ย้อนดูศิลปะแห่ง ‘นรก’ จากแรงบันดาลใจแห่ง Divine Comedy
เนื่องในวาระ 700 ปี มรณกรรม Dante Alighieri กวีผู้สร้างนรกแห่งโลกตะวันตก

ย้อนดูศิลปะแห่ง ‘นรก’ จากแรงบันดาลใจแห่ง Divine Comedy เนื่องในวาระ 700 ปี มรณกรรม Dante Alighieri กวีผู้สร้างนรกแห่งโลกตะวันตก

ย้อนดูศิลปะแห่ง ‘นรก’ จากแรงบันดาลใจแห่ง Divine Comedy เนื่องในวาระ 700 ปี มรณกรรม Dante Alighieri กวีผู้สร้างนรกแห่งโลกตะวันตก

เมื่อพูดถึง ‘นรก’ ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวของเรานั้นคืออะไร? สัตว์นรกหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว, ภาพสถานที่ที่เต็มไปด้วยไฟบรรลัยกัลป์ หรือภาพสถานที่แห่งการลงทัณฑ์ที่เต็มไปด้วยเหล่าคนบาปซึ่งกำลังถูกทรมานด้วยวิธีการน่าสยดสยองต่าง ๆ…

ถ้าในศาสนาพุทธมีชาดกเรื่อง ‘พระอรหันต์มาลัย’ ผู้เดินทางท่องไปยังนรกและสวรรค์เพื่อนำเรื่องราวเกี่ยวกับบาปบุญมาสอนใจมนุษย์ ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์อรรถกถา จนกลายเป็นที่มาของภาพนรกที่ชาวพุทธยึดถือเป็นภาพจำเกี่ยวกับดินแดนแห่งการลงทัณฑ์หลังความตาย ในโลกตะวันตก ผลงาน Divine Comedy ของกวีชาวฟลอเรนซ์ ดันเต อาลีกีเอรี (1265 – 1321) ก็คือวรรณกรรมที่สร้างภาพนรกในภาพจำของชาวตะวันตกมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 14

Divine Comedy ว่าด้วยเรื่องราวที่ดันเตบรรยายถึงการเดินทางท่องไปในนรกและสวรรค์ โดยแบ่งออกเป็นสามบทคือ นรก (Inferno), แดนชำระ (Purgatorio) และสวรรค์ (Paradiso) โดยมีวิญญาณของ เวอร์จิล กวีชาวโรมันโบราณเป็นผู้พาดันเตท่องไปยังสามแดนหลังความตายนั้น

ว่ากันว่า เนื้อหาใน Divine Comedy โดยเฉพาะบทการท่องนรกหรือ Inferno นั้นเป็นงานวรรณกรรมเพียงชิ้นเดียวที่ทรงอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของชาวตะวันตกเทียบเท่ากับพระคัมภีร์ไบเบิล หากมองมันในฐานะงานวรรณกรรม นี่คือวรรณกรรมที่ใช้วรรณศิลป์ในการถ่ายทอดภาพ เสียง บรรยากาศ และความรู้สึกได้อย่างทรงพลังจนส่งผลต่อการมองโลกของชาวตะวันตกมาจนถึงปัจจุบัน

จริงอยู่ที่คอนเซปต์เกี่ยวกับโลกหลังความตายและนรกในวัฒนธรรมตะวันตกนั้นมีมาก่อนหน้าการมาถึงของ Divine Comedy แต่ดันเตคือศิลปินที่ทำให้ภาพของไฟนรกลุกโชติช่วงมากยิ่งขึ้น ได้ยินเสียงกรีดร้องดังยิ่งขึ้น และภาพความทรมานของเหล่าผู้มีบาปติดตัวนั้นแจ่มชัดและติดลึกฝังแน่นในใจคนมากขึ้น จนส่งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้ศิลปินมากมายสร้างผลงานขึ้นมาเพื่อแปลงนรกจากตัวอักษรมาเป็นภาพ แม้กระทั่งย้อนกลับไปในยุคสมัยนั้นที่การพิมพ์ยังไม่เฟื่องฟู ซึ่งทำให้ผลงาน Divine Comedy ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่กลับกลายเป็นว่ามีเอกสารภาพประกอบ Divine Comedy ออกมามากกว่า 40 ชิ้น และอีกหลายศตวรรษผ่านไป ก็ยังมีศิลปินอีกมากมายที่ตีความนรกใน Divine Comedy ออกมาเป็นผลงานศิลปะ ตั้งแต่ ซันโดร บอตตีเชลลี, วิลเลียม เบลค, ยูจีน เดอลาครัวซ์ ไปจนถึง ซัลบาโดร์ ดาลี

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นวาระครบรอบ 700 ปีมรณกรรมของ ดันเต อาลีกีเอรี กวีชาวอิตาเลียนผู้สร้างภาพนรกในใจคน และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อแนวคิดและโลกทัศน์ของวัฒนธรรมตะวันตก GroundControl จึงขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจงานศิลปะสะท้อนภาพนรกที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Divine Comedy ของดันเตร่วมกัน!

The Yates-Thompson Codex (1440s)

ในบรรดาภาพวาดประกอบ Divine Comedy ทั้งหมด คอลเลกชัน The Yates-Thompson Codex (ตั้งตามชื่อนักสะสมเจ้าของคอลเลกชันที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19) ที่ถูกเก็บไว้รักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติของประเทศอังกฤษก็เป็นผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยผลงานภาพประกอบจำนวน 52 ชิ้นชุดนี้ถูกวาดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 1440s ที่เมืองซีนา ประเทศอิตาลี โดยผู้ที่สั่งให้วาดภาพชุดนี้ขึ้นมาก็คือ พระเจ้าอัลฟองโซที่ 5 แห่งอารากอง โดยสันนิษฐานว่าอาจให้วาดขึ้นเพื่อมอบให้เป็นของขวัญหรือเพื่อเก็บสะสมด้วยพระองค์เอง

ความน่าสนใจของภาพนรกสวรรค์แบบดันเตใน The Yates-Thompson Codex ก็คือการที่ศิลปินถ่ายทอดเรื่องราวออกมาด้วยวิธีการเรียงตามแคนโตหรือตามโคลงแต่ละบท โดยภาพที่เห็นอยู่ด้านบนนี้คือการนำเสนอเรื่องราวในลักษณะการ์ตูนหรืออนิเมชั่นที่รวมสามแคนโตไว้ในภาพเดียว บอกเล่าเหตุการณ์ตอนที่ดันเตในชุดเสื้อคลุมสีฟ้าและเวอร์จิลในชุดเสื้อคลุมสีแดงกำลังเดินผ่าน ‘ไมนอส’ ผู้คุมในนรกที่ทำหน้าที่ตัดสินว่าวิญญาณบาปแต่ละตนจะต้องไปลงเอยที่ไหนในนรก โดยที่เวอร์จิลได้กระตุ้นให้ดันเตเดินต่อไป ในขณะที่ภาพทางขวามือคือตอนที่เวอร์จิลกำลังสนทนากับคู่รักบาปหนาที่มาลงเอยในนรกคือ เปาโล และ ฟรานเซสกา ส่วนภาพดันเตที่กำลังคุกเข่านั้นสะท้อนการที่ดันเตล้มลงคุกเข่าด้วยความประหวั่นจนเกือบจะสิ้นสติ

The Map of Hell (1485)

ในช่วงเวลาเดียวกับที่ ซันโดร บอตตีเชลลี สร้างผลงานการถือกำเนิดของเทพีวีนัสจากท้องทะเล (The Birth of Venus, 1484–1486) บอตตีเชลลีก็รับจ็อบอีกงานหนึ่งที่เป็นการนำเสนอภาพด้านตรงข้ามของการกำเนิดเทพีแห่งสรวงสวรรค์โดยสิ้นเชิง นั่นก็คือการวาดภาพประกอบบทกวี Divine Comedy จำนวนเกือบร้อยหน้า ในเวลาต่อมา จากการเป็นผลงานภาพประกอบข้อความ ภาพวาดของบอตตีเชลลีในผลงานภาพประกอบชุดนี้ก็ได้ถูกแยกออกมาจากส่วนของข้อความ กลายเป็นผลงานเดี่ยว ๆ ที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่กรุงวาติกันและ Museum of Prints and Drawings ในกรุงเบอร์ลิน

ในบรรดาภาพวาดทั้ง 92 หน้า ผลงานที่เป็นที่รู้จักและโด่งดังมากที่สุดในภาพวาดชุดนี้ก็หนีไม่พ้นภาพ The Map of Hell ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกที่ถ่ายทอดโครงสร้างของนรกในบท Inferno ออกมาเป็นชั้น ๆ ตามที่ดันเตไดด้อธิบายไว้ ในที่นี้ นรกของดันเตที่บอตตีเชลลีถ่ายทอดออกมามีลักษณะเป็นกรวยหงาย และมีการแบ่งเขตแดนเป็น 9 ชั้นตามบาปที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์ โดยชั้นแรกถึงชั้นที่หกไล่เรียงมาดังนี้ ชั้น Limbo ซึ่งเป็นที่สถิตย์ของเหล่าวิญญาณนอกรีตที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์, ชั้นที่สองคือที่สถิตของเหล่าวิญญาณแห่งตัณหาราคะ (Lust), ชั้นที่สามคือความตะกละ (Gluttony), ชั้นที่สี่คือความละโมบ (Greed), ชั้นที่ห้าคือความโกรธและความขี้เกียจ (Wrath และ Sloth) ส่วนชั้นที่หกคือพวกมิจฉาทิฐิ (Heresy)

ต่อมาคือชั้นที่เจ็ดซึ่งเป็นที่ลงทัณฑ์สำหรับวิญญาณของพวกใช้ความรุนแรง แบ่งเป็นวงแหวนภายในอีกสามวงไล่จากนอกเข้าในคือ วิญญาณของพวกที่ชอบใช้ความรุนแรงกับคนและสิ่งของ, วิญญาณของผู้ที่ปลิดชีวิตตัวเอง และชั้นในสุดคือวิญญาณของผู้ที่ดูหมิ่นพระเจ้า และผู้ที่ดูหมิ่นธรรมชาติ

ในส่วนของชั้นที่แปดคือชั้นลงทัณฑ์เหล่าวิญญาณผู้ฉ้อฉล โดยแบ่งออกเป็นอีกสิบขุมย่อยตามความฉ้อฉลต่าง ๆ เช่น การเป็นแม่มด, คนมือถือสากปากถือศีล, ขโมย ฯลฯ ในขณะที่ชั้นสุดท้ายคือชั้นที่เก้านั้นคือชั้นสำหรับวิญญาณผู้ทรยศและตระบัดสัตย์ แบ่งออกเป็นสี่วงย่อยคือ พวกที่หักหลังคนใจดีมีเมตตา, พวกข้าราชการที่คดโกง, ผู้ที่ทรยศต่อแขกที่มาพำนักที่บ้าน และสุดท้ายคือผู้ที่ทรยศต่อเจ้านายหรือผู้ที่ชุบเลี้ยงตน

The Barque of Dante (1822)

The Raft of the Medusa (1818-19) ของทีโอเดอร์ เกอริโก คือผลงานที่เป็นรากฐานของศิลปะโรแมนติกในฝรั่งเศส และผลงานชิ้นนี้ก็ส่งอิทธิพลต่อศิลปินผู้ได้ชื่อว่าเป็นมาสเตอร์คนสุดท้ายแห่งโลกศิลปะอย่าง ยูจีน เดอลาครัวซ์ เป็นอย่างมาก โดย The Raft of the Medusa คือผลงานที่เกอริโกวาดขึ้นมาจากเหตุการณ์เรือรบเมดูซาล่มเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1816 จนส่งผลให้ลูกเรือ 147 คนต้องเอาชีวิตรอดบนแพที่ทำมาจากซากเรือ จนสุดท้ายแล้วกลับมีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้เพียง 15 คนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้สังคมฝรั่งเศสแตกตื่นเป็นอย่างมากก็คือการค้นพบว่าลูกเรือที่รอดชีวิตนั้นต่างต้องกินซากศพของเพื่อนร่วมแพเป็นอาหารประทังชีวิต ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นเรื่องสะเทือนขวัญและสั่นคลอนศีลธรรมของผู้คนเป็นอย่างมาก

เดอลาครัวซ์รับเอาอิทธิพลด้านการนำเสนออารมณ์อันบ้าคลั่งและรุนแรงในภาพ The Raft of the Medusa และการนำเสนอเหตุการณ์สะเทือนขวัญและสั่นคลอนศีลธรรมของผู้คนมาสร้างสรรค์เป็น The Barque of Dante (1822) จนทำให้มันกลายเป็นผลงานชิ้นแรกของเดอลาครัวซ์ที่ได้รับการตอบรับให้จัดแสดงที่ Salon อันทรงเกียรติ โดยผลงานของเดอลาครัวซ์ชิ้นนี้นำเสนอฉากจาก Inferno ในตอนที่ดันเตและเวอร์จิลกำลังข้ามแม่น้ำสติกซ์แห่งยมโลก โดยที่เหล่าวิญญาณผู้สิ้นหวังต่างพากันเกาะขอบเรือที่ดันเตและเวอร์จิลโดยสารมาเพื่อที่จะหนีจากชะตากรรมอันโหดร้ายในขุมนรก

ในภาพนี้เดอลาครัวซ์ก็ได้แสดงการคารวะต่อเกอริโกด้วยการวาดใบหน้าของวิญญาณตนหนึ่งโดยอ้างอิงจากใบหน้าของลูกเรือคนหนึ่งในภาพของเกอริโก กลายเป็นกิมมิกที่ทำให้ภาพ The Barque of Dante เป็นทั้งภาพสะท้อนและภาพคู่ขนานของ The Raft of the Medusa ...ในขณะที่ผลงานของเกอริโกคือการนำเสนอภาพนรกในโลกแห่งความเป็นจริง ผลงานของเดอลาครัวซ์กลับเป็นการนำเสนอภาพนรกที่ปรากฏในจินตนาการ แต่นรกทั้งสองก็ล้วนสะท้อนความกลัวและสิ้นหวังของมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น

The Barque of Dante ยังได้รับการยกย่องในแง่ของการจัดองค์ประกอบที่ใช้พื้นที่ทุกส่วนในภาพได้อย่างงดงาม และยังโดดเด่นในแง่ของการถ่ายทอดอารณ์และความคิดของตัวละครแต่ละคนในภาพได้อย่างสะท้านอารมณ์ โดยเฉพาะภาพสีหน้าอันนิ่งสงบของเวอร์จิลที่กำลังจับมือดันเตที่กำลังตื่นตระหนกไว้ ขณะที่พวกเขาถูกรายล้อมด้วยใบหน้าอันทุกข์ทรมานของวิญญาณแห่งขุมนรก

Dante and Virgil (1850)

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 Divine Comedy ได้กลายเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มศิลปินและนักคิดยุคจินตนิยม (Romanticism) เป็นอย่างมาก และก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินลัทธิจินตนิยมสร้างผลงานที่ถ่ายทอดเรื่องราวการท่องนรกครั้งนี้ออกมามากมาย โดยหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุคก็คือ Dante and Virgil โดยศิลปินจินตนิยมชาวฝรั่งเศส วิลเลียม-อดอล์ฟ บูเกอโร (William-Adolphe Bouguereau) ผู้เป็นที่รู้จักในแง่ของสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งผสมผสานศิลปะแบบนีโอคลาสสิกและโรแมนติกไว้ด้วยกัน นอกจากนี้บูเกอโรยังเป็นที่รู้จักจากการถ่ายทอดผลงานผ่านการตีความเรื่องเล่าและตำนานต่าง ๆ ด้วย

Dante and Virgil ถ่ายทอดฉากที่ดันเตและเวอร์จิลกำลังมองดูวิญญาณในนรกสองตนที่ถูกลงทัณฑ์ให้ต้องสู้กันไปตลอดกาล โดยวิญญาณที่กำลังเพลี่ยงพล้ำถูกกัดคอในฉากนี้มีชื่อว่า Capocchio ผู้เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุและคนนอกรีต ส่วนคนที่กำลังกัดก็นั้นคือ Gianni Schicchi วิญญาณคนฉ้อฉลที่หลอกฮุบสมบัติของ Capocchio หลังจากที่เขาสิ้นชีวิตไปแล้ว

ภาพ Dante and Virgil ของบูเกอโรได้รับการชื่นชมในแง่ของการถ่ายทอดอารมณ์ที่ดุดัน รุนแรง และเคียดแค้น ผ่านการนำเสนอกล้ามเนื้อของสองวิญญาณที่ดูแข็งแกร่งและเครียดขมึง โดยที่บูเกอโรสามารถถ่ายทอดอารมณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในฉากนั้น ทั้งความโกรธแค้น ความน่าสะพรึงกลัว ความตกใจ ออกมาผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพได้อย่างดงาม โดยเฉพาะการถ่ายทอดสีหน้าที่บอกถึงความอึ้งตะลึงของเวอร์จิลและดันเตผู้ซึ่งเป็นสักขีพยานในฉากความรุนแรงตรงหน้า

The Gates of Hell (1885)

ในปี 1880 ออกุสต์ รอแด็ง ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ Decorative Arts Museum ให้สร้างประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์แห่งฝรั่งเศสที่กำลังจะเปิดใหม่แห่งนี้ โดยบรีฟที่รอแด็งได้รับมาในตอนนั้นก็นับเป็นอะไรที่คนยุคนี้น่าจะเรียกว่า ‘บรีฟเลว’ เพราะโจทย์เดียวที่เขาได้รับก็คือ ‘ให้ปั้นอะไรก็ได้’ ?!

และสิ่งที่รอแด็งเลือกปั้นเพื่อสร้างเป็นประตูทางเข้าไปสู่สถานที่เก็บงานศิลปะอันสะท้อนถึงอารยะของมนุษย์ ก็คือฉากเรื่องราวการท่องไปยังขุมนรกของดันเตใน The Inferno อันเป็นบทแรกใน The Divine Comedy นั่นเอง

รอแด็งให้เหตุผลในการเลือกที่จะมอบประสบการณ์การเดินทางสู่ขุมนรกเป็นการต้อนรับผู้ที่มาเยือนพิพิธภัณฑ์ว่า เมื่อผู้ชมเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็จะเป็นเหมือนการเริ่มต้นเส้นทางสู่การตกผลึกทางความคิดและปัญญา ดังที่ดันเตได้ประสบจากการไปท่องนรก ยิ่งไปกว่านั้นรอแด็งยังติดใจในความยิ่งใหญ่และอารมณ์อันท่วมท้นที่ดันเตพรรณนาเอาไว้เมื่อแรกก้าวเข้าไปในนรก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตั้งใจจะมอบประสบการณ์นั้นให้กับผู้ที่มาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย

The Gates of Hell ประกอบด้วยตัวละครจากเรื่องท่องนรกของดันเตทั้ง 180 ตัว แต่สิ่งที่รอแด็งใส่เข้ามาเพิ่มก็คือประติมากรรมรูปชายเปลือยนั่งชันเข่าเอามือเท้าคาง ในท่วงท่าที่เหมือนกำลังครุ่นคิดอะไรบางอย่าง ซึ่งในเวลาต่อมา รอแด็งก็ได้ตั้งชื่อประติมากรรมชิ้นนี้ว่า The Poet ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะยุคหลังตีความกันว่า The Poet น่าจะจะเป็นการนำเสนอภาพกวีดันเตที่กำลังนั่งครุ่นคิดถึงเรื่องราวที่ได้ไปพบเห็นมาในบท Inferno

ตลอดชีวิตในกาลต่อมา รอแด็งก็ได้ปั้นประติมากรรมหนุ่มช่างคิดนี้ออกมาอีกหลายตัว จนในภายหลังมันจึงถูกเรียกว่า The Thinker นั่นเอง

อ้างอิง: Dante and The Divine Comedy: He took us on a tour of Hell, Dante’s Divine Comedy in Late Medieval and Early Renaissance art, Dante’s Divine Comedy and Its Influence on Art History