ศิลปะแห่งขุนเขาและการไม่สยบยอมต่ออำนาจรัฐ สำรวจ 4 ศิลปินแดนใต้ผู้สะท้อนจิตวิญญาณนักสู้แห่งบ้านเกิด
“ผมคิดว่าความแข็งแรงของชุมชนสำคัญ แต่ตอนนี้ความแข็งแรงของชุมชนมันถูกกดด้วยความเป็นรัฐวิถีอยู่ในส่วนนี้” - อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ศิลปินชาวใต้
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘จะนะ’ ชื่ออำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่เราเองก็เพิ่งจะรู้จักในช่วงหนึ่งปีให้หลัง ได้กลายเป็นศูนย์รวมความสนใจของคนทั้งประเทศ จากการต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ออกเดินทางเกือบ 1,000 กิโลเมตรจากบ้านของพวกเขา เพื่อมาทวงคำสัญญาจากรัฐบาลที่เคยสัญญาว่าจะรับฟังความกังวลของชาวบ้านที่มีต่อ ‘แผนการจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จ.สงขลา’ ซึ่งจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนสำคัญในความเป็น ‘บ้าน’ ของชาวจะนะ
การต่อสู้ของชาวจะนะจากที่เป็นการต่อสู้ทางความคิดและอำนาจรัฐในเชิงโครงสร้าง กลายเป็นการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมและอยุติธรรม เมื่อกองกำลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา หรือเพียงรุ่งสางหลังจากการเฉลิมฉลองวันพ่อของชาติ ภาพของ ป๊ะ, มะ, บัง, ก๊ะ (พ่อ แม่ พี่ชาย พี่สาว) ที่ถูกหิ้วปีก เต้นท์ที่พักพิงชั่วคราวเพื่อพักหลับเอาแรงระหว่างการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านของตัวเองถูกรื้อปลิวว่อน เสียงร้องไห้ของมะที่ดังระงม ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้จะนะในความรับรู้ของคนทั่วไปไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพทะเลสาบแสนสงบ หรือทิวต้นไม้อันงดงามที่ทำให้นึกถึงแดนยุโรปอีกต่อไป แต่วันนี้ ‘จะนะ’ และพลังใจอันแข็งแกร่งของชาวจะนะที่ต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของตัวเองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ได้กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจและแรงผลักดันการต่อสู้ของคนในประเทศนี้ที่ฝันถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ ‘บ้าน’ ของเราน่าอยู่โดยไม่ต้องออกไปแสวงหาบ้านในถิ่นดินแดนอื่น
วันนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวจะนะ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับชาวจะนะ แต่เป็นสิ่งที่ ‘เรา’ ทุกคนต้องต่อสู้ร่วมกัน เพราะเราต่างเห็นกันแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่จะนะ หรือก่อนหน้านี้ที่ ม.เชียงใหม่ และก่อนหน้านั้นที่ดินแดง ล้วนเป็นผลจากการต่อสู้กับสิ่งเดียวกัน นั่นก็คืออำนาจรัฐ
ภาคใต้ของประเทศไทย (หรือที่จริงก็คือแทบทุกที่ที่พ้นไปจากเขตแดนที่ชื่อ ‘กรุงเทพฯ’) คือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยประเด็นความขัดแย้งมากมายที่เกิดขึ้นระหว่าง ‘รัฐ’ และ ‘คนในท้องที่’ ประวัติศาสตร์ของชาวใต้ในแทบทุกแห่งหนจึงเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้กับความพยายามในการที่จะรวมศูนย์กลางอำนาจรัฐไทย ซึ่งก็ทำให้การรับรู้และวิถีชีวิตของชาวใต้ (และอีสาน และเหนือ) ผูกพันกับการต่อสู้เพื่อขัดขืนต่ออำนาจรัฐจากส่วนกลางที่พยายามยื่นมือจากที่แสนไกลมาจัดการและวุ่นวายกับวิถีชีวิตของคนที่นี่
“ถ้าถามว่าทำไมศิลปินภาคใต้ที่ทำงานคอมเทมถึงมีประเด็นที่ชัดเจนและแข็งแรงมาก ผมว่าอาจจะเป็นเพราะว่าที่นี่มีปัญหาเยอะด้วย มันก็เลยทำให้งานศิลปะของเราออกมาเยอะ เพราะมันมีเรื่องให้ทำ แต่ถ้าการเมืองดี ไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องให้ทำผมก็ยินดีที่จะเขียนทิวทัศน์ ต้นไม้ ใบหญ้า เขียนสีน้ำก็ได้ เพราะรู้สึกว่าดีกว่าที่จะต้องมาเขียนหรือบอกเล่าสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้”
ประเด็นปัญหาที่ศิลปินชาวใต้พยายามสะท้อนผ่านผลงาน จนทำให้งานศิลปะของพวกเขามีเอกลักษณ์และรากความคิดที่แข็งแรงคืออะไร? เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการยืนหยัดเคียงข้างการต่อสู้ของพี่น้องชาวจะนะ GroundControl จึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้ในการพาทุกคนไปสำรวจการต่อสู้ของชาวใต้ผ่านงานศิลปะ เพื่อที่เราอาจจะเข้าใจจิตวิญญาณการต่อสู้ของพี่น้องชาวใต้ได้ชัดเจนขึ้น
อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล
ศิลปินชาวปัตตานีที่สร้างสรรค์งานศิลปะซึ่งตั้งคำถามกับการที่รัฐบังคับใช้อำนาจแทรกแซงวิถีชีวิตมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะเหล่าผู้คนแห่งแดนด้ามขวานที่อยู่ในพื้นที่ของความขัดแย้ง …แต่ดูเหมือนจะเป็นความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชนคนท้องถิ่น มากกว่าจะเป็นความขัดแย้งกับผู้ก่อการร้ายตามที่ ‘เขา’ พยายามพร่ำบอกเรา
งานของอนุวัฒน์ผสานกระบวนการคิดแบบศิลปะร่วมสมัยเข้ากับศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างชาญฉลาด เช่นผลงาน ‘ชฎา 20 ชั้น’ ที่ทำจากกระดาษลัง อันเป็นการชวนผู้ชมตั้งคำถามถึงคุณค่าของความ ‘สูงส่ง’ ของอะไรบางสิ่ง, ซีรีส์ผล ‘บังลี’ ภาพวาดชายรักชายชาวมุสลิม ที่นำเสนอประเด็นเรื่องเพศกับความซับซ้อนและดัดจริตของสังคมไทยผ่านท่วงท่าและองค์ประกอบที่ดึงมาจากบริบทสังคมไทยร่วมสมัย และยังนำกลิ่นอายของงานศิลปะชื่อดังระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับ ‘ร่างกาย’ เช่น ผลงานของ ฟรานซิสโก โกยา, เอกอน ชีลเลอร์ ไปจนถึง มิเกลันเจโล มาผสานเข้ากับเอกลักษณ์และมุมมองส่วนตัวที่มีต่อการเมืองและสภาพสังคมไทย
นอกจากการทำงานศิลปะแล้ว อนุวัฒน์ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทำงานกับ ‘ปัตตานีอาร์ตสเปซ’ พื้นที่ทางศิลปะแห่งใหม่ของภาคใต้ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในชุมชนได้สร้างสรรค์งานศิลป์อย่างไร้ขีดจำกัด ทั้งยังเชื่อว่าถ้าการเมืองดี ศิลปะจะไม่กระจุกแค่เมืองหลวงอีกต่อไป
กรกฎ สังข์น้อย
ศิลปินรุ่นใหม่ชาวปัตตานีที่ใช้ศิลปะในการทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบและการกดขี่จากอำนาจรัฐ แม้จะยังมีผลงานไม่มาก แต่ผลงานของกรกฎก็น่าสนใจในวิธีการนำเสนอที่กระตุ้นเร้า ตรงไปตรงมา เป็นเหมือนหมัดหนักที่พุ่งเข้าหาคนดู เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมนอกพื้นที่ชะงักดู แล้วตั้งคำถามถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นที่บ้านของเขา
ผลงานล่าสุดของกรกฎคือผลงานที่จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ‘Stop Torture ยุติการซ้อมทรมาน’ ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่ปัตตานีอาร์ตสเปซ ในผลงานที่ชื่อว่า ‘Under ‘ที่แปลว่า ใต้ กรกฎนำเสนอภาพสะท้อนของอำนาจที่กดทับประชาชนผ่านภาพของ ‘ฝ่าเท้า’ ขนาดใหญ่ที่กำลังเหยียบย่ำลงไปบน ‘จุด’ จำนวนมหาศาล เมื่อผู้ชมเดินเข้าไปมองภาพใกล้ ๆ ก็จะเห็นว่าจุดเหล่านั้นแท้จริงแล้วก็คือประชาชนนั่นเอง
“อำนาจเป็นแค่โครงร่างที่ผู้คนสร้างขึ้นมาเท่านั้นเอง ถ้าเราลุกขึ้นมาพูด อำนาจนั้นก็จะไม่มีความหมาย” กรกฎอธิบาย
อิซูวัน ชาลี
อิซูวัน ชาลี คือหนึ่งในศิลปินจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานศิลปะสะท้อนประสบการณ์และความรับรู้ของคนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด งานของอิซูวันจะเป็นการใช้ศิลปะเพื่อสื่อสารกับคนนอกพื้นที่ อิซูวันมองว่าการทำความเข้าใจความเป็นจริงในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ย่อยง่าย สำหรับคนที่ไม่ได้เกิดและเติบโตที่นี่ อิซูวันจึงมักนำเสนองานของเขาด้วยการเชื่อมโยงหลายประเด็นในพื้นที่เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน วิถีการดำเนินชีวิต สังคม ศาสนา และการเมือง
งานศิลปะจัดวางที่นำเสนอร่างของคนที่นอนเหยียดตรงอยู่บนพื้น โดยมีตุ๊กตาทหารถือปืนยืนอยู่บนตัวตลอดร่าง คือผลงานของอิซูวันที่ร่วมจัดแสดงใน นิทรรศการ Stop Torture ยุติการซ้อมทรมาน แนวคิดในการทำงานของอิซูวันมาจากความต้องการที่จะทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมทางอารมณ์ต่อผู้ชม ภาพ ‘ร่าง’ ที่นอนอยู่ใต้การเหยียบย่ำของทหารล้วนแล้วแต่เป็น ‘เรา’ ที่ประกอบขึ้นมาจากดิน …จากผืนแผ่นดินนี้ร่วมกัน
เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ
เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยที่ทำงานเพื่อนำเสนอเรื่องราวในพื้นที่ภาคใต้มาอย่างยาวนาน และนอกจากจะสร้างงานของตัวเองแล้ว เจะอับดุลเลาะยังเป็นผู้ผลักดันแวดวงศิลปะร่วมสมัยในภาคใต้ โดยนอกจากจะเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีแล้ว เจะอับดุลเลาะยังเป็นผู้ก่อตั้งปัตตานีอาร์ตสเปซที่จัดแสดงผลงานของศิลปินชาวใต้รุ่นใหม่ และเพื่อต่อสู้กับแนวคิดการรวมศูนย์ที่ความเจริญทุกอย่างแม้กระทั่งงานศิลปะก็กระจุกรวมอยู่ที่ศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ
ในแง่ของผลงานส่วนตัว เจะอับดุลเลาะเน้นถ่ายทอดวิถีชีวิตของชาวใต้ซึ่งก็เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ในวัยเด็กของเขา ด้วยความที่พ่อของเขาประกอบอาชีพช่างต่อเรือกอและ ในขณะที่มารดาของเขาประกอบอาชีพช่างเย็บปักถักร้อย การเติบโตมาท่ามกลางภูมิปัญญาและศิลปะท้องถิ่นจึงส่งผลต่อวิธีและรูปแบบของงานของเขา ที่นอกจากจะนำเสนอภาพของคนในพื้นที่แล้ว เขายังมักใส่องค์ประกอบของลวดลายของสัตว์ทะเล รวมไปถึงลวดลายในวัฒนธรรมของชาวมุสลิม เพื่อส่งสารถึงคนดูว่า ในพื้นที่ที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นมานั้นยังมีเรื่องราวอื่นนอกเหนือไปจากความรุนแรงที่ปรากฏในหน้าสื่อ ซึ่งเรื่องราวที่เขาต้องการนำเสนอนั้นก็คือเรื่องราวของชีวิตนั่นเอง…
ในผลงานล่าสุดของเจะอับดุลเลาะที่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Stop Torture ยุติการซ้อมทรมาน และเป็นนิทรรศการที่เขารับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ด้วย เจะอับดุลเลาะได้นำเสนอการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตที่เขานุ่งโสร่ง สวมถุงดำครอบหัว ถูกมัดมือมัดเท้า ก่อนที่ถุงใส่สีน้ำเงินจะถูกกระหน่ำปาใส่เขา อันเป็นภาพสะท้อนของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสุดท้ายแล้ว ‘สีน้ำเงิน’ ที่อาบชโลมตัวร่างของชายนุ่งโสร่ง ก็สะท้อนนัยของการที่ ‘สีสีหนึ่ง’ ถูกยัดเยียดให้คนคนหนึ่งจนลบเลือนอัตลักษณ์หรือสีสันประจำตัวของปัจเจกชนคนหนึ่งไป
“สิ้นความยุติธรรม สิ้นความเป็นเสรีชน จะรักชาติมากล้น จนลืมความเป็นคน เห็นแก่ลาภยศและถุงเงิน จนลืมจุดยืนของตัวตน สิ้นแล้วสังคม ที่เป็นอารยชนแบบประชาธิปไตย
ความต่าง มิใช่ความเป็นอื่น หากมิอยากทนฝืน ก็จงหยิบยื่นเสรีให้ผู้คน จงอย่าผลักให้เขาเป็นอื่น จนผู้คนลุกขึ้นตื่นขัดขืน แล้ววันหนึ่ง อำนาจจะหมดสิ้นตลอดกาล”
- เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ
อ้างอิง : พาชมนิทรรศการ 'ยุติการซ้อมทรมาน' และคุยกับศิลปินในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี, Patani Artspace
ชุติมา พรหมเดชะ. วิถีชีวิต ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ที่ปรากฏในศิลปะร่วมสมัยไทย. Veridian E-Journal Vol. 10 No. 2 (2017): ฉบับภาษาไทย มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ (พฤษภาคม – สิงหาคม 2560).