ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ ‘เรื่องผี’ …ประวัติศาสตร์ ‘ความกลัว’ ของมนุษย์

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ ‘เรื่องผี’ …ประวัติศาสตร์ ‘ความกลัว’ ของมนุษย์

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ ‘เรื่องผี’ …ประวัติศาสตร์ ‘ความกลัว’ ของมนุษย์

“ปีศาจมีจริง ผีก็มีจริง พวกมันอาศัยอยู่ในตัวเรา และในบางครั้งพวกมันชนะ” - Stephen King, ‘The Shining’

‘ผี’ คืออะไร?

หลักฐานการมีอยู่ของ ‘ผี’ แบบเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่มนุษย์แรกเริ่มมีภาษา หรือก็คือในยุคอารยธรรมเมโสโปเตเมีย (ประมาณ 3100 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กระนั้น จนถึงวันนี้… ในวันที่มนุษย์เราหวนกลับมาสื่อสารกันด้วยภาษาภาพผ่านอีโมติคอนและอีโมจิ ในวันที่เรื่องราวเกี่ยวกับผีไม่ได้ถูกบอกเล่าต่อด้วยการจดจารอักษรลงบนแผ่นดินเหนียวอีกต่อไป และในวันที่มนุษย์สามารถมาล้อมวงฟังเรื่องผีกันได้เป็นหมื่น ๆ คนผ่านรายการไลฟ์สดทาง Youtube ในค่ำคืนวันเสาร์และอาทิตย์ กระนั้น ความหมายของ ‘ผี’ นั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจหาคำนิยามตายตัวได้ ในบางคืนเราได้ยินคนเล่าเรื่องผีในฐานะวิญญาณที่กลับมาจากโลกหลังความตาย ในบางคืนเราได้ยินเรื่องราวของผีในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ปกครองป่าเขาและคอยลงโทษคนที่ปัสสาวะผิดที่ผิดทาง หรือในบางคืนเราก็ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับผีที่เป็นปีศาจร้ายมาเข้าสิงร่างคนตายแล้วออกอาละวาดจับเป็ดไก่ในละแวกบ้านกินเป็นอาหาร

แล้ว ‘ผี’ คืออะไรกันแน่?

แม้ว่าความหมายของผีอาจจะยังไม่มีคำนิยามตายตัว แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ ผีเป็นวัฒนธรรมร่วมของมนุษย์ (universal cultural) ซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าในทุกวัฒนธรรมของมนุษย์ นั่นหมายความว่าที่ใดมีมนุษย์ ที่นั่นก็จะมีความเชื่อและเรื่องเล่าเกี่ยวกับผี และด้วยความที่ผีอยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เริ่มมีภาษา การศึกษาเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีหรือ ‘เรื่องผี’ จึงสามารถศึกษาในฐานะประวัติศาสตร์ความเชื่อเรื่อง ‘ความตาย’ และ ‘ความกลัว’ ของมนุษย์ได้ โดยที่ในโลกของการศึกษาวรรณกรรม ก็มีนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องผีในฐานะ ‘รูปแบบของวัฒนธรรมเกี่ยวกับความกลัว’ (phobic cultural form) ซึ่งเป็นการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านความวิตกกังวลที่ผู้คนในสังคมมีร่วมกัน โดยถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของสื่อเกี่ยวกับเรื่องผีและความตาย เช่น วรรณกรรม, ภาพยนตร์, ศิลปะ ฯลฯ

จนอาจกล่าวได้ว่า ความสำคัญของการมีอยู่ของเรื่องผีนั้นอาจไม่ใช่การหาคำตอบว่าผีมีจริงหรือไม่ แต่เป็นการสำรวจลึกเข้าไปในจิตใจของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยว่าเรา ‘กลัว’ อะไร และเหตุใดเราถึงกลัวมากกว่า

เพื่อเป็นการต้อนรับการเวียนมาถึงของสัปดาห์แห่งเทศกาลเฉลิมฉลองความตาย ‘ฮาโลวีน’ GroundControl จึงขอใช้โอกาสนี้ พาทุกคนไปสำรวจโลกของเรื่องผี หรือโลกแห่งความกลัวของมนุษย์ร่วมกัน

แล้วจะรู้ว่าจริง ๆ แล้ว ผี… ก็อยู่กับเรามาตลอดนั่นแหละ หึหึหึ…

แรกเริ่มจินตนาการเกี่ยวกับความตาย: เรื่องเล่าเกี่ยวกับวิญญาณก่อนการมาถึงของ ‘เรื่องผี’

ความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย พลังเหนือธรรมชาติ หรืออมนุษย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปีศาจ, ผี หรือแม้กระทั่งภูติพรายนั้น เป็นความเชื่อที่พบเจอได้ในทุกวัฒนธรรมของมนุษย์ ความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณในปัจจุบันสืบทอดมาจากความเชื่อและโลกทัศน์เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังอำนาจเหนือธรรมชาติที่สถิตอยู่ในต้นไม้ ป่าเขา หรือสัตว์ หรือที่เรียกว่า วิญญาณนิยม ซึ่งเป็นลักษณะความเชื่อของมนุษย์ที่สืบทอดมาจากยุคโบราณ และยังปรากฏให้เห็นในสังคมแบบชนเผ่า (animism) เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องการบูชาผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่แท้จริงแล้วเกี่ยวข้องกับคนเป็นมากกว่าคนตาย เพราะการกราบไหว้ผีบรรพบุรุษนั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้วิญญาณผีบรรพบุรุษช่วยปกป้องคุ้มครองลูกหลานจากวิญญาณเคียดแค้นทีริษยาคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งแม้ว่าเราจะมีภาพจำเกี่ยวกับพิธีกรรมไหว้บรรพบุรุษว่าเป็นพิธีกรรมในแถบวัฒนธรรมเอเชียหรือจีน แต่ที่จริงในวัฒนธรรมตะวันตกก็มีวันที่สำหรับรำลึกถึงวิญญาณบรรพบุรุษเช่นเดียวกัน โดยในทางนิกายคาทอลิก วันที่ 2 พฤศจิกายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวัน All Souls Day ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงสมาชิกในครอบครัวที่ล่วงลับไป

พิธีรำลึกถึงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ปรากฏทั้งในวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกสะท้อนให้เห็นว่า รากฐานความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณของมนุษย์นั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อและตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการอธิบายปรากฏการณ์ที่มนุษย์ในทุกวัฒนธรรมล้วนต้องเผชิญร่วมกัน นั่นก็คือ ความตาย

หลักฐานการมีอยู่ของผีสามารถสืบได้ถึงช่วงอารยธรรมเมโสโปเตเมีย หรือราว 3000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในวัฒนธรรมแถบเมโสโปเตเมีย เป็นที่เชื่อกันว่าผีคือวิญญาณของผู้ตายที่ยังคงบุคลิกและความคิดของผู้ล่วงลับไว้ทุกประการ หลังจากที่ตายแล้ว ผีก็จะเดินทางไปอาศัยอยู่ในโลกหลังความตายที่คล้ายคลึงกับโลกของคนเป็น เพียงแต่เป็นโลกอีกใบหนึ่งเท่านั้น ส่วนญาติพี่น้องที่ยังอยู่ก็มีหน้าที่ต้องคอยเซ่นไหว้ผีของสมาชิกในครอบครัวด้วยอาหารต่าง ๆ มิเช่นนั้นผีญาติและผีบรรพบุรุษจะพิโรธแล้วกลับมาทำให้สมาชิกในครอบครัวล้มป่วยหรือประสบโชคร้ายได้ และเมื่อมาถึงยุคอารยธรรมอียิปต์ ความเชื่อเรื่องผีก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป จากผีบรรพบุรุษที่สามารถทำให้เกิดเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายกับคนในครอบครัวได้ ไปสู่ความเชื่อเรื่องการมีอยู่ของโลกหลังความตายอันเป็นสถานที่สถิตของวิญญาณที่ออกจากร่าง ที่ซึ่งวิญญาณสามารถ ‘ตาย’ ได้อีกครั้ง ความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายของชาวอียิปต์โบราณมีพัฒนาการต่อเนื่องยาวนานถึง 2,500 ปี เห็นได้จากบรรดาบันทึกเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับความตายที่ถูกบันทึกไว้ในกระดาษปาปิรุส หรือในภาพจิตรกรรมหรืออักษรภาพที่จารึกไว้บนหลุมศพ อันกลายเป็นหลักฐานจารึกเกี่ยวกับผียุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์มนุษย์

แต่เมื่อมาถึงยุคอารยธรรมกรีก ‘ผี’ ก็เริ่มมีความเชื่อมโยงกับโลกของคนเป็นน้อยลง ในบทกวีมหากาพย์ Odyssey ของ โฮเมอร์ ‘ผี’ ถูกพรรณนาไว้ว่าเป็นเพียงกลุ่มควันที่ล่องลอยไปมาบนโลก และมักโผล่มาเพื่อให้คำแนะนำหรือคำพยากรณ์เท่านั้น

ผีในลักษณะกลุ่มควันที่ไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ กับมนุษย์ได้กลายเป็นผีในภาพจำของคนยุคคลาสสิกไปจนถึงยุคต้นคริสต์ศักราช เมื่อถึงยุคนี้ ผีได้กลับมาอาละวาดเหล่าคนเป็นที่ไม่ยอมสักการบูชาหรือเซ่นไหว้ตนอีกครั้ง และยังมาพร้อมกับเชื่อว่า หากคนตายไม่ได้รับการจัดพิธีศพอย่างเหมาะสม วิญญาณของคนตายก็จะกลับมาจองล้างจองผลาญคนเป็น จนทำให้ในสมัยกรีกต้องมีการจัดพิธีกรรมประจำปีที่เป็นการเชิญดวงวิญญาณของผู้ตายให้กลับมารับเครื่องเซ่น และเมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะมีการเชิญดวงวิญญาณให้ไปเสียให้พ้น แล้วอย่ากลับมาจนกว่าพิธีกรรมในปีหน้าจะเวียนมาถึง

ผีถูกกล่าวถึงอย่างลายลักษณ์อักษรครั้งสำคัญอีกครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ ในบท Luke 24:37–39 กล่าวว่า เมื่อพระเยซูทรงฟื้นคืนชีพ แล้วเหล่าสาวกได้ขอให้พระองค์พิสูจน์ว่าไม่ใช่ผี (หรือในบางเวอร์ชั่นใช้คำว่า ‘วิญญาณ’ หรือ ‘spirit’) ซึ่งในยุคหลังคริสต์ศักราชนี้ ยังปรากฏผู้ที่ลุกขึ้นมาประกาศความไม่เชื่อในเรื่องผีคนแรกในประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ ลูเชียนแห่งซาโมซาตา (Lucian of Samosata) กวีเสียดสีชาวกรีกซึ่งพรรณาถึงฉากหนึ่งในนวนิยายเรื่อง The Lover of Lies ที่ตัวละครอ้างว่าตนได้ลองไปอาศัยอยู่ในสุสานเพื่อที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าผีไม่มีจริง (เรียกได้ว่าเป็นคนอวดผียุคแรก) นอกจากนี้ลูเชียนยังเคยบันทึกไว้ว่า เคยมีคนแกล้งสวมผ้าคลุมสีดำและใส่หน้ากากรูปหัวกะโหลกมาพยายามหลอกให้เขากลัว ซึ่งบันทึกของลูเชียนก็เผยให้เห็นว่า ผีในจินตนาการของคนยุคโบราณมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อมาถึงยุคกลาง (Middle Ages) ผีตามความเชื่อของชาวคริสต์ก็แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ ผีที่เป็นวิญญาณของคนตาย กับผีที่เป็นปีศาจร้าย โดยในขณะที่วิญญาณคนตายกลับมาหลอกหลอนคนเป็นด้วยจุดประสงค์เฉพาะ เช่น กลับมาล้างแค้น แต่วิญญาณที่เป็นปีศาจนั้นจะหลอกหลอนทรมานคนเป็นอย่างไม่มีเหตุผล และไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป้าหมายคือใคร โดยคนในยุคนั้นเชื่อว่า เราสามารถปราบผีทั้งที่เป็นวิญญาณและปีศาจได้ด้วยการถามจุดประสงค์ของการหลอกหลอนในนามของพระเยซู โดยเมื่อวิญญาณได้ยินพระนามศักดิ์สิทธิ์ก็จะล้มเลิกความตั้งใจที่จะกลับมาหลอกหลอน ในขณะที่ปีศาจร้ายจะถูกทำลายไปจนสิ้น

ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา เมื่อคนตายไป ก็จะไปเกิดใหม่ทันทีในรูปใดรูปหนึ่งตามกรรมที่ได้ทำไว้ก่อนตาย

ในพุทธศาสนาจึงไม่มี ‘ผี’

ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา เมื่อคนตายไป ก็จะไปเกิดใหม่ทันทีในรูปใดรูปหนึ่งตามกรรมที่ได้ทำไว้ก่อนตาย ที่หมายถึงวิญญาณของมนุษย์ที่ล่องลอยออกจากร่าง แต่จะอยู่ในรูปของอมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ ตามกรรมที่ได้กระทำลงไปเมื่อครั้งยังมีชีวิต เช่น เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรกรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งถูกนิยามไว้ว่าเป็นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตจำพวกหนึ่งเช่นเดียวมนุษย์และอาจมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้เป็นครั้งคราว อย่างเช่นในพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎกที่ชื่อว่า ‘ติโรกุฑฑเปตวัตถุ’ เล่าว่าพระเจ้าพิมพิสารถูกพระญาติที่ไปเกิดเป็นเปรตมาขอส่วนบุญ พระพุทธเจ้าจึงแนะนำให้ทำบุญอุทิศถวาย จึงเกิดเป็นประเพณีกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญขึ้นในพุทธศาสนา เป็นต้น

ศัพท์อีกคำหนึ่งเกี่ยวกับผีในศาสนาพุทธคือ ภูต ในพุทธศาสนาเถรวาทให้นิยามว่า ภูตเป็นธาตุ คือ มหาภูตรูป 4 อันหมายถึง ดิน น้ำ ลม และไฟ นั่นเอง ธาตุทั้ง 4 นี้มีสถานะเป็นเหมือนเทวดาจำพวกหนึ่ง ภูตในอีกความหมายถึงปรากฎในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาว่า หมายถึงอมนุษย์ที่สิงสู่ในสถานที่ทำงานและบ้าน

ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าในตัวของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มีสิ่งที่เรียกว่า ‘อาตมัน’ ตามปรัชญาฮินดู อาตมันคือส่วนเสี่ยวหนึ่งของพรหมันอันเป็นความจริงสูงสุดตามความเชื่อในศาสนาฮินดู (คล้ายกับนิพพานในศาสนาพุทธแต่มีรายละเอียดที่ต่างกัน) อาตมันนี้หากกลับไปรวมกับพรหมันได้ก็จะหยุดการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนการบรรลุอรหันในพุทธศาสนา ดังนั้นในศาสนาพราหมณ์ เมื่อมนุษย์ตายลง อาตมันซึ่งเป็นจิตเดิมแท้จะล่องลอยออกไป และจะไปเกิดใหม่ตามกรรมที่ทำไว้ก่อนตายคล้ายกับพุทธศาสนา หรืออาจไปยังสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า อาตมันนี้แม้จะคล้ายกับผีที่ออกจากร่าง แต่อาตมันไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งคุกคามที่จะมาหลอกหลอนคนเป็นเช่นเดียวกับผี ฉะนั้นสิ่งเหนือธรรมชาติที่จะทำอันตรายมนุษย์ในศาสนาฮินดูจะเป็นจำพวกอมนุษย์ต่าง ๆ เช่น รากษส อสูร ภูต หรือแม้แต่เทวดาก็ให้คุณให้โทษมนุษย์ได้ ผีในนิยามแบบปัจจุบันจึงไม่มีอยู่ในความเชื่อแบบฮินดู

แม้ว่าความคิดเชิงปรัชญาในศาสนาฮินดูจะลบเอาผีออกไปจากศาสนาเกือบหมด แต่ทว่าในศาสนาพราหมณ์แต่เดิมก็มีวิญญาณบรรพชนเช่นกัน เรียกว่า ปิตฤ หรือ เปรต นั่นเอง ในความหมายดั้งเดิม คำคำนี้แปลว่า ผู้ไปก่อน ซึ่งถูกนำมาใช้ในความหมายหลากหลาย เช่น พ่อ บรรพบุรุษ และยังหมายถึงวิญญาณบรรพชนด้วย ในศาสนาพราหมณ์ในยุคพระเวท ที่ยังไม่มีความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และไม่มีความหลุดพ้นหรือนิพพานใด ๆ ก็เชื่อกันว่า ผู้ที่ตายไปแล้ว จะเดินทางไปสู่อีกโลกหนึ่งคือโลกหลังความตายที่เรียกว่า ปิตฤโลก ซึ่งมีพระยมราชเป็นผู้ปกครอง และในแต่ละปี วิญาณบรรพชนเหล่านี้จะกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาหาลูกหลาน จึงเกิดเป็นประเพณีศราทธพรตขึ้น ในไทยเราก็รับมาใช้อย่างในภาคใต้ก็คือสารทเดือนสิบนั้นเอง

ความเชื่อเรื่องวิญญาณบรรพชนเช่นนี้ยังคงมีอยู่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเหมือนกัน และเป็นสิ่งที่ดูใกล้เคียงกับคำว่าผีในแบบดั้งเดิมของความเชื่อในไทย แต่ผีในแบบที่หลาย ๆ คนเชื่อในปัจจุบันก็ยังดูห่างไกลกับความเชื่อในแบบฮินดู นอกจากเปรตจะเป็นวิญญาณบรรพชนแล้ว เปรตในศาสนาฮินดูก็จัดเป็นอมุษย์จำพวกหนึ่งเช่นกัน ในศิวะปุราณะกล่าวว่าเปรตเป็นบริวารจำพวกหนึ่งของพระศิวะ พระองค์จึงได้นามว่า เปรตราช ส่วนในวิษณุปุราณะกล่าวว่าเปรตราช เป็นนามหนึ่งของพระยมราช

นอกจากเปรตแล้วในศาสนาฮินดูก็ยังมี ภูต และเวตาล ที่มีสถานภาพคล้ายคลึงกับผี โดยอมนุษย์ทั้ง 2 นี้ จัดว่าเป็นบริวารของพระศิวะเช่นเดียวกับเปรต

ผี จึงเป็นตัวตนที่มีความหลากหลายมากที่สุดอย่างหนึ่งในเชิงศาสนา ผีอาจเป็นได้ทั้งสิ่งชั่วร้ายในบางวัฒนธรรม หรืออาจเป็นวิญญาณธรรมชาติหรือเทพที่มนุษย์กราบไหว้ในอีกหลายวัฒนธรรม ผีจึงเป็นประดิษฐกรรมทางศาสนาที่นับว่าเก่าแก่มากที่สุดอย่างหนึ่งในโลกก็ว่าได้

โกธิค: รุ่งอรุณแห่ง ‘เรื่องผี’ ที่มาพร้อมกับ ‘มนุษยนิยม’

แม้ว่าเรื่องผีจะปรากฏมาตั้งแต่สมัยมนุษย์แรกเริ่มประดิษฐ์ตัวอักษร และปรากฏในจารึกเรื่อยมาจนถึงยุคที่การเขียนเปลี่ยนเป็นการพิมพ์ แต่เรื่องผีไม่เคยได้รับการยอมรับให้เป็นประเภทหนึ่งของงานเขียน (genre) โดยผีในวรรณกรรมและบทละครต่าง ๆ มักปรากฏในฐานะส่วนหนึ่งของเรื่องราวมากกว่าจะถูกเรียกว่าเป็น ‘เรื่องผี’ โดยเฉพาะ

กว่าที่เรื่องผีจะได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในประเภทของงานเขียนก็เมื่อล่วงเข้าศตวรรษที่ 18 ในฐานะซับย่อยของวรรณกรรมยุคโรแมนติก โดยลักษณะสำคัญของวรรณกรรมยุคโรแมนติกนี้ก็คือการออกห่างจากเรื่องราวทางศาสนา เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์และความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ จนนำมาซึ่งการให้ความสำคัญกับการพรรนาอารมณ์ลึกซึ้งที่ไม่ได้จำกัดแต่อารมณ์รักใคร่ แต่ยังรวมไปถึงอารมณ์สะพรึงกลัวและเคียดแค้น ด้วยการให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์นี้เอง เรื่องผีซึ่งเป็นเรื่องเล่าสะท้อนความกลัวของมนุษย์ได้มีที่หยัดยืนในยุคนี้เป็นยุคแรก แต่ก็ไม่วายถูกจัดประเภทให้เป็น ‘วรรณกรรมโรแมนติกชั้นเลว’ (horible romance) อยู่ดี

ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เขียนวรรณกรรมเรื่องผีคนแรกคือ ฮอเรซ เวลโปเลียน ในผลงานที่ชื่อว่า The Castle of Otranto: A Gothic Story (1764) โดยนวนิยายเรื่องนี้ยังเป็นที่มาของการเรียกวรรณกรรมเรื่องผีในยุคนี้ว่า ‘วรรณกรรมโกธิค’ โดยฮอเรซได้แรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้มากจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เขาต้องเผชิญกับฝันร้ายในขณะที่เขานอนอยู่ในบ้านทรงโกธิคในกรุงลอนดอน

เนื้อหาใน The Castle of Otranto ว่าด้วยเรื่องราวปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปราสาท Castle of Otranto ประเทศอิตาลี ในช่วงเวลายุคกลางที่ฮอเรซบรรยายว่า ‘เป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในยุคสมัยทางคริสต์ศาสนา’ และแม้ว่าฮอเรซจะแต่งเรื่องนี้ขึ้นมาในยุคศตวรรษที่ 18 แต่เขาก็ยอมรับว่า เรื่องราวเกี่ยวกับภูติผี แม่มด และเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากบทละครดราม่าของ วิลเลียม เชคสเปียร์ส อย่าง Hamlet (1603), Macbeth (1611) และ Julius Caesar (1599)โดยหนึ่งในจุดประสงค์สำคัญที่ทำให้ฮอเรซแต่งนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะตอบโต้นักคิดและนักวิจารณ์วรรณกรรมฝั่งฝรั่งเศสอย่าง วอลแตร์ ที่ด้อยค่าผลงานของเช็คสเปียร์สให้เป็นเพียงเรื่องเล่าที่นำเสนอ ‘ความป่าเถื่อน’ ซึ่งหาได้ยกระดับปัญญาหรือจิตใจของผู้อ่านให้สูงขึ้น

นอกจากฮอเรซแล้ว นักเขียนสาย ‘bad romance’ ร่วมยุคคนอื่น ๆ ก็หันกลับไปดึงแรงบันดาลใจจากงานเขียนของเช็คสเปียร์สมาใช้ในวรรณกรรมขวัญสยองของตัวเองเช่นกัน โดยนักเขียนกลุ่มนี้ต่างมองว่า งานเขียนของเช็คสเปียร์สนั้นไม่เพียงถ่ายทอดความรื่นรมย์และความอิ่มเอิบใจ แต่ยังปลุกความประหวั่นพรั่นพรึงและความหวาดกลัวในจิตใจของมนุษย์ออกมาได้อย่างถึงแก่น ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เค้นความเป็นมนุษย์ออกมาได้อย่างเข้มข้น

Frankenstein: ปีศาจจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

และเมื่อพูดถึงวรรณกรรมเขย่าขวัญยุคโกธิค ผลงานชิ้นหนึ่งที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยก็คือ Frankenstein: The Modern Prometheus (1818) ของนักเขียนหญิง แมรี เชลลี ที่ไม่เพียงได้รับการยอมรับว่าเป็นนวนิยายสยองขวัญขึ้นหิ้งจากการให้กำเนิดหนึ่งในอสุรกายที่โด่งดังที่สุดในโลกตะวันตกอย่าง แฟรงเกนสไตน์

แฟรงเกนสไตน์ของเชลลีได้รับอิทธิพลอย่างมากจากหนึ่งในเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อสังคมอังกฤษ นั่นก็คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม (The Industrial Revolution) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของอังกฤษและของโลก การปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้ส่งผลสำคัญต่อภาพรวมของสังคม อังกฤษเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงทำให้เกิดแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ยังส่งผลให้เกิดชนชั้นนายทุนขึ้นมาเทียบเคียงกับชนชั้นขุนนาง นอกจากนี้การปฏิวัติอุตสาหกรรมยังเป็นต้นกำเนิดของการระเบิดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อสำนึกต่อตัวตนของผู้คนในสังคมที่กลายเป็นฟันเฟืองชิ้นหนึ่งในโรงงาน ในช่วงเวลานี้ สังคมอังกฤษเริ่มเกิดความรู้สึกต่อต้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมาและแฟรงเกนสไตน์ก็คือวรรณกรรมที่เป็นผลผลิตจากความวิตกกังวลต่อเทคโนโลยีดังกล่าว

แฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1818 (โดยไม่ระบุชื่อผู้แต่ง ชื่อของแมรี เชลลี มาปรากฏในการตีพิมพ์ครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1823) ว่าด้วยเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องนาม วิคเตอร์ แฟรงเกนส ไตน์ (Victor Frankenstein) ซึ่งได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศเยอรมนี เขามีความสนใจในเรื่องการใช้ไฟฟ้ากับร่างกาย ของมนุษย์ จึงนำชิ้นส่วนจากศพหลาย ๆ ศพมาเย็บเข้าด้วยกันก่อนจะช็อตด้วยไฟฟ้า ทำให้ซากศพนั้นมีชีวิตขึ้นมา กลายเป็นอสุรกายที่มีร่างกายใหญ่โตและมีพละกำลังมาก

แฟรงเกนสไตน์ของเชลลีได้รับการชื่นชมในฐานะงานที่สะท้อนภาพจินตนาการ (Fantasy) อันเป็นลักษณะเด่นของงานเขียนประเภทโรแมนติก และแฝงความลึกลับและสยองขวัญ (Horror) อันเป็นลักษณะเด่นของงานเขียนแนวโกธิค และแม้ว่าจะได้รับการยกย่องในด้านความสยองขวัญ แต่ในอีกด้านหนึ่ง แฟรงเกนสไตน์ก็สะท้อนสภาพภาพความกังวลของผู้คนที่มีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมอังกฤษช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม การพรรณนาถึงร่างอัปลักษณ์ของอสุรกายที่ถูกประกอบขึ้นมาจากซากศพของมนุษย์คือภาพแทนของระบบอุตสาหกรรมที่ประกอบขึ้นจากหยาดเหงื่อแรงงานและจิตวิญญาณของมนุษย์ด้วย

แม้ว่าแฟรงเกนสไตน์จะได้รับการยอมรับว่าเป็นงานเขียนแนวไซไฟ (si-fi หรือ scientific fiction) เรื่องแรก ๆ ของโลกเพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่วิคเตอร์ถูกฆ่าโดยอสุรกายที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองผ่านการช็อตไฟฟ้า ก็สะท้อนถึงความกังวลของผู้เขียนที่มีต่อแสนยานุภาพของวิทยาศาสตร์ และยังแอบซ่อนนัยยะของโทษทัณฑ์ที่เกิดจากการฝืนกฏธรรมชาติ เพราะวิกเตอร์นั้นได้กระทำการฝ่าฝืนกฏธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด นั่นก็คือการคืนชีพซากศพที่ตายไปแล้ว

จากโกธิคสู่ความสยองรสอเมริกัน

วรรณกรรมโกธิคมาถึงอเมริกาในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ในฐานะหนึ่งในผลผลิตทางวัฒนธรรมที่ชาวอเมริกันรับมาจากอังกฤษ หรือที่ชาวอังกฤษที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในอเมริกาได้พกพาติดตัวมาด้วย และเมื่อถึงช่วง 1790s โกธิคก็แพร่หลายในอเมริกาจนเรียกได้ว่าแซงหน้าบ้านเกิดของตัวเองไปแล้วเรียบร้อย

นักประวัติศาสตร์มองว่า เหตุผลที่เรื่องเล่าสยองขวัญได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้อ่านชาวอเมริกันก็เพราะเรื่องเล่าเขย่าขวัญเหล่านี้สอดคล้องกับความน่าหวาดผวาในสภาพความเป็นจริงที่เหล่าอเมริกันชนยุคก่อร่างสร้างประเทศต้องเผชิญ ทั้งการเผชิญหน้ากับชาวพื้นเมือง ไปจนถึงการปฏิรูปศาสนาคริสต์ที่กลายมาเป็นนิกายพิวริตันที่เข้มข้นทั้งในด้านความเชื่อและวิถีชีวิต และเหนือสิ่งอื่นใด วรรณกรรมเกี่ยวกับผีและความตายเหล่านี้ยังให้คำอธิบายต่อเหตุการณ์เลวร้ายรูปแบบใหม่ที่ชาวอเมริกันต้องเผชิญ นั่นก็คือ กรรมและการฆาตกรรม ได้ดีกว่าคำอธิบายทางศาสนา จนถึงกับมีการกล่าวกันว่า วรรณกรรมสยองขวัญคือกระดูกสันหลังและวรรณกรรมแห่งชาติอเมริกัน

หนึ่งในนักเขียนเรื่องราวสยองขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วรรณกรรมของอเมริกันย่อมหนีไม่พ้น เอ็ดการ์ อัลลัน โพ ซึ่งแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นบิดาเรื่องสยองขวัญของอเมริกัน แต่ที่จริงแล้วจุดเริ่มต้นปรากฏการณ์ ‘โพฟีเวอร์’ นั้นกลับไปเกิดนอกบ้านในประเทศฝั่งยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส โดยสิ่งที่ทำให้เรื่องราวสยองขวัญไปโดนเส้นชาวฝรั่งเศสนั้นก็คือการผสานความน่ากลัวเข้ากับอารมณ์ขันร้ายลึก ซึ่งเป็นโทนเรื่องเล่าที่สะท้อนภาพของ ‘ชีวิต’ ได้อย่างจริงแท้และขันขื่น

อารมณ์ขันดำมืดของโพก็มาจากเรื่องราวในชีวิตของเขาที่เริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กกำพร้าซึ่งในเวลาต่อมาก็ต้องสูญเสียแม่บุญธรรมที่อุ้มชูเขามาให้กับโรคร้าย โพต่อสู้กับความยากจนมาตลอดชีวิต และใช้พรสวรรค์ด้านการถ่ายทอดจินตนาการดำมืดพาตัวเองไต่เต้าจนกลายมาเป็นนักเขียนคนแรกในประวัติศาสตร์ที่หาเลี้ยงชีพได้ด้วยการเขียนเต็มเวลา

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งในงานเขียนของโพก็คือการให้รายละเอียดเกี่ยวกับร่างกายและซากศพที่สมจริงราวกับรายงานชันสูตร ซึ่งนักประวัติศาสตร์วรรณกรรมในยุคหลังมองว่า งานเขียนของโพคือหมุดหมายแรกของ ‘ความกลัว’ ในโลกยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่ความกลัวในเรื่องบาปหรือการผิดศีลธรรม แต่กระตุ้นความกลัวที่แสดงออกมาในรูปแบบของปฏิกิริยาทางร่างกาย เช่น อาการขนลุก วิงเวียน หนาวสันหลัง ซึ่งเป็นความกลัวรูปแบบใหม่ที่เป็นผลมาจากการไม่สามารถอธิบายอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้เป็นคำพูด นอกจากนี้การบรรยายถึงสภาพร่างกายอันไม่น่าโสภา การเปื่อยเน่าของซากศพ และการชำแหละร่างเหลือเพียงซาก ยังเป็นการให้ภาพการลดทอนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจให้กลายเป็นเพียงก้อนเนื้อ ซากร่างไร้วิญญาณ หมดความหมายของการเป็นมนุษย์ ก็คือการนำเสนอความน่าสยดสยองในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในเรื่องเล่าสยองขวัญยุคก่อนหน้า

อีกหนึ่งความน่าขนพองสยองเกล้าในเรื่องเล่าเขย่าขวัญของโพก็คือการนำเสนอความกลัวที่สอดคล้องกับบริบทสังคมในช่วงนั้น ตัวอย่างเช่น Hop-Frog (1849) ที่เล่าถึงเรื่องราวของคนแคระที่โดนลักพาตัวมาจากดินแดนของตัวเอง เพื่อมาเป็นคนรับใช้ของกษัตริย์ผู้ชั่วร้าย อันภาพสะท้อนถึงความโหดร้ายของการค้าทาสในประเทศอเมริกา ณ ขณะนั้น ผลงานเรื่องเล่าสยองขวัญของโพจึงทำงานผ่านการสะท้อนภาพความโหดร้ายในสังคม จนทำให้ความน่ากลัวในเรื่องนั้นถูกขับเน้นยิ่งขึ้นด้วยความจริงที่ว่า ความสยดสยองในเรื่องนั้นแท้จริงแล้วก็อยู่รอบตัวผู้อ่านนี่เอง

American Horror Story: ความขวัญผวาของอเมริกันชน

ขอกระโดดข้ามไปยังยุค 1970s ซึ่งเป็นอีกหนึ่งยุคทองของเรื่องราวสยองขวัญ จากยุคโกธิคที่เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีและความตายต้องพยายามหาที่ยืนหยัดและถูกปรามาสว่าเป็นเพียงงานเขียนชั้นเลว ตัดภาพฉับมาที่โลกในยุคสงครามเย็น เรื่องเล่าสยองขวัญกลับกลายเป็น genre หลักที่พบเห็นได้ในทุกสื่อ ทุกเชลฟ์วางสินค้า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ แม็กกาซีน หนัง หรือแม้กระทั่งวิดีโอเกม จนเรียกได้ว่าในยุคนี้ เรื่องราวสยองขวัญไม่ต้องไปเบียดที่แย่งชิงตำแหน่งที่ยืนร่วมกับใคร แต่กลับมีโลกทั้งใบเป็นของตัวเอง

หนึ่งในวรรณกรรมสยองขวัญที่เป็นหลักไมล์สำคัญของยุคนี้ก็คือ Rosemary’s Baby ของ ไอรา เลอวีน อันว่าด้วยเรื่องราวการเผชิญหน้ากับพลังเหนือธรรมชาติของหญิงสาวท้องแก่ จนนำไปสู่ความสยองขวัญในรูปแบบของลัทธิซาตานที่อยู่ห่างกันเพียงแค่บ้านข้าง ๆ Rosemary’s Baby คือตัวอย่างของงานสยองขวัญในยุคนั้นที่มักเล่นกับความกลัวที่บริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นฉากหลัง อันเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของนวนิยายสยองขวัญรสอเมริกัน ซึ่งในกรณีของ Rosemary’s Baby ก็คือการสะท้อนภาพการกดขี่ผู้หญิงไว้ในพื้นที่บ้าน ซึ่งตอบสนองต่อขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีที่เริ่มมาตั้งแต่ยุค 1960s นั่นเอง

การกระโดดข้ามสายของนักเขียน ‘นิยายเล่มละบาท’ หรือ ‘pulp fiction’ มาสู่งานเขียนนวนิยายฉบับยาวก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องเล่าเขย่าขวัญสัญชาติอเมริกันนั้นผงาดขึ้นมาจนกลายเป็นสินค้าส่งออกวัฒนธรรมอเมริกันสู่โลก ในยุคนี้ ธีมที่สำคัญและโดดเด่นอย่างมากในหมู่นักเขียนเรื่องสยองขวัญสัญชาติอเมริกันก็คือ ‘เมืองเล็กอันห่างไกล’ ที่นำเสนอเรื่องราวความสยดสยองที่เกิดขึ้นในเมืองชนบทของอเมริกา โดยนักเขียนตัวพ่อในกลุ่มนี้ก็หาใช่ใครอื่นนอกจาก สตีเฟน คิง ที่คอวรรณกรรมและหนังสยองขวัญย่อมคุ้นเคยกับชื่อนี้อย่างดี

หลังจากที่คิงสร้างชื่อด้วยเรื่องราวของงานพรอมท่วมเลือดใน Carrie (1974) งานเขียนเรื่องต่อ ๆ มาของเขาก็มีความชัดเจนในแง่ของการใช้เมืองเล็กห่างไกลเป็นฉากหลังความสยองมากขึ้น โดยเฉพาะใน Salem’s Lot (1975) ที่ว่าด้วยเรื่องราวการหวนคืนสู่บ้านของนักเขียนหนุ่ม เพื่อจะพบว่าประชากรในเมืองเล็ก ๆ แห่งรัฐเมน (ซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของคิง) แห่งนี้ได้กลายเป็นแวมไพร์ไปเสียแล้ว

คิงใช้ธีมการถ่ายทอดเรื่องสยองในเมืองเล็กของอเมริกาในการสำรวจลึกถึงโครงสร้างทางสังคมของอเมริกา และในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการย้อนกลับไปสำรวจสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้นมาด้วย คิงได้ใช้งานเขียนของตัวเองในการเปลี่ยนบ้านเกิดในรัฐเมนของเขาให้กลายเป็นโลกแห่งความลึกลับสยดสยองที่ซ้อนทับและดำเนินคู่ไปกับโลกสามัญธรรมดา โดยในเวลาต่อมาคิงก็จะสร้างจักรวาลเรื่องสยองขวัญของตัวเองที่ทุกเรื่องถูกเชื่อมโยงด้วยเมืองแคสเซิลร็อก ตั้งแต่ The Body ที่กลายมาเป็นหนังคัมมิงออฟเอจขึ้นหิ้งอย่าง Stand By Me (1986) ไปจนถึง The Dead Zone (1979), Cujo (1981) ซึ่งหากใครอยากสำรวจจักรวาลแคสเซิลร็อกของสตีเฟน คิง เราขอแนะนำให้ดูซีรีส์ Castle Rock ทางเน็ตฟลิกซ์ ที่นำเรื่องสยองขวัญของคิงมายำรวมกันไว้ในโลกใบเดียวกัน จนเผยให้เห็นความน่าสยดสยองที่ซ่อนอยู่ใต้ฉากหน้าอันสงบสุขของเมืองชนบทในอเมริกา

คุณูปการประการหนึ่งของคิงก็คือการพาเรื่องสยองขวัญยุคใหม่ออกจากร่มเงาของความสยองแบบโกธิคซึ่งเป็นรสชาติความสยองสุดคลาสสิกติดลิ้นคนอ่านเรื่องสยองขวัญทั่วโลก สิ่งที่คิงทำคือการตัดขาดจากเรื่องราวความน่าสะพรึงกลัวที่มาจากโลกหลังความตายหรือโลกแห่งภูตผีที่อยู่ในมิติที่ไกลออกไป แล้วเผยให้ผู้อ่านเห็นว่า ความสยองขวัญที่แท้จริงนั้นซ่อนอยู่ในฉากหน้าความธรรมดาของชีวิตประจำวันของเรานี่เอง

อ้างอิง: Reyes, Xavier Aldana, ed. Horror: A Literary History. British Library, 2016. https://web.archive.org/...//www.siu.edu/news/ghosts.html https://www.metmuseum.org/.../2019/ghost-in-the-stacks https://hyperallergic.com/.../the-ghost-a-cultural-history/ https://www.worldhistory.org/ghost/ https://www.history.com/.../hall.../historical-ghost-stories https://www.historyworkshop.org.uk/a-haunted-history-the.../ https://en.wikipedia.org/wiki/Horror_fiction#Before_1000