Tom Go Louvre Museum
เดินเที่ยว Louvre Museum แบบทิพย์ ๆ พร้อมแวะดู 7 งานศิลปะที่น่าสนใจ

Tom Go Louvre Museum เดินเที่ยว Louvre Museum แบบทิพย์ ๆ พร้อมแวะดู 7 งานศิลปะที่น่าสนใจ

Louvre Museum เดินเที่ยว Louvre Museum แบบทิพย์ ๆ พร้อมแวะดู 7 งานศิลปะที่น่าสนใจ

เชื่อว่าหลังจากเราต้องนอนเหงาอยู่บ้านมาเป็นเดือน ๆ หลายคนน่าจะคิดถึงการได้ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์และสัมผัสบรรยากาศการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะแน่ๆ แต่ในเมื่อตอนนี้เรายังออกไปไหนไม่ได้ GroundControl ก็ขอรับหน้าที่พาทุกคนไปร่วมเที่ยวทิพย์จากคลิป Virtual Tour ของคนอื่นแก้คิดถึงกันไปก่อน

ช่อง Wanderlust Travel Videos เขาพาเราหลบหลีกโลกความเป็นจริงไปพักผ่อนร่างกายและหัวใจกันในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงที่สุด เก่าแก่ที่สุด และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง Louvre Museum ส่งตรงจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสกันเลยทีเดียว ซึ่งคลิปเที่ยวทิพย์ของเขาก็มาในรูปแบบ Virtual Walking Tour ที่จะพาเราไปเดินชมพิพิธภัณฑ์แบบเสมือนจริงที่มีทั้งภาพจริง เสียงจริง และงานจริงมาให้เราดูกันจุก ๆ กว่า 1 ชั่วโมงเต็ม! จะห้องไหน โซนไหน เขาก็รวบรวมมาให้เราดูหมดแล้ว จะมองมุมไหนก็เจอแต่งานมาสเตอร์พีซที่เราคุ้นเคย ให้ฟีลเหมือนได้เล่นเกมตามหาสมบัติยังไงยังงั้น แต่ถ้าใครเบื่อ ๆ จะแค่เปิดดูบรรยากาศทิ้งไว้เพลิน ๆ ทำทรงเหมือนได้ไปเดินกับเขาจริงๆก็ไม่ว่ากัน

ซึ่งในหมู่มวลงานศิลปะนับหมื่น ๆ ชิ้นใน Louvre Museum เราได้คัดสรรผลงานศิลปะที่เป็นไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์กว่า 7 ชิ้นที่อยากเล่าสู่กันฟังถึงที่มาและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ เผื่อวันหน้าฟ้าใหม่ สถานการณ์โควิดดีขึ้นเราจะได้ปักหมุดไปเที่ยว Louvre Museum กันแบบไม่ต้องยืนงง

Location: Sully Wing, Floor 1, Room 346 (Parthenon Room)
Timestamp: 11:41 

เริ่มต้นเดินชมพิพิธภัณฑ์กันแบบเพลิน ๆ ที่โซนประติมากรรมโบราณกันก่อน ซึ่ง ณ Louvre Museum แห่งนี้ เขาก็ได้รวบรวมประติมากรรมไว้มากมาย ทั้งผลงานจากศิลปินชื่อดัง และผลงานที่เก่าจนไม่สามารถระบุคนทำได้ แต่ในหมู่ผลงานประติมากรรมมากมายที่ห้อมล้อมอยู่ ‘Venus de Milo’ นางเอกของเราก็ยังคงยืนเด่นเป็นสง่า คอยอวดโฉมให้เหล่าผู้เข้าชมต้องมามุงถ่ายรูปเหมือนเป็นดาราสาวคนดังประจำพิพิธภัณฑ์ ซึ่งประติมากรรมหินอ่อนสมัย Hellenistic ชิ้นนี้ก็เป็นหนึ่งในผลงานที่ไม่สามารถระบุชื่อคนทำได้ชัดเจนเช่นกัน บ้างก็ว่าเป็นผลงานของ Alexandros of Antioch แต่สุดท้ายก็ไม่มีหลักฐานไหนจะชี้ชัดได้ ชื่อของประติมากรผู้สร้างผลงานชิ้นนี้จึงยังคงเป็นปริศนาอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ถึงยังไงมันก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความงามและความอุดมสมบูรณ์ไม่เสื่อมคลาย 

เกร็ดเล็ก ๆ อีกอย่างที่เราอยากพูดถึงคือ ถึงแม้ประติมากรรมไร้แขนชิ้นนี้จะถูกเรียกว่า Venus ซึ่งเป็นชื่อเรียกเทพีแห่งความรักตามความเชื่อของชาวโรมัน แต่เมื่อเรามาดูกันที่สถานที่ที่ค้นพบมันอย่างเกาะ Milos เราอาจจะกล่าวได้ว่า ชื่อของมันควรจะเป็น Aphrodite ตามชื่อเรียกแบบชาวกรีกมากกว่า แต่ก็อีกนั่นแหละ นักวิชาการบางคนเชื่อว่า เราอาจจะยังไม่สามารถฟันธงได้ด้วยซ้ำว่านี่คือรูปแทนของ Aphrodite ความจริงมันอาจจะเป็น Amphitrite เทพีแห่งท้องทะเลของเกาะ Milos ก็ได้ ใครจะรู้

Location: Denon Wing, Floor 1, Room 703 
Timestamp: 17:18 

เดินขึ้นบันไดสุดอลังการมาอีกนิด เราก็จะได้พบกับอีกหนึ่งประติมากรรมชื่อดังประจำ Louvre Museum อย่าง ‘Winged Victory of Samothrace’ ซึ่งใครที่เคยรับชมมิวสิควีดีโอเพลง Apeshit ของ The Carters (ซึ่งก็คือคู่รักอันทรงอิทธิพลของวงการดนตรีอย่าง Jay-Z และ Beyoncé นั่นแหละ) ที่มาถ่ายทำกันที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาก่อนก็น่าจะรู้สึกคุ้นตากับประติมากรรมไร้หัวชิ้นนี้อย่างแน่นอน เพราะเราแทบจะเรียกได้ว่ามันเป็นตัวเอกและคอนเซ็ปต์หลักของมิวสิควีดีโอตัวนี้เลยก็ว่าได้ 

Winged Victory of Samothrace คืออีกหนึ่งประติมากรรมหินอ่อนสมัย Hellenistic ที่ยังไม่สามารถระบุตัวประติมากรได้ โดยมันถูกแกะสลักเพื่อเป็นรูปแทน Nike เทพีแห่งชัยชนะตามความเชื่อของชาวกรีกโบราณ (ใช่แล้ว แบรนด์ Nike ก็ตั้งชื่อตามนางนี่แหละ) ซึ่งถ้าเราขยับเข้ามาดูรายละเอียดกันแบบใกล้ ๆ ก็จะเห็นได้ถึงความวิจิตรบรรจงที่ทำให้ต้องร้องว้าว เพราะในผลงานชิ้นเดียว แต่กลับทำให้เราสัมผัสได้ถึงทั้งน้ำและลมในเวลาเดียวกัน เอ้า! ไม่ต้องงง ถึงจะเป็นหินอ่อนแข็ง ๆ แต่พอเรามาดูใกล้ ๆ กลับเห็นรายละเอียดของชุดที่กำลังเปียกโชกจนแนบไปกับสรีระของ Nike อย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันชุดของเธอกลับปลิวพลิ้วไสว เหมือนมีลมมาเคลื่อนไหวอยู่รอบ ๆ นั่นเอง

Location: Denon Wing, Floor 1, Room 5 
Timestamp: 24:14 

ถึงเวลาของงานจิตรกรรมกันบ้าง เดินต่อจาก Winged Victory of Samothrace ไปอีกไม่ไกลเราก็จะเข้าสู่บริเวณโถงทางเดินที่รวบรวมงานโดยศิลปินอิตาเลียนจากศตวรรษที่ 13 - 15 ไว้มากมาย รวมถึงศิลปินคนดังจากยุค Renaissance อย่าง Leonardo da Vinci ซึ่งมีผลงานแสดงอยู่ในนี้หลายชิ้นด้วยกัน แต่ชิ้นที่เราขอหยิบขึ้นมาพูด (ถึงแม้ในคลิปจะโผล่มาแค่แปบเดียวก็เถอะ) คือผลงาน ‘Virgin of the Rocks’ จิตรกรรมเทคนิค Sfumato ซึ่งเป็นภาพของพระแม่มารี พระกุมารเยซู ร่างทารกของยอห์นผู้ให้บัพติศมา และเทวทูตอูรีเอล 

โดยแม้ผลงานชิ้นนี้จะเป็นงานที่ทำตามการว่าจ้าง แต่ถึงไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะขนาดศิลปินเอกของโลกอย่าง da Vinci ก็ยังเคยถูกปฏิเสธผลงานมาแล้ว! เมื่อถูกปฏิเสธ เขาจึงต้องวาดรูป Virgin of the Rocks อีกหนึ่งชิ้นมาทดแทนในเวลาต่อมา โดยผลงานในเวอร์ชั่นใหม่นี้ก็มีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกับเวอร์ชั่นเดิมมาก ต่างกันเพียงแค่โทนสี รายละเอียด และลักษณะท่าทางที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย ปัจจุบันผลงานคู่แฝดอีกชิ้นของ Virgin of the Rocks ถูกจัดแสดงอยู่ที่ The National Gallery กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

Location: Salon of 1831 
Timestamp: 38:30 

เดินทะลุห้องน้อยใหญ่มาต่อกันที่ห้องสีแดงเด่นที่รวบรวมผลงานโดยศิลปินชาวฝรั่งเศสจากศตวรรษที่ 19 ไว้มากมาย แต่หนึ่งในผลงานที่ดูจะโดดเด่นที่สุดคงจะหนีไม่พ้นผลงานชิ้นใหญ่เบิ้มจากยุค Romantic โดย Eugène Delacroix อย่าง ‘Liberty Leading the People’ ที่คอเพลงสายอินดี้คงจะคุ้นตากันดีจากปกอัลบั้ม Viva La Vida ของวง Coldplay 

นอกจากความดังของมันในฐานะส่วนหนึ่งของป็อปคัลเจอร์แล้ว ผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ยังทรงคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ เพราะมันคือผลงานปลุกใจที่สะท้อนภาพเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อค.ศ.1830 ซึ่งเมื่อเราเข้าไปมองใกล้ ๆ และสังเกตแต่ละองค์ประกอบดี ๆ ก็จะพบว่า ทุกรายละเอียดในผลงานชิ้นนี้มีความหมายแฝงอยู่ทั้งสิ้น ภาพของหญิงสาวที่กำลังชูธงไตรรงค์ (ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นธงชาติของประเทศฝรั่งเศสในเวลาต่อมา) มืออีกข้างกำลังกำปืนยาว และสภาพกึ่งเปลือยของเธอก็ไม่ต่างอะไรกับหญิงสาวในศิลปะกรีกโบราณ ภาพของชนชั้นสูง (ชายใส่หมวก - บ้างก็ว่าเป็นภาพแทนของตัวศิลปินเอง) ชนชั้นแรงงาน นักเรียนนักศึกษา และคนจากอีกหลากหลายสาขาอาชีพที่กำลังยาตราทัพลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกันก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนการต่อสู้ชนชั้นปกครองโดยประชาชนจากทุกกลุ่มและทุกชนชั้น ดังนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า ภาพของหญิงสาวชูธงคนนี้ไม่เพียงเป็นตัวแทนของชนชาติใดชนชาติหนึ่งเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนทั่วโลกไปโดยปริยาย

Location: Denon Wing, 1st floor, Room 700 (Mollien)
Timestamp: 39:03 

ติด ๆ กับ Liberty Leading the People ก็ยังมีผลงานจิตรกรรมชิ้นใหญ่ยักษ์อีกชิ้น ที่เมื่อพูดถึงยุค Romantic ทั้งที จะไม่กล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ก็คงไม่ได้ ไม่ต้องเดานาน เพราะมันคือผลงาน ‘The Raft of the Medusa’ โดย Théodore Géricault นั่นเอง 

ไม่ต้องแปลกใจหากผลงานของ Théodore Géricault จะดูสมจริงจนทำให้เราอึดอัด เพราะผลงานชิ้นนี้บอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์เรือล่มที่เกิดขึ้นจริงในยุคนั้น โดยหลังจากเรือ Medusa ล่ม เหล่าผู้รอดชีวิตกว่า 147 คนก็ร่วมกันสร้างแพเพื่อใช้ลอยตัวรอการช่วยเหลือ แต่รอเท่าไหร่ก็ไม่มีใครผ่านมาสักที (มีผู้รอดชีวิตเล่าว่า มีเรือบางลำผ่านมาแต่ไม่ยอมเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาด้วยก็มี) จนในที่สุด จากผู้รอดชีวิต 147 คนก็เหลือคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพียง 15 คน ซึ่งต้องดำรงชีวิตด้วยการกินศพเพื่อนร่วมเดินทางด้วยกันเอง! 

Géricault ไม่เพียงหยิบยกเอาเหตุการณ์นี้มาถ่ายทอดผ่านผลงานจิตรกรรม แต่เขายังสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตไม่ต่ำกว่า 2 คน และให้พวกเขามาเป็นแบบโพสท่าเพื่อให้ใกล้เคียงกับความจริงที่สุดด้วย ดังนั้น ภาพโศกนาฏกรรมนี้จึงดูสมจริและน่าหดหู่ในเวลาเดียวกัน

Location: Denon Wing, 1st floor, Room 75
Timestamp: 40:01

อย่าเพิ่งเหนื่อย! เพราะถ้าเราเดินต่อมาอีกสักนิด เราจะได้พบกับ ‘Grande Odalisque’ ผลงานภาพนู้ดโดยศิลปิน Jean Auguste Dominique Ingres แต่เราคงต้องเตรียมกดพอสกันดี ๆ นะ เพราะผลงานชิ้นนี้โผล่มาโชว์ตัวให้เห็นในคลิปเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น 

แม้ในปัจจุบัน Grande Odalisque จะเป็นหนึ่งในภาพนู้ดที่ไอคอนิคที่สุดตลอดกาล แต่เมื่อครั้งผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ถูกนำไปจัดแสดงครั้งแรกมันกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในงานภาพนู้ดที่ฉาวที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกเลยที่เดียว แต่ที่บอกว่าฉาว ก็ไม่ใช่เพราะความโป๊เปลือยของมันหรอกนะ แต่เพราะกายวิภาคร่างกายของหญิงสาวที่ผิดสัดผิดส่วนต่างหากล่ะ! ลองมองดี ๆ สิ เราจะเห็นว่าหลังของเธอมีความยาวกว่าคนทั่วไปจนเหมือนมีข้อกระดูกสันหลังเพิ่มมาอีก 2 - 3 ข้อ แถมแขนก็ยาวกว่าปกติอีกต่างหาก ยิ่งพอเทียบกับขนาดศีรษะที่เล็กกว่าคนทั่วไปแล้วก็ยิ่งยาวขึ้นไปอีก นอกจากนั้น ท่าโพสของเธอยังดูไม่สมจริงแบบที่คนปกติไม่น่าจะทำได้แน่ ๆ แต่ถ้าเรามองลึกลงไปมากกว่านั้น จริง ๆ แล้วมันคือความตั้งใจของ Ingres เองที่ต้องการจะเน้นย้ำสัดส่วนของเรือนร่างหญิงสาวให้ดูมีความเย้ายวนชวนฝันยิ่งกว่าเดิม แต่ความฉาวของผลงานชิ้นนี้ก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะต่อมาในปี 1989 กลุ่มศิลปินเฟมินิสต์ Guerrilla Girls ยังนำภาพหญิงเปลือยคนนี้มาใส่หัวลิงกอริลลา พร้อมกับข้อความ "Do women have to be naked to get into the Met. Museum?" ซึ่งเป็นการเสียดสี The Metropolitan Museum of Art ในขณะนั้นด้วย

Location: Denon Wing, Room 711
Timestamp: 45:47 

เห็นคนต่อแถวมุงดูกันมากมายก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเรามาถึงฟินนาเล่ของทริปนี้อย่าง ‘Mona Lisa’ เซเลบสาวประจำพิพิธภัณฑ์ที่มีรอยยิ้มปริศนาแล้ว ถ้าพูดกันตามตรง Mona Lisa ไม่ได้เป็นแค่ผลงานที่โด่งดังที่สุดใน Louvre Museum เท่านั้น แต่ยังอาจเรียกได้ว่าโด่งดังที่สุดในโลกศิลปะเลยต่างหาก ผลงานคลาสสิคตลอดกาลชิ้นนี้คืออีกหนึ่งในผลงานจิตรกรรมโดยศิลปินเอกจากยุค Renaissance อย่าง Leonardo da Vinci ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความโด่งดังระดับอมตะตลอดกาลของมันย่อมมาพร้อมทฤษฎีสมคบคิดมากมาย ตั้งแต่ความลับในดวงตาที่เหมือนจ้องมองเราจากทุกที่ ไปจนถึงตัวตนของหญิงสาวในรูป ที่บ้างก็ว่าเป็น Lisa Gherardini ภรรยาของ Francesco del Giocondo พ่อค้าชาวฟลอเรนซ์ แต่บ้างก็บอกว่ามันคือ Self-Portrait ของตัวศิลปินเองในร่างผู้หญิง! 

เกร็ดเล็ก ๆ ที่อยากเล่าสู่กันฟังคือเมื่อแรกเริ่มเดิมที Mona Lisa ยังไม่ได้เป็นผลงานมาสเตอร์พีซที่โด่งดังที่สุดในโลกเหมือนอย่างปัจจุบัน แต่กระแสฮอตฮิตเป็นพลุแตกของมันเพิ่งจะมาเริ่มต้นในปี 1911 หลังจากมันถูกขโมยหายไปจาก Louvre Museum ร่วม 2 ปี ระหว่างนั้น การประโคมข่าวของสื่อมวลชนก็ทำให้หญิงสาวในรอยยิ้มปริศนาคนนี้กลับกลายเป็นดาราดังในชั่วข้ามคืนตราบจนปัจจุบัน ซึ่งแม้ da Vinci จะวาดผลงานชิ้นนี้มาร่วมหลายร้อยปี แต่ Mona Lisa ก็ยังคงยืนหนึ่งเป็นไอคอนทางศิลปะที่ทรงอิทธิพลต่อป็อปคัลเจอร์ตลอดกาล

เที่ยวทิพย์ไปพร้อม ๆ กันได้ที่: 

อ้างอิง:
https://thetourguy.com/travel-blog/france/paris/louvre/top-ten-things-to-see-at-the-louvre-museum/?fbclid=IwAR3pEYRSP18Vygi2c53TbuiXBsP4d9CzQ2kLNHkBv-L69t4sCl8y2eI_4_c
https://www.planetware.com/paris/louvre-f-p-l.htm?fbclid=IwAR0xuO_JY74jamjAlRRhIIVnx8nxr5-Bw2RGn4eKGUM6-Lt0jQ7pDazeImQ
https://www.pariscityvision.com/en/paris/museums/louvre-museum/top-20-masterpieces-at-the-louvre?fbclid=IwAR1uzwmNgWS-nMdGcCk02R6kWrLMV6PfIXEL1R3o21BpuJvvDCli2oDpe64
https://www.louvre.fr/en