ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของสุนทรียะแห่งความ ‘เยอะ’

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของสุนทรียะแห่งความ ‘เยอะ’

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของสุนทรียะแห่งความ ‘เยอะ’

กระจกที่มีกรอบเป็นรูปทรงคลื่นยึกยัก วอลเปเปอร์แต่งบ้านลายดอกไม้หรือกราฟิกสีสันฉูดฉาดบาดตา ฟาซาดตึกคาเฟ่ที่เป็นเส้นโค้ง เฟอร์นิเจอร์กำมะหยี่สีเจ็บจี๊ดถึงใจ สิ่งของลวดลายหินอ่อนใด ๆไปจนถึงเสื้อแขนกุดลายตารางกราฟิกที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า ‘เสื้อสายฝอ’ ฯลฯ

หากใครมีสิ่งเหล่านี้เซฟอยู่ใน Instagram หรือบอร์ด Pinterest สำหรับเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งตัวหรือแต่งห้องแล้วล่ะก็… ขอให้รู้ไว้ว่ากำลังตกเป็นทาสรักของสไตล์หรือสุนทรียะที่เรียกว่า ‘Maximalism’ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็น ‘ความเยอะ’ ‘ความถม’ งานเติมอีก เอาอีก ศาสนาของชาววัตถุนิยม ผู้ชื่นชมความมัณฑนศิลป์ (Decorative Art) ศัตรูตัวฉกาจของเจ้าแม่ ‘ฮาวทูทิ้ง’ อย่าง มาริเอะ คอนโดะ!

“จิตวิญญาณของ Maximalism คือการถมเติม ไม่ใช่การตัดออก แต่เติมเข้าไปให้มากขึ้นไปอีก” คือคำจำกัดความของสุนทรียะยิ่งเยอะยิ่งดีของ จาแนล พอร์เตอร์ ภัณฑารักษ์การจัดงานนิทรรศการ Less Is a Bore ที่จัดขึ้นที่สถาบันศิลปะร่วมสมัยบอสตัน (The Institute of Contemporary Art - ICA) เมื่อปี 2019 ซึ่งหัวใจหลักของนิทรรศการในครั้งนั้นก็คือการเชิญชวนผู้ชมย้อนไปสำรวจที่มาที่ไปของ Pattern & Decoration Movement ยุคเฟื่องฟูของการออกแบบงานกราฟิกที่เกิดขึ้นในช่วง 1970s หนึ่งในมูฟเมนต์ที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในวงการออกแบบวิชวลกราฟิก

เกือบครึ่งศตวรรษแล้วที่รุ่งอรุณของ ‘Maximalism’ ได้จบลง แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวงการศิลปะและการออกแบบในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ก็คือการ ‘คัมแบ็ค’ ของสุนทรียะแห่งความเยอะที่ครอบงำตั้งแต่งานออกแบบกราฟิก โปสเตอร์ แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งออกแบบภายใน ไปจนถึงงานศิลปะร่วมสมัย ต่าง ๆ ใครบางคนอาจกล่าวว่า ‘ความเยอะ’ กำลังครอบงำทุกพื้นที่ในชีวิตของเรา ตั้งแต่ห้องนอนถึงแกลลอรี ในขณะที่ใครบางคนอาจกล่าวว่า ‘ความเยอะ’ ไม่เคยจากเราไปไหน มันเกิดขึ้นและอยู่ตรงนั้น เพียงแต่รอวันที่ผู้คนจะตื่นตัวและยอมรับว่ามันกำลังกลับมา ‘อินเทรนด์’ อีกครั้ง

History of ประจำสัปดาห์นี้ GroundControl ขอพาทุกคนไปรื้อ ค้น คุ้ย เพื่อลงไปสำรวจที่มาที่ไปและแก่นของเทรนด์ Maximalism ที่กำลังกลับมางัดข้อกับความน้อยแต่มาก หรือ Minimalism อันเป็นศัตรูแฝดพี่แฝดน้อง กาสะลองกับซ้องปีบ กันอีกครั้ง และย้อนดูว่าภายใต้ความเยอะนั้น ศิลปินใช้สุนทรียะของ Maximalism ในการต่อสู้เพื่อนำเสนอแนวคิดและเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับสังคม เพศ ตัวตน วัตถุนิยม ฯลฯ อย่างไรกันบ้าง!

เพราะว่าสำหรับชาววัตถุนิยมอย่างเราแล้ว Less is bore!

จาก Minimalism สู่ Post-Minimalism

การเกิดขึ้นของกระแส Maximalism นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำรงอยู่ของกระแส Minimalism ที่เบ่งบานขึ้นในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย Minimalism (ที่มีชื่อในภาษาไทยว่า ‘ลัทธิจุลนิยม’) ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรูปของ ‘สไตล์’ เท่านั้น แต่ยังปรากฏเป็นแนวคิดในแง่ของการสร้างสรรกลวิธีต่าง ๆ ในการคัดสรรแต่ ‘แก่น’ หรือสาระของสิ่งต่าง ๆ แล้วนำมาถ่ายทอด โดยแนวคิดของ Minimalism ไม่เพียงปรากฏเฉพาะในงานออกแบบหรือวิชวลอาร์ตเท่านั้น แต่แนวคิดการนำเสนอแก่นสาระนี้ยังปรากฏในงานสร้างสรรค์แขนงอื่น ๆ เช่น วรรณกรรมที่ไม่เน้นพล็อต ใช้ภาษาเรียบง่ายและตรงไปตรงมาในการพรรณาความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร (ตัวอย่างเช่น งานเขียน Cat in the Rain ของ เออร์เรสต์ เฮมิงเวย์ หรือบทละครและบทกวีของ ซามูเอล เบ็คเค็ทท์) หรือแม้กระทั่งในศาสตร์ดนตรีเองก็มี Minimal Music ที่เน้นการใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น เน้นการซ้ำของแพทเทิร์น และเมโลดีที่บรรเลงไปอย่างสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กระแส Minimalism ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็ปรากฏในงานศิลปะและการออกแบบต่าง ๆ โดยตัวอย่างศิลปิน Minimalist Artist คนสำคัญก็เช่น โดนัลด์ จัดด์ ผู้ถ่ายทอดสารัตถะของสี, แอกเนส มาร์ติน ศิลปินผู้ถ่ายทอดความคิดผ่านเส้นและตาราง, แดน เฟลวิน ผู้เล่นกับแสงนีออน หรือ คาร์ล แอนเดอร์ ผู้นำเสนอโลกอันเป็นระเบียบผ่านประติมากรรมที่เน้นเส้นตรงและรูปแบบเป็นระเบียบ ซึ่งต้นกำเนิดของกระแส Minimalism ก็มีจุดร่วมเดียวกับกระแส Maximalism ที่ตามมาทีหลัง โดยหาก Minimalism เกิดขึ้นเพื่อโต้กลับกระแสศิลปะแบบ Abstract Expressionism ที่เน้นการสำรวจความคิดแบบไร้ข้อจำกัดทั้งด้านรูปทรงหรือความเป็นจริง Maximalism ก็เกิดขึ้นมาเพื่อจะโต้กลับปรัชญาความน้อยแต่มากของ Minimalism ซึ่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ โดนโต้กลับนี้ก็เป็นวัฏจักรอันเป็นสามัญในโลกศิลปะนั่นเอง

หาก Minimalism เป็นกระแสทางศิลปะที่ทำให้นิวยอร์กกลายเป็นเมืองหลวงของโลกศิลปะยุคใหม่แทนที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส Maximalism ก็คือเป็นดังกระแสธารที่ขับเคลื่อนวงการศิลปะในโลกใหม่ให้ดำเนินต่อไป โดยผู้ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นบิดาผู้ตัดสายสะดือให้กับกระแส Maximalism ก็คือ โรเบิร์ต พินคัส-วิตเทน (Robert Pincus-Witten) นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ทรงคุณูปการอย่างยิ่งต่อแวดวงศิลปะอเมริกัน โดยย้อนกลับไปในช่วงปี 1964 พินคัส-วิตเทนได้รับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการอาวุโสให้กับ Artforum นิตยสารรายเดือนที่ว่าด้วยเรื่องราวในแวดวงศิลปะร่วมสมัย ซึ่งพินคัส-วิตเทนก็รับหน้าที่เขียนบทความให้กับนิตยสารฉบับนี้เรื่อยมา กระทั่งในปี 1971 พินคัส-วิตเทนได้เขียนบทความที่ว่าด้วยงานศิลปะของ อีวา เฮสเซอ (Eva Hesse) ผู้ใช้วัสดุสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบหลักในงานประติมากรรมของเธอ และในงานเขียนชิ้นนี้เองที่พินคัส-วิตเทนได้ประกาศว่า ยุค Post-Minimalism หรือยุคหลังลัทธิจุลนิยมนั้นได้เดินทางมาถึงแล้ว

Post-Mininalism ถูกนิยามโดยพินคัส-วิตเทนว่าเป็นงานใด ๆ ก็ตามที่ท้าทายหรือออกนอกกรอบแนวคิดของ Minimalism ที่ทั้งจำกัด ตายตัว และไร้เอกลักษณ์ แล้วแสวงหาวิถีแห่งการทำงานแบบเน้นให้ความสำคัญกับงานทำมือและกระบวนการระหว่างทาง (process-based) แต่ยังคงรับแนวคิดบางอย่างของ Minimalism มาใช้ เช่น Sereality หรือการทำงานแบบเป็นซีรีส์ เป็นต้น

จากการให้คำจำกัดความสั้น ๆ พินคัส-วิตเทนได้ขยายแนวคิดของ Post-Minimalism ออกมาเป็นหนังสือที่ชื่อว่า Postminimalism into Maximalism: American Art 1966-1986 ที่กลายเป็นตำราชิ้นสำคัญของโลกศิลปะ และถือเป็นการประกาศยุคสมัยของ Maximalism อย่างเป็นทางการ

Maximalism ศิลปะของคนชั้นรอง

ในขณะที่งานศิลปะแบบ Minimalism มุ่งเน้นการนำเสนอความเรียบง่ายและการลดทอน ทั้งการใช้ลายเส้นตรงเรียบ ๆ ไปจนถึงการจำกัดการใช้สีสัน งานศิลปะแบบ Maximalism ก็คือการโอบรับด้านตรงข้ามทุกอย่างที่สไตล์ Minimalism เคยปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีสัน ลายเส้นฉวัดเฉวียน หรือการใช้ฝีแปรงที่รุนแรง

ในช่วงยุค 1960s - 1970s อันเป็นยุครุ่งเรืองของ Maxmimalism ศิลปินและนักออกแบบต่างก็ทดลองทำงานศิลปะที่จัดทั้งสีสันและสไตล์ และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่งานศิลปะวิชวลอาร์ตเท่านั้น แต่แนวคิดของ Maximalism ยังส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรม ดนตรี และแฟชั่น จนในที่สุด Maximalism ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นรูปแบบหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเช่นเดียวกับ Minimalism โดยชาวอเมริกันในสมัยนั้นสามารถจำแนกวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนได้เป็นสองแบบใหญ่ นั่นก็คือชาว Minimalist และชาว Maximalist

แต่ปรัชญาความยิ่งมากยิ่งดีของ Maximalism ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การเป็นไลฟ์สไตล์เท่านั้น ในเชิงสังคมวัฒนธรรม Maximalism ถูกใช้เป็นหนึ่งในสุนทรียะแห่งการต่อต้านค่านิยมและอำนาจที่ครอบงำสังคม โดยเฉพาะค่านิยมเรื่องชายเป็นใหญ่และการเชิดชูคุณค่าแนวคิดตะวันตกให้เหนือกว่าคุณค่าของชนพื้นถิ่น

การใช้ Maximalism ในการต่อต้านนั้นเห็นได้ชัดที่สุดในกลุ่มศิลปินกราฟิกหรือกลุ่มศิลปิน Pattern & Decoration โดยศิลปินกลุ่มนี้ได้ย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงการกำหนด ‘รสนิยม’ หรือการประเมินค่าว่างานแบบไหนดี งานแบบไหนเป็นศิลปะชั้นสูง และงานแบบไหนที่มีคุณค่าทางแนวคิด ศิลปิน Pattern & Decoration ในยุคสมัยนี้มองว่า ผู้กำหนดหรือให้ค่าความงามของศิลปะในยุคนั้นล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินชายผิวขาว พวกเขาให้ความสำคัญกับงานเน้นคอนเซปต์ที่ตั้งคำถามทางปรัชญาอันสูงส่งที่เลยพ้นวิถีชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง โดยศิลปะเหล่านั้นมักเป็น Conceptual Art หรือไม่ก็ Minimslist Art ศิลปะในรูปแบบอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากนั้น เช่น มัณฑนศิลป์ (Decorative Art), ประยุกต์ศิลป์, งานศิลปะที่สะท้อนแนวคิดของชนพื้นเมือง, งานศิลปะที่เกิดจากภูมิปัญญาในการสร้างข้าวของเครื่องใช้ในบ้านโดยผู้หญิง ล้วนถูกตีค่าว่าเป็นศิลปะชั้นต่ำ หรือไม่ก็ไม่ใช่ศิละพิสุทธิ์

หัวขบวนของศิลปิน Pattern & Decoration ที่นำเสนอศิลปะ Minimalism ในฐานะเครื่องมือต่อต้านแนวคิดชายผิวขาวเป็นใหญ่ในแวดวงศิลปะก็คือ วาเลอรี โจแดน และ จอยซ์ โคซลอฟ โดยในปี 1978 พวกเธอได้ร่วมกันเขียนบทความที่ชื่อว่า Art Hysterical: Notions of Progress and Culture ที่ตั้งคำถามถึงการที่แวดวงศิลปะใช้คำว่า ‘Decorative Art’ ในการจำแนกมัณฑนศิลป์ออกจากศิลปะหรือ ‘Art’ จนสุดท้ายแล้วมัณฑนศิลป์หรือศิลปะที่ทำออกมาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นลวดลาย เครื่องเรือน เครื่องปั้นต่าง ๆ จึงถูกจัดเป็นศิลปะชั้นรองที่ไม่ได้มีคุณค่าเท่ากับศิลปะพิสุทธิ์ (Fine Art) ซึ่งในบทความนั้น พวกเธอก็ได้ข้อสรุปว่า ศิลปะพิสุทธิ์ที่เน้นคอนเซปต์หรือการตั้งคำถามทางปรัชญาชั้นสูงคือหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการจำกัดพลเมืองชั้นสอง นั่นก็คือศิลปินผู้หญิงและศิลปินพื้นถิ่นให้ออกไปเสียจากพื้นที่ของศิลปะชั้นสูงซึ่งสงวนไว้ให้ศิลปินผู้มีปัญญาและเข้าใจในปรัชญาตะวันตกอันแสนลึกล้ำเท่านั้น

โจแดนและโคซลอฟจึงเสนอให้ศิลปิน Pattern & Decoration ใช้ลวดลายอลังการและสีสันจัดจ้านในการโต้กลับแนวคิดศิลปะน้อยแต่มากที่มุ่งนำเสนอแต่สารัตถะทางความคิด จนทำให้เกิดเป็นกลุ่มศิลปินเฟมินิสต์ที่สร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมไปพร้อม ๆ กับศิลปะ ซึ่งประกอบไปด้วยศิลปินอย่าง โรเบิร์ต คุชเนอร์ (Robert Kushner), คิม แมคคอนเนล (Kim MacConnel), มิเรียม ชาปิโร (Miriam Shapiro) ฯลฯ โดยเอกลักษณ์ที่ปรากฏร่วมกันในงานของพวกเขาก็คือการใช้ลวดลายแพทเทิร์นและองค์ประกอบหลากหลายมากมาย ทั้งยังให้ความสำคัญกับลวดลายของชนเผ่าหรือลวดลายจากงานศิลปกรรมพื้นบ้านในวัฒนธรรมต่าง ๆ ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของทั้งภาพวาด ภาพคอลลาจ และงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ เพื่อที่จะต่อต้านสุนทรียะน้อยแต่มากที่นำเสนอออกมาผ่านความเรียบง่ายและการลดทอนองค์ประกอบ อันเป็นหัวใจหลักของงานศิลปะ Minimalism หรือ Conceptualism ที่ถูกให้ค่าว่าเป็นรสนิยมทางศิลปะชั้นสูง และสร้างงานศิลปะที่สะท้อนวัฒนธรรมอันหลากหลายนอกเหนือไปจากวัฒนธรรมตะวันตก งานศิลปะที่ไม่กีดกันทางเพศ ชนชั้น เชื้อชาติ และไม่มีการแบ่งว่าศิลปะใดสูงกว่า ศิลปะใดต่ำกว่า

Less Is More < Less Is Bore

อาจกล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ Maximalism คือประวัติศาสตร์อันว่าด้วยการต่อสู้กับ Minimalism เพราะการกล่าวถึง Maximalism มักมาพร้อมกับการกลับไปอ้างอิงถึงกระแสศิลปะ Minimalism ที่ส่งอิทธิพลต่อการกำเนิดของมันอยู่เสมอ

และการต่อขับเคี่ยวกันระหว่าง Minimalism กับ Maximalism ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงศิลปะทางสายตาเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงงานสถาปัตยกรรมด้วย โดยหากเราย้อนกลับไปดูกระแสธารทางความคิดและสไตล์ในแวดวงสถาปัตยกรรมยุคสมัยใหม่ เราก็จะเห็นว่ามันคือช่วงเวลาแห่งการขับเคี่ยวกันระหว่างโลกสองใบ ที่ใบหนึ่งมีคำขวัญประจำใจว่า Less Is More ในขณะที่ของอีกโลกหนึ่งคือ Less Is Bore

Less Is More คือคำนิยามของสุนทรียะแห่งสถาปัตยกรรมของ ลูทวิช มีส ฟัน แดร์ โรเออ (Ludwig Mies van der Rohe;) สถาปนิกชาวเยอรมันผู้รับตำแหน่งไดเรกเตอร์คนสุดท้ายของสถาบัน Bauhaus โดยมีส ฟัน แดร์ โรเออคือตัวพ่อของเหล่าสถาปนิกลูก ๆ ที่หลงใหลในการนำเสนอสิ่งก่อสร้างอันแสนเรียบง่าย ตัดองค์ประกอบประดับประดาทั้งหลายออกไป ให้เหลือไว้เพียงฟังก์ชั่นหรือสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น โดยพวกเขามองว่าสิ่งตกแต่งใด ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่บดบังความงามที่เป็นแก่นของสถาปัตยกรรม และความงามที่แท้จริงของอาคารสิ่งก่อสร้างนั้นคือประโยชน์ในการใช้สอย สิ่งตกแต่งจึงเป็นของฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นในแง่ของสถาปัตยกรรม

แต่แล้วแนวคิดของมีส ฟัน แดร์ โรเออที่เบ่งบานมาตั้งแต่สมัยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ถูกท้าทายโดย โรเบิร์ต เวนทูรี (Robert Venturi) สถาปนิกชาวอเมริกันยุคหลัง ที่นำเสนอสุนทรียะขั้วตรงข้ามกับมีส ฟัน แดร์ โรเออ และยังนำประโยคในตำนานของศิลปินรุ่นพ่อผู้ล่วงลับมาปรับเปลี่ยนใหม่แล้วนำเสนอสุนทรียะแห่ง ‘Less Is Bore’ อันว่าด้วยการใส่ ‘อารมณ์ขัน’ และ ‘ความเป็นมนุษย์’ ลงไปในการออกแบบสถาปัตยกรรม จนทำให้สถาปัตยกรรมในสไตล์ของเวนทูรีนั้นกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของงานออกแบบแห่งศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นเอกลักษณ์ของงานออกแบบสถาปัตยกรรมในยุคสมัยแห่ง Postmodernism

ซึ่งหากจะให้ยกตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนปรัชญา Less Is Bore ของเวนทูรีได้ชัดเจนที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นผลงานการออกแบบ Vanna Venturi House บ้านของวานนา เวนทูรี แม่ของเขานั่นเอง โดยบ้านหลังนี้แทบจะเรียกได้ว่า ออกแบบมาให้ตรงข้ามกับสุนทรียะ Less Is More ของมีส ฟัน แดร์ โรเออทุกประการและทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งการใช้หลังคาทำมุมแหลมแทนหลังคาแบนตามจริตของมีส ฟัน แดร์ โรเออ, ใช้กำแพงทึบแทนผนังกระจก ไปจนถึงการใช้อาร์คโค้งเป็นฟาซาดด้านหน้า เรียกได้ว่าเป็นบ้านที่ถ้ามีส ฟัน แดร์ โรเออจะต้องกรีดร้องแน่นอน

“สถาปนิกไม่อาจถูกจำกัดไว้ภายใต้กรอบภาษาทางสถาปัตย์แบบโมเดิร์นออร์โธดอกซ์ได้อีกต่อไป” แวนทูรีประกาศไว้ในหนังสือ Complexity and Contradiction in Architecture ที่เขาเขียนขึ้นมาเพื่อนำเสนอสุนทรียะ Less Is Bore ในฐานะสถาปัตบกรรมแห่งยุคหลังสมัยใหม่ “ฉันชอบองค์ประกอบลูกผสม (hybrid) มากกว่าองค์ประกอบอันบริสุทธิ์ (pure) ชอบการประนีประนอมมากกว่าการทำให้ชัดเจน ชอบการบิดเบือรมากกว่าความตรงไปตรงมา …ฉันยืนอยู่ฝั่งความหลากหลายอันวุ่นวาย มากกว่าความเป็นหนึ่งเดียวกันอันชัดเจน ฉันขอคัดค้านแนวคิดที่มีมาก่อนหน้า และขอประกาศการมาถึงของ ‘ขั้วตรงข้าม’ แนวคิดที่เคยมีมาก่อนหน้านี้

Memphis Group

แต่ถ้าจะให้พูดถึงรูปแบบของ Maximalism ที่ ‘ป็อป’ และเป็นที่รู้จักกว้างขวางที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในสไตล์ Maximalism และเมื่อกล่าวถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในสไตล์ Maximalism แล้ว เราก็ไม่สามารถไม่พูดถึงกลุ่มนักออกแบบที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม Memphis ไปได้

Memphis Group คือกลุ่มนักออกแบบและสถาปนิกชาวอิตาเลียนที่มารวมตัวกันในช่วงปี 1981 ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นก็คือการก่อกบฏต่อวิถีการออกแบบแบบสมัยใหม่นิยมที่แสนจำกัดและน่าเบื่อ และหาหนทางการออกแบบที่ขบถขึ้น หัวรุนแรงขึ้น และมีอิสระมากขึ้น

และนั่นเองจึงเกิดเป็นสุนทรียะแห่งยุค 80s ยุคแห่งสีสันเจิดจ้าและงานออกแบบรูปทรงเลขาคณิตเหลี่ยมมุมแสนสนุขที่กลายเป็นภาพจำมาจนถึงปัจจุบัน

เอตโตเร ซอสซัส คือชื่อของผู้นำขบวนการนักออกแบบหัวขบถนี้ และแม้ว่าชื่อ ‘เมมฟิส’ ของกลุ่มจะเป็นชื่อเมืองสำคัญในรัฐเทเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ฐานการทำงานหลักของกลุ่มกลับอยู่ในกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในแง่ภูมิศาสตร์ใด ๆ กับเมืองในสหรัฐอเมริกาเลย

แล้วชื่อกลุ่ม Memphis มีที่มาจากอะไร?

ในค่ำคืนที่เป็นการประชุมพบปะกันครั้งแรกของกลุ่มนักออกแบบหัวขบถแห่งมิลาน เสียงเพลง Blonde on Blonde ของ บ็อบ ดีแลน ก็แว่วมาจากวิทยุที่เปิดค้างไว้ จนกลายเป็นเสียงแบ็คกราวนด์เคล้าคลอการประชุม เมื่อเสียงของดีแลนขับขานท่อน "Stuck Inside of Mobile with the Memphis Blues Again" ซอสซัสก็ได้แรงบันดาลใจในการหยิบคำว่า ‘เมมฟิส’ ในเพลงมาตั้งเป็นชื่อกลุ่ม โดยซอสซัสมองว่าคำนี้ให้ความหมายที่กำกวม เป็นได้ทั้งชื่อเมืองในรัฐเทนเนสซี ทั้งชื่อเมืองหลวงเก่าแก่ของอียิปต์ ชื่อเมมฟิสที่มีความหมายสองทางนี้จึงสอดคล้องกับปรัชญาการออกแบบของพวกเขาที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานกันของสไตล์อันหลากหลายและแหล่งแรงบันดาลใจมากมายแบบไร้ขอบเขต โดยเฉพาะสไตล์การออกแบบของซอสซัสที่เป็นการผสมผสานกลิ่นอายของโลกตะวันออกและศิลปะชนเผ่าเข้ากับธรรมชาติแบบดิบ ๆ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฐานของกลุ่มเมมฟิสอยู่ที่อิตาลี ก็เพราะว่ารากฐากของกลุ่มนี้มาจากกระแสทางศิลปะ Radical Design ที่ผลินบานในอิตาลียุค 60s โดยการเกิดขึ้นของ Radical Design ก็เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกันกับกระแส Maximalism ในสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือการเกิดขึ้นมาเพื่อโต้กลับหรือคัดค้านกระแสศิลปะสไตล์มินิมอลและสุนทรียะแบบสมัยใหม่นิยมที่เน้นความเรียบง่ายนั่นเอง

สำหรับศิลปินกลุ่ม Radical Design ศิลปะและการออกแบบแบบสมัยใหม่นิยมนั้นแข็งทื่อและมีกฎเกณฑ์ตายตัวมากเกินไปจนไร้อิสระ พวกเขามองว่าศิลปะแบบสมัยใหม่นิยมเป็นศิลปะที่อยู่ในกล่อง ทำออกมาเป็นกล่อง ๆ พวกเขาจึงตั้งใจที่จะทำลายกฎเกณฑ์มากมายเหล่านั้น และปล่อยให้ตัวเองได้ทดลองทำงานกับเส้นสายและสีสันที่หลากหลายมากขึ้น

การเกิดขึ้นของกลุ่มเมมฟิสที่มีซอสซัสเป็นเป็นพ่องานจึงนับเป็นกระแสธารใหม่ที่เกิดขึ้นในกระแสธารใหม่ของแวดวงการออกแบบในอิตาลี กลุ่มเมมฟิสมาพร้อมกับไฟแห่งการสร้างสรรค์อันกล้าบ้าบิ่น พวกเขาแหกกฎเกณฑ์แห่งการคัดเน้นสารัตถะ แล้วปลดปล่อยจินตนาการด้วยการทำงานกับรูปทรงเรขาคณิตมากมายหลากหลาย จนลามไปถึงการจับรูปทรงเรขาคณิตหนึ่งมาซ้อนกับรูปทรงเรขาคณิตอื่นอีกที! โดยจุดมุ่งหมายในการออกแบบของพวกเขานั้นมีอยู่เพียงอย่างเดียว นั่นก็คือการสร้างงานออกแบบที่สะดุดตา โดยหาได้แคร์คำครหาของผู้คนในยุคนั้นที่มองว่างานของพวกเขาทั้งล้มเหลวในด้านความลงตัวของสีสัน สอบตกเรื่องการจัดวางองค์ประกอบ แถมใช้พลาสติกที่ยังถูกมองว่าเป็นวัสดุชั้นเลวมากเกินไป

ในปี 1981 กลุ่มเมมฟิสได้นำผลงานของพวกเขาไปจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่ มหกรรมการโชว์เคสงานออกแบบ Salone del Mobile Milano โดยผลงานที่พวกเขานำไปจัดแสดงก็คือบรรดาเฟอร์นิเจอร์ที่ถ่ายทอดสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ‘Faux Chic’ ซึ่งมีจุดเด่นที่การใช้วัสดุราคาถูกมาใช้คู่กับผ้าหรูหราราคาแพง แล้วตั้งชื่อเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นตามชื่อโรงแรมหรูหราต่าง ๆ เช่น Sheraton, Bel Air หรือ Plaza Vanity

การเปิดตัวในมหกรรมงานออกแบบระดับนานาชาติในครั้งนั้นดันให้ชื่อกลุ่มเมมฟิสกลายเป็นกลุ่มนักออกแบบที่น่าจับตามอฝในแวดวงการออกแบบโลก ไม่เพียงเท่านั้น สไตล์การออกแบบของพวกเขาไปปรากฏในหน้านิตยสารหัวต่าง ๆ และก็กลายเป็นขวัญใจของผู้คนในยุคนั้นทันที ทุกคนต่างรักความอลังการน่าตื่นตาตื่นใจและความสนุกที่พวกเขาระเบิดออกมาในงานออกแบบ

จากมิลาน สุนทรียะยิ่งมากยิ่งดีของกลุ่มเมมฟิสก็ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาบรรจบพบกับกระแสป็อปอาร์ตในอเมริกา หนึ่งในหลักฐานความป็อปสุด ๆ ของกลุ่มเมมฟิสก็คือการที่สไตล์ของพวกเขาสะท้อนออกมาในโลโก้ดั้งเดิมแรกสุดของช่อง MTV ที่เพิ่งออกอากาศครั้งแรกในปีเดียวกับที่กลุ่มเมมฟิสดังเป็นพลุแตก และนอกจากโลโก้ของช่องเคเบิลทีวียอดฮิตนี้ ในช่วงเวลาหลังจากนั้นเป็นต้นมา สุนทรียะของกลุ่มเมมฟิสก็กระจายอยู่ในทุกพื้นที่และแทบจะในทุกสิ่ง ทั้งเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งภายใน แฟชั่น การเเบบสิ่งพิมพ์ และของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

กระแสการจุดติดของสไตล์กลุ่มเมมฟิสว่ามาแรง มาเร็วกว่า การแยกวงของพวกเขานั้นกลับมาเร็วยิ่งกว่า เพราะในอีก 6 ปีหลังจากที่พวกได้แสดงผลงานครั้งแรก กลุ่มเมมฟิสก็มีอันแยกวงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในยุคนั้นที่ทำให้คนไม่ค่อยทุ่มเงินซื้องานศิลปะ โดยเฉพาะงานของพวกเขาที่เน้นความงามด้านรูปลักษณ์มากกว่าฟังก์ชั่น เป็นของตกแต่งหรือของสะสมมากกว่าประโยชน์ใช้สอย

แม้ว่ากลุ่มเมมฟิสจะแยกวง แต่คุณูปการด้านความคิดยังคงกลายเป็นมรดกตกทอดให้ศิลปินและนักออกแบบรุ่นหลังได้สืบสานและครุ่นคิดต่อ และแม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปอยู่ในบ้านเรือนหรือผสานเป็นหนึ่งวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน แต่ร่องรอยทางความคิดและสไตล์ของพวกเขายังปรากฏอยู่ในงานแฟชั่นและงานเซ็ตดีไซน์ต่าง ๆ โดยมีศิลปินอย่าง เดวิด โบวอี และ คาร์ล ลาการ์เฟลด์ เป็นแฟนพันธุ์แท้ที่คอยตามเก็บสะสมผลงานของกลุ่มและการกลับมาของงานดีไซน์แบบ ‘เมมฟิสสไตล์’ ที่กำลังบุกเข้าไปอยู่ในบ้านช่องห้องหับของคนในยุคนนี้ ซึ่งนำทีมโดยกระจกรูปโค้งหยักของซอสซัส ก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า Memphis Style ไม่เคยหายไปไหน และไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่

More Is More Fun!

อ้างอิง: https://artist.com/.../maximalism-and-the-reaction.../ https://www.designboom.com/.../memphis-40-years-kitsch... https://link.medium.com/EUnSGnlLRgb https://www.curbed.com/.../maximalism-decor-trend-design...