มีผีอะไรบ้างในมังงะ Dandadan สำรวจตำนานความสยองของเหล่า ‘โยไค’ ภูติผีผู้อยู่เบื้องหลังความวายป่วงในมังงะดัง
หากจะพูดถึงหนึ่งในตำนานหรือเรื่องเล่าที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของมนุษย์มาตลอดหลายพันปี หนึ่งในนั้นจะต้องมีเรื่องของผี ๆ สาง ๆ ที่ถูกบอกเล่าผ่านแต่ละยุคแต่ละสมัยอยู่เสมอ รวมไปถึงในเชิงวัฒนธรรมและสื่อบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องผี ๆ ได้กลายเป็นหนึ่งวัฒนธรรมร่วมของมนุษย์ไปแล้ว
แต่หากจะมองลึกลงไปถึงเบื้องหลังของความสยองที่มนุษย์มีร่วมกันนั้น เราจะพบว่าเรื่องราวเหล่านั้นกลับแฝงไปด้วยความแตกต่างตามวัฒนธรรมและสังคม เช่น ในสังคมแบบชนเผ่าที่มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังอำนาจที่สิงสถิตย์อยู่ในธรรมชาติ หรือจะเป็นตำนานผีในวัฒนธรรม ญี่ปุ่น ที่ถูกบอกเล่าผ่านประวัติศาสตร์ ศาสนา และจินตนาการ ที่ทำให้เห็นถึงสังคมและวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
ความแปลกประหลาดที่ปนไปด้วยความสยองเหนือจินตนาการ ทำให้ตำนานผีญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า ‘โยไค’ (Yokai) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่ภาพยนตร์ มังงะ ไปจนถึงอนิเมะ ไม่ว่าจะเป็น ‘เดอะริง’ ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหรือเรื่อง ‘จูออน’ ที่ทำให้ผีญี่ปุ่นมีความโดดเด่นในโลกภาพยนตร์ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ได้นำเสนอภาพของผีญี่ปุ่นในลักษณะที่น่ากลัวและเย็นเยียบ ซึ่งสะท้อนความเชื่อเรื่องผีที่คอยติดตามและทำร้ายผู้คน
เช่นเดียวกันกับ ‘Dandadan’ มังงะของ ‘ยูกิโนบุ ทัตสึ’ (Yukinobu Tatsu) ที่ได้มีการนำตำนานผีมานำเสนอในรูปแบบใหม่ โดยการหยิบยกตำนานความสยองที่มีในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น มาเผชิญหน้ากับความลึกลับจากต่างโลก โดยเล่าเรื่องราวผ่านตัวละคร ‘โมโมะ อายาเสะ’ เด็กสาวที่เชื่อในเรื่องวิญญาณ และ ‘ทาคาคุระ เคน’ เด็กหนุ่มที่เชื่อในเรื่องมนุษย์ต่างดาว ที่ทั้งสองต้องต่อสู้เพื่อกำจัดความวุ่นวายให้สิ้นซาก
ความโดดเด่นของ Dandadan นอกจากจะเปิดประสบการณ์ให้ผู้ชมได้เผชิญหน้ากับสิ่งไม่คาดคิดและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนเกิดความวุ่นวายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้เรื่องนี้โดดเด่นคือเหล่าภูตผีตามตำนานญี่ปุ่นที่ปรากฏตัวขึ้นมาในหลายรูปแบบทั้งน่ากลัวและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นวิญญาณร้ายที่ออกมาหลอกหลอนผู้คน หรือสิ่งมีชีวิตประหลาดจากอีกมิติที่มีพลังลึกลับ
GroundControl จึงขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนไปรู้จักกับเหล่าภูตผีหรือโยไคที่ปรากฏตัวขึ้นใน Dandadan ด้วยการพาไปสำรวจตั้งแต่เรื่องเล่าและต้นกำเนิดของตำนานภูตผีเหล่านั้น อิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ไปจนถึงความสยองที่ถูกส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน
‘ยายเทอร์โบ’ (Turbo Granny) ตำนานยายสปีดเวอร์ชั่นญี่ปุ่น
ยายเทอร์โบ (Turbo Granny) เป็นโยไคที่ปรากฏตัวใน Dandadan ตั้งแต่ตอนแรก รวมถึงยังมีบทบาทสำคัญกับตัวละครเอกอย่างเคนอีกด้วย โดยยายเทอร์โบถือเป็นโยไคที่มักจะถูกพูดถึงในวัฒนธรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมังงะและเกมต่าง ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตำนานท้องถิ่น และตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่น
ตามเรื่องเล่ากล่าวว่ายายเทอร์โบจะมีลักษณะเป็นหญิงชราที่มีความสามารถวิ่งหรือเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงอย่างน่าประหลาดเหมือน ‘รถเทอร์โบ’ ขัดแย้งกับลักษณะทางกายภาพของผู้สูงอายุที่มักถูกมองว่าช้าและอ่อนแรง เธอมักจะสิงสถิตอยู่ตามถนน ในพื้นที่ชนบทที่เงียบสงบ หรือตามตำนานถนนร้าง ซึ่งถนนที่ว่านี้อาจเป็นสถานที่อับโชคหรือเคยเกิดเหตุการณ์เลวร้าย เช่น อุบัติเหตุหรือการฆาตกรรม
หนึ่งในถนนอับโชคที่ผู้คนมักจะพบเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากล และเรื่องราวประหลาด ๆ คือถนนเส้นหนึ่งที่อยู่ใกล้กับอุโมงค์บริเวณภูเขาร็อคโคะ เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเวลากลางดึก มักจะมีคนพบเห็นหญิงชราแต่งตัวเป็นชุดแบบเก่า ๆ เดินอยู่ข้างถนน เมื่อพวกเขาขับผ่าน หญิงชราคนนั้นจะเริ่มวิ่งตามรถของพวกเขาด้วยความเร็วที่ไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับคนแก่ บางครั้งเมื่อมองผ่านกระจกหลังก็มักจะเห็นหญิงชราวิ่งไล่ตามด้วยความเร็วเทียบเท่ากับรถยนต์ จนรู้สึกเหมือนว่าเธอกำลังจะกระโดดขึ้นมาเกาะรถ หรือบางครั้งก็มักจะมีเสียงคนมาเคาะกระจกรถทั้ง ๆ ที่รถกำลังวิ่งอยู่ด้วยความเร็ว เมื่อหันไปมองที่มาของเสียงเคาะดังกล่าว ก็จะเจอกับภาพของหญิงชราที่กำลังวิ่งขนาบคู่ของรถอยู่ กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานเมืองที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในวงกว้างมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามเรื่องราวของยายเทอร์โบไม่ได้มีแค่ในตำนานเมืองของญี่ปุ่นเท่านั้น ในประเทศไทยเองก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับยายเทอร์โบเช่นกัน แต่จะถูกเรียกว่า ‘ยายสปีด’ แทน ซึ่งหนึ่งในเรื่องผีที่ดังมาก ๆ ในเมืองหาดใหญ่ โดยเรื่องราวของยายสปีดก็จะเหมือนกับเรื่องราวของยายเทอร์โบแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งว่ากันว่าวิญญาณยายแก่ตนนั้นคือคุณยายที่อาศัยอยู่ละแวกนั้น แต่เสียชีวิตเพราะถูกรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนจนร่างขาดเป็นสองท่อน จึงติดอยู่กับที่และคอยอาฆาตใครก็ตามที่ขับรถด้วยความเร็วสูง
ตำนาน ‘ผีสาวปากฉีก’ ที่มาพร้อมกับความสวยสยอง
‘ผีสาวปากฉีก’ (Kuchisake Onna) เป็นหญิงสาวที่ปรากฏอยู่ในปกรณัมของญี่ปุ่น ตามตำนานเล่าว่าเป็นเรื่องราวของหญิงสาวผู้มีหน้าที่สวยและงดงามไม่เป็นรองใครในแผ่นดิน โดยเธอเป็นภรรยาของซามูไรที่มีชื่อเสียง แต่โชคร้ายที่เธอกลับไม่ซื่อตรงต่อสามีโดยการคบชู้ เมื่อสามีเธอรู้เข้าจึงถูกลงโทษด้วยการเอามีดกรีดปากยาวไปจนถึงใบหู และเมื่อหญิงสาวสิ้นชีพก็ได้กลายเป็นวิญญาณพยาบาท
ผีสาวปากฉีกมักจะออกมาหลอกหลอนและกลั่นแกล้งเด็กที่อยู่ลำพังในยามวิกาล เธอจะมาในลักษณะของหญิงสาวที่สวมหน้ากากอนามัย และมักจะเข้ามาถามเด็ก ๆ เหล่านั้นว่า ‘ฉันสวยไหม?’ ซึ่งถ้าตอบไปส่ง ๆ หญิงสาวคนนั้นก็จะล้วงกรรไกรมาตัดปากเด็กจนถึงตาย แต่ถ้าหากตอบว่าสวย เธอก็จะถอดหน้ากากอามัยออก และยิ้มให้เห็นถึงปากที่ฉีกถึงหูของเธอ แล้วถามย้ำอีกครั้งว่าสวยไหม ซึ่งถ้าตอบว่าไม่เธอก็จะล้วงกรรไกรมาตัดร่างกาย หรือถ้าตอบสวยเธอก็จะใช้กรรไกรมาตัดปากให้เหมือนเธอ
นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าหากถูกผีสาวปากฉีกถามว่าสวยไหม และเราตอบว่า “น่ารักน่ารัก” ผีสาวปากฉีกก็จะสับสน ให้อาศัยจังหวะนั้นหนีไป หรือหากตอบว่า “ก็ดูปกติดีนี่” หรือ “ก็สวยดีนี่” สาวปากฉีกจะพอใจและไม่ทำร้ายเหยื่อและจากไปแต่โดยดี แต่ถ้าหากเราเกิดตกใจแล้วพยายามวิ่งหนี ผีสาวปากฉีกก็จะวิ่งไล่และเล่นงานเหยื่อโดนจะตัดปากให้ฉีกเหมือนเธอ ซึ่งหากเราถูกสาวปากฉีกวิ่งไล่ให้โยนขนมหวานชื่อดัง เพื่อดึงความสนใจให้เธอไปที่อื่น
อย่างไรก็ตามเรื่องราวของผีสาวปากฉีกนั้นได้กลับมาเป็นที่เล่าขานอีกครั้งในศตวรรษที่ 20 เพราะมีรายงานว่ามีคนเคยพบผีปากฉีกตัวเป็น ๆ โดยในปี ค.ศ.1979 หนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งได้รายงานว่ามีเด็กประถมได้พบเจอกับผีสาวปากฉีกในขณะที่กำลังเดินอยู่ลำพังในยามค่ำคืน จนเกิดเป็นกระแสความตื่นตระหนกไปทั่วญี่ปุ่น และความน่ากลัวยังถูกเล่าผ่านปากต่อปากจนถูกแต่งเติมและทำให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงและกลายมาเป็นตำนานเมืองในที่สุด
‘คุเนะคุเนะ’ ต้นแบบความสยองของ ‘เนตรปีศาจ’
เนตรปีศาจ (Evil Eye) หนึ่งในโยไคที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นหนึ่งในวิญญาณที่อาศัยอยู่บนภูเขา ปรากฏตัวมาพร้อมกับร่างกายที่ผอมสูงและตัวซีดขาว ดวงตาแนวตั้งยาวและแต่งกายด้วยกางเกงในตัวเดียว นอกจากนั้นทั้งตัวยังสามารถบิดเบี้ยวและเคลื่อนไหวได้อิสระราวกับกำลังเต้นรำ ซึ่งเชื่อกันว่าหากมนุษย์คนใดที่บังเอิญไปมองนัยน์ตาของเนตรปีศาจเข้า ก็จะถูกสาปโดยการทำให้ผู้คนเป็นบ้าและควบคุมพวกเขาด้วยความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
ถึงแม้เนตรปีศาจจะไม่ได้มีการอ้างอิงมาจากตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่นโดยตรง แต่ถ้าหากมองไปถึงรายละเอียดและความสามารถคำสาปที่เนตรปีศาจนั้นมีเราก็จะพบว่า โยไคตนนี้น่าจะถูกอ้างอิงมาจากตำนาน ‘คุเนะคุเนะ’ (Kunekune) หนึ่งในตำนานที่ถูกเป็นที่พูดถึงอย่างมากในสังคมญี่ปุ่นช่วงปี 2003
คุเนคุเนะมีความหมายตรงตัวว่า “บิดตัวไปมา” หรือ "การเคลื่อนไหวเป็นคลื่น" เป็นตำนานเมืองของญี่ปุ่นที่มีถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในเว็บไซต์และฟอรัมเกี่ยวกับเรื่องผีและเรื่องสยองขวัญของญี่ปุ่นในช่วงปี 2003 หลังจากที่มีชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งได้โพสต์ลงในฟอรัมออนไลน์ โดยอ้างว่าได้พบเจอกับบางสิ่งที่มีรูปร่างคล้ายกับมนุษย์ยืนอยู่ในทุ่งนา มีลักษณะเส้นบาง ๆ คล้ายกับผ้าหรือเงา หรือเป็นร่างที่ไม่มีรูปทรงแน่นอน และเคลื่อนไหวไปมาอย่างช้า ๆ และลื่นไหล เหมือนกับการบิดตัวของงูหรือท่าทางที่ผิดปกติของมนุษย์
ว่ากันว่าคุเนคุเนะมักจะปรากฏตัวในช่วงเวลากลางวัน บริเวณทุ่งนากว้างหรือบริเวณพื้นที่ชนบทของญี่ปุ่นในวันที่มีอากาศร้อน ซึ่งเรามักจะเห็นมันอยู่ไกล ๆ เหมือนกับภาพลวงตาที่เคลื่อนไหวเป็นคลื่นลม ซึ่งบางคนอาจเข้าใจว่าเป็นผลมาจากความร้อนที่ลอยขึ้นจากพื้น หรือบางคนก็อาจจะเชื่อว่ามันอาจเป็นภูติผีหรือวิญญาณที่เกิดจากพื้นที่ว่างเปล่า
นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าหากใครก็ตามพยายามจ้องมองมันไม่ว่าจะอย่างใกล้ชิดหรือใช้กล้องส่องทางไกล จะต้องพบกับผลกระทบอันร้ายแรง อาจจะกลายเป็นบ้าหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือมีตำนานที่อ้างว่าผู้ที่เผชิญหน้ากับคุเนะคุเนะเมื่อกลับมาก็จะอยู่ในสภาพที่เหมือนเสียสติ ไม่สามารถสื่อสารหรือใช้ชีวิตตามปกติได้อีกต่อไป
‘โอบาริยง’ ตำนานผีขี่หลัง
ในช่วงหนึ่งของ Dandadan เราจะได้พบกับเรื่องราวของ ‘ริน ซาวากิ’ เด็กหญิงผู้เป็นหัวหน้าห้องของเคน วันหนึ่งอยู่ดี ๆ เธอเริ่มรู้สึกปวดหัวและรู้สึกว่าตัวกำลังหนักอึ้ง จนพบว่าเธอได้ถูกวิญญาณของเพื่อนสมัยเด็กที่เสียชีวิตไปแล้วกำลังตามหลอกหลอนเธออยู่ ซึ่งมาในรูปแบบของ ‘ออมบุดส์แมน’ (Onbusuman) หรือ ‘โอบาริยง’ (Obariyon) ตามตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่น เนื่องจากบาดแผลในใจที่ยังคงค้างคาใจของเธอมาตั้งแต่ในอดีต
ตามตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่น โอบาริยงเป็นโยไคขนาดเล็กขนาดพอกับเด็กที่มักจะซุ่มอยู่ตามพุ่มไม้และต้นไม้ข้างถนนโดยเฉพาะในเขตชนบทห่างไกล เมื่อมีนักเดินทางเดินผ่านมามันก็จะกระโดดขึ้นไปบนหลังของพวกเขาและร้องว่า “โอบาริยง” ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าขอขี่หลังหน่อย ซึ่งหากนักเดินทางยอมแบกพวกมันเอาไว้บนหลัง น้ำหนักของพวกมันก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ก้าวเดิน จนกระทั่งในที่สุดก็จะหนักพอขยี้ร่างของเหยื่อ
นอกจากนั้นตามตำนานยังเล่าว่าโอบาริยงเป็นโยไคที่มีเขี้ยวที่แข็งแรง ถึงขนาดสามารถขยี้หนังหัวของมนุษย์ได้อย่างง่าย แต่มันกลับเลือกที่จะขบหนังศีรษะของคนที่ยอมแบกมัน เพื่อเพิ่มความลำบากใจให้กับคนคนนั้นอีกด้วย และเพื่อป้องกันการขบกัดศีรษะที่เกิดจากผีขี่หลัง บางหมู่บ้านจึงมีประเพณีการสวมชามโลหะลงบนศีรษะเหมือนกับการใส่หมวกเพื่อป้องกันไม่ให้โอบาริยงที่ขึ้นมาขี่หลังสามารถทำการกัดหนังศีรษะของเราได้
ในนิทานพื้นบ้านบางพื้นที่ได้เล่าว่า หากใครที่สามารถแบกโอบาริยงไปตลอดทางกลับบ้านได้ โอบาริยงที่มีน้ำหนักมหาศาลบนหลังนั้น จะกลายเป็นเงินทองและทรัพย์สินที่มีค่ามหาศาล หรือหากทนไม่ไหวและต้องการปลดปล่อยโอบาริยงออกจากหลัง ให้เราพยายามบ่นว่า "หนัก" หรือ "ไม่ไหวแล้ว" เสียงบ่นนี้จะทำให้โอบาริยงรู้สึกดีใจที่สามารถทำให้เหยื่อยอมรับความพ่ายแพ้และมันจะหลุดออกไปในที่สุด แต่หากเหยื่อไม่บ่นโอบาริยงจะยังคงเกาะหลังต่อไปและหนักขึ้นเรื่อย ๆ และขยี้ร่างของเหยื่อภายในที่สุด
‘ผีร่ม’ โยไคในคติชนญี่ปุ่น
ผีร่ม (Kasa-obake) หนึ่งในตำนานตามความเชื่อของญี่ปุ่นที่โด่งดังอย่างมาก มีลักษณะเป็นร่มเก่า ๆ ที่ทำจากไม้และกระดาษ บนร่มจะมีดวงตาดวงใหญ่หนึ่งดวง มีลิ้นยาว ๆ ที่มักจะห้อยออกมาจากปากอยู่เสมอ และมีขาหนึ่งข้างที่แอบใส่เกี๊ยะญี่ปุ่นไว้คอยกระโดดไปมา บางตำนานเล่าว่าผีร่มมีนั้นจะมีแขนที่ยื่นออกมาจากตัวร่มด้วยเช่นกัน
ตามตำนานผีร่มนั้นเกิดจากความเชื่อของคนญี่ปุ่นที่ว่าหากเราทิ้งของใช้ไปแล้วเกิน 100 ปี ของใช้นั้นจะมีวิญญาณไปสิงอยู่ ซึ่งร่มถือเป็นอุปกรณ์ชาวญี่ปุ่นโบราณต้องมีติดบ้าน เมื่อร่มพังผู้คนก็มักจะนำร่มมาทิ้งไว้ตามสุสานหรือที่รกร้างต่าง ๆ เนื่องจากในสมัยโบราณไม่มีที่แยกขยะ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีวิญญาณมาสถิตอยู่จนกลายเป็นผีร่ม
ว่ากันว่าผีร่มนั้นมักจะปรากฏตัวในวันที่ฝนตก ผู้คนมักจะเจอผีร่มในลักษณะที่ลอยไปลอยมาหรือกระพือร่มบินไปในท้องฟ้ายามค่ำคืน โดยมันมักจะมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นอันตรายมากนัก มักจะเล่นซนหรือทำให้คนตกใจด้วยการกระโดดมาขวางทาง หรือใช้ลิ้นยาว ๆ เลียเหยื่อเพื่อแกล้ง แต่ไม่ได้มีความโหดร้ายเหมือนโยไคตัวอื่น ๆ ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตามตำนานผีร่มมักจะถูกนำเสนอในเชิงขบขันหรือเป็นตัวละครที่น่ารักมากกว่าน่ากลัว เพื่อสะท้อนถึงความเชื่อในวัฒนธรรมญี่ปุ่นเกี่ยวกับการเคารพในสิ่งของ แม้แต่สิ่งของที่ใช้งานประจำวันอย่างร่มก็มีความสำคัญและไม่ควรถูกทิ้งขว้างอย่างไร้ค่า ตำนานนี้สอนให้ผู้คนไม่มองข้ามความสำคัญของสิ่งของรอบตัว และสะท้อนถึงการให้ความเคารพต่อวัตถุเก่าที่มีประวัติการใช้งานมายาวนาน
อ้างอิง
Kunekune | Scary For Kids. Scaryforkids. Published April 25, 2018. Accessed October 8, 2024. https://www.scaryforkids.com/kunekune/
turbo granny. NamuWiki. Published October 11, 2024. Accessed October 9, 2024. https://en.namu.wiki/w/%ED%84%B0%EB%B3%B4%20%ED%95%A0%EB%A8%B8%EB%8B%88 Kuchisake-onna, the Slit-Mouthed Woman of Japanese Folklore | Into Horror History | J.A. Hernandez. Jahernandez. Published 2022. Accessed October 8, 2024. https://www.jahernandez.com/posts/kuchisake-onna-the-slit-mouthed-woman-of-japanese-folklore
Dandadan Wiki. Fandom. Published 2024. Accessed October 8, 2024. https://dandadan.fandom.com/wiki/Dandadan_Wiki Obariyon | Yokai. Published 2018. Accessed October 8, 2024. https://yokai.com/obariyon/
Wantz R. Kasa-obake – Monster Preservation & Research Society. Wordpress. Published July 24, 2017. Accessed October 8, 2024. https://mysideofthelaundryroom.wordpress.com/2017/07/24/kasa-obake/