เพราะการฆ่าตัวตายไม่ใช่แฟชั่น
จาก Burberry สู่ Givenchy... แบรนด์ชั้นนำที่ถูก ‘สาป’ เพราะดีไซน์บ่วงคล้องคอ

เพราะการฆ่าตัวตายไม่ใช่แฟชั่น จาก Burberry สู่ Givenchy... แบรนด์ชั้นนำที่ถูก ‘สาป’ เพราะดีไซน์บ่วงคล้องคอ

เพราะการฆ่าตัวตายไม่ใช่แฟชั่น จาก Burberry สู่ Givenchy... แบรนด์ชั้นนำที่ถูก ‘สาป’ เพราะดีไซน์บ่วงคล้องคอ

ประเด็นดราม่ากับวงการแฟชั่นถือเป็นของคู่กันมานานนมจนไม่อาจแยกออกจากกัน โดยเฉพาะกับประเด็นความอ่อนไหวทางการเมือง สังคม ศาสนา ไปจนถึงการเหยียดสีผิวและการฉกฉวยวัฒนธรรม (Cultural Appropriation) ที่พบเจอได้บ่อย ๆ ในแทบทุกโชว์ ทุกซีซัน 

และล่าสุดสำหรับงานอีเวนต์ใหญ่ประจำปีของคนสายแฟฯ อย่างงาน Paris Fashion Week ก็เป็นอีกครั้งที่มีดราม่าระลอกใหม่ถือกำเนิดขึ้นบนรันเวย์ Womenswear Spring/Summer 2022 ของห้องเสื้อสัญชาติฝรั่งเศสอายุกว่า 70 ปีอย่าง Givenchy ภายใต้การดูแลของ แมทธิว วิลเลียมส์ (Matthew Williams) ผู้อำนวยการสร้างสรรค์คนปัจจุบัน ที่คราวนี้ถูกนักแซะจอมแหกแห่งโลกแฟชั่นอย่าง Diet Prada ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการออกแบบเครื่องประดับบนคอนางแบบที่ช่างดูละม้ายคล้ายคลึงกับบ่วงคล้องคอที่ใช้สำหรับการแขวนคอฆ่าตัวตายยังไงงั้น 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเด็นอ่อนไหวอย่างการฆ่าตัวตายถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงถึงความไม่เหมาะสมในวงการแฟชั่นโลก ย้อนไปเมื่อปี 2019 ในงาน London Fashion Week แบรนด์ลักซ์ชัวรีจากเกาะอังกฤษอย่าง Burberry ก็เคยถูกสังคม ‘สาปส่ง’ มาแล้วจากกรณีเสื้อฮู้ดที่มีปมเชือกคล้ายบ่วงคล้องคอจากคอลเลกชั่น Fall/Winter 2019 ร้อนไปถึง ริคคาร์โด ทิสซี (Riccardo Tisci) ดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียนผู้กุมบังเหียนห้องเสื้อ Burberry ในขณะนั้นที่ต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษต่อสาธารณชนถึงความเลินเล่อโดยไม่เจตนาของแบรนด์ 

ที่น่าสนใจคือ แม้แต่ ลิซ เคนเนดี้ (Liz Kennedy) นางแบบสาวผู้สวมใส่เสื้อฮู้ด Burberry เจ้าปัญหาตัวดังกล่าวก็ยังออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับสร้อยคอดีไซน์ล่าสุดของ Givenchy ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวของเธอ ข้อความช่วงหนึ่งระบุว่า “การฆ่าตัวตายไม่ใช่แฟชั่น มันไม่ได้ดูมีเสน่ห์ดึงดูดใจหรือเฉี่ยวล้ำนำสมัยเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเมื่อโชว์นี้ถูกอุทิศให้แก่เหล่าเยาวชนที่กำลังส่งเสียงแสดงความคิดเห็น” โดยนอกจากจะพูดถึงกรณีดราม่ารอบล่าสุดแล้ว เธอยังเล่าย้อนไปถึงประสบการณ์บนรันเวย์ภายใต้การดูแลของทิสซีเมื่อ 2 ปีที่แล้วด้วย 

ถ้าถามว่าทำไมดีไซน์บ่วงคล้องคอเหล่านี้ถึงเป็นปัญหา ลิซ่า ร็อกซ์บี้ (Lisa Roxby) จาก Papyrus กลุ่มการกุศลที่มุ่งลดอัตราการฆ่าตัวตายจากเมืองผู้ดีก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงดราม่าในครั้งนี้ไว้ว่า “สำหรับกลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยงส่วนตัวกับการฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ตรงของตัวเอง หรือจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ดีไซน์เหล่านี้จะไปกระตุ้นภาพความนึกคิดภายในหัวของพวกเขา ซึ่งทางแบรนด์จะต้องมีความรับผิดชอบมากเพียงพอที่จะรับรองได้ว่า พวกเขาไม่ได้กำลังสร้างอันตรายให้กับผู้ชมในสังคมอยู่” 

ไม่ว่าจะด้วยความไม่เจตนาอันบริสุทธิ์ใจหรือความ ‘หิวแสง’ และไม่รู้จักเรียนรู้บทเรียนในอดีตอย่างที่ชาวเน็ตบางคนตั้งข้อสงสัย (บางคนก็บอกว่า มีปมเชือกอีกมากมายหลายร้อยแบบให้ได้เลือกใช้ ทำไมแบรนด์ถึงต้องตัดสินใจใช้อันที่ดูจะมีประเด็นมากที่สุดด้วย) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่แบรนด์ระดับโลกอย่าง Givenchy จะมาตกม้าตายในประเด็นละเอียดอ่อนแบบนี้ โดยเฉพาะเมื่อการออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับภายใต้ความร่วมมือกับศิลปินชาวอเมริกัน จอช สมิธ (Josh Smith) ในคอลเลกชั่นนี้ดูจะไปถูกอกถูกใจเหล่านักวิจารณ์สายแฟฯ อยู่ไม่น้อย 

อย่างไรก็ดี จนแล้วจนรอดจนถึงปัจจุบัน Givenchy ก็ยังไม่ได้ออกแถลงการณ์ใด ๆ ที่พูดถึงปมดราม่าในครั้งนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ทิ้งไว้เพียงเสียงเหน็บแนมในโลกอินเตอร์เน็ตที่ยังไม่ได้รับการไขข้อข้องใจ

อ้างอิง: 
https://www.theguardian.com/fashion/2021/oct/04/who-signs-off-blatantly-offensive-items-like-this-givenchy-called-out-for-noose-necklace?fbclid=IwAR1zyjXsKjmjUWq5XW8Kk_7ljHBQLB_JMUkucelayAlzeqHRZcA11V0vZk4
https://www.businessinsider.in/thelife/news/givenchy-sparks-backlash-for-sending-models-down-the-runway-in-a-noose-shaped-necklace/articleshow/86761291.cms?fbclid=IwAR1waC_4rrg4ijkRDOReaWNBgZHSpwQbsaCg4KSYoYPeppfGcP4VXC9kXXs