การมีอยู่ของยกทรงนั้นมีไปเพื่อจุดมุ่งหมายใด? เพื่อใคร? และโดยใคร? วันนี้ GroundControl จะขอใช้คอลัมน์ History of พาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจจุดเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์ปิดหัวนมที่กำลังสร้างความขัดแย้งในสังคมอย่างใหญ่หลวงตอนนี้กัน!

การมีอยู่ของยกทรงนั้นมีไปเพื่อจุดมุ่งหมายใด? เพื่อใคร? และโดยใคร? วันนี้ GroundControl จะขอใช้คอลัมน์ History of พาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจจุดเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์ปิดหัวนมที่กำลังสร้างความขัดแย้งในสังคมอย่างใหญ่หลวงตอนนี้กัน!

History of Bra: ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘ยกทรง’ ที่มาพร้อมการเมืองเรื่อง ‘หัวนม’

ฉันเชื่อว่านี่คือประสบการณ์ร่วมของเหล่าผู้หญิงและผู้มีหน้าอกทุกคน

...ทันทีที่ก้าวเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัว หลังเหน็ดเหนื่อยกับการงานหรือการเรียนมาทั้งวัน เราก็จัดแจงโยนกระเป๋าและสิ่งของสัมภาระไปทางหนึ่ง เอื้อมหยิบรีโมตเปิดแอร์หรือเปิดพัดลม สิ่งถัดมาที่เราทำ… เราเอื้อมมือไปด้านหลัง สอดมือเข้าไปในพื้นที่ใต้เสื้อ และทันทีที่เราสัมผัสกับปมของโลหะเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของร่างกายเรา เราก็ไม่รีรอที่จะปลดมันออก ดึงมือกลับมา สอดมือเข้าไปใต้แขนเสื้อ เอื้อมเข้าไปให้ถึงหัวไหล่ ใช้ปลายนิ้วเกี่ยวสายยางยืดเส้นเล็ก ๆ แล้วรูดลงมาจนสุดแขน ดึงออกมาพ้นข้อมือ ทำซ้ำกับแขนอีกข้าง แล้วเอื้อมมือเข้าไปใต้เสื้ออีกครั้ง กระชากสิ่งประดิษฐ์สุดทรมานที่เรียกว่า ‘ยกทรง’ ออกมาจากขอบเสื้อ โยนมันออกจากตัวโดยไม่สนทิศทาง แล้วนั่งแผ่หราพอใจกับอิสรภาพของกล้ามเนื้อไหล่และหน้าอกที่ได้รับการปลดปล่อย หลังถูกทรมานจากพันธนาการของยกทรงมาทั้งวัน!

นั่นคือโมเมนต์แห่งอิสรภาพที่เราเชื่อว่าคนสวมใส่บราหรือยกทรงต้องเคยประสบกันมาทั้งสิ้น และในระหว่างที่เรานั่งแผ่หรารับความสุขจากกล้ามเนื้อที่กำลังผ่อนคลายและลมเย็นที่พัดมาถูกตัวเรา เราผู้สวมใส่ยกทรงเคยครุ่นคิดกันมั้ยว่า เราใส่ยกทรงกันไปทำไม? จุดประสงค์ที่แท้จริงของยกทรงคืออะไร? และทำไมการ ‘ไม่สวมใส่ยกทรง’ ถึงถูกยกให้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ทั้งที่จริง ๆ แล้วการไม่สวมใส่ยกทรงก็ควรเป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่ไม่ต้องถูกยกระดับให้เป็นมูฟเมนต์ทางสังคมก็ได้ ยังไม่พูดถึงการเผยให้เห็นการมีอยู่ของ ‘หัวนม’ ภายใต้เสื้อผ้าที่กลับกลายเป็นเรื่องแปลกในสังคม ทั้งที่มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ล้วนแต่มีหัวนมด้วยกันทั้งสิ้น?

การมีอยู่ของยกทรงนั้นมีไปเพื่อจุดมุ่งหมายใด? เพื่อใคร? และโดยใคร? วันนี้ GroundControl จะขอใช้คอลัมน์ History of พาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจจุดเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์ปิดหัวนมที่กำลังสร้างความขัดแย้งในสังคมอย่างใหญ่หลวงตอนนี้กัน!

Brassiere > Bra

ก่อนที่เราจะนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของการสวมใส่บราของมนุษย์ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า ‘บรา’ ที่ย่อมาจากคำในภาษาฝรั่งเศส Brassiere (แปลว่า เสื้อกล้ามที่เด็กสวมใส่ไว้ใต้เสื้อ) นั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1904 เมื่อบริษัท DeBevoise Company ใช้คำนี้ในการโฆษณาขายยกทรงของแบรนด์ ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นเหมือนเสื้อซับในมากกว่าบราที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ก่อนที่ Vogue Magazine จะเริ่มใช้คำนี้ในปี 1907 และเมื่อถึงปี 1911 คำว่า ‘Brassiere’ ก็ถูกบรรจุลงในพจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ดอย่างเป็นทางการ

แล้วเราเริ่มมีการสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่โอบรับหรือปกปิดหน้าอกของผู้หญิงกันตั้งแต่เมื่อไหร่? หลักฐานการมีอยู่ของเครื่องนุ่งห่มที่ช่วยพยุงหน้าอกนั้นปรากฏตั้งแต่สมัยยุคกรีกโบราณที่เริ่มมีการใช้ผ้าลินินมาพันหน้าอกแล้วขมวดปลายไว้ที่ด้านหลัง (ซึ่งมีชื่อเรียกมากมาย ตั้งแต่ apodesmos, stēthodesmē ไปจนถึง mastodesmos แต่ทั้งหมดล้วนหมายถึงผ้าที่ใช้พันบริเวณหน้าอกเหมือนกัน) ผู้หญิงกรีกโรมันในสมัยก่อนใช้ผ้าแถบพันหน้าอกเพื่อเล่นกีฬา โดยปรากฏหลักฐานในภาพโมเสก Coronation of the Winner ที่มีอายุย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 4 ซึ่งถูกค้นพบที่เกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี และมีการพบรูปปั้นของเทพธิดากรีกมากมายที่ปรากฏผ้าแถบในลักษณะเดียวกันปกปิดช่วงบนเอาไว้ อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า การใช้ผ้าแถบพันหน้าอกนั้นเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่ผู้หญิงกรีกโรมันสมัยก่อนสวมใส่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน หรือสวมใส่เฉพาะโอกาสพิเศษ เช่น การแข่งขันเกมกีฬา หรือใส่กันเฉพาะในหมู่ผู้หญิงสูงศักดิ์ดังที่ปรากฏในรูปปั้นเทพธิดาต่าง ๆ

มีข้อสันนิษฐานว่า ในช่วงยุคกรีกจนถึงโรมันนั้น ‘หน้าอก’ ไม่ใช่ส่วนที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชายเท่ากับสะโพก เพราะการมีสะโพกผายกลมกลึงบ่งบอกนัยถึงศักยภาพในการตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตร ดังนั้นคตินิยมเรื่องความงามในยุคก่อนจึงให้ความสำคัญกับสะโพกมากกว่าขนาดของหน้าอก ด้วยเหตุนี้จึงมีการคาดการณ์กันว่า ผู้หญิงกรีกโรมันชนชั้นสูงอาจใช้ผ้าแถบรัดพันหน้าอกเพื่อให้ส่วนสะโพกดูโดดเด่นออกมา และยังมีหลักฐานปรากฏในงานเขียนของกวีโรมันโบราณอย่าง โอวิด ที่ได้เขียนเกี่ยวกับหน้าอกของผู้หญิงว่า หากหน้าอกของหญิงใดมีขนาดไม่ได้สัดส่วน ก็สู้หาผ้ามาพันปิดไปเสียจะดีกว่า!

หลักฐานแบบเป็นชิ้นเป็นอันของสิ่งที่น่าจะเป็นยกทรงยุคโบราณที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการขุดค้นพบคือ แถบผ้าลินินที่ถูกค้นพบในออสเตรีย โดยมีอายุอยู่ในช่วง 1440-1485 โดยมีลักษณะใกล้เคียงกับยกทรงในแง่ที่ว่ามีการเย็บส่วนรองรับเต้านมสองข้างหรือ ‘คัพ’ ติดกับแถบผ้า และยังมีส่วนที่เป็นสายสำหรับสอดแขนเข้าไปได้ ซึ่งต่างกับผ้าแถบที่พบในภาพโมเสกของชาวกรีกและโรมันโบราณ

นอกจากนี้ในบันทึกของ อองรี เดอ มองเดอวีลล์ (Henri de Mondeville) ศัลยแพทย์ประจำพระองค์ในพระเจ้าฟิลลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส (Philip IV of France) ก็มีการกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘Breast Bags’ (ที่น่าจะแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ถุงพยุงหน้าอก’) หรือ ‘Shirts With Bags’ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่ช่วยโอบรับหน้าอกของผู้หญิง โดยถุงพยุงหน้าอกเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในฐานะ ‘สิ่งอุจาดอนาจาร’ ที่น่าอับอาย และไม่ควรยกขึ้นมาพูดถึงในที่สาธารณะ

หลักฐานเกี่ยวกับ ‘ถุงพยุงหน้าอก’ ยังปรากฏในบทกวีเสียดสีภาษาเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 15 โดยกล่าวถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่ “เดินร่อนไปตามถนน เพื่อที่บรรดาหนุ่ม ๆ จะได้มองและชื่นชมหน้าอกอันสวยงามของเธอ อนิจจา หน้าอกเธอใหญ่เกินไป เธอจึงเย็บผ้าพยุงหน้าอกมาสวมรัดไว้ คนทั้งเมืองจะได้ไม่เอาหน้าอกมโหฬารของเธอไปนินทา”

ก่อนยกทรงคือ ‘คอร์เสต’

ผ้าแถบในยุคโบราณนั้นเป็นแค่จุดเริ่มต้นการรัดทรงและปกปิดหน้าอกของผู้หญิง แต่การมาถึงของสิ่งที่เรียกว่า ‘คอร์เสต’ ที่ผู้หญิงตะวันตกสวมใส่กันมาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) จนถึงยุคต้นศตวรรษที่ 20 นั้นคือบรรพบุรุษสายตรงของยกทรงหรือบราที่เราคุ้นหน้าค่าตากันในทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นของคอร์เสตสามารถย้อนกลับไปได้ไกลถึงยุคกลาง แต่ใช่ว่าผู้หญิงเขาสวมใส่กันหรอกนะ คนที่ใส่คอร์เสตในยุคนั้นจริง ๆ แล้วคือเหล่าผู้ชายชนชั้นสูงต่างที่จะคาดแถบรัดเอวเพื่อช่วยดันให้หลังตั้งตรงดูภูมิฐาน ตามมาตรฐานความหล่อของผู้ชายในยุคนั้น

หลักฐานการมีอยู่ของคอร์เสตสำหรับผู้หญิงที่เก่าแก่ที่สุดนั้นพบในช่วงยุค 1300s โดยคอร์เสตสำหรับผู้หญิงในยุคนั้นก็มีฟังก์ชั่นคล้ายกับคอร์เสตสำหรับผู้ชาย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยรัดให้เอวสาวดูคอดกิ่วมากกว่าจะช่วยพยุงหรือเสริมรับหน้าอก โดยคอร์เสตในยุคนั้นเรียกกันว่า ‘Cotte’ และสวมใส่ไว้ข้างนอกเสื้อผ้ากันทั้งชายและหญิง

จากการเป็นเครื่องรัดเอวนอกเสื้อ คอร์เสตกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชุดชั้นในผู้หญิงในช่วงศตวรรษที่ 16 โดยมีลักษณะเป็นเครื่องสวมแนบลำตัวที่สวมทับสลิปหรือชุดกระโปรงผ้าบางตัวยาวของผู้หญิง แล้วค่อยสวมชุดกระโปรงอีกชั้นหนึ่ง

คอร์เสตค่อย ๆ แข็งและรัดรึงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผันผ่านไป จนในที่สุดแล้วมันก็กลายเป็นสิ่งที่คล้ายกับ ‘เฝือกลำตัว’ ที่สามารถตั้งได้โดยไม่ต้องมีอะไรมาประคอง และเมื่อถึงศตวรรษที่ 17 คอร์เสตก็กลายมาเป็นชุดแยกสองชิ้น โดยชิ้นแรกเป็นส่วนท่อนบนที่เป็นโครงโลหะและมาพร้อมกับสเตย์สำหรับเก็บทรงให้เข้ารูป เรียกว่า corps ส่วนอีกชิ้นหนึ่งจะเป็นชิ้นกระโปรงสำหรับสวมท่อนล่างที่ยังเรียกว่า cotte อยู่

จนถึงศตวรรษที่ 19 คอร์เสตยังคงเป็นเครื่องจัดทรงรูปร่างและรัดเอวมากกว่าจะเป็นยกทรงที่ช่วยซัพพอร์ตหน้าอกของผู้หญิง คอร์เสตในยุคนั้นทำมาจากกระดูกปลาวาฬ (ใช่ กระดูกปลาวาฬจริง ๆ) ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้โลหะในยุคหลัง หน้าที่หลักของคอร์เสตคือการ ‘ดัด’ ให้รูปร่างของผู้หญิงเป็นรูปโคนหงาย จากเอวคอดกิ่วขึ้นไปสู่หน้าอกและไหล่อันผึ่งผาย ซึ่งยุคนี้เองที่หน้าอกของผู้หญิงถูกดันขึ้นแทนที่จะปกปิดเหมือนในยุคก่อน ซึ่งก็เป็นผลพลอยที่ตามมาจากการรัดเอวด้วยคอร์เสตนั่นเอง

แม้ว่าการรัดเอวด้วยคอร์เสตจะทำให้หน้าอกของผู้หญิงถูกดันขึ้นเหนือขอบคอเสื้ออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ใช่ว่าการเผยหน้าอกหน้าใจจนเกินงามจะเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ในยุคนั้น แม้ว่าในหนังหรือซีรีส์พีเรียด เช่น Tudors จะทำให้เราเข้าใจไปว่าผู้หญิงในราชสำนักสามารถเดินเผยเนินอกได้อย่างมั่นใจ แต่ในความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ เมื่อผู้หญิงรัดคอร์เสตจนหน้าอกล้นทะลัก พวกเธอก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Fichu’ หรือผ้าลินินที่นำมาใช้พาดปกปิดพื้นที่เนินอก แล้วสอดชายเข้าไปในเสื้อเพื่อให้ดูเรียบร้อย โดยมีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรระบุไว้ในบันทึกของชาวอังกฤษช่วงยุค 1700s ว่า อังกฤษไม่แนะนำให้ผู้หญิง ‘อวดความงาม’ ของตัวเองจนเกินตัว ไม่อย่างนั้นแล้วผู้หญิงที่ดีก็ไม่ต่างอะไรกับผู้หญิงขายบริการเลย (แหม่)

แล้วใครกันเป็นผู้ประดิษฐ์คอร์เสตสำหรับผู้หญิงขึ้นมา? ว่ากันว่าคอร์เสตที่ดูใกล้เคียงกับบราหรือยกทรงในยุคปัจจุบันมากที่สุดถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย แอร์มีนี กาโดลล์ (Herminie Cadolle) โดยสิ่งประดิษฐ์ของกาโดลล์เป็นคอร์เสตที่สวมใส่ง่ายและเป็นมิตรกับผู้หญิงมากขึ้น โดยทำออกมาเป็นสองชิ้น ชิ้นที่เป็นท่อนล่างยังคงเป็นคอร์เสตที่ช่วยรัดให้เอวกิ่วคอดยิ่งขึ้น แต่ที่พิเศษคือชิ้นท่อนบนที่เพิ่มส่วนรองรับเต้านมและเสริมสายคาดไหล่เข้ามา เพื่อให้กระชับและคล่องตัวยิ่งขึ้น

Bien-être ("the well-being") คือชื่อสิ่งประดิษฐ์ปฏิวัติแวดวงแฟชั่นของกาโดลล์ เธอเปิดตัวคอร์เสตที่เป็นเหมือนบรรพบุรุษของยกทรงสมัยใหม่นี้ในงาน Paris Exposition ปี 1889 และหลังจากเปิดตัวก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนในที่สุดทางแบรนด์ก็ได้ขายชิ้นท่อนบนแยกกับท่อนล่าง โดยเรียกส่วนท่อนบนนี้ว่า “soutien-gorge” ซึ่งยังคงเป็นคำที่ชาวฝรั่งเศสใช้เรียกยกทรงกันมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ถึงอย่างนั้นคอร์เสตก็ยังคงเป็นคอร์เสต หาใช่บรา การมาถึงของต้นแบบแรกของบรานั้นเกิดขึ่นในปี 1913 ในคืนเปิดตัวดรุณีสาวสังคมแห่งแมนแฮตตัน เด็กสาวนามว่า แมรี พบว่าเธอกำลังเผชิญกับปัญหาทางแฟชันขนานใหญ่ เมื่อเธอพบว่าชุดราตรีแสนสวยเข้ารูปตามสมัยนิยมที่เธอจะสวมในคืนเปิดตัวของเธอนั้นบางเกินไป จนทำให้เผยร่องรอยและลวดลายของคอร์เสตออกมา ด้วยกลัวว่าคืนเปิดตัวต่อสังคมชั้นสูงจะกลายเป็นเหตุหายนะ แมรีจึงได้สั่งให้คนใช้ของเธอไปนำผ้าเช็ดหน้าสองผืนและริบบอนสีชมพูมา และทั้งสองก็นั่งลงช่วยกันตัดเย็บสิ่งที่จะกลายเป็นยกทรงหรือบราแบบที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

บราตัวแรกของโลกโดยแมรีมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับบิกินีในปัจจุบัน โดยเธอได้ใช้ผ้าเช็ดหน้าทั้งสองผืนมาเย็บติดกันให้กลายเป็นส่วนรองรับเต้านม แล้วเย็บริบบินติดเข้าไปเพื่อใช้เป็นสายคล้องไปผูกกันไว้ที่ด้านหลัง และแม้ว่ายกทรงตัวต้นแบบของแมรีจะไม่ได้ช่วยเสริมสรีระและเอวคอดกิ่วแบบคอร์เสต แต่เธอกลับพบความสบายแสนคล่องตัวจากการที่ไม่ต้องถูกรัดไว้ในโครงกระดูกปลาวาฬของคอร์เสต โดยแมรีได้บันทึกความรู้สึกจากการที่ได้ลองสวมบราตัวแรกของโลกว่า “รู้สึกดีเยี่ยม ฉันสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี ถึงจะรู้สึกเหมือนกำลังเปลือย แต่เมื่อมองในกระจกก็เห็นว่าหน้าอกของฉันราบและเรียบร้อยดี”

เมื่อสาว ๆ คนอื่น ๆ ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ของแมรีในห้องแต่งตัว พวกเธอก็ตื่นเต้นและแสดงความจำนงที่จะขอซื้อบราของแมรีมาสวมบ้าง นั่นจึงเป็นที่มาของกิจการยกทรงสมัยใหม่สำหรับผู้หญิงของแมรีที่เริ่มต้นจากการขายให้เพื่อนเพียงไม่กี่คนในแวดวงสังคมชั้นสูง ก่อนที่อีกเก้าเดือนถัดมา เธอจะเปิดตัวแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ‘Backless Brassiere’ หรือชุดชั้นในที่ไม่มีส่วนด้านหลัง ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1914

กิจการบราสมัยใหม่ของแมรีไม่ได้รับความนิยมอย่างพุ่งพรวดดังที่คาดการณ์ไว้ เพราะผู้หญิงในยุคนั้นก็ยังคงคุ้นเคยกับคอร์เสตที่สวมใส่กันมานานหลายศตวรรษมากกว่า ทำให้เธอตัดสินใจขายธุรกิจบราไร้หลังของเธอให้กับ Warner Brothers Corset Co. ในราคา 1,500 ดอลลาร์ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นจำนวนเงินที่มากพอดูในสมัยนั้น แต่ก็ไม่อาจทัดเทียมกับกำไรมหาศาลที่ Warner Brothers Corset Co. จะได้รับจากธุรกิจขายบราในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

Bra At War

การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นจุดเปลี่ยนที่กลายมาเป็นโลกอย่างที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้ หนึ่งในนั้นคือการปลดปล่อยผู้หญิงจากคอร์เสตและเครื่องรัดทรงอันแสนทรมาน โดยในปี 1917 คณะกรรมการอุตสาหกรรมสงครามแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศขอความร่วมมือให้ผู้หญิงเลิกซื้อคอร์เสตที่ทำมาจากเหล็ก เนื่องจากรัฐบาลต้องการโลหะไปใช้ในการผลิตอุปกรณ์สงคราม โดยว่ากันว่าการที่ผู้หญิงอเมริกันเลิกซื้อคอร์เสตในยุคนั้นทำให้อเมริกามีเหล็กเพิ่มขึ้นถึง 28,000 ปอนด์ ซึ่งสามารถสร้างเรือรบได้ถึงสองลำ!

เมื่อสงครามจบลง ก็ไม่มีผู้หญิงคนไหนคิดถึงคอร์เสตอีกต่อไป สภาพสังคมหลังสงครามโลกได้ปลดปล่อยผู้หญิงไม่ใช่แค่จากคอร์เสต แต่ยังปลดปล่อยผู้หญิงให้ออกจากพื้นที่บ้าน ในช่วงที่ผู้ชายไปรบในสงคราม ผู้หญิงกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พวกเธอออกมาทำงานนอกบ้านและเป็นแรงงานแทนที่ผู้ชาย

แม้เมื่อสงครามจบลง ผู้หญิงก็ไม่ขอกลับไปอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนอีกต่อไป และการทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้านไม่ว่าจะเป็นการไปทำงาน เรียน หรือเล่นกีฬา ล้วนทำให้พวกเธอต้องการเครื่องนุ่งห่มที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ มีน้ำหนักเบา และที่สำคัญที่สุดคือราคาเอื้อมถึงได้ ประจวบเหมาะกับที่แฟชั่นสไตล์ La Garçonne ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายแบบผู้หญิงที่มีกลิ่นอายของเสื้อผ้าแบบผู้ชายกำลังเป็นที่นิยม ผู้หญิงในยุคนี้จึงต้องการที่จะปกปิดทรวดทรงองค์เอวของตัวเองมากกว่าจะขับเน้นให้เด่นชัดเหมือนในยุคก่อน และการใช้ยกทรงที่เป็นผ้าบาง ๆ ก็ช่วยให้พวกเธอสวมใส่เสื้อผ้าสไตล์บอย ๆ ได้ดูดีกว่าการใช้คอร์เสตที่เน้นหน้าอกให้สูงขึ้น

และอย่างที่รู้กันดีว่าแฟชั่นนั้นมีขึ้นมีลง และมีการเวียนว่ายตายเกิดเป็นวัฏจักรอันไม่จบสิ้น ยุคสมัยของแฟชั่นสไตล์ผู้ชายค่อย ๆ จางหายไปพร้อมกับความนิยมในหน้าอกแบนราบ และช่างตัดเสื้อ เอนิด บิสเซตต์ (Enid Bissett) และ ไอดับ กับ วิลเลียม โรเซนธัล (Ida and William Rosenthal) ก็คือผู้ที่ปฏิวัติวงการแฟชั่นและทำให้หน้าอกหน้าใจขนาดใหญ่กลายเป็นความงามในอุดมคติ ในช่วงเวลานี้ บิสเซตต์ได้ประดิษฐ์ยกทรงที่ช่วยเสริมทรงให้หน้าอกของผู้หญิงดูโดดเด่นขึ้นมา โดยได้สร้างส่วนคัพแบบพิเศษที่ช่วยยกหน้าอกทั้งสองข้างขึ้น ก่อนที่โรเซนทัลจะเข้ามาช่วยปรับปรุงแบบให้ดูเนียบและใช้ได้จริงมากขึ้น จนทำให้เกิด Maiden Form Brassiere แบรนด์ขายบราที่ช่วยเสริมและขับเน้นขนาดหน้าอกแบรนด์แรกของโลก ซึ่งยังคงเปิดทำการมาจนถึงทุกวันนี้

บราของ Maiden Form Brassiere ในยุคแรกนั้นจะเป็นบราที่เย็บติดเข้าไปพร้อมกับชุด แต่ก็มีเสียงเรียกร้องจากบรรดาลูกค้าที่ขอให้ขายแบบแยกชิ้น จนกลายเป็นที่มาของบราที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ ซึ่งทั้งสามผู้ก่อตั้ง Maiden Form Brassiere ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้คิดค้นระบบคัพไซส์ยกทรงที่สาว ๆ คุ้นเคยกันดี โดยในตอนแรกนั้นบราจาก Maiden Form Brassiere ก็เหมือนกับบราจากห้องเสื้ออื่น ๆ ที่ทำจากผ้ายืดที่ออกแบบมาสำหรับหนึ่งไซส์ใส่ได้ทุกคน แต่ในที่สุดทั้งสามก็เริ่มทำไซส์อื่น ๆ ออกมา คือ A, B, C ไปจนถึง D โดยแต่ละคัพแทนจำนวน ‘ออนซ์’ หรือมวลของเต้านมที่สามารถรองรับได้ A-cup คือ 8oz.; B คือ 13 oz., C คือ 21 oz. และ D cups คือ 27 oz

บราในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเป็นบรายุคแรกที่ทำหน้าที่ในการขับเน้นหน้าอกของผู้หญิง จากเดิมในประวัติศาสตร์ที่ทั้งผ้าแถบและคอร์เสตล้วนทำหน้าที่อำพรางหน้าอกเพื่อไม่ให้สะดุดตา สงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเป็นทั้งหายนะและการปลดปล่อยผู้หญิงไปพร้อม ๆ กัน

Hollywood Bra

ถึงตอนนี้หน้าอกหน้าใจอันตั้งตระหง่านก็ได้กลายเป็นมาตรฐานความงามของโลกตะวันตกไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุครุ่งเรืองของฮอลลีวูดที่อเมริกากลายเป็นผู้ส่งออกสื่อความบันเทิงที่ไปพร้อมกับภาพผู้หญิงอเมริกันในอุดมคติ ภาพของ เจน รัสเซล ในหนัง The Outlaw (1941) ที่โดดเด่นทะลุจอด้วยหน้าอกชี้ยอดแหลมกลายเป็นภาพผู้หญิงในฝันของผู้ชายทั่วโลก ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังภาพแฟนตาซีของชายหนุ่มก็คือ ฮาเวิร์ด ฮิวจ์ส นักธุรกิจหนุ่มผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นดังราชาของฮอลลีวูด ฮิวจ์สตั้งใจเลือกบรายอดแหลมนี้ให้รัสเซลใส่ แถมยังพิถีพิถันถึงขั้นว่าความสูงของยอดนั้นจะต้องอยู่ที่ 5 กับอีก ⅕ นิ้วเท่านั้น!

และนับตั้งแต่นั้นมา บราทรงโคนแหลมเฟี้ยวนี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงอเมริกันยุคฮอลีวูด แต่นอกเหนือจากการเป็นแฟชั่นที่ปรากฏบนภาพยนตร์ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อสังคมที่สุดในยุคนั้น แต่การสวมบราทรงแหลมเฟี้ยวทะลุเสื้อผ้านี้ยังเป็นเหมือนเครื่องช่วยยืนยันว่าผู้หญิงสวมบรากันจริง ๆ ในช่วงเวลานี้มีหลายหน่วยงานที่ออกคำสั่งให้ผู้หญิงต้องสวมบราในที่ทำงาน บางที่ถึงขั้นบรรจุบราให้เป็นส่วนหนึ่งของชุดยูนิฟอร์ม จนถึงขั้นที่รัฐบาลอเมริกันได้ออกประกาศในช่วงสงครามว่า ผู้หญิงที่ออกไปทำงานนอกบ้านต้องสวมบราด้วย!

1960s: หัวนมของฉันไม่ได้หนักหัวใคร

เมื่อถึงยุค 60s ซึ่งเป็นยุคแห่งการแสวงหาเสรีภาพทั้งด้านการเมือง ความรัก และเซ็กซ์ บราก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่เพศหญิงจากสังคมชายเป็นใหญ่ โดยเหตุการณ์ที่ถือเป็นการจุดกระแสปลดแอกผู้หญิงจากบราที่สำคัญที่สุดก็คือ เหตุการณ์ประท้วงที่งานประกวดมิสอเมริกาในปี 1969 ที่เหล่าเฟมินิสต์จากกลุ่ม New York Radical Women ได้พากันมารวมตัวกันที่งานเพื่อโยนสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ผู้หญิงและ ‘เครื่องทรมานผู้หญิง’ ไม่ว่าจะเป็น ขนตาปลอม, ไม้ถูพื้น และบราลงในถังขยะ เพื่อเป็นการประกาศการปลดปล่อยผู้หญิงจากกรอบและอุดมคติที่สังคมคาดหวัง ซึ่งเหตุการณ์การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มเฟมินิสต์ในครั้งนั้นก็นำมาสู่กระแสการเผาบราที่เกิดขึ้นตามมาอีกมากมายในสหรัฐอเมริกา

1960s ยังเป็นยุคที่ผู้คนเริ่มหันเหนความสนใจจากบรามาสู่ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงนั่นก็คือ ‘หัวนม’ กันมากขึ้น ดีไซเนอร์และศิลปินในยุคนี้ต่างสนุกกับการออกแบบที่ท้าทายเส้นแบ่งเรื่องความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของสังคม หนึ่งในนั้นคือ รูดี เกิร์นริช (Rudi Gernreich) ดีไซเนอร์ผู้ใช้แฟชั่นในการปลดปล่อยผู้หญิงออกจากพันธนาการของยกทรงกับแผ่นเสริมจัดทรงหน้าอก กับผลงานการออกแบบ No-bra Bra หรือบราโนบรา (เอ๊ะ) ซึ่งเป็นบราที่ผลิตมาจากผ้าไนลอนบางเบาที่ปราศจากการโอบอุ้มหรือยกกระชับใด ๆ ปล่อยให้รูปทรงของหน้าอกถูกนำเสนอออกไปอย่างเป็นธรรมชาติ รวมไปถึง Monokini ผลงานการออกแบบชุดว่ายน้ำสุดอื้อฉาวที่สายของชุดว่ายน้ำพาดผ่านกลางอก ทิ้งให้เต้านมทั้งสองข้างเปิดเปลือยอล่างฉ่างแบบหาได้แคร์สังคม!

ผลงานการออกแบบของเกิร์นริชสร้างความสั่นสะเทือนให้สังคมและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงมากมาย หนึ่งในนั้นคือตัวแม่แห่งยุคอย่าง เพกกี มอฟฟิตต์ (Peggy Moffit) ไปจนถึง ทวิกกี (Twiggy) เมื่อบวกกับกระแส Free Love ซึ่งเป็นการทำลายทุกข้อกฎเกณฑ์ที่เคยเหนี่ยวรั้งคนในสังคมจากอิสรภาพแม้กระทั่งอิสรภาพเหนือพื้นที่ร่างกายตัวเอง ในช่วงยุค 1970s ‘บรา’ ที่บัดนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเครื่องพันธนาการผู้หญิง ก็ถูกประกาศให้เป็น ‘สิ่งประดิษฐ์อันน่าขัน’ ("Bras are a ludicrous invention" - Germaine Greer) โดยเหล่าเฟมินิสต์ทั่วอเมริกา

The Madonna Period

การตั้งคำถามกับบรายังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องของเฟมินิสต์หัวก้าวหน้าและเหล่าฮิปปี กระทั่งผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า มาดอนนา หยิบบราทรงกรวยแหลมของ Jean-Paul Gaultier มาสวมไว้ข้างนอกแล้วก้าวขึ้นไปปรากฏตัวบนเวทีต่อหน้าผู้ชมนับหมื่นใน Blond Ambition Tour คำถามเกี่ยวกับเรื่องบราก็ได้กลายเป็นประเด็นที่ผู้หญิงสมัยใหม่ทุกคนสามารถลุกขึ้นมาตั้งคำถามหรือสะบัดบราทิ้งได้!

ไม่ใช่แค่การตั้งคำถามเรื่องบรา แต่ชุดเต้าแหลมที่ดูราวกับเกราะนักรบของมาตอนนาในครั้งนั้นยังท้าทายเส้นแบ่งระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิง ซึ่งทำให้คำถามไปไกลกว่าแค่เรื่องเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่เป็นการตั้งคำถามว่าเราจะสามารถปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริงจากกรอบของสังคมได้อย่างไร คอสตูมของมาดอนนาในครั้งนั้นคือการท้าทายและเย้ยหยันมากกว่าจะห้ำหั่นหาข้อสรุป

เหนือสิ่งอื่นใด บรายอดแหลมของมาดอนนาพาผู้คนไปตั้งคำถามที่ไกลกว่าแค่เรื่องบรา ...หรือที่จริงแล้วบราก็อาจเป็นแค่ผลผลิตของสิ่งที่ครอบงำสังคมที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น สิ่งนั้นคืออะไร… เราว่าทุกคนที่ต้องฝืนใจใส่บราย่อมรู้คำตอบกันดี