สำรวจคอนเซปต์ ‘สวย หลอน ซ่อนเงื่อน’ ของ Red Velvet
ไม่ว่าจะเป็น ‘ลัฟวี่ (ชื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับของ Red Velvet) หรือไม่ก็ตาม แต่ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป หน้าฟีดโซเชียลหรือแม้กระทั่งในหน้า TikTok ของเราจะเต็มไปด้วยคำว่า ‘น้องเค้ก’, ‘ราชวงศ์เค้กแดง’, ‘ราชนิกูลเคป็อป’ ฯลฯ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นก็เพราะว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา Red Velvet วงเกิร์ลกรุ๊ปชั้นสูงได้ทรงเสด็จคัมแบ็กแล้วอย่างเป็นทางการ ด้วยอัลบั้ม EP ที่ชื่อว่า The Reve Festival 2022 โดยมีบทเพลงพระราชทาน Feel My Rhythm เป็นเพลงไตเติลหลักที่กำลังครองหัวชาร์ทอยู่ทั่วแผ่นดินฮันกุกอยู่ ณ ขณะนี้
นอกจากท่วงทำนองและพลังเสียงสุดเสนาะหู ที่ต่อให้ไม่ใช่แฟนเคป็อปก็น่าจะเข้าหูได้ไม่ยากแล้ว Feel My Rhythm ยังสร้างปรากฏการณ์หน้าไทม์ไลน์แตกในวันจันทร์ที่ผ่านมา จากการปล่อย MV ที่ไม่เพียงทำให้ชาวลัฟวี่ปลื้มปริ่ม (ถ้าเป็นศัพท์ในวงการก็ต้องใช้คำว่า ‘เยี่ยวแตก’) แต่แม้กระทั่งคนนอกด้อม โดยเฉพาะคนที่มีใจรักในศิลปะ ก็ต้องกรีดร้องไปตาม ๆ กัน เพราะใน MV นั้นเต็มไปด้วยการอ้างอิงเรฟและแอบซ่อนสัญลักษณ์จากงานศิลปะคลาสสิกมากมาย โดยเฉพาะการใช้ภาพ The Garden of Earthly Delights ของมาสเตอร์แห่งยุคเรอเนซองส์ชาวดัตช์อย่าง เฮียโรนิมัส บอช (Hieronymus Bosch) เป็นคอนเซปต์หลักในการเล่าเรื่อง
สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักวง Red Velvet มาก่อน แต่คุ้นเคยกับภาพ The Garden of Earthly Delights อย่างดี ก็อาจจะงงสักหน่อยว่าภาพสุดหลอนที่บอกเล่าเรื่องราวการกำเนิดโลกจากสวนอีเดนถึงนรกภูมินี้จะถูกนำมาใช้ในงาน MV ของวงเกิร์ลกรุ๊ปสุดสดใสได้อย่างไรกัน? แต่จริง ๆ แล้วภาพวาดสีสันสดใสที่แอบซ่อนด้วยความตายและการลงทัณฑ์นี้ กลับสะท้อนภาพความเป็น Red Velvet ได้เป็นอย่างดี เพราะที่จริงแล้วภายใต้ความสวยงามระดับ ‘วิชวล’ ยกวงของสมาชิกทั้งห้า เสียงร้องประสานหวาน ๆ และภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูเป็นเจ้าหญิงแสนสวยในโลกแห่งจินตนาการฝันหวาน คอนเซปต์หลักของ Red Velvet ก็คือการพูดถึง ‘ความสวยอันตราย’ แบบกุหลาบมีหนามที่อาจทำให้ถึงตายได้ ซึ่งเป็นลักษณะของผู้หญิงที่ในโลกของวรรณกรรมและภาพยนตร์คุ้นเคยกันดีในชื่อเรียกว่า ‘Femme Fatale’ หรือแปลตรงตัวว่า ‘สวยสังหาร’ หรือ ‘ผู้หญิงที่ทำให้ถึงตายได้’ นั่นเอง
ความสวยที่อาจทำให้ถึงตายได้ของ Red Velvet ถูกนำเสนอผ่านคอนเซปต์ของวงได้อย่างไรบ้าง วันนี้เราจะลองกลับไปทบทวนกัน
Red & Velvet
ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เมื่อเราค้นหาคำว่า Red Velvet ในกูเกิล ผลการค้นหาก็จะไม่ใช่แค่สูตรการทำขนมเค้กสีแดงที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีอีกต่อไป แต่จะมีภาพของสี่สาว (กลายเป็นห้าสาว หลังจากที่ คิมเยริ สมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในวงเข้ามาสมทบเป็นสมาชิกตามหลังในปี 2015) วงเกิร์ลกรุ๊ปภายใต้สังกัด SM Entertainment ปะปนมาด้วย
Red Velvet เดบิวต์ในปี 2014 ชื่อวง Red Velvet ก็มาจากคอนเซปต์ดนตรีของวงที่แบ่งออกเป็นสองภาค คือ Red และ Velvet โดย Red บ่งบอกถึงภาพลักษณ์ทางดนตรีที่มีความสนุกสนานสดใส เป็นดนตรีป็อปที่แฝงสไตล์ฮิปฮอป ฟังก์ และอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ Velvet นำเสนอภาคดนตรีในฝั่งที่โตกว่า อินเตอร์กว่า เน้นดนตรีกลิ่นอาย R&B ยุค 90s ไปจนถึงบัลลาร์ดและแจ๊ซ
ความเป็นทวิภาคหรือการมีสองภาพลักษณ์ในวงเดียวไม่ได้หมายถึงแค่เพลงของวงเท่านั้น แต่ลักษณะดังกล่าวยังเป็นคอนเซปต์ภาพลักษณ์หลักของ Red Velvet ที่มีทั้งความสดใสและความลึกลับในวงเดียวกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะถูกนำเสนออยู่ในอาร์ตไดเรกชันของวง โดยเฉพาะในเอ็มวีต่าง ๆ ที่ชัดมาก ๆ ตั้งแต่เพลง Russian Roulette (2016) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการพยายาม ‘ฆ่า’ กันระหว่างสมาชิกในวงด้วยวิธีการสุดโหดเหี้ยมต่าง ๆ แต่นำเสนอภายใต้สีสันสดใสและองค์ประกอบภาพที่ดูเหมือนการ์ตูน แต่ก็เป็นการ์ตูนแมวไล่จับหนูแบบ Tom & Jerry ที่ใช้วิธีการฆ่าสุดโหดทั้งการทุบ ตี ต้ม เชือด
คอนเซปต์สวยซ่อนตายของ Red Velvet ชัดเจนขึ้นในอัลบั้ม Perfect Velvet (2017) ที่เป็นการสำรวจด้าน Velvet ของวงแบบเต็มตัว โดยมีเพลง Peek-a-boo ที่เรื่องราวในเอ็มวีบอกเล่าเกมไล่จับหนูของห้าสาวโรคจิตที่ลวงหนุ่มส่งพิซซ่ามาฆ่าให้ตาย ซึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หนึ่งในความสนุกของชาวลัฟวี่ก็คือการแอบส่องสัญญะแห่งความตายต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในเอ็มวี รวมไปถึงการเดาว่า สมาชิกคนใดคือมาสเตอร์มายด์ที่พยายามฆ่าหรือปั่นหัวสมาชิกในวง
ภายใต้คอนเซปต์สวยสังหารของวง คอนเซปต์อาร์ตในแต่ละเพลงและเอ็มวียังบอกเล่าธีมย่อยที่จับเอาเรื่องราวจากตำนานและนิทานของเด็กที่แอบซ่อนความโหดร้ายมาเล่นและขยายความ โดยส่วนใหญ่มักเป็นนิทานที่เกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่ต้องเผชิญหน้ากับอันตราย ซึ่งสื่อนัยถึงความไร้เดียงสาในโลกอันโหดร้าย เช่นใน MV Really Bad Boy (2019) ที่ใช้สัญญะจากนิทานหนูน้อยหมวกแดง เปรียบเทียบกับผู้ชายสายล่าเหยื่อที่เหมือนกับหมาป่าตัวร้าย แต่สุดท้ายกลับถูกหนูน้อยหมวกแดง (หรือสาว ๆ ทั้งห้า) จัดการจนเสียหมา หรือในเพลง Psycho ที่ชาวลัฟวี่เจ้าทฤษฎีสมคบคิดหลายคนตีความจากคอนเซปต์อาร์ตของปกอั้ลบั้มและเอ็มวี แล้วลงความเห็นกันว่าเป็นการเล่าเรื่อง The Wizard of Oz หรือใน MV Queendom ที่ชัดเจนว่าหยิบเรื่องราวการผจญภัยในโพรงกระต่ายของ Alice In Wonderland มาเล่น
แต่ไม่ว่าจะหยิบนิทานหรือเรื่องราวการผจญภัยของเด็กผู้หญิงมาเล่าอย่างไร Red Velvet ก็มักจะบิดเรื่องนั้นเพื่อถ่ายทอดความร้ายซ่อนในของสาว ๆ อยู่เสมอ อย่าง Psycho ที่แม้จะเล่นกับธีม The Wizard of Oz แต่สุดท้ายเรื่องราวก็จบลงตรงที่เหล่าสาว ๆ ยังคงหลงติดอยู่ในโลกแห่งความหลอนจิตด้วยฝีมือการปั่นหัวและการเล่นเกมประสาทของหนึ่งในสมาชิก หรือ Queendom ที่เล่าเรื่องการผจญภัยของ อลิซ แต่ในสวนที่สาว ๆ กำลังจัดปาร์ตี้น้ำชา กลับมีโครงกระดูกและซากศพแอบซ่อนอยู่หลังพุ่มไม้ ทำให้เมื่อมองในภาพรวมแล้ว คอนเซปต์หลักของ Red Velvet คือการบอกเล่าพลังอำนาจของผู้หญิงที่น่ากลัวที่สุด นั่นก็คือการใช้ความสวยและความอ่อนหวาน ล่อลวงให้ผู้ชายมาติดกับดักที่ดูไร้พิษสง …ก่อนที่พวกเธอจะใช้ทั้งเล่ห์กล มนตร์มายา และความดุร้าย จัดการพวกผู้ชายให้สิ้นซาก!
Femme Fatale สวย ซ่อน ตาย
การเล่นกับความสวย ความเป็นหญิง ความอันตราย และความตาย ทำให้ Red Velvet เป็นวงที่มีคอนเซปต์เพื่อนหญิงพลังหญิงแบบสุดพลัง เพราะในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่าผู้หญิงก็ยังไม่อาจหลุดพ้นจากสถานะการเป็นวัตถุทางเพศไปได้ Red Velvet กลับเล่นบทบาทตามครรลองของการเป็นผู้หญิงในอุดมคติของเพศชาย (ความสวย อ่อนหวาน เซ็กซี่นิด ๆ) ก่อนจะเผยให้เห็นอีกด้านของความเป็นหญิงที่แฝงไว้ด้วยความอันตรายและพลังอำนาจ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้
ความสวยอันตรายที่เป็นคอนเซปต์หลักของ Red Velvet ตรงกับลักษณะ Femme Fatale ซึ่งเป็นคำในภาษาฝรั่งเศสที่ใช้เรียกคาแรกเตอร์ผู้หญิงที่มีความสวย ลึกลับ และมักใช้เสน่ห์ยั่วยวนเกินต้านของพวกเธอในการล่อหลอกให้ผู้ชายมาหลงใหลจนถอนตัวไม่ขึ้น ยอมทำตามทุกอย่างที่พวกเธอต้องการแบบถวายชีวิต
Femme Fatale ไม่จำเป็นต้องใช้แค่เสน่หาทางเรือนกายในการล่อหลอกเท่านั้น แม้กระทั่งแม่มดที่ใช้มนตราในการทำให้ผู้ชายตกอยู่ใต้อำนาจ ก็ถือเป็นคาแรกเตอร์ที่ตรงตามลักษณะของ Femme Fatale ยิ่งไปกว่านั้น Femme Fatale ไม่จำเป็นต้องเป็นหญิงสาววัยเจริญพันธุ์เท่านั้น แม้กระทั่งเด็กสาวที่ใช้ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาหลอกล่อให้ผู้ชายมาอยู่ใต้อำนาจของพวกเธอก็มีคำเรียกว่า Fille Fatale
Famme Fatale ปรากฏอยู่ในตำนานและเรื่องเล่าของมนุษย์ตลอดทุกช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ พวกเธอเป็นตั้งแต่คนธรรมดา ไปจนถึงปีศาจ แม่มด เทพี หรือราชินี ตัวอย่างของ Femme Fatale ที่น่าจะคุ้นเคยกันดีก็เช่น คลีโอพัตรา, เมดูซ่า, ไซเรน, สฟริงซ์ในตำนานเอดิปัส, แวมไพร์สาวแสนยั่วยวนใน Dracula ของ บราม สโตคเกอร์ หรือแม้กระทั่งมนุษย์ผู้หญิงคนแรกของโลกอย่าง อีฟ ก็นับว่าเป็น Femme Fatale คนแรก ๆ ของโลก เพราะเธอเป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้ อดัม ลองลิ้มชิมรสของผลไม้ต้องห้าม จนนำมาสู่การถูกขับไล่ออกจากสวนสวรรค์ และมนุษย์ก็ยังคงต้องทนทุกข์กับการลงทัณฑ์อันเป็นผลมาจากการไม่ยับยั้งห้ามใจตัวเองของอีฟ
ยุคที่เฟื่องฟูที่สุดของเหล่าผู้หญิงอันตรายก็คือในยุครุ่งเรืองของหนังฟิล์มนัวร์ ที่พวกเธอมักปรากฏตัวในภาพสาวสังคมปากแดงและเครื่องแต่งกายสุดหรู หรือหากจะเขยิบให้ใกล้ตัวเข้ามาอีก คาแรกเตอร์รูมเมทโรคจิตของ เมแกน ฟ็อกซ์ ใน Jennifer’s Body (2009) หรือคาแรกเตอร์เมียผู้ส่งตรงมาจากนรกอย่าง เอมี ใน Gone Girl (2014) ก็คือตัวอย่างผู้หญิงอันตรายในโลกภาพยนตร์ที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งพลังทำลายล้างที่มาพร้อมกับความสวยของพวกเธอก็คือความตายของเหล่าผู้ชายบ้าหำ โดยที่อาวุธสังหารของพวกเธอมีแค่ความสวยและเสน่ห์อันเหลือล้นเกินต้านเท่านั้น
ปล่อยใจไปกับ ‘บาป’ ใน The Garden of Earthly Delights
Feel the Rhythm เป็นเพลงที่มีเนื้อหาว่าด้วยการคะยั้นคะยอชักชวนให้ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับค่ำคืนแห่งความสุขและเสียงเพลง เมื่อบวกกับการเลือกภาพ The Garden of Earthly Delight ของ เฮียโรนิมัส บอช ที่ถ่ายทอดตำนานการสร้างโลกของพระเจ้า จากสวนอีเดน สู่มนุษยภูมิ และนรกภูมิ มาเป็นคอนเซปต์ตั้งต้นในการสร้างโลกของ Red Velvet ก็เป็นอันชัดเจนว่า MV Feel the Rhythm นี้กำลังพูดถึงอีกด้านหนึ่งของความสุขและการทำตามใจตัวเอง นั่นก็คือบาปและการลงทัณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อดัมและอีฟเคยประสบมาแล้ว
ก่อนจะไปพูดถึงสัญญะของบาปที่ซ่อนอยู่ใน MV เราอาจต้องย้อนกลับมาดูภูมิหลังของบอชซึ่งเป็นเจ้าของผลงานที่ถูกใช้เป็นเรเฟอร์เรนซ์หลักของงานอาร์ตใน MV นี้กันเสียก่อน เฮียโรนิมัส บอช เป็นมาสเตอร์คนสำคัญแห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ (Renaissance in the Low Countries ประกอบด้วย เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และบางส่วนของฝรั่งเศส) ด้วยความที่เติบโตมาในเมืองที่ได้ชื่อว่าประชากรเป็นชาวคริสต์เข้มข้นที่ผู้คนในเมืองเคร่งครัดกับกฎทางศาสนามาก ๆ ผลงานของบอชแทบทั้งหมดจึงเป็นงานศิลปะที่สะท้อนความเชื่อทางศาสนา
อย่างไรก็ตาม ผลงานของบอชก็แตกต่างกับศิลปะเพื่อศาสนาที่ประดับอยู่บนกำแพงในโบสถ์ของอิตาลีอย่างสุดขั้ว เพราะในขณะที่ผลงานของเพื่อร่วมยุคอย่าง ลีโอนาโด ดาวินชี นำเสนอภาพของมนุษย์ผู้มีปัญญาที่เป็นดังร่างทรงของพระเจ้า ภาพวาดในทางศาสนาของบอชกลับนำเสนอมนุษย์ตัณหาหนักที่ถูกลงโทษในนรกโลกันตร์
หนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของบอชก็คือ The Garden of Earthly Delights ที่วาดลงบนบานพับสามฉาก ด้านนอกเป็นภาพลูกโลกขนาดใหญ่ เมื่อเปิดบานพับออกมา จะพบกับสามฉากที่เป็นเรื่องราวไล่เรียงกันจากซ้ายไปขวา โดยทางด้านซ้ายเป็นฉากที่อดัมและอีฟได้มาพบกันในสวนแห่งสวรรค์โดยการนำของพระผู้เป็นเจ้า
นำมาสู่ฉากที่อยู่ตรงกลางซึ่งนำเสนอภาพของสวนศรีแห่งสวรรค์ที่ดูงดงามกระจ่างตาด้วยการใช้สีชมพูและฟ้าเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ภาพฉากตรงกลางที่เป็นดังไคลแม็กซ์ของเรื่องนี้ก็เป็นการต่อยอดเรื่องราวจากปฐมบาปของมนุษย์ที่เกิดจากอดัมและอีฟในภาพทางซ้าย ในฉากนี้ สวนศรีที่ดูงดงามกลับเต็มไปด้วยสัญญะแห่งบาปตัณหาราคะที่วิ่งว่อนไปทั่วภาพโดยเฉพาะความปรารถนาทางเพศอันดิบเถื่อน โดยส่วนใหญ่ถูกนำเสนอผ่านกิจกรรมการกินและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผัสสะของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น กลุ่มหญิงสาวเปลือยกายที่อยู่ตรงกลางของภาพ โดยที่หนึ่งในหญิงสาวมีผลเชอร์รีอยู่บนศีรษะ หรือด้านหลังที่ปรากฏภาพของคนที่อยู่ในเปลือกหอยแมลงภู่ขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าหอยนั้นก็คือสัญลักษณ์ทางเพศ
บาปแห่งการปล่อยตัวปล่อยใจเหล่านี้นำไปสู่ภาพฉากสุดท้ายที่นำเสนอภาพของมนุษย์ในวันพิพากษา ท่ามกลางฉากหลังที่เป็นภาพของเมืองซึ่งกำลังพังพินาศด้วยสงครามและการรุกรานจากเหล่าปีศาจร้าย มนุษย์กับสัตว์ได้สลับบทบาทกัน และเป็นมนุษย์ที่ต้องรับการลงทัณฑ์พิพากษาจากเหล่าสัตว์ที่ได้เวลาเอาคืน ซึ่งมนุษย์ในภาพนี้ก็อยู่ในสภาพเปลือยกายไม่ต่างจากภาพตรงกลาง เพียงแต่คราวนี้ความรื่นรมย์ในการเปลือยได้อันตรธานหายไป ไม่มีอะไรที่ดูยั่วเร้าความกระสันอีกแล้ว และเหล่ามนุษย์ที่เปลือยกันอย่างสุขสมในภาพที่แล้วก็กลับพยายามปกปิดสภาพเปลือยเปล่าของตัวเองในภาพนี้ เป็นการตอกย้ำสภาพการร่วงหล่นจากความดีงามหรือ Fall From Grace ได้อย่างชัดเจน
ปล่อยไปตามจังหวะ (Feel the Rhythm) แล้วลิ้มรสชาติของหายนะไปด้วยกัน
สัญญะแรกจาก The Garden of Earthly Delight ที่ปรากฏใน MV ก็คือ ‘นกฮูก’ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านซึลกิ ซึ่งจะปรากฏซ้ำอีกหลายครั้งตลอด MV ที่จริงแล้วนกฮูกเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในงานของบอชเกือบทุกชิ้น และความหมายของมันในระบบสัญวิทยาก็มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ
ในศาสนาคริสต์ นกฮูกเป็นตัวแทนของความมืดมน หรืออีกนัยหนึ่งคือการเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ปฏิเสธด้านสว่างหรือ ‘พระเจ้า’ เพราะนกฮูกเป็นนกที่ไม่สามารถมองเห็นในเวลากลางวันได้ ซึ่งใน The Garden of Earthly Delight นกฮูกก็ปรากฏอยู่ตรงกึ่งกลางของภาพเป็นฉากหลังของการพบกันครั้งแรกระหว่างอดัมและอีฟ ตำแหน่งแห่งที่ของนกฮูกในที่นี้ยิ่งตอกย้ำการเอาใจออกห่างจากพระเจ้าของอดัมกับอีฟซึ่งจะเกิดขึ้นในภายหลัง และยังมีนักวิชาการอีกหลายคนที่มองว่านกฮูกในภาพนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเมินเฉยต่อบาป โดยรู้เห็นว่ากำลังจะเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้น แต่มันก็ยังเพิกเฉย
การที่นกฮูกซึ่งเป็นสักขีพยานต่อบาปที่มีต้นกำเนิดมาจากความรักและความไม่ยับยั้งชั่งใจระหว่างอดัมกับอีฟมาปรากฏใน MV ยิ่งขับเน้นเนื้อเพลงที่ว่าด้วยการชักชวนให้ปล่อยใจไปค่ำคืนแห่งความสุข ในที่นี้ซึลกิคือนกฮูกที่กำลังจะได้เห็นมนุษย์ลิ้มรสชาติของความสุขจากการทำบาปเป็นครั้งแรก แต่เธอก็เมินเฉยและปล่อยให้มันเกิดขึ้น พร้อมทั้งยังรอดูหายนะจากการปล่อยตัวปล่อยใจของมนุษย์อย่างนิ่งดูดาย
อีกหนึ่งสัญญะที่ดึงมาจาก The Garden of Earthly Delight ชัดเจนก็คือ ‘สตรอว์เบอร์รี’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญะที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในงานของบอช และมีอยู่เกลื่อนกลาดในฉากตรงกลางของภาพวาดสวนสวรรค์แห่งการลงทัณฑ์ชิ้นนี้ จนทำให้ผลงานชิ้นนี้เคยมีชื่อเล่นว่า ‘Strawberry Painting’
ในยุคกลาง สตรอว์เบอร์รีถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความสำส่อนทางเพศ เนื่องมาจากลักษณะภายนอกของสตรอว์เบอร์รีที่มีเมล็ดอยู่ทั่วทั้งลูกจนนับแทบไม่ถ้วน นอกจากนี้สตรอว์เบอร์รียังเป็นผลไม้ที่มีทั้งรสหวานและกลิ่นหอม ทำให้มันเป็นผลไม้ที่กระตุ้นระบบผัสสะของมนุษย์ทั้งในด้านการรับรสและดมกลิ่น ซึ่งล้วนเป็นผัสสะที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศ สตรอว์เบอร์รีจึงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของความสุขสมทางผัสสะ อันเป็นบาปที่มนุษย์ผู้มีคุณธรรมดีงามไม่ควรเกี่ยวข้อง
เอส. กิบสัน (S. Gibson) นักวิชาการผู้เขียนบทความวิเคราะห์สตรอว์เบอร์รีในภาพ The Garden of Earthly Delight ยังอธิบายว่า สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ที่ถูกพูดถึงในงานของกวีอย่างโอวิดและเวอร์จิล ซึ่งทั้งคู่ล้วนอ้างถึงสตรอว์เบอร์รีในฐานะสิ่งที่ล่อลวงเย้ายวนให้คนทำบาป และเปรียบเทียบสตรอว์เบอร์รีกับเพศหญิงอย่าง พระแม่มารี และ เทพีวีนัส โดยเวอร์จิลเคยกล่าวว่า สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ที่อันตราย เพราะพุ่มใบของมันมักเป็นที่หลบซ่อนของงูพิษ สตรอว์เบอร์รีจึงสื่อนัยถึงความตายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ฉากหน้าอันงดงามและน่าลิ้มลองด้วย ภาพ The Garden of Earthly Delight ที่เกลื่อนกลาดไปด้วยสตรอว์เบอร์รีจึงสื่อความหมายถึงสวนแห่งความเย้ายวนใจ หรือโลกมนุษย์ที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนให้คนหลงลืมตนจนกระทำบาป อันนำมาสู่หายนะแห่งวันพิพากษาในฉากต่อไปนั่นเอง
ภาพของสตรอว์เบอร์รีในฐานะวัตถุแห่งความเย้ายวนที่ล่อลวงมนุษย์สู่บาปและหายนะก็สอดคล้องกับตำแหน่งของไอรีนใน MV ซึ่งเป็นผู้หยิบยื่นสตรอว์เบอร์รีให้กับยักษ์ที่สวมหน้ากากนกฮูก โดยใน MV ที่ผ่าน ๆ มา เหล่าลัฟวี่ก็เชื่อว่าบทบาทของไอรีนคือมาสเตอร์มายด์หรือจอมบงการที่อยู่เบื้องหลังอันตรายและความตายต่าง ๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับตำแหน่งและบทบาทของเธอในวงที่เป็นทั้งวิชวลและพี่ใหญ่ พูดง่าย ๆ ว่าไอรีนเป็นคนที่มีลักษณะของการเป็นผู้หญิงอันตรายสวยสังหารที่สุด (ก็สวยซะขนาดนั้นอะแม่)
ไอรีนที่ปรากฏตัวในชุดราตรีสีดำ นั่งอยู่บนเรือที่ลอยอยู่กลางทะเลอันมืดมิด ทำให้เราคิดถึงอีกหนึ่งตัวละครสวยสังหารหรือ Femme Fatale อย่าง ‘ไซเรน’ ซึ่งปรากฏในบทกวีของโฮเมอร์อย่าง Odyssey ที่กล่าวถึงหนึ่งในการผจญภัยของโอดิสซัส ฮีโร่แห่งกรุงทรอยที่ระหว่างทางกลับบ้านได้เผชิญหน้ากับไซเรนที่ผุดขึ้นมาจากท้องทะเล และพยายามใช้ความงามและเสียงอันไพเราะล่อหลอกให้เหล่าลูกเรือลงใหลและตกเป็นเหยื่อของพวกเธอ ซึ่งหากไอรีนเป็นไซเรนจริง ๆ การหยิบยื่นสตรอว์เบอร์รีให้กับยักษ์นกฮูกผู้พร้อมจะเมินเฉยต่อการทำบาป ก็สื่อถึงการชักชวนให้คนปล่อยตัวไปกับความสุขและสิ่งที่ใจปรารถนา อันเป็นใจความหลักของเพลง Feel the Rhythm และในขณะเดียวกัน ฉากที่ เวนดี แหวกว่ายดำดิ่งลงไปพบกับสตรอว์เบอร์รียักษ์ ก็อาจสะท้อนภาพของเวนดีที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้หลงใหลไปกับความสุขระคนบาปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรื่องราวใน Feel the Rhythm จะนำเสนอคอนเซปต์ ‘Fall from grace’ หรือการเผลอใจไปกับความสุขจนพบกับหายนะ ซึ่งเป็นบาปแรกที่มนุษย์คู่แรกอย่างอดัมและอีฟได้ฝ่าฝืน แต่เราก็ไม่คิดว่าเนื้อหาใน MV Feel the Rhythm กำลังบอกให้เราควบคุมหัวใจของตัวเอง เพราะเช่นเดียวกับตำนานของอดัมและอีฟ หากพวกเขาไม่ฝ่าฝืนกฎของพระเจ้า ไม่กระทำตามที่หัวใจตัวเองเรียกร้อง ก็จะไม่มีการกำเนิดมนุษย์ ไม่มีมนุษย์ในโลก หรือพูดง่าย ๆ ว่า โลกของเราก็คงไร้ชีวิต ซึ่งใน MV ก็ถ่ายทอดบทสรุปนี้จากการที่เยริและจอยได้ลิ้มรสสตรอว์เบอร์รี และทำให้พวกเธอมีชีวิตขึ้นมา จากตอนแรกที่เยริอยู่ในวัตถุทรงกลมที่ดูเหมือนกับเปลือกไข่ หลังจากที่เธอได้ชิมสตรอว์เบอร์รีแล้ว ในฉากถัดมาเธอก็ได้ออกมาร่ายรำกับฝูงนก ในขณะที่จอยซึ่งยืนอยู่ในดอกไม้ด้วยสายตาเลื่อนลอยในตอนแรก หลังจากที่เธอได้รับพลังชีวิตจากลูกไฟสีแดง เธอก็ได้ออกมาเบ่งบานเป็นดอกไม้ที่อยู่ในสวน พร้อม ๆ กับที่ฉากหลังของเธอได้เปลี่ยนจากกลางคืนมาเป็นกลางวันที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา
Feel the Rhyhm จึงยังคงเป็น MV ที่บอกเล่าความเป็น ‘ผู้หญิงอันตราย’ ซึ่งเป็นคอนเซปต์หลักของ Red Valvet แต่เหมือนกับบทสรุปในทุก MV ที่ผ่านมา บางทีความอันตรายที่มาพร้อมกับเสน่ห์ของพวกเธอก็ไม่ได้หมายถึงความตายเสมอไป แต่บางทีมันอาจเป็นการล่อลวงให้เราออกจากพื้นที่ปลอดภัย แล้วลองเสี่ยงกับอันตรายจากการตกหลุมรัก หรือการทำตามที่หัวใจของตัวเองเรียกร้อง
Gibson, Walter S. "The Strawberries of Hieronymus Bosch." Cleveland Studies in the History of Art 8 (2003): 24-33.