ย้อนดูผลงาน Ball Machine ของ George Rhoads
ศิลปินผู้สร้างงานประติมากรรมจากกลไก ราง และลูกบอล

ย้อนดูผลงาน Ball Machine ของ George Rhoads ศิลปินผู้สร้างงานประติมากรรมจากกลไก ราง และลูกบอล

ย้อนดูผลงาน Ball Machine ของ George Rhoads ศิลปินผู้สร้างงานประติมากรรมจากกลไก ราง และลูกบอล

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ลูก ๆ ของ จอร์จ โรดส์ ประติมากรชาวอเมริกันชื่อดัง ได้แจ้งข่าวยืนยันว่า พ่อของพวกเขาได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 95 ปี ชื่อของคุณปู่จอร์จ โรดส์ อาจไม่ค่อยคุ้นหูคนทั่วไป แต่เมื่อได้เห็นผลงานประติมากรรมเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณความสนุกสนานของโรดส์แล้ว เชื่อว่าทุกคนจะต้องรู้สึกคุ้นเคยกับโรดส์ขึ้นมาทันที นั่นก็เพราะผลงานของโรดส์ที่ประกอบด้วยโครงสร้างของรางขนาดใหญ่ที่ปล่อยให้ลูกเหล็กไหลลงมาผ่านกลไกต่าง ๆ นั้นล้วนทำให้เรานึกถึงของเล่นในวัยเด็ก ที่ต่อให้เราไม่รู้จักชื่อของโรดส์ แต่เรากลับรู้สึกเชื่อมโยงกับผลงานของเขาได้ ประติมากรรมของโรดส์กระจายตัวอยู่ในสนามบิน ห้างสรรพสินค้า และพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ไล่ไปตั้งแต่โครงรางเหล็กความสูงเท่าโต๊ะ ไปจนถึงชิ้นที่มีความสูงท่วมหัว 40 ฟุต ประติมากรรมโครงสร้างเหล็กและกลไกลูกบอลไหลของโรดส์ล้วนทำให้เรานึกถึงโครงสร้างในไซต์งานก่อสร้าง, รางรถไฟเหาะในสวนสนุก, วงโคจรของดวงดาว ไปจนถึงตู้พินบอล ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะแรงบันดาลใจหลักของโรดส์ก็มาจากรางเครื่องเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ในสวนสนุก ผสานเข้ากับอิทธิพลศิลปะที่เขาได้ร้บมาจากนักประติมากรรมศิลปะคีเนติก (Kenetic Art) คนดังอย่าง อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ และเส้นสายลายเส้นจากนักวาดการ์ตูนกลไกคนดัง รูบ โกลด์เบิร์ก

ในการสร้างผลงานแต่ละชิ้น โรดส์จะเริ่มจากการขึ้นพิมพ์เขียวของโครงสร้างบนกระดาษ โดยที่เขาจะกำหนดเลยว่าแต่ละชิ้นส่วนจะใช้สีไหน จากนั้นเขาจึงใช้เวลาเป็นปี ๆ ค่อย ๆ ต่อโครงสร้างแต่ละชิ้นด้วยมือ ดัดมุมตรงที่อยากให้เป็นทางโค้ง และติดตั้งกลไกต่าง ๆ เข้าไปด้วยมือของตนเอง

“เส้นทางแต่ละเส้นที่ลูกบอลเคลื่อนที่ผ่านคือ ‘เรื่องราว’ ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป” โรดส์เคยอธิบายไว้ “เหตุการณ์และอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละจุดล้วนเป็นผลลัพธ์ของการวางโครงสร้างบทและเรื่องราว มันส่งผลสำคัญต่อเรื่องราวมาก ๆ และสุดท้ายแล้วมันก็จะดำเนินไปสู่บทสรุปที่ตื่นเต้นเร้าใจ”

หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของโรดส์คือโครงสร้างลูกบอลกลิ้งที่ลูกสาวของเขาเรียกว่า ‘Homage to Beethoven’ หรือการสดุดีแด่บีโธเฟน ที่ลูกบอลจะกลิ้งไปโดนคีย์ต่าง ๆ จนประกอบกันเป็นเพลง Fifth Symphony ของบีโธเฟน อีกชิ้นหนึ่งมีชื่อว่า ‘Based on Balls’ ที่แต่ละจุดจะติดตั้งคีย์ของระนาดเซโลโฟนเอาไว้ เมื่อลูกบอลกลิ้งไปโดนแต่ละจุดก็จะเกิดเสียงดนตรีที่ประกอบกันเป็นเพลง ‘Take Me Out to the Ballgame’

จอร์จ โรดส์ เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1926 พ่อของเขาเป็นหมอ ส่วนแม่เป็นแม่บ้านที่มีความสนใจในเรื่องของศิลปะ โรดส์เติบโตมาพร้อมกับความสนใจในกลไกภายในตัวนาฬิกา ก่อนที่เขาจะหันมาสนใจการวาดภาพ หลังกลับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาวิศวกร ก่อนจะเรียนต่อด้านศิลปะที่ Art Institute of Chicago แล้วไปศึกษาต่อที่ปารีส ที่ที่เขาได้เรียนรู้ศิลปะการพับกระดาษโอริกามิของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีอิทธิพลสำคัญต่อการทำงานประติมากรรมโครงสร้างของเขา

ในขณะที่พยายามปูหนทางสู่การเป็นจิตรกร โรดส์ก็รับเงินวาดภาพประกอบทางการแพทย์เพื่อหาเลี้ยงชีพ กระทั่งเขาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับประติมากรชาวดัตช์ ฮันส์ ฟาน เดอ โบเวนแคมป์ ที่ทำผลงานประติมากรรมกลางแจ้งที่เล่นกับรูปทรงอิสระและความสมดุลย์ เขาจึงเริ่มสนใจงานประติมากรรม

เค้าลางความสำเร็จของโรดส์เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายยุค 60s เมื่อ เดวิด เบอร์แมนต์ นักธุรกิจเจ้าของห้างสรรพสินค้า และยังเป็นนักสะสมผลงานศิลปะตัวกลั่น ได้ว่าจ้างให้โรดส์สร้างประติมากรรมเพื่อไปวางไว้ในห้างสรรพสินค้าของเขาที่กระจายตัวอยู่ทั่วอเมริกา ผลงานประติมากรรมรางลูกบอลของโรดส์มากกว่าหนึ่งโหลได้เผยต่อสายตาของชาวอเมริกัน และได้ร้บความสนใจจากบรรดาเด็ก ๆ และครอบครัวที่มาใช้เวลาครอบครัวที่ห้างสรรพสินค้า และนับตั้งแต่นั้นจนถึงปี 2007 โรดส์ก็ได้สร้างประติมากรรมรางลูกบอลมากกว่า 300 ชิ้นซึ่งกระจายตัวอยู่ในสนามบิน พิพิธภัณฑ์เด็ก พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลเด็ก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ทั่วอเมริกา ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของโรดส์ที่จะพางานของเขาไปสร้างความสนุกสนานและกระตุ้นจินตนาการให้กับผู้ชมทั่วไป

“ผมอยากให้งานของผมเป็นงานที่เข้าถึงได้ ผมจะไม่ใส่อะไรที่ยากต่อการทำความเข้าใจลงไปในงาน งานของผมไม่ได้ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยใด ๆ เลย คุณจะได้เห็นการทำงานของมันแบบต่อหน้าต่อตา ทุกอย่างปรากฏให้คุณเห็นแบบไม่ปิดบัง”

หนึ่งในผลงานของโรดส์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือ 42nd Street Ballroom ที่ตั้งอยู่ที่ล็อบบีของสำนักงานขนส่งสาธารณะแห่งกรุงนิวยอร์ก เป็นโครงรางเหล็กขนาดใหญ่ที่มีลูกบิลเลียด 24 ลูกวิ่งวนบนรางไปเรื่อย ๆ และเมื่อลูกบอลวิ่งไปโดนกลไกที่ติดตั้งไว้ ก็จะมีเสียงระฆังดังออกมา

“เหตุผลง่าย ๆ ที่ทำให้ผมสร้างผลงานเหล่านี้ขึ้นมา ก็เพราะมันสนุก ตัวงานเองหาได้มีเป้าหมายอะไร มันเป็นประติมากรรมที่ ‘เล่น’ มากกว่า ‘ทำงาน’”