คุยทางไกลกับต้น–กันตพัฒน์ อุตรชน แอนิเมเตอร์ไทย หนึ่งในเบื้องหลัง Spider-Man: No Way Home

คุยทางไกลกับต้น–กันตพัฒน์ อุตรชน แอนิเมเตอร์ไทย หนึ่งในเบื้องหลัง Spider-Man: No Way Home

ต้น–กันตพัฒน์ อุตรชน, คุยกับแอนิเมเตอร์ไทย หนึ่งในเบื้องหลัง Spider-Man: No Way Home

เกริ่นนำไว้ก่อน ว่าตอนแรกบทสัมภาษณ์นี้จะเกิดขึ้นในช่วงที่ Spider-Man: No Way Home เข้าฉายวันแรก แต่เพราะรายละเอียดงานที่ต้น–กันตพัฒน์ อุตรชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้ในท้ายที่สุดการพูดคุยของเราจึงเกิดขึ้นในตอนนี้อย่างที่ทุกคนเห็น

ใช่แล้ว, เพราะนี่คือแอนิเมเตอร์เชื้อสายไทย ที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในฉากไฟนัลซีนสุดพีคของ Spider-Man: No Way Home ดังนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บทสนทนาของเราจะมีการสปอยล์ แต่เชื่อเถอะว่านอกจากประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้ การเดินทางก่อนหน้าของต้นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน มันสนุกราวกับหนังซูเปอร์ฮีโร่สักเรื่องที่เราอยากชวนคุณได้ชมสักครั้ง

จากเด็กชายในจังหวัดน่าน เขาก้าวไปสู่การทำงานกับค่ายหนัง SONY Pictures ได้อย่างไร โหนใยตามไปฟังต้นได้ในบทความ

“ถ้าต้องอยู่กับสิ่งหนึ่งทั้งวัน ผมเลือกแอนิเมชัน”

 

“ผมเกิดและเติบโตที่จังหวัดน่าน ที่บ้านผมเป็นครอบครัวที่ชอบดูหนัง เกือบทุกวันเราจะมาดูหนังกัน แต่โมเมนต์ที่ผมจำได้แม่นคือหนังเรื่อง เฮอร์คิวลิส ที่หลังจากฉากเครดิตมีฉากเบื้องหลังที่เป็นการทำงานของแอนิเมเตอร์ การได้เห็นตัวละครค่อยๆ มีชีวิตขึ้นมาทำให้ผมสนใจมาก ตอนนั้นแหละที่ผมว่าตัวเองเริ่มตกหลุมรักในศาสตร์ของภาพยนตร์และการ์ตูนเข้าให้แล้ว

“ตอนนั้นผมยังไม่รู้หรอกว่าอาชีพแอนิเมเตอร์คืออะไร ด้วยความเป็นเด็กผมก็แค่ต่อยอดความชอบมาเรื่อยๆ อย่างการหัดวาดรูปในโปรแกรมไปจนถึงการวาดการ์ตูนให้เพื่อนอ่าน แต่พอโตขึ้นความชอบตรงนี้ก็ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยความถนัดใหม่ๆ อย่างคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ทำให้พอช่วงมัธยมต้นผมวางแผนเรียนต่อวิศวะ แม้ระหว่างทางยังมีการวาดรูปแทรกซึมอยู่ตลอด ผมก็มองเป็นแค่งานอดิเรกแล้ว

“แต่ทีนี้พอช่วงม.5 ผมได้ไปเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกาหนึ่งปี โดยโฮสต์พ่อที่นั่นทำอาชีพเป็นผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ส่วนโฮสต์แม่เป็นอาจารย์สอนเปียโน การได้อยู่ตรงนั้นค่อยๆ ทำให้ผมได้ซึมซับศิลปะมากขึ้น จนวันหนึ่งที่ผมลองวาดรูปขึ้นเล่นๆ แต่โฮสต์แม่กลับชอบมาก เขาบอกผมว่าผมมีเซนส์ทางศิลปะอยู่ สิ่งนี้ติดในใจผมจนถึงวันที่กลับมาไทย

“ทีนี้ช่วงที่ผมกลับมาเป็นช่วงเดียวกับกับที่หนังแอนิเมชันเรื่องแรกของไทยอย่าง ‘ก้านกล้วย’ เข้าฉาย ตอนที่ได้ดูผมประทับใจมาก จนรู้ตัวอีกทีผมก็ค่อยๆ กลับมาหลงเสน่ห์ในความเป็นหนังและแอนิเมชันอีกครั้ง ผมได้ลองใช้โปรแกรม Flash ทำแอนิเมชันในคอมแบบง่ายๆ ในช่วงนี้ด้วย ทำเสร็จก็เอาให้เพื่อนดู ซึ่งกลายเป็นว่าพอได้ลองทำ ผมก็เริ่มตอบตัวเองได้ชัดขึ้นว่าถ้าต้องอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งทั้งวัน ระหว่างการนั่งคำนวนกับการทำแอนิเมชัน ผมเลือกแอนิเมชันมากกว่า

“จำได้ว่าผมโทรไปร้องไห้กับพ่อแม่ เพราะกลัวเขาผิดหวัง แต่กลายเป็นว่าในความเป็นจริงคือไม่ใช่เลย เขาบอกผมว่าถ้าชอบและอยากเรียนอะไรก็พร้อมให้โอกาสเสมอ ผมเลยเบนเข็มมาทางแอนิเมชันตั้งแต่นั้น และได้เข้าเรียนต่อในสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในที่สุด”

“คอมพิวเตอร์ขึ้นชื่อเรื่องความเพอร์เฟกต์ แต่ต้องสร้างชีวิตคนที่ขึ้นชื่อเรื่องความไม่เพอร์เฟกต์”


“การเรียนในคณะทำให้ผมได้ลองทำทุกอย่าง ไม่ใช่แค่การแอนิเมตอย่างเดียว ผมได้ทำทั้ง Character Design, Story Design ไปจนถึงการออกแบบมุมกล้อง แต่ทีนี้ช่วงที่ผมเรียนเป็นช่วงเดียวกับที่พี่ตุล (วีระภัทร ชินะนาวิน - CEO ของ RiFF Animation Studio) ได้กลับมาไทยหลังจากได้ไปเป็นแอนิเมเตอร์ในหนังเรื่อง Cloudy with a Chance of Meatballs พอดี

“ผมจำได้ว่าเห็นพี่ตุลในทีวี ซึ่งสิ่งที่ได้ดูในวันนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้ผมมาก ว่าคนไทยก็ทำงานในระดับสากลได้ ยิ่งได้เห็นผลงานของพี่ตุลก็ยิ่งทำให้ผมทึ่ง ช่วงปิดเทอมปีหนึ่งผมเลยไปสมัครเรียนที่โรงเรียนพี่เขา ซึ่งจากการลงลึกในครั้งนั้นก็ทำให้ผมตอบตัวเองได้ว่าการเป็นแอนิเมเตอร์นี่แหละคือสิ่งที่ใช่ ผมเลยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเป็นแอนิเมเตอร์ โดยมีความฝันว่าจะต้องไปทำงานที่ต่างประเทศ

“ถ้าให้ลงลึก สิ่งที่ผมชอบที่สุดในงานแอนนิเมเตอร์คือการทำให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตกลายเป็นมีชีวิตโดยที่คนดูเอ็นจอยกับมันได้ เพราะผมเป็นคนที่อ่อนไหวดูหนังอะไรก็ร้องไห้ไปหมด อินกับตัวละคร อินกับหนังดราม่า มันเลยทำให้ผมสนใจอิมแพ็กต์ตรงนี้และอยากทำให้ได้บ้าง ผมสนใจงานเชิง Acting มากเป็นพิเศษ ซึ่งมันก็ส่งผลต่อวิธีการทำงานของผมด้วย

“เวลาทำงานผมจะเอากล้องมาถ่ายตัวเองแสดงก่อนเพื่อดูการเคลื่อนไหวและการแสดงอารมณ์ของร่างกาย หลังจากนั้นถึงค่อยเอามาทำแอนิเมชัน เพราะผมเชื่อว่าการสร้างตัวละครขึ้นมาแล้วขยับ นั่นคืองานที่ยังไม่จบ งานที่จบคือการที่ตัวละครขยับและสื่อความรู้สึกร่วมถึงคนดู มันคือการที่คอมพิวเตอร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเพอร์เฟกต์สามารถสร้างชีวิตที่ขึ้นชื่อเรื่องความไม่เพอร์เฟกต์ขึ้นมาได้"

“ซึ่งพอตั้งใจแบบนี้ตั้งแต่เรียนอยู่ปี 2 ผมเลยต้องศึกษาหลายอย่างมาก ทั้งในศาสตร์ของแอนิเมชั่นในรั้วมหาลัยและการเรียนเสริมในโรงเรียนของพี่ตุลช่วงปิดเทอม การ Acting ที่ผมก็ต้องอ่านหนังสือด้านการแสดงที่นักแสดงอ่านกัน หรือการดูหนังให้หลากหลายเพื่อศึกษาตัวละครให้มากเข้าไว้ เหมือนพอเป้าหมายชัดเจนแล้ว ทุกสเต็ปในชีวิตตอนนั้นเลยเกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายเดียว ผมกดดันตัวเองโดยทำทุกอย่างเพื่อไปสู่เป้าหมายเร็วๆ จนในท้ายที่สุดหลังฝึกงานที่ RiFF Animation Studio เสร็จ ผมก็ได้ทำงานประจำเป็นแอนิเมเตอร์ที่นี่ที่แรกอย่างที่ตั้งใจไว้”

“ผมไม่เคยคิดที่จะหยุดเลย”
 

“ช่วงที่ผมเข้าไปทำงานใหม่ๆ สตูดิโอมีโปรเจกต์หนังเรื่อง 9 ศาสตรา พอดี จำได้ว่าตอนนั้นผมอยากทำมาก เพราะผมมองว่าจะได้เรียนรู้เยอะและตรงกับทางที่อยากไป แต่ปรากฏว่าผมถูกจับย้ายไปโปรเจกต์ทำเกม ซึ่งค่อนข้างเป็นอีกศาสตร์หนึ่ง กลายเป็นว่าด้วยความที่ผมกดดันตัวเองมาก ผมเครียดและร้องไห้เลย เพราะผมกลัวว่าสิ่งนี้จะทำให้ไปถึงเป้าหมายช้า

“นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายเหตุการณ์ที่ผมกลายเป็นคนเครียดไปหมด ผมพุ่งแรงมากจนทำให้หลายครั้งก็ผิดหวัง แต่ก็ได้พี่ๆ ในที่ทำงานนี่เองที่คอยเตือนว่าเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอสำหรับโอกาส ดังนั้นมันจำเป็นที่ผมต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ผมยึดข้อนี้ไว้อย่างหนักแน่นและฝึกตัวเองอย่างหนักหน่วง พยายามมองหาสิ่งที่จะได้เรียนรู้ในทุกโปรเจกต์ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม อาจมีบ้างที่ความกดดันทำให้ผมพัง แต่ผมก็ไม่เคยคิดจะหยุดเลย

“ผมอยากไปถึงเป้าหมายเร็วๆ เพราะตอนนั้นผมเชื่อว่าถ้าไปถึงจุดนั้นแล้วผมและครอบครัวจะมีความสุข ช่วงนั้นผมจึงแทบไม่ได้กลับบ้าน ไม่ได้ใช้ชีวิตส่วนอื่น เอาแต่กดดันตัวเองให้ไปต่อและเรียนรู้ตลอดเวลา สิ่งนี้ส่งผลให้พอทำงานถึงปีที่ 3 ผมก็รู้สึกตัน เลยลาออกมาฝึกเองอยู่ 6 เดือนพร้อมมองหาโอกาสใหม่ จนวันหนึ่งพี่ที่เคยทำงานด้วยก็มาชวนผมให้ไปทำงานที่จีนในโปรเจกต์หนังแอนิเมชันเรื่อง MOSLEY

“สาเหตุที่ทำให้ผมตอบตกลงในครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องการไปต่างประเทศเสียทีเดียว แต่เป็นการที่โปรเจกต์นี้มี Animation Director เป็นคนที่เคยทำงานกับ DreamWorks รวมถึงหนังเรื่อง Zootopia และ Moana ผมเลยมองว่านี่เป็นโอกาสชั้นดี ซึ่งพอไปถึงก็เป็นอย่างนั้น ผมได้ทำงานกับคนเก่งๆ และได้เรียนรู้การทำงานในระดับสากล ส่งผลให้ช่วงนั้นผมไม่แคร์อะไรอื่นเลยนอกจากงาน แม้สภาพความเป็นอยู่จะแย่จนผมล้มป่วย แต่โดยรวมผมกลับแฮปปี้ สุดท้ายหลังจากทำงานจนหมดสัญญา ผมก็กลับไทยมาด้วยความตั้งใจว่าจะสร้างผลงานของตัวเองเพื่อหาโอกาสเรียนรู้แบบนี้อีกให้ได้

“แต่กลายเป็นว่าหลังจากนัั้น 8 เดือน ก็ไม่มีที่ไหนติดต่อผมกลับมาอีกเลย”

“ก็งานน่ะแหละ ที่ตอบคำถามของผมที่มีต่องานได้ดีที่สุด”
 

“ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนเจอทางตัน เพราะผมทำงานส่วนตัวที่คิดว่าดีที่สุดแล้วด้วยทักษะที่มีในตอนนั้น แต่ส่งไปที่ไหนก็เงียบหมด มันทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าในเมื่อเราทำดีที่สุดแล้วแต่ยังไม่ได้ นี่แปลว่าเรามาสุดทางแล้วหรือเปล่า ผมเครียดมาก หน้าตาโทรมมาก ทำทุกวิถีทางถึงขนาดพระทักให้เปล่ียนชื่อผมก็ยอม สถานการณ์ตึงมากจนในที่สุดพอถึงจุดหนึ่งผมก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว

“จากที่ตั้งใจไว้ว่าน่าจะทำได้ แต่ความจริงที่เจอก็เริ่มทำให้ผมยอมรับว่าตัวเองคงไปต่อในระดับต่างประเทศไม่ได้ พ่อแม่เองก็เริ่มชวนให้ผมไปทำอย่างอื่นแล้วด้วย ส่งผลให้พอเข้าช่วงสิ้นปี ผมเลยตอบตกลงกับบริษัทไทยที่ชวนไปทำงาน วางแผนว่าปีใหม่จะเข้าไปคุย แต่กลายเป็นว่าช่วงเดือนธันวาคมนั่นเองที่บริษัท MPC London ติดต่อผมมา ซึ่งหลังจากสัมภาษณ์ไม่กี่วันถัดมาผมก็ได้สัญญาทำงานทันที

“ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากเลย เร็วเสียจนไม่มีเวลาดีใจ โดยผมได้ไปทำงานเป็นแอนิเมอเตอร์เรื่อง The One and Only Ivan ซึ่งพอไปถึงผมก็ได้เห็นว่าคนที่นั่นเก่งระดับไหน มันยิ่งทำให้ผมสงสัยในตัวเองมากเข้าไปอีก แต่ผมก็พยายามกลับมาที่หลักคิดเดิมคือการมองหาสิ่งที่ทำได้และเรียนรู้ สุดท้ายทุกอย่างก็เริ่มโอเค ผมโดนชวนให้ไปทำงานกับสตูดิโอเล็กๆ ชื่อ Jellyfish ต่อหลังจากนั้นด้วย กับงานเรื่อง Spirit Untamed ผมได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างกำลังไปได้สวย เริ่มเข้าที่เข้าทาง จนกระทั่งการมาถึงของโควิด-19

“กลายเป็นว่าหลังจาก Spirit Untamed จบ โปรเจกต์ต่างๆ ที่วางแผนกันไว้นั้นถูกยกเลิกหมด ผมนั่งว่าง อยู่ 3-4 เดือนซึ่งนั่นต่างกับความเป็นผมมากที่อยากไปต่ออยู่ตลอดเวลา ผมเลยเริ่มกดดันตัวเองและหางานใหม่อีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้มันเป็นความกดดันที่มากเสียจนผมเริ่มไม่ชอบการทำแอนิเมชั่นเป็นครั้งแรกในชีวิต

“ผมเริ่มคิดและตั้งคำถามว่าชีวิตลำบากเกินไปหรือเปล่า ผมจำเป็นต้องลำบากขนาดนี้ไหม ต้องอยู่ห่างครอบครัว ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิต ทำไมต้องเหนื่อยขนาดนี้ ผมคิดกับตัวเองวนไปเรื่อยๆ อยู่อย่างนั้น แต่ในขณะเดียวกันด้วยความว่างนี่เองที่ทำให้ผมเริ่มทำงานส่วนตัวเพื่อผ่อนคลาย เป็นการทำงานที่สนองความรู้สึกของตัวเองแบบไม่สนใคร ซึ่งผมเอาความรู้สึกช่วงนั้นใส่เข้าไปอย่างเต็มเปี่ยม และกลายเป็นว่าการทำงานส่วนตัวชิ้นนี้ช่วยผมไว้อย่างมาก

“ด้วยวิธีการทำงานของผมที่ต้องการถ่ายวิดีโอตัวเอง Acting นี่จึงเป็นการช่วยให้ผมได้มองเห็นตัวเองจากที่ไกลๆ มันทำให้ผมได้คิด ได้ไตร่ตรอง จนผมได้ค้นพบว่าเปล่าเลย ผมไม่ได้ไม่ชอบแอนิเมชั่น ตรงกันข้ามคือผมยังชอบมันมากๆ ด้วยซ้ำ การทำให้ตัวละครที่ไม่มีชีวิตกลับกลายเป็นมีชีวิตยังคงเป็นความฝันและความชอบของผมเสมอ แต่ผมแค่ไม่ชอบระบบการทำงานที่ทำให้ชีวิตต้องติดขัดอยู่ตลอดเท่านั้นเอง กลายเป็นว่าสุดท้ายก็เป็นงานน่ะแหละที่ตอบคำถามของผมที่มีต่องานได้ดีที่สุด จนผมเริ่มโอเคกับตัวเองมากขึ้น คลี่คลายความสงสัยจนพร้อมเดินต่อ

“ซึ่งก็เป็นจังหวะนั้นแหละครับที่ Sony Pictures ติดต่อเข้ามา”

“คนบ้าสไปเดอร์แมนมารวมตัวกันเพื่อมาทำหนังสไปเดอร์แมน”
 

“ผมจำได้ว่าในปี 2002 ที่สไปเดอร์แมนฉบับโทบี้ แม็คไกวร์เข้าฉาย ผมนั่งดู VCD เรื่องนี้กับน้อง ตอนนั้นหนังเรื่องนี้เขย่าวงการมาก ทำให้ตอนที่ Sony Pictures ติดต่อมาว่าสนใจสัมภาษณ์ผมเพื่อให้เข้าร่วมทำงานในหนัง Spider-Man: No Way Home ผมตื่นเต้นจนแทบจะไม่เชื่อตัวเองเลย

“อีกประเด็นคือตอนที่สัมภาษณ์ คนที่ผมได้คุยคือ Richard Smith เขาเป็น Animation Director ที่ดูแลหนังสไปเดอร์แมนมาตลอดตั้งแต่สมัยโทบี้ แม็คไกวร์ มันยิ่งทำให้ผมรู้สึกพิเศษเข้าไปใหญ่ เขาคุยกับผมอย่างไม่ถือตัว บรรยากาศออกมาดี แต่สารภาพว่าตอนนั้นผมก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับโอกาสนะ คิดด้วยซ้ำว่าแค่ได้สัมภาษณ์ก็เป็นโอกาสที่ดีแค่ไหนแล้ว แต่ก็โชคดีที่สุดท้ายเขาตกลงรับผมเข้าไปทำในที่สุด

“มีเรื่องที่ตลกก็คือในตอนที่สัมภาษณ์ ผมถามคุณริชาร์ดไปด้วยว่าผมได้ข่าวลือมาว่าหนังเรื่องนี้จะเป็น Multiverse ใช่ไหม เขาตอบผมมาว่า ‘บอกไม่ได้ บอกได้แค่ว่าฉากจะที่ให้ทำเป็นฉากที่สไปเดอร์แมนสู้กับตัวร้าย’ ซึ่งไม่ช่วยอะไรเลย (หัวเราะ) จนถึงวันที่ได้เข้ามานั่นแหละที่ผมได้รู้ว่าฉากที่ทางทีม Sony Pictures รับผิดชอบ คือฉาก Final Battle ทั้งหมดตรงเทพีเสรีภาพ

“ด้วยความที่ตัวละครในฉากนี้ทั้งหมดเคยปรากฏตัวในสไปเดอร์แมนภาคก่อนๆ มาแล้ว ทำให้หลักๆ ในงานนี้จึงเป็นฉากแอ็กชั่นและฉากที่เน้นอารมณ์ ส่งผลให้ในการทำงานผมได้มีส่วนร่วมกับแทบทุกตัวละครในฉาก ไม่ว่าจะเป็นสไปเดอร์แมนทั้งสามคน ลิซาร์ด ไปจนถึงกรีนก็อบบลิน ซึ่งหลายครั้งผมแทบไม่เชื่อตัวเองเลยนะ ว่าผมกำลังขยับตัวละครที่เคยดูมาตั้งแต่เด็กในตอนนี้ รวมถึงในแง่ของบรรยากาศการทำงานด้วยที่พอเป็นมาตรฐานระดับสูง แอนิเมเตอร์แต่ละคนก็ใส่เต็มที่และเก่งมากๆ ยิ่งทุกคนอยู่ในวัยที่เติบโตมากับสไปเดอร์แมน การทำงานครั้งนี้เลยเป็นเหมือนการจับคนบ้าสไปเดอร์แมนมารวมตัวกันยังไงยังงั้น

“และด้วยความที่เป็นหนัง Marvel คนที่คอยควบคุมทิศทางจึงบอกผมตั้งแต่แรกเลยว่ากับการทำงานเรื่องนี้เขาไม่วางใจอะไรทั้งนั้นจนกว่าหนังจะฉายบนจอ เนื่องจาก Marvel และ Sony มีความอยากทดลองอยู่เสมอ แต่สิ่งนี้ก็ดีต่อหนังและที่สำคัญคือมันดีต่อผมมากๆ เพราะด้วยธรรมชาติของงานที่ต้อง ‘ทำให้เร็ว โชว์ให้เร็ว ถ้าไม่ชอบก็รื้อแล้วทำใหม่ ถ้าไอเดียผ่านก็ค่อยมาเก็บรายละเอียด’ มันเลยทำให้ผมผลักดันตัวเองมากกว่าเดิมเพื่อไปอยู่ในจุดที่เขาต้องการ ให้ได้

“ดังนั้นถ้าให้มองย้อนกลับไป พูดได้เต็มปากว่านี่เป็นประสบการณ์ที่หนักครับ แต่ผมรวมถึงคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครบ่นเลย เพราะนี่คืองานที่พวกเรามีความสุขตลอดเวลาที่ได้ทำ ผมเองก็สนุกและได้เรียนรู้ทุกวัน รู้สึกโตขึ้นและเติมเต็มมากๆ โดยเฉพาะวันที่ผลงานจะได้ฉายจริง

“มันเติมเต็มจิตวิญญานของผมในแบบที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว”
 

“แน่นอนว่าพอเนื้องานเป็นแบบนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าผมจะรู้เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของสไปเดอร์แมนตั้งแต่ขั้นตอนทำงานแล้ว เหมือนถูกสปอยล์ทั้งเรื่องมาก่อน แต่ถึงเป็นแบบนั้นวันที่ไปดูรอบฉายจริงครั้งแรก ผมก็น้ำตาไหลเยอะมากอยู่ดี ผมยังคงอินไปกับหนัง ทั้งในแง่ของผู้ชมและคนที่อยู่เบื้องหลัง

“วันนั้นมันคล้ายกับการย้ำเตือนนะ เพราะการที่ได้เห็นคนดูอินไปกับงานของเรา มันยังคงเป็นความรู้สึกที่สุดยอดสำหรับผมเสมอ ยิ่งในฉากสำคัญที่คนดูเฮหรือร้องไห้พร้อมกัน นั่นยิ่งทำให้ผมรู้สึกตื้นตัน มันทำให้นึกย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นว่าทำไมผมถึงเลือกมาทำงานนี้ มันยังคงเป็นความรู้สึกเดิมที่จนถึงตอนนี้ที่ยังคงคุ้มค่ามาก การเป็นแอนิเมเตอร์เติมเต็มจิตวิญญานผมในแบบที่หาที่ไหนไม่ได้

“แต่ถึงจะมีโอกาสที่ดีขนาดนี้ ปัจจุบันผมก็ไม่ได้มองว่าจุดที่ตัวเองยืนอยู่คือความสำเร็จ เพราะพอทำงานที่ต่างประเทศมานาน จะเห็นเลยว่ายังมีทางอีกไกลมากๆ ให้เดินต่อ และความจริงอีกข้อคือถึงทุกวันนี้คนจะตื่นเต้นกับสไปเดอร์แมนที่ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วม แต่ในเดือนต่อไปเขาก็จะตื่นเต้นกับหนังเรื่องใหม่แล้ว ผมเลยรู้สึกว่าเป้าหมายของชีวิตไม่ใช่เรื่องของโปรเจกต์หรอก แต่มันคือประสบการณ์และคนที่ผมได้ทำงานด้วยมากกว่า

“ยังมีทางอีกไกลจริงๆ ครับที่ผมต้องไป ยกตัวอย่างเช่นซีนปิดของ Spider-Man: No Way Home ก็ได้ ที่เป็นฉากสไปเดอร์แมนทอม ฮอลแลนด์ไถลตัวไปกับหิมะและกระโดดโหนไย งานทั้งหมดที่เห็นนั้นเกิดขึ้นจากแอนิเมเตอร์เพียงคนเดียว ตัวผมในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ขนาดนั้น ดังนั้นผมยังไม่ถึงเป้าหมายหรอก

“แต่ถ้าให้มองย้อนกลับไปผมก็ไม่เสียดายกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะลำบากติดขัดหลายครั้ง แต่ผมว่าทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นล้วนสำคัญและจำเป็น ทุกอย่างมันมีเหตุผลและช่วงเวลาของมันทั้งนั้นที่ทำให้ผมมาอยู่ในจุดนี้ ดังนั้นถึงจะเคยลังเลสงสัยแต่ผมก็ไม่เคยรู้สึกผิดพลาดกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย

“เพราะถ้ามองในอีกแง่ ในเมื่อตลอดทางผมพยายามเต็มที่และทำทุกวิถีทางแล้ว โอกาสหรือความลำบากที่ผมได้รับระหว่างนั้นเลยไม่ใช่สิ่งที่ผมควบคุมได้ ผมจึงไม่จำเป็นต้องเสียใจอะไรอีก ผมขอไปต่อในทางที่ผมมั่นใจก็พอ”