ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ ‘การโฆษณาชวนเชื่อ’ ในประเทศไทย
“วิธีการทำลายประชาชนที่ได้ผลดีที่สุดคือการปฏิเสธและกำจัดความสามารถของพวกเขาในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของตัวเอง” -George Orwell
‘โฆษณาชวนเชื่อ’ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน เรียกได้ว่าเมื่อมนุษย์เริ่มได้ทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ พร้อม ๆ กันนั้นมนุษย์ก็เรียนรู้วิธีการในการที่จะได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งอำนาจ และการโฆษณาชวนเชื่อ หรือการเผยแผ่อุดมการณ์ทางสังคมและการเมืองของผู้ปกครอง ก็คือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์ได้เรียนรู้ว่า เป็นสิ่งทรงพลังเหนือกว่าเครื่องมือหรือกระบวนการใด ๆ
แม้กระทั่งกษัตริย์ฝรั่งเศสผู้ได้ชื่อว่าครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของฝรั่งเศสอย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เคยตรัสไว้ว่า “ศิลปะแห่งการเมืองก็คือการรู้จักใช้สถานการณ์ปัจจุบันให้เป็นประโยชน์” (“Tout l’art de la politique est de se server de conjunctures”) อันสะท้อนให้เห็นว่าการปกครองนั้นหาใช่เรื่องของกลยุทธ์ในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทำความเข้าใจบริบทของสังคมเพื่อนำมาพลิกแพลงดัดแปลงให้ส่งประโยชน์ต่อตน ในนวนิยายการเมืองสุดคลาสสิกอย่าง 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่แทบจะเป็นดังคู่มือตีแผ่กระบวนการทำงานของโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ เมื่อรัฐสามารถควบคุมการคิดและวิถีในการมองสิ่งต่าง ๆ ของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ประชาชนในรัฐโอเชียเนียแห่ง 1984 ต่างสมาทานว่า 2+2 = 5 ตามที่รัฐบอกได้โดยไม่กังขาหรือมองเห็นความผิดปกติของตรรกะ
“ในท้ายที่สุด รัฐก็ประกาศว่า สองบวกสองเท่ากับห้า และคุณก็ต้องเชื่อตามนั้น ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว รัฐก็ต้องประกาศเช่นนั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะสถานะที่พวกเขาดำรงอยู่บังคับให้พวกเขาต้องทำเช่นนั้น ในที่นี้ สิ่งที่ถูกบิดเบือนหาใช่ประสบการณ์ที่ประชาชนมีต่อความจริง แต่พวกเขายังใช้กลวิธีบิดเบือนสถานะของความจริงด้วยอุดมการณ์ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง”
การโฆษณาชวนเชื่อจึงไม่ใช่แค่การประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารเพื่อให้ประชาชนมีแนวโน้มทางความคิดทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกับรัฐ แต่มันยังรวมถึงการบิดเบือนความคิดหรือการมองโลกของประชาชนให้เป็นไปดังที่รัฐหรือผู้ปกครองต้องการ โดยละเลยความจริงต่าง ๆ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น ประวัติศาสตร์ ตรรกะ หรือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ การก่อต้ังองค์กรเพื่อเผยแผ่ความเช่ือของคริสตจักรโรมันคาทอลิก (Sacra Congregatio de Propaganda Fide) โดยพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 15 ใน ค.ศ. 1622 จึงถือเป็นหลักฐานแรก ๆ ของต้นกำเนิดการโฆษณาชวนเชื่อของประวัติศาสตร์ และในอีกไม่กี่ปีถัดมา เมื่อพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 ก่อตั้งโรงเรียนศาสนา Collegium Urbanum โดยมีจุดประสงค์เพื่ออบรมบ่มเพาะบาทหลวงออกไปทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาและความเชื่อให้เป็นไปในแบบแผนเดียวกัน การประชาสัมพันธ์หรือเผยแผ่วิธีการคิดต่อชีวิตและพระเจ้านี้จึงถือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อโดยสมบูรณ์
เนื่องในสัปดาห์กิจกรรม #5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง ที่จะจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ #6ตุลา2519 หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาในสังคมไทย อันเป็นผลมาจากการที่รัฐสร้างความชอบธรรมให้กับการ ‘กระทำ’ ในวันนั้นด้วยอานุภาพของอาวุธรัฐที่ทรงพลังอย่างน่ารังเกียจที่สุดที่เรียกว่า ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปกว่าสี่ทศวรรษ แต่รัฐก็ยังคงพยายามที่จะบิดเบือนและกลบฝัง ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ซึ่งยังคงแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร การโฆษณาชวนเชื่อยังคงเป็นเครื่องมืออันน่าสะอิดสะเอียนที่รัฐไทยไม่เคยวางมือ
คอลัมน์ History of จึงขอรวบรวมประวัติศาสตร์ฉบับย่อของสิ่งที่เรียกว่า ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาให้ทุกคนได้ร่วมสำรวจโฉมหน้าความเลวร้ายของอาวุธรัฐชิ้นนี้กัน
Propaganda Poster: จากยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย สู่ร่างไร้ลมหายใจที่ ‘ประตูแดง’
"เมื่อการเมืองมีเสถียรภาพแล้ว พวกเขา (คณะราษฎร) ก็เดินหน้าสร้างชาติ"
คือคำอธิบายของ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สวนสุนันทา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยหลังการปฏิวัติ 2475 ซึ่งเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านทั้งในแง่การเมืองและสังคมไทย
ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและการเดินหน้าสู่ภารกิจการ ‘สร้างชาติ’ ของคณะราษฎรนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาการสื่อสารทางตรงถึงประชาชนคนไทย โดยเฉพาะในยุคที่ จอมพลป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำของชาติ เป้าหมายหลักของจอมพล ป. ณ ขณะนั้นก็คือการผลักดันประเทศชาติให้เข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ อันเป็นเป้าหมายที่สืบเนื่องจากความสำเร็จในการถอนรากถอนโคนเหล่าผู้นำหัวอนุรักษ์นิยมที่ฝ่ายจอมพล ป. มองว่าเป็นสิ่งฉุดรั้งความก้าวหน้าของชาติ
โดยหลังจากที่ พล อ. พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มิ.ย.2476 และปราบปรามกบฏบวรเดช เมื่อ ต.ค. 2476 อันเป็นการกำจัดสายอนุรักษ์นิยมจนสิ้นแล้ว เป้าหมายถัดไปของคณะราษฎรก็คือการผลักดันให้ชาติไทยเจริญก้าวหน้าผ่านนโยบาย ‘สร้างชาติ’ ที่ประกอบด้วยการสร้างชาติทางเศรษฐกิจ การสร้างชาติทางวัฒนธรรม และการสร้างชาติทางการทหาร โดยคณะรัฐบาลของจอมพล ป. มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนชาวไทยเป็นหลัก เพราะในความหมายของจอมพล ป. ‘ชาติ’ = ‘ประชาชน’ การที่ประชาชนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีอารยะมากขึ้น เช่น การสวมหมวกเมื่อออกไปข้างนอกหรือการเลิกกินหมาก จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของกาาสร้างชาติไทยที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งทัดเทียมกับชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่กำลังมีอำนาจขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ยุคนั้นเกิดคำขวัญติดปากอย่าง ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย ผู้นำไปไหน ฉันไปด้วย’ ซึ่งเป็นการพยายามโน้มน้าวให้ประชาชนน้อมรับนโยบายการสร้างชาติไปใช้ เพื่อที่รัฐไทยจะได้ยิ่งใหญ่และไม่มีใครกล้ารุกรานนั่นเอง
ในยุคนี้เราจึงได้เริ่มเห็นสื่อการโฆษณาชวนเชื่อแรก ๆ ของไทย นั่นก็คือโปสเตอร์สร้างชาติที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ภาพของชาติไทยในอุดมคติของผู้นำ และเพื่อสื่อสารเรื่องกฎและข้อห้ามที่รัฐคิดขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทย เช่น โปสเตอร์นำเสนอภาพการแต่งกายแบบไทยไม่มีอารยะที่เป็นภาพคนนุ่งโสร่ง โพกหัว เปลือยท่อนบน กับภาพไทยอารยะที่เป็นการแต่งกายตามหลักสากล ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อนอก เป็นต้น
แต่เมื่อพูดถึงโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ ภาพที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีคงหนีไม่พ้นภาพโปสเตอร์โฆษณาความยิ่งใหญ่ของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และในทางกลับกัน โปสเตอร์ต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็เป็นที่แพร่หลายไม่แพ้กัน ซึ่งการแพร่สะพัดของโปสเตอร์คอมมิวนิสต์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมานี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มข้นในการใช้สื่อโฆษณาเพื่อชักจูงประชาชนให้น้อมรับอุดมการณ์ทางการเมืองและเพื่อการแผ่ขยายอำนาจของรัฐและผู้ปกครองในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อโปสเตอร์ซึ่งเป็นสื่อโฆษณาสาธารณะที่เข้าถึงประชาชนได้ใกล้ชิดที่สุด
ย้อนกลับไปก่อนหน้าโปสเตอร์คอมมิวนิสต์ การใช้โปสเตอร์เพื่อเผยแผ่อุดมการณ์ทางการเมืองมีความเด่นชัดมาก ๆ ในช่วงการเรืองอำนาจของกองทัพนาซี ในค.ศ. 1933 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้แต่งตั้งให้ ดร. โจเซฟ เกิบเบิลส์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในเยอรมนี มีหน้าที่หลักเป็นการถ่ายทอดอุดมการณ์ของพรรคนาซีให้กับประชาชน และคอยควบคุมความคิดของประชาชนให้เป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการ โดยอาศัยช่องทาง การสื่อสารมวลชนทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศเป็นเครื่องมือ สื่อมวลชนทั้งวิทยุ, หนังสือพิมพ์ และภาพยนตร์ โดยกระทรวงโฆษณาการนี้มีบทบาทอย่างมากในการถ่ายทอดอุดมการณ์ของพรรคนาซีสู่ประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรักและศรัทธาในฮิตเลอร์ รวมไปถึงการทำให้ประชาชนชาวเยอรมันเกลียดชังยิว และสรรเสริญความบริสุทธิ์ของเชื้อสายอารยัน
เมื่อถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะผู้นำของโลก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ได้เล็งเห็นว่าภัยของโลกถัดจากนาซีที่ถูกปราบไปแล้วก็คือภัยจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยมีจีนและโซเวียตเป็นศัตรูหลักที่ผู้นำโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกาจะต้องปราบปรามให้จงได้ ในประเทศไทย การดำเนินงานเพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ดำเนินไปตามแบบวิถีเดียวกับการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ และหนึ่งในสื่อสำคัญก็คือการใช้โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การยกย่องเชิดชูแรงงานและชาวไร่ชาวนา ซึ่งความสำคัญของการดูโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อในยุคนี้ก็คือการที่รัฐไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเองก็ได้ออกโปสเตอร์มาเพื่อต่อสู้กับการใช้โปสเตอร์เผยแพร่อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ซึ่งชุดที่โด่งดังและยังสามารถหาชมได้ในยุคปัจจุบันก็คือ ‘โปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์’ ช่วง พ.ศ. 2510 - 2519 โดยความโดดเด่นของโปสเตอร์ชุดนี้ก็คือการนำเสนอภาพคอมมิวนิสต์ในฐานะผู้ร้ายและผู้ที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ยากของประชาชนในประเทศไทย (“คบหาคอมมิวนิสต์ เหมือนอุ้มอสรพิษไว้กับอก”) มีการนำเสนอภาพเปรียบเทียบชีวิตภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์กับชีวิตภายใต้ลัทธิเสรีภาพ โดยชีวิตภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นเป็นชีวิตแร้นแค้น อยู่กระท่อม พระสงฆ์ถูกนำตัวไปคุมขัง ในขณะที่ชีวิตภายใต้ลัทธิเสรีภาพเป็นชีวิตที่มีความสุข มีสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งถนนและรถประจำทาง ประชาชนมีความสุขใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ถัดจากยุคการต่อสู้เพื่อคัดคานอำนาจกันระหว่างขั้วอำนาจทางการเมืองที่แตกต่างกันผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านโปสเตอร์ เมื่อล่วงถึงยุค #เดือนตุลา เราจะเห็นว่าการใช้โปสเตอร์เพื่อประชาสัมพันธ์อุดมการณ์ทางการเมืองนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ฝ่ายรัฐอีกต่อไป ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา โปสเตอร์ได้กลายเป็นอาวุธของประชาชนในการเผยแพร่ความคิดทางการเมืองและการชักชวนมวลชนให้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งความเฟื่องฟูของโปสเตอร์ในยุคนี้ก็มาจากการพัฒนาของสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการพิมพ์ได้ง่ายขึ้น และเมื่อถึงช่วงก่อนการมาถึงของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โปสเตอร์ก็เป็นอาวุธสำคัญที่นักศึกษาและประชาชนผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้อง ต่อต้าน และเผยแพร่ความไม่พอใจต่อการที่รัฐอนุญาตให้ทรราชทางการเมืองอย่าง ถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศไทย
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย อดีตนักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่างซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ประจำตึก ก.ต.ป. (ปัจจุบันคือห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา) เคยอธิบายไว้ในหนังสือ ‘สร้างสานตำนานศิลป์: 20 ปี แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย 2517-2537’ ว่า ระหว่างปี 2516 - 2519 โปสเตอร์มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะย้อนกลับไปในยุคนั้น เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารยังมีจำกัด โปสเตอร์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร เพราะนักศึกษาสามารถทำกันเองได้ และสื่อสารได้รวดเร็ว โดยโปสเตอร์ในการชุมนุมใหญ่ ๆ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ตามเป้าหมายในการสื่อสาร คือ ประกาศข่าวด่วน เช่น เหตุร้าย มีการฆาตกรรมคนในขบวน และนัดรวมตัวชุมนุมด่วนเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน, ประกาศชุมนุมหรือเชิญชวนร่วมงานสำคัญซึ่งมีการนัดหมายล่วงหน้า เช่น การเฉลิมฉลองวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และสุดท้ายคือ โปสเตอร์ปลุกใจฝ่ายก้าวหน้า
เพจบันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6 ที่ทำหน้าที่รวบรวมความทรงจำและหลักฐานจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้สรุปบทบาทหน้าที่การทำงานของแต่ละตำแหน่งในขบวนการเคลื่อนไหวของภาคนักศึกษาในยุคนั้น โดยหนึ่งในหน้าที่สำคัญของขบวนการก็คือ ฝ่ายติดโปสเตอร์ โดยหน้าที่หลักของผู้ทำหน้าที่นี้ก็คือการเลือกตำแหน่งในการติดโปสเตอร์ซึ่งต้องเป็นจุดที่สะดุดตา และอยู่ในระดับสายตาพอดีคนถึงจะสังเกตเห็นได้ง่าย และฝ่ายนี้มักทำงานกันในเวลากลางคืนเพื่อให้พ้นสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ไม่หวังดี
แม้จะดูเป็นการทำงานหลังบ้าน แต่ตำแหน่งคนติดโปสเตอร์นั้นมีความเสี่ยง และต้องระมัดระวังตัวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงไม่ให้ปะทะกับกลุ่มกระทิงแดงซึ่งเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์และเหมารวมว่าการทำงานของกลุ่มนักศึกษาเป็นความพยายามในการที่จะโค่นล้มสถาบันกษัตริย์จากกลุ่มคอมมิวนิสต์
และหากถามว่า โปสเตอร์นั้นมีความสำคัญต่อการเผยแพร่อุดมการณ์และความเชื่อขนาดไหน? ร่างมรณะสักขีของสองช่างไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอที่ประตูแดง จ.นครปฐม จากความพยายามในการติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอม น่าจะเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ให้เห็นว่า โปสเตอร์มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพียงใด
Propaganda ‘สื่อ’: เสรีภาพ เสรีภัย เสรีประชาธิปไตย เพราะ ‘พระพรหม’ ช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ
เมื่อพูดถึง ‘สื่อ’ ที่พัวพันกับการโฆษณาชวนเชื่อ ความคิดแรกของทุกคนคงพุ่งเป้าไปที่ ‘หนังสือพิมพ์ดาวสยาม’ หนังสือพิมพ์ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการยุยงปลุกปั่นจนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จากพาดหัวข่าวใหญ่ในเช้าวันที่ 6 ตุลา กรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์ทำการแสดงจำลองเหตุการณ์แขวนคอพนักงานการไฟฟ้า (“แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้า แผ่นดินเดือด! ศูนย์เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ”)
แต่ความจริงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า หนังสือพิมพ์ดาวสยามที่ก่อตั้งขึ้นเพียงสองปีก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้นเป็นเพียงหนึ่งในผลสำเร็จของของกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งพัวพันกับการเมืองโลก ผลประโยชน์ และการคัดคานอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งทางเกมการเมืองโลก
ก่อนการมาถึงของดาวสยาม เราขอชวนทุกคนย้อนกลับไปรู้จักกับสื่อที่เป็นต้นสายธารแห่งการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทย ซึ่งผลจากการเผยแผ่ความคิดผ่านสื่อนั้นยังคงฝังรากอยู่ในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน…
บริบทในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความสําคัญต่อประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแหล่งทรัพยากรหลัก และในทางตรงกันข้าม ภูมิภาคแห่งนี้ก็เป็นตลาดสำหรับระบายสินค้าจากประเทศของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
สหรัฐอเมริกามองเห็นว่า อุดมการณ์คอมมิวนิสต์จะเป็นสิ่งกีดขวางอุดมการณ์ทุนนิยมของสหรัฐอเมริกา ประเทศลุงแซมจึงต้องยื่นมือเข้ามาจัดการการเมืองภายในประเทศเหล่านี้ โดยกระทำผ่านทั้งการใช้กำลังทหาร (Hard Power) และการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่าง ๆ (Soft Power)
ประเทศไทยคือหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สหรัฐอเมริกาเล็งไว้เป็นที่มั่นในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อขัดขวางการเผยแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ สหรัฐอเมริกาใช้ ‘การทูตสาธารณ’ เป็นนโยบายสำคัญในการเข้าไปแทรกแซงการเมืองในต่างประเทศ ทั้งการจัดตั้งองค์กร ‘สํานักข่าวสารอเมริกัน’ ที่มีเป้าหมายฉากหน้าเป็นการนำความเจริญก้าวหน้าไปสู่บรรดาประเทศโลกที่ 3 แต่ที่จริงแล้วสำนักข่าวสารอเมริกันนี้ยังทำงานเพื่อประชาสัมพันธ์และใช้ศาสตร์ด้านจิตวิทยาผ่านสื่อในการควบคุมแนวคิดทางการเมืองของประชาชนในประเทศนั้น ๆ ซึ่งในประเทศไทยเอง หน่วยงานนี่ก็ได้ทำงานร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ของไทยโดยที่รัฐบาลอเมริกันเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนทั้งหมด และนั่นจึงเป็นที่มาของนิตยสารที่ชื่อว่า ‘เสรีภาพ’ ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 - 2540
เนื้อหาในนิตยสารเสรีภาพพูดถึงประเด็นในสังคมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม เรื่องผู้หญิง เกษตรกรรม สาธารณสุข ฯลฯ แต่ที่จริงแล้วใจความสำคัญอีกประการหนึ่งของนิตยสารเสรีภาพก็คือการเป็นสิ่งพิมพ์ต่อต้านฝ่ายซ้ายในประเทศไทย ซึ่งในเวลานั้น ตัวแทนของฝ่ายซ้ายในไทยก็คือขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่มีท่าทีต่อต้านสหรัฐอเมริกาในช่วงและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา นั่นเอง
ธงนรินทร์ นามวงศ์ได้มีการจำแนกบทบาทหน้าที่ของนิตยสารเสรีภาพไว้ในวิทยานิพนธ์ที่ชื่อว่า ‘โฆษณาชวนเชื่อในนิตยสารเสรีภาพ พ.ศ. 2497-2518’ โดยอธิบายว่า ในช่วงเริ่มต้นการก่อตั้งนิตยสาร (พ.ศ. 2497 - 2518) จะเป็นการ ‘แนะนำ’ ภาพของคอมมิวนิสต์แก่ผู้อ่านชาวไทยในฐานะ ‘ผู้รุกราน’ และยังคงสานต่อโครงสร้างภาพจำของคนไทยที่มีต่อชาวพม่าในฐานะ ‘ผู้ร้าย’ หรือภัยรุกรานจากนอกบ้านที่มารุกรานดินแดนของ ‘ผู้ดี’ ชาวไทย เพียงแต่เปลี่ยนตัวร้ายจากกองทัพพม่ามาเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มาในรูปของ ‘ญวนอพยพ’, ‘โจรจีนคอมมิวนิสต์’ ที่กำลังซ่องสุมกองกำลังอยู่ทางภาคเหนือของไทย
และตามพล็อตหรือโครงเรื่องเกี่ยวกับภัยคุกคามต่างชาติ สิ่งที่จะตามมาเมื่อเกิดวิกฤติปัญหาก็คือการปรากฏตัวของพระเอก (Hero) ที่มากอบกู้เอกราชความเป็นไทย ซึ่งในที่นี้สหรัฐอเมริกาก็ได้ใช้บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะวีรบุรุษในฐานะผู้นำชาติพ้นภ้ย และเป็นผู้นำประเทศกลับไปสู่ภาพของความสงบร่มเย็น ซึ่งในนิตยสาร Life ฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย ก็ได้มีการบรรยายถึงประเทศไทยในฐานะดินแดนแห่งความสงบ ร่มเย็น เป็นแดนสวรรค์เขตร้อนที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอันบริสุทธิ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นดินแดนที่ผู้คนมีอัธยาศัยงดงาม ตั้งอยู่ในศีลในธรรม การให้ภาพเมืองไทยเช่นนี้จึงยิ่งเป็นการสนับสนุนบทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ปกป้องคุ้มภัยร้ายจากนอกบ้านและผู้ซึ่งจะนำความสงบมาสู่ประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้ ภาพของคอมมิวนิสต์ในฐานะศัตรูภายนอกที่คิดจะรุกรานประเทศไทยจึงซ้อนทับกับภาพของผู้คิดโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ (ซึ่งเท่ากับชาติ) การปกป้องเอกราชของชาติจากคอมมิวนิสต์จึงเป็นเรื่องเดียวกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์ผู้เป็นสัญลักษณ์และผู้คุ้มครองความเป็นชาติไทย
นิตยสารเสรีภาพยังมีความสำคัญในแง่ของการสร้างภาพความโหดร้ายและป่าเถื่อนแก่คอมมิวนิสต์ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการลดค่าความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) เพื่อสร้างความเกลียดชังและความชอบธรรมในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในไทย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นครองอำนาจ เขาก็ได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างสุดตัว โดยเฉพาะในการส่งกองประชาสัมพันธ์ไปยังพื้นที่ห่างไกลในแถบภาคเหนือและอีสาน และยังมีการให้ภาพ ‘พวกทรยศชาติ’ ที่รับเงินจากภายนอกมาทำลายประเทศ
นิตยสารเสรีภาพยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่ภาพของตำรวจตระเวนชายแดนและพระมหากษัตริย์ที่เดินทางไปยังพื้นที่ทุรกันดาร เพื่อนำเสนอภาพการคุ้มกันประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์ที่อาจรุกรานเข้ามาทางตะเข็บชายแดน โดยเฉพาะตำรวจตระเวนชายแดนที่นอกจากจะเป็นภาพแทนของการปกป้องคุ้มภัยแล้ว ยังมีบทบาทในฐานะผู้นำความเจริญมาก้าวหน้ามาสู่พื้นที่ห่างไกล ซึ่งภาพนี้ก็เด่นชัดมากใน พ.ศ. 2499 ที่มีโครงการสร้างโรงเรียนชาวเขาของกองกํากับการตํารวจชายแดนเขต 5 ซึ่ง สร้างขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
การนำเสนอพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ยังเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของนิตยสารเสรีภาพ เจ. โดโนแวน (William J. Donovan) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา คือผู้ที่เสนอแนวคิดให้ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ในการทําสงครามจิตวิทยาเพื่อการต่อต้านคอมมิวนิสต์ การส่งองคมนตรีเพื่อนําพระบรมฉายาลักษณ์ไปพระราชทานให้แก่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวน์เป็นการส่วนพระองค์ รวมไปถึงโครงการเสด็จฯ ประพาสต่างจังหวัดล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความชอบธรรมเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์และเพื่อดึงใจมวลชนชาวไทยให้อยู่ข้างสหรัฐอเมริกา กระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการดําเนินนโยบายแผนสงครามจิตวิทยาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของ สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา
นิตยสารเสรีภาพจึงเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อที่สำคัญซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งอันสลับซับซ้อนในสังคมไทย และหากจะกล่าวว่า บทบาทหนึ่งของนิตยสารเสรีภาพที่สำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย ก็คือการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็คงจะไม่ผิดนัก
…แต่ความน่าเศร้าก็คือ แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านไปเกือบศตวรรษแล้ว แต่เมล็ดพันธุ์ที่นิตยสารเสรีภาพได้บ่มเพาะไว้ก็ยังคงออกดอกออกผลงดงาม… เห็นได้จากในยุคปัจจุบันที่เรายังคงเห็นสื่ออีกมากมายที่ยังคงทำหน้าที่สานต่อเจตนารมณ์ที่นิตยสารเสรีภาพได้ทิ้งไว้…
Propaganda Film: จากผีคอมมิวนิสต์สู่ ‘ผีในบ้าน’
แม้ว่าการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยจะเริ่มถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมัยรัชกาลที่ 6 จากการที่ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ซึ่งเป็นผู้หลงใหลในภาพยนตร์ และยังเป็นนักทำหนังมือสมัครเล่น ได้ทรงก่อตั้ง ‘กองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว’ เพื่อผลิตภาพยนตร์ข่าวของกรมรถไฟและข่าวสารประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล แต่กว่าที่ ‘ภาพยนตร์’ จะกลายเป็นสื่อทรงอานุภาพที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างล้นหลาม ก็เมื่อเข้าล่วงรัชกาลที่ 7 ที่ได้มีการสร้าง ‘ศาลาเฉลิมกรุง’ ขึ้นเป็นโรงหนังแห่งแรกในประเทศไทย ล่วงเลยถึงในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้มีการจัดทำหนังเรื่องแรกโดยรัฐบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2478 นั่นก็คือ ‘เลือดทหารไทย’ ซึ่งออกฉายหลังหนังเรื่องแรกของไทยอย่าง ‘โชคสองชั้น’ เพียงแปดปี
การเกิดขึ้นของ เลือดทหารไทย สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้ปกครองไทยเล็งเห็นถึงอานุภาพและความสำคัญของภาพยนตร์ในฐานะช่องทางการประชาสัมพันธ์และการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่หาญกล้าของนายทหารหาญผู้เป็นตัวแทนของชาติไทย โดยสามารถกล่าวได้ว่า เลือดทหารไทย เป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ไทยอย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงได้ทุนสร้างจากรัฐ แต่จอมพล ป. ยังลงมือวางพล็อตเรื่องเองด้วย!
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ไทย ได้ค้นพบหลักฐานที่สะท้อนถึงเป้าหมายในการสร้างหนังเรื่องนี้ โดยปรากฏอยู่ในเอกสารรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2477 ณ วังปารุสกวัน ซึ่งอนุมัติให้มีการสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้น “เพื่อการโฆษณาให้ราษฎรนิยมกิจการของกระทรวงต่าง ๆ” เนื้อเรื่องของหนังว่าด้วยชะตากรรมของชายหญิงที่เกี่ยวพันกับราชการทหารและรักสามเส้า โดยเน้นที่วีรกรรมของพระเอกผู้เป็นนายทหารซึ่งสามารถนำทัพไทยเข้ารบในสงครามและคว้าชัยกลับพระนครได้อย่างงดงาม
ในยุคสร้างชาติ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งในขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ก็ได้สร้างหนังอีกเรื่องขึ้นมาโดยใช้ทีมงานถ่ายทำเดียวกับหนังเรื่อง เลือดทหารไทย แต่คราวนี้จุดประสงค์ในการทำหนังหาใช่เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของทหาร แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของชาวนาชาวไร่ไทยในฐานะกระดูกสันหลังของชาติ
หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า ‘บ้านไร่นาเรา’ และแม้ว่าจะเป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อสนองต่อนโยบายสร้างชาติของจอมพล ป. ในยุคนั้น แต่จอมพล ป. ก็ยังพยายามสอดแทรกการรณรงค์เรื่องการแต่งกายและวิถีชีวิตแบบ ‘ไทยอารยะ’ เข้าไปในเรื่อง ด้วยเหตุนี้ชาวนาชาวสวนในเรื่องจึงไม่ได้นุ่งกางเกงม่อฮ่อมหรือคาดผ้าขาวม้าที่เอว แต่พากันสวมเสื้อเชิ้ตและรองเท้าบู๊ตแบบชาวไร่ตะวันตกไปดำนา!
เมื่อถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่าทีของการใช้หนังในการโฆษณาชวนเชื่อก็มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับการโฆษณาผ่านโปสเตอร์ จากการเผยแผ่อุดมการณ์รัฐชาติ สู่การสร้างความเกลียดชังและนำเสนอภาพคอมมิวนิสต์ในฐานะปีศาจร้าย
นอกจากการก่อตั้งนิตยสารเสรีภาพเพื่อโต้ตอบลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว สํานักข่าวสารอเมริกันในประเทศไทยยังอำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพื่อนำไปจัดฉายในจังหวัดห่างไกล เช่น เชียงใหม่, อุบลราชธานี, อุดรธานี, นครราชสีมา, สงขลา, ขอนแก่น, ยะลา, สกลนคร, นครพนม, นครศรีธรรมราช และพิษณุโลก โดยภาพยนตร์ที่ถูกนำไปจัดฉายนั้นมีตั้งแต่ การ์ตูนล้อลัทธิคอมมิวนิสต์เรื่อง หนุมานกับลูกต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Adventures of Hanuman), ภาพยนตร์เรื่อง ไฟเย็น (Cold Fire) อันว่าด้วยกระบวนการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์เพื่อเข้ามาบ่อนทำลายชาติ จัดทำขึ้นเพื่อต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ในภาคอีสานของไทย, ภาพยนตร์บรรยายด้วยการร้องหมอลํา สุนทราภิรมย์ ชุดที่ 9 ร่ายภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
แต่ในบรรดาหนังโฆษณาชวนเชื่อที่โดดเด่นที่สุดในยุคนี้ ก็หนีไม่พ้น ‘คำสั่งคำสาป’ ซึ่งหอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) ได้ระบุว่า ‘เป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคแรก ๆ ของไทย’ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี 2494 เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวการสืบหาเบื้องหลังของเหตุการณ์ลึกลับ เมื่อรูปปั้นของ ดร.ทองคำ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีใจรักในประชาธิปไตยและมีผู้คนศรัทธาเป็นจำนวนมาก กลับเปล่งเสียงเชิญชวนให้ผู้คนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ ซ้ำยังเกิดเหตุฆาตกรรมปริศนาภายในบ้าน โดยทุนในการสร้างทั้งหมดนั้นถูกอุดหนุนด้วยสํานักข่าวสารอเมริกัน ซึ่งในภายหลัง หนึ่งในเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวอเมริกันอย่าง พอล กู๊ด ก็ได้รำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อเขานำภาพยนตร์เหล่านี้ไปฉายตามจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ห่างไกลของไทย โดยภาพที่เขาจำได้ดีก็คือ ภาพยนตร์เหล่านี้มักจะถูกฉายพร้อมกับการแจกจ่ายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ และหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็ก เพื่อให้ความรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยและภัยร้ายของคอมมิวนิสต์
การผลิตภาพยนตร์เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อแทบจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘พันธกิจหลัก’ ของรัฐไทยมานับแต่นั้น ด้วยความที่ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ประชาชน โดย วรัญญา ประเสริฐ ได้รวบรวมสื่อทางการเมืองในยุคการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ไว้ในวิทยานิพนธ์ชื่อ ‘การสื่อสารทางการเมืองในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2557 - 2559’ พบว่าในยุคนี้มีการสร้างภาพยนตร์ไทยเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์รัฐมากมาย ประกอบด้วย ภาพยนตร์สั้นชุดไทยนิยม 12 เรื่อง (ในม่านหมอก, ปริศนาวันล่าสัตว์, กลับบ้าน, เจ้าชายป้อม, เปลี่ยน, BANGKOK 2014, 30, ความลับของวินัย, คุณธรรม, ไอติมแมน, 2110 และ ก้าว) และ ภาพยนตร์สารคดีชุดก้าวข้าม. . .เพื่อตามฝัน 7 เรื่อง (การสร้างที่กลับมา, ศรัทธาและเหตุผล, ชีวิตใหม่ที่เชื่อมโยง, กำลังใจเคลื่อนที่เร็ว, น้ำเดียวกัน, ตามหาจิตวิญญาณไทย และ รากแก้วของต้นไม้ใหญ่) โดยเนื้อหาของภาพยนตร์ทั้งหมดมักมีประเด็นร่วมกันอยู่ไม่กี่อย่าง นั่นก็คือ การสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจเพื่อขจัดความขัดแย้งในประเทศชาติ, การสร้างความสมานฉันท์สามัคคีในหมู่ประชาชน, การเชิดชูสถาบันกษัตริย์ และการเชิดชูความเจริญทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้การบริหารของรัฐบาล คสช.
…ซึ่งถามว่าภาพยนตร์เหล่านี้ ‘ชวน’ ให้ ‘เชื่อ’ หรือไม่… ไม่พูดดีกว่า
Propaganda Music: ขอความสุขกลับคืนมา (สักทีนะไอ้…ต้าว)
ในช่วงปี พ.ศ. 2518-2519 สถานการณ์การเมืองคุกรุ่นไปด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจนำในระหว่างฝ่ายซ้ายที่นำโดยเหล่านักศึกษาและฝ่ายขวาที่มีรัฐบาลให้การหนุนหลัง บรรยากาศในช่วงเวลานี้เต็มไปด้วยการโฆษณาของแต่ละฝ่าย ‘เพลง’ หนึ่งในประดิษฐกรรมที่สามารถส่งสารและสะเทือนความรู้สึกของผู้คน จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ
ในวิทยานิพนธ์ของ ยิ่งลักษณ์ บุญเก็บ เรื่อง ‘การใช้เพลงปลุกใจในฐานะสื่อประชาสัมพันธ์ให้คนไทยสำนึกรักชาติของกองทัพบก พ.ศ. 2475-2550’ ยิ่งลักษณ์ได้ศึกษาพัฒนาการของเพลงปลุกใจที่ผลิตโดยกองทัพบกในฐานะสื่อประชาสัมพันธ์ให้คนไทยมีสำนึกรักชาติ และพบว่า เป้าหมายในการประชาสัมพันธ์เพลงของกองทัพบกนั้นแตกต่างกันไป (แต่ไม่มากนัก) ตามยุคสมัย แต่สามารถแบ่งได้เป็น 4 ช่วง คือ เพลงยุคปลูกอุดมการณ์ชาตินิยม (2475-2500) เป็นเพลงที่นำเสนอการเสียสละพลีชีพเพื่อชาติ หวงแหนดินแดนอธิปไตยและความเป็นเชื้อชาติไทย, เพลงยุคสู้ภัยคอมมิวนิสต์ (2501-2525) ที่มีแก่นในการให้กำลังใจทหารในการปฏิบัติหน้าที่ การประณามโจมตีผู้เป็นภัยต่อชาติและการเตือนสติเตือนใจคนไทย, เพลงยุคงานประจำทำตามหน้าที่ (2526-2535) เน้นการแสดงถึงความภาคภูมิใจในกองทัพบก, เพลงยุคกู้ภาพลักษณ์กองทัพบก (2536-2538) มุ่งแสดงเจตนารมณ์และจุดยืนของกองทัพบกภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 และ เพลงยุคฟื้นฟูอุดมการณ์รักชาติ (2539-2550) ซึ่งแก่นหลักของเพลงคือการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การแสดงความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ และการแสดงถึงบทบาทของทหารที่เสียสละเพื่อปกป้องชาติ
หากเราย้อนกลับไปดูเพลงปลุกใจหรือเพลงโฆษณาชวนเชื่อที่โด่งดังที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเพลงปลุกปั่นยุยงประจำใจของมวลชนสายอนุรักษ์นิยมอย่าง ‘หนักแผ่นดิน’ โดยผู้แต่งเพลงนี้ก็คือ พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 เนื้อหาของเพลงมุ่งแบ่งแยกคนในชาติออกเป็นสองกลุ่ม และการแปะป้ายภาพผู้ร้ายที่คุกคามความเป็นชาติในอุดมคติให้กับฝ่ายหัวก้าวหน้าในช่วงเวลานั้น
“คนใดคิดร้ายราวี ประเพณีของไทยไม่ต้องการเกื้อหนุนอคติ เชื่อลัทธิอันธพาล แพร่นำมันมาบ้านเมืองเรา”
ด้วยความที่เนื้อหาในเพลงที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกและตีกรอบของความเป็น ‘คนดี’ ของคนในชาติเอง เพลงหนักแผ่นดินจึงอาจเป็นเพลงแรก ๆ ที่นิยามคนในชาติด้วยกันเองให้เป็นศัตรูหรือทำให้ ‘คนใด’ ตามในเนื้อเพลงกลายเป็นคนนอกและสามารถกำจัดออกไปได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา เพลงนี้จึงถูกเปิดตามสถานีวิทยุของฝ่ายขวา เพื่อสร้างความเป็นคนอื่นให้กับฝ่ายซ้าย และสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามและกำจัดฝ่ายซ้ายของฝ่ายตนเอง
บทบาทหน้าที่ของเพลงในฐานะเครื่องมือของรัฐในการปลุกใจคนในชาติผู้ถูกปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองในแบบเดียวกัน และสร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปรามผู้เห็นต่าง ไม่เคยเลือนหายไปจากสังคมไทย ในยุคปัจจุบัน เรากลับได้เห็นเพลงโฆษณาชวนเชื่ออุดมการณ์รัฐที่กลับถูกแต่งขึ้นโดยภาคประชาชน อันเป็นข้อพิสูจน์ว่าการผลของการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐก่อนหน้านี้ได้ผลิดอกออกผลงอกงาม เพลง ‘ขอความสุขคืนกลับมา’ (พ.ศ. 2553 หรือหนึ่งปีก่อนการรัฐประหารครั้งล่าสุด) ที่แม้ว่าจะมีลักษณะที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ได้มีท่าทีประณามรุนแรงเท่ากับเพลงหนักแผ่นดิน แต่แก่นหลักของเพลงนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับเพลงหนักแผ่นดินที่เป็นการนำเสนอภาพผู้ยึดถืออุดมการณ์คนละแบบ (คนเสื้อแดง) ในฐานะภัยคุกคามของประเทศชาติในอุดมคติ โดยเฉพาะในท่อนที่นำเสนอว่า ณ ขณะนั้นบ้านเมืองที่เคยสวยงามต้องพังพินาศลงด้วยความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งมีสาเหตุมาจากกลุ่มทางการเมืองอีกฝ่าย
“บ้านเราเหมือนเมืองในฝัน อยู่ตรงไหนสุขใจทั้งนั้น บ้านคนไทยจนไม่นานมานี้ เหมือนมีลมแห่งความขัดแย้ง คอยพัดความแห้งแล้ง เข้ากลางใจลมยังคงพัดพา ความสุขและความสดใส กับรอยยิ้มจากใจคนไทย ไม่มีเหลือ”
ถ้าเพลง ขอความสุขคืนกลับมา นำเสนอภาพของวิกฤติบ้านเมืองอันมีสาเหตุมาจากภัยคุกคามในบ้าน เพลง ‘‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ ที่มีการอ้างว่าแต่งคำร้องโดยพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ในขณะนั้น ก็คือการสานต่อเรื่องราวด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์การเป็นวีรบุรุษของกองทัพที่ก้าวเข้ามาปกป้องชาติจากภัยคุกคาม
เนื้อหาของบทเพลงมีลักษณะอ้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นข้ออ้างตามที่ปรากฏในประกาศยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อนหน้านี้ โดยใจความหลักกล่าวถึงความขัดแย้งบาดหมางในบ้านเมืองอันเป็นเหตุให้ต้องมีการก้าวเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อคืนความสงบสุขสู่การดำรงชีวิตของคนในชาติ แต่ด้วยความเป็นเพลง เนื้อหาในบทเพลงจึงมีการขยายความ เพิ่มรายละเอียด และเลือกใช้คำที่ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมได้มากกว่าแถลงการณ์ทางการเมือง
“วันที่ชาติและองค์ราชา มวลประชาอยู่มาพ้นภัยขอดูแลคุ้มครองด้วยใจ นี่คือคำสัญญา วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป เพื่อนำรักกลับมา ต้องใช้เวลาเท่าไร โปรดจงรอได้ไหม จะข้ามผ่านความบาดหมาง”
เนื้อหาในบทเพลงเน้นให้เห็นภาพสถาบันชาติและสถาบันกษัตริย์ที่เป็นหัวใจของคุณค่าความเป็นไทยที่กำลังตกอยู่ในวิกฤติของภัยคุกคาม โดยที่สามารถอุปมาได้ว่า ‘ไฟลุกโชน’ ในเนื้อเพลงก็คือวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่ ‘คนที่เดินเข้ามา’ ก็สะท้อนภาพของทหารที่อาสาเข้ามาขจัดความขัดแย้งและคืนความสงบสุขแก่สังคมไทย เนื้อเพลงคืนความสุขให้คนในชาติจึงเป็นการเล่าเรื่องสังคมอันสงบสุขที่เกิดจากการยึดถือคุณค่าความดีงามในสังคมไทยที่มาจากสถาบันชาติและสถาบันกษัตริย์ที่เชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตอันสงบสุขของคนในชาติ (“ปวงประชาอยู่มาพ้นภัย”) แต่แล้วกลับเกิดความพลิกผันเมื่อคุณค่าความดีงามเหล่านั้นกำลังถูกคุกคามจากภัยร้ายที่หมายมั่นจะกำจัดคุณค่าดังกล่าวออกจากสังคมไทย (วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย”) ซึ่งสถานะอันสั่นคลอนของคุณค่าความเป็นไทยก็เป็นผลทำให้ชีวิตของคนในสังคมไทยต้องเผชิญภัยคุกคามไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทหารที่จะทำหน้าที่ยุติภัยร้ายดังกล่าวปกป้องคุณค่าของสังคมไทยอันเป็นการปกป้องความมั่นคงของชีวิตของคนในสังคม
แต่ถ้าถามว่าปัจจุบัน ‘เขา’ คืนความสุขให้เราสำเร็จดังที่พรรณนาไว้ในเพลงหรือยัง… เอาเป็นว่าบางทีโฆษณาชวนเชื่อมันก็ไม่ชวนให้เชื่ออะโนะ
อ้างอิง: ไพโรจน์ กาญจนพันธุ์. (2518). การต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายคอมมิวนิสต์โดยรัฐบาลไทย ศึกษาเฉพาะกรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. มลิสา ธนมิตรามณี. (2541) บทบาทการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีในเยอรมนี ระหว่าง ค.ศ.1933-1945 . มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์/กรุงเทพฯ. DOI : https://doi.nrct.go.th/ListDoi/listDetail?Resolve_DOI= วรัญญา ประเสริฐ. (2559). การสื่อสารทางการเมืองในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2557-2559. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ณัฐพล ใจจริง. (2020). คณะราษฎรเยือนแดนซากุระ: การแสวงหาตัวแบบการ “สร้างชาติ” ภายหลังการปฏิวัติ 2475. วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์, 7(2), 1-33. https://www.fapot.or.th/main/news/318 https://waymagazine.org/movie-brainwash-1/ https://www.silpa-mag.com/history/article_45546 https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000036132 https://www.matichon.co.th/politics/news_2953445 https://www.matichon.co.th/politics/news_2955597