ครบรอบ 67 ปี Rear Window
หนังที่สร้างจากประสบการณ์ดู ‘หนังโป๊’ ครั้งแรกของ Alfred Hitchcock และหนังที่เป็นต้นกำเนิดของ ‘Male Gaze’

ครบรอบ 67 ปี Rear Window หนังที่สร้างจากประสบการณ์ดู ‘หนังโป๊’ ครั้งแรกของ Alfred Hitchcock และหนังที่เป็นต้นกำเนิดของ ‘Male Gaze’

ครบรอบ 67 ปี Rear Window หนังที่สร้างจากประสบการณ์ดู ‘หนังโป๊’ ครั้งแรกของ Alfred Hitchcock และหนังที่เป็นต้นกำเนิดของ ‘Male Gaze’

ครั้งหนึ่งเมื่อเจ้าพ่อศิลปินป็อปอาร์ตได้นั่งสัมภาษณ์สุดยอดผู้กำกับแห่งศตวรรษที่ 20 อย่าง อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ทั้งคู่ได้พูดคุยกันถึงประเด็นว่าด้วยการจับจ้อง ‘ตัวแบบ’ เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะ และในครั้งนั้น ฮิตช์ค็อกก็ได้แชร์ความจริงเกี่ยวกับตัวเองที่ไม่เคยเผยที่ไหนมาก่อน ฮิตช์ค็อกเผยกับวอร์ฮอลว่า ทั้งชีวิตของเขา เขาเคยดูหนังโป๊เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น และมันก็เกิดขึ้นหลังจากที่เขาอายุเข้าเลขหกไปแล้ว

ประสบการณ์การดูหนังผู้ใหญ่ของฮิตช์ค็อกเกิดขึ้นระหว่างทริปที่เขาเดินทางไปโปรโมตหนังที่ญี่ปุ่น หลังจากที่ทีมงานพาเขาไปทานสเต็กเป็นมื้อค่ำที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง หลังจบมื้อ เขาก็ถูกเชื้อเชิญให้ขึ้นไปบนห้องที่อยู่ด้านบนของร้าน ...โดยที่ในห้องนั้นมีจอฉายหนังขนาดใหญ่ที่กำลังฉายหนังโป๊อยู่!

ฮิตช์ค็อกไม่เคยเผยว่าหนังสยิวที่เขาได้ดูในวันนั้นคือเรื่องอะไร และเขาก็เก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวโดยไม่เคยพูดถึงมันอีก แต่กลายเป็นว่าเขากลับพบว่าตัวเองนั่งฝันกลางวันถึงประสบการณ์ในการดูหนังโป๊ครั้งแรกในชีวิตอยู่บ่อย ๆ นานวันไป เมล็ดพันธุ์แห่งความครุ่นคิดสงสัยก็ได้หยั่งรากลึกไปในใจของเขา จนในที่สุดมันก็ผลิดอกออกผลเป็นความปรารถนาของฮิตช์ค็อกที่จะนำเสนอฉาก ‘การถ้ำมองเพื่อตอบสนองความปรารถนาทางเพศ’ ในหนังของเขา และนั่นจึงกลายมาเป็นที่มาของการ ‘ไตรภาคแห่งการถ้ำมอง’ ที่เรียกกันเองในหมู่แฟนหนัง ซึ่งเปิดไตรภาคด้วย Rear Window (อีกสองเรื่องคือ Vertigo และ Marnie) หนังขึ้นหิ้งของผู้กำกับฮิตช์ค็อกที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1954 ทำให้เมื่อวานนี้เป็นวาระครบรอบ 67 ปีของหนัง ‘หน้าต่างชีวิต’ เรื่องนี้

Rear Window (1954) ว่าด้วยเรื่องราวของ เจฟฟ์ ตากล้องหนุ่มที่ประสบอุบัติเหตุขาหักจากการถ่ายภาพการแข่งขันรถยนต์ เจฟฟ์ที่ต้องเข้าเฝือกและเคลื่อนไหวด้วยรถเข็นจึงได้แต่นอนพักในห้องของอพาร์ตเมนต์ของตน ด้วยความเบื่อหน่าย เจฟฟ์จึงใช้กล้องส่องทางไกลส่องมองพฤติกรรมของผู้คนที่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ตรงข้ามกับตน ซึ่งมีหญิงวัยกลางคนที่อยู่อย่างเปลี่ยวเหงา ที่เจฟฟ์เรียกเธอว่า มิสโลนลี่ ฮาร์ท, นักบัลเลต์สาวที่มีผู้ชายมาติดพันมากมาย และเซลล์แมนวัยกลางคนที่ดูแลภรรยาที่ป่วยซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเตียง กระทั่งวันหนึ่งที่เจฟฟ์ได้ยินเสียงกรีดร้องมาจากอพาร์ตเมนต์ฝั่งตรงข้าม และในวันถัดมาก็เห็นเซลแมนหิ้วกระเป๋าใบใหญ่เดินออกมาจากอพาร์ตเมนต์ เจฟฟ์จึงแน่ใจว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากล เขาจึงเริ่มทำการหาตัวคนร้ายด้วยกล้องส่องทางไกล โดยมี ลิซา แฟนสาวเป็นผู้ช่วย

‘การถ้ำมอง’ คือแก่นสำคัญของ Rear Window และการถ้ำมองในหนังขึ้นหิ้งของฮิตช์ค็อกเรื่องนี้ก็ได้นำมาสู่ข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่กลายเป็นทฤษฎีทางภาพยนตร์ชิ้นสำคัญที่สุดแห่งยุค นั่นก็คือ Visual Pleasure and Narrative Cinema (1973) ของนักทฤษฎีภาพยนตร์สายเฟมินิสต์ ลอรา มัลวีย์ ที่ตั้งประเด็นสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศผ่านการจ้องมองที่ยังคงเป็นที่พูดถึงกันจนถึงทุกวันนี้ และเป็นที่มาของคำว่า ‘Male Gaze’

ใน Visual Pleasure and Narrative Cinema (1973) มัลวีย์ได้ตั้งสมมติฐานโดยใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มาประกอบ มัลวีย์เสนอความเห็นว่า ภาพยนตร์ฮอลลีวูดมักนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองการจับจ้องของผู้ชาย หรือที่มัลวีย์เรียกว่า Male Gaze ซึ่งการจ้องมองนี้ก็เป็นมุมมองที่ตอบสนองต่อความต้องการทางเพศของผู้ชาย และตอกย้ำสถานะของผู้หญิงที่มีฐานะเป็นเพียงวัตถุทางเพศที่ดำรงอยู่เพื่อความพอใจของผู้ชายเท่านั้น โดยมัลวีย์ได้ยกตัวอย่างไตรภาคแห่งการถ้ำมองของฮิตช์ค็อกเป็นตัวอย่างประกอบในการวิเคราะห์ มุมมองของเรื่องราวในหนังที่นำเสนอผ่านสายตาของผู้ชายสะท้อนถึงอำนาจของผู้ชายที่สามารถจ้องมองและตีความร่างกายของผู้หญิงได้ โดยที่พวกเธอไม่มีอำนาจในการควบคุมหรือมีส่วนร่วมในการกระทำนั้น ซึ่งทำให้ผู้หญิงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำเท่านั้น

ในข้อเขียนนี้ มัลวีย์ให้ความสนใจการถ้ำมองของเจฟฟ์ใน Rear Window เป็นพิเศษ นั่นก็เพราะเรื่องราวใน Rear Window ดำเนินไปผ่านสายตาของเจฟฟ์ที่จ้องมองผู้คนผ่านกล้องส่องทางไกลของเขาเท่านั้น เหล่าผู้คนในอพาร์ตเมนต์ฝั่งตรงข้ามแทบจะไร้เสียง และผู้ชมก็ได้รับรู้เรื่องราวของพวกเขาผ่านมุมมองของเจฟฟ์เท่านั้น และสิ่งที่มัลวีย์ตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษก็คือ ตัวละครแฟนสาว ลิซา เฟรมองต์ ที่รับบทโดย เกรซ เคลลี ซึ่งพยายามเรียกร้องความสนใจจากเจฟฟต์ให้หันมา ‘มอง’ เธออยู่บ่อย ๆ และแม้ว่าเธอจะเอาใจเขา (และผู้ชม) ด้วยการปรากฏตัวในชุดเสื้อผ้าหน้าผมอันสวยงามอยู่ตลอดเวลา แต่เจฟฟ์กลับยังคงทุ่มเทความสนใจไปที่การถ้ำมองจับจ้องผู้คนฝั่งตรงข้ามที่เขาสามารถสังเกตพฤติการณ์และล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ชีวิตประจำวันของพวกเขาได้โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว ซึ่งกว่าที่ลิซาจะได้รับความสนใจจากเจฟฟ์ในตอนท้ายเรื่องที่ลิซาสวมบทนักสืบก้าวเข้าไปในห้องอพาร์ตเมนต์ฝั่งตรงข้าม ซึ่งมัลวีย์มองว่า ฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องนี้สะท้อนถึงการที่ลิซาก้าวเข้าไปในพื้นที่ที่ทำให้ตัวเธอไร้เสียงและอยู่ภายใต้อำนาจการจ้องมองของเจฟฟ์อย่างสมบูรณ์ กลายเป็นหญิงสาวผู้มีตำแหน่งแห่งที่ในฐานะผู้ถูกกระทำอย่างสมบูรณ์แบบ และด้วยวิถีทางที่ทำให้ตัวเธอกลายเป็นวัตถุแห่งการจ้องมองโดยสมบูรณ์แบบเท่านั้นที่ทำให้เจฟฟ์หันมาสนใจลิซาในที่สุด

ในมุมมองของมัลวีย์ ลิซาที่พยายามเรียกร้องความสนใจและใช้เล่ห์กลเพื่อทำให้เจฟฟ์หันมาสนใจเธอ (ตัวอย่างเช่น ในฉากที่เธอแกล้งทำเป็นอ่านหนังสือการท่องเที่ยวเพื่อดึงความสนใจจากเจฟฟ์ แต่เมื่อเขาผล็อยหลับไป เธอก็เปลี่ยนไปอ่านนิตยสาร Vanity Fair) และใช้ไหวพริบอันชาญฉลาดในการช่วยเจฟฟ์ไขคดีและชี้ให้เห็นถึงจุดน่าสงสัย สะท้อนการเป็นผู้หญิงที่มีความคิดความอ่านและเป็นผู้ลงมือทำ (active) แต่เธอกลับไม่เคยได้รับความสนใจจากเจฟฟ์เลย กระทั่งเธอพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เธอไร้เสียง เป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง เป็นผู้ถูกกระทำ (passive) เท่านั้น ที่ทำให้ลิซาประสบความสำเร็จในการได้รับความรักความสนใจจากเจฟฟ์ ซึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนถึงมุมมองของผู้ชายที่มีความปรารถนาต่อผู้หญิงที่เป็นวัตถุและไม่มีเสียงหรือความคิดเป็นของตัวเอง สายตาการจับจ้องของผู้ชาย (Male Gaze) จึงเป็นกระบวนการตอบสนองความต้องการทางเพศของผู้ชายด้วยการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศเท่านั้น

แม้ว่างานเขียนชิ้นนี้จะได้รับข้อโต้แย้งจากหลายฝ่าย (อันเป็นไปตามวิถีปกติในโลกแห่งการวิเคราะห์วิจารณ์) โดยเฉพาะการโต้แย้งว่าในเรื่องนั้นคนที่ถูกถ้ำมองหาได้มีแค่ผู้หญิง รวมไปถึงหลายฝ่ายที่พยายามแย้งว่าอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ไม่ใช่ผู้กำกับที่เป็นภาพแทนของค่านิยมชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) เพราะในตอนจบเหล่าตัวละครชายนักถ้ำมองต่างก็ได้รับผลจากการเข้าไปยุ่มย่ามจ้องมองชีวิตของผู้อื่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Visual Pleasure and Narrative Cinema คือข้อเขียนที่สั่นสะเทือนวงการภาพยนตร์และตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพยนตร์ในฐานะภาพสะท้อนของสังคมได้อย่างแยบยล ...โดยเฉพาะการที่มัลวีย์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้ชมนั่งชมเรื่องราวของตัวละครที่ดำเนินไปบนจอสี่เหลี่ยมในโรงภาพยนตร์มืด ๆ โดยที่ผู้ชมนั่งจับจ้องชีวิตของตัวละครบนที่หาได้ตระหนักถึงการถูกจับจ้องจากผู้ชมนั้น… ก็ไม่ต่างอะไรกับการ ‘ถ้ำมอง’ และเราเหล่าผู้ชมก็คือผู้แสวงหาความสุขและอำนาจผ่านการจ้องมองเช่นเดียวกัน

อ้างอิง: Hitchcock, The Voyeur: Why Rear Window Remains the Director's Definitive Film, The “Pleasure of Looking” and the Male Gaze in Hitchcock’s Rear Window and Vertigo