เบื้องหลังความหนาวเหน็บและการเอาชีวิตรอดใน Hunters in the Snow ของ Pieter Bruegel

เบื้องหลังความหนาวเหน็บและการเอาชีวิตรอดใน Hunters in the Snow ของ Pieter Bruegel

เบื้องหลังความหนาวเหน็บและการเอาชีวิตรอดใน Hunters in the Snow ของ Pieter Bruegel

กว่าที่ภาพทิวทัศน์ของฤดูหนาวจะปรากฏในโลกศิลปะตะวันตก ก็เป็นเวลาล่วงเลยเข้าสู่ศตวรรษที่ 14-15 เข้าไปแล้ว เพราะก่อนหน้านั้น ศิลปะมีไว้เพื่อรับใช้ศาสนาและเพื่อการนำเสนอฉากชีวิตของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ภาพวิวทิวทัศน์ที่เป็นสิ่งที่เห็นได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในชีวิตประจำวันของมนุษย์จึงไม่ได้มีความสลักสำคัญมากพอที่ศิลปะจะลงแรงลงมือนำเสนอออกมาในงานศิลปะ ยิ่งเป็นทิวทัศน์ของฤดูหนาวหิมะขาวโพลนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับเรื่องราวในพระคัมภีร์ และพอถึงช่วงฤดูหนาวจริง ๆ คนก็หลบเข้าไปอยู่ในบ้านกันมากกว่าจะออกมาชื่นชมความเหน็บหนาว ภาพทิวทัศน์ของเหมันต์ฤดูจึงแทบไม่เคยปรากฏในงานศิลปะ

ด้วยเหตุนี้ ภาพวาดกลุ่มนายพรานท่ามกลางทิวทัศน์ฤดูหนาวอย่าง Hunters in the Snow (1565) ผลงานของมาสเตอร์เรอเนซองส์ชาวเบลเยียมอย่าง ปีเตอร์ เบรอเคิล (ผู้พ่อ) จึงได้รับการยกย่องให้เป็นภาพทิวทัศน์ฤดูหนาวชิ้นแรก ๆ ของโลกศิลปะตะวันตก และแม้ว่าหากดูผ่าน ๆ แล้วจะเหมือนกับว่าภาพกลุ่มนายพรานที่เหนือขึ้นไปคือเหล่าผู้คนที่กำลังรื่นรมย์กับกิจกรรมในช่วงฤดูหนาว เช่น การเล่นไอซ์สเกตบนแม่น้ำที่เป็นน้ำแข็ง หรือกลุ่มคนที่กำลังรับความอบอุ่นจากกองไฟหน้าโรงแรม ฯลฯ แต่ที่จริงแล้ว Hunters in the Snow คือผลงานศิลปะที่นำเสนอฤดูหนาวในแบบจริงแท้ที่สุด ปราศจากการโรแมนติไซส์ นั่นก็คือ ฤดูหนาวในฐานะช่วงเวลาแห่งความตายและความทุกข์ทน

ในช่วงเวลาที่เบรอเคิลวาด Hunters in the Snow เขาและชาวยุโรปทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่คนในยุคหลังจะย้อนกลับไปศึกษาและขนานนามมันว่า ‘ยุคน้ำแข็งน้อย’ (Little Ice age) อันเป็นช่วงเวลา 4,000 ปีในประวัติศาสตร์ (กินเวลาตั้งแต่ปี 1300 - 1850) มนุษย์ที่อุณหภูมิโลกลดลงผิดปกติ จนทำให้แดนหนาวที่หนาวเหน็บอยู่แล้วอย่างยุโรปยิ่งหนาวลงไปอีก และว่ากันว่าช่วงยุค 1560s อันเป็นช่วงที่เบรอเคิลวาด Hunters in the Snow นั้นเป็นช่วงที่หนาวเหน็บที่สุดในยุคน้ำแข็งน้อย นี่คือช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวังที่ชาวยุโรปไม่เพียงเผชิญหน้ากับความทรมานจากอากาศหนาวเย็น แต่พวกเขายังต้องต่อสู้กับความอดอยากจากวิกฤติอาหารขาดแคลน ซึ่งตามมาด้วยการก่อจลาจลและการเข่นฆ่ากันเพื่อความอยู่รอด รวมไปถึงบรรดาความป่วยไข้ และนี่ยังเป็นหนึ่งในยุคที่อัตราการฆ่าตัวตายพุ่งสูงด้วย

ความหนาวเย็นแสนทรมานที่นำมาสู่ความพินาศของพืชผลที่ลงมือปลูก รวมไปถึงความตายของทารกที่ไม่อาจต่อสู้กับความหนาวเย็นได้ ทำให้ผู้คนในยุคนั้นเชื่อว่าพวกเขาถูกลงโทษด้วยพระเจ้า หรือไม่ก็โทษว่าเป็นฝีมือของเหล่าแม่มด (จนนำมาสู่การล่าแม่มดในยุคนั้น) ด้วยเหตุนี้ หากเราจ้องมองภาพนี้ดี ๆ ก็จะเห็นว่า กลุ่มนายพรานกำลังมุ่งหน้ากลับสู่หมู่บ้านพร้อมกับใบหน้าก้มต่ำซึ่งแสดงออกถึงความผิดหวัง บรรดาสุนัขล่าเนื้อก็แสดงอาการคล้ายกันทั้งคอตกและหางที่ลู่ตก ในขณะที่ชาวบ้านที่กำลังผิงไฟอยู่ก็ไม่แม้แต่จะเงยหน้าขึ้นมาทักทายกลุ่มนายพรานผู้เป็นกำลังสำคัญในการหาอาหารให้กับสมาชิกในหมู่บ้าน ราวกับพวกเขาก็รู้ว่าการออกไปล่าสัตว์ครั้งนี้คว้าน้ำเหลว ไกลออกไป เหล่าผู้คนที่กำลังรื่นรมย์กับกิจกรรมบนผืนน้ำแข็งนั้นหาได้เฉลียวใจเลยว่า ฤดูหนาวอันโหดร้ายกำลังมาเยือน