The Colors of East Meets West
เมื่อสีสันจากสองฝั่งโลกมาบรรจบกันที่ ‘อิสตันบูล’

The Colors of East Meets West เมื่อสีสันจากสองฝั่งโลกมาบรรจบกันที่ ‘อิสตันบูล’

The Colors of East Meets West เมื่อสีสันจากสองฝั่งโลกมาบรรจบกันที่ ‘อิสตันบูล’

> “สมมติว่าคนคนหนึ่งสามารถมองโลกนี้ได้เพียงครั้งเดียว คนคนนั้นควรมองไปที่อิสตันบูล” - Alphonse de Lamartine รัฐบุรุษแห่งฝรั่งเศส

เมืองทุกเมืองในโลกล้วนมีเสน่ห์และเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่ไม่มีเมืองใดในโลกเหมือนกับ ‘อิสตันบูล’ อดีตเมืองหลวงของประเทศตุรกี เมืองที่ความงามของสองฝั่งโลกคือยุโรปและเอเชียมาพบกัน ผสมผสานจนเกิดเป็นวัฒนธรรมและศิลปะเฉพาะตัวที่สะท้อนอยู่ในมัสยิดสีสันงดงามที่ตั้งเรียงรายคู่ไปกับโบสถ์คริสต์เก่าแก่ จนทำให้อิสตันบูลได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมของทวีปยุโรป’ อันสะท้อนถึงการที่เมืองแห่งนี้ได้หลอมรวมวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมายในยุโรปไว้ ณ ที่แห่งนี้

เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่า ‘กรุงโรมแห่งใหม่’ นี้เคยเป็นศูนย์กลางของจักวรรดิโบราณถึง 4 จักรวรรดิด้วยกัน คืออาณาจักรโรมัน, ไบแซนไทน์, ละติน และออตโตมัน ตลอดระยะเวลาเกือบ 1,700 ปีนับตั้งแต่เมืองแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นมา เมืองสองโลกแห่งนี้เคยเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย ทั้งการเป็นประตูสู่เส้นทางสายไหมที่เชื่อมยุโรปกับเอเชียตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของอารยธรรมมนุษย์ และการเป็นเมืองหลวงฝั่งตะวันออกของอาณาจักรคริสต์ ก่อนที่จะล่มสลายในปี 1453

การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมามากมายที่เกิดขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้ได้ทิ้งรอยประทับอันงดงามไว้ให้กับอิสตันบูล ร่องรอยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ยังคงหล่อหลอมและแทรกตัวอยู่แทบทุกตารางพื้นที่ ปรากฏตัวในรูปแบบของสีสันอันงดงามที่แต่งแต้มเมืองสองโลกแห่งนี้ ที่ผู้มาเยือนสามารถสำรวจสีสันของโลกสองใบได้ในวันเดียว

สีสันจากสองฝั่งโลกที่มาหลอมรวมกันอยู่ที่อิสตันบูลนี้มีอะไรบ้าง เราจะพาไปดูกัน

Topkapı Palace

ในช่วงจักรวรรดิออตโตมันรุ่งเรือง อดีตพระราชวังอันมลังเมลืองด้วยการประดับเพรชและทองคำแห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของสุลต่านและเหล่าข้าราชบริพานถึง 4 ศตวรรษ แม้ว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 1460 แต่พระราชวังแห่งนี้ไม่เคยว่างเว้นจากการต่อเติม และกว่าจะสร้างเสร็จและเป็นแบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ การก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้เพิ่งเสร็จสมบูรณ์จริง ๆ เมื่อราวศตวรรษที่ 19 นี้เอง

พระราชวัง Topkapı แบ่งแปลนการใช้งานออกเป็นสามส่วนคือ พระราชฐานส่วนนอก พระราชฐานส่วนใน และฮาเร็ม ซึ่งสองส่วนหลังนี้ก็คือที่ประทับส่วนพระองค์ของสุลต่าน และที่สำหรับว่าราชการแผ่นดิน ซึ่งในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของวังถูกสร้างขึ้นในลักษณะสถาปัตยกรรมอันโอ่อ่ามลังเมลืองแบบไบแซนไทน์ อาคาร Imperial Councils หรือรัฐสภากลับตกแต่งในสไตล์โรโกโกชดช้อยอ่อนหวาน ซึ่งบริเวณ Imperial Councils ตกแต่งด้วยกระเบื้องทำมือสีฟ้า แดง และปิดท้องตั้งแต่พื้นจนถึงเพดาน

หลังจักรวรรดิออตโตมันล่มสลายในปี 1932 รัฐบาลตุรกีก็ได้เปลี่ยนพระราชวังแห่งนี้ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงคอลเลกชันจากท้องพระคลัง โดยไฮไลต์อยู่ที่ ‘กริชแห่งทอปกาปิ’ (Topkapi Dagger) โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ด้ามกริชประดับด้วยมรกต ฝักทำจากทองคำประดับเพชร ตรงกลางฝัง อัญมณีและไข่มุกทำเป็นรูปกระเช้าดอกไม้, ‘เพชรของช่างทำช้อน’ (The Spoon Maker's Diamond) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก มีขนาด 86 กะรัต เจียระไนเป็นรูปกุหลาบ 49 เหลี่ยม นอกจากนี้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังจัดแสดง ‘เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรี’ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอัญเชิญมาถวายแก่สุลต่าน อับดุลฮามิดที่ 2 ในการเสด็จเจริญสัมพันธไมตรีระหว่าง ไทย - ตุรกี เมื่อปี ค.ศ. 1891 ด้วย

## Balat Neighborhood ย่าน Balat คือย่านที่ผสมผสานความเป็นอิสตันบูลไว้ได้อย่างครบถ้วนและน่าสนใจ ทั้งสีสัน ประวัติศาสตร์ และศิลปะการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองที่ผสมผสานวัฒนธรรมจากสองฝั่งโลกแห่งนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ท่ามกลางอาคารสีสันสดใสอายุกว่า 200 ปีที่แน่นขนัดเต็มสองฝั่งถนนกรวดอันเก่าแก่ ยังมีคาเฟ่และร้านอาหารใหม่ ๆ แทรกตัวอยู่ ผสมกลมกลืนบรรยากาศของโลกเก่าและโลกใหม่อย่างลงตัว ‘ย่านคนยิว’ เป็นอีกชื่อหนึ่งของ Balat พื้นที่บริเวณฝั่งยุโรปหรือด้านตะวันตกของแม่น้ำ Golden Horn แห่งนี้เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่มีทั้งชาวเติร์ก, กรีก, ยิว และละตินอาศัยอยู่ร่วมกัน จนทำให้ Balat เป็นหนึ่งในย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอิสตันบูล นอกจากสีสันอันสดใสละลานตาของอาคารบ้านช่องที่ตั้งอยู่เรียงรายบนถนนที่เป็นทางลัดชันแห่งนี้ ที่นี่ยังมีสถานที่สำคัญทางศาสนาตั้งอยู่เคียงข้างกัน ทั้งโบสถ์คริสต์, มัสยิด และโบสถ์ยิว การเดินเข้าไปในย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ใจกลางอิสตันบูลแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนการได้เดินเข้าไปในเขาวงกตแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่อาจมีแง่มุมใหม่ ๆ ของอิสตันบูลซึ่งรอให้เราเข้าไปทำความรู้จักอยู่

Spice Bazaar

ว่ากันว่าหากได้ไปเยือนกรุงอิสตันบูลแล้วไม่ได้ไปเยือน ‘ตลาดนัดเครื่องเทศ’ ล่ะก็ ถือว่ามาไม่ถึงอิสตันบูลกันเลยทีเดียว นั่นก็เพราะว่าตลาดค้าเครื่องเทศที่อยู่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1664 หรือกว่า 3 ศตวรรษนี้เป็นจุดที่เราจะได้สัมผัสกับความเป็นอิสตันบูลด้วยทุกโสตประสาทของเรา ทั้งจากสีสันอันร้อนแรงของเครื่องเทศ กลิ่นของเครื่องเทศนับร้อยนับพันชนิดที่มารวมกันอยู่ที่นี่ ไปจนถึงการได้ลองชิมรสชาติเผ็ดร้อนจากเครื่องเทศและสมุนไพรจากทั่วโลก

Mısır Çarşıs คือชื่อของตลาดเครื่องเทศที่คนตุรกีใช้เรียกกัน มีความหมายว่า ‘Egyptian Bazaar’ หรือ ‘ตลาดอียิปต์’ โดยเล่ากันว่าตลาดแห่งนี้สร้างขึ้นจากเงินภาษีที่ได้จากการนำเข้าสินค้าของคาราวานที่มาจากกรุงไคโรนั่นเอง

หากมีโอกาสมาเยือนอิสตันบูบแล้วอยากซึมซับความเป็นเมืองยุโรปที่ทีกลิ่นอายวัฒนธรรมโลกตะวันออกแบบครบทุกโสตประสาท ตลาดเครื่องเทศแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่ควรมาเช็กอินเลยล่ะ

## Hagia Sophia หนึ่งในอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก Hagia Sophia เป็นสถาปัตยกรรมไบเซนไทน์ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางกรุงอิสตันบูล สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 6 ภายใต้การกำกับของ จักรพรรดิจัสตินเนียนที่ 1 โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นโบสถ์ ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมาเป็นมัสยิดหลังจากที่กองทัพเตอร์กิชเข้ายึดครองกรุงสแตนติโนเปิลไว้ได้ในปี 1453 การเปลี่ยนจุดประสงค์การใช้งานของอาคารทำให้ตัวอาคารของ Hagia Sophia ประกอบด้วยสุเหร่าของอิสลาม และการประดับกระเบื้องโมเสคเป็นรูปเหตุการณ์ในไบเบิลตามลักษณะศิลปะในศาสนาคริสต์ Hagia Sophia จึงเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนร่องรอยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงอิสตันบูล หัวใจของ Hagia Sophia คือมหาวิหารขนาดใหญ่ที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ โดยมีโดมหลักที่มีความสูงถึง 32 เมตร แต่ไฮไลต์สำคัญของโบสถ์ที่กลายมาเป็นมัสยิดแห่งนี้ก็คือศิลปะกระเบื้องโมเสค Byzantine Iconoclasm ซึ่งเป็นลักษณะแบบดั้งเดิม สืบทอดมาจากยุคแรกของศิลปะกระเบื้องโมเสค ทั้งความแข็งแรงคนทน ความใส และเอฟเฟกต์ที่เกิดจากเทคนิคการวางกระเบื้องเป็นแนวโค้ง รวมไปถึงการใช้กระเบื้องสีทองที่ทำให้ภาพฉากของพระคริสต์นั้นดูโอ่อ่าและยิ่งใหญ่

## Bosphorus Canal ‘Keidi’ คือคำเรียกแมวในภาษาตุรกี ที่กรุงอิสตันบูลแห่งนี้ นอกจากจะมีประชากรคนอาศัยอยู่หนาแน่นถึง 15 ล้านคนแล้ว ที่นี่ยังมีประชากรแมวถึง 125,000 ตัว ซึ่งพอเห็นตัวเลขนี้แล้วเหล่าทาสแมวก็อาจจะเป็นห่วงว่ามีนายท่านไร้นายทาสที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนอย่างยากลำบากเป็นแสน ๆ ตัว แต่จะบอกว่าที่จริงแล้ว เหล่านายท่านที่เป็นเจ้าถิ่นตัวจริงของอิสตันบูลนี้เขาอยู่กันอย่างมีความสุข กินดีสมบูรณ์ แถมเบื่อ ๆ ก็สามารถไปเดินสูดอากาศบริสุทธิ์ริมคลอง Bosphorus กันเป็นประจำ! (ถ้าอยากจะไปขอลูบพุงท่าน ก็สามารถไปรอกันได้ที่นี่) เพราะชาวอิสตันบูลเขามีข้อตกลงทางใจร่วมกันว่าจะต้องดูแลเจ้าเหมียวเหล่านี้อย่างดี ประหนึ่งว่าเป็นเจ้าของแมวร่วมกัน ด้วยเหตุนี้เวลาที่เราเดินไปตามท้องถนนของกรุงอิสตันบูล เราก็จะได้เห็นชามอาหารและน้ำ ร่วมถึงบ้านทำมือที่ตั้งอยู่ตามท้องถนน เอาไว้ให้เจ้าเหมียวทั้งหลายได้พักพิงและนอนกลางวันกันด้วย! ที่จริงแล้วเจ้าเหมียวในกรุงอิสตันบูลก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สะท้อนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองสองโลกแห่งนี้ นั่นก็เพราะว่าแมวเป็นสัตว์เลี้ยงคู่วัฒนธรรมของชาวมุสลิม เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่รักสะอาด และยังช่วยรักษาความสะอาดและสุขอนามัยให้กับเจ้าของด้วยการช่วยจับหนู แม้กระทั่งในคัมภีร์หะดีษในส่วนที่ว่าด้วยชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด ก็มีการกล่าวถึงการเป็น ‘ทาสแมว’ ของท่าน ในตอนที่ท่านได้ตัดชายเสื้อของตัวเองออกเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนแมวที่กำลังนอนทับชายเสื้อของท่าน ขณะที่ท่านจะลุกขึ้นไปละหมาด หากอยากติดตามความน่ารักของเจ้าถิ่นสี่ขาแห่งกรุงอิสตันบูล เราขอแนะนำให้ลอง[กดเข้าไปส่อง](https://www.instagram.com/hagiasophiacat/ )ไอจี ซึ่งเป็นแอคเคานต์ที่รวมภาพเจ้าเหมียวสี่ขาแห่งมหาวิหาร Hagia Sophia

Sancaklar Mosque

นอกจากกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมโบราณแล้ว อิสตันบูลยังเป็นเมืองที่ผสมผสานวิถีชีวิตปัจจุบันกับสปิริตความเชื่อแบบดั้งเดิมได้อย่างน่าสนใจ หนึ่งในหลักฐานที่สะท้อนถึงสุนทรียะการอยู่ร่วมกันระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ของอิสตันบูลก็คือมัสยิด Sancaklar ที่ได้ชื่อว่าเป็นมัสยิดที่ ‘ฮิป’ ที่สุดในโลก และยังเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่สวยงามที่สุดในโลกยุคสมัยใหม่

การเชื่อมต่อภายในระหว่าง ‘ร่างกายและอารมณ์’ กับธรรมชาติคือใจความสำคัญของการออกแบบสถานที่แห่งจิตวิญญาณนี้ การออกแบบจึงเน้นการถ่ายทอด ‘โลกข้างใน’ (Inner World) ผ่านวัสดุที่ไม่ปรุงแต่ง และการใช้ของประดับเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือแสงจากธรรมชาติ พื้นที่สำหรับการทำสมาธิจึงเป็นพื้นที่โล่งโปร่งที่มีเพียงแสงอาทิตย์ลอดเข้ามาและส่องกระทบกำแพง Qiblah ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของวัน ในขณะที่ภายนอกของมัสยิดยังได้รับการออกแบบให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ทั้งกำแพงแนวนอนและแท่งหินแนวตั้งที่ทำเป็นหอคอยสุเหร่ก็ลาดเอียงและกลมกลืนไปกับพื้นที่ลาดชันตามธรรมชาติ

แต่สิ่งที่สะท้อนการปรับรับวัฒธรรมยุคใหม่อย่างชัดเจนของ Sancaklar ก็คือการที่มัสยิดแห่งนี้เปิดให้ผู้หญิงสามารถนั่งละหมาดในแถวเดียวกับผู้ชายได้ ต่างจากมัสยิดแบบดั้งเดิมที่ผู้หญิงจะต้องอยู่แถวหลัง

Mevlevi Sema Ceremony

มือขวาที่ชูขึ้นสู่ท้องฟ้า มือซ้ายที่ผายลงพื้นดิน การหมุนที่ทำให้ชุดคลุมสีขาวพลิ้วไสวเป็นวงกลม คือท่าการร่ายรำของนักบวชซูฟีในนิกายเมฟเลวี (mevlevi) หรือที่เรียกว่า ‘ชาวเดอร์วิช’ ในพิธีกรรมการเต้น Mevlevi Sema Ceremony ที่ในสายตาของนักท่องเที่ยว นี่อาจเป็นการแสดงท้องถิ่นของตุรกีที่ต้องห้ามพลาด หากแต่ที่จริงแล้วนี่คือพิธีกรรมที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณของชาวเดอร์วิช โดยที่ท่าร่ายรำนั้นคือท่าทางของการ ‘สดับ’ รับฟังเสียงจากอัลเลาะห์ผู้อยู่เบื้องบน และกำลังกระซิบประทานพรให้แก่เหล่ามนุษย์ผู้อยู่เบื้องล่าง

แม้ในความเชื่อทางศาสนาอิสลาม ดนตรีจะเป็นสิ่งต้องห้ามที่กระตุ้นความปรารถนาทางโลกในใจมนุษย์ แต่นักบวชชาวซูฟีกลับใช้การร่ายรำกับเสียงดนตรีเนิบช้าที่ค่อย ๆ เร่งจังหวะเร้าในตอนท้ายนี้เป็นหนทางในการนำยกระดับจิตวิญญาณไปสู่ทางที่สูงขึ้น ยิ่งจังหวะเร่งเร้าให้นักบวชหมุนตัวเร็วขึ้น พวกเขาก็ยิ่งเข้าสู่สภาะที่เข้าใกล้กับพระเจ้ามากยิ่งขึ้น