ถึงนาทีนี้คงไม่เกินไปนักที่จะบอกว่า NFT Art ได้กลายเป็นฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนความเป็นอยู่ของศิลปิน ระบบที่ตั้งอยู่บน Blockchain กลายเป็นกลไกที่ให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียม จนสามารถ disrupt วงการศิลปะเดิมได้อย่างสิ้นเชิง ทำไมการ Decentralized และการมีคอมมูนิตี้ในโลกของศิลปะถึงสำคัญนัก ฟังเจ้าแม่ NFT space สุดจึ้ง ยืน1 คนนี้ไปพร้อมๆ กัน

ถึงนาทีนี้คงไม่เกินไปนักที่จะบอกว่า NFT Art ได้กลายเป็นฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนความเป็นอยู่ของศิลปิน ระบบที่ตั้งอยู่บน Blockchain กลายเป็นกลไกที่ให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียม จนสามารถ disrupt วงการศิลปะเดิมได้อย่างสิ้นเชิง ทำไมการ Decentralized และการมีคอมมูนิตี้ในโลกของศิลปะถึงสำคัญนัก ฟังเจ้าแม่ NFT space สุดจึ้ง ยืน1 คนนี้ไปพร้อมๆ กัน

โอชิน–สาริสา ธรรมลังกา : คุยกับศิลปินและเจ้าแม่ NFT space สุดจึ้ง ยืน1 ในคอมมูนิตี้ไทย

ถึงนาทีนี้คงไม่เกินไปนักที่จะบอกว่า NFT Art ได้กลายเป็นฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนความเป็นอยู่ของศิลปิน ระบบที่ตั้งอยู่บน Blockchain กลายเป็นกลไกที่ให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียม จนสามารถ disrupt วงการศิลปะเดิมได้อย่างสิ้นเชิง

แต่นอกจากข้อดีนั้น ปัจจุบันโลกของ NFT Art ยังมีอีกหนึ่งจุดแข็ง นั่นคือ Communty ที่มีทั้งศิลปินหน้าเก่าและใหม่ที่คอยให้การช่วยเหลือกับผู้เริ่มต้น และหนึ่งคนที่เป็นที่พูดถึงมากในคอมมูนิตี้คือโอชิน–สาริสา ธรรมลังกา โฮสต์ space ผู้โด่งดังที่คอยให้คำแนะนำและเล่าข่าวสารในโลกศิลปะดิจิทัลแก่ผู้ติดตาม

แต่ในบทบาทอื่น โอชินเองก็เป็นศิลปินฝีมือดีที่ผลิตงานแนว Japanese Calligraphy ที่มีคนตามซื้องานแทบจะทันทีเมื่อลงขาย รวมถึงยังเป็นเจ้าของธุรกิจแอพพลิเคชั่นที่มุ่งพัฒนาระบบ Smart Contact และเครื่องมือดิจิทัลสำหรับช่วยเหลือศิลปิน ความหลากหลายในสิ่งที่ทำนี่เองที่ทำให้เธอเห็นความเป็นไปในโลก NFT ไทยได้อย่างชัดเจน และยังเป็นเหตุผลให้ GrounControl ชวนเธอมาสนทนากันถึงสิ่งที่สังเกตุในฐานะผู้ใกล้ชิดคอมมูนิตี้ NFT ที่กำลังช่วยเหลือศิลปินไทยมากหน้าหลายตาอยู่ในขณะนี้

ทำไมการ Decentralized และการมีคอมมูนิตี้ในโลกของศิลปะถึงสำคัญนัก ฟังเจ้าแม่ NFT space สุดจึ้ง ยืน1 คนนี้ไปพร้อมๆ กัน

เราโตคนเดียวไม่ได้หรอก

ปัจจุบันถ้าคุณเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่โลก NFT อย่างหนึ่งที่คุณจะได้เจอคือการต้อนรับและให้คำแนะนำจากผู้ที่มาก่อน ตั้งแต่การสมัคร การลงงานไปจนถึงการขาย จนเป็นที่รู้กันว่าคอมมูนิตี้ NFT ไทยนั้นมีทุกอย่างเพรียบพร้อมขอแค่คุณเอ่ยปากถามและเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งหนึ่งคนที่เป็นผู้ริเริ่มสิ่งเหล่านี้ก็คือโอชินนั่นเอง

โอชิน–สาริสา : “เรากระโดดเข้ามาทำ NFT เพราะเชื่อในเรื่อง Decentralized ด้วยระบบมันทำให้สถาปัตยกรรมหลักของโครงสร้างเป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซนต์ ไม่มีการรวมศูนย์ข้อมูล ไม่มีอะไรเป็นความลับ ทุกคนสามารถเข้าถึงชุดความรู้ได้เท่าเทียมกัน เราเลยอยากโตในที่ที่มีอุดมการณ์ตรงกัน เพียงแต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถโตไปคนเดียวได้ การเติบโตจะเกิดขึ้นเมื่อคอมมูนิตี้โตไปด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามสร้างมันขึ้นมา

“ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานเป็น Full-Time Artist แต่ก็เปลี่ยนสายงานไปทำครีเอทีฟ เราเพิ่งกลับไทยเมื่อต้นปี 2562 นี่เอง แต่จากประสบการณ์ที่ได้ไปลองทำงานอื่น มันทำให้เรากลับมาเห็นว่าพื้นฐานของสังคมศิลปะในไทยนั้นนขาดบางอย่าง เช่น Design Thinking หรือพื้นที่ที่จะให้ทุกคนยื่นมือมาช่วยเหลือและโตไปพร้อมกัน ประจวบเหมาะกับที่ตอนนั้น NFT เข้ามาพอดี เราเลยเล็งเห็นว่าถ้าไม่ทำให้คอมมูนิตี้แข็งแรง ความยั่งยืนก็จะน้อยตาม ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นแบบนั้นเพราะนี่คือสิ่งที่เราเชื่อ เราจึงสร้าง Space ขึ้นเพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาได้ข้อมูลและข่าวสาร ทุกคนจะได้เก่งขึ้น คอมมูนิตี้จะได้แข็งแรงตาม

“แต่บอกแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราคือคนนำทางหรือสำคัญอะไรนะ เรามองตัวเองเป็นแค่คนเปิดหัว เพราะในมุมเราถ้าคอมมูนิตี้เกิดขึ้นมาได้แล้ว หลังจากนั้นด้วยกลไกของระบบนิเวศคนจะเข้ามามีส่วนร่วมและริเริ่มบางอย่างได้ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องมีเราอีก ซึ่งสำหรับเรานี่แหละคือสิ่งที่ดี เพราะมันคือการ Decentralized อย่างแท้จริง

“พูดไปอาจไม่เห็นภาพ แต่ลองมองมันเป็นระบบนิเวศในธรรมชาติก็ได้ ธรรมชาติไม่มีการ Centralized เลยมีทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่ในระบบที่สมดุลกัน โดยปลาใหญ่ก็กินปลาเล็ก แต่บางทีปลาเล็กก็รวมกันเพื่อกินปลาใหญ่ ในมุมเราระบบนิเวศแบบนี้แหละคือสิ่งสำคัญ คล้ายกับมนุษย์ที่สร้างสังคมที่ดีเพื่อการเจริญเติบโตของเผ่าพันธุ์ที่ยั่งยืน ไม่ใช่การรวมศูนย์ที่มีคนได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว”

คนไทย ใจดี (ศิลปินไทยก็เช่นกัน)

หลังจากทำหน้าที่เป็นผู้บอกเล่าและสร้างพื้นที้ให้คนสนทนากันอยู่แรมปี หนึ่งอย่างที่โอชินสังเกตุเห็นคือคอมมูนิตี้ NFT ไทยนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์ที่แสนจะพิเศษ นั่นคือความใจดี ยิ่งด้วยความที่ตัวโอชินเองอยู่ในคอมมูนิตี้ NFT ของหลายประเทศ เธอจึงสามารถยืนยันได้ว่านี่คือจุดเด่นที่ไม่เหมือนชาติไหนในโลกเลย

โอชิน–สาริสา : “คอมมูนิตี้ของบ้านเราแตกต่างกับทั่วโลกมาก สิ่งแรกที่ทุกคนจะสัมผัสได้คือคนไทยใจดี พวกเรายินดีช่วยเหลือกัน อย่างเช่นการ Repin ใน Twitter เรากล้าบอกเลยว่าชาติเราคือยืนหนึ่ง อีกอย่างคือความตลกโปกฮา ทำให้ในสเปซสิ่งที่คุยกันมีความเป็นกันเอง จนบางทีก็ไร้สาระ เอาถาดตีหัวมากกว่าคุยเรื่องวิชาการ

“แต่ในอีกมุม เราว่าความใจดีตรงนี้ก็ลามไปถึงคำว่า ‘ใจง่าย’ ได้เหมือนกัน คนไทยไม่ค่อยมี Privacy และ Security ต่อกัน ซึ่งมันก็มาจากความเป็นภูมิวัฒนธรรมตั้งแต่บรรพบุรุษ ด้วยความที่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน พอร้อนแล้วก็ออกบ้านมาพูดคุยกันเป็นมุขปาถะ ทำให้การปกป้องตัวเองไม่ค่อยสูง พื้นฐานเราจึงมีความเฟรนด์ลี ไม่คิดร้าย ทำให้ในโลก NFT ปัญหา Security ของคนไทยจึงมีมากหน่อย เช่นการเจอ Internet Scammer เป็นต้น

“ดังนั้นถ้าให้สรุปเราว่านี่ก็เป็นดาบสองคมนะ แต่เหมือนกับทุกคอมมูนิตี้ในโลกแหละที่มีทั้งบวกและลบ ความเป็นเราอาจทำให้บางอย่างพัฒนาช้ากว่าที่ควรจะเป็นอยู่บ้างแต่คอมมูนิตี้ก็คือมนุษย์ มันจะเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ที่อยู่ในนั้นอยู่แล้ว”

การ Decentralized วงการศิลปะจะทำให้ศิลปินมีอิสระอย่างแท้จริง

ในวันที่เราสนทนากับโอชิน แวดวง NFT กำลังลุกเป็นไฟจากข่าวความพยายามที่จะควบคุมและจัดกฎเกณฑ์ให้กับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยภาครัฐ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เราชวนโอชินให้ความเห็นว่าในฐานะศิลปินและโฮสต์สเปซผู้สนใจโลก NFT อย่างเหนียวแน่น เธอมีความเห็นอย่างไรต่อความพยายามในการรวมศูนย์ทั้งที่ประเทศอื่นกำลังหมุนเปลี่ยนไปเป็นการกระจายศูนย์กันหมด

โอชิน–สาริสา : “เราว่าความขัดแย้งแบบนี้คงมีไปอีกนาน เอาจริงก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ในหลายประเทศ ที่รัฐพยายามจะ Centralized ระบบที่ Decentralized เช่นการที่เขาพยายามใช้อำนาจควบคุมช่องทางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรามองว่ามันก็คือมนุษย์ ยังไงเสียต้องมีความพยายามหาผลประโยชน์อยู่แล้ว แต่เราเชื่อว่าสุดท้ายก็ทำไม่ได้หรอก อะไรที่ขัดขวางการเจริญเติบโต องคาพยพของระบบนิเวศจะไม่ต้อนรับและลบออกไปในที่สุด

“แต่สำหรับมุมมองส่วนตัว เราไม่โอเคกับการรวมศูนย์ในแบบที่วงการศิลปะเดิมทำอยู่แล้ว เพราะเราเคยเห็นเพื่อนที่เซ็นสัญญากับแกลลอรี่แล้วต้องทำงานส่งแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ต้องทำงานรูปแบบเดิมตลอดทั้งปี มันไม่ถูกต้องเลย เพราะเราเชื่อว่าศิลปะคือความอิสระ ในเมื่อเกิดมาและเลือกทำงานเป็นศิลปิน เราก็ควรได้เข้าสู่ความอิสระนั้น แต่ภาพที่เห็นไม่ใช่อย่างที่คิด วงการศิลปะไทยถูกรวมศูนย์ไปหมด ศิลปะถูกควบคุมด้วยอะไรสักอย่างอยู่เสมอจนกลายเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นพอมาเจอ NFT เราถึงเห็นชัดว่านี่แหละคือชุดความจริงที่ดีกว่าเดิม

“การ Decentralized ของ NFT ทำให้ศิลปะของศิลปินเป็นอิสระอย่างแท้จริง มันมากกว่าทุกอย่างที่ได้เคยพบเจอมา สำหรับเราในฐานะศิลปินนี่ถือเป็นความสำเร็จ แค่ได้ทำงานแบบอิสระแล้วมีคนเห็นคุณค่าก็ดีมากแล้ว แค่นี้ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอให้เรากระโดดเข้ามาและพยายามทำให้ทุกอย่างเดินหน้า มันดีกว่าการต้องไปทำงานเพื่อป้อนชนชั้นวรรณะในโลกศิลปะเป็นไหนๆ

“แต่ในอีกมุม เราก็เข้าใจที่บางคนบอกว่ามันมีเจ้าของระบบที่ควบคุมความ Decentralized เราไม่ปฏิเสธว่ามันมีอยู่จริงๆ แต่ถ้ามองเป็นระบบนิเวศ เราว่าถ้าระบบตรงนี้แข็งแกร่งพอ สุดท้ายกลไกที่หมุนไปอย่างเป็นธรรมชาติจะทำให้คนไม่สามารถควบคุมมันได้เอง อิสระจะเกิดขึ้นกับทุกคน วงการศิลปะจะวิวัฒนาการไปข้างหน้าหลังจากเราติดอยู่กับ Contemporary Art และ Post-Moderm มานาน ส่วนจะกลายไปเป็นอะไรนัั้นคงไม่มีใครอธิบายได้ แต่อย่างน้อยเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้วงการศิลปะเปลี่ยนไปมากแล้วถ้าเทียบกับเมื่อไม่กี่ปีก่อน”

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลา

ไม่แปลกหรอกที่ศิลปินไทยจะดิ้นรนไปสู่ระบบที่ดีกว่าเดิมอย่างที่โอชินเล่าให้เราฟัง เพราะจากความพยายามรวมศูนย์ในอดีตที่ผ่านมาก็ทำให้ศิลปินหลายคนเจอทางตัน อย่างตัวโอชินเองก็เช่นกัน เพราะก่อนที่เธอจะเห็นปัญหาและพยายามผลักให้เกิดระบบที่ดีแบบในปัจจุบัน ในอดีตเธอก็เป็นคนที่อยู่ในปัญหาและเคยยอมแพ้กับวงการศิลปะมาแล้ว

โอชิน–สาริสา : “อาจเพราะพ่อเราเป็นวิศวกรที่ชอบงานศิลปะ ตั้งแต่จำความได้เราเลยชอบทั้งเทคโนโลยีและศิลปะควบคู่กัน อย่างกับเทคโนโลยี เราเคยชนะการประกวดทำเว็บไซต์เมื่อตอนอายุ 15 ด้วย หรือตอนโตขึ้นมาเราก็เป็นคนที่ประกอบและซ่อมคอมเอง มันเป็นเรื่องที่เราสนใจและติดตามเสมอ

“แต่กับศิลปะ อันนี้เป็นสิ่งที่เราจริงจังกว่า เราชอบขีดเขียนมาตั้งแต่เด็ก โตมาก็ทำงานศิลปะจนตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เลือกเข้าคณะเกี่ยวกับศิลปะ เรียนถึงป.โทเลย อินมาก รู้สึกเท่ ทำให้พอจบมา ด้วยชุดความจริงของตัวเองในตอนนั้นก็ทำให้เราตั้งเป้าเป็นศิลปิน เพราะมันคือสิ่งที่มีความหมาย

ตอนนั้นเราทำหลายอย่างมาก ทั้งงานศิลปะไปจนถึงวงดนตรี (โอชินเป็นนักร้องนำของวง MAT CHI MAA) แต่สุดท้ายถึงพยายามเท่าไหร่เราก็เจอกับอุปสรรคอยู่ดี เช่น การไปสมัครงานเป็นครูศิลปะ แต่ไม่ถูกยอมรับเพราะเพศสภาพ ซึ่งพอเจอแบบนี้เข้าเรื่อยๆ วันหนึ่งเราก็ไม่ไหว

"เราไม่อยากทำตามระบบแบบนี้แล้ว แต่เราก็ไปต่อไม่ได้ ถึงมีช่วงที่ไปทำร้านอาหารควบคู่กับวงดนตรี แต่มันก็ไม่ไหว เพราะสุดท้ายมนุษย์ต้องกินต้องใช้ แต่นี่ค่าน้ำค่าไฟเรายังจ่ายไม่ได้เลย การโตขึ้นผ่านโลกศิลปะในประเทศนี้มันไม่อำนวยให้เราซัพพอร์ตคนรอบข้างและตัวเองสักนิด สุดท้ายเราก็เฟล ใช้เวลาประมาณหนึ่งปีกับการอยู่ในห้องโดยไม่ทำอะไร เอาแต่นั่งวาดรูป จนวันหนึ่งเราก็รู้สึกว่าปล่อยให้ชีวิตตัวเองเป็นแบบนี้ไม่ไหวแล้ว เราต้องถีบตัวเองออกมาจากโลกศิลปะสักที

“มันเป็นเรื่องของจังหวะและเวลาอยู่เหมือนกันนะ มันคือกาละและเทศะน่ะ เพราะพอตอนนั้นที่ความคิดเราเปิด เราถึงได้เริ่มเห็นว่ายังมีโอกาสในที่อื่นๆ รอเราอยู่ ไม่ใช่แค่การเป็นศิลปินเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายเราก็ไปได้งานเป็นครีเอทีฟให้กับบริษัทที่ฮ่องกง พร้อมกับได้สำรวจโลกข้างนอกว่าตอนนี้อีกหนึ่งสิ่งที่เราสนใจอย่างเทคโนโลยีมันไปไกลมากๆ มีเรื่องใหม่ที่เรายังไม่รู้อยู่เต็มไปหมด

“จากตรงนั้น เราเลยค่อยๆ ได้ต่อยอด ลงเรียนคอร์สออนไลน์เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Big Data, Data Analysis และ Digital Marketing ความรู้ตรงนี้ค่อยๆ พาเราไปไกลมากขึ้นจนได้ทำงานเป็นซัพด้านมาร์เก็ตติ้งให้กับบริษัทในต่างประเทศ ก่อนที่จะลาออกมาทำธุรกิจของตัวเองเกี่ยวกับ Smart Conatact และเป็น Full-Time Artist ด้าน NFT เต็มตัวเมื่อต้นปีที่แล้วนี่เอง

“ซึ่งถ้าให้มองย้อนกลับไป ถึงมีช่วงที่ปฏิเสธโลกศิลปะแต่เราว่าศิลปะก็อยู่กับเราตลอด เพราะงาน Digital Marketing ใช้ความครีเอทีฟสูงมาก การไปจมอยู่กับโลกศิลปะทำให้เรามีชุดประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร โครงสร้างความคิดและมุมมองความงามของเราจึงแตกต่างจากคนอื่น เราสามารถสามารถหยิบเอาสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ในการทำงานได้ เหมือนเอาศิลปะมาผสมกับเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมจนเกิดเป็นสัมมาอาชีพ ซึ่งมันก็ส่งผลดีมาถึงการทำงานเกี่ยวกับ NFT ในปัจจุบันด้วย ที่พอกลับมาก็ทำให้เราเห็นปัญหาและส่วนที่ขาดของสังคมศิลปะไทยอย่างที่เล่าไปในตอนต้น

“มันคือเรื่องของกาละและเทศะนั่นแหละ ไม่มีใครไปบีบเวลาได้ ชีวิตมนุษย์ต้องการการบ่มเพาะที่แตกต่างกันจนกว่าจะออกมาสมบูรณ์ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง”

เมื่อทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้เท่ากัน การตามทันจึงมีอยู่จริง

แม้จะมีจำนวนที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ปัจจุบันก็ไม่ใช่ว่าศิลปินไทยทุกคนจะกระโดดเข้ามาสู่โลก NFT สังเกตุได้จากตัวโอชินเองที่ยังคงตอบคำถามเดิมซ้ำๆ อยู่ทุกวันเพื่อช่วยเหลือคนทำงานที่เข้ามาใหม่ ซึ่งในประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราสอบถามเธอ ว่าในฐานะผู้ที่เห็นความสำคัญของคอมมูนิตี้และเทคโนโลยีที่กำลังหมุนไปข้างหน้า เธอคิดเห็นอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่บางคนอาจเลือกปฏิเสธรับ

โอชิน–สาริสา : “คำถามนี้ตอบยากเหมือนกัน เพราะเราก็เคยได้ยินหลายคนที่บอกว่า Fuck Them, They gonna be the lasted to reach the end. (กว่าพวกเขาจะเข้าใจก็คงแก่ตายไปแล้ว) แต่ในมุมเราก็ยังอยู่ในจุดที่อยากช่วยเหลือและแนะนำพวกเขานะ เพราะเราเชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วมันก็เป็นสิทธิ์ของทุกคนว่าจะเลือกเข้ามาอยู่ในโลกนี้หรือเปล่า

“จริงอยู่ที่คนที่เข้ามาเร็วกว่าอาจมีโอกาสพัฒนาตัวเองและเข้าถึงประโยชน์ได้มากกว่า แต่ถึงเข้ามาทีหลัง เราว่าระบบ Decentralized จะช่วยให้คุณสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลเดียวกันกับคนที่มาก่อนได้ คุณตามทันกันได้เพราะระบบที่ดีตรงนี้

“ดังนั้นในมุมเราคือคุณค่อยๆ ศึกษาก็ได้ค่ะ ตามเท่าที่สะดวกใจ เราไม่อยากให้คนต้องตาม NFT เนื่องจากมีใครบังคับ เพราะถ้าเข้ามาตอนนั้น ธรรมชาติของคุณก็จะไม่พร้อมอยู่ดี ดังนั้นลองวิเคราะห์สถานการณ์ตัวเองดูว่าพร้อมไหม ถ้ามันถึงจังหวะและเวลาที่เหมาะสมกับคุณแล้ว เชื่อเถอะว่าคุณก็จะอยากเริ่มมันเองอย่างเป็นธรรมชาติ ถึงตรงนั้นคอมมูนิตี้ก็จะพร้อมช่วยเหลือคุณเสมอ

“ส่วนสิ่งที่เราทำได้คือเป็นเหมือนพี่แขก คำผกานั่นแหละ คือพูดและสร้างในสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ของเราไปเรื่อยๆ จนกว่าคนฟังจะเข้าใจและตระหนักถึงข้อมูลในวันที่เขาพร้อมจริงๆ”