‘หอคอยบาเบล’ สถานที่ในตำนานนหนังสือปฐมกาลของบรรพบุรุษมนุษย์ยุคแรกเริ่ม
“และเขาทั้งหลายพูดว่า ‘มาเถิด ให้พวกเราสร้างเมืองขึ้นเมืองหนึ่งและก่อหอคอยให้ยอดของมันไปถึงฟ้าสวรรค์ และให้พวกเราสร้างชื่อเสียงของพวกเราไว้ เกรงว่าพวกเราจะกระจัดกระจายไปทั่วพื้นแผ่นดินโลก’” - ปฐมกาล 11:1–9
‘หอคอยบาเบล’ เป็นสถานที่ในตำนานที่ปรากฏในหนังสือปฐมกาลอันที่เล่าเรื่องราวการกำเนิดโลกและเรื่องราวบรรพบุรุษยุคแรกเริ่มของมนุษย์ ในพระคัมภีร์เล่าถึงรุ่งอรุณของมนุษย์ยุคแรกที่เป็นลูกหลานของโนอาห์ซึ่งรอดชีวิตมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ในยุคนี้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคี พวกเขาสื่อสารด้วยภาษาที่เหมือนกัน และได้ช่วยกันสร้างหอคอยสูงเทียมฟ้าเพื่อยืนหยัดเป็นแหล่งอารยธรรมของมนุษย์ทั้งผอง
แต่ความสมัครสมานสามัคคีของมนุษยชาติก็ได้เปลี่ยนเป็นความทะเยอทะยานที่ทำให้พระเจ้าเริ่มหวั่นเกรงว่ามนุษย์จะคิดเทียบตนกับพระเจ้า พระองค์จึงบันดาลให้มนุษย์พูดคนละภาษาเพื่อที่จะได้เกิดความสับสนและสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง จนในที่สุดมนุษย์จึงแยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ของโลก และหอคอยบาเบลก็ไม่เคยถูกสร้างจนสำเร็จ
หอคอยบาเบลเป็นซับเจกต์ที่ปรากฏในผลงานของ ปีเตอร์ เบรอเคิล ผู้พ่อ (Pieter Bruegel the Elder) จิตรกรชาวดัตช์คนสำคัญแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการในประเทศแผ่นดินต่ำ (Dutch and Flemish Renaissance painting เป็นศิลปะที่โต้ตอบศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาแบบอิตาลี) ถึงสามชิ้นด้วยกัน ชิ้นแรกคือภาพวาดขนาดเล็กที่วาดลงบนงาช้าง และได้สูญหายไป ส่วนอีกสองภาพนั้นเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน และได้ถูกจำแนกออกด้วยการเรียกว่า ‘Great’ และ ‘Little’ ตามขนาดที่ต่างกัน โดยภาพขนาดใหญ่ถูกจัดแสดงอยู่ที่ Kunsthistorisches Museum แห่งกรุงเวียนนา ส่วนภาพเล็กถูกจัดแสดงอยู่ที่ Museum Boijmans Van Beuningen ที่กรุงรอตเทอร์ดาม
เมื่อดูโดยเผิน ๆ แล้วภาพทั้งสองขนาดนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากกัน แต่หากดูที่รายละเอียดจริง ๆ แล้วจะพบว่าทั้งสองภาพมีความแตกต่างกันมาก ทั้งรายละเอียดของสถาปัตยกรรม ไปจนถึงท้องฟ้าและทัศนียภาพรอบ ๆ หอคอย ในขณะที่โลเกชั่นที่ตั้งของหอคอยบาเบลในเวอร์ชั่นเวียนนาเป็นเมืองใหญ่ โลเกชั่นในเวอร์ชั่นรอตเทอร์ดามจะเป็นชนบทที่เปิดโล่ง
ภาพบน: The (Great) Tower of Babel ปัจจุบันอยู่ที่กรุงเวียนนา
ภาพล่าง: The (Little) Tower of Babel ปัจจุบันอยู่ที่กรุงรอตเทอร์ดาม