Poontany ทายาทผู้หาความยุติธรรมสำหรับ “หนังสือพิมพ์จีนคอมมิวนิสต์” ผ่านงานออกแบบข้อมูล
“เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” เราอาจเชื่อกันอย่างนั้น แต่ในยุคสมัยหนึ่ง หนังสือพิมพ์ที่เป็นช่องทางข่าวสาร สะท้อนความสนใจและความต้องการของชุมชนคนจีนในไทย กลับถูกสั่งปิดไปด้วยข้อหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ประวัติศาสตร์ที่หลายคนเคยได้ยินผ่านหู แต่ไม่เคยรู้ว่าหนังสือพิมพ์คอมมิวนิสต์ที่ถูกปิดไปนั้นชื่ออะไร? เนื้อหาในนั้นมีอะไรบ้าง? พอปิดแล้วเขาทำอย่างไรกันต่อ? แล้วลูกหลานเขาได้ทำอะไรกับอดีตส่วนนี้บ้างไหม? ซึ่งตอนนี้เราได้คำตอบแบบเจาะลึกของปริศนาเหล่านั้นทั้งหมดมาจากทายาทรุ่นที่สามของ “หนังสือพิมพ์กวงฮั้วป่อ (光華報)” ผู้ชุบชีวิตมันกลับขึ้นมาใหม่ ด้วยทักษะของการออกแบบสื่อสารข้อมูล (Information Design) ที่เขามี
เราได้ยินชื่อปุณณ์ พจนาเกษม หรือ “Poontany” ครั้งแรก ๆ จากผลงาน “คู่มือการฟังเพลงของวง BTS ฉบับไดอะแกรม” ของเขาซึ่งสำรวจลำดับการร้องและท่อนร้องเพลงของวงเคป๊อปชื่อดังแบบจริงจังสุด ๆ หรืองานสำรวจวิธีการตั้งคำขวัญวันเด็กในแต่ละปี ที่ทำให้เห็นแบบแผนของความคิดที่คนมีต่อเด็ก แต่ล่าสุด เขาเพิ่งเฉลยว่าตัวเองมีอีกบทบาทเป็นทายาทรุ่นที่สามของผู้ผลิตหนังสือพิมพ์กวงฮั้วป่อ ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วง 2490 และเป็นหนึ่งในสื่อกลางข่าวสารที่ได้รับความนิยมมาจนกระทั่งโดนสั่งปิดไปในปี 2501
“หลังธุรกิจถูกสั่งปิด พวกเราก็ต้องอยู่เงียบๆ กลับไปทำธุรกิจเดิมไม่ได้ ตัวเองในฐานะรุ่นที่ 3 จะมาทวงความยุติธรรมที่ตระกูลสมควรได้รับคืน” เขาเคยทวีตเอาไว้เมื่อปีก่อน
ในนิทรรศการ “Guānghuá Bào LETTER Press by Poontany” ที่ Neighbourmart ปุณณ์นำเศษเสี้ยวประวัติศาสตร์บางส่วนของกวงฮั้วป่อมาเล่าผ่านงานออกแบบตัวอักษรและงานโฆษณาในกวงฮั้วป่อฉบับก่อน ๆ GroundControl พบกับเขาที่นั่นเพื่อพูดคุยถึงการตัดสินใจเปิดเผยและรับช่วงต่อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้, เรื่อง “ความยุติธรรม” ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งควรได้รับ, อารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทยต่อคอมมิวนิสต์ในช่วง 2500, เรื่องพลังของการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล, และข้อจำกัดของการเล่าประวัติศาสตร์ด้วยข้อมูล
บทสัมภาษณ์นี้อาจเขียนและเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต แต่เราเชื่อว่ามันจะทำให้เราเห็นค่าของสิ่งพิมพ์ได้ไม่ยาก และอยากทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของเรามากขึ้นอีกด้วย หลังจากอ่านไปเรื่อย ๆ
คุณเป็นที่รู้จักจากงาน data visualization กับเรื่องอย่างคำขวัญวันเด็กหรือเพลง BTS มาก่อน โดยที่เก็บเรื่องที่บ้านนี้ไว้เป็นความลับมานาน ก่อนจะเพิ่งเปิดเผยไม่นานมานี้— ทำไมถึงเพิ่งเปิดเผย
เขินอะ (หัวเราะ) เราก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าเราเป็นใคร เพราะก่อนหน้านั้นก็ทำแต่งานดีไซน์ ทำ data visualization หรือ information design พวกนี้มาตลอด แต่ที่บ้านก็เหมือนเพิ่งมาเฉลยว่าครอบครัวเราเคยทำหนังสือพิมพ์จีนนี้นะ เราก็เก็บเรื่องนี้ไว้ จนมีงาน Art book fair เมื่อปีที่แล้ว ก็เลยอยากเอาหนังสือพิมพ์นี้กลับมาพิมพ์ใหม่ในชื่อเดิมอีกรอบหนึ่ง แต่เล่าเรื่องผ่านรูปแบบงานที่เราทำ
ทำไมอยู่ ๆ ที่บ้านถึงเล่าขึ้นมา
มันมาจากซีนเล่มหนึ่งที่เราทำของเราเอง แล้วเอาเรื่องนี้ไปคุยกับที่บ้าน เขาก็เลยนึกถึงขึ้นมา แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนเลยอาม่า กับ อาโกวเขาก็ลืมกันไปหมด เพราะมันนานมาก หกสิบกว่าปีมาแล้ว เรื่องนี้หายไปเลยหนึ่งรุ่นในครอบครัวเรา
ครอบครัวเล่าเรื่องนี้ด้วยอารมณ์แบบไหน โกรธ กลัว หรือเสียใจไหม
มันก็น่าจะปน ๆ กันนะ มีความเสียดายที่เมื่อก่อนเคยทำธุรกิจได้รุ่งเรืองมาก่อน แต่กลับโดนสั่งปิดด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างงี่เง่านิดหนึ่ง
เราโดนสั่งปิดในช่วงสงครามเย็น ซึ่งเขากวาดล้างคอมมิวนิสต์กัน พวกธุรกิจที่เกี่ยวกับความเป็นจีน ทั้งโรงเรียนหรือสิ่งพิมพ์เหล่านี้ก็เลยโดนหางเลขไปด้วย ธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่บ้านเราก็เป็นหนึ่งในนั้นที่โดนเข้าใจว่าเป็นสื่อที่เผยแพร่แนวคิดคอมมิวนิสต์ในไทย ก็เลยซวยไป เขาก็ไม่ได้ให้เราไปยุ่งอะไรกับสิ่งพิมพ์แบบนี้เลย เพราะกลัวจะเจ็บปวดเหมือนอากงอาม่า แต่เรื่องนี้มันอาจจะยังซ่อนอยู่ในตัวเรา
ตอนแรกเราก็คิดว่าที่บ้านเราโม้ มันฟังดูเป็นเรื่องเล่นเหมือนกัน เลยไปหาข้อมูลเพิ่มถึงเจอว่าสรุปเป็นเรื่องจริง
เราว่ามันเป็นโชคชะตาด้วยมั้ง ถ้าเราไปเรียนอย่างอื่น ไม่ได้มาทำกราฟิก ไม่เคยเขียนคอลัมน์เรื่อง data visualization พวกนี้ เราก็คงมาช่วยธุรกิจที่บ้านยากนะ แต่มันเป็นเหมือนแต่ละขั้นที่พามาจุดนี้
แล้วส่วนตัวรู้สึกอย่างไรกับที่ธุรกิจครอบครัวถูกสั่งปิดด้วยเหตุผลแบบนี้ เห็นเคยบอกว่าตั้งใจจะทวงความยุติธรรมให้ครอบครัวด้วย
ตอนนั้นที่เราพูดเรื่องความยุติธรรม เราไม่ได้รู้สึกอยากได้เงินคืนหรือมาเอาอะไรนะ เพราะเรื่องมันผ่านมานานมาก ๆ แล้ว คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ตายไปหมดแล้วด้วย ทั้งคนที่สั่งปิดทั้งอากงที่บ้านเรา แต่อย่างน้อยเราอยากให้คนไม่ลืมชื่อธุรกิจที่บ้านเราก็พอ อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งเคยมีหนังสือพิมพ์เล่มนี้ มีเรื่องราวเหตุการณ์อย่างนี้อยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยในอดีต
ต้องการแก้ต่างอะไรตอนนี้ไหม ว่าหนังสือพิมพ์กวงฮั้วป่อไม่ใช่คอมมิวนิสต์จริง ๆ อย่างที่ถูกกล่าวหา
ไม่แก้ ถ้าจะเข้าใจแบบนั้นก็เข้าใจไปเถอะ มันไม่ทันแล้ว ถ้าอยากจะแก้เราว่าอากงอาม่าคงพยายามแก้ตัวตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว จะเรียกเราว่าคอมมิวนิสต์ก็เรียกไปเถอะ (หัวเราะ) คำว่าคอมมิวนิสต์เองก็มีความหมายที่หลากหลาย ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นแบบโซเวียต หรือเป็นนารวมอะไรอย่างนั้นทั้งหมด
แล้วเนื้อหาในหนังสือพิมพ์กวงฮั้วป่อดั้งเดิมจริง ๆ มันมีสิทธิ์เป็นคอมมิวนิสต์จริง ๆ บ้างไหม หรือแค่คนระแวงไปเองเฉย ๆ เลย
มันเป็นการสรุปไปเองของคนอื่น แต่เราว่ามันก็มีกลิ่นบ้าง ถ้าดูจากการ์ตูนหรือเรื่องที่เล่าในนั้น ก็มีแนวโน้มที่ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมถึงโดนใส่ร้าย แต่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ขนาดนั้น อาจจะมีความซ้าย ๆ นิดหน่อยมากกว่า
อย่างการ์ตูนล้อการเมือง ก็จะเรียกร้องให้แรงงานคนจีนได้แรงงานเท่าแรงงานคนไทย หรืออย่างในช่วงสงครามโลกก็มีการเรียกร้องทหารญี่ปุ่นให้ยุติสงคราม ซึ่งจะพิมพ์ด้วยภาษาจีนทั้งหมด มีโฆษณาภาษาอังกฤษกับไทยบางส่วนแทรกบ้าง
มันเหมือนความเข้าใจผิดต่อ ๆ กันมาด้วย เพราะหนังสือพิมพ์จีนที่บ้านนี้ก็สนิทกับทางฮ่องกง เพราะช่วง 1950s นั้นฮ่องกงเป็นศูนย์กลางข่าวของเอเชีย เพราะได้จากทางภาษาจีนกลางและได้จากภาษาอังกฤษด้วย (ตอนนั้นฮ่องกงยังเป็นของอังกฤษ) เพราะฉะนั้นเวลาหนังสือพิมพ์ที่บ้านต้องการข่าวจากจีน เราก็ต้องไปโทรเลขจากฮ่องกง แล้วพอสนิทกับฮ่องกงมาก ๆ รัฐบาลก็เลยเข้าใจว่าสนิทกับจีนใหญ่ด้วย แล้วพอเข้าใจว่าสนิทกับจีนใหญ่ เขาก็เข้าใจว่าสนิทกับเกาหลีเหนือกับโซเวียตด้วย มันเลยประกอบกันเข้ามาเรื่อยจนโดนสั่งปิดไป
แต่ว่าสมัยนั้นมันก็มีสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่แนวคิดคอมมิวนิสต์จริง กับสิ่งพิมพ์ที่ไม่รู้เรื่องเลยจริง ๆ มันมีทั้งที่ทั้งอยู่เคียงข้างแรงงาน ที่ต่อต้านทหาร หรือที่อวยราชวงศ์จีนมาก ๆ ก็มี ทั้งที่ตอนนั้นจีนเป็นยุคคอมมิวนิสต์แล้ว
จริง ๆ แล้วงานของการทำ data visualization คืออะไร
data visualization คือการอธิบายข้อมูลผ่านรูปภาพ เราอาจจะได้ข้อมูลมาเยอะมาก เช่นเป็นตารางชุด ๆ งานของพวกเราก็คือการอธิบายข้อมูลชุดนั้นหรือตัวเลขเหล่านั้นให้ออกมาเป็นกราฟ เป็นภาพ โดยเลือกวิธีการสร้างภาพตามแต่ละหัวข้อของข้อมูลที่ได้มา
การทำ data visualization ก็จะมีหลายรูปแบบ เช่นที่เป็นพื้นฐานเลยคือ infographics ที่มีเรียนกันในมหาวิทยาลัย เจอได้ทั่วไป หรือถ้ายากขึ้นมาอีกจะเป็นพวก diagram เช่นงานอธิบายการประกอบสินค้า การติดตั้งโต๊ะ แบบในอิเกีย ก็จะมีขั้นตอนที่ยากมากขึ้น หรือก็จะมีงานที่ต้องอาศัยพื้นฐานทางสถิติด้วย ว่าข้อมูลแต่ละอย่างมีความหมายว่าอะไร
แต่เราไม่ใช่ data scientist ขนาดนั้น เราว่าเราอยู่ตรงกลางระหว่างการทำ data เลยกับงานออกแบบ ซึ่งดูเรื่องความสวยงามด้วย
ได้ใช้ทักษะการจัดการข้อมูลของตัวเองไปทำความเข้าใจธุรกิจที่บ้านอย่างไรบ้าง
พอหนังสือพิมพ์นี้โดนใส่ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์แล้วโดนสั่งปิด หลักฐานทุกอย่างมันก็เลยโดนทำลายทั้งหมด ทั้งป้ายโรงพิมพ์ แท่นหนังสือพิมพ์เก่า ๆ แต่ข้อดีก็คือหอสมุดแห่งชาติเขายังเก็บเอาไว้ เป็นคลังจดหมายเหตุหนังสือพิมพ์ เราเลยไปเริ่มขอเขาดู ว่ามันมีกราฟิกอะไร มีข่าวอะไร มีอาร์ตเวิร์คอะไรบ้างในนั้น
เราจัดการข้อมูลออกมาเป็นตาราง ปกติเวลาทำ infomation design มันคืองานที่จัดการข้อมูลยาก ๆ เช่นตัวเลข ตัวหนังสือ ให้เอามาเล่าได้ ลดเวลาทำความเข้าใจพวกข้อมูลที่ซับซ้อน ก็เลยย่อยข้อมูลพวกนั้นก่อน ให้เป็นข้อมูลที่ง่ายขึ้นสำหรับตัวเอง
เราว่าส่วนที่ยากที่สุด คือการประกอบบริบทในยุคนั้นเข้าด้วยกัน ต้องไปศึกษาว่าสภาพที่บ้านเป็นอย่างไร ชุมชนที่บ้านเป็นอย่างไร ความเป็นเยาวราชเป็นทรงวาดในยุคนั้นเป็นอย่างไร เขาทำธุรกิจอะไรกัน แล้วก็เรื่องสภาพการเมืองไทยในช่วงสงครามโลกถึงหลังสงครามโลกไปนิดหนึ่งเป็นอย่างไร แล้วก็เทียบกับประวัติศาสตร์โลกอีก
มีความแตกต่างกันเยอะไหม ระหว่างการจัดการข้อมูลว่าสมาชิกแต่ละคนในวง BTS ได้ร้องกี่นาทีบ้าง กับข้อมูลของหนังสือพิมพ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ไม่ได้ต่างกันมากขนาดนั้น ข้อมูลพวกนั้นเราก็ค้นคว้าประมาณหนึ่งสัปดาห์ แล้วก็ทำกราฟ ปรับแก้กับบรรณาธิการ รวมอีกประมาณสัปดาห์กว่า ๆ มันก็สนุกดี แล้วก็ได้ความเห็นที่ดีมา ทำให้เราได้ทักษะทั้งการค้นคว้าข้อมูล เรื่องกราฟิก แล้วก็การแก้งาน มาช่วยทำงานที่บ้านต่อ เหมือนที่บอกว่าทุกอย่างที่ทำมาก่อนหน้านี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดตัวเองทุกวันนี้
แต่คุณก็ไม่ได้ทำแค่งานเชิงข้อมูลอย่างเดียวใช่ไหม
ใช่ งานที่ Neighbourmart นี้ก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับ data visualization เท่าไร เพราะการทำงานกับที่บ้านก็ต้องมีการประนีประนอมกัน เล่าเรื่องให้มันเข้าถึงวงกว้างได้มากขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น ก็เลยหยิบเรื่องการออกแบบตัวอักษรมา เพราะมันเข้าใจง่ายที่สุด แล้วก็มีเสน่ห์ของงานพิมพ์ในช่วง 1950s อยู่ด้วย
นิทรรศการ ‘光 華 報 Guānghuá Bào LETTER Press’ นี้มันมาจากเราชอบหยิบงานเก่า ๆ ของที่บ้านมาสแกน แล้วทางทีม Neighbourmart มาเห็น ก็เลยชวนมาทำนิทรรศการดู แต่ถ้าเล่าเรื่องผ่านโฆษณาที่บ้านเฉย ๆ เราก็รู้สึกว่ามันง่ายไป ก็เลยลองผสม data visualization เข้าไปนิดหนึ่ง ด้วยการจับตัวอักษร A - Z ในภาษาอังกฤษมาดู ว่ามันมีการใช้ในโฆษณาอย่างไรบ้าง ซึ่งมันก็ทำให้เห็นจุดแข็งมาก ๆ ของหนังสือพิมพ์จีนช่วงนั้น ว่าค่อนข้างมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม— คือถึงแม้จะเป็นหนังสือพิมพ์จีนในกรุงเทพฯ แต่ก็มีโฆษณาภาษาอังกฤษบ้าง ไทยบ้าง แล้วก็เห็นว่าช่วงนั้นโฆษณาเป็นอย่างไร อันนี้คือการเล่าเรื่องแบบพื้นฐานมาก ๆ ให้คนเข้าใจได้ง่าย ไม่ได้เล่าผ่าน data
หมายความว่าการเล่าเรื่องอดีตด้วย data visualization ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ไหม
เราว่ามันอาจจะยากเกินไปสำหรับทุกคน เรานึกถึงแฟนคลับเก่า ๆ ของกวงฮั้วป่อ ว่าถ้ามาดูเขาจะงงไหม กับงานเชิง data visualization เพราะเคยได้รับข้อความมาเหมือนกัน ว่ามีคนอ่านสมัยก่อน เขาตกใจมากที่หนังสือพิมพ์นี้กลับมา เราก็เลยทำงานนี้เหมือนทำให้ที่บ้าน มากกว่าจะเป็นงานแสดงเดี่ยวของเรา
ทำไมถึงเลือกทำหนังสือพิมพ์ที่ใช้ data visualization เป็นหลัก
เราวางทิศทางของกวงฮั้วป่อที่เราทำเป็นฉบับที่ 4 ของที่บ้าน จากตอนแรกเรามีฉบับรายวัน, แบบหัวค่ำ ที่จะพิมพ์นิยาย วรรณกรรม, แล้วก็ฉบับวันอาทิตย์ จะพิมพ์สี แล้วก็มีเรื่องความบันเทิงมากขึ้น เราก็เลยอยากทำฉบับที่ 4 เป็นพิมพ์สี เป็นหนังสือพิมพ์ที่เล่าเรื่องในเชิง data visualization ที่ออกรายสะดวก
เนื้อหาและรูปแบบหนังสือพิมพ์ที่ทำใหม่แบบนี้จะสามารถทำให้ประวัติศาสตร์ของธุรกิจที่บ้านกลับมาได้ไหม
เราค่อย ๆ แทรกเรื่องราวของหนังสือพิมพ์ไว้ในแต่ละเล่มดีกว่า ว่าเราเป็นใครมาก่อน เราอยากมีหัวข้อเล็ก ๆ ไว้ว่าหนังสือพิมพ์เราเคยเป็นอย่างไรมาก่อน โดนสั่งปิดเพราะอะไร ทำไมถึงหายไปเลย แล้วมันไม่ยุติธรรมยังไง เหตุผลในยุคนั้นเขาว่าไว้อย่างไร ซึ่งในเล่มที่แล้วเราก็เขียนไว้และอยากให้มีในทุกฉบับ ให้คนได้รู้ในวงกว้างมากขึ้น แต่ว่าเราก็เพิ่งกลับมาทำปีนี้เป็นปีที่สอง ถ้าเทียบกับหลายสิบปีก่อนหน้าเราก็ยังอยู่ในก้าวที่เล็กมาก ๆ จากที่อากงอาม่าวิ่งมาราธอนมาก่อนแล้ว ก็เลยรู้สึกว่าค่อย ๆ ไปดีกว่า
ธุรกิจสิ่งพิมพ์สมัยนี้กำลังย่ำแย่ไหม หนังสือพิมพ์เองก็กลายเป็นสื่อออนไลน์กันหมดแล้ว ทำไมถึงกลับมาทำ
ถ้าตอบในฐานะของทายาทรุ่นที่สามของคนทำหนังสือพิมพ์ แน่นอนว่ามันยากอยู่แล้ว ตอนที่เราทำใหม่ ๆ เราก็เห็นข่าวหนังสือพิมพ์ปิดตัวลงเหมือนกัน แต่ข้อดีของเราคือเรามีคนเดียว พิมพ์คนเดียว ทำข่าวคนเดียว ทำอาร์ตเวิร์คคนเดียว แล้วเล่าในแบบของเรา— เราว่าถ้าทำเป็นรูปแบบเดิม เป็นภาษาจีน เล่าเป็นข่าวรายวัน มันก็อาจจะไปต่อยาก ก็เลยต้องปรับวิธีการเล่าตามยุคสมัยมากขึ้น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ของเราตอนแรกที่บ้านก็ไม่เข้าใจหรอก แต่เขาไว้ใจเรา— พอเราทำแล้วมีชื่อเสียง ได้รางวัล ที่บ้านก็เลยปล่อยเลย แล้วเขาก็ไม่ได้เคร่งอะไรมากอยู่แล้วด้วย
และถ้าตอบในฐานะคนอ่าน เราว่าข้อดีของกวงฮั้วป่อฉบับนี้คือมันเป็นสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับ data visualization ที่ยังไม่มีคนทำในไทย อันนี้คือฉบับแรกสุด ๆ เลย ทั้งที่ในต่างประเทศก็มีสิ่งพิมพ์ data visualization กันอยู่แล้ว เราก็เลยอยากทำ ในแบบที่มันซ้อนกันอยู่หลายมิติ ทั้งข้อมูลที่มันเนิร์ด ๆ เป็นกราฟ เป็น data visualization แต่เล่าผ่านความเป็นหนังสือพิมพ์จีนของที่บ้าน มีแนวทางการออกแบบที่ไม่ต่างจากที่บ้าน มีความเป็นวัยรุ่นอยู่ แต่ก็เป็นหนังสือพิมพ์จีน ๆ ที่มีกรอบมีลายดอก เป็นโลกเก่ากับโลกใหม่มาเจอกัน
ทำเรื่องที่บ้านเยอะ ๆ แบบนี้กลัวจะติดเป็นภาพจำไหม อยากให้คนจดจำในภาพแบบไหนดี
จำเราเป็น information designer หรือรุ่นที่สามของหนังสือพิมพ์นี้ก็ได้ สุดท้ายทั้งหมดมันก็เป็นตัวเราอยู่ดี เราสนุกที่ได้ทำทั้งหมด