Gerhard Richter “ที่ใดมีเผด็จการ ที่นั่นไร้ซึ่งศิลปะ”
ในปี 1961 เพียงสองเดือนก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะล่มสลาย ศิลปินจากเยอรมันฝั่งตะวันออกคนหนึ่งตัดสินใจหลบหนีจากเยอรมันตะวันออก ข้ามมายังฝั่งตะวันตก ทิ้งบ้านเกิดและผลงานภาพจิตรกรรมฝาผนังอันยิ่งใหญ่ที่เขาวาดภายใต้คำสั่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีตะวันออกไว้ข้างหลัง ...เพื่อแสวงหาอิสระภาพแห่งงานศิลปะที่เขาแสวงหามาตลอดทั้งชีวิต
“ศิลปะต้องการอิสรภาพ ที่ใดมีเผด็จการ ที่นั่นไร้ซึ่งศิลปะ… ไม่มีแม้กระทั่งศิลปะชั้นเลวด้วยซ้ำ”
Gerhard Richter ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินชาวเยอรมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นศิลปินที่ยากจะจำกัดหรือจัดลงแขนงใดของศิลปะ เพราะตลอดชีวิตของ Richter เขาทำงานศิลปะแทบจะทุกแขนงและทุกสไตล์ ทั้ง Abstract Art, Photo Realism, Conceptual Art หรือ Capitalist Realism (เป็นคำเรียกศิลปะคล้าย Pop Art ในเยอรมัน แต่โดยรวมแล้วคือศิลปะที่ตอบสนองต่อกระแสบริโภคนิยมที่กำลังเบ่งบานในเยอรมนีช่วงหลังสงครามเย็น) และยังทำงานประติมากรรมรวมไปถึงงานกระจกด้วย
ความลื่นไหลบนเส้นทางศิลปะนั้นอาจจะมาจากความกระหายของ Richter ที่ต้องเติบโตขึ้นมาภายใต้การปกครองของกองทัพนาซี และเรียนรู้การทำงานศิลปะที่จำกัดขอบเขตอยู่แค่งานศิลปะที่รับเพื่อการรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี ที่ถูกปกครองด้วยสหภาพโซเวียตอีกทีหนึ่ง
Richter เกิดและเติบโตขึ้นมาในช่วงที่เยอรมันยังเป็นจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) ท่ามกลางบรรยากาศอันตึงเครียดของสังคมที่ถูกปกครองโดยพรรคนาซี ซึ่งพ่อของ Richter ที่เป็นครูก็ถูกเกณฑ์ให้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคนาซีด้วย และตัว Richter เองก็เกือบจะต้องเข้าเป็นสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ แต่โชคดีที่ในตอนนั้นเขายังอายุไม่ถึงเกณฑ์ และสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จบลงพอดี
แม้ว่าจะได้เข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะ แต่กระแสศิลปะของเยอรมันฝั่งตะวันออกในช่วงนั้นก็เน้นการทำงานศิลปะเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออกเป็นหลัก ซึ่ง Richter ก็มีผลงานที่สร้างขึ้นภายใต้คำสั่งของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออกมากมาย โดยหนึ่งในนั้นก็คือผลงานจิตรกรรมฝาผนังที่ชื่อว่า Arbeiterkampf (Workers' struggle)
การหลบหนีข้ามกำแพงมายังอีกฟากฝั่งจึงไม่ได้มีเป้าหมายแค่เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเท่านั้น แต่ Richter ที่ในเวลานั้นอายุได้ 29 ปี ก็วาดฝันว่าจะได้พบกับอิสระในการทำงานศิลปะที่ใฝ่หา แต่กระนั้น เมื่อข้ามฝั่งมาได้แล้ว Richter ก็ได้พบกับอีกด้านหนึ่งของความเป็นจริง บรรยากาศของเยอรมันฝั่งตะวันตกก็ยังถูกปกคลุมไปด้วยควันจากซากปรักหักพังของการเป็นผู้แพ้ในหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนในสังคมเยอรมันยังต้องปากกัดตีนถีบเพื่อเอาตัวรอดจากฝันร้ายของอดีตและความแร้นแค้นในปัจจุบัน ...ศิลปะจึงถูกมองว่าเป็นสิ่ง ‘ไม่จำเป็น’ ในยุคนั้น และ Richter ที่ข้ามฝั่งกำแพงมาเพื่อจะวาดรูปก็ต้องเผชิญกับคำถามในสังคมว่า ‘จะวาดรูปไปทำไม?’
แล้วเขาวาดรูปไปทำไม?
อาจเป็นเพราะการวาดรูปมอบ ‘อิสระ’ แก่เราในการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับภาพ และชวนให้เราตั้งคำถามถึงวิธีการที่เรามองโลกและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา
นั่นคือหนึ่งในเหตุผลของ Richter
และสำหรับเหตุผลอื่น ๆ… ลองเลื่อนไปสำรวจดูกันว่า ศิลปะมอบอะไรให้ศิลปินบ้าง
เพื่อแสวงหาคำตอบ
Gerhard Richter เป็นศิลปินที่ทำงานในหลายแขนง หนึ่งในนั้นคือการทำงานจิตรกรรมหรือภาพวาด และเมื่อพูดว่า Richter วาดภาพแล้ว เรายังต้องแยกย่อยประเภทของภาพที่เขาวาดลงไปอีก ซึ่งก็ไล่ไปตั้งแต่ภาพทิวทัศน์จนถึงภาพนามธรรม ซึ่ง Richter ก็เคยอธิบายว่า การที่เขาลองวาดภาพในหลากหลายรูปแบบนั้นก็เพื่อที่จะสำรวจความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในการนำเสนอภาพสะท้อนของโลก โดยเขาครุ่นคิดและสงสัยถึง ‘ความจริง’ ที่มนุษย์พยายามจะนำเสนอผ่านภาพอยู่ตลอดเวลา และการลงไปทำงานสร้างภาพวาดก็ทำให้เขาได้สำรวจวิธีการต่าง ๆ ที่มนุษย์เราใช้ในการสะท้อนความจริง
เพื่อเป็นอิสระ
ภาพที่ Ritcher วาดนั้นคือการนำเสนอสิ่งที่เขามองเห็น ซึ่งไม่ใช่แค่โลกกายภาพที่อยู่รอบตัวเขาเท่านั้น แต่เขายังนำเสนอโลกที่เขาเห็น ‘ข้างใน’ ตัวเขาลงไปบนผืนผ้าใบด้วย โดยเทคนิคหนึ่งที่เขาชอบใช้ในการวาดภาพก็คือการป้ายสีต่าง ๆ ลงไปบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ จากนั้นจึงค่อยใช้คราดสีขนาดใหญ่กวาดสีเหล่านั้น เพื่อให้เกิดเป็นภาพใหม่ โดยวินาทีสำคัญก็คือตอนที่บนผ้าใบจะปรากฏภาพวาดสุดท้ายที่คาดเดาไม่ได้เลยว่าจะออกมาแบบไหน ซึ่งกระบวนการนั้นก็คือการปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระต่อความคาดหวัง ให้ได้ลองเสี่ยง และรับผลใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง Ritcher เคยอธิบายว่า “แต่ละขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นยากขึ้นเรื่อย ๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระน้อยลง ๆ จนกระทั่งถึงตอนสุดท้ายนั่นล่ะที่ผมตระหนักว่า ไม่มีอะไรให้ผมทำต่อแล้ว และนั่นคืออิสระที่แท้จริง”
เพื่อจดจำ
หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Ritcher ก็คือซีรีส์ Birkenau ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากภาพถ่าย 4 ใบที่เขาแอบถ่ายมาจากค่าย Auschwitz ในปี 1944 ที่เขาเก็บไว้และไม่เคยกล้าหวนกลับไปมองมันอีก
กระทั่งในปี 2014 Richter จึงได้นำภาพถ่ายเหล่านั้นมาทำงาน โดยเขาได้สเก็ตช์ภาพจากรูปแต่ละใบลงบนผ้าใบ จากนั้นเขาป้ายสีทับและละเลงจนแทบมองไม่เห็นภาพสเก็ตช์ข้างใต้ เพื่อที่จะนำเสนอฉากหน้าของความโหดร้ายนั้นด้วยสีสันและฝีแปรงที่ให้ความรู้สึกรุนแรงกระแทกกระทั้น Birkenau จึงเป็นซีรีส์ผลงานของ Richter ที่ได้รับเสียงชื่นชมในฐานะผลงานที่นำเสนอความตึงเครียดที่เกิดจากสายสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างประวัติศาสตร์กับความทรงจำ แรงขับดันในการทำลายกับการกอบกู้ และความนามธรรมกับการนำเสนอความหมายได้อย่างลึกซึ้ง
อ้างอิง: Gerhard Richter, Gerhard Richter: Painting After All , Representing the Unimaginable: Gerhard Richter at the Jewish Museum