My Fair Lady
สำเนียงการพูด ที่พลิกโฉมหญิงสาวคนหนึ่งไปตลอดกาล

My Fair Lady สำเนียงการพูด ที่พลิกโฉมหญิงสาวคนหนึ่งไปตลอดกาล

My Fair Lady สำเนียงการพูด ที่พลิกโฉมหญิงสาวคนหนึ่งไปตลอดกาล

เป็นเวลากว่า 57 ปีที่ ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) นักแสดงผู้มีรอยยิ้มปริมใจเป็นอมตะ ได้เฉิดฉายบน My Fair Lady ภาพยนตร์มิวสิคัลเรื่องเยี่ยมของผู้กำกับ จอร์จ คูกอร์ (George Cukor) ซึ่งการันตีความดีงามด้วยรางวัลมากมาย จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์เพลงที่ดีที่สุดตลอดการ และแน่นอนว่านอกจากตัวออเดรย์แล้ว นักแสดงมากความสามารถท่านอื่น เสียงเพลงอันไพเราะ รวมถึงความอลังการของเสื้อผ้าและฉาก ก็ได้ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ เข้าไปนั่งในหัวใจผู้ชมได้เรื่อยมาไม่ว่าจะยุคสมัยไหน

My Fair Lady (1964) ได้รับการดัดแปลงมาจาก Pygmalion บทละครของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) ซึ่งตั้งชื่อเทพเจ้ากรีกที่ตกหลุมรักงานประติมากรรมของตัวเองหลังจากที่รูปปั้นนั้นเกิดมีชีวิตขึ้นมาจริง ๆ

ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวของ เอลิซา ดูลิตเติล (ออเดรย์ เฮปเบิร์น) หญิงสาวปากจัดที่คอยเร่ขายดอกไม้ตามริมทาง และ เฮนรี ฮิกกินส์ (เร็กซ์ แฮร์ริสัน) นักภาษาศาสตร์ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถทางภาษาอันหลากหลาย สองตัวละครที่ต่างพกอีโก้กันมาเต็มหน้าตัก ได้จับพลัดจับผลูมาเจอกันเมื่อเอลิซาต้องการจะยกฐานะของตัวเองขึ้นจากการความยากจน แต่การจะหลุดออกจากสังคมนี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘การลบคราบสำเนียงค็อกนีย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด’ ทิ้งไป

เอลิซามุ่งไปหาฮิกกินส์เพื่อขอร้องให้เขาสอนการออกเสียง เปลี่ยนสำเนียงบ้านเกิดให้โดยยอมแลกกับเงินเพียงน้อยนิดทั้งหมดที่เธอมี แม้ว่าฮิกกินส์จะบอกปัดไปในตอนแรก แต่ท้ายที่สุด เขาก็ตอบรับเดิมพันนี้ เพราะเพื่อนนักภาษาศาสตร์อย่าง พิกเคอริง ยอมจ่ายค่าบทเรียนให้หากฮิกกินส์สามารถเปลี่ยนเอลิซาเป็น ‘มาดามดูลิตเติล’ ผู้ดีอังกฤษได้สำเร็จ

หากดูเผิน ๆ เรื่องราวของเอลิซาคงจะไม่ต่างไปจากพล็อตละครสุดคลาสสิกทั่วไปที่มีตัวละครหลักเป็นหญิงสาวยากจนซึ่งอยากจะพลิกโฉมฐานะของตัวเอง แต่ความจริงแล้ว โดยส่วนใหญ่ภาพยนตร์ที่ขายเรื่องราวชนชั้นควบคู่ไปกับความสวยงาม มักแยกไม่ขาดจากความสัมพันธ์รักใคร่ ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างออกไปตรงทุกสิ่งที่เอลิซาตัดสินใจ เป็นไปเพื่อตัวเธอเอง ซึ่งพอเอาความคิดของเอลิซามาเทียบกับบริบทของสังคมช่วงปี 1913 (อิงจากบทละครของชอว์) แล้ว ก็นับว่าเธอมีแนวคิดแบบผู้หญิงสมัยใหม่ที่ไม่ยอมจำนนต่อกรอบของสังคมมากพอตัวเลยทีเดียว

‘สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล’

ฉากสภาพสังคมที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ทำให้ผู้ชมอย่างเราได้เห็นตั้งแต่ชีวิตของชนชั้นแรงงาน ไปจนถึงธรรมเนียมของสังคมชนชั้นสูงที่มาอวดโฉมกันด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับสุดตระการตา ตามอีเวนต์แข่งม้าหรืองานกาล่าหรู บุคลิกที่ดูโผงผางและสำเนียงการพูดของเอลิซา ยิ่งย้ำว่ากรอบของชนชั้น ครอบเธอเอาไว้อย่างแยกจากกันไม่ขาด และสิ่งนี้เองที่ทำให้เธอเรียนรู้ว่า ตัวตนบางอย่างได้หายไปจากเธอเองด้วยเช่นกัน

รับชม My Fair Lady ได้ทาง Netflix

คลิกเพื่อรับชมตัวอย่างภาพยนตร์