Art, Banned
ประวัติศาสตร์การแบนศิลปะ จาก Dada ถึงหอยทากสีทอง

Art, Banned ประวัติศาสตร์การแบนศิลปะ จาก Dada ถึงหอยทากสีทอง

Art, Banned ประวัติศาสตร์การแบนศิลปะ จาก Dada ถึงหอยทากสีทอง

"การแบนสะท้อนให้เห็นความกลัวของผู้มีอำนาจ กลัวแสดงความไม่รู้ของตัวเอง ยิ่งเขาแบนเรายิ่งรู้สึกว่า เขาไม่รู้ เขาไม่ฉลาด เขาคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ฉลาดเหมือนกับเขา ซึ่งเขาคิดผิด ยิ่งทำแบบนี้ยิ่งเห็นชัดว่าเขาไม่ฉลาดกว่าคนหมู่มาก"

ข้อความข้างต้นคือคำกล่าวของ ธัญญ์วาริน ศุขะพิสิทธิ์ ซึ่งก่อนจะมาโลดแล่นในสนามการเมืองในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น คือการนั่งตำแหน่ง (อดีต) นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ธัญญ์วารินคือหนึ่งในศิลปินที่มีชื่ออยู่ในลิสต์รายนามศิลปินที่มีผลงานซึ่งถูก ‘แบน’ หรือห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย จากภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ที่ตามเดิมมีกำหนดเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อปี 2553 แต่ก็มาถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ห้ามเผยแพร่ ด้วยเหตุผลว่า ‘ภาพยนตร์เรื่องนี้ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมถึงบางฉากนำเสนอภาพขององคชาต, การร่วมเพศ และการค้าประเวณี’

Insects in the Backyard ถือเป็นหนึ่งในกรณีการแบนที่มีชื่อเสียที่สุดในประวัติศาสตร์การสร้างงานศิลปะในประเทศไทย เพราะหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวการสำรวจเรื่องเพศและประเด็นครอบครัวเรื่องนี้นับเป็นหนังเรื่องแรกของไทยที่ถูกห้ามฉายหลังจากพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พุทธศักราช 2551 มีผลบังคับใช้ จนนำมาสู่กระบวนการต่อสู้ในชั้นศาลที่กินระยะเวลายาวนาน และการถกเถียงในประเด็นเรื่องสิทธิ์ในการเลือกสร้างและเสพงานสร้างสรรค์ของคนในประเทศไทย

ความน่าเศร้าใจของกรณีการแบน Insects in the Backyard แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมากว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว แต่การแบนหรือการห้ามเผยแพร่งานศิลปะก็ยังคงเกิดขึ้นในประเทศไทย และจากเหตุการณ์การ ‘ริบ’ ผลงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือ โดยน้ำมือของคณะบดีและกลุ่มคณาจารย์จากคณะแห่งการสร้างสรรค์เอง ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า 10 ปีผ่านไปนับจากการแบน Insects in the Backyard การแบนได้คืบคลานออกมานอกพื้นที่ห้องตัดของคณะเซนเซอร์ และตอนนี้ใครก็สามารถแบนหรือริบงานศิลปะได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจจากรัฐเป็นเครื่องมือในการบังคับใช้อำนาจอีกต่อไป

“ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร” วลีทองที่กำลังเป็นที่โด่งดังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ สอดคล้องกันดีกับคำกล่าวของธัญญ์วารินข้างต้น ...ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร แต่ศิลปะกำลังทำให้ใครบางคนสั่นกลัว

วันนี้ GroundControl จะขอพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์การแบนศิลปะที่เกิดขึ้นในโลก เพราะหากประวัติศาสตร์ของศิลปะเหล่านี้จะบอกอะไรเราได้บ้าง ก็คงเป็นการที่ศิลปะคือเครื่องมือในการสะท้อนความนึกคิดของประชาชนที่ทำให้ผู้มีอำนาจหวั่นกลัวที่สุด จนถึงกับต้องทำลายและกำจัดไปเพื่อไม่ให้เป็นภัยต่ออำนาจของที่ได้มาอย่างมิชอบทั้งหลาย

The Preußischer Erzengel (Prussian Archangel, 1920)

ในปี 1920 กลุ่มศิลปิน Dadaism ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานที่ชื่อว่า The Erste Internationale Dada-Messe (First International Dada Fair) ขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งนับว่าเป็นการจัดแสดงผลงานของกลุ่มศิลปิน Dadaism อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยผลงานที่ถูกนำมาจัดแสดงในงานนี้ก็มีตั้งแต่ภาพถ่าย งานจิตรกรรม งานประติมากรรม และงานวรรณกรรม รวมกันกว่า 200 ชิ้น จากศิลปินหัวก้าวหน้าทั่วยุโรป ไม่ว่าจะเป็น Hans Arp, Max Ernst, Hannah Höch, Francis Picabia, Rudolf Schlichter, Grosz, Höch หรือ Hausmann โดยสารหลักที่งานแต่ละชิ้นที่ถูกนำมาจัดแสดงในครั้งนั้นมุ่งนำเสนอ ก็คือการสะท้อนภาพสังคมอันเลวร้ายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีกองทัพ รวมไปถึงเหล่าชนชั้นนำมีอันจะกินในสังคม

หนึ่งในผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการปฐมบท Dada นานาชาติครั้งนั้นที่ก่อความอื้อฉาวที่สุดก็คือ ผลงานชื่อ The Preußischer Erzengel หรือ Prussian Archangel ของ John Heartfield และ Rudolf Schlichter ที่เป็นประติมากรรมห้อยลงมาจากเพดานหรือ Deckenplastik (Ceiling Sculpture) ขนาดเท่าคนจริง นำเสนอภาพหุ่นทหารในเครื่องแบบสีทึมเทาเปื้อนฝุ่น โดยที่ศีรษะสวมหน้ากากหมู รอบลำตัวมีป้ายข้อความพันอยู่ เขียนว่า “Vom Himmel hoch, da komm ich her” (From Heaven High I Come Down Here) ซึ่งเป็นข้อตวามจากบทสวดมนต์เก่าแก่ของศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์โดย Martin Luther และยังมีป้ายข้อความห้อยลงมา ซึ่งมีข้อความว่า “In order to understand this work of art completely, one should drill daily for twelve hours with heavily packed knapsack in full marching order in the Tempelhof Field.” (“ในการที่จะเข้าใจงานศิลปะชิ้นนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผู้ชมควรไปเดินสวนสนามโดยแบกเป้หนักอึ้งแพ็คของเต็มพิกัดที่ Tempelhof Field (สนามฝึกซ้อมรบในเบอร์ลิน) เป็นประจำทุกวัน”

ผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงเป็นการเสียดสีกองทัพเยอรมัน แต่ยังเป็นการเย้ยหยันเหล่าชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินในสังคม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในการสนับสนุนอำนาจของผู้บังคับใช้อำนาจในสังคม ซึ่งหลังจากที่ผลงานชิ้นนี้ออกเผยแพร่ Schlichter ก็ถูกควบคุมตัวไปสอบสวนฐานทำให้ชื่อเสียงของกองทัพมัวหมอง แม้ว่าในครั้งนั้นเขาจะรอดพ้นข้อกล่าวหามาได้ด้วยการแก้ต่างว่างานชิ้นนั้นเป็นมุกตลกขำขัน แต่เมื่อกองทัพนาซีและ Adolf Hitler ขึ้นมามีอำนาจ Schlichter ก็คือหนึ่งในศิลปินที่ถูกแบนไม่ให้แสดงงานศิลปะในเยอรมนี และกว่าที่เขาจะได้กลับมาทำงานศิลปะอีกครั้งก็หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

Russian Underground

หลังการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ศิลปินรัสเซียนหลาย ๆ คนก็เริ่มมองเห็นเค้าลางว่า รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่กำลังขึ้นมามีอำนาจนั้นย่อมมีแนวโน้มที่จะจำกัดเสรีภาพทางศิลปะ และในที่สุดสิ่งที่สัมผัสได้ก็กลายเป็นเรื่องจริง เมื่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ออกประกาศเรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับ Soviet art หรือ ศิลปะโซเวียต ซึ่งว่าด้วย ‘สไตล์’ ศิลปะที่จะได้รับการยอมรับและมองว่าดีงามมีคุณค่าในสายตาของรัฐบาล โดยสไตล์ศิลปะที่รัฐบาลกำหนดมานั้นก็คือลักษณะศิลปะแบบ Socialist Realism ที่นำเสนอภาพของคนชนชั้นแรงงานและการนำเสนอสารเกี่ยวกับการต่อต้านทุนนิยม โดยกระทรวงวัฒนธรรมแห่งโซเวียตหรือ The Ministry of Culture of the USSR ก็ได้ออกประกาศเป้าหมายของงานศิลปะ นั่นก็คือ “การนำเสนอภาพประวัติศาสตร์ตามความเป็นจริงในงานศิลปะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเผยแพร่อุดมการณ์เพื่อมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการให้ความรู้ด้วยจิตวิญญาณของเหล่าผู้ใช้แรงงานแห่งสังคมนิยม” นอกจากนี้ ศิลปินยังมีหน้าที่ต้อง “สร้างสรรค์งานฝีมือชั้นสูงที่สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์และสารด้านศิลปะ” ส่วนฟังก์ชั่นอื่น ๆ ของงานศิลปะทั้งการให้ความสุนทรีย์เพลินตา รวมไปถึงงานศิลปะแนวทดลองที่มุ่งแสวงหาคำตอบของศิลปินโดยไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมเช่น Surrealism นั้นถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามและเป็นสิ่งไม่จำเป็นของสังคม

การกำหนดขอบเขตของศิลปะจากรัฐบาลสังคมนิยมโซเวียตก็ทำให้ศิลปินรัสเซียแนว Avant-garde ในยุคนั้น เช่น Vasilii Kandinsky, Kazimir Malevich, Luibov Popova, El Lissitzky หรือ Vladimir Tatlin เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรง โดยพวกเขาก็เชื่อว่า ศิลปะที่สื่อสารกับผู้ชมด้วยภาษาของ Modernism นั้นคือภาษาทางศิลปะอันจริงแท้ที่จะนำไปสู่การปลดปล่อยจิตวิญญาณและสติปัญญาของผู้ชมในสังคม

ท่ามกลางการเข้มงวดตรวจขันในเรื่องการแสดงทางศิลปะ ศิลปินที่ยืนหยัดเชื่อมันในแนวทางของ Modern Art ในฐานะภาษาทางศิลปะที่จะปลดปล่อยสังคมให้เป็นอิสระในการคิด ก็ได้รวมตัวกันเพื่อทำงานศิลปะใต้ดิน จนทำให้แนวทางศิลปะในยุคนั้นกลายมาเป็นรากฐานของศิลปะแนว Conceptual Art ในเวลาต่อมา และเมื่อ Joseph Stalin เสียชีวิตลงในปี 1953 เหล่าคนทำงานศิลปะสมัยใหม่ก็เริ่มก่อขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะกันมากขึ้นโดยหัวขบวนของยุคนั้นก็คือ Nikita Alexeev, Georgy Kiesewalter, Andrei Monastyrski และ Nikolai Panitkov ที่ได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มศิลปะ Collective Actions Group (CAG) ซึ่งมุ่งทำงานศิลปะที่จะกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยถกเถียงกันในสังคม โดยงานหลักของกลุ่มก็มีตั้งแต่เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ไปจนถึง Installation Art

หนึ่งในการปะทะกันระหว่างกลุ่มศิลปินใต้ดินกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่อื้อฉาวที่สุดก็คือ เหตุการณ์ Bulldozer Exhibition ในปี 1974 ที่ตำรวจได้นำกำลังและรถตักดินเข้าทำลายกวาดล้างงานศิลปะ รวมไปถึงยังมีการใช้รถฉีดน้ำเข้าโจมตีศิลปินและผู้เข้าชมงานด้วย

Art Banned in China

ตั้งแต่ผ่านพ้นเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมจีนภายใต้การนำของ เหมาเจ๋อตง เป็นต้นมา รัฐบาลจีนก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักการแบนงานศิลปะในประเทศจีน โดยเฉพาะงานของเหล่าศิลปินที่ที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และใช้ศิลปะในการวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้อำนาจอันมิชอบของรัฐบาลสังคมนิยมจีน

ซึ่งเมื่อจะกล่าวถึงศิลปินที่ถูกแบนผลงานในประเทศจีน คงไม่พูดถึงศิลปินที่ชื่อว่า Ai Weiwei ไม่ได้ เพราะการเติบโตขึ้นมาในฐานะลูกชายของครอบครัวที่มีพ่อเป็นปัญญาชน และทั้งครอบครัวก็ถูกกวาดต้อนไปใช้ชีวิตอยู่ในค่ายใช้แรงงานของจีนกว่าหนึ่งทศวรรษ Ai Weiwei จึงมองว่า ตัวเขาเองก็เป็นศิลปะที่ใช้ในการต่อต้านอำนาจรัฐ จนนำมาสู่งานศิลปะที่เกิดจากการทุ่มเททั้งชีวิตและจิตวิญญาณเพื่อถ่ายทอดความฉ้อฉลของการบังคับใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ผลงานในปี 2008 ที่สืบเนื่องมาจากการสอบสวนกรณีทุจริตจากเหตุการณ์ตึกเรียนถล่มที่นำมาสู่การเสียชีวิตของเด็ก ๆ นับพันคน หรือในงานปี 2013 อย่าง S.A.C.R.E.D ที่เขาถ่ายทอดประสบการณ์การถูกคุมขังในห้องขังที่มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าจับตาดูอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้ตอนถ่ายหนักถ่ายเบา

ในความคิดของ Ai Weiwei กระบวนการเซนเซอร์ในจีนกลับกลายเป็นภัยที่ย้อนกลับมาลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของตัวมันเอง โดยเขาก็เคยกล่าวว่า “กระบวนการเซนเซอร์ในประเทศจีนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการจำกัดความรู้และคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งนั่นแหละคือเชื้อเพลิงชั้นดีของอุดมการณ์ในการปลดแอกทาส”

อีกหนึ่งศิลปินที่ถูกแบนผลงานในประเทศบ้านเกิดของตัวเองก็คือ Ren Hang ช่างภาพที่มีลายเซ็นเป็นการถ่ายภาพนู้ดที่ใช้ความนู้ดเป็นเครื่องมือในการเปิดเปลือยความหมายบนพื้นที่เรือนกายของมนุษย์ โดยในประเทศจีนนั้นก็มีกฎหมายห้าม เผยแพร่ภาพถ่ายนู้ดมาตั้งแต่ปี 1949 แล้ว ซึ่งผลงานของ Ren Hang ก็ถูกแบนทุกช่องทาง เว็บไซต์ส่วนตัวของเขาก็ถูกปิดกั้นในประเทศจีน และตำรวจก็เคยมาเยี่ยมเยือนงานนิทรรศการของเขามาแล้ว

ส่วน Guo Jian ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับทางการจีน โดยศิลปินจีนสัญชาติออสเตรเลียคนนี้ก็เคยเป็นทหารในกองทัพ People’s Liberation Army (PLA) ของจีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่มีกำลังพลยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งงานศิลปะของเขาก็ได้แรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์การบังคับใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมและโหดร้ายของรัฐบาลจีน โดยหนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาก็คือ The Square ในปี 2014 ที่เขาสะท้อนเหตุการณ์นองเลือดที่จตุรัสเทียนอันเหมินด้วยการสร้างประติมากรรมที่ถอดแบบมาจากจตุรัสแห่งความตายขึ้นมาจากเนื้อหมูกว่า 160 กิโลกรัม

ชะตากรรมของ Guo Jian ก็เหมือนกับศิลปินการเมืองและผู้ที่เอ่ยถึงเหตุการณ์ที่จัตุรัสทุกคน Guo Jian ถูกจำคุก และเมื่อเขาออกมา ก็ได้เดินทางจากประเทศจีนกลับไปใช้ชีวิตและทำงานศิลปะที่ประเทศออสเตรเลีย โดยครั้งหนึ่งเขาเคยประกาศว่า

“พวกเขากักขังตัวฉันได้ แต่กักขังจิตวิญญาณของฉันไม่ได้”

In Thailand

ในประเทศไทยเราเอง เรื่องการแบนหรือห้ามเผยแพร่งานศิลปะนั้นก็มีมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในกลุ่มภาพยนตร์ที่ถือเป็นสื่อสมัยใหม่เมื่อเทียบกับงานศิลปะประเภทอื่น แต่เป็นสื่อที่รัฐมุ่งจับตาเป็นพิเศษเพราะเป็นสื่อศิลปะที่ได้รับความนิยมและเข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้คนมากกว่าศิลปะชนิดใด ๆ

โดยประวัติการแบนหนังไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยปี 2519 เริ่มตั้งแต่หนังไทยชื่อว่า ทองปาน (Tongpan) หนังกึ่งสารคดีที่นำเสนอภาพชีวิตของชาวนาภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำโขง โดยย้อนกลับไปตอนนั้น ทั้งทีมงานและนักแสดงถูกยัดข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จนทำให้หนังถูกห้ามฉายไปในที่สุด

ขยับมาที่ใกล้กับยุคปัจจุบันมากขึ้น ชื่อของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ก็กลายเป็นชื่อคนทำหนังที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกองเซนเซอร์อยู่ไม่ขาด โดยหนังเรื่องแรกของเขาที่ถูกห้ามฉายก็คือ My Teacher Eats Biscuits หรือ คนกราบหมา ที่เล่าถึงลัทธิประหลาดที่ผู้คนกราบไหว้บูชาหมา และมีกำหนดการจะเข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2540 แต่ก็ถูกห้ามฉายเสียก่อน เพราะมีคนร้องเรียนว่าหนังเรื่องนี้กำลังดูถูกความศรัทธาของชาวพุทธ และถัดมาในปี 2555 หนังของสมานรัชฎ์ก็ถูกแบนอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นผลงานหนังเสียสีการเมืองที่ชื่อว่า เช็คสเปียร์ต้องตาย ที่ดัดแปลงมาจากบทละครแม็คเบ็ธของ วิลเลียม เชกสเปียร์ เล่าเรื่องราวของขุนนางที่โค่นบัลลังก์ของกษัตริย์แล้วตั้งตัวขึ้นเป็นผู้ปกครองทรราชย์ที่ใช้อำนาจกดขี่ประชาชน ในขณะที่หนังข้างต้นถูกแบนด้วยการมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แสงศตวรรษ หรือ Syndromes and a Century ของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล กลับถูกห้ามฉายและเกือบถูกยึดฟิล์มหนังในปี 2550 ด้วยเหตุผลว่า มีการนำเสนอภาพซึ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์และพระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย นอกเสียจากว่าทางผู้สร้างจะตัด 4 ฉากที่เป็นประเด็นออกไปจากหนัง คือ ฉากพระเล่นกีตาร์, หมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะปฏิบัติหน้าที่, หมอผู้ชายจูบกับแฟนสาวในโรงพยาบาล และเกิดอารมณ์จนเป้านูนขึ้นมา รวมถึงฉากพระเล่นเครื่องร่อน ซึ่งสุดท้ายแล้ว อภิชาติพงศ์ก็ยอมป้ายสีดำในฉากดังกล่าวเพื่อที่หนังจะได้จัดฉายในประเทศบ้านเกิดได้ หลังจากไปคว้าเสียงชื่นชมจากการฉายในต่างประเทศมามากมาย

และผลงานล่าสุดที่ถูกขึ้นทะเบียน ‘แบน’ ในประเทศไทย ก็คือผลงานหนังสั้นชื่อ Birth of Golden Snail หรือ กำเนิดหอยทากทอง ของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่ถูกห้ามฉายในงาน Thailand Biennale, Krabi เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา โดยหนังสั้นเรื่องนี้นำเสนอการตีความของศิลปินในเรื่องของตำนานเขาขนาบน้ำ จังหวัดกระบี่ โดยเหตุผลในการแบนก็เพราะคณะกรรมการอำนวยการมองว่า อาจมีบางฉากที่ ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย’ ตาม พรบ.ภาพยนตร์มาตรา 29 โดยหลังจากที่จุฬญาณนนท์ยืนกรานที่จะไม่ตัดฉากในหนังออก หนังก็ได้รับเลือกให้ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ ซึ่งตัวผู้กำกับก็มีความเห็นว่า “ถือเป็นการกำเนิดใหม่ของผลงานชิ้นนี้ที่ถูกทำแท้งโดยประเทศผู้ให้กำเนิด แต่กลับมีคนรับเขาไปมีชีวิตใหม่ในอีกประเทศหนึ่ง”

อ้างอิง: Art, Banned, Dada, Forbidden Art: The Postwar Russian Avant-Garde, The lost Louvre of Uzbekistan: the museum that hid art banned by Stalin, Degenerate art, Chinese Artists Who Challenged Their Country’s Censorship, ‘กำเนิดหอยทากทอง’ โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่ถูกแบนในเมืองไทย จะได้ฉายที่ Singapore Film Fest 2019