Tokyo Olympiad หน้าประวัติศาสตร์โอลิมปิก ที่ถูกบันทึกลงแผ่นฟิล์มอย่างมีมิติ
อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป ภาพยนตร์สารคดีบนโลกใบนี้ มีให้ชมกันหลากหลายสไตล์ และใช่ มหกรรมกีฬา Olympic Games ก็ได้ถูกบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มด้วยเช่นกัน..
ย้อนกลับไปในเบอร์ลินเกมส์ ปี 1936 ภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่เก็บเอาบรรยากาศของโอลิมปิก เกิดขึ้นมาในชื่อ Olympia (1938) ด้วยความที่ตอนนั้น เยอรมันยังอยู่ในช่วงนาซีเรืองอำนาจ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงกลายมาเป็นที่โต้เถียงกันถึงการได้รับทุนสนับสนุนจากระบอบนาซี เพื่อทำให้การแข่งขันเป็นไปในทางโฆษณาชวนเชื่อ ป่าวประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่า ฉันคือนาซี ฉันยิ่งใหญ่ แข็งแกร่ง และงดงามที่สุด
แม้ว่า ‘Tokyo Olympiad’ ซึ่งถูกสร้างขึ้นสำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว ปี 1964 จะไม่ใช่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก แต่ คน อิชิกาวะ (Kon Ichikawa) ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ได้สร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการมองงานแข่งขันครั้งนี้แบบเพื่อนมนุษย์ อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ตัวภาพยนตร์พาเราเข้าไปซึมซับถึงความพยายามและความมุ่งมั่นของนักกีฬาไม่ใช่แค่ฝ่ายที่ชนะ แต่ยังรวมถึงฝ่ายแพ้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าเราจะไม่ได้รู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดูแปลกตา แต่ถ้าลองสวมกรอบปี 1964 เข้าไป ก็นับได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างความแปลกใหม่ในยุคนั้นมากมายเลยทีเดียว
ในการทำงานครั้งสำคัญนี้ อิชิกาวะใช้กล้องและอุปกรณ์ล้ำสมัยมากกว่า 100 ตัว โดยมีทีมงานคุณภาพ ร่วมด้วยช่วยกันเก็บช่วงเวลาของการแข่งขันมาให้ได้มากที่สุด เลนส์เทเลโฟโต้ ถูกใช้ในการถ่ายทำเป็นส่วนใหญ่เพื่อไม่ให้รบกวนต่อการแข่งขันที่กำลังเข้มข้นอยู่ในช่วงนั้น
Tokyo Olympiad ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์เกี่ยวกับความจริงและการบันทึกสถิติเท่านั้น อิชิกาวะยังเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทางไว้บนแผ่นฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็นฉากแขนขาของนักกีฬามวยปล้ำที่พันกันอย่างอึดอัด การแข่งเดินที่ตัดเข้ากับเพลงน่ารัก ๆ รวมถึงช่วงเวลาสำคัญเมื่อ แอน แพคเกอร์ (Ann Packer) นักวิ่งชาวอังกฤษชนะการแข่งขัน 800 เมตรรอบชิงชนะเลิศ อิชิกาวะได้ฉายภาพซ้ำในตอนท้ายแบบสโลว์โมชั่น จับภาพตอนเธอยิ้มให้คู่หมั้นที่มองจากข้างสนาม สร้างความประทับใจได้ไม่รู้ลืม
ไม่เพียงแค่ความสำเร็จและชัยชนะ อิชิกาวะยังคงย้ำถึงความพยายามของนักกีฬาที่ไม่ได้เฉิดฉายกลางแสงไฟ..
บางช่วงที่หลายคนอาจหลงลืมไป อิชิกาวะได้มอบเวลาในภาพยนตร์ให้กับนักกีฬาเหล่านั้น แม้ว่า อาฮ์เมด อิสซา (Ahmed Issa) หนึ่งในตัวแทนไม่กี่คนจากชาด ประเทศเล็ก ๆ ในแอฟริกา ไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขันกรีฑา แต่อิชิกาวะยังคงติดตามเขา การให้พื้นที่กับนักกีฬาซึ่งมาจากประเทศที่คนไม่ค่อยรู้จักกัน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีต่อหน้าประวัติศาสตร์กีฬา จนทำให้ภาพยนตร์ของเขากลายเป็นหนึ่งในสารคดีกีฬาเพียงไม่กี่เรื่องที่รวมอยู่ในหนังสือ 1001 Movies You Must See Before You Die
คลิกเพื่อรับชม Tokyo Olympiad