มองสังคมญี่ปุ่นผ่านผลงานของ Satoshi Kon อนิเมเตอร์ผู้ล่วงลับที่ทำลายเส้นแบ่งของความจริงและจินตนาการ
24 สิงหาคม - ครบรอบ 11 ปีการจากไปของ ซาโตชิ คง (Satoshi Kon) อนิเมเตอร์ระดับตำนานที่พลิกโฉมหน้าวงการอนิเมะญี่ปุ่นไปตลอดกาล
เหล่ามนุษย์มิลเลนเนียลหลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยและเติบโตมากับการซึมซับ ‘Soft Power’ จากแดนอาทิตย์อุทัยผ่านป็อปคัลเจอร์อันฟู่ฟ่า ทั้งวงการไอดอล ภาพยนตร์ วรรณกรรม หรือแม้แต่มังงะและอนิเมะ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว การยอมตื่นเช้าในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ของเด็กเจนวายในยุคนั้นจึงมีเป้าหมายเพียงเพื่อลุกขึ้นมาดูรายการจากช่องฟรีทีวี ซึ่งคอยหมุนเวียนฉายอนิเมะน้ำดีที่เต็มไปด้วยหุ่นยนต์ เกมกีฬา และสาวน้อยมากหน้าหลายตา โดยนอกจากอนิเมะเหล่านี้จะมีความสนุกสนานน่าตื่นเต้นสมวัยแล้ว มันยังมีหน้าที่เสริมสร้างจินตนาการและเป็นคติสอนใจสำหรับเด็กวัยกำลังโตด้วย
...นั่นอาจจะเป็นภาพของอนิเมะในสายตาและความเข้าใจของคนไทยทั่วไป แต่ไม่ใช่กับผลงานของซาโตชิ คง ผู้กำกับ นักเขียนบท และนักสร้างสรรค์อนิเมะมากฝีมือ ที่ผลงานแต่ละเรื่องของเขาไม่ได้ใกล้เคียงกับการเป็นความบันเทิงของเด็กเลยแม้แต่น้อย ในขณะเดียวกัน เนื้อหาที่แสนหนักอึ้งและความรุนแรงของมันกลับดูเหมือนจะถูกสร้างมาเพื่อผู้ใหญ่โดยเฉพาะเสียมากกว่า โดยแม้ว่าผลงานอนิเมะของเขาจะมีพล็อตและแนวทางการเล่าเรื่องที่หลากหลาย แต่ภาพยนตร์ขนาดยาวทั้ง 4 เรื่อง (และอีกหนึ่งทีวีซีรีส์อย่าง Paranoia Agent ในปี 2004) ของคงกลับมีลักษณะร่วมเหมือนกันบางอย่าง สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือความพร่าเลือนของจินตนาการในหัวของตัวละครเอกที่ถูกผสมปนเประหว่างโลกความเป็นจริงกับความฝันจนยากที่จะแบ่งแยกอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถ่ายทอดผ่านมุมมองของความทรงจำ ความดำมืดภายในจิตใจ และชีวิตที่แสนเศร้า รวมไปถึงการสะท้อนภาพความเสื่อมโทรมของสังคมญี่ปุ่น ที่แม้จะมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก แต่ผู้คนมากมายกลับมีความโดดเดี่ยวและโหยหาอิสรภาพที่แท้จริง
ถึงแม้คงจะจากโลกใบนี้ไปในวัยเพียง 46 ปีจากโรคมะเร็งตับอ่อน ทำให้เราไม่มีโอกาสได้รับชมผลงานเรื่องสุดท้ายของเขาอย่าง The Dreaming Machine ที่กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนา แต่เราเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า ตำนานความยิ่งใหญ่ที่เข้ามาพลิกโฉมหน้าของวงการอนิเมะไปตลอดกาลของเขาจะยังคงครองใจคนทั่วโลกไปอีกเนิ่นนาน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งมีการฉายสารคดี Satoshi Kon: The Illusionist (2021) โดยผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ปาสกาล-อเล็กซ์ แวงซองต์ (Pascal-Alex Vincent) ที่จะพาเราไปสำรวจชีวิตและผลงานของอนิเมเตอร์ชั้นครูคนนี้อีกครั้ง แต่ในระหว่างนี้ เราก็อยากชวนทุกคนมาย้อนกลับไปมองสังคมญี่ปุ่นผ่านผลงานของคงกันอีกสักครั้ง ว่าจะมีประเด็นหรือแง่มุมไหนที่เขาแอบสอดแทรกเข้ามาในผลงานภาพยนตร์ทั้ง 4 เรื่องของเขาเพื่อสะท้อนความเป็นไปของผู้คนและสังคมญี่ปุ่นบ้าง
วัฒนธรรมไอดอล และ Male Gaze ในอุตสาหกรรมบันเทิง
ภาพยนตร์เรื่อง Perfect Blue เล่าเรื่องราวของไอดอลสาวที่ตัดสินใจวางไมค์และหันมาสู่โลกการแสดงแทน แต่การตัดสินใจในครั้งนี้ของเธอกลับต้องแลกมาด้วยอะไรมากมาย ทั้งการจำใจรับบทวาบหวามเพื่อเปลี่ยนลุค การโดนติดตามและคุกคามจากบุคคลนิรนาม และการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นกับบุคคลรอบ ๆ ตัวเธอ แต่ที่น่ากลัวที่สุดคงหนีไม่พ้นจิตใจของเธอที่นับวันก็ยิ่งจะบิดเบี้ยวและดำมืดขึ้นทุกวัน
แม้จะเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่น แต่ Perfect Blue ก็มีความสมบูรณ์แบบในด้านการตัดต่อและการเล่าเรื่องในแบบทริลเลอร์เชิงจิตวิทยา จนถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับผลงานของผู้กำกับคนดังอย่าง ดาร์เรน อโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) ถึงสองเรื่องด้วยกัน ทั้ง Requiem for a Dream (2000) และ Black Swan (2010) ซึ่งนอกจาก Perfect Blue จะโดดเด่นด้วยการผสมผสานโลกความจริงและความหลอนประสาทได้อย่างลงตัวแล้ว มันยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมไอดอลและวงการบันเทิงของประเทศญี่ปุ่นที่มีความคลั่งไคล้ตัวบุคคลจนเกินพอดี อีกทั้งยังมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศผ่านสายตาแบบ ‘Male Gaze’ ที่เต็มไปด้วยความหื่นกระหาย โดยไม่คำนึงถึงการคุกคามและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย เรื่องราวชะตากรรมแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับตัวละเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาอยู่เรื่อยไป
การเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และความเจ็บปวดหลังสงคราม
Millennium Actress คือเรื่องราวของอดีตดาราสาวดาวรุ่งที่บอกลาวงการบันเทิงมาอย่างเงียบ ๆ โดยในปัจจุบัน เธอเป็นเพียงหญิงชราที่ใช้ชีวิตอย่างสันโดษไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้จะพาเราย้อนกลับไปสำรวจอดีต และเล่าเรื่องราวผ่านความทรงจำของเธอที่เต็มไปด้วยความรัก ความหวัง และการรอคอย
นอกจาก Millennium Actress จะเป็นเรื่องราวชีวิตของนักแสดงสาวคนหนึ่งแล้ว (ว่ากันว่ามันได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของเซ็ทซึโกะ ฮาระ (Setsuko Hara) นักแสดงคู่ใจของ ยาซูจิโร โอซุ (Yasujiro Ozu) ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นชั้นครูนั่นเอง) มันยังเป็นตัวแทนสะท้อนภาพวงการภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ของสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สองเป็นต้นมา แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์สังคมที่ค่อย ๆ ก้าวเดินไปข้างหน้า อย่างไรก็ดี แม้โลกรอบตัวจะไม่หยุดหมุนและยังคงพัฒนากลับไปสู่ความปกติสุข แต่ก็มิอาจทำให้ความเจ็บปวดในจิตใจบรรเทาลงได้ ยังมีอีกหลายคนที่ยังรอคอยการกลับมาของบุคคลที่ฝังอยู่ภายในจิตใจ ซึ่งไม่ว่าปลายทางของ Millennium Actress จะจบลงยังไง เราก็เชื่อว่า บางครั้งเรื่องราวการเดินทางอาจจะน่าสนใจเสียยิ่งกว่าปลายทางก็ได้
กลุ่มคนชายขอบของสังคม
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเหล่าคนไร้บ้านมาพบกับเด็กทารกที่ถูกทิ้งไว้ข้างถนนในคืนวันคริสต์มาสอีฟ? นั่นคือพล็อตสั้น ๆ ของ Tokyo Godfathers ภาพยนตร์ที่พาเราไปรู้จักกับกลุ่มคนไร้บ้าน 3 คนที่ประกอบไปด้วยตาลุงขี้เมา สาวทรานส์ที่ฝันอยากมีลูก และเด็กสาวเจ้าปัญหาผู้หนีออกจากบ้าน ที่วันหนึ่งจับพลัดจับผลูต้องมารับบทคุณพ่อ-คุณแม่จำเป็น และร่วมกันตามหาแม่ที่แท้จริงของทารกตัวน้อยที่ถูกทิ้งไว้ในกองขยะในคืนวันคริสต์มาสอีฟ
หากมองเผิน ๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูจะเป็นผลงานที่ ‘ผ่าเหล่าผ่ากอ’ มากที่สุดในหมู่มวลภาพยนตร์ขนาดยาวทั้ง 4 เรื่องของคง เพราะแทนที่มันจะถูกเล่าออกมาในลักษณะภาพยนตร์ทริลเลอร์เชิงจิตวิทยาที่พูดถึงตัวตนที่แหลกสลายตามแนวถนัดของเขา แต่ Tokyo Godfathers กลับเป็นภาพยนตร์คอมเมดี้ชวนผจญภัยที่เต็มไปด้วยความเรียบง่ายและซื่อตรง อย่างไรก็ดี แม้มันจะเป็นภาพยนตร์ชวนอิ่มอกอิ่มใจต่างจากงานผลงานเรื่องอื่น ๆ ของเขา แต่เราก็ยังสามารถเห็นเอกลักษณ์ในการกำกับของคงได้อย่างชัดเจน ทั้งในแง่เทคนิคการตัดต่อ และการเล่าเรื่องที่มีลูกเล่นไม่ซ้ำใคร อีกทั้งยังเต็มไปด้วยประเด็นทางสังคมที่น่าถกเถียงต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของคนชายขอบที่ถูกสังคมทอดทิ้งและมองว่าเป็นเพียงภาระของส่วนรวม โดยไม่เคยหันกลับไปตั้งคำถามถึงปัญหาเชิงโครงสร้างว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงต้องเลือกเดินในเส้นทางการเป็นคนไร้บ้านในสังคมโลกาภิวัตน์ของโตเกียวที่ดูเหมือนทุกอย่างจะก้าวหน้าและเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ใหม่ ๆ นอกจากนั้น ภาพยนตร์ยังพาเราไปสำรวจถึงความกดดันตึงเครียดในสังคมญี่ปุ่นที่ทำให้เหล่าตัวละครในเรื่องต้องตัดสินใจหันเหชีวิตไปทิศทางที่ไม่คาดคิดมาก่อน
การปะทะกันของเทคโนโลยีและมนุษยชาติ
แม้ในปัจจุบัน ความฝันจะเป็นดินแดนสนทยาของใครของมันที่ต้องหลับไหลเท่านั้นถึงจะเข้าไปย่างกรายได้ แต่ในโลกอนาคตของภาพยนตร์เรื่อง Paprika ก็ได้มีการประดิษฐ์ DC Mini เครื่องมือที่จะช่วยให้จิตแพทย์สามารถเข้าไปสู่ความฝันของคนไข้เพื่อใช้รักษาอาการป่วยทางจิตได้ แต่เมื่อวันหนึ่งมันถูกขโมยไป หัวหน้าทีมวิจัยสาว (ที่ในโลกความฝันคือสาวน้อยนาม ปาปริก้า) ก็ต้องรีบออกตามหา ก่อนที่โลกแห่งความจริงและความฝันจะถูกผนวกรวมอย่างไม่มีวันหันหลังกลับ
เราเชื่ออย่างยิ่งว่า Paprika น่าจะเป็นภาพยนตร์คุ้นหูคุ้นตาของใครหลาย ๆ คน เพราะไอเดียสุดล้ำของมันก็ไปเตะตาผู้กับขวัญใจชาวไทยอย่างคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) จนนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ที่เล่นความจริงและความฝันอย่าง Inception (2010) แต่นอกจากความความล้ำยุคและไอเดียสดใหม่ของมันแล้ว Paprika ยังแสดงให้เราเห็นถึงการปะทะกันของเทคโนโลยีที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดกับความเป็นมนุษย์ที่บอบช้ำจากตัวตนและสังคมภายนอก ไม่ว่านวัตกรรมของโลกจะก้าวล้ำไปถึงไหน แต่สุดท้ายเราก็ไม่อาจหนีพ้นการนำมันมาเป็นเครื่องมือทำลายล้างกันเองได้
นอกจากประเด็นด้านสังคมโลกาภิวัตน์อย่างที่ว่าแล้ว Paprika ยังเต็มไปด้วยการสอดแทรกรายละเอียดของป็อปคัลเจอร์และวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น ถือเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์กับกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นแท้ ๆ ได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง: Out-of-sight: Satoshi Kon and His Adult-anime, The Beginner’s Guide: Satoshi Kon, Director, Anime Directors: Satoshi Kon, Dreaming about Reality, Satoshi Kon’s Otaku: The Dangers of Technological Fantasy