สำรวจตัวตนไปกับปรัชญาญี่ปุ่น หัวใจหลักของภาพยนตร์ Ghibli
การเดินทางกว่า 36 ปี ของสตูดิโออนิเมชันเอเชียที่โดดเด่นด้วยลายเส้นเรียบง่ายแต่เนียบทุกรายละเอียด คือเครื่องการันตีคุณภาพและความตั้งใจของ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) จนเกิดเป็นผลงานที่สร้างความประทับใจไม่รู้ลืมมานับไม่ถ้วน นำพาสตูดิโอแอนิเมชันเล็ก ๆ ที่ชื่อ Ghibli แห่งนี้ ก้าวสู่สายตาของผู้ชมทั่วโลก
หัวใจสำคัญนอกเหนือจากลายเส้นอันโดดเด่น ที่ทำให้ผลงานของจิบลิสามารถดึงความสนจากผู้คนจำนวนมากได้ก็คือ ความเข้าใจแก่นของมนุษย์และธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นผลมาจากการหลอมรวมจิตวิญญาณและความเชื่อแบบญี่ปุ่นที่ให้ความเคารพต่อสิ่งรอบตัวอย่างอ่อนน้อม ไม่เว้นแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ ที่คนทั่วไปอาจมองข้าม การผูกโยงธรรมชาติเข้ากับชีวิต จึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่มักอยู่คู่กับภาพยนตร์ของจิบลิเสมอ
ยิ่งไปกว่านั้น มิยาซากิท้าทายกรอบสังคมด้วยการมอบภาพลักษณ์ของเด็กผู้หญิงที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ต่างจากแอนิเมชันเรื่องอื่นที่มักใช้มุมมองของผู้ชายเป็นหลัก สะท้อนถึงปรัชญาตะวันออกที่ให้ความสำคัญกับแม่ผู้ให้กำเนิดชีวิต รวมถึงสะท้อนความผูกพันที่มิยาซากิมีต่อแม่ของเขาด้วยเช่นกัน
จากรายละเอียดทั้งหมดนี้ คือบทสรุปของภาพยนตร์จิบลิ ที่เปรียบชีวิตเราเป็นเหมือนหนึ่งในผลผลิตของธรรมชาติ ภาพยนตร์เกือบทุกเรื่องของจิบลิ จึงบอกเล่าเรื่องราวคนที่แสนธรรมดา มีอารมณ์ในหลายมิติ แต่ก็แฝงด้วยความเข้มแข็งในตัวเองเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ด้วยหวังว่าภาพยนตร์ที่พวกเขาตั้งใจสรรสร้างขึ้น จะสามารถเยียวยาบาดแผลในใจและสร้างแรงผลักดันอันเข้มแข็งให้แก่ผู้คนในทางใดทางหนึ่ง
หลังจากที่เราตามไปปักหมุดสถานที่ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ของจิบลิ พร้อมกับสำรวจปรัชญาความคิดแบบตะวันออกกันมาแล้ว GroundControl ขอพาทุกคนมาเก็บตกละเอียดยิบย่อยกันอีกครั้ง เพื่อสำรวจจิตวิญญาณที่ซ่อนอยู่ในตัวเรากันมากยิ่งขึ้น
มิติวิญญาณผ่านมุมมองของจิบลิใน Spirited away
จะทำอย่างไร ถ้าเราต้องเผชิญกับโจทย์สุดหินบนโลกที่แสนประหลาดนี้เพียงลำพัง?
หลังจากก้าวตามหลังพ่อแม่ผ่านอุโมงค์ปริศนาเข้ามายังมิติโลกคู่ขนาน ทำให้ ชิฮิโระ เด็กหญิงที่สุดแสนธรรมดาผู้มาพร้อมความกลัวเต็มพิกัด ต้องพบเจอกับบททดสอบครั้งใหญ่ด้วยการแลกชื่อจริงของตัวเองกับการเข้าไปเป็นพนักงานในโรงอาบน้ำ เพื่อหาทางคลายคำสาปให้พ่อแม่และกลับไปยังที่ที่เธอจากมาให้ได้
ด้วยพล็อตเรื่องที่อธิบายถึงปรัชญาความเชื่อแบบเอเชีย สอดแทรกเรื่องเล่าและวัฒนธรรมเข้าไปในทุกจุดของภาพยนตร์ ทำให้แอนิเมชันเรื่องนี้ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ชาวตะวันตกจนกลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหม่ การันตีด้วยรางวัลมากมาย โดยเฉพาะรางวัลใหญ่บนเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกอย่าง Oscar ปี 2003 นั่นเอง
ถัดจากสะพานเล็ก ๆ ที่กั้นระหว่างโลกมนุษย์และโลกแห่งวิญญาณ คือโรงอาบน้ำสีแดงหลังใหญ่ ตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า ฮายาโอะ มิยาซากิ ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบฉากมาจาก 2 สถานที่หลัก ๆ นั่นก็คือ ‘Dogo Onsen’ หนึ่งในสามออนเซ็นที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น มีอายุมากกว่า 3,000 ปี และ ‘Edo-Tokyo Open Air Architectural Museum’ พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมกลางแจ้งที่ยกเอาอาคารเก่าแก่ทั้งหลังมาไว้รวมกัน เขาถอดเอาองค์ประกอบทั้งสถาปัตยกรรมที่อยู่สองฟากฝั่งทางเดิน รวมถึงการตกแต่งอย่างชั้นเก็บของในร้านหนังสือ ก็ถูกหยิบยืมมาเป็นต้นแบบของตู้เก็บสมุนไพรของคุณลุงคามาจิด้วยเช่นกัน
จากอาคารมุงหลังคาที่ห้อยโคมแดงระย้าตามทาง ไปจนถึงการตกแต่งสวนและการออกแบบภายในตัวอาคารโรงอาบน้ำที่เต็มไปด้วยลวดลายภาพวาดแบบญี่ปุ่นตามประตูบานเลื่อน สะท้อนความญี่ปุ่นออกมาอย่างเด่นชัด นำไปสู่การสอดแทรกปรัชญาดั้งเดิมอันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติและการเคารพในทุกสิ่งรอบตัว เริ่มตั้งแต่รูปปั้นโดโซจิน หินแกะสลักที่เต็มไปด้วยตะไคร่ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพผู้รักษาพรมแดนและปกป้องคุ้มครองนักเดินทาง เปรียบเหมือนการเกริ่นนำถึงการเดินทางครั้งใหม่ แม้ว่าชิฮิโระจะไม่ได้สนใจ และผู้ชมก็อาจจะไม่ได้ต้องตาต้องใจกับรูปปั้นโดโซจินมากนัก แต่ส่ิงที่เราหลงลืมไปนี้ ก็อาจจะส่งคำอวยพรให้เราอยู่ในที่ไหนสักแห่งก็เป็นได้
ปรัชญาแบบญี่ปุ่นที่มักให้ค่าสิ่งรอบตัว ส่งผลถึงการออกแบบตัวละครเล็ก ๆ อย่างเจ้าฝุ่น ซุซุวาตาริ ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฝุ่นที่เกลือกกลิ้งไปตามพื้นอย่างไร้ประโยชน์ แต่พวกเขายังเป็นแรงงานสำคัญในการส่งมอบเชื้อเพลิงให้โรงอาบน้ำแห่งนี้อีกด้วย
นอกจากสัญลักษณ์แทนคุณค่าอันดีงามแล้ว มิยาซากิก็ได้ใส่ตัวแทนสิ่งไม่ดีหรือความน่ารังเกียจเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคมปัจจุบัน อย่างพ่อแม่ของชิฮิโระที่ตะกละจนกลายเป็นหมู ซึ่งหมูก็เปรียบเหมือนตัวแทนความโลภในภาพยนตร์ของมิยาซากิอีกหลายเรื่อง นอกจากนี้ตัว Kaonashi หรือผีไร้หน้า ที่เรามองแว๊บแรกอาจคิดว่าไร้พิษสง แท้จริงแล้วเขาก็เหมือนกับตัวแทนของคนที่ไม่มีตัวตนในสังคม เมื่อรู้ว่าการเสกทองจะทำให้ผู้คนในโรงอาบน้ำยอมรับ เขาเลยจำเป็นต้องกินอาหารอย่างบ้าคลั่งเพื่อให้ตนสามารถคลายทองออกมาให้ได้มากที่สุด นำมาสู่ตอนท้ายที่เขาค้นพบว่าการได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงไม่ใช้การแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งของหรือเงินทอง แต่คือการเห็นคุณค่าในตัวตนของกันและกันอย่างแท้จริงนั่นเอง
The Wind Rises การมีชีวิตอยู่ท้าแรงโชคชะตาเช่นปีกของเครื่องบิน
ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะอิงจากชีวประวัติของวิศวกรการบินที่ชื่อ Jiro Komikoshi ผู้ซึ่งไม่เกี่ยวข้องทางสายเลือดใด ๆ กับมิยาซากิ แต่ก็อาจพูดได้ว่า The Wind Rises คือภาพยนตร์ที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของ ฮายาโอะ มิยาซากิ มากท่ีสุด
ความสับสนวุ่นวายของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติแผ่นดินไหวในคันโต ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการสู้รบในสงคราม ทำให้ชีวิตผู้คนต้องตกอยู่ในสภาวะลำบากยากเข็ญ มิยาซากิเติบโตมาในครอบครัวที่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินรับใช้สงคราม และด้วยความรู้สึกที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงนี้ กลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในใจมิยาซากิ ทำให้เขาเกลียดสงครามเป็นอย่างมาก และมักจะสื่อสารซ่อนเรื่องพิษผลกระทบของสงครามไว้ในภาพยนตร์ของเขา
แต่ไม่ว่ามิยาซากิจะต่อต้านความรุนแรงขนาดไหน ความรักและความผูกพันที่เขามีต่อเครื่องบินก็ยังปรากฏอยู่ในหนังของเขาเช่นเดียวกัน เห็นได้จากองค์ประกอบในภาพยนตร์แทบทุกเรื่องที่ล้วนเกี่ยวข้องกับการบิน และลม ฟ้า อากาศทั้งสิ้น ที่มาของชื่อ Ghibli เอง ก็มาจากชื่อเครื่องบินรบ Caproni Ca 309 Ghibli และคำว่าจิบลิในภาษาญี่ปุ่นยังมีความหมายสุดลึกซึ้งว่า ‘สายลมร้อนที่พัดผ่านทะเลทรายซาฮาร่า’ อีกด้วย
ถึงแม้บรรยากาศบางฉากของเรื่องจะชวนให้นึกถึงประเทศแถบตะวันตก ทว่ามิยาซากิกลับได้รับแรงบันดาลใจจาก 2 สถานที่หลักในญี่ปุ่น นั่นคือ Kamikochi Imperial Hotel โรงแรมไม้เก่าแก่ท่ามกลางบรรยากาศป่าเขา และ Mampei Hotel โรงแรมอายุกว่า 130 ปี ที่รายล้อมด้วยธรรมชาติอันงดงาม สำหรับการออกแบบสถานที่แห่งช่วงเวลารักแรกพบอันแสนหวาน ก่อนจะนำพาพระนางของเรื่องไปสู่การจากลา เครื่องบินกระดาษอาจเปรียบเหมือนหญิงสาวผู้อ่อนแอ พร้อมจะพัดปลิวไปตามกระแสลม ส่วนปีกเครื่องบินรบของชายหนุ่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน ก็คือตัวแทนของการยืนหยัดต่อสู้ท้าแรงลมและโชคชะตาอย่างแข็งแกร่งนั่นเอง
‘ลมพัดแรงกล้า เราจึงอยู่ท้าแรงลม’ - พอล วาเลรี
คำพูดของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ประโยคที่ให้กำลังใจแก่วิศวกรหนุ่ม เพื่อให้เขาสร้างเครื่องบินรบจนสำเร็จเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำให้มิยาซากิให้ก้าวข้ามผ่านความรู้สึกผิดต่อช่วงเวลาอันโหดร้ายในอดีต และมีชีวิตต่อไปเพื่อผลิตผลงานภาพยนตร์ที่เยียวยาจิตใจให้แก่ผู้คน
Howl’s Moving Castle เพราะเธอ ฉันจึงกล้าเผชิญหน้ากับความจริง
หลังจากเล่าเรื่องราวในญี่ปุ่นมามาก ฮายาโอะ มิยาซากิ ก็ออกค้นหาเรื่องราวแรงบันดาลใจจากต่างแดน จนได้พบกับนิยายแฟนตาซี Howl’s Moving Castle แต่งโดย Diana Wynne Jones ที่ขยายขอบเขตจินตนาการของมิยาซากิให้ไปไกลกว่าเดิม
มิยาซากิรวมเอาเนื้อเรื่องในนิยายมาดัดแปลงใหม่เพื่อให้เข้ากับบริบทของเอเชียที่เขาคุ้นเคยโดยยึดโยงแก่นหลักของเรื่องเข้ากับความเชื่อและปรัชญาในแบบญี่ปุ่นที่ให้ความหมายคำว่า ‘บ้าน’ ที่เป็นดั่ง ‘จิตใจ’ ของผู้คน การเดินทางของ ‘โซฟี’ หญิงสาวผู้ต้องคำสาปให้กลายเป็นคนแก่ มายังบ้านเก่าหลังใหญ่รูปทรงประหลาดที่มาพร้อมปล่องควันดำและขาอันง่อนแง่น ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของ ‘ฮาวล์’ พ่อมดหนุ่มหล่อผู้ไร้หัวใจ จึงอาจเปรียบได้กับการเข้ามาสู่ชีวิตจิตใจของฮาวล์ เพื่อปลดล็อคด้านมืดที่ฝังลึกอยู่ใต้จิตสำนึกเพื่อให้เขาได้เป็นอิสระ
เพื่อให้มีบรรยากาศความคล้ายคลึงกับนิยายต้นแบบ ทีมงานจิบลิก็ออกเดินทางไปยังเมือง Colmar และ Riquewihr ประเทศฝรั่งเศส เพื่อศึกษาการสร้างอาคารบ้านเรือนแบบยุโรป (โดยเฉพาะแบบ Alsace) และสำหรับใครที่เดินทางตามรอยมาเมือง Colmar จริง ๆ ก็จะพบอาคาร Maison Pfister ที่เป็นหนึ่งในนักแสดงรับเชิญของหนัง ตั้งอยู่ที่เมืองแห่งนี้อีกด้วย
มิยาซากิสลับขั้วของสังคมที่แทนผู้ชายกับความเข้มแข็ง และผู้หญิงคือความอ่อนโยน ด้วยการออกแบบให้ ฮาวล์ เป็นพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่ แต่กลับแฝงไปด้วยความสับสน ยุ่งเหยิง ยึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอก และมีบางสิ่งเก็บงำอยู่ภายในจิตใต้สำนึกอันมืดมนเสมอ ต่างจากโซฟี หญิงสาวที่ภายนอกดูเหมือนอ่อนโยน บอบบาง แต่กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความเข้มแข็ง กล้ายอมรับความเป็นจริง และใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างมีความสุข
การค้นหาธาตุแท้อันงดงามที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวเรา ที่ยึดโยงกับความเชื่อดั้งเดิมและธรรมชาติของสรรพสิ่ง คือสิ่งที่มิยาซากิแทรกอยู่ในภาพยนตร์ของเขาเรื่อยมา หาก Spirited Away เปรียบดั่งผืนน้ำ และ The Wind Rises คือตัวแทนของสายลมแล้ว Howl’s Moving Castle ก็อาจเปรียบได้กับไฟเช่นกัน
สัญลักษณ์ ‘ไฟ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์สำคัญที่ปรากฏในภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง จึงแทนแสงสว่างที่ให้ความอบอุ่นแก่ผู้อยู่อาศัย และเป็นหัวใจหลักในบ้านหลังนี้ นำไปสู่บทสรุปที่โซฟีได้คืนไฟสู่ร่างกายของฮาวล์ จึงอาจเทียบได้กับการคืนชีวิตจิตใจให้เขานั่นเอง
การเคารพธรรมชาติในแบบฉบับ My Neighbor Totoro
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มิยาซากิกลับมาตีความถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมอีกครั้งอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา ไม่เพียงแค่สร้างความสดใส สนุก และมอบความอบอุ่นใจให้กับเด็ก ๆ เท่านั้น แต่ยังสอดแทรกจิตสำนึกรักธรรมชาติตามแบบฉบับของญี่ปุ่นที่แสนเรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นกิริยาอันอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพต่อธรรมชาติ รวมถึงการให้ความสำคัญกับทุกสิ่งที่แฝงอยู่ตามอณูพื้นที่เช่นเจ้าฝุ่นซุซุวาตาริ และโตโตโร่ตัวน้อยใหญ่ที่มาพร้อมกับสีสัน ชวนให้ผู้ชมได้นึกย้อนกลับไปถึงวัยเด็กอันงดงามที่ตนมีร่วมกับต้นไม้และทุ่งหญ้าอันเขียวขจี นำไปสู่การเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติ เพื่อเชื่อมโยงมนุษย์ให้เป็นหนึ่งเดียวกับผืนป่าอย่างแท้จริง
เรื่องราวการผจญภัยสำรวจบ้านใหม่ของเด็กหญิงสองพี่น้อง นำพาพวกเธอเข้าไปสู่อุโมงค์ต้นไม้เล็ก ๆ จนได้พบกับ โตโตโร่ สิ่งมีชีวิตขี้เซา ตัวอ้วนกลม ขนปุกปุย อาศัยอยู่ในป่าอันลึกลับ มิยาซากิได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบฉากจากเมืองที่เขาเคยอาศัยอยู่อย่าง Tokorozawa ในจังหวัดไซตามะ ถึงขั้นเคยพูดไว้ว่าถ้าเขาไม่ได้มาอยู่เมืองนี้ โตโตโร่ก็คงไม่เกิดขึ้น
จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้เจ้าโตโตโร่อ้วนกลมน่ากอดนี้ กลายมาเป็นไอคอนในการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นโครงการอนุรักษ์ผืนป่ามากมาย เช่น ป่าโตโตโร่ใน Sayama Hill ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์การกุศล The Totoro no Furusato Foundation ที่มิยาซากิก่อตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนรักษาพื้นที่สีเขียวในกรุงโตเกียว โดยมีการตั้งบ้านไม้เก่าแก่อายุกว่า 120 ปี มาพร้อมกับโตโตโร่ตัวใหญ่ ที่คอยต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความจริงใจ
และหากข้ามไปยัง Morikoro Park ในจังหวัดไอชิ ก็มีบ้านจำลองอีกหลังหนึ่งที่ถอดแบบจากบ้านของเด็กสองคน ราวกับยกบ้านที่ปรากฏในเรื่องมาไว้เลยทีเดียว
ด้วยความดังเป็นพลุแตก ทำให้แอนิเมชันที่เอ่อล้นด้วยความสดใสนี้ ถูกพูดถึงและตีความออกไปหลายแง่มุม บ้างก็ว่า ‘โตโตโร่’ คือชื่อเรียกที่เพี้ยนมาจากคำว่า Troll ในนิทานพื้นบ้านของนอร์เวย์เรื่อง Three Billy Goats Gruff ซึ่งเป็นเรื่องราวของแพะสามพี่น้องที่ต่อคิวกันข้ามสะพานไปยังทุ่งหญ้าที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์แต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น รายละเอียดในเรื่องไม่ว่าจะเป็นชื่อบนกล่องชาที่ระบุเมือง ชื่อตัวละครเด็กหญิงทั้งสอง หรือแม้แต่ตัวโตโตโร่ ยังเป็นเบาะแสสำคัญ เกิดการตีความสุดลึกล้ำชวนหดหู่ที่บ่งชี้ว่าภาพยนตร์อันแสนน่ารักนี้ มีที่มาจากคดีฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นจริงในเมืองซายามะ จนทำให้หลาย ๆ คน (รวมไปถึงพวกเราด้วย) ต้องกลับไปดูซ้ำและสังเกตในหลายละเอียดเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทางทีมจิบลิก็ได้ออกมายืนยันว่าการเชื่อมโยงกับคดีฆาตกรรมนั้นเป็นเรื่องไม่จริง เพราะทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากจินตนาการล้วนไม่มีความดำมืดผสม ดังนั้นกลับไปดูใหม่ครั้งหน้า ก็จงสบายใจว่ามันไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าที่เห็นในหนัง ให้เราได้หลงรักในความบริสุทธิ์ของเด็ก ๆ ทั้งสองกันต่อไป
ตามดูรีรัน Self-Quarantour ตอน Ghibli Inspiration ได้ที่นี่