ทำไมแกลเลอรีต้องเป็นสีขาว? ชวนสำรวจที่มาที่ไปและการเมืองเรื่องศิลปะเบื้องหลัง White Cube (ตอน 2/2)
(อ่านตอนแรกได้ที่ https://groundcontrolth.com/blogs/white-cube-charpter-1)
หลังกำแพง ‘สีขาว’
หลังจากที่สีขาวกลายเป็นสีมาตรฐานในพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ เมื่อถึงยุค 1950s - 1960s ก็เริ่มมีกลุ่มศิลปินที่ตั้งคำถามกับฉากหน้าที่ดู ‘เป็นกลาง’ และไร้การเมืองของห้องสีขาวในแกลเลอรี โดยหนึ่งในศิลปินที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับลูกบาศก์สีขาวในแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ก็คือ อีฟ ไคลน์ ศิลปินคอนเซปชวลผู้มีชื่อเสียงจากการสร้างสีน้ำเงินของตัวเองนั่นเอง
ไคลน์สำรวจกำแพงสีขาวด้วยการจัดนิทรรศการที่ชื่อว่า The Specialization of Sensibility in the Raw Material State into Stabilized Pictorial Sensibility หรือที่รู้จักในชื่อเล่นว่า The Void ที่กรุงปารีส ในปี 1958 โดยไคลน์ได้ใช้สีน้ำเงินของเขาในการต้อนรับผู้ชมตั้งแต่กันสาดหน้าแกลเลอรี เรื่อยไปจนถึงผนังของโถงทางเดิน และที่รอต้อนรับผู้ชมอยู่ก็คือพื้นที่ห้องจัดแสดงงานสีขาวขนาด 20 ตารางเมตรที่ไคลน์ใช้เวลา 2 วันในการทาสีทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว
ความตั้งใจของไคลน์ก็คือการสร้างพื้นที่ที่ให้ผู้ชมได้เข้าไปสำรวจ ‘สีขาว’ ซึ่งเป็นสีประจำของพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ ในห้องที่ไคลน์สร้างขึ้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผลงานที่ถูกจัดแสดงอยู่ในนั้นก็คือ ‘พื้นที่ศิลปะ’ ที่ผู้ชมมักมองข้ามไป (ไคลน์ใช้คำว่า “มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง”) ทำให้ The Void ของไคลน์เป็นชิ้นงานศิลปะขนาดใหญ่ที่ผู้ชมไม่เพียงเห็นได้ด้วยตา แต่เข้าไปรับรู้ประสบการณ์ และ ‘รู้สึก’ กับงานได้
หรือในปี 1969 ศิลปินภูมิศิลป์ คริสโต (คริสโต วลาดิมีรอฟ จาวาเชฟ ที่ในเวลาต่อมาจะทำงานร่วมกับภรรยาคือ ฌานน์-โคลด เดอนา เด กีบง และใช้ชื่อในการทำงานร่วมกันว่า คริสโต ฌานน์-โคลด) ก็ได้สร้างผลงานที่ตั้งคำถามกับพื้นที่ศิลปะ ด้วยการ ‘ห่อ’ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งชิคาโกทั้งอาคาร โดยได้แรงบันดาลใจมาจากความหมายที่แตกต่างกันระหว่าง ‘พื้นที่’ (space) กับ ‘วัตถุ’ (object) ซึ่งการห่ออาคารพิพิธภัณฑ์ก็เป็นการสร้างความหมายที่แตกต่างให้กับพื้นที่ศิลปะ ด้วยการแปลงพื้นที่ทั้งหมดให้กลายเป็นตัวงานเสียเอง
นิทรรศการของไคลน์และคริสโตนับเป็นความพยายามแรก ๆ ในการสำรวจความหมายเบื้องหลังกำแพงสีขาวที่อยู่เบื้องหลังงานศิลปะ แต่คนที่ตั้งคำถามถึงการเมืองเรื่อง White Cube อย่างจริงจังและเปลี่ยนมุมมองของคนในโลกศิลปะที่มีต่อกำแพงสีขาวในแกลเลอรีก็คือ ไบรอัน โอ’โดเฮอร์ตี ศิลปินและนักวิจารณ์ศิลปะชาวไอริชที่ตีพิมพ์บทความ 3 ฉบับลงในวารสารศิลปะ Artforum ในปี 1976 ที่ยังคงทรงอิทธิพลต่อศิลปินและภัณฑารักษ์จนถึงปัจจุบัน โดยประเด็นที่โอ’โดเฮอร์ตียกขึ้นมาก็คือ การนำเสนอว่ากำแพงสีขาวในแกลเลอรีหรือ White Cube ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายด้วยความเชื่อว่าเป็นกลางและไร้ความหมาย แท้จริงแล้วมันอาจได้กลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมและกำหนดทิศทางของวัฒนธรรมโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว!
ใจความสำคัญของโอ’โดเฮอร์ตีคือการชี้ให้เห็นว่า แกลเลอรีหรือพื้นที่ศิลปะหาได้เป็นพื้นที่ที่ปราศจากความหมายหรือบริบททางประวัติศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น สีขาวที่เราเคยคิดว่าเป็นสีที่เหมาะที่สุดสำหรับการใช้เป็นฉากหลังสำหรับวางงานศิลปะเพราะไม่รบกวนงาน แท้จริงแล้วสีขาวนั้นกลับมีสุนทรียภาพในตัวมันเอง กล่าวคือตัวมันเองก็เรียกความสนใจจากผู้ชม และทำให้มันเป็น ‘วัตถุ’ ทางศิลปะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เหนือสิ่งอื่นใด โอ’โดเฮอร์ตีเสนอว่า การที่แกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ศิลปะต่าง ๆ ใช้สีขาวเป็นฉากหลังกันถ้วนหน้า ในทางหนึ่งมันได้ส่งผลอิทธิพลต่อกระบวนการสร้างสรรค์ของศิลปิน จนเรียกได้ว่าในทางหนึ่ง มันได้กำหนดรูปแบบของงานที่จะถูกนำมาวางไว้ด้วย
โอ’โดเฮอร์ตีตั้งประเด็นว่า White Cube ไม่ได้ปราศจากการเมืองและความหมาย แต่มันเล่นการเมืองและสร้างความหมายให้ตัวเองด้วยการทำเป็นล่องหน ทำให้ศิลปินและผู้ชมคิดว่ามันคือพื้นที่แห่งความเป็นกลาง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงาน จนทำให้มันกลายเป็นพื้นที่ที่ตัดขาดจากบริบททางประวัติศาสตร์และสังคม เป็นพื้นที่ที่แยกตัวจากชีวิตประจำวันของผู้คนซึ่งเต็มไปด้วยสัญญะและการตีความ
โอ’โดเฮอร์ตีเปรียบลักษณะของพื้นที่ศิลปะสีขาวที่วางตัวแยกจากชีวิตของผู้คนเช่นนี้กับวิหารอันศักดิ์สิทธิ์หรือหลุมศพโบราณที่ตั้งอยู่นิ่งงันเป็นนิรันดร์ ไม่ถูกรบกวนด้วยกาลเวลา โอ’โดเฮอร์ตีใช้ภาพเปรียบเทียบนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า พื้นที่สีขาวในแกลเลอรีนั้นถูกใช้เพื่อทำให้งานศิลปะตัดขาดและแยกออกจากบริบทรอบตัวของมัน ทำให้ผลงานศิลปะทรงคุณค่าที่ไม่เลือนหายไปตามกระแสหรือกาลเวลา ในแง่นี้ ฟังก์ชันของพื้นที่จัดแสดงงานสีขาวจึงมีลักษณะเดียวกับวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อยกคุณค่าและความสำคัญของรูปเคารพที่ตั้งอยู่ด้านใน
แต่ต่างจากรูปเคารพในวิหาร งานศิลปะในแกลเลอรีนั้นมีไว้เพื่อขาย ด้วยเหตุนี้การเพิ่มคุณค่าให้งานศิลปะในห้องจัดแสดงสีขาวจึงเป็นการเพิ่ม ‘มูลค่า’ ไปพร้อม ๆ กัน สิ่งที่โอ’โดเฮอร์ตีต้องการจะชี้ให้เห็นในประเด็นนี้ก็คือการเตือนให้ผู้ชมตระหนักว่าพื้นที่สีขาวที่ดูเหมือนไร้ความหมาย แต่มันก็ซ่อนนัยไว้มากมาย ทั้งความหมายเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ผ่านการแบ่งแยกพื้นที่ ‘ข้างนอก/ข้างใน’ (แกลเลอรี)
Black Box
นอกจากงานของไคลน์และคริสโตแล้ว การเปิดโปงความหมายและการเมืองในพื้นที่ White Cube ยังเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของกลุ่มศิลปินอาวองการ์ด โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตสายทดลองแห่งยุค 1960s ที่เรียกว่า กลุ่ม Fluxus ที่ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า Black Box ขึ้นมาสู้กับลูกบาศก์สีขาว
ในขณะที่ White Cube หรือลูกบาศก์สีขาวถูกสร้างขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจจากผืนผ้าใบสีขาว Black Box กลับถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะทลายกรอบพื้นที่ทางศิลปะ กล่าวคือทุกที่สามารถเป็นพื้นที่ของศิลปะได้ เหนือสิ่งอื่นใด ศิลปะไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นบนผืนผ้าใบเท่านั้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนอกจากจะเป็นการทะลายกรอบเรื่องพื้นที่ศิลปะแล้ว ยังเป็นการท้าทายการให้คุณค่าแก่ศิลปะในยุคนั้น ที่ยังคงให้ความสำคัญกับงานศิลปะวิชวลอาร์ตที่อยู่บนผ้าใบเหนือศิลปะแขนงอื่น
Black Box มักเกิดขึ้นในพื้นที่โกดังร้าง ศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์มักเข้าไปจับจองพื้นที่ที่อยู่นอกสายตาสถาบันศิลปะเหล่านี้เพื่อปรับปรุงเป็นสตูดิโอและพื้นที่สำหรับจัดการแสดง และนอกจากจะท้าทายกรอบแนวคิดเรื่องพื้นที่ศิลปะแล้ว มันยังท้าทายแขนงศิลปะที่ตัวมันเองดำรงอยู่ นั่นก็คือศิลปะการแสดง ในขณะที่การแสดงในยุคนั้นมักเกิดขึ้นในพื้นที่โรงละครที่มีการตกแต่งฉากสุดอลังการ Black Box กลับเป็นเพียงห้องทาสีดำที่ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้โดยมีเพียงแค่นักแสดงกับแสงไฟ โดยที่ฉากหลังสีดำเรียบ ๆ ไร้การตกแต่ง ทำให้ความสนใจของผู้ชมมุ่งไปที่นักแสดงเท่านั้น
No Boundaries
เมื่อถึงศตวรรษที่ 21 ลูกบาศก์สีขาวได้ถูกตั้งคำถามจนนำมาซึ่งความพยายามในการสร้างพื้นที่ศิลปะที่อยู่นอกกรอบกำแพงสีขาว ไปจนถึงการพาศิลปะไปสำรวจพื้นที่อื่น ๆ ในช่วงเวลานี้ ภาพลักษณ์ของ White Cube ได้ผูกติดกับภาพของคนมีเงินและชนชั้นนำที่เปิดแกลเลอรีของตัวเอง จนมีการให้ความเห็นว่า แกลเลอรีที่ครอบครองโดยเหล่าคนชนชั้นนำในสังคมนี้ก็คือ ‘สถาบันศิลปะ’ รูปแบบใหม่ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทและอิทธิพลในการกำหนดว่า สิ่งใดควรค่าแก่การอยู่ในแกลเลอรี และสิ่งใดไม่
อย่างไรก็ตาม White Cube ยังส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินร่วมสมัยในยุคนี้ โดยเฉพาะสถานะการเป็นยอดหอคอยงาช้างแห่งโลกศิลปะในตัวมันที่ทำให้ศิลปินมากมายสร้างผลงานขึ้นมาท้าทายและตั้งคำถามถึงนิยามความหมายของพื้นที่ศิลปะ หนึ่งในนั้นคือ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่ผลงานส่วนใหญ่ของเขามุ่งสำรวจความหมายของ ‘พื้นที่’ และบริบทที่ขัดแย้งกันระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ อย่างใน Pad Thai (1990) ที่เขาพลิกพื้นที่ของ Paula Allen Gallery ในกรุงนิวยอร์กให้เป็นสเตชันปรุงผัดไทแจกให้ผู้เข้าชมงานได้กินฟรี ๆ หรือในปี 1992 ที่เขาบุกเข้าไปเปลี่ยนพื้นที่ออฟฟิศของ 303 Gallery ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงงาน สลับบทบาทระหว่างพื้นที่เบื้องหลังกับพื้นที่ฉากหน้าในโลกศิลปะ ผลักดันปฏิบัติการที่อยู่เบื้องหลังพื้นที่ศิลปะออกมาให้ผู้ชมได้สำรวจ
นอกจากการสำรวจความหมายใน White Cube แล้ว ศิลปินในยุคหลังหลายคนยังพางานศิลปะออกไปสำรวจพื้นที่นอกกำแพงสีขาว เห็นได้ชัดในงานศิลปะภูมิทัศน์ (Land Art) ที่ท้าทายทั้งความหมายของพื้นที่ศิลปะและสถานะอันเป็นนิรันดร์ (timeless) ของงานศิลปะที่ตั้งอยู่อย่างถาวรในแกลเลอรี ยังไม่รวมศิลปะดิจิทัลในยุคปัจจุบันทั้งการมาถึงของ NFT และโลกเมตาเวิร์ส ซึ่งกำลังนำศิลปะไปสำรวจพรมแดนใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่นอกเหนือไปจากพื้นที่ลูกบาศก์สีขาว แต่ยังเป็นการสำรวจพื้นที่นอกขอบเขตทางกายภาพ และความจริงกับโลกเสมือนด้วย
โลกศิลปะในอนาคต คำถามที่เราต้องถามกันอาจไม่ใช่คำถามเรื่อง White Cube อีกต่อไป แต่จะเป็นคำถามเกี่ยวกับ ‘พื้นที่’ ซึ่งสิ่งที่เราได้รับกลับมา จะเป็นคำตอบ หรือคำถามอันไม่จบสิ้นที่ยืดยาวต่อไป… ก็ต้องมาลองดูกัน
https://www.tate.org.uk/tate-etc/issue-21-spring-2011/white-cube-and-beyond
O'Doherty, B. (1999). Inside the white cube: The ideology of the gallery space (Expanded ed., 1st University of California Press ed.). University of California Press.