเราเองและผู้ชม ด้วยการทำให้การเปลี่ยนฉากหรือทรานซิชั่นของเรามีความพิเศษ ไม่ใช่แค่คลิปวิดีโอเหมือนเดิม เราต้องการทำโชว์ที่เปิดพื้นที่สำหรับเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตบางอย่าง ซึ่งครั้งนี้มันออกมาได้ดีเพราะดีไซน์ของพี่พล รวมถึงไอเดียการออกแบบท่าเต้นของ HARLEM SHAKE TEAM พอได้รับฟีดแบ็กดีแบบนี้ก็รู้สึกดีใจมาก และสนุกที่เราจะได้ทำอะไรแบบนี้อีกเยอะ ๆ ในคอนเสิร์ตครั้งต่อ ๆ ไปแน่นอนครับ
เมื่อ Billkin & PP Krit Double Trouble Concert ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ต แต่เป็นบททดสอบพิสูจน์ใจ ที่ทำให้ก้าวต่อไปได้ไกลกว่าเดิม
พล: พี่ว่าเวทีคอนเสิร์ตครั้งนี้มันเป็นไมล์สโตนของวงการ เพราะไม่มีใครเคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน มันจะเป็นบทเรียนให้คนอื่นที่ไม่ใช่แค่เรา พี่กับเบลก็เป็นเหมือน double trouble ที่อยู่เบื้องหลังกันสองคน พี่คิดว่าพี่ทำงานอย่างเต็มที่แล้วนะ แต่เบลก็มักจะพาพี่ไปอีกขั้นหนึ่งเสมอ หมายถึงผลักดันให้พี่ไปไกลกว่าเดิมตลอด เบลมีความเชื่อมั่นมากว่าเราทำได้ ถ้าเราตั้งใจทำ เบลก็จะทำให้ได้จริง ๆ
คือผังแบบนี้เอาจริง ๆ ไม่มีใครทำในประเทศนี้เลยด้วยซ้ำ มาตั้งสแตนขนาดนี้ ไม่มีใครกล้าลงทุนแบบนี้มาก่อน พี่ว่ามันเป็น milestone ที่คนในวงการต้องมาดูว่ามันทำได้อย่างไร และเราได้พบว่ามีคนในวงการมาดูเยอะมาก ทุกคนต่างอยากรู้ว่าสองคนนี้จะทำอะไร มันจะออกมาเป็นอย่างไร พี่ว่ามันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีสำหรับทั้งวงการเลยครับ
เบล: พอได้ยินพี่พลพูดคำว่า “เราสองคนก็คือ double trouble ที่อยู่ด้านหลัง” คือผมไม่เคยคิดในมุมนั้นมาก่อนนะ แต่พอคิดดูแล้วมันก็จริง ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ทีมก็คงคิดแบบเดียวกัน ว่าพวกเราสองคนนี่คือ trouble ของเขา เช่น เมื่อไหร่จะเสร็จ เมื่อไหร่จะพอ เมื่อไหร่จะเอาสักที (หัวเราะ) แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกคือ ทุกครั้งที่ได้ทำงานกับพี่พล ผมมีความสุขมาก ไม่ใช่แค่เรื่องคอนเสิร์ตอย่างเดียว แต่หมายถึงในทุก ๆ งานที่เราได้ทำร่วมกัน
ผมมีประสบการณ์ทำงานกับคนหลากหลาย แต่พอมาเจอกับพี่พล แล้วได้ลองทำงานด้วยกัน ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผมรู้สึกว่า ทุกครั้งที่ได้ทำงานกับพี่พล ผมรู้สึกอุ่นใจ อุ่นใจในที่นี้คือรู้สึกว่าพี่คนนี้จะเข้าใจเรา และเราจะรู้ว่าทุกอย่างมันเป็นไปได้เสมอ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ คือทุกครั้งที่คุยกับพี่พล มันเหมือนวิญญาณความเป็นเด็กของผมกลับมาท่วมท้น ผมจะฝันได้เต็มที่ ผมจะไม่กั๊กไอเดียเลย อยากทำอะไรอยากได้อะไรก็จะพูดไปตรง ๆ เช่น “พี่! ทำอันนี้กันไหม?” พี่พลก็จะใช้ประสบการณ์ของเขา ช่วยปรับ ช่วยตัดขอบ หรือบางครั้งเราก็ฝันไปด้วยกัน มันสนุกมาก ๆ เราต่อยอดไอเดียได้แบบไร้ขีดจำกัด
เรียกได้ว่า พอผมเจอคนที่มีมุมมองคล้าย ๆ กันกับผม คือเราทั้งคู่ต่างก็อยากทำให้งานดีขึ้นไปเรื่อย ๆ และมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือความสุขของคนดู รวมถึงความสุขของศิลปินที่ได้ทำในสิ่งที่เขาเป็นจริง ๆ เพราะทุกงานที่ผมทำ ไม่ว่าจะงานนี้หรืองานไหน ผมไม่เคยคิดอะไรแค่เพราะผมชอบหรืออยากให้มันเป็นแบบนั้น ทุกอย่างเริ่มต้นจากตัวศิลปินก่อนเสมอ ว่าตัวตนของเขาเป็นยังไง เขาอยากทำอะไร และเขามีเป้าหมายที่จะไปถึงจุดไหน เราเห็นภาพเดียวกันทั้งหมด มันก็เลยสนุกมากเวลาทำงานกับพี่พล แต่ก็คงเป็น double trouble ของทีมอื่น ๆ อย่างที่พี่พลว่าไว้จริง ๆ
พล: สุดท้ายขอสรุปนิดนึงว่า จริง ๆ ถ้าใครตามพี่มานานจะรู้ว่าพี่ชอบทำอะไรแปลก ๆ อยู่แล้ว พอได้ทำงานกับเบล มันก็เหมือนมีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตเสมอ ทำให้รู้สึกว่าความคิดที่ว่า “พอแล้ว” ของพี่ มันยังไม่พอหรอก เพราะมันยังไปได้ไกลกว่านั้นอีก เบลเหมือนเป็นแรงกระตุ้นให้พี่รู้สึกว่าทุกอย่างยังเป็นไปได้ มีหลายอย่างที่น่าทำ และพี่ก็ไม่รู้สึกเหนื่อยเลยในการทำงาน เพราะเหมือนเราได้เรียนรู้จากกันและกันตลอด
เวลาทำงานด้วยกันมันเหมือนการเปิดมิติใหม่สำหรับพี่ เบลทำให้พี่เห็นว่ามีความเป็นไปได้อีกมากมายในสิ่งที่เราไม่เคยคิดถึง และมันกลายเป็นแรงกระตุ้นให้พี่ อยากจะสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ แต่ก็ยอมรับว่าพวกเราน่าจะสร้างปัญหาเยอะมาก เพราะพอทำงานกันสองคน คนอื่นก็มักจะงงว่า “ทำอะไรกันแค่สองคน” (หัวเราะ) ซึ่งจริง ๆ การทำงานมันต้องมีการปรับอยู่แล้ว ต้องรู้จักขัดและคุยกันว่าอะไรควรทำแค่ไหน แต่การทำงานคู่กับเบล พี่รู้สึกว่าแฮปปี้มากที่สุดเลยครับ
ถ้าพูดกับเวทีนี้ หรือถ้าเวทีนี้พูดกับเรา ทั้งสองคนคิดว่าบทสนทนานั้นจะเป็นยังไง
พล: สำหรับพี่ คอนเสิร์ตนี้เป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่และท้าทายมาก พี่ตั้งใจทำงานนี้อย่างเต็มที่เลย แต่ก็ยอมรับว่าชีวิตมันไม่ได้จัดสรรได้สมบูรณ์แบบขนาดนั้น เลยทำให้งานมีความเร่งอยู่บ้าง พี่รู้สึกว่าเวทีนี้คือความท้าทายในการทำอะไรใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยทำมาก่อน และแน่นอนว่ามันมาพร้อมกับความเหนื่อยและปัญหามากมาย แต่ถ้าจะพูดถึงเวทีนี้ พี่รู้สึกว่าเวทีนี้เป็นเหมือนบทเรียนสำคัญสำหรับพี่ นอกจากการที่น้อง ๆ ทั้งสองคนก้าวไปข้างหน้าแล้ว พี่ยังได้เรียนรู้อะไรเยอะมากจากเวทีนี้ มันเหมือนเป็นประสบการณ์ที่ทำให้พี่เติบโตขึ้น และได้ค้นพบหลายสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนครับ
เบล: ขอพูดสองมุมแล้วกันนะ ถ้าเวทีจะพูดอะไรออกมา เขาคงจะบอกว่า “เฮ้ย! พวกมึงจะเอายังไงกันวะ? ตกลงมึงจะเสร็จไหมเนี่ย” (หัวเราะ) เวทีนี้คงลุ้นและกดดันไปกับเราด้วย เพราะผมเชื่อว่าเขารู้สึกไม่ต่างจากเราเลย เราก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
อย่างที่พี่พลบอก ในคอนเสิร์ตนี้ บิวกิ้นพูดบนเวทีว่า “นี่คือความทะเยอทะยานขั้นสุดของพวกเราทุกคน” ซึ่งผมก็คิดในใจ “โอ้โห นี่มันคือคำเดียวกับที่ผมคิดอยู่เลย” ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน คนสร้าง หรือตัวศิลปินเอง ทุกคนล้วนทุ่มเทเต็มที่ พอผมเดินเข้าไปในไซต์งานแล้วเห็นคนมากมาย มันทำให้ผมขนลุกโดยอัตโนมัติว่า ทำไมถึงมีคนเยอะขนาดนี้มาร่วมกันทำคอนเสิร์ตนี้ ทั้งทีมสร้างอัฒจันทร์ สร้างเวที ทีมงานในทุก ๆ ฝ่าย มันเยอะจนผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน
ส่วนตัวผมจะพูดอะไรกับเวทีนี้ ก็คล้าย ๆ กับพี่พล ผมรู้สึกว่ามันเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่และเป็นความท้าทายมาก ระหว่างที่ทำเราต่างก็เต็มไปด้วยความกังวลและความเครียดในทุก ๆ มิติ ทั้งการออกแบบเวทีว่าจะเวิร์คไหม คนดูนั่งตรงไหนแล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร การร้อยเรียงแต่ละพาร์ทของโชว์ที่เราคิดมา มันจะโอเคไหม? สุดท้ายแล้วคนดูจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เราทำ มันเต็มไปด้วยความท้าทาย ความใหม่ที่เราไม่เคยทำ และความละเอียดในทุก ๆ เรื่องที่มากกว่างานที่เคยผ่านๆมา
แม้มันจะหนักหนาในระหว่างทาง แต่พอทุกอย่างจบลงแล้ว มองย้อนกลับไป ผมรู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังต่างได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน หวังว่าเราจะได้เอาประสบการณ์นี้กลับไปเป็นแรงบันดาลใจในงานถัดๆ ไป และหวังว่าทุกคนที่มีส่วนร่วมในโปรดักชั่นนี้จะมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำ และพร้อมกลับมาสนุกกับการสร้างสรรค์และฝันร่วมกันในงานต่อ ๆ ไปครับ"
เครดิตภาพ: Billkin Entertainment, PP Krit Entertainment